บทเรียนการพัฒนา "ชุมชนน่าอยู่ เมืองน่าน" การจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น


ภาพของความสำเร็จที่เกิดขึ้น อาจต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า ด้วยพื้นฐานความเข้มแข็งอันเป็น “ทุน” ที่สำคัญของเมืองน่านที่มีอยู่เดิมแล้ว และการทำกระบวนการเรียนรู้เพื่อนำทุนที่มีอยู่มาขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนของจุฬาฯ กระบวนการที่สอดคล้อง ลงตัว จึงเกิดการเคลื่อนตัวของการพัฒนาขึ้นไปอีกระดับที่น่าภาคภูมิใจ

ดร.รัตนา สำโรงทอง ท่านถามผมเมื่อผมเดินออกมาจากเวที ชุมชนน่าอยู่ จุฬา น่าน ตอนเย็นของวันที่ ๘ ม.ค. ว่าผมได้อะไรบ้างจากงานนี้ ผมตอบได้ทันทีว่า ผมได้มาเรียนรู้และเหมือนเป็นห้องเรียนห้องใหญ่ที่ผมได้มาสัมผัส นับว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผม

จากที่ผมเกริ่นมาแล้วในบันทึกก่อนว่าจะเดินทางไปน่าน ครั้งแรกในชีวิต ..เรียนรู้โครงการชุมชนน่าอยู่ จ. น่าน  ผมเพิ่งมาที่น่านเป็นครั้งแรกในชีวิต  ตลอดเวลาก็ได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาที่น่าน น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง หากได้มาสัมผัสและเรียนรู้ก็คงจะเติมต่อจิกซอว์ที่ผมมีอยู่ได้

แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงหนึ่งวันสำหรับการเข้ามาสังเกตการณ์ เพื่อจับประเด็น การถอดบทเรียนของจุฬาฯ ในการทำงานพัฒนาชุมชน โดยใช้ประเด็น เกษตรปลอดภัย นำทาง ให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นร่วมในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน แบบมีส่วนร่วม ตลอดระยะเวลา ๓ ปี และวันนี้ ถือได้ว่า วันนี้เป็นวันเฉลิมฉลองความสำเร็จที่เริ่มต้นนั้น

การใช้คำว่า เฉลิมฉลอง นั้น ทำให้กระบวนการถอดบทเรียนวันนี้ ดูผ่อนคลายมีความสุข มีชีวิต ชีวา เห็นตัวตนของคนน่านได้อย่างชัดเจนในเวทีอิสระเช่นนี้ ผมเปรียบให้หลายท่านว่า งานนี้เหมือนงาน ปอย ที่คนล้านนาจะมา เกาะกุ๋ม ลุมลา กัน ในการร่วมกันทำกิจกรรมบุญของพวกเขา ดังนั้น งานของพวกเขาจึงดูมีชีวิต สนุกสนาน ม่วนงัน สันเร้า แฝงไว้ซึ่งความภาคภูมิใจในนวัตกรรมของแต่ละแห่งความสำเร็จของแต่ละโครงการ ที่นับรวม ๒๒ โครงการ ในพื้นที่ทั่วจังหวัดน่าน ถูกนำมาเรียงร้อย ถักทอเป็นผืนผ้าที่สวยงามให้เราได้ยล ในพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ (วัดอรัญญาวาส)

ผมได้เรียนรู้อะไรบ้าง?? ผมเชื่อว่าทุกท่านคงสนใจมาก ว่ากระบวนการที่จุฬาฯดำเนินการในพื้นที่เมืองน่านนั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างในพื้นที่...และมี Best Practice อย่างไรบ้าง สุดท้ายการพูดคุยในเวทีวันนี้แล้ว เรา AAR มีประเด็นใดบ้างที่น่าสนใจ

กระบวนการทำงานที่ผมพอสรุปได้จากเอกสารที่ได้รับนั้น การทำงานสามปีมีการเข้ามาทำงานลักษณะเป็นภาคีร่วม ยึดหลักตามแนวทางปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหัวใจหลัก เน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ให้ คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา เพื่อผลักดันให้ท้องถิ่นสามารถกำหนดยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาตนเอง โดยที่ชุมชน องค์กรชุมชน มีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ วางแผนร่วมกันในการแก้ไขปัญหาของชุมชน รวมทั้งการส่งเสริมศักยภาพของท้องถิ่น โดยยึดหลัก ภูมิสังคม ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แตกต่างกันในบริบทต่างๆ โดยการศึกษาหาแนวทางร่วมกัน จนเกิดเป็น วิสัยทัศน์ร่วม  แม้จะประกอบด้วยบริบทที่หลากหลายและแตกต่างกัน แสดงบทบาทที่เอื้อหนุนกัน พึ่งพากัน (independent and interdependent) นำพากันไปสู่เป้าหมายของความอยู่ดีมีสุข(Well being)ของคนเมืองน่าน

อาจเป็นการเก็บข้อมูลของผมที่น้อยเกินไป เกินที่จะสรุปบทเรียนความสำเร็จที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าการที่ได้ศึกษาเอกสารส่วนหนึ่ง กับการที่ได้เข้ามาร่วมเวทีเฉลิมฉลองเพียงหนึ่งวัน ไม่เพียงพอต่อการสรุปบทเรียนแน่นอน แต่ผมขอยกเอาบรรยากาศ และความรู้สึกของคนที่เคยทำงานชุมชน มุมมองของผม สรุปให้ท่านได้รับรู้ครับ

เช้าวันนั้นที่ลานโพธิ์ วัดอรัญญาวาส ผมได้เห็นชาวบ้านช่วยกันจัดบูธของแต่ละแห่ง แต่ละคนต่างก็ขะมักเขม้นกับหน้าที่ที่รับผิดชอบ สีหน้ามุ่งมั่นและมีความสุข เร่งมือเพื่อให้บูธของตนเองสมบูรณ์แบบที่สุดในการนำเสนอแก่ผู้เข้ามาร่วมงาน อันเป็นเพื่อนๆร่วมกันเรียนรู้แต่ละโครงการนั่นเอง รอยยิ้ม เสียงหัวเราะนั้น ทำให้ผมรู้สึกมีความสุขร่วมไปด้วย ...และนี่เองเป็นสิ่งชี้วัดอย่างหนึ่งของการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยไม่ต้องไปหาข้อมูลอะไรมากล่าวอ้างมากมาย

การเสวนาบนเวทีแบ่งออกเป็น สามประเด็นใหญ่  เวทีแรกเป็นส่วนของสถานการณ์ ทิศทางและจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ และการผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะ เป็นมุมมองและข้อเสนอเพื่อการพัฒนาทั้งในระดับและนโยบายและปฏิบัติการ  เวทีที่สองเป็นการนำเสนอ Best practice ที่ได้เรียนรู้และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และเวทีที่สามเป็นข้อเสนอในการขับเคลื่อนงานพัฒนาในระยะต่อไป

ผมมองเห็นความลงตัวของการจัดประเด็นพูดคุยในแต่ละช่วง ที่สอดคล้องกลมกลืน เราได้เรียนรู้เรื่องสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ทราบถึงบทเรียนของความสำเร็จจากปากผู้ที่ทำงานพัฒนา และสุดท้ายอาจเรียกได้ว่า เป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาระยะต่อไปจากการนำผู้นำชุมชน ที่เป็นระดับ นายก อบต. ในพื้นที่ มานั่งพูดคุยกัน สร้างพันธะสัญญา (Commitment) ร่วมกัน  จะเรียกได้ว่าเป็นการทำ MOU กลายๆที่เนียนเป็นธรรมชาติระหว่างสิ่งที่ชุมชนปฏิบัติการ กับแผนของหน่วยงานที่ทำงานระดับท้องถิ่น เช่น อบจ.,อบต. เป็นความชื่นมื่น  ผมมองว่าเป็นทั้ง เป้าหมายเบื้องต้น (End) และ แนวทางเบื้องต้น(mean) ที่มีเป้าหมายสูงสุดในการสร้าง ความอยู่ดีมีสุข ของคนน่าน  ในการทำงานระยะ ๓ ปี จุฬา น่าน ด้วย

เนื้อหาในรายละเอียดกระบวนการนั้นล้วนแต่น่าสนใจ ผมจะถอดบทเรียนรายละเอียดในการสังเคราะห์ในโอกาสต่อไป ...ได้มีการพูดคุยเรื่องการทำหนังสือถอดประสบการณ์การเรียนรู้ ชุมชนน่าอยู่ จุฬา น่าน ด้วย คิดว่าผมอาจมีส่วนในการเขียนงานตรงจุดนี้

กระบวนการที่ผมอยากกล่าวถึงอีกก็คือ การ AAR (After Action Review)  ในช่วงเย็นของวันนี้ก่อนครับ เราได้ประสบการณ์มากมาย และบรรยากาศ AAR เป็นไปด้วยความสุข สุนทรียสนทนา(Dialogue) ค่อนข้างจะเป็นการ AI: Appreciative  inquiry  ไปมากกว่า ผมเองได้นำเสนอมุมมองให้แก่ทีมงาน ตามความรู้สึกที่ตรงไปตรงมา แต่ก็ยังมีแต่ความประทับใจ ก็ออกตัวว่าข้อมูลน้อย แต่ขอประมวลจากความรู้สึกก่อน

  • ลักษณะการจัดเวทีนี้ เหมือนกระบวนการทำ กาดกำกึ้ด ของโรงพยาบาลปาย แม่ฮ่องสอน คือการนำสิ่งดีๆมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เป็นการนำ ความสำเร็จมาอวดกัน (SST : Success Story technique 
  • เป็นการรวมเอาผู้นำทางการและธรรมชาติของเมืองน่านมารวมตัวกันอย่างมากมาย ทราบมาว่า นายก อบต. และ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ความสนใจมาร่วมงานกันเกินความคาดหมาย
  • บรรยากาศทั้งการจัดบูธ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นบรรยากาศแห่งความสุข มีความตื่นตัวของผู้เข้ามาร่วมงานในทุกระดับ สังเกตจากการที่ชาวบ้านสอบถามวิธีการ กระบวนการทำงาน โดยการสนทนา แลกเปลี่ยนระหว่างบุคคล บูธ และบนเวทีเสวนา
  • เวลาการจัดงานเมื่อเทียบกับประเด็นแล้วค่อนข้างเหมาะสม ไม่มากและน้อยจนเกินไป
  • วิทยากรที่ดำเนินรายการอาศัยประสบการณ์ในการพูดคุย ชี้ชวนให้ผู้เข้าร่วมเวทีนำเสนอความรู้ฝังลึก ออกมาได้อย่างดี เป็นธรรมชาติ
  • ความสนใจของคนเมืองน่านที่เกินเป้าหมาย ไปมากกว่า ๒๐๐ คน เป็น จากเดิมที่ตั้งไว้เพียง ๓๐๐ คน เป็นปรากฏการณ์บางอย่างที่น่าสนใจ
  • ประเด็นการทำงานของจุฬาที่นำเอาปัญหา สารเคมี มาเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาร่วมถือว่าสำเร็จ เพราะเป็นปัญหาร่วมกันของชุมชน อีกทั้งเป็น ประเด็นเย็น เหมาะสมอย่างยิ่งในการขับเคลื่อน
  • ผมมองอีกอย่างคือ การให้โอกาส บุคลากรสาธารณสุขเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้เชื่อมประสาน ประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะศักยภาพของบุคคล รวมถึงการยอมรับจากชุมชนในระดับล่างมาก  
  • สิ่งที่ผมเห็นต่างจากพื้นที่อื่นๆอีกก็คือ พลังของแม่ญิงที่เข้ามาร่วมในเวที ผมเห็น นายก อบต.ผู้หญิง ที่มีกระบวนการคิดที่เป็นระบบ แสดงวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนที่เยี่ยมยุทธ์ 

ในเวที AAR ผมเสนอ เรื่องของ การยกระดับความรู้เหล่านี้สู่ การจัดการความรู้เป็นตลาดความรู้ ยกระดับเป็น นโยบายสาธารณะ รวมถึงการจัดเวทีกลางให้เกิดการพบปะกันบ่อยครั้ง รวมถึงเสนอมุมมองในการทำวิจัยต่อเนื่อง ด้านการจัดการความรู้ การเชื่อมเครือข่ายการเรียนรู้ของคนเมืองน่าน เพื่อการพัฒนาความเข้มแข็งที่ต่อเนื่องของประชาคมที่น่านด้วย

ภาพของความสำเร็จที่เกิดขึ้น อาจต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า ด้วยพื้นฐานความเข้มแข็งอันเป็น ทุน ที่สำคัญของเมืองน่านที่มีอยู่เดิมแล้ว และการทำกระบวนการเรียนรู้เพื่อนำทุนที่มีอยู่มาขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนของจุฬาฯ กระบวนการที่สอดคล้อง ลงตัว จึงเกิดการเคลื่อนตัวของการพัฒนาขึ้นไปอีกระดับที่น่าภาคภูมิใจ

ในส่วนของกระบวนการทำงานของจุฬา น่าน อาจต้องนั่งเขียนบันทึกแบบละเอียดอีกครั้ง หรือ อาจมีการถอดบทเรียนอันเป็นประสบการณ์เป็นหนังสือ เพื่อการเผยแพร่ต่อไป

ทั้งหมดเป็นข้อสังเกตส่วนตัวของผมและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำ AAR ด้วย อันนี้ไม่รวมถึงความประทับใจในสถานที่ ที่เมืองน่าน ในบันทึก ไปแอ่วเมืองน่าน : ถิ่นสวยงามนาม...นันทบุรีนคร    นะครับ

เชิญร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ


จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

๑๑ ม.ค.๕๑

เมืองปาย,แม่ฮ่องสอน

 

หมายเลขบันทึก: 158663เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2008 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

ในบันทึกผม มีศัพท์ท้องถิ่นที่ต้องอธิบายเพิ่มเติมดังนี้ครับ

---------------------------------------------------------------

งานปอย  = เป็นงานเฉลิมฉลอง สมโภช ของคนท้องถิ่นล้านนา เช่น งานฉลองสมโภชศาลาการเปรียญ วัด... เป็นต้น การเฉลิมฉลองนี้เราจะเห็นบรรยากาศของการรวมมือร่วมใจ ของชุมชนผ่านปรากฏการณ์ดังกล่าว

เกาะกุ๋มลุมลา = การรวมตัวกันอย่างเป็นธรรมชาติ ของผู้คน การรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการเพื่อทำกิจกรรมใด กิจกรรมหนึ่ง มีเป้าหมายร่วมกัน

ม่วนงันสันเร้า =เป็นศัพท์ แสดงกิริยา สนุกสนาน ของผู้คน ที่เจือไปด้วยความสุข ในการเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน

ยอดเยี่ยม อ่านแล้วมีความสุขจังค่ะ

คนน่านเขาเก่ง

เขาทำให้น่านน่าอยู่

ทำเพื่อให้ตนเองมีที่อยู่ที่อาศัยที่ดี

คนเราอยู่ที่ไหน ทำให้ที่ตรงนั้น มันเจริญทุกด้านมันก็จบ

คนน่านคิดอะไร

คนน่านทำอะไร

คนน่านทำอย่างไร

คนน่านได้ผลลัพธ์อะไร

กลไกตรงนี้ขึ้นอยู่กับสไตล์น่าน ที่อื่นก็ต้องค้นหาสไตล์ตัวเองให้พบ จะให้คนอื่นคิด ทำ แทน ไม่ได้

สวัสดีปีใหม่ครับ

ขอบคุณครับที่แวะไปทักทายครับ

...

นัดกับน้องแนนIS ไว้ ว่าแนนกลับไทย แล้วจะไปเที่ยวปาย หาคุณเอกครับ

  • คนที่เรียกว่าตนมีการศึกษา เวลาเขาจะทำการอะไรก็เรียกประชุมเตรียมการ ต้องมีคำสั่งแบ่งงานเป็นฝ่าย และรายละเอียดของงานชัดเจน แต่ละฝ่ายก็เตรียมการ"วันสุกดิบ" กันไป
  • ดูชาวบ้านทำ เวลาเป็นงาน พอรู้ข่าวก็ไปรวมกัน หยิบฉวยข้าวของที่มีอยู่ ไปช่วยกันทำงาน
  • ในยามงานบุญ คุณยายตักข้าวสารใส่ขัน แบกก้านกล้วย แล้วไปรวมกลุ่มกันห่อข้าวต้ม บางคนก็ไปทำขันบายศรี
  • ชาวบ้านเขาพิจารณาว่างานเช่นนั้นจะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง และตัวเขาจะมีส่วนช่วยอะไรเพื่อให้งานบรรลุเป้าหมาย เขาก็ทำไปตามที่เห็นว่าสมควร
  • เวลาสอนเด็กเตรียมอาหารกลางวันให้นักเรียนทั้งโรงเรียน ผมเฝ้ามองว่า จะมีเด็กคนไหน เห็นว่าผักบุ้งยังไม่มีคนล้าง แล้วชวนเพื่อนไปจัดการให้เรียบร้อย จานชามจะมีคนขนไปเตรียมไหม จะมีใครดูเวลาว่าจวนได้เวลาแล้ว ควรทำอะไรก่อนหลังดี
  • เขาควรได้รู้ว่างานเล็ก ๆ ที่เขาทำส่งผลต่อความสำเร็จใหญ่ ๆ อยางไร และความสำเร็จนั้นไม่ใช่เกิดแต่การสั่งการของครูเพียงผ่ายเดียว แต่ใจดวงน้อยของเขาต่างหากคือผู้สั่งการอันแท้จริง   

หวัดดีครับ..พี่เอก

  • เป็นการถอดบทเรียนที่มีชีวิตชีวามากเลยครับ... เห็นบรรยากาศความเคลื่อนไหวและความร่วมมือกันของชุมชนเป็นภาพที่น่าประทับใจมาก
  • ผมไปเมืองน่านเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว  ได้เห็นพลังของคนน่านที่ลุกขึ้นมาพิทักษ์รักษาทรัพยากร, พลังของการร่วมมือกันพัฒนาบ้านเมืองของตนเองอย่างกว้างขวาง
  • ก็เลยพลอยมาคิดว่าเมื่อไหร่หนอ...คนชุมชนอื่นๆ จะลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของตนด้วยตนเองสักที  หรือจะรอโครงการ "เอื้ออาทร "อยู่เรื่อยไป...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ ดร.ยุวนุช ที่เคารพ

หากอาจารย์อ่านบันทึกผมด้วยความสุขนั่นหมายถึงว่า ความรู้สึกที่ผมอยากถ่ายทอดออกมานั้น สัมฤทธิ์ผลในระดับหนึ่งแล้วครับ เป็นความรู้สึกข้างในที่อยากบอกเล่าครับผม

ด้วยความที่เป็นคนของชุมชน พัฒนาร่วมกับชุมชน ภาพที่ผมอยากเห็นนั้น คือ การที่ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการชีวิตตนเอง โดยใช้ "ความรู้"ที่สั่งสม บวกกับ "ศักยภาพ" ที่ได้รับการพัฒนาจากกระบวนการใดๆก็ตาม มาเป็นพลังในการขับเคลื่อนวิถีชีวิตตน

พลังที่เข้ามา"กระแทก"นั้น ปัจจุบันมีอยู่หลากหลายรูปแบบครับ ขึ้นอยู่ว่าเราจะตั้งรับ และ รุก อย่างไร โดยใช้ปัญญา ที่ปราศจากการก่นด่า และโยนความผิดให้กับสิ่งรอบข้าง หรือการอนุรักษ์อย่างสุดโต่ง ไม่ดูพลวัตรการเปลี่ยนในโลกของความเป็นจริง

ที่ น่าน เป็นจุดเรียนรู้ที่ดีครับ

ผมได้มีโอกาสที่ดีในการเข้าไปร่วมเรียนรู้ในกระบวนการทางปัญญาเหล่านี้ด้วยตนเอง ได้พบกัลยาณมิตรที่มากมาย

เป็นห้องเรียนที่กว้างใหญ่มากครับ

 ขอบคุณท่านอาจารย์ที่มาเยี่ยม พร้อมให้กำลังใจผมครับ

 

 

คุณพ่อครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ครับ

การบ้านที่คุณพ่อกรุณา มอบหมายให้ผมไปศึกษาที่น่านนั้น ยังไม่จบครับ อาจเป็นเพียงการเริ่มต้น ผมเองก็จะเริ่มศึกษาในส่วนกระบวนการของ จุฬาฯ และประชาคมน่าน และปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้นที่น่านอีกมากครับ

ที่เมืองน่าน

  • มีหลายอย่างที่ผมพอเข้าใจ
  • มีหลายอย่างที่ผมเข้าใจ
  • และ มีหลายอย่างที่ผมไม่เข้าใจ

ผมเข้าใจว่าพัฒนาการของน่านมีทั้ง จุดแข็ง และ จุดอ่อน ที่ผมไม่สามารถมองเห็นได้ในช่วงเวลาสั้นๆครับ

ผมกลับมาที่เชียงใหม่ ได้โทรไปพูดคุยกับ ท่าน ดร.แสวง เกี่ยวกับสิ่งที่ผมเห็น ท่านก็ฝากให้นำกระบวนการมาเขียนให้ดูด้วย ผมก็คิดว่าบันทึกต่อๆไป หรือไม่ก็ในการเขียนถอดประสบการณ์ให้กับทางจุฬาฯ

สิ่งที่ผมเขียนนั้น เป็นความรู้สึกใน หนึ่งวันครับผม

หัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ผมได้พูดในเวที AAR คือ การที่คนน่าน ทำเพื่อน่าน งานนี้จึงมีความรู้สึกร่วมที่ดี เกิดความรักเข้ามาร้อยในทุกกระบวนการด้วยอย่างเเนบเนียน

Best Practice ที่ได้รับ ผมจะนำไปเล่าให้เวทีอื่นๆที่ผมได้เข้าร่วมฟัง ร่วมแลกเปลี่ยนครับ

ขอบคุณจุฬาฯ ครับ

ขอบคุณคนน่าน ครับ

ขอบคุณคุณพ่อครับ

สวัสดีปีใหม่ครับตาหยู

หายไปตั้งนานเลยครับ...กลับมาอีกทีก็ไม่โสดเสียแล้ว ถือโอกาสนี้สุขสันต์วันวิวาห์ และสวัสดีปีใหม่ด้วยครับ

ไม่ทราบเมื่อไหร่ คุณแนนนี่ จะเรียนจบครับ หรือกลับมาเมืองไทยมาเที่ยว กลับมาเยี่ยมบ้าน

ยินดีต้อนรับเสมอสำหรับเพื่อนๆครับ

สวัสดีครับ ครูหนุ่ม ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ

ก่อนอื่นผมต้องขอบคุณมากๆครับที่ติดตามแลกเปลี่ยนต่อใน e-mail ผมคิดว่าการต่อยอดความรู้เป็นสิ่งที่ผมต้องการมากครับ อย่างน้อยการได้เรียนรู้มุมมองที่หลากหลายทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆเสมอ

วันนี้ผมได้ส่งหนังสือ จำนวน ๒ เล่มไปให้ทางไปรษณีย์คาดว่าคงใช้เวลาเดินทางไม่กี่วันครับ เรียนรู้ร่วมกันครับ...ฝากสวัสดีปีใหม่ครับผม

อ่านจากที่ครูหนุ่มให้ข้อเสนอแนะนั้น เราเห็นภาพธรรมชาติของการเรียนรู้ในระดับชุมชน  ผมเขียนไว้ในหลายครั้งบอกว่าปัจเจกที่ดีเป็นส่วนประกอบที่ดีของส่วนรวมที่เข้มแข็งด้วย ดังนั้นพลังการเรียนรู้ของบุคคลจึงสามารถผสานกันเป็นพลังทางปัญญา ขับเคลื่อนสังคมได้ อ่านได้จากบันทึก เวทีเรียนรู้ทรงพลังแบบชาวบ้าน จากปัจเจกสู่เครือข่าย : เรียนรู้จากหมู่บ้าน  และบันทึกอื่นๆ

ที่บันทึกเรื่องราวของ เมืองน่าน  เกี่ยวกับ "ชุมชนน่าอยู่" ผมได้เห็นปรากฏการณ์ในเวทีช่วงเพียงหนึ่งวันครับ ส่วนเอกสารกำลังศึกษาอยู่ คาดว่าจะมีการถอดบทเรียนที่สมบูรณ์ในเร็วๆนี้

ที่ครูหนุ่มเคยบอกผมในบันทึกก่อนหน้าว่าสนใจ Best Practice ที่น่าน น่าจะหมายถึง กระบวนการอันเป็นหัวใจของการทำงานพัฒนา โดยรวมแล้วผลของความสำเร็จที่นั่น รวมเอาปัจจัยต่างๆเข้าไปด้วย ที่ AAR ในบันทึกก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมุมมองผม

ส่วนประสบการณ์การเป็นวิทยากรให้ครู คศ.๓ นั้นผมเองได้เขียนไว้ในหลายๆบันทึกก่อนหน้านี้

"มุ่งเน้นที่คุณภาพ" ของครูชำนาญการพิเศษ เรื่องไม่เล็กของระบบการศึกษาไทย

ภารกิจที่ท้าทายของกระทรวงศึกษาธิการ กรณี "ครูชำนาญการพิเศษ"

"งานวิจัย" ยาขมหม้อใหญ่ของคุณครู

อย่าเครียดครับ...หัวเราะกันบ้าง : เก็บตกบทบาทวิทยากร

ติดตามอ่านได้ในสารบัญบันทึกย้อนหลังใน Community Based Research  ครับผม

ขอบคุณครับครูหนุ่มครับ

 

 

 

 

สวัสดีครับ อาจารย์ขุนย่ามแดง

เรามีเวลากันเพื่อ AAR ไม่นานครับ หลังเลิกงาน แต่ก็ได้มุมมองจากหลายๆท่านที่เป็นทีมงาน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาพบวกมากกว่าครับ

ผมก็คิดเห็นเช่นเดียวกับ อาจารย์ขุนนะครับว่า ด้วย"ทุน" ของน่านเองที่มีกระบวนการพัฒนาคนอย่างเป็นระบบทำให้การเติม การขับเคลื่อนงานไปได้ง่าย

ผมเองมีข้อมูลไม่เยอะ การให้ข้อคิดเห็นในบันทึกก็เป็นเพียง "ความเห็น" บวกกับประสบการณ์ที่ผมเคยทำงานชุมชนเข้าไปมองครับ

ถามว่า สำเร็จขนาดไหน ผมบอกไม่ได้เลย แต่เห็นความมีชีวิตชีวาของการจัดงานเวทีแบบนี้แล้ว ชื่นใจ ครับ

แต่ก็มา งงๆ กับ กลุ่มประชาสังคมที่น่าน มีเยอะเเยะเลยครับ เข้าใจว่าทำงานพัฒนาท้องถิ่น แต่ก็มีหลายๆภาคีทั้ง ประชาคมน่าน กลุ่มฮักเมืองน่าน  ฯลฯ การทำงานท่ามกลางภาคีที่ทำงานลักษณะคล้ายๆกันแบบนี้ น่าสนใจมากในการเชื่อมประสานงาน

ผมได้ยินบางท่าน (คนน่าน) บอกว่า กลุ่มนั้น กลุ่มนี้ งานนี้เป็นของเขา งานนี้เป็นของเรา งั้นแสดงว่า การเชื่อมประสานระหว่างภาคี ยังไม่สนิทเท่าไหร่ (หรือเปล่า) อันนี้ผมตั้งคำถามในใจ หรืออาจเป็นเพียงการพูด ที่ผมคิดมากไปเอง

ผมได้กระบวนการบางอย่างจากการจัดงานนำมาใช้ประยุกต์ในการพัฒนาเมืองปายของผม หลายส่วนเลยครับ

-------

ช่วงเช้าผมถอยรถออกมาจากโรงรถแล้ว อุ่นเครื่องนานเลยครับ เพราะช่วงไม่ค่อยได้ขับรถ จอดไว้ก็หลายวันทีเดียว จึงต้องเอามา วอร์มอัพ ซะหน่อย...

การทำงานพัฒนาประชาสังคมที่บ้านผมเช่นเดียวกัน ผมรู้สึกว่ามันจางๆลงเยอะเหมือนกันครับ ตีเหล็กบางทีต้องตีที่มันยังร้อน หรือเหมือนกับรถที่เราต้องวอร์มเครื่องบ่อยๆ

ผมพล่ามไปเยอะทีเดียว ...ชักเป็นห่วงกระบวนการพัฒนาท้องถิ่นที่บ้านเกิดตัวเองครับ  ดูเย็นๆ เงียบๆ ในขณะที่ปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ

ขอบคุณครับ

ดีใจ จัง ที่โครงการ สำเร็จ  ผลออกมางดงามน่าชื่นชม เพราะลำพัง คนของจุฬาฯ คงไม่มีปัญญาทำได้ดีขนาดนี้ (บอกได้เลยนะ  ... เพราะรู้ฝีมือกันดี) เพราะมัวคิดว่าจะหาเงินเข้า วิทยาลัยฯ ว่าโครงการโน้นนี้นั่น จะได้เท่าไร จนบางครั้ง ก็ลืมผิดชอบชั่วดีไป ก็พยายาม มองหาภาพบวก 5555555555  แต่ไม่รู้ว่าจะมองยังไม่เพราะไม่เห็นเลยจริงๆ...... ถ้ายังจำกันได้ ช่วงปีที่น่านน้ำท่วมใหญ่ เป็นที่แรก โดนเข้าอย่างแรง โครงการ บางท้องที่ ไปกับน้ำหมด ทางผู้วิจัย เลยมีดำริกันว่า น่าจะสนับสนุนงบประมาณไปช่วย พอขอไปทางจุฬาฯ หมอ สุทธิพร บอกไม่มีให้ เลยอาศัย connection เดิมๆ และได้ผลด้วย  บริษัท ไฟเซอร์ (ที่ขาย Viagra นั้นแหละ) ให้มา 2 แสน ดีใจมากๆ ชาวบ้าน มีเงินสนับสนุนแล้ว 555555 แต่ แทบร้องไห้เลย เพราะท่านหัวหน้าโครงการฯ ที่ทำงานหนักมากๆ หนักมากจนขาดสติ ไม่รู้กรรมอะไรมาดลใจท่านให้คิดได้เงินบริจาคช่วยน้ำท่วม เป็นรายได้ของวิทยาลัยฯ .........เลยกล้ามาหักเงินทำบุญช่วยชาวน่าน เป็นค่าใช้จ่าย 15 % เฮ้อ.....ทำไปได้ ไม่รู้ป่านนี้ ต่อมรับผิดชอบชั่วดี ทำงานหรือยัง หวังว่าคงเอาไปคืนให้คนน่านแล้วนะ (สงสัยผิดหวัง) งานนี้ ข้าน้อยไม่เกี่ยวนะ เป็นคนขอเงินมาให้อย่างเดียว บาปกรรมชั่วอย่างงี้ คนทำรับกันเองนะจะ 

ปล.  บอกได้เลยถ้าไม่มี พี่พงษ์ พี่พิเชษฐ์ พี่แอ๋ว พี่จี๊ด และอีกหลายคนที่น่าน นะ โครงการนี้ ล้มพับ อับอายไปนานแล้ว ท่านทั้งหลาย

 

สวัสดีครับ คุณ สุรชน M

ผมก็ดีใจครับ

ในฐานะที่ผมเข้าไปสังเกตการณ์ผมถ่ายทอดบรรยากาศออกมาแบบนี้จริงๆครับ ผมไม่ได้ Bias เลย รู้สึกยังไงก็เขียนออกมา รู้สึกว่าบทเรียนที่นี่น่าสนใจ

เมืองน่าน  ขึ้นชื่อเรื่อง "ทุน" ไม่ว่าจะเป็นคน พื้นที่ ที่ผ่านการพัฒนามาระดับหนึ่ง จริงอยู่ครับ ผมคิดว่า "จุฬา" เองทำคนเดียวไม่ได้ ไม่ใช่แค่จุฬานะครับ ประชาคมโลก ก็ทำอะไรไม่ได้หากคนน่านไม่ยอมรับ ไม่ร่วมมือ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน

การขัดแย้ง หรือ ภาพที่เกิดขึ้นในพื้นที่ผมไม่ทราบครับ แต่เป็นเรื่องธรรมดามากๆเลยครับ กับภาพของการพัฒนาที่ต้องใช้การ "บูรณาการ" ร้อยพ่อพันแม่ หลากหลายความคิด หลากความรับผิดชอบ ย่อมต้องมีการขัดแย้งและคิดต่างกัน เป็นลักษณะของการทำงานจริง

ในความคิดผมนะครับ

- จุฬา มีความตั้งใจอย่างยิ่งในการเข้าไป เสริมต่อทุนที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไป (ตรงนี้เป็นเครดิต)คนน่าน และทำงานไม่ยากมากเท่าไหร่เพราะทำกับของดี มันก็ต้องดีใช่มั้ยครับ

- ภาพและบรรยากาศ แห่งความสุข ความร่วมมือ ในวันเฉลิมฉลองงานที่ผมไปร่วม มันเสแสร้งยาก ดังนั้น เหตุการณ์วันนั้นผมอิ่มใจและมีความสุขในแววตา ความรู้สึกของคนทำงาน ชุมชนและภาคี - - -ประเมินได้ถึงกระบวนการที่ผ่านมา จนถึงสิ้นสุด


อย่างไรก็ตามต้องขอบคุณชาวเมืองน่านทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็น ท่านทั้งหลายที่กล่าวมาในข้อเสนอแนะด้านบน ที่เป็นทีมงาน ช่วยกันสรรสร้างสังคมแห่งความดีงาม ช่วยในส่วนที่ช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็น ความคิด กำลังกาย กำลังใจ ในการที่จะพัฒนาเมืองน่านให้น่าอยู่ตลอดไป

ทุกอย่างที่ผ่านมาให้เป็น "บทเรียนที่ดี" ในการทำงานต่อไปข้างหน้าครับ

ขอบคุณท่านที่มาช่วยเติมเต็มครับ


 ที่ท่านพูดมาทั้งหมดนี้ พูดอีก ก็ถูกอีก ไม่ได้ไม่เห็นด้วยนะ เลยได้บอกไงว่าดีใจจัง ที่โครงการ สำเร็จ  อันนี้พูดในฐานะ ประสานงานให้มาตั้งแต่ โครงการ เกือบล้มพับ ไม่ได้มาเห็นวันสองวันแล้วเอามาเขียนชื่นชม ผมเอง เป็นผู้ติดต่อ ไปหา พี่พงษ์ พี่พิเชษฐ์ ในฐานะ รุ่นน้องสิ่งแวดล้อม มหิดล เหมือนกัน ให้มาช่วยกันหน่อย เพราะทางน่านมีดีกันอยู่แล้ว จุฬาฯ ซะมากกว่า ที่ไม่พร้อมและไม่เคยพร้อม งานนี้ Credit ทั้งหมด ผมให้เลย คนน่านล้วนๆ

ส่วนเรื่องไม่ดีนั้น ผมก็เข้าใจ มันเป็นความชั่วร้ายส่วนตัว เพราะที่แสดงออกมามันไม่ใช่อย่างที่เขาเป็น เขาทำ สำหรับสิ่งที่ท่านเห็นนั้น ก็เหมือน  การสร้างโฆษณานั้นแหละ อย่าเป็นเหยื่อเรื่องการตลาดนะท่าน 55555555  ก้อนเขาน้ำแข็งลอยในทะเล ก็เห็นแค่เสี้ยวเล็กๆเท่านั้น  ของที่เราท่านไม่รู้นะ มีอีกมาก อย่าด่วนสรุปในการทำงานร่วมกับเขาเพียงไม่กี่ครั้งนะครับอันตราย 555555555555 เรื่องนี้เรามีหลักศีลธรรมเป็นที่กำหนดอยู่แล้ว ก็ให้เวรกรรม ส่งผลกันเองนะจะ  55555555555

หวังดีนะจะ 
เอ็มเอง
สวัสดีครับ สุรชน M

ต้องขอบคุณมากครับ ที่เข้ามาเติมเต็มให้เห็นการทำงาน กระบวนการครับ

เสียงคุยกันบนเวทีกลางในวันนั้น ผมจำได้ยังดังก้องหูครับ ทางจุฬา บอกว่า "งานที่สำเร็จในครั้งนี้ เพราะคนน่าน ทางจุฬาเพียงแต่เข้ามาร่วมคิด ร่วมเรียนรู้กระบวนการไปด้วยเท่านั้น"  เป็นประโยคที่งดงามครับ และในบรรยากาศที่เราเรียกว่าเป็นการนำเสนอสิ่งดีๆในวันนั้น เป็นงานเฉลิมฉลองความสำเร็จที่เกิดขึ้น อาจเป็นความสำเร็จที่ไม่มากนักแต่เป็นการมีส่วนร่วมที่มาจากชุมชน พลังที่เกิดขึ้น ผมเชื่อได้ว่า เกิดจากการ Empowerment ของภาคีที่เกี่ยวข้อง การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติครับ

ผมบอกได้เลยว่าผมเป็น "คนใหม่" - outsider ที่อยู่ข้างนอก ที่ถูกเชิญเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ ทั้งๆที่ผมไม่ทราบบริบทมากมาย เพียงแต่ศึกษาตามเอกสารที่มีอยู่ ปะติดปะต่อภาพในความคิดผม รวมกับ ภาพของความเข้มแข็งของเมืองน่าน ออกมา ตรงนั้นเป็นความคิดในครั้งแรก

ความที่เป็นคนนอก การเข้าไปร่วมผมจึงต้องเป็นกลาง วางความคิดที่เปิดกว้าง เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นผมถือว่า ผมได้มาเรียนรู้ ในห้องเรียนที่กว้างใหญ่

ถามว่า เห็นความสำเร็จ ที่ลวงตาหรือไม่ เป็นงานโฆษณาหรือไม่นั้น....

ด้วยความที่ผมเป็นนักพัฒนาที่ alternative เชื่อคนยาก มีประสบการณ์การทำงานกับชุมชนในกลุ่มคนที่หลากหลาย คนดอย - คนราบ  เฝ้าสังเกตความเป็นไปของวิถีการพัฒนาอยู่ทุกครั้ง ถอดบทเรียนในช่วงทำงาน ดังนั้น สิ่งที่ประจักษ์ กับ สายตา เราประเมินได้ว่า "ของจริง" หรือไม่

และอยากบอกว่า "ผมไม่มีส่วนได้ ส่วนเสีย" กับโครงการนี้  จึงบอกได้เลยว่า การเขียนบันทึกผมในครั้งนี้ ผมหยิบสิ่งที่ผมเห็น หยิบเอาความรู้สึกที่เกิดขึ้นตอนนั้น มาอรรถาธิบายว่าผมมีมุมคิดอย่างไร? กับสิ่งที่เกิดขึ้นครับ

ตามสิ่งที่ท่านได้อ่านในบันทึกนี้





 ต่ออีกนิดนะครับ คุณสุรชน หรือคุณ M
---------------------------


ผมเองก็ไม่ได้คิดว่า บันทึกนี้ จะมีผลต่อภาพรวมของโครงการ ผมเชื่อมั่นเสมอว่า การทำงานโดยเฉพาะการทำงานที่ต้องใช้การมีส่วนร่วมแบบ "บูรณาการ" เป็นงานที่ยากยิ่ง "ความขัดแย้ง" มีสูงมาก หากเราสามารถจัดการความขัดแย้งได้ เป็น บทเรียนที่ดีของการทำงานไปด้วย


ที่น่านก็เหมือนกันครับ 


จุฬาทำงานกับคนน่าน    และ ทราบดีว่าที่นี่เต็มไปด้วย "ทุน" ที่มากมาย พร้อมพรักในการขับเคลื่อน แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวังมาก เข้าใจส่วนตัวว่า ในแวดวง ของคนเก่ง ทำให้การตัดสินใจ กระบวนการต่างๆ ต้องชัดเจนพร้อมกับการตรวจสอบตลอดเวลา(เชิงคุณภาพ)

และ อยากจะบอกอีกว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้ สมบูรณ์แบบ ๑๐๐ เปอร์เซนต์ มีผิดพลาด ผิดพลั้งไปก็เป็นเรื่องปกติของการทำงาน สิ่งที่ดีที่สุดคือ การคิดเชิงสร้างสรรค์ นำประสบการณ์ที่มีนำไปใช้ในการทำงานในโอกาสข้างหน้าต่อไป ให้กำลังคนทำงานด้วย สุนทรียสนทนา เป็นวัฒนธรรมที่เหมาะสมกับคนไทยมาก

ผมเองถูกคนขับรถสองแถวที่ขนส่งน่าน โก่งราคา พาไปที่พัก ๒ กิโลเมตร ในราคา ๑๐๐ บาท แต่เป็นเรื่องปกติครับ ผมคิดว่านั่นเป็นความซื่อสัตย์ในอาชีพของเขา ถูก ผิด ดี ชั่ว เขาตัดสินใจเองได้ แต่เหตุการณ์นั้น ผมไม่ได้โทษคนที่น่านเลย ทุกที่มีคนเลว คนชั่ว ปะปน สังคมมักเป็นเช่นนี้- - -ธรรมดามากๆครับผม

ขอขอบคุณครับคุณเอ็มที่เข้ามาแลกเปลี่ยน

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความรู้ ความสามารถที่คุณเอ็มมีอยู่จะช่วยแลกเปลี่ยนกับผม และช่วยกันพัฒนาเมืองน่านให้น่าอยู่ยิ่งๆขึ้นไป

ขอขอบคุณอีกครั้งครับ

-----
จตุพร
  •  สวัสดีครับ
    อย่างไงผมก็ว่าคุณเอก  ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาดีแล้ว 
  • ส่วนข้อไม่ดีคนอ่านอย่างผมก็ยังนึกภาพออก  แต่ไม่ต้องเขียนมาหรอก  ให้ผู้เกี่ยวข้องพูดกันเอง  เพราะจะได้เกิดการปรับปรุงในโอกาสต่อไป  
  • ในงานทุกงานเราต้องกอดความคิดในด้านบวกไว้ก่อนเสมอ  ข้ออ่อนเราต้องพูดกันแน่ๆแต่ต้องเพื่อแก้ไขให้เกิดการเรียนรู้กันดีใหมครับ

ขอบคุณครับ พี่TAFS นิรันดร์

ผมถ่ายทอดออกมาตามสิ่งที่ผมเห็นสัมผัส และเชื่อในสิ่งที่เห็นด้วย "ใจ" ที่สัมผัส"ใจ"

ดีก็ชม ไม่ดีก็เขียนเพื่อเป็นข้อเสนอแนะ เพื่อสังเกต หรือแก้ไขในโอกาสต่อไป

งานทุกงานที่ทำ ผมคิดว่าไม่อะไร สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว ก็ต้องมีบกพร่อง ขึ้นอยู่กับ วิธีคิด -มุมคิด ของเราจะยอมรับได้แค่ไหน ถึงต้องมีการทำ SST เพื่อนำเอาเรื่องดีๆมาเรียนรู้กัน

 สังคมไทยเรา ต้องคิดให้ปรองดองมากกว่านี้ คิดให้สร้างสรรค์ ถ้อยทีถ้อยอาศัยผมว่าจะน่าอยู่มากขึ้นกว่า

พื้นที่ใน gotoknow เป็นพื้นที่สาธารณะเราจึงมีโอกาสได้เห็นการกระแทกอารมณ์มากมาย  ทั้งนี้เหตุการณ์ต่างๆก็สอนเราไปในตัวด้วย..ว่าสิ่งไหนควรและไม่ควร อีกทั้งเป็นลายลักษณ์อักษรเสียด้วยสิครับ

เป็นห้องเรียนห้องใหญ่แห่งหนึ่งครับที่นี่

--------------------

ที่น่านมี Best Practice หลายๆอย่างที่ให้เราได้เรียนรู้กัน และภายใต้สิ่งที่เป็นบทเรียนรที่ดีนั้น ก็มีบทเรียนเล็ก สำเร็จ ไม่สำเร็จ แทรกอยู่มากมาย หากเราเปิดใจให้กว้าง ผมว่า ศาสตร์ที่เราค้นพบจะสร้างพลังการขับเคลื่อนวิธีคิด ขับเคลื่อนงาน ทั้งระดับปัจเจคและสังคมกันเลยทีเดียว

 

ขอบคุณครับพี่นิรันดร์ที่มาชวนให้คิดต่อ

 

ก็ยังยืนยันตามความเห็นครั้งแรกของผม ว่า ดีใจมากจริงๆ ที่โครงการน่าน สำเร็จและเป็นประโยชน์กับคนน่าน นะครับ แต่ที่นำเสนอ ความจริงในมุมมืดออกมา เพราะเห็นว่า ที่แห่งนี้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หลายเรื่องที่ผิด ความชั่วที่ทำไว้ แต่ไม่ได้ส่งผล ยังไม่ปรากฎออกมาจากการกระทำของหัวหน้าโครงการฯ อาจจะเป็นอุทาหรณ์ และสะท้อนอะไรบางอย่างออกมา เป็นข้อคิดให้คนอื่น ได้ตั้งรับปรับแก้ กับอารมณ์ ความรู้สึก ที่กำลังจะหลงผิดคิดชั่ว ได้กลับตัวกลับใจ ไม่ทำอะไรตามความโลภ โกรธ หลงของตนเอง แต่หันมายึดหลักของศีลธรรม แทนหลักยึด ตัวกูหรือความถูกต้อง จึงขอฝากไว้ให้ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับ คน ที่ยังไม่ถึง ความเป็นมนุษย์ ครับ

 ปล. ผมอ่านที่ท่านเขียนมาทั้งหมด มีทั้งที่ถูกใจ และไม่ถูกใจ ซึ่งเป็นธรรมดาในการแสดงความคิดเห็นจากตัวตนของตน จากประสบการณ์ที่ผ่านพบมา แต่สำหรับ เรื่องที่ผมมองว่า ไม่ถูกต้องอย่างยิ่งเลยนั้น ก็เห็นจะเป็นเรื่อง ที่ท่านคนขับรถโดยสารโก่งค่ารถนั้น แล้วกลับมอง คนขับรถโดยสาร มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ต่อหน้าที่การงานของตนเอง นั้น ผมขอมองตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง และบอกได้เลยว่า สิ่งที่ท่านมองที่ท่านคิดนั้น ไม่ถูกต้อง การที่คนขับรถโดยสารกระทำนั้น ก็เหมือนกับ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจใช้อำนาจในทางมิชอบ ประพฤติผิด กระทำทุจริต หรือแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองหรือครอบครัวหรือพวกพ้อง ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่คนอื่นและบ้านเมือง ดังที่เราท่านได้เห็นได้รับรู้กันอยู่ในปัจจุบัน หรือหากเป็น ชาวสวนชาวนาชาวไร พ่อค้าแม่ขาย ไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ไม่ได้ใช้ชีววิถี แต่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย แต่เวลาขายกลับบอกว่า ปลอดสารพิษ ปลอดสารเคมี หรือขายของโกงเขา  ขายของเน่าเสียไม่มีคุณภาพ แต่กลับบอกว่า เป็นของดีมีคุณภาพแล้วนั้น สิ่งที่จะตามมาเป็นเบื้องต้นคือ เกิดตะกอนขุ่นมัวในใจทั้งผู้ทำและผู้รับผล เมื่อมารับทราบความจริงกันภายหลัง ตามมาด้วยการทะเลาะวิวาท บาดหมาง หรือถ้าจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน บางอย่างก็จะส่งผลร้ายต้องร่างกาย เกิดโรคภัยไข้เจ็บจากสารพิษสะสมในร่างกาย เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้เกี่ยวข้องทั้งสิ้น ซึ่งไม่ต่างกันเลยกับกรณี คนขับรถโดยสารที่โก่งค่ารถท่าน เขาเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงานของเขา เสียมากกว่า ที่จะเป็น คนซื่อสัตย์ต่ออาชีพการงาน ตามสายตาของท่าน หรืออย่างที่ท่านคิด นะครับ

ฝากไว้ให้ไตร่ตรอง  

 

 

 

คุณสุรชน หรือ คุณเอ็ม

การนำเสนอเรื่องราวเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นยินดีเสมอครับ หากความจริง (Fact) นั้นอ้างอิงได้ เพื่อความเป็นธรรมสำหรับผู้ที่ถูกพาดพิง และ อาจต้องระมัดระวังอย่างมากโดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะเช่นนี้ครับ โดยเฉพาะอารมณ์ที่อาจกระแทกคนรอบข้างได้

ในส่วนประโยค จาก  Comment : http://gotoknow.org/blog/mhsresearch/158663#527254สำหรับข้อสังเกตที่คุณเอ็มเห็นนั้น อาจเป็นการเข้าใจผิด ในศัพท์ครับ 

"ผมเองถูกคนขับรถสองแถวที่ขนส่งน่าน โก่งราคา พาไปที่พัก ๒ กิโลเมตร ในราคา ๑๐๐ บาท แต่เป็นเรื่องปกติครับ ผมคิดว่านั่นเป็นความซื่อสัตย์ในอาชีพของเขา ถูก ผิด ดี ชั่ว เขาตัดสินใจเองได้ แต่เหตุการณ์นั้น ผมไม่ได้โทษคนที่น่านเลย ทุกที่มีคนเลว คนชั่ว ปะปน สังคมมักเป็นเช่นนี้- - -ธรรมดามากๆครับผม"

ที่เขียนแบบนี้ หากดูประโยคโดยรวม ประมวลความ ได้ก็คือ "เขาไม่มีความซื่อสัตย์" นั่นเองครับ นั่นคือความหมายที่ผมอยากสื่อครับ และอีกอย่างเหตุการณ์เล็กๆนั้น บอกคุณธรรมของผู้กระทำได้อย่างชัดเจนครับผม

ขอบคุณมากครับ ผม

ขออภัยครับ!!! 

กระผมขออนุญาตลบบางข้อคิดเห็น เพื่อสงวนสิทธิ์และพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างสรรค์ปัญญาครับ

 

ด้วยความเคารพ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท