ชีวิตที่พอเพียง 3381. เล่าไว้ในวัยสนธยา ๖. น้องเล็กกับแปะขุ้น


บันทึกที่ ๑    บันทึกที่ ๒   บันทึกที่ ๓   บันทึกที่ ๔    บันทึกที่ ๕ 

บันทึกชุด เล่าไว้ในวัยสนธยา เป็นการเล่าเรื่อยเปื่อย นึกอะไรออกก็เล่าไว้ เป็นบันทึกชีวิตที่คนสมัยนี้อาจนึกไม่ถึง ว่าชีวิตสมัยก่อนเขาขาดแคลนและยากลำบากขนาดนั้น    และเพื่อตอกย้ำว่า “ชีวิตที่ยากลำบากเป็นชีวิตที่เจริญ” (คำของ ศ. นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว) 

ผมเป็นลูกคนโต   มีน้อง ๖ คน  คนที่สองชื่อเล่นว่า “เล็ก” เป็นเด็กตัวเล็กแต่ว่องไวฉลาดเฉลียว    น่าจะหัวไวที่สุดในหมู่พี่น้อง ๗ คน    ดูจากความสามารถในการหลบหลีกไม้เรียวเวลาแม่อารมณ์ไม่ดี    ซึ่งผมไม่มีความสามารถนั้น    และคนที่ด้อยความสามารถหลบหลีกไม้เรียวที่สุดน่าจะเป็น “ดำ” น้องคนถัดไป

ผม (อ๊อด) เกิด พ.ศ. ๒๔๘๕   เล็กเกิด พ.ศ. ๒๔๙๐ ห่างกัน ๕ ปี    ที่จริงระหว่างเราสองคน พ่อแม่มีลูกที่ตายตั้งแต่ยังเล็ก ๒ คน   คนถัดจากผมเป็นผู้หญิง เป็นโรคคอตีบตายอายุ ๒ ขวบ   ถัดมาเป็นผู้ชายนอนตายไปเฉยๆ อายุไม่ถึงหนึ่งขวบ    สมัยนั้นอัตราตายของทารกสูงมาก    การที่ลูกตายเป็นเรื่องธรรมดา     เด็กที่รอดตายมาได้ และมีชีวิตที่ดีด้วย จึงไม่ธรรมดา    ผมถือว่ามีบุญที่รอดชีวิตมาได้

เรามีญาติผู้ใหญ่ที่ไปมาหาสู่กันเสมอคือ “แปะขุ้น”   ภาษาจีนแต้จิ๋ว แปะ แปลว่าลุง    แม่ของท่านชื่อ จีน เป็นลูกสาวคนโตของ หลงจู๊กีหยง (นายกีหยง บุษราทิจ)   เป็นพี่สาวของนางคุ้ม (บุษราทิจ) พานิช ย่าของผม    แปะขุ้นจึงเป็นลูกผู้พี่ของพ่อผม   

แปะขุ้น (นายขุ้น รจนา) เป็นหลานคนโตของมหาเศรษฐีบ้านนอก    เคยทำกิจการโรงสีของตามาก่อน    มีความรู้หลากหลายด้าน และเล่นหมากรุกเก่งมาก    แต่เมื่อผมโตจำความได้ แปะขุ้นเป็นคนว่างงาน    หรือเป็นคนไม่ต้องทำงานอะไร มีสมบัติพอเลี้ยงตัวไปวันๆ    มีชีวิตที่สุขสบายไม่มีเรื่องอนาทรร้อนใจ    ต่างจากพ่อผมเป็นคนละขั้ว ที่ตั้งหน้าสร้างฐานะแบบเอาเป็นเอาตาย   

แปะขุ้นแต่งงานกับภรรยาคนแรกมีลูกสองคน ตายหมด  ต่อมาภรรยาก็ตาย จึงแต่งงานกับน้องสาวของภรรยาคนก่อน    เราเรียกภรรยาของท่านว่า “ป้าบู่”   บ้านของท่านใหญ่โตมาก (ในสายตาของเด็กอย่างผม) อยู่ในตลาด    ตลาดท่ายาง (ตำบลท่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร) อยู่ติดคลอง (ชื่อคลองท่ายาง) มีถนนดินผ่ากลางตลาดที่มีบ้านและร้านค้าเรียงราย    ที่ดินของแปะขุ้น อยู่สองฝั่งถนน   คือฝั่งหนึ่งเป็นสวน ติดกับคลอง    ในสวนปลูกไม้ดอกและไม้ผลหลายชนิด    เช่น ละมุดสีดา  มะม่วง  มะมุด  ชมพู่  ฝรั่ง  ฯลฯ    และที่ริมคลองมีต้นจากขึ้นอยู่เรียงราย    ที่จริงหลังบ้านท่านก็เป็นสวน มีที่ดินกว้างขวาง   แปะขุ้นจะเดินมาที่บ้านผม มาคุยกับปู่ (ก๋ง) เป็นประจำ    โดยเมื่อมาคุยจะมานั่งยองๆ กับพื้นดินหน้าบ้าน    คุยกับปู่ที่นั่งบนชานหน้าบ้าน    ท่านคงจะติดความสัมพันธ์สมัยปู่ผมเป็นพระ   ท่านเรียกปู่ผมว่า “ใต้เท้า”     

แปะขุ้นคงจะเหงา    จึงชอบมาเล่นกับน้องเล็ก อายุราวสองขวบ    วิธีของท่านก็ง่ายๆ ถือ “ย่าหมู” (ฝรั่ง) มาสองสามลูก เอามาให้หลานกิน ซึ่งหมายความว่า ให้น้องเล็ก แต่ผมก็ได้ส่วนแบ่งด้วย    ช่วงที่ละมุดสีดาออกลูก เราก็ได้กินละมุดสีดา     ที่เอิกเกริกคือตอนที่ลูกจากแก่เนื้อในกำลังดี   บางทีท่านเอามาให้ทั้งทะลาย   ผู้ใหญ่เฉาะให้กิน เอร็ดอร่อยมาก  

น้องเล็กจึงติดแปะขุ้น    ยิ่งต่อมาแปะขุ้นซ่อมรถสามล้อถีบสำหรับเด็ก เอามาให้น้องถีบเล่น   น้องเล็กยิ่งชอบ  ผมทำหน้าที่ช่วยเข็น เพราะถนนเป็นถนนดินทั้งสิ้น   ติดหล่มง่าย   ช่วงหลังๆ น้องเล็กถีบรถสามล้อจากบ้านผม ข้ามถนน ผ่านตรอกที่มีบ้านคนหลายหลังไปบ้านแปะขุ้น ระยะทางราว ๓๐๐ เมตร   เป็นรถสามล้อเด็กคันเดียวในหมู่บ้าน

บางวันแปะขุ้นชวนเราลงเรือพายลำเล็ก    พาเรานั่งไปในคลอง ที่สองข้างเป็นป่าจาก    ในคลองน้ำใสแจ๋ว เห็นตัวปลาและกุ้ง    แปะขุ้นช้อนปลาตัวเล็กๆ มาให้เราเลี้ยงเล่นด้วย    ปลาที่เราติดใจคือปลาบู่    เราล้อกันเล่นว่า ป้าบู่ (ภรรยาแปะขุ้น) มาเป็นปลา      แปะขุ้นจะหาลูกจากทะลายที่กำลังพอดีกิน    เอามาให้เรากิน    เป็นที่สำราญใจทั้งน้องและพี่     

นอกจากปลา กุ้ง และปูแล้ว    ในคลองยังมีขยะลอยมาบ้าง แต่ไม่มาก    เป็นขยะจำพวกทางจาก  ขอนไม้  ลูกจาก  ลูกบูน (ตะบูน) ฯลฯ    สมัยนั้นไม่มีขยะพลาสติก    นานๆ จะมีสัตว์ตาย (เช่น หมาเน่า) ลอยน้ำมา    บางครั้งก็มี “แพข้าวเม่าทอด” (หมายถึงอุจจาระ) ลอยมาด้วย    เพราะคนสมัยนั้นหลายบ้านทำส้วมแบบถ่ายลงคลอง    และปลากินไม่หมด ลอยมาให้เราเห็น

แปะขุ้นขอชวนน้องเล็กไปนอนด้วยเป็นบางคืน  และถี่ขึ้นๆ  จนในที่สุดน้องเล็กไปอยู่บ้านแปะขุ้น ไม่กลับมาบ้านเลย    น่าจะหลายเดือน  คล้ายๆ จะขอไปเป็นลูก    จนในที่สุดแปะขุ้นพาน้องเล็กมาคืน บอกว่าน้องเล็กผอมลงๆ และไม่สบายบ่อย    ท่านเกรงน้องเล็กจะตายเหมือนลูกชายสองคนของท่าน    ท่านบอกว่าท่านเป็นคนเลี้ยงเด็กไม่รอด    ความสัมพันธ์กึ่งลูกบุญธรรมของน้องเล็กกับแปะขุ้นนี้ ดำรงต่อมาจนท่านถึงแก่กรรม   เข้าใจว่าท่านมอบมรดกให้น้องเล็กด้วย  แต่ผมไม่ทราบรายละเอียด   

วิธีเอาใจน้องเล็กอีกอย่างหนึ่งของแปะขุ้นคือ ให้นอนด้วย   เล่านิทานให้ฟัง    และให้ได้สัมผัสโดยให้น้องเล็กเกาคอแปะขุ้น    เมื่อน้องเล็กกลับมานอนที่บ้านก็ต้องมีคนไปนอนให้เกาคอซึ่งจั๊กกะจี้   เป็นที่รู้กันว่า หากเป็นคนพาน้องเล็กเข้านอนต้องให้น้องเกาคอ   ผมต้องทำหน้าที่นี้บ่อยๆ  

แม้น้องเล็กกลับมาอยู่บ้านแล้ว ท่านก็ยังมาชวนไปเที่ยวบ้านของท่านเป็นครั้งคราว    หรือเอาผลไม้มาฝากอยู่เสมอ   

อีกสิ่งหนึ่งที่แปะขุ้นมีความสามารถคือด้านศิลปะ   ท่านวาดรูปหนังตะลุง  รูปยักษ์  รูปพระ  รูปนาง สวยมาก    และวาดให้พวกเราเล่นเสมอ   เป็นที่ชื่นชอบ

ที่บ้านของท่าน ยกพื้นสูงจากถนนราวๆ ๕๐ ซ.ม.   เป็นพื้นซีเมนต์กว้างหลายเมตร   เป็นบ้านที่มีพื้นซีเมนต์บ้านเดียวในละแวกนั้น   ผมชอบเพราะนั่งแล้วเย็นสบาย    ถัดเข้าไปเป็นยกพื้น พื้นไม้กระดานขนาดใหญ่เก่าแก่มาก สีดำระยับ   บางจุดมีร่องระหว่างแผ่นไม้    ยกพื้นนี้เป็นโถงกว้างขวาง  เราไปเล่นกันที่โถงพื้นไม้หรือที่พื้นซีเมนต์     ถัดเข้าไปเป็นห้องนอน เข้าใจว่ามีสองห้อง คือห้องแปะขุ้นกับป้าบู่ห้องหนึ่ง    กับห้องยายเงาะแม่ของป้าบู่อีกห้องหนึ่ง    ที่ฝาห้องส่วนหนึ่งมีคำเขียนด้วย ชอล์ก ว่า  “จงเลิกกินเหล้าเพื่อลูกแลผู้ตาย”   ผมถามแปะขุ้นกับป้าบู่ว่า ลูกตายแล้วจะมาแลได้อย่างไร (แล ในภาษาปักษ์ใต้แปลว่าดู    เราใช้คำว่าแล มากกว่าคำว่าดู)    ทั้งสองท่านก็จะหัวเราะในความไร้เดียงสาของผม    จริงๆ แล้ว คำว่า “แล” เป็นชื่อลูกชายของท่าน

ข้อเขียนที่ฝาผนังไม่ได้ทำให้แปะขุ้นงดเหล้า    ท่านยังดื่มแทบทุกวัน   เหล้าที่ดื่มเป็นเหล้าขาวหรือเหล้าโรง     เข้าใจว่าดื่มเพียงเล็กน้อย    ผมไม่เคยเห็นท่านเมาเลย   และท่านเป็นคนพูดเสียงค่อย    เวลาผมถามอะไรโง่ๆ แบบเด็ก ท่านจะหัวเราะหึๆ และตอบเลี่ยงบ้าง ไม่ตอบบ้าง  

พ่อของผมเสียอีก ที่ตอนค่ำกลับมาบ้านเมานานๆ ครั้ง    สังเกตได้จากพูดเสียงดัง    และแม่บ่นว่าเมามาอีกแล้ว    

ตอนแปะขุ้นเสียชีวิต น่าจะอายุเกิน ๘๐   ท่านเป็นโรคขาดอาหาร เพราะไม่กินกับข้าวอื่นนอกจากไข่    พ่อผมเล่าว่า เดิมท่านเป็นคนไม่กินไข่    แต่ลุงชอบ ญาติลูกพี่ลูกน้องของท่านขยั้นขยอให้ลองกิน   หลังจากนั้นท่านจึงกินแต่ไข่ น้ำปลา กับข้าว    ไม่กินกับข้าวอื่นๆ เลย  

ตั้งแต่เด็กไม่ทราบว่าผมเกิดความคิดมาจากไหน  ว่าชีวิตของแปะขุ้นเป็นชีวิตที่ไร้ความหมาย    เพราะไม่ได้ทำประโยชน์อะไรแก่สังคม    มีชีวิตไปวันๆ เท่านั้น    ทั้งๆ ที่พ่อแม่ผมไม่เคยกล่าวคำตำหนิพฤติกรรมใดๆ ของแปะขุ้นเลย    จริงๆ แล้วสมัยหนุ่มๆ พ่อผมเป็น เพลย์บอย และอยู่ในวงเดียวกันกับ “พี่ชอบ”  “เฮียขุ้น” และเพื่อนๆ อีกกลุ่มใหญ่   พ่อผมเรียกชื่อญาติด้วยคำไทยบ้าง คำจีนบ้าง    มีคนพูดเข้าหูผมว่า พ่อผมเป็น เพลย์บอยกลับใจ   

หากจะมีลูกที่รับมรดกพันธุกรรมความฉลาดเฉลียวของพ่อมามากที่สุดก็น่าจะเป็น “น้องเล็ก” นี่แหละ         

วิจารณ์ พานิช

๙ ก.พ. ๖๒

หมายเลขบันทึก: 660268เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2019 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มีนาคม 2019 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท