ชีวิตที่พอเพียง 3346. เล่าไว้ในวัยสนธยา ๔. เลี้ยงไก่



บันทึกที่ ๑ บันทึกที่ ๒ บันทึกที่ ๓

ไก่ที่คนบ้านนอกเมื่อ ๗๐ ปีที่แล้วเลี้ยง เป็นการเลี้ยงแบบปล่อยทั้งสิ้น    ให้คุ้ยเขี่ยดินหาอาหารกินเองเป็นส่วนใหญ่    มีการเรียกให้มากินข้าวเปลือกที่โปรยให้ พร้อมกับเสียงเรียก “กุ๊กๆๆๆๆๆ”   วันละครั้งสองครั้ง

คนบ้านนอกจะพูดถึงเวลาเช้าตรู่ ว่า “ตอนไก่ขัน” ซึ่งตกราวๆ ตีสี่ตีห้า เสียงไก่ขันนี้มันประทับตราจารึกลงในสมองของผม    ทำให้เมื่อไปนอนต่างถิ่นและได้ยินเสียงไก่ขันยามเช้า ผมจะรู้สึกชุ่มชื่นใจอย่างประหลาด    ไก่ตัวผู้จะขันรับกันหรือขันประชันกันเซ็งแซ่   ได้ยินทั้งตัวที่บ้านผม (ซึ่งมีหลายตัว) และที่บ้านใกล้เคียง    จึงเป็นดนตรีเสียงไก่ขันจากใกล้และไกล

ไก่ตัวผู้ที่โตเต็มวัยจะมีเสียงขันที่เอื้อนยาวไพเราะมาก   ที่เสียงดังกังวานคือ “ไก่ชน” ซึ่งน่าจะเป็นพันธุ์พื้นเมือง    ไก่แจ้จะขันเสียงแหลมเล็ก   นอกจากนั้นยังมีเสียงไก่กระทงที่เพิ่งหัดขัน    เสียงห้วนๆ และไม่ค่อยดัง    นี่กระมังที่มาของคำว่า “ไก่อ่อน”  

เมื่อสว่างดีแล้ว ไก่เริ่มออกหากิน    ที่บ้านผมมักจะให้ข้าวเปลือกในตอนนี้     ซึ่งน่าจะตกเวลาราวๆ ๗ น.    ไก่จะมาชุมนุมที่ลานดินข้างบ้านเพื่อกินข้าวเปลือก   ไก่ตัวผู้ “ไอ้โต้ง” จ่าฝูงจะขันบอกศักดิ์ศรี   พร้อมกับคอยไล่จิกตัวผู้อื่นๆ ให้ห่างจากตัวเมียสมาชิกฮาเร็มของมัน    กล่าวง่ายๆ คือ มีตัวเมียกี่ตัวถือว่าเป็นสิทธิของ “ไอ้โต้ง” แต่ผู้เดียว    

ก่อนหน้านั้น “ไอ้โต้ง” ได้ “ขึ้นทับ” (ผสมพันธุ์) กับตัวเมียของมันไปหลายตัวแล้ว    ตอนเวลาอาหารมันจะจิกข้าวเปลือกแล้วร้อง กุ๊กๆ เรียกตัวเมียมากิน    ไก่ตัวเมียตัวนั้นก็จะ “ได้สองต่อ”   คือได้กินอาหาร และได้การผสมพันธุ์  

แต่ “ไอ้โต้ง” ดูแลได้ไม่ทั่วถึงหรอกครับ    ตัวผู้อื่นๆ เขาก็มีโอกาสได้ทับตัวเมียด้วยเมื่อลับตา “ไอ้โต้ง”    นอกจากนั้น จะมีตัวผู้รุ่นใหม่ที่เติบโตฝึกพละกำลังขึ้นมาท้าทาย  “ไอ้โต้ง” อยู่เป็นระยะๆ    จนเมื่อ “ไอ้โต้ง ๑” เริ่มชรา และมี “ไอ้โต้ง ๒” ที่สดกว่า แข็งแรงกว่า     “ไอ้โต้ง ๑” ก็หมดสภาพ “ราชาฮาเร็ม” ไป    ผมมีโอกาสเฝ้าสังเกต social dynamics ของฝูงไก่อยู่หลายปี  

ไทยเรามีสำนวน “เจ้าชู้ไก่แจ้” ซึ่งที่จริงไม่ใช่แค่ไก่แจ้ตัวผู้เท่านั้นที่เจ้าชู้    ไก่ตัวผู้ทุกตัวเจ้าชู้ทั้งนั้น    ท่าเจ้าชู้ของไก่ตัวผู้คือ เมื่อพบตัวเมียเขาจะทำกิริยากรีดกรายไปรอบๆ ตัวของตัวเมีย    ตัวเมียจะแสดงท่าหลบ  หรืออาจแสดงท่ารับ  ตัวผู้ก็จะขึ้นทับทันที   เรามีคำ “นกกระจอกกินน้ำ” ว่าสั้นเดี๋ยวเดียว   นั่นคือเวลาของกิจกรรมผสมพันธุ์ของไก่และสัตว์ประเภทนกทั้งหลาย    คือชั่วอึดใจเดียว    เสร็จแล้วตัวเมียจะสั่นหางและตัวหลายครั้ง    พร้อมกับแสดงท่าทางสบายใจหรือมีความสุข 

ในฝูงไก่ที่เราเลี้ยงเป็นตัวเมียเกือบทั้งหมด    (ไก่ตัวผู้ถูกเอาไปแกงตั้งแต่เริ่มโตเต็มที่)   เป็นการเลี้ยงไก่เอาไข่     โดยเราจะเอาภาชนะเช่นกระจาดเก่าๆ เป็นที่เชื้อเชิญให้แม่ไก่มาไข่  โดยเอาฟางไปรองก้น    เพื่อให้เก็บไข่ได้สะดวก    การเก็บไข่ง่ายมาก เพราะแม่ไก่เขาจะบอกให้เรารู้ “ออกไข่แล้วจ้า” ด้วยเสียง กระต๊าก กระต๊าก ๆๆๆๆ ดังลั่นบ้าน    อยู่นานประมาณ ๕ นาที   นี่กระมังเป็นที่มาของวลี “ไม่กระโตกกระตาก”    เสียงกระต๊ากนี้ดังมาก จนบางทีทำให้น้องที่นอนอยู่ในเปลตื่น    ผมจึงต้องทำหน้าที่ไล่ไก่กระต๊ากให้ไปไกลจากที่น้องนอนอยู่   

แต่ก็มีแม่ไก่บางตัวรู้แกวว่า หากวางไข่ในที่ที่เราจัดให้    เราก็เก็บไข่ไปหมด    วัตถุประสงค์ของการวางไข่ของแม่ไก่คือสะสมไว้ให้ได้ราวๆ ๑๐ ฟองก็จะฟักไข่ เพื่อเลี้ยงลูก    ก็จะมีแม่ไก่ที่แอบไปไข่ในที่ลับตา    กว่าเราจะรู้เขาก็เอาลูกออกมาเดินตามแม่เป็นขบวนแล้ว    โดยตอนนี้แม่ไก่จะส่งเสียง กก กก กก ๆๆๆๆ เป็นระยะห่างสองสามวินาที ตลอดเวลาที่เลี้ยงลูก   

ที่จริงแม่ไก่ที่กำลังกกไข่ โดยไข่ยังไม่ออกเป็นตัว ก็จะส่งเสียง กก กก กก ๆๆๆๆ แล้ว    และในช่วงนี้แม่ไก่จะไม่ยอมให้ตัวผู้ทับ    เราจึงพอรู้ว่าแม่ไก่ตัวไหนแอบไปกกไข่    จากตอนที่มันออกมากินน้ำ กินอาหาร    โดยที่ช่วงนี้แม่ไก่จะผอม  

แม่ไก่ที่กำลังเลี้ยงลูกจะดุมาก  คนเข้าไปใกล้มันจะเข้ามาไล่ อาจถึงขนาดเข้ามาจิก    โดยเฉพาะเด็กๆ    แม่ไก่จะมีเสียงสัญญาณสื่อสารกับลูก ๓ แบบ   คือ (๑) เสียง กก กก กก ๆๆๆๆ  เพื่อบอกให้ลูกรู้ว่าแม่อยู่ที่นี่  (๒) ร้องเสียง กุ๊กกุ๊กๆๆ ถี่ๆ เป็นเสียงเรียกลูกมากินอาหารหรือเหยื่อ  (๓) เสียง “เฉียว” ยาวๆ  เป็นสัญญาณบอกว่าภัยมา    ลูกเจี๊ยบจะรีบวิ่งไปซุกใต้ปีกแม่หรือหลบเข้าที่กำบัง    เพราะศัตรูส่วนใหญ่เป็นเหยี่ยว ที่บินโฉบลงมาจากท้องฟ้า

สมัยผมเป็นเด็ก แหงนมองท้องฟ้าเวลากลางวันทีไร จะเห็นเหยี่ยวสองสามตัวบินวนอยู่สูงมากบนท้องฟ้า    น่าจะสูงกว่าร้อยเมตร    เป็นการบินวนหาเหยื่อ    เมื่อเขามองเห็นว่าฝูงลูกไก่อยู่ตรงไหน และแม่ไก่กำลังเผลอ เขาจะบินดำดิ่งลงมาอย่างรวดเร็ว ลงมาโฉบลูกไก่ตัวที่เคราะห์ร้ายไป   

ลูกไก่ที่ครอกหนึ่งมีสิบตัว ก็จะค่อยๆ ลดจำนวนลงไป    เมื่อโตเป็นไก่รุ่นกระทงที่พอจะดูแลตัวเองได้ อาจเหลือเพียง ๖ -  ๗ ตัว หรือน้อยกว่านั้น    โดยที่ศัตรูที่มาฉกลูกไก่ไปกินไม่ได้มีแค่เหยี่ยว ยังมีงูชนิดต่างๆ

เพราะภาษา “เฉียว” ของไก่ หมายถึง “ศัตรูมา” เราจึงไล่ไก่ด้วยการใช้ของปา หรือทำท่าทางจะปา พร้อมกับเสียง “เฉียว”   ไก่จะตกใจ ส่งเสียงร้อง กกๆ    ตัวเมียที่ขวัญอ่อนอาจร้อง “กระต๊าก”

หลังจากพ่อทำโรงสีได้หลายปี วันหนึ่งท่านเอา “ไก่ทวน” มาเลี้ยงคู่หนึ่ง    ไก่ทวนตัวเล็กขนาดไก่แจ้    ขนสีขาวปลอดทั้งตัวเมียและตัวผู้    ที่ชื่อไก่ทวนก็เพราะขนของมันงอนทวนขึ้นไปด้านหน้า    จึงดูขนฟูอยู่ตลอดเวลา    ถือเป็นไก่ที่แปลก เลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม    มันออกไข่และฟักลูกออกมาเป็นฝูง     วันหนึ่งพนักงานโรงสีเกิดความคิดดี จับไก่ทวนสีขาวมาย้อมสีแดง สีเหลือง สีเขียว    โดยใช้สีที่ทางโรงสีใช้เขียนกระสอบข้าวสาร   ยิ่งทำให้ไก่ทวนยิ่งสวยงามแปลกประหลาดเป็นที่สนใจยิ่งขึ้นไปอีก   

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ธ.ค. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 659541เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2019 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2019 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ตอนเด็ก ๆ มีคนท้าให้วิ่งไล่จับลูกไก่วัยรุ่น ถ้าจับได้จะให้เอาไปเลี้ยง จับได้ 1 ตัว เล่นเอาเหนื่อยและได้เอาไปเลี้ยงด้วยค่ะ

เรียน อาจารย์

    ได้อรรถรสที่หลากหลายจากการอ่าน เป็นเรื่องเล่าที่น่ารัก มีสุภาษิตคำพังเพยไทยอธิบายด้วย  ปัจจุบันได้อยู่กับไก่พอดีค่ะ เป็นไก่บ้าน ไก่แจ้ และพันธุ์ผสมไก่ป่า และได้เห็นเหยี่ยวโฉบอยู่บนท้องฟ้าตามเรื่องเล่าจริงๆค่ะ

ขอแสดงความนับถือ

ได้บรรยากาศบ้านสวน และความรู้ เรื่องไก่ไก่ โดยเฉพาะนิสัยไก่ตัวผู้55555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท