ชีวิตที่พอเพียง 3398. เล่าไว้ในวัยสนธยา ๘. ขับเรือล่องทะเล


บันทึกที่ ๑    บันทึกที่ ๒   บันทึกที่ ๓   บันทึกที่ ๔   

บันทึกที่ ๕ บันทึกที่ ๖ บันทึกที่ ๗

บันทึกชุด เล่าไว้ในวัยสนธยา เป็นการเล่าเรื่อยเปื่อย นึกอะไรออกก็เล่าไว้     เป็นบันทึกชีวิตที่คนสมัยนี้อาจนึกไม่ถึง ว่าชีวิตสมัยก่อนเขาขาดแคลนและยากลำบากขนาดนั้น    และเพื่อตอกย้ำว่า “ชีวิตที่ยากลำบากเป็นชีวิตที่เจริญ” (คำของ ศ. นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว) 

ผมว่ายน้ำเป็นในระดับอนุบาลเท่านั้น  คือพอว่ายได้ แต่ว่ายไม่แข็ง    และว่ายแบบลูกหมาตกน้ำ    การที่พ่อหัดว่ายน้ำให้ มีเป้าหมายอย่างเดียวคือตกน้ำไม่ตาย    มองการว่ายน้ำเป็นเป็นทักษะชีวิตยามคับขัน    ไม่ได้คิดจะฝึกให้ว่ายถูกแบบอย่างในปัจจุบัน     

แต่ด้วยความซุกซนในวัยรุ่นทำให้ผมทำสิ่งที่กลับมาคิดตอนแก่ว่าทำสิ่งที่เสี่ยงต่อชีวิตขนาดนั้น ได้อย่างไร

ประมาณอายุ ๑๓ - ๑๔ ปี    ราวๆ ปี ๒๔๙๘ – ๒๔๙๙   ผมเรียนราวๆชั้น ม. ๔ หรือ ม. ๕    ผมชวนเพื่อนสนิท ๕ – ๖ คน ที่เรียนด้วยกันที่โรงเรียน ชุมพร “ศรียาภัย” (ชื่อในขณะนั้น)  ล่องเรือไปเที่ยวปากน้ำชุมพร    และจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า ออกไปถึงเกาะมัตโพน  และเฉียดไปใกล้เกาะเสม็ดนิดหน่อย    นึกทบทวนตอนแก่แล้ว สงสัยว่าตัวเองกล้าทำเช่นนั้นได้อย่างไร   

ทบทวนความจำได้ว่า เราออกเรือจากท่าที่บ้านผม ตำบลท่ายาง เวลาหลังเที่ยง    ขออนุญาตพ่อเอาเรือลำเดียวของพ่อ ที่ใช้เดินทางไปบ้าน “บางผรา”  ตำบลบางคอย  อ. เมือง  ชุมพร ที่พ่อไปจับจองที่ดินไว้ราวๆ ร้อยไร่    และผมนั่งและขับเรือลำนี้จนชำนาญ    เป็นเรือไม้ที่จุคนได้ประมาณหกเจ็ดคน    มีเครื่องยนต์เล็กๆ วางอยู่กลางลำเรือ    ติดเครื่องเรือโดยเอาเชือกพันที่แป้นเหล็กรูปกลมมีร่องให้พันเชือก    แล้วกระชากโดยแรงให้แป้นหมุนดึงให้เครื่องติด มีเสียงดัง ป็อกๆ หนวกหูพอตะโกนคุยกันได้    เรือแล่นไปได้ช้าๆ น่าจะอย่างมาก ๒๐ กม./ชม.    เพื่อนที่ไปด้วยกันเท่าที่พอจำได้มี พิรุณ เมืองหนู (ภายหลังเปลี่ยนเป็น เอกสิทธิ์ นามสกุลจำไม่ได้) ผู้ล่วงลับ    กับจำลอง เกษสยม (พลอากาศโท)  

ผมทำหน้าที่นายท้ายเรือ คือนั่งอยู่ท้ายเรือจับคันไม้โยกซ้ายขวาบังคับทิศทางเรือ  และจับคันโยกใกล้เครื่องให้เครื่องเรือฟรี หรือฉุดใบพัด แล้วแต่ว่าจะชะลอเรือหรือเดินหน้า    ไม่มีเกียร์ถอยหลังนะครับ   แต่ก็ถอยหลังได้โดยใช้ไม้พาย    สามารถเร่งเครื่องได้โดยบังคับที่เครื่องยนต์   

เพื่อนทุกคนไม่เคยนั่งเรือแบบนี้ และไม่เคยล่องเรือในคลองท่ายางไปออกปากน้ำมาก่อน    ผมเองเคยเพียงนั่งไปที่ปากคลอง เข้าแม่น้ำชุมพรนิดเดียวก็ถึงที่ดินของพ่อ   ดังนั้น จึงเป็นครั้งแรก (และครั้งเดียวในชีวิต) ที่ผมนั่งเรือไปตามแม่น้ำชุมพรช่วงใกล้ออกทะเล ที่ชาวบ้านเรียกว่า “อีเล็ด”   เป็นช่วงที่แม่น้ำกว้างป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์    มีลิงแสมอยู่ในป่าชายเลนมากมาย    เพื่อนๆ ตื่นเต้นกันมาก

สมัยนั้นยังไม่มีสะพานข้ามปากคลอง ยังไม่มีถนนเลียบแม่น้ำชุมพรฝั่งทิศใต้ของแม่น้ำ    มีแต่ถนนที่เลียบห่างคลองท่ายาง ไปหักศอกที่ปากคลอง เลียบห่างด้านทิศเหนือของแม่น้ำชุมพรไปสุดทางที่ “หัวถนน” ของปากน้ำชุมพร    ถ้าจะไปบ้านปากน้ำต้องนั่งเรือจ้างข้ามฟาก   

เมื่อออกทะเล เราหักเรือไปทางซ้ายไปยังเกาะมัตโพน    ขึ้นไปเที่ยวบนเกาะที่บนยอดเขามีเจดีย์เล็กๆ    แล้ววกไปเที่ยวเกาะเสม็ด   คลับคล้ายคลับคลาว่า เราขึ้นฝั่งไปเดินบนชายหาดหน่อยหนึ่งแล้วขึ้นเรือกลับ    ที่เกาะสมัยนั้นไม่มีบ้านคน    แต่หาดทรายสวยบริสุทธิ์มาก   

พ่อผมเคยเล่าว่า ย่าทรัพย์ (นางทรัพย์ เจริญพานิช) น้องสาวคนสุดท้องของย่าผม (นางคุ้ม พานิช) เคยเอ่ยปากยกที่ดินที่เกาะเสม็ดให้พ่อผมไปอยู่ เพื่อทำสวน    แต่พ่อผมไม่รับ “กลัวลูกโง่” เพราะห่างไกลความเจริญ    

กลับมาถึงบ้านด้วยความปลอดภัย    แต่ทุกคนโดนแดนเผาเกรียม เพราะเรือไม่มีประทุนหรือหลังคา    ผมอาบน้ำแต่งตัว (ตอนนั้นเริ่มแตกเนื้อหนุ่มแล้ว) ไปตลาดชุมพรกับเพื่อนๆ เพื่อไปเที่ยวงานศิลปหัตถกรรม    ซึ่งมีโรงเรียนต่างๆ มาออกร้านแสดงผลงานและขายของ    ร้านที่มีของมากที่สุดคือร้านของโรงเรียนการช่างสตรีชุมพร    จำพวกผ้าเช็ดหน้าปักและอื่นๆ    ไปถึงสาวๆ ทักกันเกรียว โดยผมไม่รู้จักใครเลย    แต่ผมตกใจมากที่สาวๆ เขาทักและเรียกชื่อผม    คิดตอนนี้ว่า ที่เขารู้จักน่าจะสองสาเหตุใหญ่    คือประการแรกผมเรียนหนังสือเก่งเป็นที่เลื่องลือ    กับประการที่สองเป็นลูกชายเถ้าแก่โรงสี    ตอนนั้นพ่อผมทำโรงสี (เล็กๆ สีข้าวเปลือกได้เพียงวันละ ๓ เกวียน) และกำลังมีฐานะดีวันดีคืน   

โชคดีที่ตอนนั้นผูกสัมพันธไมตรีกับสาวๆ ยังไม่เป็น   อยู่รอดต่อมาจนมาตกหลุมรักนักศึกษาแพทย์รุ่นน้องสองปี    มีลูกด้วยกันถึงสี่คน   จนบัดนี้สาวน้อยกำลังต่อสู้กับโรคหลงลืม และมีน้ำในโพรงสมอง                            

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ก.พ. ๖๒  วันวาเลนไทน์  

หมายเลขบันทึก: 660776เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2019 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2019 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท