ชีวิตที่พอเพียง : (350) ฝึกเทคนิคถ่ายภาพนก


         หยุดพักผ่อนยาว 3 วัน  วันที่ 11 – 13 ส.ค. 50   ผมนั่งพิมพ์หนังสือเล่มใหม่   “ผู้บริหาร  องค์กรอัจฉริยะ  ฉบับนักปฏิบัติ” อย่างสนุกสนาน    ที่ระเบียงหน้าบ้าน     ตรงหน้าคือพุ่มต้น “ธูปไต้หวัน” ซึ่งขยันออกดอกตลอดปี    ผมสังเกตว่ามีนกเล็กๆ ประเภทนกกินปลี หรือนกปลีกล้วย มากินน้ำหวานจาก ดอกธูปไต้หวันเป็นระยะๆ 
 
         นกเหล่านี้ตัวเล็กมาก ยาวประมาณ 5 ซ.ม. ตัวโตประมาณ ซ.ม. กว่าๆ เท่านั้น    และเปรียวมาก ไม่ค่อยอยู่นิ่งให้ถ่ายรูป     มันกระพือปีกได้เร็วมากจนบินอยู่นิ่งอยู่กับที่ได้แบบนก ฮัมมิ่งเบิร์ด ที่ผมเคยไปเห็นที่ คอสตาริก้า     มันบินอย่างนี้เพื่อใช้ปากแหลมยาวดูดน้ำหวานจากดอกธูปไต้หวัน   

         ตอนแรกผมไม่คิดจะถ่ายรูป เพราะมัวเร่งเขียนหนังสือ     อ้อม แม่กองจัดมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 4 ที่เราเรียก NKM 4 กำชับผมว่า ต้นฉบับต้องเสร็จภายในเดือนกันยายน     จึงจะพิมพ์เสร็จทันวางตลาดในงาน NKM 4     แต่พอตกเย็นวันที่ 12 ผมก็ทนความเย้ายวนไม่ไหว

         การถ่ายภาพนกต้องใช้กล้องที่ความเร็วสูง     ถ่ายได้หลายรูปในเวลาติดๆ กัน     และต้องใช้วิธีถ่ายแบบเดาสุ่ม     ตั้งกล้องแบบถ่ายนักกีฬา     และถ่ายแบบต่อเนื่อง    ผมจึงไปคว้า Canon 30D ซึ่งเป็นกล้อง SLR ระดับกึ่งโปรเฟสชันนั่ล เอามาติดเลนส์ Tamron 18 – 200  เอามาวางข้างตัวระหว่างนั่งพิมพ์หนังสือไปด้วย     พอนกมาผมก็หันไปถ่ายรูปเสียทีหนึ่ง     พร้อมทั้งนึกในใจว่ามันมาวันละ 2 – 3 รอบ
   
         เช้าวันที่ 13 ผมใช้เกมรุก คือออกไปถ่ายรูปจากหลายๆ มุม     จึงพบว่า ในเวลาชั่วโมงเดียว นกกินปลีมาเกือบสิบรอบ โดยผมไม่ทราบว่าเป็นตัวเดียวกันหรือไม่    แต่รู้สึกว่าเป็นชนิดเดียวกัน    ผมถ่ายรูปนกได้หลายสิบรูป แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นตัวนกหรือเห็นไม่ชัด ต้อง delete รูปทิ้งไป   

         ผมถ่าย ไฟล์ จาก SD Card ทั้งที่ถ่ายเมื่อวันที่ 12 และ 13 ลงคอมพิวเตอร์เพื่อดูผลงาน    และเอาหนังสือ A Guide to the Birds of Thailand โดย Boonsong Lekagul & Philip D. Round, 1991 มาเปิดดูเปรียบเทียบรูป     ก็พบว่าน่าจะเป็นนกกินปลีอกเหลือง (Nectarinia jugularis) ซึ่งพบได้ทั่วประเทศ     และน่าจะมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย 

                       

นกกินปลีอกเหลือง รูปนี้เห็นปีกที่กระพือมุมกว้างมาก เห็นคอสีม่วง อกเหลือง

                       

นกกินปลีอกเหลือง มันเกาะนิ่งให้ถ่ายได้หลายรูป แต่พื้นท้องฟ้าสว่างมาก จึงได้แต่รูปร่าง ที่บอกว่าปากไม่ยาวมาก หางสั้น

                       

                     นกกินปลีอกเหลือง รูปที่เห็นตัวชัดที่สุด

                       

                     นกกินปลีอกเหลือง ถ่ายจากด้านล่าง-หลัง

                       

นกกินปลีอกเหลือง ท่ากระพือปีกดูดน้ำหวานจากดอกประทัดไต้หวัน

                        

                  รูปนี้ถ่ายวันที่ 18 ส.ค. 50 แสดงอีกอิริยาบถหนึ่ง

                        

                           รูปนี้ก็ถ่ายวันที่ 18 ส.ค. 50 เช่นกัน  

วิจารณ์ พานิช
13 ส.ค. 50

หมายเลขบันทึก: 122285เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2007 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
นกปลีกล้วยมีอยู่เยอะมากค่ะใน มอ.
ผมคิดว่าถ้าถ่ายนก บางทีช่วง 200mm อาจยาวไม่พอครับ

กำลังฝึกดูนก และฝึกถ่ายภาพนกอยู่ค่ะ ดีจังเลยได้ความรู้เพิ่ม จะลองไปฝึกดูนะ่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท