ชีวิตที่พอเพียง 3547. เล่าไว้ในวัยสนธยา (๑๖) เถียงผู้ใหญ่



บันทึกที่ ๑    บันทึกที่ ๒   บันทึกที่ ๓   บันทึกที่ ๔    บันทึกที่ ๕    

บันทึกที่ ๖    บันทึกที่ ๗    บันทึกที่ ๘   บันทึกที่ ๙   บันทึกที่ ๑๐    

ตอนที่ ๑๑    ตอนที่ ๑๒    ตอนที่ ๑๓    ตอนที่ ๑๔    ตอนที่ ๑๕ 


 

บันทึกชุด เล่าไว้ในวัยสนธยา เป็นการเล่าเรื่อยเปื่อย นึกอะไรออกก็เล่าไว้ เป็นบันทึกชีวิตที่คนสมัยนี้อาจนึกไม่ถึง ว่าชีวิตสมัยก่อนเขาขาดแคลนและยากลำบากขนาดนั้น    และเพื่อตอกย้ำว่า “ชีวิตที่ยากลำบากเป็นชีวิตที่เจริญ” (คำของ ศ. นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว) 

ก่อนจะเล่าเรื่องเถียงผู้ใหญ่ ขอเล่าเรื่องความรู้สึก attachment ของเด็กเล็กจากประสบการณ์ตรงของตนเอง    ที่ผมมีความความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยอย่างบอกไม่ถูกเมื่อได้ใกล้ชิดพ่อ โดยเฉพาะเมื่อพ่ออาบน้ำให้   ตอนนั้นน่าจะอายุ ๗ - ๘ ขวบ    พ่อประกอบอาชีพขับรถโดยสาร แล่นระหว่างหัวถนนปากน้ำชุมพร ไปยังตลาดท่าตะเภา   

ตามปกติผมอาบน้ำเอง    โดยตักน้ำจากบ่อมาอาบที่ข้างๆ บ่อ    นานๆ ทีพ่อจึงอาบให้สักทีหนึ่ง เรียกได้ว่านานทีปีหน    เมื่อพ่อเห็นว่าตามคอของลูกชายคนโตมีขี้ไคลจับเป็นปล้องๆ    ก็จัดการทำหน้าที่อาบน้ำขัดสีฉวีวรรณให้    โดยใช้มือนี่แหละถูขี้ไคลออก    ความสากของมือ ความแรงของการถูขี้ไคล ทำให้ผมรู้สึกอบอุ่นอย่างประหลาด    ที่จริงแม่ก็อาบน้ำให้เป็นครั้งคราวเหมือนกัน เพราะเห็นว่าลูกชายถูขี้ไคลเองไม่ค่อยเกลี้ยง     แต่แม่มือเบาและแม่มักจะถูตัวผมไปบ่นไป    คำบ่นทำให้การพุ่งความสนใจไปที่ความรู้สึกสัมผัสมันพร่าไป    ส่วนพ่อไม่บ่น แต่พูดในทำนองรักและห่วงใย ช่วยให้สัมผัสจากการถูขี้ไคลยิ่งแจ่มชัดขึ้น

ตอนเป็นเด็ก ผมได้ชื่อว่าเป็นเด็กขี้ขลาด  ตื่นกลัวไปเสียทุกอย่าง    เข้าใจว่าตัวช่วยคือความรู้สึก attachment   รู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ใกล้หรือได้รับสัมผัสจากพ่อแม่นี่แหละ

แต่โชคร้าย สัมผัสจากแม่ที่ได้รับเป็นประจำมักจะเป็นไม้เรียว    เรียกว่าเกือบจะทุกวันก็ว่าได้    เพราะผมเป็นเด็กซนและดื้อ    อาจเรียกได้ว่า มีความคิดเป็นของตนเองตั้งแต่เด็ก ก็น่าจะได้    

ครั้งหนึ่ง ตอนอายุราวๆ ๑๐ ขวบ    ตอนนั้นปู่น่าจะอายุ เจ็ดสิบกว่า    นั่งๆ นอนๆ อยู่ที่ชานหน้าบ้านเป็นประจำ    และท่านคงเหงา เพราะคนอื่นเขาไปทำงาน มีเด็กที่พอคุยกันรู้เรื่องคือหลานคนโต ก็ผมนี่แหละ   แต่คุยกันได้ไม่นานก็มีความคิดที่แตกต่างกัน    สมัยนั้นเรียกว่าเถียงผู้ใหญ่   เถียงแบบเอาชนะกัน ขึ้นเสียงดัง    ปู่โกรธมาก    เมื่อพ่อกลับมาบ้านก็ฟ้องพ่อ (ผมเรียกเตี่ย) ว่าผมเถียงปู่    ผมก็โดนไม้เรียวไปตามระเบียบ    พร้อมคำสั่งสอนว่า ห้ามเถียงปู่ (ผมเรียกว่า ก๋ง)

เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า    จนผมโอดครวญกับพ่อว่าที่เถียงกันนั้น เพราะที่ปู่พูดมันผิด    พ่อจึงให้คาถาว่า สำหรับปู่ (ซึ่งแก่แล้ว ผมวงเล็บเอง) แม้ท่านจะพูดผิดก็ห้ามเถียง     ผมก็รับคำ    แต่พอถึงเหตุการณ์จริง    ผมก็อดเถียงไม่ได้    ผมหวนมาคิดตอนนี้ว่า ตอนนั้นผมเป็นเด็กที่ executive functions ไม่แข็งแรง    ยังไม่มีสติยังยั้งชั่งใจตนเอง    ให้เตือนตนเองว่าถูกผิดไม่สำคัญ    ที่สำคัญกว่าคือความสัมพันธ์ระหว่างปู่กับผม    และการที่ผมไม่ถูกผู้ใหญ่เฆี่ยน

มาเข้าใจเรื่องนี้จริงๆ ก็หลังแต่งงาน    ที่โชคดีได้แต่งงานแบบคนตาถั่ว     คือไม่รู้ว่าสาวที่เลือกเป็นคนที่คิดคนละแบบกับผม    ภาษาสมัยใหม่ว่ามีคนละ mindset     หลังจากชีวิตคู่ลุ่มดอนๆ หลายปี ผมก็ได้สำนึก    ว่าหน้าที่ของสามีที่ดีคืออย่าเถียงเมีย    รวมทั้งสาวน้อยเขาก็แสดงความยอมรับนับถือว่า ความคิดของผมมักจะดี คือเมื่อทำตามความคิดของผมแล้วผลมักออกมาดี    แต่เขาก็ขอคิดตามแบบของเขา    สภาพเช่นนี้สอนให้ผมเรียนรู้จากการคิดต่าง    ฝึกเอาความต่างมาเป็นพลัง   

ยิ่งเมื่อมีลูก และลูกโตเป็นผู้ใหญ่    ผมก็หัดไม่เถียงลูก    เพราะตระหนักว่าเขาก็มี mindset ตามแบบของเขา    ในฐานะที่เป็นคนคนละยุค คนละรุ่น ย่อมคิดต่างกัน   เพราะประสบการณ์ชีวิตแตกต่างกัน    รวมทั้งเขาเป็นถึงลูกหมอ ลูกศาสตราจารย์ทั้งแม่และพ่อ เติบโตในมหาวิทยาลัย   ในขณะที่ผมเกิดมาเป็นลูกกรรมกรและชาวสวนจนๆ  เติบโตจากชีวิตบ้านนอก   

คิดใหม่

สมัยเด็กผมมุ่งเถียงเพื่อเอาชนะ เถียงแบบต่อสู้กัน   เถียงกันแล้วเกิดอารมณ์โกรธ  บางทีไม่พูดกันตั้งหลายวัน    แต่สมัยนี้ผมพยายามไม่เถียง แต่พยายามฟัง    ฟังเพื่อทำความเข้าใจวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลัง    ฟังเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน    ฟังให้ได้ยินการสื่อสารที่ไม่เป็นเสียง    กว่าจะเข้าใจเรื่องแบบนี้ได้ก็เข้าสู่วัยชราแล้ว    เลิกมุ่งเอาชนะแล้ว    

ผมสงสัยว่า ตอนที่ผมเป็นคนมุ่งเอาชนะ    จิตใจของผมไม่รู้สึกมั่นคง    จึงยึดเหนี่ยว “ความถูกต้อง” เป็นหลัก     มองโลกหรือสิ่งต่างๆ แยกเป็นขาวกับดำ    ไม่รู้จักสีเทา     ใครทำตามแนวความคิดความเชื่อของเรา เป็นคนดี คนที่ถูกต้อง    ใครทำตรงกันข้าม เป็นคนไม่ดี หรือเดินผิดทาง   

แต่ตอนนี้ ผมได้ฝึกมองสิ่งต่างๆ เป็นเฉดสี ตั้งแต่ขาว เทาอ่อน เทาแก่ ไปถึงดำ    แถมในดำยังมีเทามีขาวอีกด้วย    แถมยังหัดมองเห็นมุมที่ขาว   และเห็นมุมที่ดูดำหรือตีความว่าดำก็ได้ ให้เห็นด้วย   เดาว่าเพราะรู้สึกมีความมั่นคงในชีวิต    มั่นใจว่าอยู่ต่อไปอีกไม่นานก็จะลาโลกแล้ว    ไม่รู้จะวิตกกังวลกับเรื่องถูกผิดไปทำไม                  

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ก.ย. ๖๒    


หมายเลขบันทึก: 671440เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2019 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2019 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สมัยก่อน การมองโลกดำ ขาว เทา คละกันไปค่ะอาจารย์สมัยนี้มองบวกเป็นส่วนมากอีกอันที่น่าสนใจ คือ มองให้ได้ยินเสียงที่คนไม่ได้พูดออกมาให้ได้

ไม่เถียงเมียไม่เถียงลูกถูกใจจริงๆ

เด็ก.. รุ่นเรา.. มักจะมีประสพการณ์ก้านไม้เรียว.. ปิดปาก… คนรุ่นนี้.. จึง คิดไใ่เป็น.. พูดไม่ออกเป็นส่วนใหญ่.. เมื่อเติบโตมา.. ก็ได้.. แค่.. เอาความรู้สึกเดิมๆความกเดัน.. มาใช้.. ในปัจจุบัน.. จึงมีสภาพดังที่เห็นเป็นส่วนใหญ่ รวมถึง ระบบการ.เมือง.. เด็กที่กำลังเป็น แรงสมองใหญ่.. และแรงงานชาติ.. ถูกตัดทอนสมรรถภาพ ลงอย่างน่าเสียดาย…. อย่างต่อเนื่อง.. ยี่สิบปีให้หลัง.. คนง่อยเปลี้ยเสียขาเสียกบาล.. จะเกิดขึ้นมาก มาย.. เป็นเพียงผลการกระทำและกลยุทธ์.. ดังกล่าวที่เห็นและเป็นอยู่เวลานี้.. เด็กที่เกิดตั้งแต่.. 2488…หาก อายุยืน สมองไม่เสื่อม… คงได้เห็น….

แก้คำ.. ตลกๆ.. ที่แป้นพิมพ์รวน… คำ.​ว่า.. ไม่คำว่า… กดดัน

เถียงเพราะมองคนละมุม ประสบการณ์ที่ต่างกัน ผมอยู่กับเด็กวัยรุ่นเจอเหตุการณ์คล้ายที่ท่านเขียนบ่อยครับ ผู้ปกครอง ครู กับเด็กนักเรียน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท