ชีวิตที่พอเพียง 3403. เล่าไว้ในวัยสนธยา ๙. นอนตะวันโด่ง





บันทึกที่ ๑       บันทึกที่ ๒       บันทึกที่ ๓       บันทึกที่ ๔   

บันทึกที่ ๕      บันทึกที่ ๖       บันทึกที่ ๗

บันทึกที่ ๘

บันทึกชุด เล่าไว้ในวัยสนธยา เป็นการเล่าเรื่อยเปื่อย นึกอะไรออกก็เล่าไว้ เป็นบันทึกชีวิตที่คนสมัยนี้อาจนึกไม่ถึง ว่าชีวิตสมัยก่อนเขาขาดแคลนและยากลำบากขนาดนั้น    และเพื่อตอกย้ำว่า “ชีวิตที่ยากลำบากเป็นชีวิตที่เจริญ” (คำของ ศ. นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว) 

วันไหนผมนอนตื่นสาย แม่จะมาปลุกด้วยคำปลุกว่า “อ๊อดเอ้ย ไม่สบายหรือเปล่า  อย่าหัดเป็นคนนอนตื่นสายตะวันโด่ง”

ผมได้รับนิสัยเป็นคนขยันมาจากแม่    ซึ่งไม่ได้ตั้งใจเลี้ยงผมให้โตขึ้นเป็นคนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้เลย    เพราะแม่ไม่รู้จักชีวิตอย่างที่ผมเป็นอยู่ในขณะนี้    ถือว่าไกลเกินเอื้อม   

สมัยเป็นเด็ก ผมเป็นลูกที่ทำตัวไม่ได้ดังใจแม่ที่สุด    คือไม่คล่องแคล่วฉะฉาน  ค้าขายไม่เป็น เข้าสังคมไม่เป็น ขี้อาย เก้งก้าง    แม่มักยกตัวอย่างเด็กที่ปากน้ำ อายุเท่ากัน ที่เขาค้าขายเก่ง     ว่าผมควรเอาอย่าง ทำให้ได้อย่างเขา (ซึ่งผมก็เถียงในใจว่า แล้วเขาเรียนเก่งอย่างผมหรือเปล่า)

ไม่ทราบว่า อะไรมาดลใจผม ให้มุ่งหน้าเรียนอย่างเดียว    แม้แก่ใกล้เข้าโลงอย่างในปัจจุบัน ก็ยังชอบเรียนเป็นชีวิตจิตใจ    เป็นหฤหรรษ์แห่งชีวิต

เมื่อประมาณ ๒๐ ปีมาแล้ว   ตอนแม่อายุประมาณ ๘๐ (ผมอายุใกล้ ๖๐)    ผมถามแม่ว่า    เมื่อก่อนตอนผมอายุประมาณ ๓๐ ตัดสินใจไม่ทำงานเพื่อหาเงิน    มุ่งทำงานเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง แล้วแม่เตือนอยู่เสมอว่า “อุดมคติกินไม่ได้นะลูก” (ซึ่งผมเถียงในใจว่า “ก็เรามีพอกินแล้วนี่แม่”) เป็นเวลาราวๆ ๑๐ ปี จึงเลิกบ่น    ถ้าแม่รู้ล่วงหน้าว่าชีวิตทุ่มเทให้งาน จะนำผมมาสู่ชีวิตแบบนี้ แม่จะบ่นไหม    แม่ยิ้มและตอบว่า “ไม่บ่น ชีวิตอย่างนี้ดีแล้ว”  

แม่รักลูก และอยากให้ลูกมีชีวิตที่ดี    วิธีแสดงความรักของแม่ผมคือดุด่าว่ากล่าวเฆี่ยนตี    ซึ่งตามหลักการสมัยใหม่เป็นวิธีที่ผิด    แต่ชีวิตของผม (และน้องๆ ทุกคน) กลับได้ดี    และเป็นที่เลื่องลือของคนในตำบล และตำบลใกล้เคียงว่า “แม่ง้อเลี้ยงลูกเก่ง”      

ผมเข้าใจว่า ในช่วงสิบกว่าปีแรกของการแต่งงาน แม่มีความเครียดจากญาติฝ่ายสามี    ที่บางสาแหรกถือตัวว่าเป็นคนกรุง เป็นลูกหลานเศรษฐี   แต่แม่ผมเป็นลูกเจ๊ก (เจ๊กแท้ๆ จากเมืองจีน พูดไทยไม่ชัด อ่านหนังสือไม่ออกทั้งจีนและไทย)    และพ่อผมก็เป็นคนยากจน ไม่มีฐานะเลยในช่วง ๑๐ ปีแรกของการแต่งงาน   ทำงานขับรถโดยสารระหว่างปากน้ำกับตลาดท่าตะเภา ของจังหวัดชุมพร    

เดาว่าแม่มีปมด้อย จึงพยายามเลี้ยงลูกให้เป็นคนขยันขันแข็ง และมีมรรยาทในการกิน การแต่งกาย การเข้าสมาคม (เช่นไหว้ผู้ใหญ่)    แต่ลูกๆ (โดยเฉพาะผม) มักมีความคิดของตัวเอง (แบบเด็กๆ) หลายครั้งเราจึงเป็นเด็กดื้อ    และทำให้แม่ใจเสีย (ที่ลูกทำท่าจะเป็น “ลูกเจ๊ก” อย่างที่ญาติบางคนพูดดูถูก)    แต่ญาติคนเดียวกันนี้แหละที่ในภายหลังชมว่า “แม่ง้อเลี้ยงลูกเก่ง”     เพราะในภาพรวม ลูกของแม่ง้อประสบความสำเร็จในชีวิตดีกว่าลูกของท่านเสียอีก    โดยที่บ่อเกิดของความสำเร็จส่วนใหญ่เกิดจากความขยัน  มานะพยายาม  และเจียมตัว  

ผมตีความว่า แม่พยายามฝึกลูกในด้าน “คุณลักษณะ” (characters)  หรือนิสัย    ให้มีนิสัยที่ดี ซึ่งอย่างหนึ่งคือความขยันขันแข็ง    ซึ่งผมก็ได้มาเต็มๆ    ขนาดนั่งอึยังต้องอ่านหนังสือ    มิฉะนั้นอึไม่ออก    

จำได้ว่าสมัยเป็นเด็กที่บ้านเปิดหน้าร้านขายข้าวสาร และของชำ    ลูกๆ ที่โตขึ้นช่วยกันขาย    เวลาว่างแม่จะให้ช่วยกันพับถุงใส่ของ    โดยเอากระดาษหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษถุงปูนซีเมนต์มาพับ    ติดกาวด้วยแป้งเปียก    เราพับกันจนชำนาญมาก    นอกจากไม่นอนตื่นสายแล้ว เรายังโดนฝึกให้อยู่ว่างไม่เป็น ต้องช่วยกันทำงาน   เมื่อพ่อว่างก็ยังมาช่วยพับด้วย    เป็นสัญญาณว่า ไม่มีงานใดที่เป็นงาน “ของคนอื่น” เราเป็นคนมีความสามารถ ต้องเลือกงาน   

ผมได้รับการฝึกให้เป็นคน “ไม่เลือกงาน”   ไม่แสดงความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ โดยไม่ทำงานที่ถือเป็นงานชั้นต่ำ

ราวๆ ปี ๒๕๑๘ ผมลงไปทำงานที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (สมัยนั้นเรียกว่า ศูนย์อรรถกระวีสุนทร  คำว่า วิทยาเขต ยังไม่เกิด)   ในฐานะอาจารย์ผู้ใหญ่ของคณะแพทยศาสตร์    และไปขอใช้ห้องที่อาคารสำนักงานอธิการบดี (เก่า) ชั้นล่าง เป็นที่ทำงาน    ตอนนั้นเรามีเจ้าหน้าที่เป็นลูกจ้างประจำคนเดียว    เวลาจัดห้อง ยกโต๊ะตู้เก้าอี้ ผมจึงต้องช่วย    ได้รับคำชมลับหลัง จากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานอธิการบดี ว่า “หมอวิจารณ์ดีจริงๆ ไม่ถือตัว ไม่เลือกงาน”  

สมัยเริ่มตั้งตัวในการทำงาน และตัดสินใจไปตั้งตัวในสถาบันใหม่ คือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    ผมรู้สึกไม่มั่นใจหลายครั้ง ว่าจะสามารถทำงานสร้างสรรค์วิชาการ ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองได้สมความตั้งใจของตนเองหรือไม่    พูดง่ายๆ ว่า รู้สึกว่าตนเองมีความสามารถจำกัด    สิ่งที่ผมนำมาปลอบใจคือ ที่หาดใหญ่ผมพักอาศัยที่บ้านพักในมหาวิทยาลัย  ห่างจากที่ทำงานโดยทางรถยนต์หรือมอเตอร์ไซคล์ ไม่ถึง ๕ นาที    มีความสะดวกสบาย    และอุทิศเวลาทั้งหมดเพื่องาน    ผมทำงานวันละไม่ต่ำกว่า ๑๕ ชั่วโมง    ทุ่มเทขนาดนี้ ทำงานไม่สำเร็จให้มันรู้ไป   

ขณะที่กำลังพิมพ์บันทึกนี้ สาวน้อยนอนพักผ่อน   ผมกับต้องนั่งทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ของตน    ต้องบอกว่า ตอนนี้เขาใช้วิธีของพ่อ  คือนั่งตรงไหน ทำงานได้ทั้งสิ้น                         

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.พ. ๖๒

ห้อง ๘๓๑  ตึก ๘๔ ปี  ชั้น ๘  ฝั่งตะวันออก  โรงพยาบาลศิริราช

หมายเลขบันทึก: 660904เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2019 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2019 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท