ชีวิตที่พอเพียง 3528. เล่าไว้ในวัยสนธยา ๑๔. เลี้ยงนก (๒)



บันทึกที่ ๑    บันทึกที่ ๒   บันทึกที่ ๓   บันทึกที่ ๔    บันทึกที่ ๕   

 บันทึกที่ ๖    บันทึกที่ ๗    บันทึกที่ ๘   บันทึกที่ ๙   บันทึกที่ ๑๐    

ตอนที่ ๑๑    ตอนที่ ๑๒    ตอนที่ ๑๓

บันทึกชุด เล่าไว้ในวัยสนธยา เป็นการเล่าเรื่อยเปื่อย นึกอะไรออกก็เล่าไว้ เป็นบันทึกชีวิตที่คนสมัยนี้อาจนึกไม่ถึง ว่าชีวิตสมัยก่อนเขาขาดแคลนและยากลำบากขนาดนั้น    และเพื่อตอกย้ำว่า “ชีวิตที่ยากลำบากเป็นชีวิตที่เจริญ” (คำของ ศ. นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว) 

ในบันทึกที่ ๑๓ ผมเล่าเรื่องเลี้ยงนกยังไม่จบ    จึงขอเล่าต่อในตอนที่ ๑๔ นี้

ในตอนที่ ๑๓ ผมเล่าเรื่องเลี้ยงนกเขา ๔ ชนิด  นกกรงหัวจุก  และนกกางเขนดง    ต่อไปนี้จะเล่าเรื่องเลี้ยงนกกางเขนบ้าน  นกเขียวก้านตอง   นกโพระดก  นกกะรางหัวหงอก  นกปรอดสวน  นกปรอดหน้านวล  และนกหงส์หยก

นกกรงหัวจุก นกเขียวก้านตอง  และนกปรอดทั้งสองชนิด กินทั้งผลไม้และหนอนหรือไข่มดแดง คือต้องมีอาหารโปรตีนสูงด้วย   โดยในภายหลังผมฝึกให้เขากินอาหารหมา    ก่อนที่ผมจะมีความรู้นี้ ผมทำนกตายไปหลายตัว เพราะให้กินแต่กล้วย    ให้เขากินก็เห็นเขากินดี    แต่ในไม่กี่วันก็หงอยและตาย    ไปถามตาแป๊ะคนขายนก และนักเลี้ยงนกคนอื่นๆ จึงรู้ว่าต้องให้กินไข่มดแดงเสริม        

ในจำนวนนี้ นกที่ร้องเสียงก้องและไพเราะที่สุดน่าจะเป็นนกกางเขนดง  (๑)  ชาวบ้านมักเรียกนกบินหลาดง   ตัวโตกว่านกกางเขนบ้านเล็กน้อย แต่หางยาวกว่ามาก    และสีน้ำตาลแดงปีกดำ    นี่เป็นตัวผู้นะครับ   นกเลี้ยงเขาไม่นิยมเลี้ยงตัวเมียเพราะไม่สวยและร้องหรือขันไม่เพราะ   นกกางเขนดงราคาแพงกว่าเพราะหายากกว่า    จำได้แบบไม่ยืนยันว่า ตอนนั้นผมซื้อนกที่เพิ่งดักมาได้ใหม่มาในราคา ๑๕๐ - ๒๐๐ บาท     กว่าจะซื้อนกกางเขนดงมาเลี้ยงคิดอยู่นานทีเดียว เพราะไม่ใช่แค่แพงที่ราคานก    ค่าอาหารนกก็แพงด้วย    คือต้องซื้อไข่มดแดงมาเก็บในตู้เย็นเอาไว้เลี้ยงเขาเช้า-เย็น    ซื้อทีหนึ่ง ๒๕ บาท กินได้หนึ่งอาทิตย์    แต่ในไม่ช้าผมก็ฝึกให้เขากินอาหารสุนัขที่แช่น้ำจนนุ่ม     สลับกับกินไข่มดแดง

นกที่ซื้อมาใหม่เป็นนกที่เพิ่งโดนจับมาใหม่ทั้งสิ้น    ตอนซื้อมาใหม่ๆ เขาไม่คุ้นกับกรง ไม่คุ้นคน    พอเข้าใกล้ก็แตกตื่นดิ้นรน    ใช้เวลาไม่ถึงเดือนก็เริ่มเชื่องและเริ่มร้อง    ทำงานมาเหนื่อยๆ ได้ยินเสียงนกที่เราเลี้ยงร้องหรือขันมันชุ่มชื่นหัวใจ    ยิ่งมีนกตัวอื่นอยู่ใกล้ๆ เขาร้องโต้ตอบกัน (บอกว่านี่ถิ่นข้านะ  เพราะเขาเป็นสัตว์หวงถิ่น)     จำได้ว่า มีบางช่วงผมเลี้ยงนกกางเขนดงสองตัว    ให้มันร้องโต้ตอบกัน 

ต่อมาก็อดซื้อนกกางเขนบ้านมาเลี้ยงไม่ได้    นกกางเขนบ้านกินอาหารเหมือนกางเขนดง แต่กินผลไม้บ้าง ในขณะที่กางเขนดงไม่กินเลย    กางเขนบ้านร้องเสียงหวานแหลมกว่า     และร้องบ่อยกว่า    แต่นกกางเขนดงตัวที่ร้องเก่งก็ร้องบ่อยเหมือนกัน    กางเขนดงที่ลักษณะดีร้องเสียงเพราะ เขาว่าราคาหลายพันหรือเป็นหมื่น    แต่ราคานกที่แพงที่สุดคือนกเขา (เล็ก) ที่คนเชื่อว่า นกลัษณะดี ขันเสียงดี ให้โชคลาภแก่เจ้าของ    นั่นเขาว่าแลกกันด้วยรถเบนซ์        

นกที่ขยันร้องที่สุด และหนวกหูที่สุดคือ กะรางหัวหงอก    ซึ่งตัวโตกว่านกที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด และขายาว    กระโดดไปมาตลอด ไม่ค่อยเกาะนิ่งๆ    เสียงร้องฟังได้ว่า “เจ๊กโกหกๆ”  (๒)   เลี้ยงด้วยผลไม้และแมลง และฝึกให้กินอาหารไก่ หรืออาหารสุนัขได้    เป็นนกที่เชื่องง่าย เลี้ยงไม่กี่วันก็เชื่อง   ใครที่ชอบนกที่ขยันร้องให้เลี้ยงนกกะรางหัวหงอก    เขาจะร้องจนบางทีเรารู้สึกว่าหนวกหู  

นกเขียวก้านตองผมซื้อมาเลี้ยงเพราะเขามีสีสวยมาก ตามชื่อ    ดูเพลิน แต่เสียงร้องไม่เพราะ (๓)     เลี้ยงด้วยผลไม้เป็นหลัก แต่ต้องเสริมด้วยไข่มดแดงนิดหน่อย    มิฉนั้นจะตาย      

นกปรอดสวน กับนกปรอดหน้านวล ราคาถูก    เลี้ยงด้วยกล้วยเป็นหลัก เสริมด้วยไข่มดแดงนิดหน่อย    เสียงร้องไม่เพราะ  แต่นกปรอดหน้านวลก็มีเสียงร้องที่สดใสดี (๔)     

นกโพระดก เสียงตรงตามในเพลง “เสียงนกโพระดก มันร้องโฮกป๊กโฮกป๊กอยู่หนไหน” (๕)   ผมเคยเลี้ยงตัวเดียว    แขวนไว้ตรงทางเดินไปครัวหลังบ้าน    เป็นนกที่มีหนวดกระจุกอยู่สองข้างโคนจงอยปากเห็นชัดมาก    นกที่มีหนวดแบบนี้ กินทั้งลูกไม้และแมลง    และต้องให้กินแมลงบ้าง มิฉะนั้นจะตาย    เป็นนกที่เชื่องง่าย    จำได้ว่า ตัวที่ผมเลี้ยง ตอนหลังผมปล่อยไป    แต่เขาก็ยังบินมาที่กรงบ่อยๆ    เขาคงต้องการมากินอาหาร  

นกหงส์หยกเป็นนกนำเข้าจากต่างประเทศ    เลี้ยงในกรงเหล็กคราวละหลายตัวหลากสี    ดูเพลินดี   เลี้ยงด้วยข้าวฟ่าง    เขาผสมกันให้ลูกด้วย    ร้องเกือบตลอดเวลา แต่เสียงไม่พิเศษ (๖)    เป็นนกเลี้ยงสวยงามมากกว่าฟังเสียง   

เวลาล่วงเลยมาราวๆ ๓๐ ปี    ตอนนี้ผมอยู่ที่บ้านปากเกร็ด เลี้ยงนกอีกแบบหนึ่ง     คือไม่ขังกรง เลี้ยงนกตามธรรมชาติ    ด้วยการเอาข้าวโพดโปรยหน้าบ้าน    นกที่มากินเป็นนกเขาใหญ่ และนกเขาเล็ก ราวๆ ๕๐ ตัว    มีนกกระจอก และนกพิราบมากินบ้าง    นอกจากนั้นยังมีนกกางเขนบ้าน ที่หากินตามพื้นดิน   กินเศษอาหาร แมลง และไส้เดือนในดิน    นกอีแพรดก็เป็นนกเจ้าถิ่น    รวมทั้งนกกินปลี (๗)  ที่วนเวียนมากินน้ำหวานจากต้นประทัดไต้หวัน (๘)          

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ส.ค. ๖๒    


หมายเลขบันทึก: 669061เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2019 18:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2019 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท