ทำไมจึงไม่ควรเรียนจากพระเก๊ตาเปล่า


มีคนเอาพระเก๊ตาเปล่า มาถาม ว่า .......

"แบบนี้มีไหม"

ผมตอบว่า "ไม่มี"

เขาบอกว่า "สงสัยต้องไปศึกษาเพิ่ม"

ที่แสดงถึงความไม่เข้าใจ เข้าใจผิด หรือ หลงผิด ไม่จับหลัก ไม่มีหลักการในการศึกษา หรือ การดูพระแท้

ที่ถ้าเป็นการศึกษาเพิ่มในเส้นทางเดิม ไม่น่าจะมีประโยชน์อันใด น่าจะเสียเวลาเปล่าๆ

เพราะการศึกษาจากของจริงอย่างที่ผมสอนนั้น แต่ละเนื้อใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง

ไม่ต้องเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี อย่างที่ทุกคนชอบคิด

และในความจริง ถ้านับเฉพาะ เวลาเรียนจริงๆ แบบ Real time ไม่ผนวกเวลาเตรียมการทั้งวัสดุ เทคนิคการส่อง และการปรับแสง ปรับสายตา ปรับความรู้ และความเข้าใจ แล้ว เวลาเรียนจริงๆ ก็แค่ ไม่กี่วินาที เท่านั้น

และผมเรียนมาอย่างนี้ ด้วยตัวเอง จริงๆ โดยไม่มีใครสอนผมนี่แหละ

เพราะวงการนี้เขาจะไม่สอนใคร มีแต่จะพยายามหลอกให้คนอื่นหลงทาง เป็นเหยื่อให้กับตนเอง และพรรคพวก

คนในตลาดพระที่สนิทกันหลายๆท่าน ยังเตือนผมด้วยความหวังดีว่า "ถ้าคุณสอนให้คนอื่นดูพระเป็น คุณจะมีคู่แข่ง และหาพระยาก"

ที่ผมไม่กลัว เพราะผมไม่ต้องการหาพระในตลาด ที่ผมหยิบมา ก็แค่แสดงผลงานให้คนศรัทธาในองค์ความรู้ที่ผมมี และคิดจะเลียนแบบ และมาเรียนรู้เท่านั้น ใครจะหยิบแทนผม ก็ขอแสดงความยินดีด้วย ไม่อ้างอิงแหล่งความรู้ ก็ไม่เป็นไร เรารู้แก่ใจตนเอง ว่าเราทำได้อีกระดับหนึ่งแล้ว

เพราะเจตนาผม คือ ต้องการให้คนเรียนรู้เท่าๆกัน ที่จะทำให้เกิดความโปร่งใส ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน ทั้งเจ้าของพระ ผู้ซื้อ ผู้ขาย แบบเดียวกับการซื้อเพชร ซื้อทอง ที่ทุกคนก็ค้าขาย มีกำไรอยู่ได้กันทุกฝ่าย ไม่มีการหลอกเอาของเก๊มาขาย หรือแกล้งว่าของคนอื่นเก๊เพื่อจะซื้อราคาถูก

ดังนั้น ใครที่หลงทางมา แล้วบอกว่าจะศึกษาเพิ่ม นั้น ผมขอเลยครับ ว่า........

ไม่ใช่ "เพิ่ม" ท่านหลงทางครับ ต้องรื้อความคิดและของเก่าๆทิ้ง และเริ่มต้นใหม่ครับ

จากหลักการที่ถูกต้อง โดยเริ่มจากวัตถุธรรมชาติ และมั่นใจว่าแท้เท่านั้น อะไรที่ไม่แท้วางไว้ก่อน

หลักนี้ใช้ได้กับทุกเนื้อครับ

เนื้อดิน ก็ไปดูดิน แบบต่างๆ

เนื้อโลหะ เนื้อชิน ก็ไปดูสนิมของโลหะชนิดต่างๆ

เนื้อผงปูนเปลือกหอย ก็ไปดู ปูนเปลือกหอย จากผิวเปลือกหอยที่ท่านมั่นใจว่าแท้

เนื้อว่าน ก็ใช้หลักเดียวกับดิน ผสมกับ เนื้อผง

ถ้าเริ่มต้นตรงนี้ไม่มีวันหลงทางอย่างแน่นอน

ใครที่บ่นว่า หาวัสดุเหล่านี้ไม่ได้ ผมขอแนะนำให้เลิกไปดีกว่าครับ เพราะพระแท้ๆ หายากกว่านี้เป็นพันเท่า หมื่นเท่า

แต่สำหรับท่านที่ชอบเรียนจริงๆ ก็มาเรียนกับผมได้ครับ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ต้องเสียเวลาเดินทางมาหาผม หรือไปรวมกลุ่มที่ผมจัดสอน หรือ จัดกลุ่มขึ้นมา แล้วผมจะไปสอนให้

แล้วก็มาเรียนต่อทางไลน์ ทางเฟส ทางเวบ

นี่คือเส้นทางลัด สำหรับท่านที่ไม่มีเวลามาก

ถ้ามีเวลามาก ก็เรียนด้วยตนเองเลยครับ

ท่านอาจจะพบเส้นทางที่ลัดกว่ามาเรียนกับผมก็ได้

แต่อย่าเริ่มจากพระเก๊ ของเก๊ เท่านั้นเป็นพอ

รอดแน่นอน

555555555555555555555555555555

คำสำคัญ (Tags): #การดูพระแท้
หมายเลขบันทึก: 586660เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2015 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2015 09:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน

หลายวันก่อนผมได้มีการนัดพบปะเพื่อนฝูงสมัยเรียนด้วยกัน ซึ่งเราจะนัดพบกันทุกเดือน ทุกคนก็อยู่ในวัยเกษียณกันหมดแล้ว มีอยู่หลายคนเล่นหาสะสมพระเครื่องเป็นงานอดิเรก เหมือนกับคนแก่ทั่วๆ ไป จึงตั้งวงสนทนาและนำพระเครื่องมาอวดกัน มีการพูดคุยถึงพระเครื่องต่างๆ และในการพิจารณา ผมก็ถูกชักชวนให้เข้าร่วมวงด้วย เพราะเพื่อนหลายๆ คนก็รู้ว่าผมชอบและสะสมมานาน ผมก็ได้แต่นั่งฟังซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะรู้ดีว่าต่างคนต่างก็มีความคิดแตกต่างกันไป ในหลักของการพิจารณา ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาในสังคมทั่วไป

เรื่องปัญหาของการพิจารณาพระแท้หรือไม่แท้นั้น เป็นปัญหาโลกแตกของสังคม พระเครื่องด้านนอกกับสังคมผู้นิยมพระเครื่องที่เป็นมาตรฐาน เนื่องจากมาตรฐานของการพิจารณาพระเครื่องหรือการพิสูจน์ทราบว่าพระเครื่องนั้นๆ ใช่หรือไม่ใช่ แท้หรือไม่แท้นั้น ไม่มีสถาบันการศึกษาทางด้านวิชาการใดๆ รองรับในเรื่องนี้ ไม่เหมือนกับอัญมณี หรือแร่ธาตุต่างๆ คำถามก็คือ แล้วเอาอะไรมาเป็นมาตรฐานรับรอง วิธีการพิจารณา พระเครื่องปัจจุบันก็มีมูลค่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นของมีค่าเช่นกัน ดังนั้นมูลค่า ที่มีการรองรับในด้านราคาจึงเป็นมาตรฐานรับรอง พูดง่ายๆ ก็คือเวลาขายมีคนรับซื้อในมูลค่าที่ใกล้เคียงกัน

ครับผมจะยกตัวอย่างพระสมเด็จ วัดระฆังฯ หรือบางขุนพรหม เนื่องจากเป็นพระที่มีคนนิยมมากที่สุด และมีมูลค่าสูง ก็รู้ๆ กันอยู่ว่า ถ้าสมบูรณ์ไม่หักชำรุดหรือสึกจนมองไม่เห็นอะไร ก็ต้องมีหลักล้านขึ้นไป ขนาดหักชำรุดอุดซ่อมก็ต้องมีหลักแสน และมูลค่าจะสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างให้เห็นได้ชัดเจนกับพระนอกมาตรฐาน พระสมเด็จวัดระฆังฯ ตามที่มีมูลค่ารองรับ และสามารถนำมาขายได้ในสถานที่ชุมนุมของนักเล่นพระเครื่องที่เรียกกันว่า สนามพระหรือศูนย์พระในปัจจุบัน

สำหรับหลักการพิจารณาของสังคมผู้นิยมพระเครื่องนั้นจะมีหลักการคล้ายๆ กัน อาจจะไม่เหมือน กันเป๊ะทุกข้อ แต่ก็เข้ามาสู่ความถูกต้องอันเดียวกัน และมีมูลค่ารองรับเหมือนๆ กัน เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่นิยมสะสมแบบเล่นหาและว่ากันไปเอง จะไม่เหมือนกันเลย ต่างกลุ่มต่างจะมีหลักการที่แตกต่างกันมาก ที่เหมือนๆ กันเท่าที่ผมสังเกตดูจะบอกว่า เนื้อหาจัด มวลสารดี เท่านั้นที่ดูคล้ายๆ กัน หลักการเหล่านี้จะไม่มีมาตรฐานราคาหรือมูลค่าที่ใกล้เคียงกันเลย เล่นหากันเฉพาะกลุ่ม ต่างกลุ่มก็จะไม่สามารถซื้อ-ขายกันได้ หรือมูลค่าราคาแตกต่างจากสังคมมาตรฐานมากมาย

เช่นอย่างที่ผมบอกว่า ถ้าเป็นพระสมเด็จวัดระฆังฯ ที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านสร้างไว้และสมบูรณ์ไม่ชำรุดหักหรือสึกหรอมาก มูลค่าทุกพิมพ์จะอยู่ที่หลักล้านทุกองค์ อยู่ที่จะกี่ล้านก็ขึ้นอยู่กับความสวยสมบูรณ์เท่านั้น และมีมูลค่าใกล้เคียงกันกับทุกกลุ่มที่เล่นหามาตรฐาน แต่สำหรับกลุ่มนอกมาตรฐานนั้น อยู่ที่หลักพันหลักหมื่นเท่านั้น และที่สำคัญพอจะขายกลับขายไม่ได้ ทั้งที่เมื่อก่อนนั้นเคยมีคนบอกว่าแท้ รับรองเลย พอจะขายกับคนเดิมกลับไม่ซื้อหรือไม่กล้าซื้อเลย

ตัวอย่างที่ผมพูดมานี้ก็พอที่จะเปรียบเทียบให้เห็นได้ว่า ควรจะเลือกวิธีการศึกษาและสะสมแบบไหนนะครับ การเล่นหาสะสม นอกมาตรฐานถ้าเล่นหาแล้วสบายใจก็เล่นไปเถอะครับ ไม่มีใครว่า แต่พอจะนำมาขายนั้นก็ต้องทำใจนะครับ ในทางกลับกัน การศึกษาสะสมแบบที่เป็นมาตรฐานสากลนั้น วันใดวันหนึ่งซึ่งเราทุกคนไม่รู้หรอกครับว่าจะขายเมื่อไร เมื่อเกิดเหตุการณ์จำเป็นขึ้น มาที่จะต้องขาย ก็ยังสามารถนำมาขายได้ในสังคมมาตรฐาน ส่วนมูลค่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ว่ากันไป บางชนิดอาจจะมีมูลค่าลดลงบ้าง หรือเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเป็นพระสมเด็จ รับรองครับมีแต่เพิ่มมูลค่าไม่มากก็น้อย อยู่ที่ การเก็บรักษาที่ดี มีสภาพเหมือนเดิม ระยะเวลาผ่านมามากน้อย หรือ พระเครื่องอื่นๆ ที่เขานิยมกันจนเป็นมาตรฐานก็เช่นกันครับ

ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ของกลุ่มสังคมผู้นิยมพระเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานที่มีมูลค่ารองรับหรือนอกมาตรฐานก็ตาม ตามความคิดผมไม่ควรจะถกเถียงกันมาก เนื่องจากหาข้อยุติยากครับ แล้วแต่ความชอบ แต่ถ้าจะพิสูจน์กันจริงๆ ก็ทำได้ครับ คือนำไป ตีราคาขายเลย จะรู้ได้ทันทีว่า มีคนซื้อหรือไม่ มีคนต่อรองราคาหรือไม่ เป็นข้อพิสูจน์ง่ายๆ เกี่ยวกับการมีมูลค่ารองรับหรือไม่ครับ

เอาล่ะครับวันนี้ก็คุยกันมามากพอสมควร ไว้วันต่อไปจะคุยถึงเรื่องหลักการพิจารณาของตัวผมเอง เรื่องพระสมเด็จ ที่ผมได้ศึกษามาจากครูบาอาจารย์คนรุ่นเก่าๆ แต่ก็ไม่ถึงกับการชี้ตำหนินะครับ แค่หลักการพิจารณาและแนวทางการศึกษาเท่านั้น

ในวันนี้ก็นำรูปพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ฐานแซมมาให้ชมกันก่อนนะครับ

ด้วยความจริงใจ

ผมทดลองส่งความเห็นดูอีกครั้งครับ เพราะลองส่งดูแล้วปรากฎว่าไม่มีความเห็นของผมขึ้นมาครับ..

วันนี้อีกเช่นเคยครับ นำบทความดีๆ ของคุณแทน ท่าพระจันทร์มาให้อ่านกันครับ เรื่องที่ผมเคยบอกหลายครั้งแล้วว่า เล่นพระหรือการสะสมพระควรเล่นให้ถูกทาง กล่าวคือเล่นเป็นแบบสากล มาตรฐานแบบสากล ไม่ใช่สากลแบบที่คุณวินิจจิตติ เคยบอกว่าสากลของใคร..? อย่ามองโลกในแง่ร้ายเกินไปครับ..

คนทุกวงการก็มีคนดี และไม่ดี วงการพระเครื่องก็ต้องดูคนที่เราจะคบด้วยเพื่อหาความรู้ อย่างท่านอาจารย์แสวงนี้..ผมไม่ต้องออกใบรับรองความประพฤติ เหมือนท่านอธิการบดีสจล. ออกใบรับรองความประพฤติให้กับนายธนาคารครับ..(ฮา)...ท่านอาจารย์แสวงเป็นคนที่มีจิตวิญญาณเป็น "ครู" จริงๆครับ ผมถึงยกมือไหว้ได้อย่างสนิทใจครับ..พระเครื่องเราต้องค้นหาพระแท้ครับ ดุจเดียวกับคบคนในวงการพระเครื่อง ก็ต้องดูว่าคนนี้เป็นครูให้เราแท้ หรือปลอมเช่นกันครับ..

ขอขอบคุณครับที่มีพื้นที่ให้ผมแสดงความเห็นครับ..สวัสดี..


สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เมื่อวันก่อนได้พูดกันถึงการสะสมพระเครื่องและการพิจารณาตามหลักมาตรฐาน และนอกมาตรฐานไปแล้ว ซึ่งมีข้อแตกต่างกันคือ แบบมาตรฐานสากลจะมีมูลค่าราคารองรับ ส่วนแบบนอกมาตรฐานสากลจะไม่มีมูลค่าราคารองรับ แต่ในส่วนของความเชื่อนั้นก็ว่ากันไปตามแต่ละกลุ่ม ซึ่งก็ว่ากันไม่ได้ เพราะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล

ผมขอเล่าเรื่องของตัวผมเอง ที่เกี่ยวกับแนวทางในการศึกษาเล่นหาสะสมพระเครื่อง ในครั้งแรกๆ ที่เริ่มสนใจพระเครื่องนั้น สมัยนั้นก็ยังอยู่ในวัยรุ่น สนามพระก็อยู่ที่วัดมหาธาตุฯ เมื่อมีเวลาว่างก็จะเข้าไปเดินเล่น และแอบฟังผู้ใหญ่เขาคุยกัน และจำมาผิดบ้างถูกบ้างก็ว่ากันไป การเก็บเกี่ยวความรู้ก็เป็นแบบสะเปะสะปะไปเรื่อย เก็บเงินได้ก็ไปเช่าหาพระที่เหมาะสมกับตังค์ในกระเป๋า แต่ก็อยากได้พระเครื่องที่สนนราคาค่อนข้างมากกว่าตังค์ที่มีอยู่ จึงเลี่ยงๆ ไปเช่า ที่เขาให้เช่าพระแบบเดียวกันแต่ราคาถูกกว่าเยอะ ได้มาก็ต้องพิสูจน์ว่าพระที่เราได้มาแท้หรือไม่ เอามาอวดให้คนแถวบ้านดู ก็ว่ากันไป แท้บ้างเก๊บ้าง ไม่เหมือนกันเลยทั้งๆ ที่ก็พระองค์เดียวกัน จะหาข้อยุติอย่างไรดี ก็นำพระไปให้ผู้ใหญ่ในสนามพระเช่า จะได้รู้ว่าแท้หรือไม่ ผลก็ออกมาว่าเก๊ตรงกัน ไม่มีใครเช่าเลย ออกมาหาเช่าตามบ้านบ้างก็ไม่เคยเจอของแท้เลย คือไม่มีมูลค่าราคารองรับ

ผมกลับมาคิดตรึกตรองดู ทำอย่างไรเราจะศึกษาได้ถูกต้องแบบที่มีมูลค่าราคารองรับ ความจริงก็ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการซื้อ-ขายเป็นหลัก แต่อยากจะได้พระดีๆ แท้ๆ ไว้คุ้มครอง จึงเริ่มหาเวลาเข้าไปหาผู้ใหญ่ในสนามพระเข้าไปทำความสนิทสนม ซึ่งบางท่านก็เคยเห็นหน้าว่านำพระมาให้เช่าบ่อย แต่ไม่เคยมีพระดีๆ เลย จนท่านเหล่านั้นเริ่มเห็นใจและเริ่มแนะนำให้ศึกษาทีละอย่าง ผมก็เริ่มศึกษาพระกรุเนื้อดิน ท่านก็ให้ศึกษาพระคงลำพูน ซึ่งเป็นพระเก่าแก่ และหาได้ไม่ยากในสมัยนั้น ราคาก็ 30-50 บาท ซึ่งก็พอจะเก็บหอมรอมริบไปเช่าหาได้ และผมเองก็ชอบด้วย ในสมัยก่อนไม่มีหนังสือพระเครื่อง หรือรูปถ่ายแบบในสมัยนี้ ท่านก็กรุณานำพระคงแท้ๆ มาให้ดูและบอกให้จำหน้าตาพระ และรายละเอียดไว้ ผมก็ได้ดูและจำไว้ ว่างเมื่อไหร่ก็ไปขอดู ท่านก็ให้ดู ถ้าสงสัยข้อไหนก็ต้องถาม ถ้าไม่ถามท่านก็ไม่บอก ตอนแรกๆ ก็ยังสงสัยว่าทำไมไม่บอกมาให้หมดเสียทีเดียวเลย มารู้ทีหลังว่า ที่ท่านให้ถามก็เพราะว่า ท่านจะดูเราว่าสนใจจริงมากน้อยแค่ไหน และสิ่งที่เรามีข้อสงสัยมาถามก็เพราะเรามีความสนใจ และสิ่งที่เราสงสัยนั้น เมื่อท่านบอกแล้วเราจะจดจำได้ไปตลอดชีวิตเลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมได้รู้ว่าเป็นจริงตามนั้น พอผมนึกว่าตัวเองแน่แล้ว ท่านก็ให้ไปเช่าหาพระคงเอาเอง โดยไม่ให้เช่าจากท่าน เป็นการทดสอบว่าเราใช้ได้หรือยัง ผมก็ออกไปเช่าหามา ที่ปลอมไม่เหมือนนั้นก็หมดสิทธิ์ที่จะกินเงินผมได้ และก็หามาจนได้หนึ่งองค์แล้วเอาไปให้ท่านตรวจสอบ ปรากฏว่าสอบตกครับ เก๊อีก ผมหน้าเริ่มถอดสี จนท่านจับได้ว่ากำลังจะถอดใจ ท่านจึงสอนว่า สิ่งที่ผิดนั้นผิดอย่างไร และที่ถูกต้องเป็นอย่างไร พลาดตรงไหน ก็ออกไปเช่าหามาอีกจนได้พระแท้ กำลังใจเริ่มมีขึ้นมา และท่านก็แนะนำเพิ่มเติมให้อีก พระคงที่ผมเช่าได้พระแท้ในครั้งแรกเป็นพระที่ไม่ค่อยสวย ผมจึงออกไปเช่าหามาอีกจนได้พระมาอีกหลายองค์ และเริ่มมีพระสวยๆ และก็ออกตัวให้เช่าได้ในสนามพระ บวกลบกับเงินที่เสียไปตั้งแต่เริ่มศึกษา ก็หักกลบลบกันได้ ยังพอเหลือนิดหน่อย

ผมก็เริ่มศึกษาพระอื่นๆ อีกไปเรื่อยๆ ก็ได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่ในสังคมพระเครื่องอีกหลายท่านในสมัยนั้น และก็เริ่มมีความรู้ไปเรื่อยๆ และเข้าใจว่า เล่นหาสะสมและศึกษาอย่างไรจึงจะถูกวิธีตามหลักมาตรฐานสากล คือมูลค่าราคารองรับ จากสนามวัดมหาธาตุฯ จนมาถึงยุคสนามท่าพระจันทร์ ก็ได้ความเมตตาจากผู้อาวุโสรุ่นใหญ่ๆ อีกหลายท่าน แนวทางการสอนคล้ายๆ กันมีความแตกต่างกันบ้างก็เล็กน้อย แต่ก็กลับมาหาเหตุผลของการพิสูจน์ว่าแท้หรือไม่ตรงกันครับ

ครับวันนี้เกริ่นกันมายาวสักหน่อย วันหน้าจะมาพูดคุยกันต่อ เผื่อจะมีประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้างนะครับ และวันนี้ผมก็ขอนำรูปพระคง ลำพูนมาให้ชมกันไปพลางๆ ก่อนนะครับ

หมายเหตุ...เนื่องจากบทความของคุณแทน ท่าพระจันทร์ ติดต่อกัน จึงขออนุญาตท่านอาจารย์แสวง ลงให้ผู้ติดตามอ่านต่อครับ อ่านทบทวนหนังสือของอาจารย์แสวง แล้วนำมาเป็นความรู้เพิ่มเติม หวังว่า ผู้ที่ติดตามผลงานของท่านอาจารย์แสวง คงได้รับความรู้บ้างไม่มาก ก็น้อยครับ..ขอขอบคุณครับ..



(การพูดคุยถึงพิมพ์ของพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ตอนที่ 1)

สวัสดีครับ ท่านผู้ท่านที่รักทุกท่าน เราได้คุยกันถึงเรื่องการศึกษาและสะสมพระเครื่อง ในแบบวิธีที่มีมาตรฐานสากล และมีมูลค่ารองรับ ซึ่งสิ่งที่ผมจะนำมาพูดคุยในวันนี้ ไม่ใช่ว่าผมจะบอกว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดนะครับ หรือต้องเป็นแบบนี้ เพียงแต่เป็นสิ่งที่ผมได้ศึกษามาและก็ได้ผลโดยมีมูลค่ารองรับ แล้วจึงนำมาเล่าสู่กันฟัง

ในเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับการพิจารณาว่าแท้หรือไม่อย่างไร ที่สังคมยอมรับ และมีความเห็นตรงกันโดยมีมูลค่ารองรับ จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับพิมพ์เป็นอันดับแรก ตามที่ผมได้ศึกษาจากท่านผู้ใหญ่หลายๆ ท่านในสังคมผู้นิยมพระเครื่อง ท่านก็ได้ให้คำชี้แนะมาโดยตลอด ทำให้ผมพอที่จะพิจารณาพระเครื่องได้พอสมควรนั้น ผู้ที่ช่วยสั่งสอนผมท่านหนึ่งก็คือ ท่านอาจารย์วิโรจน์ ใบประเสริฐ หรือในสังคมพระเครื่องจะเรียกท่านว่า "เธ้า ท่าพระจันทร์" ท่านเป็นผู้ชำนาญการพิจารณาพระเบญจภาคีที่สังคมยอมรับ และท่านก็เป็นผู้ที่ซ่อมพระเครื่องที่เก่งมากท่านหนึ่งในสังคมสมัยนั้น ท่านได้กรุณาชี้แนะเกี่ยวกับเรื่องแม่พิมพ์ของพระให้ผมได้เข้าใจได้โดยมีเหตุและผล มีหลักวิธีอย่างละเอียด

ครับผมยกตัวอย่างเกี่ยวกับพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ขึ้นมาพูดคุยกันก่อนนะครับ ในสมัยนั้นผมเองก็สนใจพระสมเด็จฯ กับเขาเหมือนๆ ท่านอื่นๆ แต่ก็พยายามศึกษามาเรื่อยๆ แต่ก็มีโอกาสน้อยที่จะได้ชมองค์จริงๆ ก็ได้พยายามหารูปถ่ายของพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ มาศึกษาพิมพ์ของพระ โดยนำรูปพระองค์ที่สังคมยอมรับและมีมูลค่าทางการตลาด ได้ซื้อรูปมาเก็บอยู่หลายองค์ เมื่อมีปัญหาก็ไปถามผู้ใหญ่ถึงเรื่องตัวแม่พิมพ์ ก็ได้รับรู้ว่ามีอยู่หลายแม่พิมพ์ เนื่องจากบางองค์เห็นได้ชัดว่ามีบางอย่างเหมือนกัน แต่บางอย่างก็แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ก็ได้รับคำตอบว่ามีแม่พิมพ์อยู่หลายแม่พิมพ์ เช่น พิมพ์เกศทะลุซุ้ม และพิมพ์เกศไม่ทะลุซุ้ม ผมก็มาสังเกตดู ก็ยังมีอื่นๆ อีกที่แปลกแยกออกไปอีก จนนำคำถามมาปรึกษาอาจารย์วิโรจน์ เมื่อท่านเห็นว่าผมสนใจจริงที่จะศึกษาท่านก็กรุณาสอนให้โดยในลำดับแรกท่านให้ผมหาข้อแตกต่างของพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ วัดระฆังฯ ซึ่งศึกษาจากองค์เดียวก่อน โดยท่านให้ศึกษาจากรูปที่ผมมีและท่านเลือกรูปให้ และให้สังเกตดูว่าโดยการแบ่งกึ่งกลางรูปจากบนลงมาล่าง ให้สังเกตหาข้อแตกต่างระหว่างซ้ายกับขวา ว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างไร แล้ว กลับมาบอกกับท่าน เมื่อผมกลับมาก็ใช้เวลาอยู่หลายวันมาหาข้อแตกต่าง แล้วก็เห็นว่ามีอยู่หลายจุด ก็จดจำไว้และจดเป็นข้อๆ หลังจากนั้นก็นำคำถามไปปรึกษาท่านใหม่

คำถามและสิ่งที่ผมพบเห็นข้อแตกต่างที่พบ ก็คือ

1. เส้นซุ้มครอบแก้วของพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่นั้น จะมีเส้นขอบแม่พิมพ์ด้านขวามือเรานั้น จะวิ่งจากขอบด้านบนลงมาและมาชนที่ซุ้มครอบแก้วตรงตำแหน่งใกล้ๆ กับข้อศอกซ้ายขององค์พระ หรือด้านขวามือเรา ส่วนอีกด้านหนึ่งคือเส้นขอบแม่พิมพ์ด้านซ้ายมือเรานั้นจะแตกต่าง โดยจะวิ่งลงมายาวจนถึงขอบฐานซุ้มครอบแก้ว ท่านก็สอนว่า นี่แหละคือจุดสังเกตแม่พิมพ์ของพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ทุกๆ แม่พิมพ์ จะต้องเป็นแบบนี้ แต่ในส่วนของพระที่ตัดชิดขอบแม่พิมพ์ เราจะเห็นว่าด้านขวามือเราจะตัดชิดมาชนซุ้มครอบแก้ว

2. สิ่งที่ผมพบอีกก็คือพระพักตร์ของพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ จะเป็นแบบคล้ายๆ ผลมะตูม แต่ด้านซ้ายขวาก็จะไม่เหมือนกันเป๊ะ คือสังเกตดูด้านซ้ายมือเรา จะป่องโค้งออกมากกว่าด้านขวามือเรา ท่านจึงได้อธิบายว่าถูกต้องแล้ว จะเป็นลักษณะนี้ทุกแม่พิมพ์

3. สังเกตดูที่ไหล่ซ้าย-ขวา หัวไหล่รวมทั้งเนื้อหัวไหล่ รวมทั้งซอกแขนตรงรักแร้ จะไม่เหมือนกันทั้งซ้าย-ขวา พูดง่ายๆ ก็คือ หัวไหล่และซอกแขนของพระเห็นได้ชัดว่าด้านขวามือเรานั้น ซอกรักแร้จะลึกสูงขึ้นไปจนเนื้อที่ของหัวไหล่กิ่วคอด เหลือเนื้อที่หัวไหล่น้อยกว่าอีกด้านหนึ่ง ส่วนที่ด้านซ้ายมือเรานั้นจะมีเนื้อหัวไหล่มากกว่า ซอกรักแร้ไม่ชอนขึ้นไปสูงแบบด้านขวามือเรา ท่านก็ชี้แนะว่าจะเป็นอย่างนั้นทุกแม่พิมพ์ นี่คือจุดสังเกตของพระพิมพ์ใหญ่

ครับวันนี้เอาแค่นี้ก่อนนะครับ และผมได้นำรูปพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ วัดระฆังฯ มาให้ท่านผู้อ่านได้ลองมองดูจุดสังเกตที่ท่านอาจารย์วิโรจน์ได้แนะนำให้ผมนั้น เป็นอย่างที่บอกหรือเปล่านะครับ แล้วเราค่อยมาคุยกันต่อในวันต่อไปซึ่งยังมีอีกมาก จนถึงแยกจุดสังเกตแม่พิมพ์ออกเป็น 4 แม่พิมพ์อย่างไร

เช่นเคยครับ ขออนุญาตท่านอาจารย์แสวง ลงต่อตอนที่ ๓ ครับ จะได้อ่านต่อเนื่องครับ..

สีแบบนี้ไม่เคยเห็นครับ อิอิอิอิ

รูปพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ที่คุณแทน ท่าพระจันทร์นำมาลงนี้ ถ้าท่านอาจารย์แสวงมีหนังสือเกี่ยวกับพระสมเด็จหลายๆเล่ม ก็จะคุ้นๆครับ เพราะที่พวกเซียนพระนำภาพส่วนใหญ่จะซ้ำๆกัน มาตีพิมพ์หากินกันครับ องค์นี้เป็นองค์ดังในวงการมาหลาย ๑๐ ปีเป็นของเจ้าคุณจินดา หรือองค์คุณบุญส่งนั่นเองครับ ส่วนสีอาจผิดเพี้ยนไปเพราะการถ่ายทำ และการพิมพ์ครับ..

พูดถึงระบบการพิมพ์ ผมอยากให้ท่านอาจารย์พิมพ์ "จุดตาย พระเครื่องแท้" ขึ้นมาใหม่ครับ เพราะเปิดไม่กี่ครั้ง สันกาวหลุดแล้วครับ อยากให้เพิ่มรูปที่อาจารย์ขยายด้วยกล้อง แบบรูปขยายข้างบนชัดๆ โดยการเพิ่มขนาดหนังสือครับ เพราะคนที่อ่าน ผมว่าส่วนใหญ่อายุมากแล้วครับ จะได้ไม่ต้องใช้แว่นขยายส่องตัวหนังสืออีกครับ..เพิ่มรูป เพิ่มราคา ไม่ว่ากันครับ เอาเป็นว่าทำเพื่ออนาคตของวงการพระเครื่องเมืองไทยจะได้มีตำราดีๆ อีก ร้อย สองร้อยปีก็ยังเปิดอ่านกันได้ครับ

ขอเสริมเกี่ยวกับ วิธีพิสูจน์พระสมเด็จแบบคนรุ่นเก่าทำคือ..นำพระเครื่องที่ต้องการพิสูจน์ว่า เก่าหรือใหม่ นำน้ำอุ่นใส่แก้วน้ำใสๆ พอท่วมองค์พระ จากนั้นนำพระลงไปแช่ในแก้ว ถ้าเห็นเป็นฟองน้ำฟู่ขึ้นมา ก็แสดงว่าเป็นพระใหม่ครับและถ้าเอาไปผึ่งแดดสัก ๑๕ นาที พอแห้งมาดๆ ก็เอามาดมดูก็จะได้กลิ่นปูนใหม่ๆครับ ถ้าเป็นพระสมเด็จที่แท้ซึ่งมีอายุกว่า ๑๐๐ ปี สามารถแช่ได้เป็นวันๆ โดยที่พระไม่ละลายเหมือนพระของวัดปากน้ำครับ

วันนี้พอมีเวลาคุยกับอาจารย์ครับ ปิดท้ายด้วยขำๆ กรุณาอย่านำพระสมเด็จไปแช่ทำน้ำมนต์เพื่อให้ลูกดื่มแก้อาการปวดท้อง เหมือนเซียนพระบางท่านให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับปาฏิหาริย์ของพระสมเด็จครับ..(ฮา..)

นี่คือรูปของท่านอาจารย์วิโรจน์ ใบประเสริฐ หรือ เฮียเธ๊า หรือเจ้าของนามปากกา "นิรนาม" อันโด่งดังในหนังสือ "อาณาจักรพระเครื่อง" ของท่านอาจารย์ปรีชา เอี่ยมธรรม และนิตรสาร "พรีเซียส" ของท่านอาจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่คุณแทน ท่าพระจันทร์ และผู้ที่เป็นเซียนพระรุ่นใหญ่ ให้ความเคารพนับถือเพราะเป็นผู้ให้ความรู้ในพระสมเด็จและเป็นผู้ที่ดูพระเครื่องให้กับผู้ที่ต้องการเช่า บูชาพระสมเด็จสมัยก่อนจนถึงปัจจุบันนี้ครับ..

จากประสบการณ์ที่เฮียเธ๊าเคยเป็นช่างซ่อมพระมาก่อน อาศัยการจดจำทั้งเนื้อพระที่หักและพิมพ์ทรงที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล ส่วนอาจารย์อีกท่านที่ผมให้ความนับถือคือท่านอาจารย์ประจำ อู่อรุณครับ..

ขอขอบคุณครับ.

พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ (ตอนที่ 2)




สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันต่อนะครับ วันก่อนเราได้พูดถึงเรื่องจุดสังเกตแม่พิมพ์ไปแล้ว 3 ข้อ ในแต่ละข้อก็มีจุดพิจารณามากกว่าที่ผมบอกอีกนะครับ เอาล่ะทีนี้ลองมาดูต่อในเรื่องเส้นขอบแม่พิมพ์หรือเส้นบังคับแม่พิมพ์นั้นทำให้เกิดอะไรบ้างกับรายละเอียดที่จะเกิดขึ้น นอกจากนั้นมีอะไรบ้าง

จากเส้นขอบแม่พิมพ์ที่ได้เราได้รู้กันแล้วว่า เส้นด้านซ้าย-ขวาไม่เหมือนกัน ที่ผมได้บอกว่าเส้นขอบแม่พิมพ์ด้านขวามือเรานั้นวิ่งจากบนลงล่างมาชนตรงขอบเส้นซุ้มตรงบริเวณใกล้ๆ กับข้อศอกขององค์พระ และอีกด้านหนึ่งจะวิ่งยาวลงมาจรดขอบของซุ้มครอบแก้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พื้นที่ชายขอบหรือพื้นที่ของผนังนอกซุ้มครอบแก้ว จะเกิดพื้นที่แตกต่างกันคือ พื้นที่ผนังนอกซุ้มครอบแก้วด้านขวามือเราจะมีพื้นที่น้อยกว่าพื้นที่นอกผนังซุ้มครอบแก้วของด้านซ้ายมือเรา ลองสังเกตดูนะครับ พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่จะเป็นแบบนี้ทุกองค์ ไม่ว่าจะตัดขอบชิดหรือตัดขอบเหลือขอบเกินออกมาอย่างองค์ในภาพก็ตาม ที่ผมเลือกเอารูปพระองค์นี้ เนื่องจากว่าเราจะได้เห็นเส้นขอบแม่พิมพ์ได้ชัดเจน เพราะพระองค์นี้ตัดเกินเส้นขอบแม่พิมพ์ ทำให้เราจะเห็นและเข้าใจในเรื่องของเส้นขอบแม่พิมพ์ได้ชัดเจน

การพิจารณาเรื่องแม่พิมพ์ของพระควรพิจารณาให้ละเอียด จะได้จุดสังเกตมากขึ้น และมีเหตุผลในการสรุปว่าแท้หรือไม่ เส้นซุ้มของพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ เส้นซุ้มจะหนาอวบ และลองสังเกตดูนะครับ ว่าเส้นซุ้มซ้าย-ขวานั้น เหมือนกันหรือไม่ ลองดูดีๆ อีกครั้ง จะเห็นว่าเส้นซุ้มด้านซ้ายมือเรามักจะโย้ไปทางด้านขวา มากกว่าเส้นซุ้มทางด้านขวามือเรา ซึ่งจะโค้งโย้น้อยกว่า ครับก็เป็นจุดสังเกตของพิมพ์พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ที่ทุกๆ แม่พิมพ์จะเหมือนๆ กัน วันนี้ผมคงจะไม่ใช้เนื้อที่ในการพูดมากนักนะครับ เนื่องจากผมต้องการให้เหลือเนื้อที่ใช้ในเรื่องของรูปพระให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อท่านผู้อ่านจะได้พิจารณาตามได้ครับ

ครับนี่ก็แค่จุดสังเกตเพียงด้านบนของพระ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ยังมีอีกมากเฉพาะแค่ครึ่งด้านบนขององค์พระ ลองพิจารณาต่อจากครั้งที่แล้วอีกทีนะครับ ไม่ว่าจะเป็นรูปพระพักตร์ หรือหัวไหล่ ซอกแขนตามที่ผมได้บอกไว้ในครั้งที่แล้ว แล้วครั้งต่อไปเราจะคุยกันในจุดอื่นต่อครับ


(อ่านต่อนะครับ เพิ่มเติมความรู้จากหนังสือของท่านอาจารย์แสวงครับ..)




ขออนุญาตท่านอาจารย์แสวงนะครับ..คิดว่ามีโฆษณาคั่นรายการ..

ดูจากรูปที่คุณส่งมา เป็นพิมพ์เส้นด้ายธรรมดาเพราะดูจากวงแขนเป็นวงกลมครับ ถ้าเป็นเส้นด้ายใหญ่ วงแขนจะหักศอก ผิดพิมพ์ตรง..

๑.ซอกแขนด้านซ้ายขององค์พระต่ำกว่าด้านขวา ตรงข้ามกับของแท้ ซึ่งซอกแขนด้านซ้ายจะอยู่สูงของด้านขวาขององค์พระครับ

๒.ฐานชั้นที่ ๑ จะเป็นเส้นเล็ก ปลายเรียวแหลมครับ..

สำหรับคราบกรุนั้น ลองใช้ปลายเล็บมือของเราแคะเบาๆดูว่าหลุดออกมาง่ายหรือไม่ครับ..? ถ้าเป็นของแท้จะติดแข็งมากครับ..หรือทำตามที่ผมบอกคือ ลองแช่น้ำอุ่นสัก ๒๐ นาทีพอครับ ถ้าเป็นคราบกรุปลอมโดยการใช้กาวอีป๊อกซี่ ไม่นานก็จะหลุดออกมาให้เห็นครับ รวมทั้งสีที่โป๊ะลงไปด้วยครับ..

ด้วยความจริงใจครับ..

หมายเหตุ..หาเวลาไปเรียนกับท่านอาจารย์แสวงดีกว่าครับ..

พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ตอนที่ 3

ชมรมพระเครื่อง
แทน ท่าพระจันทร์


สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่านเรามาคุยกันต่อเกี่ยวกับพิมพ์ของพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ วัดระฆังฯ ผมไม่ได้ทำเส้นชี้จุดในรูปนะครับ แต่จะคุยกันไปช้าๆ เพื่อให้มีเนื้อที่ของรูปใหญ่หน่อยที่พอจะให้ท่านเห็นได้ชัดนะครับ

ความจริงในส่วนของรายละเอียดด้านช่วงบนนี้ยังมีอีกมากนะครับ แต่ถ้าพูดถึงก็จะยืดยาวจนเกินไป เรามาดูต่อในส่วนที่เป็นองค์พระและส่วนอื่นๆ กันดีกว่าครับ พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ วัดระฆังฯ เกือบทุกพิมพ์ลำพระองค์หรือลำตัวจากไหล่ลงมาจะเห็นได้ว่ารูปทรงของลำตัวลักษณะจะเป็นแบบตัววีในภาษาอังกฤษ (V) คือจะผายด้านบนและค่อยๆ เรียวลงมาจนถึงช่วงท้อง แต่ก็มีอีกพิมพ์หนึ่งในหมวดของพระพิมพ์ใหญ่ ที่มีลักษณะลงมาตรงๆ เรียกแม่พิมพ์นี้ว่า "พิมพ์อกกระบอก" เดี๋ยวเราค่อยมาคุยกันเมื่อถึงตอนแยกแม่พิมพ์

ส่วนของหน้าตัก ความจริงแล้วพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ วัดระฆังฯ นี้ถ้าสังเกตดีๆ ก็จะมีความลับซ่อนอยู่ในองค์พระที่ติด แม่พิมพ์ชัดๆ นั้น ที่หน้าตักเราจะเห็นการซ้อนของขาทั้งสองข้าง แต่การแสดงรายละเอียดค่อนข้างแผ่วเบา ซึ่งจะมีการแสดงรายละเอียดของขาขวาขององค์พระซ้อนทับอยู่บนขาซ้าย จะสังเกตเห็นฝ่าเท้าขวาได้รางๆ และขาซ้ายของพระนั้นจะเห็นยาวตลอดจนถึงปลายเท้าซ้าย จะเห็นได้ในพระที่ยังสมบูรณ์ไม่สึกหรอมากนัก และ จะเห็นได้ชัดโดยการส่องดูด้วยแว่นขยายครับ

ฐานจะแบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นบนนั้นจะเป็นเส้นสันตรงๆ ฐานชั้นกลางจะมีลักษณะเป็นฐานแบบฐานขาสิงห์ คือเหมือนกับโต๊ะขาสิงห์ เส้นของฐานด้านล่างจะมีการแสดงลักษณะของขาโต๊ะแบบขาสิงห์ลองสังเกตตามไปนะครับ และเนื้อใต้ฐานจากเส้นฐานด้านบนจะมีเนื้อลาดเอียงลงมาจนถึงผนังด้านล่าง ที่คนในสมัยก่อนจะเรียกฐานชั้นนี้ว่า "คมขวานฐานสิงห์" ซึ่งพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ วัดระฆังฯ จะเป็นเช่นนี้ทุกองค์ครับ ในส่วนของฐานชั้นล่างสุด จะเป็นฐานเขียงหน้ากระดานทึบตัน ให้สังเกตหัวฐานทั้งสองด้านก็จะไม่เหมือนกัน หัวฐานด้านขวามือเราจะเห็นว่า มีลักษณะเป็นมุมตัดเฉียงลงค่อนข้างตั้งชันกว่าหัวฐานด้านซ้ายมือเรา ซึ่งหัวฐานด้านซ้ายมือเรานั้นจะเฉียงเป็นมุมแหลมมากกว่า

ครับก็เป็นการศึกษาพิมพ์พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ วัดระฆังฯ แบบคร่าวๆ นะครับ ท่านลองพิจารณาศึกษาดู แล้วเปรียบเทียบกับพระสมเด็จฯ ของท่านที่มีอยู่ก็ได้ครับ ว่าเหมือนหรือแตกต่างอย่างไร หวังว่าท่านก็คงพอจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า พระของท่านใช่หรือไม่ครับ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ

ผมยังคงใช้รูปพระองค์เดิมอยู่นะครับ เพื่อจะได้ไม่ทำให้ท่านสับสนครับ วันต่อไปเราจะคุยถึงการแยกพิมพ์ ว่าพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่สามารถแยกออกได้เป็นกี่แม่พิมพ์ และดูอย่างไรครับ

หมายเหตุ...ผมขออนุญาตท่านอาจารย์แสวงลงบทความของคุณแทน ท่าพระจันทร์ ต่อจนจบบทความเรื่องพระสมเด็จ เพื่อเป็นการเสริมความรู้จากหนังสือของอาจารย์นะครับ

สำหรับเรื่อง "มาตรฐานสากลโดยมีเรื่องราคาเป็นที่รองรับ" อันหมายถึงถ้าเรามีพระแท้ตามสากลที่เล่นกันแล้ว ปัจจุบันนี้ก็อย่าตั้งความหวังกันให้มากนะครับว่า ถ้าเราได้ครอบครองพระสมเด็จแล้วจะได้ราคาตามที่เขาโฆษณาไว้เป็นหลักล้านๆ ดังที่เราเห็นข่าว เมื่อเร็วๆนี้ เซียนพระทางใต้ตอนเช่ามาราคา ๔ ล้าน๕ พอเดือดร้อนเรื่องเงิน อยากปล่อยออกให้เซียนพระ หรือนักสะสมพระที่กรุงเทพฯ กลับถูกกดเหลือแค่ ๓ ล้าน ๕ ขาดทุนไป ๑ ล้านครับ..

ช่วงเศรษฐกิจดีๆ อาจทำได้ครับ หรือนำไปให้พวกฟอกเงินอย่างนี้ ก็เป็นไปได้ครับ เพราะเขาหาเงินง่ายๆ แต่ถ้าเราต้องการได้ไว้เพื่อบูชาก็ต้องหมั่นศึกษา วิชาความรู้ไว้ครับจะได้ไม่โดนเขาหลอกครับ..อย่างที่ท่านอาจารย์แสวงแนะนำคือ ไปเดินที่สนามพระโดยอย่าพกเงินไป ไปดูและศึกษาก่อนครับไม่ต้องกลัวครับ เมื่ออยากได้เสือ ก็ต้องเข้าถ้ำเสือครับ ขอบคุณครับ..

พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ตอนที่ 4

แทน ท่าพระจันทร์


สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันต่อ ถึงเรื่องแม่พิมพ์พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ว่าสามารถแยกได้เป็นกี่แม่พิมพ์ และมีอะไรบ้าง มีจุดสังเกตที่จะสามารถแยกได้อย่างไร

ครับสำหรับพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ตามแนวทางที่ผมได้ศึกษามาจากผู้ใหญ่และครูบาอาจารย์ สามารถแบ่งตัวแม่พิมพ์ ออกได้เป็น 4 แม่พิมพ์ ได้แก่

1. พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์ที่มีเส้นแซมใต้ตัก

2. พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์อกวี

3. พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์อกกระบอก

4. พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์เกศทะลุซุ้ม

จากนี้เราจะมาพูดถึงทีละแม่พิมพ์ ว่ามีสิ่งที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เริ่มต้นด้วย แม่พิมพ์ที่มีเส้นแซมใต้ตักก่อน สำหรับพระพิมพ์นี้นั้น เป็นแม่พิมพ์ที่มีพระจำนวนน้อยมากถึงน้อยที่สุด แทบจะหารูปถ่ายได้ยากมากครับ ในสมัยก่อนผู้ใหญ่บางท่านเรียกพระพิมพ์นี้ว่า "พิมพ์พระประธาน" ตัวองค์พระจะดูอวบใหญ่กว่าพระแม่พิมพ์อื่นๆ เมื่อนำมาเทียบกัน เอกลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็นพระพิมพ์ใหญ่ ก็ยังคงเหมือนๆ กันตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในช่วงแรกๆ ที่ผ่านมาคือ เส้นขอบแม่พิมพ์ด้านซ้ายมือเราก็จะวิ่งลงมาชนกับเส้นซุ้มครอบแก้วที่บริเวณใกล้ๆ ข้อศอก พระองค์ที่เห็นในภาพ จะเป็นพระที่ตัดชิดเส้นขอบแม่พิมพ์ เราก็จะเห็นว่าขอบมาเบียดกับเส้นซุ้มตรงบริเวณที่บอกไว้ครับ ส่วนด้านขวามือเราเส้นขอบแม่พิมพ์ก็จะวิ่งลงมาจรดที่ฐานของซุ้มครอบแก้ว

ใบหน้าจะเป็นลักษณะผลมะตูม ซอกรักแร้ ซ้ายขวาก็จะเป็นแบบเดียวกับที่ได้บอกไว้ในตอนแรกๆ หน้าตัก หรือฐานแต่ละชั้นก็เป็นเช่นเดียวกับทุกๆ แม่พิมพ์ ลักษณะการโย้เอียงของตัวซุ้มครอบแก้วก็เช่นกัน

ข้อแตกต่างคือจะเห็นได้ว่าพระแม่พิมพ์นี้จะดูลำสันอวบเขื่องกว่าแม่พิมพ์อื่นๆ และที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ให้สังเกตที่ใต้หน้าตักของพระเราจะเห็นว่ามีเส้นแซมเล็กๆ วิ่งยาวตลอดระหว่างหน้าตักกับฐานชั้นบน จึงเป็นที่มาของชื่อที่ว่า แม่พิมพ์ที่มีเส้นแซมใต้ตัก เส้นแซมนี้จะมีเส้นเดียวเท่านั้น ในช่วงระหว่างฐานอื่นจะไม่มีและเส้นแซมนี้จะเห็นได้ชัดเจนครับ ส่วนแม่พิมพ์อื่นๆ จะไม่มีเส้นแซมนี้

ครับลองพิจารณาและสังเกตดูนะครับ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ควรจะจดจำไว้ และหมั่นสังเกตดูและเปรียบเทียบกับรูปพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ที่ผมได้ลงให้ดูมาแล้ว จะเห็นได้ในข้อที่เหมือนและแตกต่างได้ชัดเจนขึ้นครับ และเมื่อพูดถึงจนครบแม่พิมพ์ ท่านอาจจะพอเข้าใจได้ และสามารถแยกพระที่ใช่หรือไม่ใช่ได้พอสมควรครับ รายละเอียดที่ผมบอกมานี้ ก็ไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ เอาเป็นว่าพอจะช่วยตัวเองได้พอสมควรทีเดียวครับ

รูปที่นำมาให้ชมในวันนี้คือ พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์ที่มีเส้นแซมใต้ตัก องค์ที่สวยที่สุดเท่าที่มีภาพอยู่ ซึ่งผมก็พยายามหารูปในองค์สวยๆ ติดแม่พิมพ์ชัดๆ มาให้ชม จะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ

ด้วยความจริงใจ

พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ตอนที่ 5

แทน ท่าพระจันทร์


สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน

เรามาคุยกันต่อนะครับ พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ตามที่ได้พูดถึงว่ามี 4 แม่พิมพ์ เราพูดถึงแม่พิมพ์ที่มีเส้นแซมใต้ตัก มาแล้ว วันนี้เราก็จะมาพูดถึงแม่พิมพ์อกวี สำหรับแม่พิมพ์นี้เราจะพบเห็นได้มากที่สุดของพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นแม่พิมพ์ที่มีจำนวนพระมากที่สุดจึงพบเห็นได้มากกว่าแม่พิมพ์อื่นๆ ครับ

พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์อกวี ตามที่ผมได้เคยกล่าวว่า พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ วัดระฆังฯ นั้น รูปทรงของลำตัวเกือบทุกแม่พิมพ์จะมีรูปทรงเป็นรูปตัววีในภาษาอังกฤษ ยกเว้นแม่พิมพ์อกกระบอกเท่านั้น เรามาลองดูพระแม่พิมพ์นี้ดูนะครับ

ในสิ่งที่เหมือนๆ กันของพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ เราจะมาดูเฉพาะจุดใหญ่ๆ ที่สามารถเห็นได้ชัดๆ จากรูปก็แล้วกันนะครับ สิ่งที่ต้องมีเหมือนๆ กันก็คือ เส้นขอบแม่พิมพ์ เราจะสังเกตเห็นได้ว่าแม่พิมพ์นี้เส้นขอบแม่พิมพ์ด้านขวามือเราจะสามารถเห็นเส้นขอบแม่พิมพ์ที่เป็นกรอบสี่เหลี่ยมด้านบนจะวิ่งลงมาจรดกับเส้นขอบซุ้มครอบแก้วตรงแนวใกล้ๆ กับข้อศอกขององค์พระ ส่วนเส้นขอบแม่พิมพ์ด้านซ้ายมือเราจะวิ่งลงมาจรดฐานซุ้มครอบแก้วเช่นกัน เช่นเดียวกันกับแม่พิมพ์อื่นๆ

มาดูที่ไหล่ของพระบ้าง เราก็จะเห็นได้ว่าตัวหัวไหล่และเนื้อหัวไหล่ซ้ายขององค์พระหรือด้านขวามือเรานั้น จะคอดกิ่ว หมายถึงซอกรักแร้ขององค์พระจะชอนสูงขึ้นกว่าอีกด้านหนึ่ง จึงทำให้เนื้อหัวไหล่ด้านนี้คอดกิ่ว แต่เนื้อหัวไหล่ด้านขวาขององค์พระหรือด้านซ้ายมือเรานั้น จะมีเนื้อหนากว่าอีกด้านเช่นกัน นี่ก็เป็นจุดสังเกตพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ทุกๆ แม่พิมพ์

มาดูที่ลำตัวของพระตั้งแต่ใต้ไหล่ลงมา คือหน้าอกตลอดลงมาจนถึง หน้าท้องจนจรดมือที่วางประสานกันนั้น เราจะเห็นได้ว่าจะค่อยๆ สอบเรียวลงมา เป็นรูปทรงแบบตัววี(V) นี่ก็เป็นที่มาของชื่อเรียก แม่พิมพ์นี้ครับ

ในส่วนของฐานสังเกตดูก็จะมีฐาน 3 ชั้นธรรมดา ฐานชั้นบนเป็นฐานเส้นตรงๆ ฐานชั้นกลางจะเป็นรูปแบบฐานสิงห์ตามแบบที่เคยได้พูดถึงมาแล้ว จะเห็นขาของฐานที่ยื่นออกมาชัดเจน ฐานชั้นล่างก็จะเป็นลักษณะฐานเขียงทึบตัน ปลายฐานเท่าที่เคยได้พูดมาแล้วว่าซ้าย-ขวาจะไม่เหมือนกัน ลองกลับไปทบทวนดูอีกทีนะครับว่าเป็นอย่างนั้นหรือไม่ และแม่พิมพ์นี้จะไม่มี เส้นแซมใต้ตักอย่างกับ แม่พิมพ์ที่แล้วนะครับ

วันนี้ผมได้นำรูป พระที่สวยสมบูรณ์ของ แม่พิมพ์อกวี ที่ติดแม่พิมพ์ชัดเจน และพระองค์นี้มีการตัดแม่พิมพ์เกินเหลือขอบด้านข้าง นอกเส้นขอบแม่พิมพ์ที่ใน สมัยก่อนบางท่านอาจ จะเรียกว่าตัดแบบมี กรอบกระจก ที่ผมนำรูปพระที่ตัดเหลือ เนื้อนอกขอบแม่พิมพ์ ก็เพื่อที่จะให้ท่าน ได้เห็นเส้นขอบแม่พิมพ์ได้ชัดเจนครับ ต่อไป เราก็จะมาพูดคุยถึงแม่พิมพ์อกกระบอก ต่อนะครับ

ด้วยความจริงใจ

สำหรับรูปพระสมเด็จฯ ในตอนที่ ๔ นั้น ถ้าท่านชอบสะสมหนังสือหรือมีรูปพระสมเด็จฯ ก็จะรู้ได้ทันทีว่า องค์นี้เป็นพระที่ขึ้นปกหนังสือ "PRECIOUS" ฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อปี ๒๕๓๘ หรือเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วครับ

ส่วนรูปพระสมเด็จฯ ในตอนที่ ๕ นั้น เป็นองค์ปีกกว้างของท่านอาจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณครับ ดูจากรูปท่านจะสังเกตุเห็นตราเล็กๆ ซึ่งมาจากหนังสือของคุณกิติ ธรรมจรัส หรือเฮียกวง ท่าพระจันทร์ครับ

สำหรับประวัติการสร้างพระสมเด็จฯนั้น ก็มีหนังสือหลายเล่มที่เขียนๆกันมา ที่มีก็ของท่านมหาเฮง วัดกัลยาฯ, ท่านฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ซึ่งท่านเหล่านี้ก็ได้จากหลักฐานทั้งพยานวัตถุและบุคคล ผู้ซึ่งใกล้ชิดหรือเป็นลูกศิษย์ของท่านสมเด็จฯ ซึ่งพอเชื่อถือได้ครับ การสร้างก็มีหลายพิมพ์ หลายแบบ น่าจะเกิน ๗๓ พิมพ์ครับ แต่ถ้าเราจะเล่น "แบบสากลที่มีราคาเป็นที่รองรับ" นั้น ผมก็ขอเสริมบางข้อความของท่านอาจารย์ประจำ อู่อรุณ จากหนังสือ "พระยอดนิยม" ของท่านซึ่งพิมพ์เมื่อปี ๒๕๒๓ หรือ ๓๕ ปีมาแล้วดังนี้ครับ..

"ข้อพึงสังเกตุ และควรจดจำใส่ใจสำหรับนักเล่นพระรุ่นใหม่คือ พิมพ์พระแต่ละพิมพ์ๆ ควรจดจำให้แม่นยำจริงๆเสียก่อน ประการต่อไปก็คือรูปของพระแต่ละพิมพ์ๆ พุทธลักษณะของพระลักษณ์ ส่วนประกอบ เช่นฐานแต่ละชั้น ซุ้มครอบ ด้านข้าง ด้านหลังประการสำคัญ อีกอย่างหนึ่งคือเนื้อของพระจะต้องเป็นวัตถุที่เก่าสมควรกับอายุของพระที่ได้สร้างมา เมื่อเราเล่นพระอยู่ในสังคมนี้ ก็ต้องยอมรับความจริงของสังคมนี้ว่า เขาเล่นกันกี่พิมพ์ เราก็ต้องศึกษา หาข้อเท็จจริงไปตามนี้

ข้อความทั้งหมดพอสรุปได้ว่า ของที่แท้นั้น พิมพ์ถูก ลักษณะถูกต้อง เนื้อเก่าสมควรกับอายุของพระ แต่ถ้าเนื้อเก่า พิมพ์ไม่ถูก และพิมพ์ถูกแต่ เนื้อไม่เก่า นั่นแหละพึงระวังเอาไว้ อย่าพึงได้ตัดสินใจไปง่ายๆ เพราะมันนอกสังคมที่เขานิยมเล่นกัน แล้วท่านจะไปเล่นกับใคร เราเล่นอยู่ในสังคมก็ต้องยอมรับความจริงของสังคม ดังที่ผมจะได้เสนอเป็นภาพเพื่อให้ท่านได้ศึกษาหาความรู้ยิ่งๆขึ้นไป เพื่อความก้าวหน้าของสังคมและตัวท่านเองอีกด้วย"

ครับเป็นบทความดีๆอีกชิ้นหนึ่งเพื่อเพื่อนๆ และท่านอาจารย์ที่เคารพครับ..

ขอขอบคุณและสว้สดีครับ..ติดตามตอนต่อไปครับ..

พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ตอนที่ 6

แทน ท่าพระจันทร์


สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันต่อนะครับ เราได้พูดกันถึงแม่พิมพ์ที่มีเส้นแซมใต้ตัก และแม่พิมพ์อกวีผ่านไปแล้ว วันนี้จะพูดถึงแม่พิมพ์อกกระบอก สำหรับแม่พิมพ์นี้ก็เป็นแม่พิมพ์ที่พบพระน้อยเช่นกันครับ แต่ก็ยังมีพบกันบ้าง เรามาดูในสิ่งเหมือนและแตกต่างกันของแม่พิมพ์ครับ

สิ่งสำคัญที่ผมได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้นของพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ วัดระฆังฯ จุดสังเกตสำคัญของพิมพ์ก็คือ เส้นขอบแม่พิมพ์ เรามาดูพระแม่พิมพ์ตามไปเลยนะครับ ให้สังเกตดูพระองค์นี้เป็นพระที่ตัดขอบชิดตามขอบแม่พิมพ์ เส้นขอบแม่พิมพ์ด้านขวามือเราจะเห็นว่า ตัดชิดเข้ามาจรดซุ้มครอบแก้วที่ตำแหน่งใกล้ๆ กับข้อศอกขององค์พระ ส่วนด้านซ้ายมือเรานั้นก็จะตัดตรงลงมาจรดฐานซุ้มครอบแก้ว เป็นเช่นเดียวกับทั้ง 2 แม่พิมพ์ที่ผ่านมา

เราลองดูต่อไปที่ไหล่ขององค์พระก็เช่นเดียวกัน จะเห็นได้ชัดว่า ซอกรักแร้ซ้ายขององค์พระหรือด้านขวามือเรานั้นจะชอนสูงขึ้นไป ซึ่งจะทำให้เหลือเนื้อที่ของหัวไหล่กิ่วบาง ส่วนในด้านตรงข้ามคือซอกรักแร้ขวาขององค์พระหรือด้านซ้ายมือเรา ซอกรักแร้ไม่ชอนสูงขึ้นไปแบบอีกด้านหนึ่ง ทำให้เหลือเนื้อหัวไหล่หนามากกว่า ฐานเป็น 3 ชั้น ไม่มีเส้นแซม ฐานชั้นกลาง จะเป็นแบบฐานสิงห์ มีหัวฐานเป็นแบบขาสิงห์ เช่นเดียวกับพระแม่พิมพ์อื่น

มาสังเกตดูที่เป็นส่วนของลำพระองค์หรือลำตัวบ้าง จะสังเกตเห็นได้ชัดว่า ส่วนของลำตัวจะมีลักษณะที่ลงมาค่อนข้างตรงๆ ไม่เป็นแบบอกวี และก็ที่มาของชื่อเรียกที่ว่า อกกระบอกครับ นอกจากนี้เท่าที่เคยพบ พระแม่พิมพ์นี้ สังเกตดูจะพบว่าเกศของพระมักจะไม่ค่อยติดสมบูรณ์ มักจะคดโย้ไม่มากก็น้อย โคนมักจะเยื้องมาทางด้านขวามือเรา ไม่อยู่ตรงกึ่งกลาง และปลายเกศจะโย้ปัดไปทางซ้ายมือเราตามภาพ

นอกจากนี้ เท่าที่พบตัวซุ้มครอบแก้ว ก็จะมักไม่ติดสมบูรณ์ โดยเฉพาะด้านบนซ้ายมือเรานั้น มักจะไม่ค่อยติดแม่พิมพ์ ในองค์นี้จะเห็นได้ชัด องค์ที่ซุ้มครอบแก้วติดชัดๆ ก็ยังสังเกตเห็นได้ว่า มีรอยเขยื้อนของซุ้มครอบแก้วด้านบนทางด้านซ้ายมือเราไม่มากก็น้อย

ครับเท่าที่เราพูดคุยมานี้ก็เป็นจุดสังเกตที่สามารถมองเห็นได้อย่างง่ายๆ ของพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ วัดระฆังฯ ทั้ง 3 แม่พิมพ์ ยังคงเหลืออีกหนึ่งแม่พิมพ์ คือ แม่พิมพ์เกศทะลุซุ้ม ซึ่งจะมาพูดคุยกันในวันต่อไป และจะมาสรุปกันอีกครั้งนะครับ ในวันนี้ผมก็ได้นำรูปพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์อกกระบอกมาให้ชม พระองค์นี้ถ่ายรูปออกมาแสดงรูปทรงของอกกระบอกได้เป็นอย่างดีครับ

ด้วยความจริงใจ

พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ตอนที่ 7

ชมรมพระเครื่อง

แทน ท่าพระจันทร์


สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เราก็จะมาคุยกันต่อ ถึงแม่พิมพ์พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์สุดท้าย คือแม่พิมพ์เกศทะลุซุ้ม สำหรับแม่พิมพ์นี้ก็เป็นแม่พิมพ์ที่พบเห็นได้พอๆ กับแม่พิมพ์อกวี เรามาสังเกตดูรายละเอียดของแม่พิมพ์ของพระพิมพ์นี้กันเลยนะครับ

พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์เกศทะลุซุ้ม ก็ยังคงมีจุดสังเกตใหญ่ๆ เหมือนๆ กับแม่พิมพ์ใหญ่อื่นๆ เช่น เส้นขอบแม่พิมพ์ด้านขวามือเรานั้นจะวิ่งจากบนลงล่าง แล้วมาจรดเส้นซุ้มครอบแก้วที่ตำแหน่งใกล้ๆ ข้อศอก เช่นกัน

ส่วนเส้นขอบแม่พิมพ์ด้านซ้ายมือเราก็จะมาจรดซุ้มครอบแก้วที่ตรงฐานซุ้มครอบแก้วเหมือนกันกับทุกแม่พิมพ์ของพระพิมพ์ใหญ่ วัดระฆังฯ และจุดที่ไหล่ขององค์พระ ก็จะเห็นได้ว่าซอกรักแร้ซ้ายขององค์พระหรือด้านขวามือเรานั้นก็จะชอนขึ้นสูง จนทำให้เนื้อของหัวไหล่เหลือน้อยคอดกิ่ว ส่วนซอกรักแร้ขวาขององค์พระหรือทางด้านซ้ายมือเรานั้นก็ไม่ชอนขึ้นสูงทำให้เหลือเนื้อที่ของเนื้อหัวไหล่หนามากกว่าอีกด้านหนึ่ง

ก็เหมือนกับพระแม่พิมพ์อื่นเช่นกัน ในส่วนของฐานก็จะมี 3 ชั้น ชั้นกลางจะเป็นแบบฐานสิงห์ ที่ผมเน้นอยู่ทุกๆ แม่พิมพ์ในเรื่องนี้ ก็เพื่อจะให้ท่านเห็นได้ว่า ในหลักการพิจารณาของพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ที่มีมาตรฐานมูลค่ารองรับนั้นจะมีสิ่งต่างๆ เหล่านี้เสมอ แต่สิ่งที่ผมได้บอกมาแล้วนั้นก็ยังไม่ได้หมดเสียทีเดียวนะครับยังมีอีกมาก นี่ก็เป็นเพียงคร่าวๆ เท่านั้น แต่ก็จะทำให้ท่านสามารถหลุดพ้นจากการเล่นหาศึกษาอย่างผิดๆ ได้มากโขทีเดียว เพราะพระที่ทำปลอมเลียนแบบนั้นยังห่างจากเรื่องเหล่านี้ครับ

เอาล่ะมาดูต่อครับ ที่เรียกกันว่าเป็นเกศทะลุซุ้มนั้นก็เพราะว่าให้สังเกตดูที่ปลายพระเกศ ในองค์ที่ติดแม่พิมพ์ชัดๆ เราจะเห็นว่าปลายพระเกศนั้นยาวเลยทะลุซุ้มครอบแก้วออกไปจนจรดขอบของแม่พิมพ์ อย่างพระองค์ที่เห็นในภาพนี้ เป็นพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์เกศทะลุซุ้มที่สวยมากติดแม่พิมพ์ได้ชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา และเป็นที่ยอมรับในสังคมว่าเป็นองค์ที่สวยที่สุดของแม่พิมพ์นี้ พระองค์นี้คือองค์ที่มีชื่อเรียกกันในสังคมว่า "องค์ลุงพุฒ" ครับ

ท่านได้อ่านข้อมูลที่ผมได้เขียนมาถึงตอนนี้แล้ว ท่านลองย้อนกลับไปที่พระสมเด็จองค์แรกที่ผมนำรูปมาให้ดูกันซิว่า พระสมเด็จองค์นั้น เป็นพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์ใดครับ

ครับผมก็ได้พูดถึง พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ จุดสังเกต และตัวแม่พิมพ์ ที่สามารถแยกออกได้เป็น 4 แม่พิมพ์ตามแนวทางที่ผมได้ศึกษามาจากท่านผู้ใหญ่ และครูบาอาจารย์ ที่สำคัญแนวทางนี้เป็นแนวทางศึกษาพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ที่มีมาตรฐานมูลค่ารองรับครับ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้อ่านที่ติดตามมาตั้งแต่ต้น คงพอจะได้ประโยชน์สำหรับท่านบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ

ด้วยความจริงใจ

(พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ตอนที่ 8)

ชมรมพระเครื่อง(พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ตอนที่ 8)

ชมรมพระเครื่อง
แทน ท่าพระจันทร์



สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เราได้คุยกันถึงจุดสังเกตและ แม่พิมพ์พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ที่มีมาตรฐานมูลค่ารองรับ ตามที่ผมเองได้ศึกษามาจากครูบาอาจารย์ และจากประสบการณ์ทำให้ทราบว่าพระที่มีจุดสังเกตในลักษณะนี้ เป็นที่ยอมรับของสังคมผู้นิยมพระเครื่อง แต่ผมก็ไม่ได้ปฏิเสธในส่วนของผู้ที่เห็นต่างนะครับ ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีการคิดเห็นต่างกันได้ครับ ก็แล้วแต่แนวทางและประสบการณ์ของท่านผู้นั้น

สำหรับผู้เล่นหาแบบนอกมาตรฐานที่ไม่มีมูลค่ารองรับนั้น เขาก็ว่าของเขาแท้เช่นกัน ล้วนแต่มีเหตุผลของเขาเองครับ ผมเคารพสิทธิ์ในความคิดเห็นของเขาครับ แต่ถ้าจะเอาแบบที่มีมูลค่ารองรับก็คงจะไม่แตกต่างจากที่ผมได้พูดให้ฟังมาแล้วมากนักครับ

เรื่องจุดสังเกตหรือส่วนต่างๆ ของพิมพ์พระนั้น ผู้ที่เล่นหาแบบมีมูลค่ารองรับเขาจะพิถีพิถันกันเรื่องแม่พิมพ์มากเป็นอันดับแรก จากนั้นค่อยมาดูที่เนื้อหาและธรรมชาติเป็นอันดับต่อไป ทั้ง 3 สิ่งถือว่าสำคัญและใช้เป็นข้อสรุปว่าใช่หรือไม่ แล้วจึงยอมจ่ายเงินเพื่อเช่าหา เนื่องจากพระเครื่องหลายๆ อย่างมีมูลค่าสูง ถ้าผิดพลาดก็จะต้องเสียเงินเปล่า ไม่สามารถนำไปแลกเปลี่ยนหรือให้เช่าหาต่อได้

ในจุดต่างๆ ที่ผมได้กล่าวมาตั้งแต่ต้นในเรื่องของจุดสังเกตพิมพ์ของพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ วัดระฆังฯ นั้น ไม่ใช่จะมีแต่เพียงแค่นี้นะครับ ที่จริงก็ยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นจุดสังเกตแม่พิมพ์ด้านหน้า หรือธรรมชาติของด้านหลังและด้านข้างของพระก็ยังมีอีกมาก แต่ในการอธิบายด้วยรูปถ่าย ที่มีขนาดเล็กนั้นก็คงจะทำได้แค่ในสิ่งที่สามารถมองเห็นได้ง่ายๆ นะครับ

สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจจะศึกษาก็ทดลองทบทวนในสิ่งที่ผมได้บอกไว้ให้แม่นยำ และถ้าท่านมีพระสมเด็จฯ ท่านก็ลองนำมาพิจารณาเปรียบเทียบดู ถ้าหากไม่เหมือนกันท่านก็จะสามารถวิเคราะห์เองได้ว่าใช่หรือไม่ ในส่วนของพระปลอมแปลงเลียนแบบ ในสมัยนี้เขาก็ทำได้ดีขึ้นมากเช่นกัน บางเจ้าที่ทำให้มีจุดต่างๆ คล้ายแบบนี้ก็มีเหมือนกัน แต่จะมีในจุดที่สามารถจับได้ว่าไม่ใช่เช่นกัน เขาจะทำได้แค่คล้ายๆ เท่านั้นครับ เราต้องหมั่นฝึกฝนให้แม่นยำในเรื่องของตำแหน่ง และมิติต่างๆ ด้วย เนื่องจากถ้าเป็นพระแท้ที่ออกมาแม่พิมพ์ตัวเดียวกันก็ต้องเหมือนกัน ไม่ว่าตำแหน่งหรือมิติต่างๆ ในส่วนที่ควรจะลึกหรือตื้นในตำแหน่งนั้นครับ

ถ้าท่านยังมีข้อสงสัยใดๆ ก็สอบถามมาได้นะครับ ผมยินดีที่จะแนะนำเพิ่มเติม ตามที่ผมพอมีความรู้ที่จะบอกได้ครับ ผมต้องบอกก่อนว่าไม่ได้อวดว่าผมนั้นมีความเก่งในด้านการดูพระนะครับ ผมก็เป็นเพียงคนที่ชอบศึกษาและสะสมพระเครื่องเช่นเดียวกับท่านผู้อ่าน เพียงแต่โชคดีที่ท่านผู้ใหญ่และเพื่อนๆ ช่วยชี้แนะให้ ก็พอเอาตัวรอดได้บ้างเท่านั้น มีอะไรหรือมีข้อสงสัย ผมก็ยังต้องไปปรึกษาท่านเหล่านั้นอยู่ครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ มาให้ชม ท่านลองสังเกตดูนะครับว่าเป็นพระแม่พิมพ์ใดครับ

ด้วยความจริงใจ

ถึงคุณธรรศ ถ้าท่านคาใจในตัวผมว่าผมคิดอย่างไร ก็เข้าไปอ่านความคิดผมได้ในfbผมโดยตรง โดยเฉพาะความรู้ในวงการ ผมมีบทความเรื่องการใช้เครื่องมือและหลักการทางวิทยาศาสตร์ในวงการพระเครื่องในยุค2558 มี 8 ตอน ,เรื่องเทคนิคการปลอมแปลงพระเครื่องในยุค2558 อีก 6 ตอน เพื่อทำความเข้าใจในหลักคิดทางนี้ก่อน

ส่วนคนที่สอนความรู้เรื่องพระสมเด็จให้ผมนั้น ผมคงไม่เอานามท่านมาสร้างเครดิตให้กับตนเองครับ เพราะท่านได้เสียชีวิตไปแล้วในบางท่าน รับรองว่ามีชื่อเสียงไม่แพ้ท่านแทนและอจ.เธ้าครับ ผมบอกแล้วว่าผมมีอจ.หลายคน ผมได้อะไรหลายอย่างจากท่านเหล่านั้น คนหนึ่งที่สอนผมและบอกถึงธรรมชาติในวงการเมื่อสิบกว่าปีก่อน โดยไม่เคยรู้จักกันมาก่อนและเชื้อเชิญให้ผมไปพูดคุยด้วยราวชม.เศษคือ อ.เคี้ยง ยศเส ครับ โดยตอนนั้นท่านหุ้นกับอ.ฉิกครับ ดังนั้นผมถึงกล้าพูดว่า "สากลของใคร". เพราะผมจะได้รู้ว่าใครใช้หลักอะไรในการตัดสิน ถ้าผมต้องการให้ท่านเหล่านั้นรับรอง

เชิญนะครับ ไปถกกันในพื้นที่สาธารณะของผมในเฟสผมโดยตรง เชิญทุกท่านเลยครับ เพื่อสร้างสัมมาทิฐฐิให้วงการครับ

เข้าไปที่ชื่อนี้เลยครับ Vinij Itti ซึ่งก็คือชื่อในเวปนี้ครับเหมือนกัน เพียงแต่fb จะมีตัวอักษรตามแบบของfb ส่วนชื่อผม

วินิจ อิทธิ.... ครับ เป็นชื่อจริง-นามสกุลจริง

ผมไม่ใช้ชื่อในวงการในการโฟสต์เพราะไม่อยากให้ใครรู้จักเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าแบบแอบแฝงครับ ..สวัสดี

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท