ชีวิตที่พอเพียง 3341. เล่าไว้ในวัยสนธยา ๓. เลี้ยงหมู



บันทึกที่ ๑ บันทึกที่ ๒

หมูที่ชาวบ้านเลี้ยงกันแทบทุกบ้านเป็นพันธุ์พื้นเมือง เรียกว่า “หมูขี้พร้า”    ตัวไหนโตหนักได้ถึง ๑๐๐ กิโล ถือว่าเยี่ยม    หลายบ้านเลี้ยงแบบปล่อย    ให้มันคุ้ยดินหากินเอง    และของโปรดอย่างหนึ่งของมันคือ ขี้    หมายถึงขี้คนครับ    สมัยนั้นชาวบ้านไม่มีส้วมนะครับ    ที่บ้านผมก็ไม่มี    บันทึกนี้จะยังไม่เล่าเรื่องวิธีถ่ายทุกข์ของชาวบ้าน

ที่บ้านผมเลี้ยงหมูหลายยุค   มียุคเอิกเกริกเลี้ยงกว่าร้อยตัว    กั้นรั้วให้อยู่ในบริเวณหลายไร่    ทั้งคุ้ยดินหาอาหารเอง และมีอาหารเลี้ยงเช้าเย็น    แต่นั่นเป็นหน้าที่ของลูกจ้าง   ที่จะเล่านี้เลี้ยงแค่สองสามตัว โดยมีผมเป็นพนักงานปรุงอาหาร   ผมเคยเป็นเชฟนะครับ   ปรุงอาหารหมู         

 วัตถุดิบหลักคือหยวกกล้วย    ซึ่งเป็นต้นกล้วยที่ออกเครือและลูกแก่จัดตัดเครือกล้วยออกไปแล้ว    หากปล่อยทิ้งไว้ เขาจะยืนต้นตาย    เราจึงเอามาทำประโยชน์ดีกว่าปล่อยให้เน่า

ประโยชน์ของหยวกกล้วยนอกจากใช้เลี้ยงหมู ยังสามารถเอามาทำเชือกกล้วย    สมัยนั้นเชือกที่ใช้มัดสินค้าเบาๆ เป็นเชือกกล้วยทั้งนั้น เชือกฟางยังไม่มี   และเชือกอย่างอื่นแพงกว่ามาก    วิธีทำเชือกกล้วย นำหยวกกล้วยมาลอกกาบออกทีละกาบ    ใช้มีดผ่าซอยกาบตามยาวเป็นเส้นๆ   นำไปตากแดดจนแห้ง ก็ใช้ได้    เชือกกล้วยนี้อาจใช้เป็นวัตถุดิบฟั่นเป็นเชือก หรือสานเป็นรองเท้าก็ได้   แต่เชือกกล้วยฟั่นหากใช้แบบโดนน้ำจะไม่ทน  

เมื่อกล้วยเครือใดแก่ และตัดเครือออกไปแล้ว    ก็เป็นหน้าที่ของผมที่จะไปตัดหยวกกล้วยแบกจากสวนใกล้บ้านเอากลับมาบ้าน   วางบนแคร่ ให้โคนโผล่เหนือครกไม้   ขึ้นไปนั่งคร่อม แล้วใช้มีดฝานหยวก ที่มีด้ามอยู่สองข้างของใบมีด    ปาดหยวกเป็นแว่นบางๆ หนาราวๆ ๒ มม.   จนเต็มครก    แล้วใช้สากไม้ตำจนละเอียด    สากนี้ทำจากไม้ท่อนเดียว ยาววาเศษๆ    ที่มีที่จับตรงกลางคอดขนาดพอดีมือจับ คือเส้นผ่าศูนย์กลาว ๑ นิ้วเศษๆ     

เอาหยวกกล้วยที่ตำจนแหลกแล้วนี้ไปต้มด้วยกระทะใบโต ปากกว้างเกือบๆ ๑ เมตร    ตั้งบนเตาดินเหนียวที่ก่อพิเศษสำหรับการนี้โดยเฉพาะ    ก่อไฟด้วยฟืน  ต้มหยวกกล้วยกับปลายข้าวและรำข้าว     บางครั้งมีผักบุ้งด้วย

ผักบุ้งเก็บจากคูน้ำริมถนน  หรือในคูในสวน    เอามาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ราวๆ ๑ ซ.ม.   ต้มพร้อมกับหยวกกล้วย    เมื่อสุกดีแล้วปล่อยให้เย็น  

สมัยนั้นเราไม่รู้จักอาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงหมู    การเลี้ยงหมูนอกจากปลายข้าวและรำแล้ว ก็ไม่มีรายจ่ายอื่น    การฉีดวัคซีนก็ไม่มี    ดังนั้นเมื่อพ่อผมมีโรงสีและเอาปลายข้าวและรำไปเพิ่มมูลค่าโดยการเลี้ยงหมูกว่าร้อยตัว    ได้ผลดีอยู่หลายปี ก็ถึงกาลต้องล้มเลิก   เพราะมีโรคระบาด หมูตายเกือบยกเล้า   

หมูที่เลี้ยงกับคนเลี้ยงรู้จักกันดี   เวลาจับขาย โดยมีคนมารับซื้อถึงที่จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์หุ่นหรือทรวดทรงของหมูตัวนั้น   ว่าตัวยาวหรือสั้น หลังแอ่นมากแค่ไหน   โดเร็วแค่ไหน   สมัยนั้นหมูตัวไหนหนักถึง ๑๐๐ กก. ถือว่าเยี่ยม    โดยต้องเลี้ยงเป็นปี    ต่างจากสมัยนี้ลิบลับ  

การจับหมูขายเป็นเรื่องเอิกเกริก    จะเริ่มโดยในวันก่อนหน้านั้นมีการต้อนหมูเข้าคอก   ถึงวันขายจึงไล่จับใส่กระชุหวาย   การขนย้ายทำโดยเอาไม้คาน (เป็นไม้กลมๆ) สอดที่กระชุ มีคนหาบสองข้าง  

หมูที่บ้านผมเป็นหมูอนามัย ไม่กินขี้    หรือพูดให้ชัดว่า ไม่ได้ปล่อยให้ไปหาขี้กิน   

หมูเป็นสัตว์ฉลาด  สามารถฝึกให้รับรู้สัญญาณเวลาเลี้ยงอาหารได้    ตอนที่พ่อผมเลี้ยงหมูเป็นร้อยตัว และปล่อยให้อยู่ในพื้นที่กว้างใหญ่นั้น    เวลาจะให้อาหารคนงานจะเคาะระฆังเหล็ก  ซึ่งก็คือเศษเหล็กชิ้นส่วนรถยนต์เก่า    หมูจะมารอที่รางข้าวหมู  ซึ่งเป็นรางไม้   ผมเคยลองเคาะระฆังนอกเวลาอาหาร  โดยไม่มีถังอาหารมาที่บริเวณรางข้าวหมู    เขาก็มารอกันเต็มเหมือนกัน         

วิจารณ์ พานิช

๔ ธ.ค. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 659412เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2019 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2019 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หยวกกล้วย.. สมัยไทย… 4.0กลายเป็นว่า..สามารถเอาหยวกกล้วยต้นสาว..ให้ดี กล้วยตานี.. มาสับ.. ต้มเป็น.. ชา.. ล้างพิษ.. ใน..​ตับไต.. ใส้พุง.. แหล่งที่มา..​จากเฟส.. เขาส่งต่อกันมา.. จะเชื่อหรือไม่ต้องวิจัยเอาเอง…. หมูกิน.หยวกกล้วยต้ม.. แข็งแรง.. ดีมีประวัติ.. แต่ต้านโรคไม่ได้.. จึงตายหมู่ได้…ขอบพระคุณเรื่องเล่า.. หมูเลี้ยงแบบโบราณ.. รสอร่อยกว่าหมูสมัยนี้.. มากๆ.. ไม่ต้องกลัวปัญหายาปฏิชีวนะที่ปนเปื้อนมาในอาหารหมู..สมัย4. 0หากจะใช้หยวกกล้วยเป็นอาหารหมูคงต้องระวังยาฉีด..ฆ่าแมลงกล้วยที่เป็นสารตกค้างจากไร่กล้วย…โปรดระวัง….

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท