แลกเปลี่ยนเรียนรู้ transformative learning ครั้งที่ 2



ผมได้รับ อีเมล์ จาก ศ. ดร. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ ดังต่อไปนี้

“เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ transformative learning ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นที่ รร มิราเคิลแกรนด์ เป็นการจัดสืบเนื่องจากการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 1 เมื่อ 27-28 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ตั้งเป้าหมายเพื่อให้อาจารย์ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งแรก และได้กลับไปลองทำการจัดการเรียนรู้แบบ transformative learning ได้กลับมาเล่าเรื่องราวของตนให้คนอื่นๆ ฟัง เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรุ้ซึ่งกันและกัน และเป็นการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต ต้องขอบคุณทาง อ รายิน รองอธิการบดี วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ที่ได้ให้งบประมาณการจัดประชุมครั้งนี้และครั้งที่ผ่านมาผ่านทางวิทยาลัยฯ

ตอนเริ่มเตรียมงาน ทางกลุ่ม transformative learning ได้พยายามติดต่ออาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งแรกและสนใจมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ตนเองไปลองทำดู ปรากฎว่ามีผู้สนใจเสนอมาส่วนหนึ่ง สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมครั้งที่แล้วก็มีตอบรับมาบางส่วน ต้องทำการเปิดรับอิสระนอกเหนือจากกลุ่มคนที่เข้าร่วมประชุมครั้งที่แล้วเข้ามาด้วย กิจกรรมส่วนเตรียมงานและประสานสถานที่ต่างๆ ต้องขอบคุณทางคุณพิชญ์นาฏ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และคุณสุมนมาลย์ MedResNet ที่ช่วยจัดการงานธุรการและเรื่องการเงินต่างๆ จนผ่านไปด้วยดี ถึงแม้ทางกลุ่มจะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดอยู่ตลอดเวลาก็ตามที

เริ่มกิจกรรมโดย อ พัฒน จากวชิรพยาบาลได้ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม check-in โดยแนะนำตนเอง และบอกถึงเหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ช่วงนี้ทำให้เห็นได้ว่าคนที่มาร่วมกิจกรรมนอกเหนือจากคนที่เคยมาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งที่แล้ว ที่เหลือส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนๆ ใน social media ของสมาชิกในกลุ่ม transformative learning ด้วย เหมือนกับเป็นรายการ fan meeting ยังงัยยังงั้น และครั้งนี้นอกจากอาจารย์ในสถาบันผลิตแพทย์แล้ว ยังมีอาจารย์พยาบาล อาจารย์เภสัช นักวิชาการอิสระมาร่วมด้วย หลายคนเคยผ่านประสบการณ์ transformative learning มาบ้างแล้ว แต่ก็สนใจมาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน

จากนั้นเริ่มกิจกรรมโดย อ พัฒน นำเสนอในช่วง showcase 1: Space for reflection. You can do it. เล่ากิจกรรมการ check-in และ check-out ที่อาจารย์เขาทำที่วชิรพยาบาล โดยการ check-in เป็นการให้ผู้เรียนดึงสติกลับมาอยู่กับตนเองก่อนที่จะเริ่มเรียนรู้ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนให้เห็นว่าทั้งผู้สอนและผู้เรียนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ทำให้ผู้เรียนมีจิตใจอยู่กับปัจจุบัน โดยให้ผู้เรียนสามารถสะท้อนได้ทั้งความรู้สึกและความคาดหวัง ทักษะสำคัญที่ใช้คือการฟังอย่างลึกซึ้งบนพื้นฐานบรรยากาศความรักและการยอมรับซึ่งกันและกัน ผู้สอนต้องมีใจเปิดกว้างน้อมรับฟังทุกความเห็นของผู้เรียนถึงแม้ว่าจะเป็นความเห็นเชิงลบก็ตามก็มีการแลกเปลี่ยนเรื่องราวดังกล่าวบนพื้นฐานของคุณค่าแต่ละคนที่ยึดถืออยู่ การ check-in ยังทำให้ผู้สอนรับรู้ถึงบรรยากาศในการเรียนที่จะเกิดขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ได้อีกด้วย การที่จะทำ check-in ได้ประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งขึ้นกับลักษณะตัวตนภายในของผู้สอนด้วย ผู้เรียนจะรับรู้ได้ถึงลักษณะตัวตนภายในของผู้สอนที่แสดงออกมาสู่การกระทำ และจะยึดเป็นแบบอย่างจากสิ่งที่ทำ ไม่ใช่สิ่งที่ผู้สอนพูด จากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นการเรียนรู้ก็ให้ผู้เรียน check-out เป็นการสะท้อนหลังจบการเรียนรู้ เป็นเครื่องมือประเมินตนเองของผู้เรียนเพื่อดูพัฒนาการเรียนรู้ ผู้สอนต้องเคารพความแตกต่างในรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน และเปิดรับฟังเสียงสะท้อนทั้งเชิงลบและเชิงบวก บนพื้นฐานของความเคารพและฟูมฟักการเติบโตภายในของผู้เรียน ผมฟัง อ พัฒน เล่าเรื่อง check-in และ check-out มาหลายครั้งแล้ว แต่ทุกครั้งที่ได้ฟังได้รับสิ่งใหม่ๆ จากอ พัฒนเสมอ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของ อ พัฒนที่มีต่อผู้เรียนและทุกๆ คน ในฐานะเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก หลังจากกิจกรรมได้แบ่งกลุ่มย่อย 3 คน ให้แลกเปลี่ยนกันในกลุ่มเพื่อให้ได้ชิมลางการทำ reflection และ discourse อาจารย์ที่อยุ่ในกลุ่มย่อยผมอาจยังไม่ค่อยเข้าใจรายละเอียดวิธีการทำ check-in, check-out แต่คิดกันว่าจะลองเอาไปทำดูในชั้นเรียนครั้งต่อไป

กิจกรรมที่ 2 เป็นกิจกรรม showcase 2: communication skill teaching for 2nd year medical students โดยอาจารย์ปวรุตม์จากสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ ปวรุตม์มาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งที่ 1 เมื่อเดือนพฤษภาคมแล้วกลับไปได้รับมอบหมายให้สอนทักษะการสื่อสารแก่นักศึกษาปีที่ 2 อาจารย์เขาจึงลองนำ transformative learning ไปใช้ โดยสืบค้นจาก internet จะพบคลิปสั้นๆ ใน facebook page ของ  Thai Transformative Learning for Medicine https://www.facebook.com/ThaiTTMD/    อ ปวรุตม์ได้เปลี่ยนจากชั่วโมงบรรยายเป็นใช้กระบวนการ active, collective, และ transformative leaning โดยจัดการเรียนรู้ให้มีการลงมือทำจริง (experiential learning) จากนั้นมีการสะท้อน (reflection) และสุนทรียสนทนา (dialogue) โดยเรียนรู้เกี่ยวกับระยะห่างระหว่างผู้สื่อสาร การใช้วจนและอวจนภาษา อุปสรรคของการสื่อสาร จากนั้นแบ่งกลุ่มย่อย 3 คนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และทำการประเมินผลนักศึกษาโดยการประเมิน mindset ให้ตอบโจทย์สมมติว่าหากเป็นอาจารย์ผู้สอนนักศึกษาให้เกิดทักษะการสื่อสารจะมีแนวทางและการปฏิบัติอย่างไรบ้าง นักศึกษาหลายคนตอบว่าอาจารย์ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีในการสื่อสาร สิ่งที่ผมชื่นชม อ ปวรุตม์ คือการที่ อ ปวรุตม์มีความกล้าที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อาจารย์เขาใช้เวลาไม่กี่เดือนจัดทำกิจกรรมที่ออกมาได้ดีมาก หลังกิจกรรมได้แบ่งกลุ่มย่อย 3 คน และฝึกประสบการณ์ reflection และ discourse เช่นกัน กลุ่มย่อยของผมสะท้อนว่าปัจจัยสำคัญในการจะจัดการเรียนรู้ให้สำเร็จคือความกล้าที่จะก้าวข้ามความกลัวของตนเองทำในสิ่งที่ตนเองเชื่อมั่น

กิจกรรมที่ 3 showcase 3: training empathic communication workshop in Kyoto โดยอาจารย์สตางค์จากศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น อ สตางค์ เล่าประสบการณ์การไปจัด workshop ในการประชุมวิชาการแพทย์เวชศาสตร์ครอบรัวเอเชียแปซิฟิค (WONCA) ที่เกียวโต ญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อ สตางค์เตรียมตัวโดยออกแบบ workshop เป็นแบบลงมือทำจริง (experiential learning) เชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ไม่ว่าเป็นเชื้อชาติใด ฝึกการฟังและจับประเด็นภาษาอังกฤษ ใช้ slide ที่สื่อสารเนื้อหาได้กระชับตรงประเด็น และผ่อนคลายอยู่กับปัจจุบัน อ สตางค์ให้ผู้เข้าร่วม workshop นั้นได้ฝึก empathy ในระดับ affective (emotional) empathy คือ สามารถตอบสนองทางอารมณ์ต่อภาวะจิตใจของคู่สนทนาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่การเยียวยาและเกิดการเปลี่ยนแปลงในที่สุด กิจกรรมแรกที่ อ สตางค์จัดที่เกียวโตคือให้ check-in โดยเรียนรู้ถึงความรู้สึกและรับรู้ความรู้สึกของตนเอง และความแตกต่างระหว่างความคิดกับความรู้สึก และให้สังเกตทั้งจากวจนและอวจนภาษา บางคนไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีก็สามารถรับรู้กันได้ผ่านทางอวจนภาษา กิจกรรมที่ 2 ให้เรียนรู้คู่สนทนาให้มากขึ้นผ่านการฟังอย่างลึกซึ้งและการตั้งคำถามปลายเปิดที่ทรงพลัง กิจกรรมที่ 3 เล่าเรื่องราวอุปสรรค ปัญหาในการทำงาน และรับฟัง ผ่านกระบวนการฟังอย่างลึกซึ้งและให้การสะท้อนอย่างเหมาะสม ส่งผลให้เกิด empathy ที่ดีขึ้น บทสรุปที่ อ สตางค์ได้ร่วมกับผู้เข้าร่วม workshop ที่เกียวโต คือ “just be there” การที่เราอยู่ตรงนั้นรับฟังเรื่องราว ความรู้สึกของผู้เล่า ให้โอกาสผู้เล่าได้สะท้อนตนเองถึงเรื่องราวดังกล่าว และให้ผู้เล่ามีจิตจดจ่อกับเรื่องราวของตนเอง จะทำให้ผู้เล่าคลี่คลายเรื่องราวเหล่านั้นและได้รับการเยียบยาในที่สุด ผมประทับใจ อ สตางค์ที่ก้าวข้ามสิ่งที่ตนเองไม่ถนัด คือ เรื่องภาษาอังกฤษ อาจารย์เขามีความพยายาม และที่สำคัญ อ สตางค์สามารถสื่อสารด้วยหัวใจก้าวข้ามพรมแดนเรื่องภาษาผ่านสัมผัสความเป็นมนุษย์ร่วมโลกด้วยกัน จากนั้นได้ให้แบ่งกลุ่มย่อย 3 คนอีกครั้งให้ reflection และ discourse กิจกรรมทั้ง 3 ที่ผ่านไปในช่วงเช้า กลุ่มย่อยของผมสร้างความประหลาดใจให้แก่ผมมากในกลุ่มสามารถบอกได้ถึงกระบวนการที่ผู้จัดทำให้ผู้เข้าร่วมกล้าพูด เปิดเผยในการทำ reflection และ discourse เพราะ บรรยากาศที่เป็นกันเอง ปลอดภัย ทั้งที่ผู้จัดไม่ได้กล่าวพูดถึงว่าทำไมถึงต้องจัดให้มี reflection และ discourse เลย

เริ่มกิจกรรมที่ 4 ตอนบ่าย showcase 4: introduction to dental journey โดยอาจารย์สุมิตร อาจารย์พิเศษ สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อ สุมิตร ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งแรกตอนเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเมื่อกลับไปได้รับมอบหมายให้จัดการเรียนรู้เตรียมความพร้อมจากการเป็นนักเรียนมาสู่นักศึกษาทันตแพทย์ปี 1 อ สุมิตรได้สนใจการเรียนรุ้ภายในตนเองมาก่อนหน้านี้นานพอสมควรแล้ว อ ได้ใช้กระบวนการ voice dialogue เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจถึงตัวตนที่ตนเองยึดถือ (primary selves) และตัวตนที่ตนเองโยนทิ้งละเลยไป (disowned selves) โดยตัวตนที่ตนเองยึดถือ การจากความคิดของแต่ละคนว่าคุณสมบัติเหล่านี้ยากจะเป็นคุณสมบัติที่ทำให้ตนเองประสบความสำเร็จ และโยนทิ้งคุณสมบัติที่เราคิดว่าจะทำให้เราลำบากหรือล้มเหลวไป การทำเช่นนั้นทำให้เวลาประสบกับเหตุการณ์ที่ต้องอาศัยตัวตนที่เราโยนทิ้งไปแล้วนั้นจะทำให้เราจัดการกับเหตุการณ์เหล่านั้นได้ลำบาก จากนั้น อ ได้ให้นักศึกษาปี 1 check-in ผ่านขนมย้อนวัยที่นักศึกษาอยากย้อนกลับไปกินเหมือนตอนที่เป็นเด็ก จากนั้นให้วาดรูปแสดงว่าตนเองคือใคร เลือกไพ่ความรู้สึก จากนั้นให้แบ่งเป็น 3 หัวข้อ หัวข้อแรกเขียนถึงคณลักษณะของคนอื่นๆ ที่เราไม่ชอบพอเจอแล้วจะปรี๊ด หัวข้อที่ 2 คือ จากลักษณะที่เราไม่ชอบนั้นเราอยากให้เขาเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร และหัวข้อที่ 3 หากมองจากจุดยืนของคนที่เราไม่ชอบลักษณะเหล่านั้นเราจะทำอย่างไร จากนั้นให้นักศึกษาเขียนถึงลักษณะของตนเองที่ยึดถือ และลักษณะของตนเองที่ถูกละทิ้งไป ทำให้นักศึกษาได้เข้าใจถึงตนเองมากขึ้น ผมชื่นชมที่ อ สุมิตร มีความสามารถในการนำสิ่งที่ตนเองสนใจมาถ่ายทอดสู่ผู้เรียนผ่านลักษณะท่วงทีของอาจารย์เองได้เป็นอย่างดี

กิจกรรมที่ 5 showcase 5: empathy enhancement through…deep listening โดยอาจารย์จิตรวีณา จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า อ จิตรวีณาเริ่มจากการกล่าวขอบคุณครูอาจารย์ที่ทำให้ อ จิตรวีณามีการรู้ซึ้งถึงตนเองและมีทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง และแรงบันดาลใจของอาจารย์ที่สำคัญคือคุณพ่อที่ถึงแม้ท่านอายุมากแล้วแต่ท่านยังอยากแสดงให้เห็นว่าท่านสามารถทำอะไรด้วยตนเองได้ ทำให้อาจารย์ละความคาดหวังที่มีต่อคุณพ่อได้ อาจารย์เอาต้นทุนและแรงบันดาลใจเหล่านี้มาสอนนักศึกษาในรายวิชาสรีรวิทยาโดยการจัด mindfulness workshop อาศัยการ check-in, check-out ผ่านสุนทรียสนทนา จัดกิจกรรมเกมไพ่ไขชีวิตให้แก่แพทย์ประจำบ้านเวชศาสตร์ครอบครัว จัดกิจกรรม reflection ผ่านกิจกรรมวาดภาพ เล่าเรื่องแบ่งปัน เขียนสะท้อนและแสดงละครแก่นักศึกษาแพทย์ และมีการให้เขียนจดหมายให้กำลังใจ (letter of empowerment) ในนักศึกษาผู้ช่วยพยาบาล และปิดท้ายด้วยการเล่าเรื่องราวของคุณแม่ว่าชอบหมอที่รับฟังคนไข้มากกว่าหมอที่เก่งแต่ไม่รับฟังคนไข้อย่างลึกซึ้ง ผมซาบซึ้งใจ อ จิตรวีณามากที่ อ กล้าที่จะนำเรื่องราวของตนเองมาเล่าสู่กันฟังแก่คนแปลกหน้า โดยที่ อ สามารถควบคุมอารมณ์ของตนได้เป็นอย่างดี

ปิดท้ายกิจกรรม โดย อาจารย์วรรณดี จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาเล่าเรื่องการประเมินผลใน transformative learning โดยอาจารย์เล่าถึงความเป็นมาของ transformative learning และสรุปการประเมินผลว่าต้องประเมิน 3 ระดับ คือ 1) point of view ประเมินด้วยการทำ critical reflection เพื่อดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงภายในอย่างไร 2) habit of mind ประเมินด้วยการ discourse ดูว่ามุมมองต่อโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และ 3) frame of reference ประเมินด้วย perspective transformation ว่ามีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์อย่างไร ฟังอาจารย์วรรณดีทีไรได้มุมมองใหม่ๆ ทุกครั้ง เสียดายเวลาน้อยเลยไม่ได้อภิปรายให้แตกฉานมากขึ้น แต่ถ้าให้ผมรวมที่ อ สตางค์พูดเรื่อง just be there เข้ากับการประเมิน 3 ระดับที่ อ วรรณดีแนะนำ การที่เราจะประเมิน transformative นักศึกษาต้องให้อาจารย์อยู่กับปัจจุบันของนักศึกษาและประเมินทั้ง 3 ระดับอย่างมีสติเปิดใจลึกซึ้งจึงจะสำเร็จ

ผมเขียนไปจากความทรงจำบางเรื่องอาจลืมเลือนผิดเพี้ยนไป ต้องขออภัยด้วยครับ สิ่งที่ผมได้คือ กำลังใจ แรงบันดาลใจ และคาดว่าการจัดกิจกรรมเหล่านี้เรื่อยๆ จะทำให้เกิดกำลังใจ แรงบันดาลใจแก่กันและกันต่อไป ขอบคุณครับ”

ขอขอบคุณ อ. หมอสุรศักดิ์ที่ส่งข้อเขียนสะท้อนคิดนี้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ส.ค. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 669060เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2019 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2019 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท