อนุทินล่าสุด


ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

วันนี้ช่วงเช้าไปบรรยายเรื่อง "การพัฒนาระบบติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลและนิเทศการศึกษา" ให้แก่คณะกรรมการระดับเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ณ โรงแรมอะเดรียติค ประตูน้ำ กทม. ได้พูดพาดพิงหลายเรื่องที่เห็นว่าน่าจะขยายความในโอกาสต่อไป ที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ 1) ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการที่ผู้ปกครองมีค่านิยมสูงในโรงเรียนบางโรง เช่น โรงเรียนประจำจังหวัด(เดิม) ทำให้ทุกคนมุ่งเดินทางไปเรียนที่นั่น  จนห้องเรียนโตเกินพอดี และสร้างปัญหาด้านการเดินทางของนักเรียนจากอำเภอรอบนอก รวมถึงเกิดปัญหาการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาที่ไม่สมดุล ซึ่งในเรื่องนี้ ผมเสนอให้ใช้ "โมเดล พิบูลย์วิทยาลัย ลพบุรี" เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา และ 2) ปัญหาการปฏิรูปการศึกษา ที่ทุกครั้งมักจะให้ความสำคัญ หรือนำเรื่อง "ปฏิรูประบบ/โครงสร้างการบริหาร" ขึ้นมาเป็นลำดับต้น ๆ จนเรา ล้าหลังเรื่อง "การจัดการเรียนการสอนของครู"



ความเห็น (1)

เรียนท่านอาจารย์

          หนูเป็นคนหนึ่งที่ต้านกระแสค่านิยมไม่ไหว  ทุกวันนี้เด็กๆตั้งแต่ประถมถึงมัธยมจากต่างอำเภอต้องตื่นแต่ตีสี่ครึ่งขึ้นรถตู้เพื่อเข้าเรียนในตัวเมืองสุราษฎร์ฯ กลับมาด้วยความอ่อนเพลีย ไม่มีเวลาวิ่งเล่นหรือช่วยงานบ้าน ต้องปั่นการบ้านอีกพะเรอเกวียน ชีวิตอยู่บนรถตู้ตลอดสัปดาห์ เสาร์-อาทิตย์ ก็ต้องเรียนพิเศษ ทุกเช้ามืดแม่ต้องยกมือภาวนาขอให้ลูกเดินทางปลอดภัย  จะมีโอกาสทำให้โรงเรียนประจำอำเภอมีความเข้มแข็งจนสามารถลบล้างค่านิยมของผู้ปกครองอย่างหนูหรือคนอื่นได้บ้างมั้ยคะ ?

          ขอบพระคุณที่มีช่องทางให้ระบายความในใจค่ะ

                          ด้วยความศรัทธา

กัญจนา

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

ในสัปดาห์นี้ ได้ไปบรรยายในการอบรมผู้บริหารสถานศึกษา 2 ครั้ง และในสัปดาห์ต่อ ๆไป ก็ อีกหลายครั้ง  "ไม่แน่ใจว่า การอบรมแบบชั้นเรียน จะได้ผลมากน้อยเพียงใด"  จริง ๆ แล้ว สพฐ.น่าจะเน้นการมอบหมายงานในเชิงการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย หรือ การพัฒนางานในลักษณะต่าง ๆ แล้วให้ผู้บริหารไปปฏิบัติการในโรงเรียน เมื่อสิ้นปี ค่อยนำเสนอในลักษณะการสัมมนาเสนอผลงานวิชาการ หรือ จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรอบปี  น่าจะเหมาะสมกว่า  จะได้พัฒนาทั้ง "คน และ งาน"...ถ้าเลือกวิทยากรดี ๆ แล้วเขียนกิจกรรมมอบหมายงาน  เชื่อว่าจะเกิดผลดีมากกว่าการอบรมแบบชั้นเรียน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

เมื่อวันที่ 15 ก.ย.52 ได้มีโอกาสบรรยายเสนอแนวคิดเรื่อง "ห้องเรียนคุณภาพ" ให้กับผู้บริหารสถานศึกษา เขตพื้ที่ กทม.1-3  ณ โรงแรมศุภาลัย ป่าสัก รีสอร์ท สระบุรี และวันนี้ ได้บรรยายให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษาในนนทบุรี เขต 1และ 2 ที่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี   ได้พูดคุยเรื่อง การขับเคลื่อนคุณภาพ โดยให้แนวคิดในการขับเคลื่อน ด้วย Empowerment Approach   และ  Theory-driven Approach ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ น่าจะได้รับการขยายผลเป็นบันทึกอีกชั้นหนึ่ง



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ในวันที่ 19 พ.ค.52 ได้ไปประชุมคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา กทม.เขต 2 มีหลายเรื่องที่ได้หารือกันในที่ประชุมและเห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าจะต้องร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหา และตั้งใจว่าจะเขียนเป็นบันทึกในโอกาสต่อๆ ไป(แต่ขณะนี้ยังไม่มีเวลา) รายการที่ตั้งใจจะเขียนที่จะขอโน๊ตไว้ก่อน คือ 1) ปัญหาการแย่งที่นั่ง ม.1 ในโรงเรียนชั้นนำที่ได้รับความนิยมสูง/ปัญหาในปีต่อๆไป  2) อยากให้โรงเรียนดัง ๆ จำนวนหนึ่งเปิดสอนเฉพาะ ม.ปลาย/การศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดสอนเฉพาะระดับ ม.ปลาย 3) บทเรียนจากการรับนักเรียนชั้น ม.1 ในปี 2552   4)  ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะต้องจริงจังกับการประกันคุณภาพการสอนในระดับรายวิชา    และ 5) สพท. กับ การแก้ปัญหาโรงเรียนไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานของ สมศ.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

วันนี้ สอนวิชา การประเมินนโยบาย แผนงานและโครงการ ฟังการนำเสนอผลงานของนักศึกษาแล้ว ประเด็นที่มักคลาดเคลื่อนบ่อย เช่น การสรุปเข้าสู่ปัญหา  การกำหนดประชากร-กลุ่มตัวอย่าง การกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

วันนี้ไปประชุมกรรมการเขตพื้นที่ กทม.2 ในช่วงเช้า มีประเด็นข้อคิดที่ควรจดไว้ก่อน คือ การแก้ปัญหาการรับนักเรียนด้วยสัดส่วน 70 : 30  การกำหนดเงื่อนไขให้สหวิทยาเขตตัดสินใจ ขยายห้องเรียน ขยายจำนวนต่อห้อง  การเปิดห้องพิเศษ  การใช้หลักสูตรแกนกลางวิทยาศาสตร์ สจล   หลักสูตรแกนกลาง การสื่อข่าว

   ตอนบ่ายประชุมกรรมการ กพท.นนทบุรี 2 ประเด็นน่าสนใจ โควต้าเด็กดี 9 คน  จิตสาธารณะ บางบัวทอง  



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

วันนี้ไปบรรยาย เรื่อง การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ให้แก่คณาจารย์วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

....มีหลายเรื่องที้น่าจะเขียนถึงวิทยาลัยแห่งนี้ เช่น บรรยากาศในวิทยาลัย(บรรยากาศดีมาก) การสร้างเครือข่ายศิษย์เก่า  การส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนนรู้จากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน  การเรียนรู้ผ่านโครงงานชุมชน  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการระหว่างงานสอนกับงานบริการทางวิชาการ...ซึ่งเรื่องเหล่านี้ น่าจะต้องมีการขยายความในอนาคต



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

วันนี้ไปบรรยายเรื่อง การกำกับติดตาม และการประเมินผล ให้แก่บุคลากรของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ ศูนย์พัฒนาบุคลากร รังสิต คลอง 5..มีหลายประเด็นที่ควรกล่าวถึงในการพัฒนางานของ พม. อาทิ บทบาทของ พ.ม.ในปัจจุบันที่เน้นงานสวัสดิการ มากกว่างานป้องกันปัญหา



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

วันนี้ไปร่วมประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนรัตนาธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรี มีประเด็นที่กรรมการเสนอแนวคิดที่น่าสนใจหลายประการที่ควรหาข้อสรุปหรือหาทาง ออก คือ 1) การคัดเลือกเด็กที่มีความสามารถพิเศษเข้าเรียนในชั้น ม.1 และ ม.4 โดยเฉพาะความสามารถพิเศษด้านการกีฬา ซึ่งบ่อยครั้งพบว่า หลังจากเข้ามาเรียนแล้ว ผลการเรียนก็ไม่ดี-เพราะไม่ค่อยมีเวลาเรียนหรือต้องขาดเรียนบ่อย ในขณะเดียวกัน พอเข้าเรียนปีที่ 2 ทักษะกีฬาก็ไม่ค่อยดี เพราะกังวลใจเรื่องเรียน......เราจะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร  2) เรื่องการงดเก็บเงินพิเศษใด ๆ ในขณะเรียน ม.ต้น หรือ ม.ปลายแบบ "ไม่เก็บแม้แต่บาทเดียว ไม่ว่าจะเป็นค่าอะไรก็ตาม" ....แต่เน้นให้ผู้ปกครองร่วมคิดวิเคราะห์และหาทางออกเองว่า ภายใต้ภาระของโรงเรียนที่เป็นระบบแบบหรูหราในปัจจุบัน จะมีค่าใช้จ่ายรายหัวประมาณกี่บาท ขณะนี้รัฐจัดหามาให้จำนวนหนึ่ง ส่วนที่ขาดหายไปจะทำอย่างไร เน้นให้เขาคิดเอง หาทางออกเอง(เพราะเป็นเรื่องคุณภาพของลูกของเขาเอง)



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

วันที่ 24 ธ.ค.51 ได้ไปบรรยายหลักสูตรพัฒนาครูเข้าสู่วิทยฐานะ  ของ สพท.นครปฐม เขต 1  จัด ณ โรงแรมเวล จังหวัดนครปฐม   มีประเด็นคำถามที่ครูต้องการคำตอบ หรือเห็นว่าควรขยายความที่สำคัญ 2 รายการ 1) การกำหนดประชากร และกลุ่มตัวอย่าง  กรณีพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน สำหรับเสริมทักษะเด็กที่เรียนอ่อนวิชาบัญชี  จะกำหนดอย่างไร  2) ผู้ตรวจผลงานทางวิชาการบางท่านบอกว่า "การส่งเอกสารประกอบการสอน เป็นผลงานทางวิชาการ ไม่ควรทำ เพราะเป็นผลงานธรรมดาเกินไป ยังไงก็ไม่ผ่าน"  จริง หรือ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

เมื่อวานนี้(11 ธ.ค.51) ได้ไปร่วมประชุมกรรมการเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต 2 มีประเด็นที่เห็นว่าเป็นประโยชน์หรือได้ข้อคิดสำคัญหลายประการ เช่น  การ Marking บันทึกการประชุมเพื่อติดตามงานต่อเนื่อง  การคัดเลือกนักเรียนเข้า ม.1 ด้วย โควต้า "เด็กดี"      Banding-คัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนแบบคละความสามารถ   การส่งเสริมให้ อบต.มีบทบาทในการพัฒนาเยาวชนระดับตำบล   การทดลองใช้หลักสูตรอย่างเป็นระบบ  เป็นต้น  ซึ่งจะหาโอกาสขยายแนวคิดหรือแนวปฏิบัติในรายละเอียดอีกชั้นหนึ่ง



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

วันนี้ ช่วงเช้าไปประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา นนทบุรี เขต 2 ช่วงบ่ายไปประชุมคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา กทม.(ประชุมร่วม 3 เขตพื้นที่การศึกษา) มีประเด็นที่คืดว่าน่าจะต้องเขียนเสนอแนวคิดในโอกาสต่อไป คือ "บทบาทขององค์คณะบุคคลระดับเขตพื้นที่การศึกษา 3 ชุด  ควรมีบทบาทอย่างไร และควรทำงานให้ประสาน สอดรับกันอย่างไร"



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

วันที่ 10 กันยายน 2551 ได้ไปร่วมประชุมคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต 2 ณ โรงเรียนวัดไทรใหญ่ อ.ไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ที่ประชุมได้อนุมัติ Home School 1 ราย  มีการหารือเรื่องปฏิทินการประชุมประจำปี(ปฏิทินพัฒนา/ป้องกันปัญหา)



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

วันนี้ ไปบรรยาย เรื่อง การกำกับติดตาม การนิเทศงาน และการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเร่งรัดคุณภาพการศึกษา ให้แก่ทีมศึกษานิเทศก์ ของ สพท.ปทุมธานี เขต 1 ณ โรงเรียนจุฬาภรราชวิทยาลัย ปทุมธานี   ประเด็นการพูดคุยที่จะต้องขยายความในอนาคต ที่สำคัญ ๆ คือ เรื่อง การจัดการศึกษาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเด็ก   การจัดหลักสูตรเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตแก่เด็ก   การปลูกฝังคุณลักษณะอนพึงประสงค์แก่เด็กแบบต่างคนต่างปั้นแต่งคนละส่วน 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

    วันนี้ ไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง การวางแผนและการประเมินโครงการ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนนันทา หลักสูตร "พัฒนานักบริหารระดับสูง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์" ในการเกริ่นบรรยาย ได้กล่าวถึง "ปัญหาผู้สูงอายุในอีก 10-20 ปีข้างหน้า"   พร้อมทั้งได้เสนอแนะเรื่อง "การวิจัยและพัฒนาที่ควรทำ ในสายงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน"



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

วันนี้ 13.30-16.00 น. ไปบรรยายเรื่อง การพัฒนาคุณภาพระดับสถานศึกษา ให้แก่คณะผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ปทุมธานี เขต 1 ณ อาคาร SME มหาวิทยาลัยธรรมสาสตร์ ศูนย์รังสิต



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

      วันนี้ 26 มิถุนายน 2551 ช่วงเช้า 10.30-12.00 น. ไปเป็นวิทยากร พูดคุยกับผู้บริหารสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต 2 ได้พบว่า เขตพื้นที่ได้ทำการวิเคราะห์ผลการสอบระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่น ในระดับชั้น ป. 3  ม. 3  และ ม.6  โดยนำเสนอเป็นรายกลุ่มสาระ  รายโรงเรียน หรือประเภทโรงเรียน จัดเป็นงานวิเคราะห์ที่น่าสนใจยิ่ง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อการวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ในปีการศึกษาต่อไป   เรื่องนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ข้าพเจ้าได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง การพล๊อตกราฟคุณภาพโรงเรียน ในที่ประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา  ขณะนี้ เริ่มเกิดผลเป็นรูปธรรม ทั่วประเทศแล้ว



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

25 มิถุนายน 2551 ช่วงเช้า 8.00-12.00 น. ไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง "KPI กับ การพัฒนาคุณภาพงานในองค์กร" ให้แก่วิทยาลัยการทัพอากาศ ณ ห้องประชุมกองทัพอากาศ ดอนเมือง ในที่ประชุมได้มีการซักถามในเรื่อง ภาพความสำเร็จและตัวชี้วัดความสำเร็จของหน่วยงานบางหน่วยงาน เช่น ของกองทัพอากาศเอง  ของกรมราชองค์รักษ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในลักษณะการป้องกันประเทศ เตรียมความพร้อม  ควรเน้นการกำหนดภาพความสำเร็จในลักษณะใด จึงจะเหมาะสม...เป็นคำถามที่จะต้องขยายความในโอกาสต่อไป?



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

24 มิถุนายน 2551 ได้ไปจัดสนทนากลุ่มเพื่อประเมินผล "โครงการ การพัฒนาการเรียนรู้และเสริมสร้างทักษะชีวิตเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่" ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่  จากการสัมมนาวันนี้ มีประเด็นชวนคิดที่สำคัญ ที่คิดว่าควรมีการขยายผลให้มีความคมชัดในอนาคต คือเรื่อง "ระบบสื่อสารสุขภาพในชุมชน" เพื่อการป้องกัน แก้ปัญหา หรือพัฒนาศักยภาพประชาชนในด้านสุขภาพ อนามัย และการป้องกันโรคต่าง ๆ ในรอบปี ในที่ประชุม ได้พูดกันเรื่อง "ปฏิทินการเสี่ยงต่อโรคติดต่อหรือโรคระบาด ในรอบปี และ ปฏิทิน การกำกับติดตามและป้องกันโรค ในรอบปี"



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

   วันที่ 23 มิ.ย.51 ช่วงเช้า ได้ไปเป็นวิทยากรเรื่อง "เครือข่ายคุณภาพ กับ การกระจายอำนาจ" ณ จังหวัดอุดรธานี สำหรับกลุ่มผู้บริหารเขตพื้นที่และผู้บริหารสถานศึกษาประเภทที่ 1 ขณะที่นั่งคุยกับทีมงาน ได้หารือกันในเรื่อง "ทีมงานนิเทศของเขตพื้นที่การศึกษา-จะสร้างทีมนิเทศให้เข้มแข็งได้อย่างไร" ทีมนิเทศหมายถึงใคร หมายถึงครูแกนนำได้หรือไม่ เรื่องนี้ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ตั้งใจว่าจะเขียนเป็นบันทึก ในโอกาสต่อไป

   ช่วงบ่าย ไปเป็นวิทยากรที่โรงแรมเอเชีย กทม.เพื่อวิพากษ์ผลงานวิจัยและพัฒนาของ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ประเด็นที่เป็นที่น่าสังเกตของผลงานที่มีลักษณะเป็นจุดอ่อนร่วม คือ "ความคมชัดของตัวนวัตกรรม   การคิดนวัตกรรมแบบกว้าง   การกำหนดกลุ่มป้าหมายในการพัมนาแบบกว้าง และการประเมินประสิทธิผลของนวัตกรรม โดดยใช้ข้อมูลความรู้สึกเป็นหลัก"  ซึ่งจุดอ่อนเหล่านี้ ตั้งใจว่าจะเขียนบันทึกไว้เป็นบทเรียน ในโอกาสต่อไป

     ขณะนั่งคุยกับ ผอ.สุรพล ผอ.สพท.สระแก้ว เขต 2 ท่านได้เล่าให้ฟังถึงแนวคิดของ อบต.ท่านหนึ่งที่สระแก้วที่ให้ความสำคัญในเรื่องบทบาทร่วมของผู้ปกครองในการจัดการศึกษา โดยกล่าวว่า "นักเรียนหรือลูก เปรียบเสมือนต้นไม้ ที่พ่อแม่นำมาฝากโรงเรียนให้ช่วยเลี้ยงให้เติบโต  ทั้งนี้ ครูผู้สอน/อาจารย์ประจำชั้นก็จะคอยดูแล ใส่ปุ๋ย แต่เนื่องจากมีต้นไม้จำนวนมาก จึงเติบโตได้ไม่เต็มที่ด้วยฝีมือการใส่ปุ๋ยของครูเพียงลำพัง  หากผู้ปกครอง แวะเวียนมาดูแลเป็นระยะ ๆ หรือร่วมแวะมาใส่ปุ๋ย โดยเฉพาะต้นที่เรานำมาฝากไว้ 1 ต้น ภารกิจของผู้ปกครองที่เข้ามาร่วมดูแลต้นไม้เพียงคนละ 1 ต้น น่าจะช่วยให้ต้นไม้ทุกต้นโตอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ปกครองทุกคน ถ้าอยากให้ลูกได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ จะต้องเข้ามามีบทบาทร่วม ไม่ใช่ปล่อยให้โรงเรียนหรือครู รับผิดชอบเด็กโดยลำพัง"



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

วันนี้ เป็นวิทยากรในการปฐมนิเทศเชิงปฏิบัติการแก่นักศึกษาระดับปริญญาโท มสธ. ในช่วงสุดท้ายของการสัมมนา ได้เสนอแนะให้นักศึกษาไปปฏิบัติการทบทวนสิ่งที่ได้รับ ในระหว่างการสัมมนา 2 วัน หรือ ร่วม 15 ชั่วโมง หรือ 9000นาที(เป็นการทำ After Action Review-AAR) โดยบอกว่า หากเรามีการทบทวนว่า  เราได้รายการความรู้ใหม่  หลักการหรือแนวปฏิบัติในการทำงานใหม่ ๆ  ทักษะปฏิบัติใหม่ ๆ หรือความตระหนักในเรื่องใด ๆ ใหม่ ๆ มากกว่า 90 รายการ  แสดงว่า เราได้เรียนรู้ ข้อคิด หลักการหรือแนวปฏิบัติใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นทุก 20 นาที แสดงว่าเรามีการพัฒนาค่อนข้างมาก แต่ถ้าทบทวนแล้ว รู้สึกว่าไม่ได้อะไรเลย แสดงว่า เราฟังแบบผ่าน ๆ ไม่ได้จดจ่อเท่าที่ควร หากเป็นเช่นนี้ แสดงว่า เราสูญเสียโอกาสการพัฒนาตนเอง  9000  นาที หรือเสียเวลา 2 วัน โดยเปล่าประโยชน์ นอกจากแก่ขึ้น  9000  นาทีแล้ว เราไม่ได้เกิดการพัฒนาอะไรเลย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

ช่วงนี้งานยุ่งมาก ไม่ค่อยมีเวลาสำหรับการเขียนบันทึกเลย จึงขอใช้วิธีเขียนอนุทิน กันลืมไว้ก่อน

   เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2551 ได้ไปบรรยายเรื่อง เครือข่ายคุณภาพ กับการกระจายอำนาจทางการศึกษา  ได้นำเสนอแนวคิดหลายเรื่อง ที่สำคัญ ๆ คือ 1) การรวมอำนาจกับกระจายอำนาจ มีจุดเด่น จุดด้อยต่างกันอย่างไร อะไร คือจุดอ่อนเมื่อรวมอำนาจหรือกระจายอำนาจ  2) การวิเคราะห์อำนาจที่ได้รับ สภาพเดิม สภาพใหม่ ควรจะแตกต่างกันอย่างไร  3) ตัวชี้วัดความสำเร็จของเขตพื้นที่การศึกษา หรือสถานศึกษา หลังการกระจายอำนาจ 4) แนวทางการพัฒนาคุณภาพระดับเขตพื้นที่และระดับสถานศึกษา การบีบอัดคุณภาพการศึกษา 4) บทบาทร่วมของชุมชน เส้นทางสู่ความเป็นเลิศในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 5) แนวทางการพัฒนางานในบทบาทของเครือข่ายคุณภาพเพื่อร่วมสนับสนุนและพัฒนากระบวนการบริหารจัดการกับอำนาจที่ได้รับ

......วันที่ 20 มิถุนายน 2551 ได้ไปบรรยายเรื่อง ตัวชี้วัดประสิทธิภาพของสื่อหรือระบบสื่อทางไกล ให้แก่คณาจารย์และบุคลากรของสำนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มสธ. ได้พูดคุยหลายเรื่อง คือ 1) ต้นทุนของ มสธ.ในระบบทางไกล 2) การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย ทรัยพ์สินด้านสื่อและนวัตกรรมทางการศึกษา และ 3) หลักการและแนวปฏิบัติในการประเมินประสิทธิภาพ หรือประสิทธิผลของสื่อ ในระบบทางไกล



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

     วันนี้ 9.30-12.00 น. ไปเป็นประธานในการประชุมกรรมการเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต 2 มีบทเรียนหลายอย่างที่เห็นว่าน่าจะมีการบันทึกเก็บไว้เป็นบทเรียนในโอกาสต่อไป อาทิ 1) การใช้ คะแนนสอบ NT/O-NET เป็นเงื่อนไขในการจ่ายเงินโบนัสของเขตพื้นที่การศึกษา หรือการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะครู "ถ้าคะแนน NTสูงก็แปลว่าครูโรงเรียนนั้นมีโอกาสได้โบนัสสูง หรือมีโอกาสเลื่อนวิทยฐานะสูงมาก" การกระทำนี้ มีผลดีทำให้โรงเรียนหันมาสนใจกระบวนการสอนกันอย่างจริงจังมากขึ้น แต่ให้ผลทางลบคือ "ทุกคนอยากไปสอนในโรงเรียนที่เด็กเรียนดี หรือโรงเรียนที่มีโอกาสคัดเลือกเด็กแบบ 100 % เพื่อหวังว่า "เด็กจะช่วยครู ให้ได้รับโบนัสสูง หรือเด็กช่วยให้ครูได้เลื่อนวิทยฐานะ  ยิ่งถ้าครูที่สอนไม่ดี ก็ต้องหวังพึ่งเด็กเยอะ ๆ"   โดยนัยนี้  "ครูอาศัยบารมีเด็กในการเลื่อนวิทยฐานะ(เด็กเก่งอยู่แล้ว ใครสอนก็เก่ง)"...เฮ้อ ครูไม่ต้องช่วยเด็ก แต่เด็กกลับช่วยครูแทน   ปัญหาที่จะตามมา คือ "ใครจะอยากไปสอนโรงเรียนที่เด็กเรียนอ่อน หรือเด็กในชุมชนที่ด้อยโอกาส  สอนหนักเกือบตาย  คะแนนก็ยังออกมาต่ำ ครูเลยไม่ได้โบนัส หรือไม่ได้เลื่อนวิทยฐานะสักที..ขอย้ายโรงเรียนดีกว่า(ไปอาศัยบารมีเด็กเอาดาบหน้า ไม่ใช่ไปตายเอาดาบหน้า)  2) เขตพื้นที่เสนอ KPI และเครื่องมือเพื่อการประเมินคุณภาพสถานศึกษาขั้นพื้นฐานภายในเขต...ปัญหาเรื่องคุณภาพเครื่องมือ จะเป็นปัญหาในรอบต่อไปของการประเมินภายนอกโดย สมศ. เพราะทราบข่าวว่า สมศ.จะให้ความสำคัญกับการประเมินผลภายในที่มีประสิทธิภาพ  และประสิทธิภาพหรือความน่าเชื่อถือส่วนหนึ่งก็คือ "คุณภาพของเครื่องมือในด้านความเที่ยง ความตรง เพื่อการวิเคราะห์วิจัยในกระบวนการประเมินผลภายในของสถานศึกษา  3)  การประกาศนโยบายของนายก อบจ.นนทบุรี "ก้าวสู่การเป็นจังหวัดที่มีคุณภาพการศึกษา เป็นอันดับ 1 ของประเทศ ภายใน 2-3 ปี"..เยี่ยมจริง ๆ ท่าน ผมจะเชียร์สุด ๆ  4) เรื่องการเตรียมเด็กเข้าเรียนตามเกณฑ์ ในระดับชั้น ป.1 2552 ผมเสนอให้จัดทำปฏิทินการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่การกำหนดช่วงเวลาให้ผู้ปกครองแจ้งความประสงค์นำลูกเข้าโรงเรียน ระหว่างเดือน   ธ.ค.2551-เม.ย.2552 เท่านั้น    5)  การวางแผนแก้ปัญหารองรับเด็กเข้าโรงเรียน กรณีของการขยายหมู่บ้านเอื้ออาทรภายในชุมชน6)การนำร่องสร้างครูผู้สอนภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพ เทียบเท่า หรือดีกว่าครูต่างประเทศ ที่เรียกค่าตัวแพง 7) อบจ.รับโอนโรงเรียนไปแล้ว การดูแลคุณภาพจะทำอย่างไร ขณะนี้ ยังฝาก สพท.เป็นผู้ดูแล และ 8) การกล่าวอำลา แสดงความรู้สึกจากการที่ได้มาร่วมเป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา 2 ปี...ผมบอกว่า ผมโชคดี 3 เรื่อง คือ มานั่งเป็นประธานกรรมการเขตพื้นที่ท่ามกลางคณะกรรมการที่มีคุณภาพ มีจิตสาธารณะ   ผอ.เขตพื้นที่มีประสบการณ์สูง วิสัยทัศน์ดีเยี่ยม และติดดิน   และ ผมนั่งเป็นประธานในเขตพื้นที่ที่ อบจ./องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีวิสัยทัศน์เป็นเลิศด้านการส่งเสริมคุณภาพเด็กและเยาวชน...สิ่งแวดล้อมช่วยผม ทำให้นนทบุรีเขต 2 เป็นเขตพื้นที่ที่มีคุณภาพการศึกษาไม่เกินอันดับห้า ไม่ว่าจะมองที่มุมใด หรือตัวชี้วัดใด

   ผมจะนำข้อคิดทั้ง 8 ประการนี้ ไปเขียนขยายความในบันทึก ในโอกาสหน้านะครับ(ทำตามที่คุณมะปรางเปรี้ยวสอนน่ะนี่-ได้ข้อคิดอะไร ก็จด ๆ ไว้ก่อนในอนุทิน

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

เมื่อคืนนี้(19 พ.ค.51) 22.30 น. ไปรับลูกสาวคนโตที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์(ไปปฐมนิเทศ) เขาเล่าเรื่องดี ๆ เช่น

-วันนี้สนุกมากเลยพ่อ อธิการบดีและรองอธิการบดี เป็นกันเองมาก พูดให้ข้อคิดก็ดี  อารมณ์ก็ดี พูดติดตลกตลอดเวลาเลย สรุปว่า "เขามีความรู้สึกที่ดีต่อ มหาวิทยาลัย"

-วันนี้ "หนูต้องคอยดูแลเพื่อนพิเศษ-ตาบอด พ่อจำได้ไหม ที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้  เขาติดคณะหนูด้วย  นั่งปฐมนิเทศอยู่ใกล้หนู หนูต้องคอยดูแลเขาทั้งวันเลย"....สุดยอดมากเลยลูก น่าภูมิใจ

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดร.สุพักตร์ พิบูลย์
เขียนเมื่อ

     วันนี้ ไปเป็นวิทยากรบรรยาย เรื่อง การวิเคราะห์ปัญหาและวางแผนพัฒนาสถานศึกษา โดยใช้ผลการสอบระดับชาติ(O-NET) ให้แก่คณะครู โรงเรียนปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี  ชื่นชมกับความพยายามของผู้อำนวยการโรงเรียนในการยกระดับคุณภาพสถานศึกษา ได้มีการ Plot Graph คุณภาพการศึกษาเป็นรายกลุ่มสาระ ซึ่งได้บันทึกรายละเอียดไว้แล้วที่ http://gotoknow.org/blog/sup001/182467

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท