ชีวิตที่พอเพียง 3341. เล่าไว้ในวัยสนธยา ๑. กินน้ำ



นึกขึ้นได้ว่า ช่วงชีวิตเด็กบ้านนอก อายุราวๆ ๑๐ ปี (อายุ ๕ - ๑๕ ปี เป็นช่วง พ.ศ. ๒๔๙๐ - ๒๕๐๐) ที่ตำบลท่ายาง  อ. เมือง  จ. ชุมพร ของผม    มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่คนสมัยนี้ไม่เคยมีประสบการณ์    น่าจะได้เล่าไว้

เรื่องแรกให้ชื่อว่า “กินน้ำ” เพราะภาษาปักษ์ใต้ที่บ้านผมไม่มีคำว่าดื่ม   ทุกอย่างที่เข้าปากลงไปในท้องเรียกว่า “กิน” หมด ทั้งอาหารและน้ำ    การดื่มน้ำของคนกรุงเทพ จึงเป็นการกินน้ำของคนบ้านผม    แต่ก็มีคำที่แสดงอาการพิเศษ คือ “มึก” (คนปักษ์ใต้ออกเสียงว่า หมึก)    “หมึกหน่ำ” หมายความว่าดื่มอย่างเร็วด้วยความกระหาย    กระหายน้ำเป็นคำภาคกลาง    ภาษาปักษ์ใต้ว่า “หิวน้ำ”  หรือ “อยากน้ำ”   

น้ำดื่มเป็นน้ำฝนที่รองจากหลังคาบ้าน    สมัยนั้นครอบครัวผมอยู่ที่ “บ้านเก่า” ริมถนนที่รื้อไปนานแล้ว    บริเวณเดียวกันกับบ้านน้องชายคนที่สาม (วิชิต พานิช) ในขณะนี้    บ้านมี “นอกชาน” หรือภาษากรุงเทพเรียกว่า ชานบ้าน    เป็นบริเวณยกพื้นสูงจากพื้นดินโดยมีบันไดสามสี่ขั้น  มีพื้นกระดานแต่ไม่มีหลังคาคลุม   ที่นอกชานมี “ไห” (ภาษากรุงเทพเรียกว่า โอ่ง) ๕ - ๖ ลูกวางเรียงอยู่ที่ชายคา    เรียกว่า “ไหน้ำฝน”    และมีไหน้ำบ่อสำหรับใช้ในครัว ล้างจานชาม และอาบหนึ่งไห    ผมเป็นพนักงานตักน้ำจากบ่อไปใส่ไหนี้    แต่ก็มีคนอื่นทำหน้าที่นี้ด้วย เมื่อน้ำหมด 

ตอนเริ่มฤดูฝน หลังคาบ้าน (เป็นหลังคาจาก) จะมีฝุ่นสีแดงจากถนนลูกรัง    น้ำฝนจากหลังคาจะมีสีแดง    เราปล่อยทิ้งไป    รอจนฝนห่าใหญ่ห่าหลังๆ ที่น้ำฝนใสสะอาด เราจึงจะรองลงไห    โดยใช้สังกะสีแบบที่ใช้มุงหลังคาบ้านหนึ่งแผ่น เอามาพับตามยาวเป็นรูปตัว V ใส่ด้านยาวด้านหนึ่งลงในไห ให้สังกระสีรับน้ำลงไหจนเต็มก็ย้ายไปรองลงไหอื่น    จนในที่สุดน้ำฝนเต็มหมดทุกไห    เมื่ออายุประมาณ ๗ - ๘ ขวบ ผมทำหน้าที่พนักงานรองน้ำฝนใส่ไห   ฝาปิดเป็นถาดสังกะสีเคลือบวาดลวดลายเป็นดอกไม้     มีขันน้ำ ๑ ลูก (ภาษากลางว่า “ใบ”) คว่ำอยู่บนถาดปิดไหน้ำ     เป็นขันสะอาดสำหรับตักน้ำฝน  

แม้จะมีฝาปิด แต่ยุงก็ยังแอบเข้าไปวางไข่จนได้    ในน้ำฝนทุกไหจะมีลูกน้ำจำนวนไม่น้อย     เป็นโอกาสให้ผมใช้ขันจ้วงช้อนเอาไปเลี้ยงปลากัด    และบางครั้งผมก็แอบปล่อยปลากัดลงไปในไห ให้กินลูกน้ำ     และได้พักผ่อนจากการถูกขังอยู่ในขวดแม่โขง    แต่ต้องระวังอย่าให้แม่รู้    ถ้าแม่รู้ตอนกำลังอารมณ์ไม่ดี ก็แน่นอนว่าผมโดนไม้เรียว     

สมัยนั้นเรากินน้ำจากขันน้ำ    ในบ้านมีขันน้ำอยู่สองสามลูก    ลูกที่พิเศษทำด้วยทองเหลืองใบเขื่อง     เป็นขันประจำตัวปู่ (ผมเรียกก๋ง สำเนียงใต้ว่า “ก๊ง”)     ขันใบนี้จะได้รับการขัดด้วยขี้เถ้าเป็นเงาวับอยู่ตลอดเวลา    ผมมีหน้าที่ตักน้ำฝนไปวางให้ปู่ที่ชานหน้าบ้าน    หากมีดอกมะลิก็เก็บดอกมะลิลอยน้ำฝนด้วย     ปู่จะนั่งๆ นอนๆ ที่ชานนี้    ซึ่งผมมีหน้าที่กวาดและถูพื้น

ขันที่ใช้ร่วมกันทั้งบ้านใบโต น่าจะจุน้ำได้ราวๆ ๑ ลิตร    เราเรียกว่าขันสังกะสี    ทุกๆ สองสามวันจะได้รับการขัดขาววับ    เราดื่มน้ำจากขันเดียวกันโดยไม่รู้สึกว่าสกปรกจากปากคนอื่น    เพราะการกินน้ำจากขันนั้น เราเอาขันมาจ่อปากให้น้ำไหลลงปาก    ไม่ได้เอาไปแนบชิดปากเต็มที่   คงเพราะวิธีกินน้ำแบบนี้    เราจึงไม่ได้รับโรคติดต่อ    และผมก็มีชีวิตรอดมาได้ในสภาพความเป็นอยู่แบบนั้นเป็นเวลา ๑๕ ปี   

คนบ้านนอกกินน้ำครั้งละมากๆ    อาจจะถึงครึ่งค่อนขัน    เพราะกินไม่บ่อย     เราพูดกันว่า “กินน้ำจนพุงกาง”     และบางครั้งก็มีคนเดินผ่านหน้าบ้าน แวะเข้ามาขอน้ำกิน    เราก็ตักให้ ถือเป็นเรื่องปกติ    แต่ที่บ้านผมไม่มีการเอาตุ่มน้ำเล็กๆ วางหน้าบ้านพร้อมกระบวยตักน้ำดื่มแบบทางเหนือ   

บางปีฝนมาล่า น้ำฝนในไหหมด    เราต้องเอาน้ำบ่อมาต้มกิน    ที่ข้างบ้านต้องมีบ่อน้ำ สำหรับใช้อาบ ซักผ้า ถูพื้น ล้างรถ รดต้นไม้ และอื่นๆ    เราไม่รู้จักน้ำประปา    น้ำบ่อมักมีรสกร่อย  มีเพียงบางจุดเท่านั้นที่น้ำบ่อรสจืดสนิท    บ่อที่หน้าบ้านเก่า สมัยผมอายุ ๗ – ๑๒ ปี น้ำจืดดี    เราใช้ “เชือกกาบพร้าว” ซึ่งฟั่นจากใยเปลือกมะพร้าว ผูกถังน้ำที่มีหู ใช้ตักน้ำบ่อขึ้นมาใช้     ถ้าจะอาบน้ำก็อาบกันตรงนั้น    โดยขอบบ่อสูงค่อนเมตร รอบบ่อเทปูนออกไปโดยรอบราวๆ เกือบ ๒ เมตร    น้ำจากการซักผ้า อาบน้ำ และอื่นๆ ไหลไปตามทางน้ำ    ดินรอบๆ ทางน้ำจึงชุ่มชื่นอยู่เสมอ    เราปลูกต้น “เอาะดิบ” (สำเนียงพูด น่าจะสะกดว่า ออกดิบ) ()    ซึ่งเป็นผักเอาไว้แกงส้ม  หรือเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก

ตื่นเช้า ทุกคนจะไปแปรงฟันที่ขอบบ่อ    โดยตักน้ำบ่อขึ้นมา ใช้ขัน (ใช้เฉพาะสำหรับอาบน้ำแปรงฟัน) ตักน้ำสำหรับแปรงฟัน    ขันลูกเดียวนี้ใช้ร่วมกันทั้งบ้าน

ตกเย็น จะมีคนมาอาบน้ำที่ขอบบ่อเป็นระยะๆ บางครั้งก็อาบพร้อมกันหลายคน    เป็นการอาบน้ำกลางแจ้ง    เด็กๆ แก้ผ้าอาบน้ำ จนเริ่มมีความเป็นหนุ่มเป็นสาวก็นุ่งผ้าขาวม้าหรือผ้าถุงอาบน้ำ    โดยผู้หญิงนุ่งกระโจมอก และมีวิธีทำความสะอาดให้ทั่วทุกส่วนของร่างกาย    จำได้ว่า สบู่ที่ใช้เป็นสบู่หอมตรานกแก้ว ก้อนสีฟ้าอมเขียว    แต่บางคนประหยัด ใช้สบู่ซันไลก็มี    เล่าเรื่องกินน้ำยืดมาเล่าเรื่องอาบน้ำด้วย

ในบางปี มี “คนใน” มาทำตาล (น้ำตาลมะพร้าว)    เขามาปลูกกระท่อมอยู่ในสวน (สวนมะพร้าว)  และขุดบ่อของเขาโดยเฉพาะสำหรับใช้    เขาใช้น้ำมากในการล้างกระบอกตาล  และล้างกระทะเคี่ยวน้ำตาล      

วิจารณ์ พานิช

๒ ธ.ค. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 659174เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2019 19:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2019 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบสวัสดีปีใหม่ค่ะ อาจารย์

เรื่องเล่าดีๆของสังคมไทย บางเรื่องปัจจุบันก็ยังมีให้เห็นในวิถีชีวิตชนบทแบบใต้ๆค่ะที่บ้าน เรียก “อ้อดิบ” ว่า “โชน” เพิ่ง ได้รับจากญาติมาปลูกอีกครั้งค่ะ มีกันแทบทุกบ้าน เลยได้ลิ้มรสอร่อยของผักชนิดนี้ อีกคำรบหนึ่ง

ขอแสดงความนับถือ

Last time I visited ‘my childhood’ home, the ‘well’ that supplied water for our household was gone. I was told ‘it dried up and after digging and adding 3 more concrete sleeves (ปลอกบ่อ) and finding no (ground) water, it’s to give up’.

It told that ‘ground water level’ had dropped more than 1 meter. It also raised a question on the wisdom of dredging rivers as flood prevention measure. (though I suspected that the river sand dug out are sold for building material and the authority involved charged for flood dredging.)

This could be happening everywhere.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท