ยี่สิบกว่าปีก่อนที่ผู้เขียนไปเที่ยวยังภาคเหนือและภาคอีสาน เคยได้รับคำสอบถามจากเพื่อนสหธัมมิกด้วยกันว่า ที่เค้าว่าพระปักษ์ใต้ไม่จับปัจจัยจริงหรือไม่ ? ผู้เขียนก็ยืนยันว่า เมื่อก่อนจริง แม้ปัจจุบันพระที่ยังยึดถือเรื่องนี้อย่างจริงจังก็ยังมีอยู่... แต่ผู้เขียนคิดว่า สำหรับพุทธศักราชนี้ เรื่องพระปักษ์ใต้ไม่จับปัจจัย น่าจะกำลังกลายเป็นเรื่องเล่าไปเสียแล้ว ดังนั้น จึงถือโอกาสเล่าสู่กันอ่านอีกหนึ่งบันทึก...
คำว่า ปัจจัย ก็คือ เงิน นั่นเอง จะเป็นเงินเหรียญหรือธนบัตรก็ตาม... จารีตพระ-เณรปักษ์ใต้จะไม่จับปัจจัย คือ ไม่จับต้องเงิน เพราะยึดถือกันว่าเป็นอาบัติ... เมื่อผู้เขียนแรกบวชยังมีพระเถระผู้ใหญ่ ที่ยึดถือเคร่งครัดอยู่เยอะพอสมควร แม้ผู้ที่ไม่ยึดถือเคร่งครัดนักก็อาจนำมานับบ้าง แต่ก็จะไม่จับประเจิดประเจ้อให้เป็นที่แหลมตาของญาติโยมหรือเพื่อนสหธัมมิกรูปอื่นๆ ผู้ที่ยังหนักแน่นในจารีตนี้... และเมื่อผู้เขียนแรกบวชก็ยังคงถือจารีตนี้อยู่เช่นเดียวกัน กล่าวคือ จะไม่จับต้องเงินประเจิดประเจ้อ...
อันที่จริง จารีตนี้ก็ค่อยๆ แปรมาเป็นลำดับ... ผู้เขียนจะเล่าเฉพาะการถวายปัจจัยสวดศพเป็นตัวอย่าง กล่าวคือ สมัยก่อนโน้น เวลาไปสวดศพ เจ้าภาพก็จะถวายปัจจัย โดยฝากไว้กับ ไวยาวัจกร (หรือ กัปปิยการก หมายถึง ผู้คอยช่วยเหลือพระเณร) ซึ่งหลังจากสวดศพเสร็จแล้วญาติโยมที่อาสาเป็นไวยาวัจกรก็จะนำมาแบ่งแล้วถวายที่กุฏิ หรือฝากกับรูปใดรูปหนึ่งไว้... ไวยาวัจกรจะรู้ว่าพระรูปใดเคร่งครัดไม่จับปัจจัยก็จะจัดเก็บไว้ให้ในย่าม ใต้เสื่อ หรือในตู้บริจาค ตามสมควร ซึ่งเมื่อก่อนก็เป็นไปได้ดี...
ต่อมา เริ่มเกิดกรณีว่า ปัจจัยที่ฝากไว้กับไวยาวัจกรถึงพระ-เณรช้ากว่ากำหนด หรือบางครั้งก็ไม่ถึง... เช่น พระ-เณรที่สวดศพรีบกลับวัด ส่วนไวยาวัจกรยังไม่เสร็จธุระจึงบอกว่าค่อยนำไปถวายพรุ่งนี้ แต่ก็ไม่ได้ไปจนกระทั้งผ่านไปหลายวัน สาเหตุก็เช่นไวยาวัจกรมีธุระเร่งด่วนในวันรุ่งขึ้นจึงหลงลืมไป หรือบางครั้งก็ซื้อเหล้าเลี้ยงเพื่อนในงานศพ หรือบางคนก็แทงโปแทงไฮโลในงานแล้วก็แพ้หมด กลายเป็นว่าไวยาวัจกรบางคนเป็นหนี้พระ-เณรก็มี...
เมื่อกรณีปัจจัยไม่ถึงมือพระ-เณรตามเจตจำนงของเจ้าภาพผู้ถวายค่อยๆ เพิ่มจำนวนความถี่ยิ่งขึ้น... ต่อมา จึงเริ่มมีการแก้ปัญหาโดยการถวายพระ-เณรในงานเลย แต่จะถวายเป็นธนบัตรเปลือยๆ ก็รู้สึกว่าเป็นการประเจิดประเจ้อ จึงนิยมใส่ซองจดหมาย หรือห่อเศษกระดาษแล้วก็แจกถวายพระ-เณร... ถ้าเป็นฉบับละร้อยเจ้าภาพก็อาจกระซิบบอก หรือพูดเชิงล้อว่า ให้ไปแบ่งกันเอง... ธรรมเนียมนี้ค่อยๆ เข้ามาแทนจนกระทั้งมีบางคนพูดล้อว่า เดียวนี้ !้ ไวยาวัจกร เค้าไม่ใช้แล้ว เค้าใช้ ไวยาวัจย่าม !...
.........
เมื่อผู้เขียนแรกบวชนั้น พ่อท่านแดงซึ่งเป็นอาจารย์ของผู้เขียนท่านเล่าว่า เมื่อก่อนท่านก็ไม่จับ เพิ่งมาจับก็เมื่อไม่นานมานี้ (ตอนที่เล่านั้น พ่อท่านแดงอายุแปดสิบกว่าแล้ว) แต่ท่านก็ไม่ได้จับอย่างประเจิดประเจ้อนัก... ขณะที่ที่พ่อหลวงเซี้ยง อายุหกสิบกว่า ซึ่งบวชเข้าพรรษาปีเดียวกับผู้เขียน (ท่านเคยบวชแล้วสมัยหนุ่มๆ แล้วสึกออกไปมีครอบครัว ครั้งนี้ท่านบวชแก้บนออกพรรษาท่านก็สึกไป) ท่านยังคงถือเคร่งเหมือนกับที่ท่านบวชครั้งก่อน กล่าวคือ ไม่จับปัจจัยเด็ดขาด ซึ่งพวกเราพระ-เณรหนุ่มๆ รุ่นใหม่ ไม่ค่อยจะเคร่งนัก มักหยอกล้อท่านเป็นประจำ เช่น เอากิ่งไม้ไฝ่หนีบธนบัตรแล้วถือที่ก้านไม้ไฝ่ไปให้ท่านเป็นต้น
ท่านพระครูสุนทรฯ เคยเล่าถึงความลำบากในสมัยท่านหนุ่มๆ เช่น ครอบครัวโยมของท่านอยู่บ้านพรุ เวลาจะเดินทางมาสงขลา ก็นั่งรถโดยสารจากบ้านพรุเข้าหาดใหญ่ เมื่อมาถึงหาดใหญ่ก็ให้รถไปจอดบ้านโยมที่เป็นไวยาวัจกรเพื่อช่วยจ่ายค่ารถให้ แล้วโยมก็จะพาท่านไปส่งที่คิวรถเพื่อเสียค่าโดยสารให้ท่านได้เดินทางต่อมายังสงขลา... แต่เดียวนี้สบาย ! (ท่านว่า...) ปัจจัยใส่ย่าม ดึงออกจากย่ามส่งให้กระเป๋ารถได้เลย... เรื่องความลำบากทำนองนี้ ผู้เขียนบวชหรือเกิดไม่ทัน แต่เชื่อว่าเป็นจริงเพราะฟังมาเยอะ...
เมื่อผู้เขียนแรกบวชนั้น เวลาจะเดินทางไปไหนก็มีปัจจัยใส่ในซองจดหมาย... เมื่อจะจ่ายค่ารถ หรือจะจ่ายค่าอาหาร ก็ส่งให้ทั้งซอง... กระเป๋ารถหรือแม่ค้าก็จะหยิบไปแล้วก็คิดเฉพาะราคา ส่วนที่เหลือก็จะทอนแล้วใส่ซองคืนให้มา... ซึ่งบางครั้ง โยมที่นั่งใกล้ๆ ก็อาจช่วยเป็นธุระรับซองไปแล้วจ่ายให้ตามจำนวนนั้นๆ... จำได้ว่า ตอนผู้เขียนขึ้นไปกรุงเทพฯ ครั้งแรก แล้วต่อรถไปภาคเหนือที่ขนส่งหมอชิต ขณะที่รอรถออกนั้น ผู้เขียนก็ไปซื้อหนังสือพิมพ์ จึงส่งซองปัจจัยให้ คนขายไม่รู้เรื่อง คนข้างๆ ก็มองทำนองว่าไม่เคยเห็นหรือเป็นพวกมนุษย์ประหลาด ผู้เขียนจึงเทซองออกมาแล้วให้เค้าหยิบไป... ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่า ไม่เหมือนบ้านเรา ทำอย่างบ้านเราไม่ได้...
ต่อมา ผู้เขียนนำเรื่องนี้มาปรารภให้ท่านพระครูวัดคูขุดฟัง ท่านก็ให้ความเห็นว่า การไม่จับปัจจัยที่ยังคงถือเคร่งครัดอยู่ ตอนนี้มีเพียงสามจังหวัด คือ สงขลา พัทลุง และนคร (ศรีธรรมราช)... แต่นั้นคือความเห็นของท่านเมื่อประมาณยี่สิบปีก่อน...
..............
ถ้าจะว่าตามพระวินัย จารีตการไม่จับปัจจัยของพระภิกษุ มาจากพระวินัยข้อนี้ คลิกอ่านที่นี้
ซึ่งพระภิกษุฝ่ายเถรวาทแบบเมืองไทยที่ยังเคร่งครัดกับจารีตข้อนี้ ผู้เขียนเชื่อว่ายังคงมีอยู่หลายแห่งในโลกนี้ ฟังว่าที่ประเทศศรีลังกาก็ยังคงมีอยู่... หรือในประเทศเวียตนาม น้องเณรชาวเวียตนามรูปหนึ่ง (อายุสามสิบกว่า เคยไปศึกษาต่อที่อินเดียจนจบปริญญาโท มาเรียน ม.พายัพ อยู่เชียงใหม่พักหนึ่งก็ลากลับไป...) เล่าให้ฟังว่า อยู่เวียตนามไม่มีปัจจัยใช้สอยอย่างเมืองไทย แต่ต้องการอะไร เช่น คอมฯ แผ่นซี.ดี. ญาติโยมก็จะเอาปัจจัยกองกลางของวัดไปจัดหามาให้... แต่ถ้าเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ ญาติโยมเค้าก็จะให้ปัจจัยมาใช้จ่ายตามความเหมาะสม...
กาลเวลาผ่านไปยี่สิบกว่าปี จากจารีตว่าพระ-เณรจับปัจจัยไม่ได้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระ-เณรปักษ์ใต้บ้านเรา) แล้วก็ค่อยแปรมาว่า จับได้แต่อย่าประเจิดประเจ้อ... จนกระทั้งทุกวันนี้ แม้ผู้เขียนจะใช้จ่ายไม่ต่างจากญาติโยมมากนัก แต่ก็รู้สึกถึงอดีตทุกครั้ง เมื่อต้องใช้จ่ายท่ามกลางกลุ่มชน เช่น ตามร้านตลาด...
- แลนี้คือข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่เกิดกับผู้เขียนเอง โดยไม่จำเป็นต้องยืนยันหลักฐานใดๆ...
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย BM.chaiwut ใน เรื่องเล่าจากในวัด
ผมก็เคยเห็นพระไม่จับเงิน จริงๆแล้วห้ามจับทองหรือของมีค่าด้วยใช่ไหมครับ
ปัจจุบันพระก็จำเป็นต้องใช้ปัจจัย เพราะสังคมมันเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้ถึงมีคนให้อะไรพระฟรีๆ ก็ยังมีบางคนเก็บตังค์พระ เพราะความศรัทธาเสื่อมลงหรือเพราะอะไรไม่ทราบได้
เห็นพระธรรมยุติไม่จับเงิน ให้ไวยาวัจกรจัดการ แต่บางทีก็ได้ข่าวว่าทวงเงินจากไวยาวัจกร ถึงมือไม่จับ แต่ใจเข้าไปจับแล้วผมว่าค่ามันเท่ากัน
เดี่ยวนี้สังคมไม่ติฉินเหมือนสมัยก่อน ไม่เป็นโลกะวัชชะแล้ว ใช่ไหมครับ
หลวงพี่ครับมีวินัยข้อหนึ่งที่เกี่ยวกับภิกษุพรากของเขียวต้องอาบัติปาจิตตีย์ ผมอยากรู้จริงๆว่าสาเหตุมาจากอะไร ถามจากพระแล้วก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ เพราะผมไปตั้งสมมุติฐานว่า การปลงอาบัติคือการที่พระแสดงความรับผิดชอบว่าได้ไปทำอะไรที่ผิดพระวินัยมา แต่กรณีหญ้าที่วัดขึ้นรกไม่มีพระองค์ใดทำอ้างว่าจะอาบัติ แต่ผมซึ่งบวชพระเห็นว่ามันรกไม่สะอาดตาจึงไปถางหญ้าเสียจนเตียน ใครเห็นก็ชมว่าผมจัดการวัดได้สะอาดสะอ้าน ผมก็เลยรู้สึกว่าผมไม่ผิด ทำไมผมจะต้องปลงอาบัติในเรื่องนี้ด้วย
อยากให้หลวงพี่เขียนเรื่องนี้เป็นวิทยาทานครับ
นมัสการด้วยความเคารพ