เมื่อผมไปเสวนาการเมืองนำการทหาร


ไม่ควรที่รัฐบาลจะทุ่มงบประมาณลงไปในเรื่องนี้เพราะมันจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการค้าสงครามขึ้น แต่ควรเน้นการสร้างความเป็นธรรมในคนในชายแดนภาคใต้

        เมื่อวานนี้แหกขี้ตาตื่นตั้งแต่ตีห้าครึ่ง อาบน้ำแต่งตัวเสร็จ เดินทางไปสนามบินภูเก็ต ขึ้นเครื่องไปร่วมงานสัมมนา การเมืองต้องนำการทหาร : ทิศทางแก้ปัญหาถภาคใต้สู่ความยั่งยืน ได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ว่าจะให้ผมเป็นพิธีกร และจะให้ผมเกริ่นนำเรื่องการทำงานของคณะกรรมการยกร่างรายงาน ที่เหลือก็จะเป็นเรื่องของผู้อภิปราย ผมก็รับปากเพราะมันของกล้วยๆ

        พอไปถึงโรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนแวนชั่น น้องเขามาบอกว่าให้พี่เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย อ้าว...ถ้าบอกตั้งแต่ตอนอยู่ภูเก็ตจะได้เตรียมตัวเพื่อดำเนินการอภิปรายให้ออกรสชาติ เพราะเอกสารดีๆที่คัดแยกไว้อยู่ที่บ้าน จะหาใหม่มาทบทวนก็ไม่ทันแล้วเพราะ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ท่านขึ้นเวทีแล้วรายการต่อไปก็ถึงพวกเราต้องนำเสนอ ไม่เป็นไรถึงไหนถึงกันก็พอรู้อยู่บ้างแหละน่า...ไม่ถึงขนาดตกเวทีกลิ้งลงมาแน่..อิอิ

          ผมได้ฟังท่านพูดบ้างไม่ได้ฟังบ้างเพราะหูหนึ่งฟังท่าน อีกหูต้องฟังสิ่งที่เขาต้องการให้ผมพูดบนเวที อิอิ เอาเป็นว่าผมจับใจความได้ว่าท่านเห็นว่าการเมืองยังไม่นิ่ง จึงทำให้การทำงานร่วมกับทหารด้อยประสิทธิภาพ และงานด้านทหารก็มีความสำคัญในการสนองตอบงานการเมือง และไม่ควรที่รัฐบาลจะทุ่มงบประมาณลงไปในเรื่องนี้เพราะมันจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการค้าสงครามขึ้น แต่ควรเน้นการสร้างความเป็นธรรมในคนในชายแดนภาคใต้ และเสนอแนะให้ทหารหันกลับไปดูนโยบาย ๖๖/๒๓ สมัย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านได้ดูข้อเสนอของพวกเราและกล่าวสนับสนุนว่า

        ๑.ต้องสร้างจินตนาการใหม่ว่าเมืองไทยมีความหลากหลาย จึงต้องสร้างสันติบนความหลากหลายของคนทุกเชื้อชาติศาสนา

        ๒.ต้องกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

        ๓.ต้องสร้างความเชื่อมั่นว่ามีความยุติธรรมจริง

        ๔.ด้านเศรษฐกิจให้ปัตตานีเป็นศูนย์อาหารฮาลาลเพื่อสร้างอาชีพแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งน่าจะส่งผลคลี่คลายความขัดแย้งได้ส่วนหนึ่ง

        ๕.ให้ปัตตานีเป็นศูนย์กลางศึกษาอิสลามของโลก เพื่อให้คนในพื้นที่ภูมิใจในอัตลักษณ์

        หลังจากศาสตราจารย์ประเวศ วะสี กล่าวสนับสนุนให้รัฐนำสี่หัวข้อหลักที่พวกเรานำเสนอขับเคลื่อนให้ได้แล้ว ก็เป็นหน้าที่ลุงเอก(พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ) ได้พูดถึงกรอบคิดและทิศทางของข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์ต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ด้วยสันติวิธี  ลุงเอกได้เน้นเรื่องการเมืองนำการทหารให้เน้นงานการเมืองในเชิงรุกและยังเห็นว่าที่ผ่านมาการแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้ใช้การเมืองนำการทหารอย่างแท้จริง

จากนั้นก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพวกเรานำเสนอ ซึ่งทำได้ค่อนข้างดีไม่อยากคุย...อิอิ เพราะฟังจากการตอบรับหลังจากลงจากเวที แต่เวลาค่อนข้างจำกัดเหลือเกิน ลุงเอกจะให้พูดเพียงคนละ ๕ นาที ผมว่ามันจะอึดอัดเกินไปสำหรับผู้อยู่บนเวที แค่บังยุบ(มูฮำมัดอายุบ ปาทาน)เพื่อนเราคนเดียวก็ฟาดเข้าไปถึง ๑๕ นาที แต่ผมจับอารมณ์ผู้ฟังมันไปกับบังยุบเลยแกล้งปล่อยเวลาให้บังยุบอัดเรื่อง การใช้การเมืองเชิงรุกนำการทหารเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เสียดายที่คู่หู(พี่ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ) ไม่มา ไม่งั้นมันกว่านี้ เพราะอายุบสรุปภาพชัดเลยว่าปัญหาภาคใต้มาจากเรื่องแบ่งแยกดินแดนเป็นเรื่องหลัก เพราะในเชิงวิชาการมันมีพฤติกรรมต่างๆที่ตรงตามทฤษฎี  และยังเห็นงานด้านการทหารเป็นความต่อเนื่องของงานการเมืองซึ่งเห็นว่างานการเมืองเป็นงานที่ต้องต่อสู้ทางความคิดและเห็นว่าภาครัฐยังตามไม่ทัน ที่บอกว่าการเมืองนำการทหารนั้นยังมองไม่เห็น และเห็นว่าภาครัฐยังสะเปะสะปะ  จริงๆแล้วรัฐจะต้องเป็นฝ่ายรุกทางการเมืองตลอดเวลา แล้วตามด้วยการทหาร และงานการทหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่องานการเมืองก็จะกลายเป็นผลงานของฝ่ายขบวนการไป

        ต่อจากนั้น รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ในฐานะนักศึกษา สสสส.๑ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการยกร่างรายงานฯ) ก็มาพูดให้ฟังเรื่อง Peace talk ว่าเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเราจะต้องขับเคลื่อนให้มีการเปิดพื้นที่ในการพูดคุยอย่างสันติ ซึ่งเรื่องการทำ Peace Talk พวกเราบางส่วนได้ยกโขยงไปที่ตรังกานู ไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐมาบ้างแล้ว

        ถัดจากนั้น รศ.เสาวนีย์ จิตต์หมวด อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (ในฐานะนักศึกษา สสสส.๑) ก็มาพูดให้ฟังในหัวข้อการสร้างพลังประชาชนทุกภาคส่วน/วัฒนธรรมในรูปเครือข่ายสันติภาพชายแดนใต้ ว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่คนในสังคมต้องช่วยกันเพื่อให้เกิดพลังในการสร้างสันติภาพให้กลับคืนมาให้ได้

        จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของคุณอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (ในฐานะนักศึกษา สสสส.๑)ได้พูดถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม/กลุ่มพลังวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนก็มักเกิดปัญหากับเจ้าพนักงานของรัฐที่มองกลุ่มพลังเหล่านี้ว่ามาสร้างความยุ่งยาก

        คุณปองจิต สรรพคุณ ผอ.ฝ่ายละครชุมชนมูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม) (ในฐานะนักศึกษา สสสส.๑)มาพูดให้ฟังถึงการสื่อสารสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม ว่าเพราะการสื่อสารของเราเข้าไม่ถึงชาวบ้านหรือเปล่า ทำไมเราไม่สร้างสื่อที่พูดถึงสิ่งดีๆของทั้งฝ่ายภาครัฐ และฝ่ายชาวบ้านในพื้นที่บ้าง แทนที่จะนำเสนอแต่ภาพการสูญเสีย (ยังมีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 272652เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2009 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)
  • จะมาติดตามอ่านอีกครับ ประเด็นที่แต่ละท่านพูดค่อนข้างน่าสนใจมากและอยากให้นำข้อคิดเห็นต่างๆมาร่วมกันผลักดันเดินหน้าแนวทางการแก้ไขป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป
  •  ป.ล. อยากได้ความคิดเห็นของท่าน ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกิยา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ครับ ฝากท่านอัยการช่วยเอามานำลงให้ได้อ่านแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันบ้างนะครับ
  • เป็นกำลังใจสำหรับการทำงานทุกภาคส่วน

ผมเพิ่ง จบหลักสูตร พสบ.จชต.5(พัฒนาความสัมพันธ์ผู้บริหาร จังหวัดชายแดนภาคใต้ รุ่น 5) ของกรมกิจการพลเรือนทหารบก ผมว่ากองกำลังทหารที่ทำงานในพื้นที่ รวมถึงผู้บังคับบัญชาในส่วนกลาง "เข้าใจการเมืองนำการทหาร" คนละเรื่องกับที่อ.ประเวศ และวิทยากรทุกท่านที่ท่านอัยการเล่ามา รวมถึงแนวคิดของอัยการชาวเกาะครับ น่าจะจัดสัมนาในกองทัพก่อนครับ

สลามครับ อ.ฟูอ๊าด

เรากำลังสรุปรายงานชุดสมบูรณ์หลังจากฟังท่านนายกฯพูดในวันนั้นแล้ว จากนั้นก็จะทำเอกสารแจกจ่ายเพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้ทำความเข้าใจและช่วยกันสร้างสันติให้กลับมาให้ได้ ผมได้อ่านหนังสือ Depp South เล่มใหม่ สัมภาษณ์หมอดิง อ่านแล้วเข้าใจมุสลิม อ่านแล้วแยกแยะได้ว่าเหตุที่เกิดจริงๆแล้วมุสลิมหรือมลายูเป็นคนทำ การอธิบายมุสลิมกับมลายูให้เข้าใจได้ชัดเจนดีครับ ผมจะนำมาสื่อกับสังคมนี้ต่อไปครับ

ของท่าน ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา จะนำลงในตอนต่อไปครับ เขียนไว้ส่วนหนึ่งแล้วครับ ท่านพูดได้น่าสนใจมาก

ผมพูดกับที่ประชุมในฐานะผู้ดำเนินรายการว่า ท่าน ดร.อิสมาอีลลุตฟี ท่านพูดถึงคุณธรรม เป็นส่วนใหญ่ เพราะมุสลิมอยู่กับศาสนา อยู่กับคุณธรรมจริยธรรมทั้งวัน พุทธเสียอีกที่ได้ชื่อว่าเป็นศาสนาที่อาศัยเหตุผล แต่ไทยพุทธส่วนใหญ่ถือศาสนาแต่ปาก ห่างไกลธรรมเหลือเกิน หลังจากลงจากเวทีมาแล้ว ท่านอาจารย์ได้คุยกับผมและให้นามบัตรผมไว้เผื่อไปทางยะลาจะได้แวะไปทักทายกับท่าน

ขอบคุณ อ.ฟูอ๊าด มากครับที่แวะมาทักทาย

สวัสดีครับคุณคนใต้โดยภรรยา

ทหารกับนักวิชาการและผู้ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนพลังประชาชน มองกันคนละแบบในเรื่องการเมืองนำการทหาร ทหารเข้าใจว่าปฏิบัติการจิตวิทยาเป็นการเมือง ในขณะที่นักวิชาการเข้าใจว่านั่นคือสงครามอีกรูปแบบหนึ่ง แต่งานการเมืองที่พวกเราหมายถึงคือ งานทางความคิด เราไม่ได้ปฏิเสธการใช้กำลังทางทหารเพราะเรารู้ดีว่าทหาร ข้าราชการแต่ละฝ่ายสูญเสียจากการกระทำที่เป็นการลอบสังหารหากไม่ยุติการกระทำพวกนี้ประเทศชาติอยู่กันลำบาก จึงมีความจำเป็น แต่เราไม่อยากเห็นทหารเอาคนไปสอบสวนนอกรูปแบบในภาวะการณ์เช่นนี้เพราะรังแต่จะทำให้ความคิดแตกแยกเพิ่มขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ เพราะเงื่อนไขบางเรื่องเป็นเรื่องเล็กแต่ถูกขยายให้ดูมีความสำคัญ

แต่เราก็อยากให้ทบทวนว่าตั้งแต่มีทหารเข้าไปความรุนแรงเป็นอย่างไร งบประมาณใช้จ่ายไปเท่าไหร่ บางจุดสามารถยกเลิก พรก.ฉุกเฉินได้หรือไม่ ฯลฯ

เราอยากเห็นการใช้ความคิดโต้ตอบ เราอยากเห็นการแก้ปัญหาที่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจข้อเท็จจริง และข้อเท็จจริงต้องถูกต้องตรงกัน แต่นี่ทหารตำรวจว่าไปทาง กลุ่มขบวนการว่าไปทาง ชาวบ้านเข้าใจไปทาง ถ้าเทียบกันว่าใครได้ประโยชน์ผมว่าฝ่ายขบวนการได้ประโยชน์

บางคนบอกว่าเวลาพูดถึงกลุ่มขบวนการอย่าไปแยกว่าเขาอย่างโน้นเราไทยอย่าง

นี้ เพราะเขาก็คือคนไทย ผมก็เลยไม่รู้ว่าใครถูกใครผิดเพราะกลุ่มขบวนการเองเขาไม่เคยรู้สึกว่าเขาเป็นคนไทย แต่เขาเชื่อมั่นของเขาว่าเขาเป็นมลายูปัตตานี เราต้องแยกให้ออกว่าชาวบ้านคือชาวบ้าน กลุ่มขบวนการคือกลุ่มขบวนการ และเราต้องมาแยกให้ได้อีกว่าเชื้อชาติกับศาสนามันคนละอย่างกัน แต่นี่มั่วกันหมดแน่นอนว่ากลุ่มคนที่มีความคิดแบ่งแยกดินแดน เป็นมลายูที่อยู่ในเขตแดนไทย นับถือศาสนาอิสลาม แต่ไม่ใช่มุสลิมทั้งหมดในประเทศหรือในโลกเป็นมลายู เราจะย้อนอดีตกันเพื่ออะไร มลายูบอกเดิมเป็นพื้นที่ของมลายู ไทยก็ยกประวัติศาตร์ว่าก่อนจะเป็นมลายูก็เป็นสยามอีกนั่นแหละ แต่เปลี่ยนไปเพราะผู้ครองแผ่นดินเปลี่ยนไปนับถืออิสลาม มันไม่จบ เอาว่าปัจจุบันนี้จะเอากันอย่างไร

รัฐบาลไทยยอมรับศักดิ์ศรีของมลายูไหม มลายูยอมรับไหมว่าปัจจุบันตามหลักดินแดนเป็นของไทย มลายูยอมไหมที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศไทยด้วยความเสมอภาคเหมือนล้านนา เหมือนนครศรีธรรมราช และมลายูเองจัดระบอบตัวแทนของตัวเองให้เข้มแข็งเพื่อมีสิทธิมีเสียงในระบอบการเมืองไทยอย่างมีศักดิ์ศรี ประเทศไทยต้องมองมลายูปัตตานีเหมือนคนในภาคกลางด้วยความเท่าเทียมกัน อย่างนี้พอรับกันได้ไหม แต่มันต้องมีการพูดคุยกัน อย่างที่เรานำเสนอ Peace Talk นั่นแหละครับ

  • เคยได้ยินครับว่า
  • ยามศึกเรารบ  ยามสงบเราพัฒนา
  • อิอิ สู้ ๆ ครับ

สวัสดีครับพี่อัยการ

เข้าใจมาก ๆ ขึ้นครับ ผมก็งงว่า ทำไมการทหารเรายังไม่ยอมนำข่าวสารชิ้นสำคัญนี้มาวิเคราะห์ ( เรื่องแบ่งแยกดินแดน และประเด็นทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม ) หรืออาจมีการวิเคราะห์ แต่ก็ปกปิดหรือไม่ให้ความสำคัญนัก

ขั้นเปิดการเจรจาน่าจะต้องทำ แต่ไม่ใช่การเจรจาอย่างเป็นทางการในแบบที่ว่าจะเป็นการยกระดับกลุ่มอะไรนั่น การเจรจาคือการทำความเข้าใจ และเปิดพื้นที่การพูดคุยกันให้มากขึ้น การยอมรับตัวตน พื้นที่ของกันและกันนำไปสู่การเจรจาได้อยู่แล้ว คำถามที่ทิ้งท้ายของพี่จึงน่าจะมีผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ ว่าเรายอมรับกันได้แค่ไหน

ผมคิดว่าอย่างไรเสีย การศึกษาเงื่อนไขของกลุ่ม ของประชาชนทั้งหมดในพื้นที่ ความต้องการทางความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ ให้ชัดเจน แล้วค่อยถึงจะมีประเด็นในการพูดคุยกันแล้วเข้าใจกันจริง ๆ ได้

ถ้าเราเรียงเงื่อนไขของพี่น้องเราที่นั่นออกมาได้ ไม่ใช่เราเข้าใจกันว่าเป็นข้อเรียกร้อง ผมก็ว่า การอยู่ร่วมกันจะเป็นไปได้นะ ไม่ยอมรับเงื่อนไขของกันและกันเลยมันก็ถกเถียงกันไม่จบนะครับ ผมว่า

สวัสดีมะเดี่ยว

ขอบคุณที่แวะมากทายครับ

สวัสดีค่ะ

พอลล่าพาดพิงท่านอัยการไว้ที่บันทึกนะคะ

ไปหาดูเอานะคะ อิอิ

สวัสดีครับคุณสุมิตรชัย

ขอบคุณที่มาเติมเต็มให้กับบันทึกนี้

เราต้องการความคิดเห็นที่หลากหลายเพื่อที่จะนำเสนอรัฐบาล รัฐสภา ผู้เกี่ยวช้องกับการแก้ปัญหา และสังคม เพราะเราต่างอยากให้ภาคใต้มีความสงบสุขดังเดิม ตราบใดที่เป็นอยู่อย่างนี้เราจะพัฒนาสามจังหวัดให้เศรษฐกิจดีได้อย่างไร จะมีนักลงทุนที่ไหนกล้ามาลงทุน มีก็แต่ผู้ที่อยากให้เหตุความรุนแรงเกิดเพื่อกว้านซื้อทรัพย์สินในราคาถูก เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นต่อไปอีก

ผมอยากแนะนำหนังสือ Deep South เขานำเสนอเรื่องภาคใต้ได้อย่างน่าสนใจ แต่ละบทความมีข้อเท็จจริง มีข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาได้ เพียงแต่การแก้ปัญหาภาคใต้ สังคมมักอยากเห็นภาคใต้สงบโดยเร็ว แต่ไม่เข้าใจว่าเชื้อที่ฝังไว้นั้นกว่ามันจะหมดฤทธิ์ กว่าจะต้านเชื้อนั้นได้มันต้องใช้เวลา ผมอุปมาการแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยด้ายก้อนหนึ่งที่มีคนไปทำให้มันยุ่งแล้วเพิ่มขมวดปมมันอีกโดยการไปช่วยกระตุกด้าย แล้วทิ้งไปไม่เหลียวแลจนมันบ่มเพาะเชื้อหนักขึ้นรุนแรงขึ้น ถ้าแก้ปัญหาด้วยความโมโหโกรธา มันก็ยิ่งทำให้ด้ายก้อนนั้นเพิ่มปมมากขึ้นยุ่งยากมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องใช้ความใจเย็นแก้ไปทีละเปลาะทีละปม มันต้องมีการวางแผนทำงานเหมือนวางแผนการบริหาร แผนระยะไหนจะทำอะไรเพื่อให้เกิดผลในปีไหน อะไรทำนองนี้

การที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้มันต้องมีการพูดคุยกันทุกฝ่ายครับ เราเข้าถึงชาวบ้านจริงหรือเปล่า ชาวบ้านเข้าใจความจริงหรือเปล่า เราปฏิบัติกับชาวบ้านเท่าเทียมกับที่เราปฏิบัติกับคนส่วนใหญ่ในสังคมหรือเปล่า เราขาดความไว้วางใจกันหรือเปล่า คำถามยังมีอีกมากมายครับ ค่อยๆแก้กันไปครับ

อิอิ กว่าจะหาเจอ เล่นหลอกให้ไปอ่านบันทึก เพราะไม่รู้บันทึกไหน อิอิ

เข้าไปอ่านประจำแต่ไม่ค่อยได้ทิ้งร่องรอย เพราะงานเยอะมากในช่วงนี้

  • ขอเป็นกำลังใจให้ท่านทำงานให้เต็มความสามารถนะครับ ผมไม่ได้ อ.เสาวนีย์นานมากครับ อยากให้ท่านมององค์กรล่างด้วยนะครับ บางครั้งเราแก้กันตามหลักการลืมนึกถึงความเป็นจริง
  • ผมอยากให้ท่านตีโจทย์อันนี้ให้แตก มุสลิมอยู่ตรงไหนมักมีปัญหาตรงนั้นมุสลิมสร้างปัญหาเองหรือใครมาสร้างปัญหาหรือทั้งสองอย่าง โจทย์นี้ละเลยไม่ได้
  • เรื่องฮิญาบผมอยากให้ท่านเสนอไปในวาระเดียวกันเลย โดยเฉพาะข้าราชการครู เพราะดูข้าราชการอื่นเฉยๆ(ผมคิดเองหรือเปล่าไม่ทราบ) รัฐบาลน่าจะทำเรื่องนี้เป็นของขวัญมอบให้มุสลิมช่วงเดือนรอมฏอนที่จะถึงนี้ ได้ใจนะครับ

สลามครับท่านเบดูอิน

การนำเสนอบนเวทีเราพูดแค่นี้ แต่ข้อเสนอของเรายังมีอีกครับ องค์กรล่างเราไม่ลืมหรอกครับ

มุสลิมแท้ไม่มีปัญหาหรอกครับเพราะศาสนาอิสลามสอนให้คนอยู่กันอย่างสันติสุข แต่คนที่อาศัยศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือมักสร้างปัญหา ผมชอบที่หมอดิงพูดว่า ศาสนาอิสลามต้องใช้คนเป็นเครื่องมือ แต่ไม่ใช่คนใช้ศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือ เพราะมันไม่ถูกต้อง กลุ่มผู้ก่อการใช้ศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือเพื่ออ้างการก่อสงคราม ทั้งๆที่คำสอนไม่เป็นอย่างนั้นไม่ใช่หรือ ใครที่รุกขับไล่มุสลิมออกจากแผ่นดินต้องสู้ แต่ภาคใต้ใครไปรุกขับไล่อย่างนั้นหรือ อ่านหนังสือ Deep South เล่มใหม่ Change ไฟใต้ ได้ข้อมูลดีมาก ผมชอบสัมภาษณ์หมอดิงเรื่อง ศาสนาอิสลาม กับ เชื้อชาติมลายู ว่าคนละส่วนกันแต่ผู้แสวงหาผลประโยชน์เอามารวมกัน ลองหาอ่านดูนะครับ

มุมมองภาครัฐกับพวกเรามองอาจจะไม่เหมือนกัน เพราะปัญหาที่รุมเร้ามีหลายเรื่อง โอกาสที่จะหยิบเรื่องนี้มาพูดก่อนค่อนข้างยาก เพราะรัฐต้องแก้ปัญหาไปวันๆ แต่ที่พวกเรากำลังมองก็คือการสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น พอเราพูดถึงมุสลิม รัฐก็จะพุ่งไปที่ภาคใต้ แต่เรากำลังมองถึงการสร้างความไว้วางใจให้กับมุสลิมทั้งประเทศเพื่อให้เขาสื่อความถูกต้องเข้าหากัน เราถือว่านี่เป็นงานการเมืองงานหนึ่งที่รัฐควรต้องทำ/เรื่องการศึกษาอย่าไปเน้นที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนในเบื้องต้น ทำอย่างไรให้เขาได้เรียนรู้ด้วยกันทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมโดยเฉพาะมลายูปัตตานี(ที่พูดอย่างนี้เพราะต้องการให้รับฟังซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เหมารวมไปที่มุสลิม(เพราะฟังดูเหมือนว่าไทยพุทธกำลังมีปัญหากับมุสลิมซึ่งมันไม่ใช่)

ผมพยายามรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับการคลุมฮิญาบ หาข้อมูลกฎกระทรวง,พรบ.การแต่งกายของข้าราชการ เพื่อดูว่ากฎหมายเขียนอย่างไรกันแน่ เพราะถ้าเขียนว่าเครื่องแบบข้าราชการต้องเป็นอย่างนี้ ๑,๒,๓...พอไม่เขียนเรื่องผ้าคลุมผมฮิญาบ ไว้ในกฎหมายหรือในกฎกระทรวง ก็มักตีความว่าเพราะฮิญาบไม่เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบจึงแต่งไม่ได้ และหาทางออกให้ว่า การถ่ายรูปเพื่อติดบัตรเขาให้แต่งชุดเครื่องแบบก็ได้ ชุดสากลก็ได้ ผู้หญิงแต่งกายแบบคลุมฮิญาบในชุดสากลจึงไม่ถูกห้าม

ทำแล้วต้องให้ได้ผลจริงด้วยครับ เพราะทราบจาก อ.เสาวนีย์ว่า เคยมีการดำริทำเรื่องนี้มาครั้งหนึ่งแล้วโดยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมการปกครอง แต่เรื่องเงียบหายไป ผมอยากตามเรื่องนี้เพื่อจะได้รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหนเพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุดครับ

งานนี้สำเร็จได้ด้วยทุกฝ่าย  แต่เพียงเป็นจุดเริ่มต้น  หลายๆคนคิดว่าทำแล้วๆ  แต่คนในพื้นที่บอกยังไม่ได้ทำ  ที่ทำอยู่มันไม่ใช่  เถียงกันไปใย  นั่งลงมาพูดจากันทำความเข้าใจกัน  แบ่งปันความรู้ความคิด  นี่แหละ Peace Talk ที่หลายๆคนไปตีความว่าเจรจาและมาปฏิเสธ  ช่างคิดแต่ปัญหาแท้ๆ

ขอบคุณลุงเอกที่มาเติมเต็มบันทึกครับ

"...ศาสนาอิสลามต้องใช้คนเป็นเครื่องมือ แต่ไม่ใช่คนใช้ศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือ เพราะมันไม่ถูกต้อง กลุ่มผู้ก่อการใช้ศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือเพื่ออ้างการก่อสงคราม ทั้งๆที่คำสอนไม่เป็นอย่างนั้นไม่ใช่หรือ ใครที่รุกขับไล่มุสลิมออกจากแผ่นดินต้องสู้ แต่ภาคใต้ใครไปรุกขับไล่อย่างนั้นหรือ"...

แล้วใครกันจะที่มีความกล้าหาญไปช่วยทำหน้าที่อันสำคัญนี้...เพราะทุกวันนี้  ที่ร่วงเหมือนใบไม้มันไม่ได้มีแต่ไทยพุทธ  อิสลามก็ตกเป็นเหยื่อไม่เว้นแต่ละวัน...

ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่อยู่ค่ะ

  • สวัสดีค่ะท่านอัยการ
  • ครูอิงแวะมาอ่านบันทึก อ่านข้อคอมเม้นท์ เพื่อเพิ่มเติมความรู้สำหรับตัวเองค่ะ
  • ชื่นชอบที่ท่านอัยการตอบเม้นท์ของสมาชิกได้ละเอียด
  • และไม่เหนื่อยที่จะตอบ
  • ครูอิงขอบพระคุณมากค่ะที่แวะไปให้กำลังใจครูอิงที่ "ลานดิน กลิ่นหญ้า"
  • สองสามวันมานี้ครูอิงมีเรื่องขบคิด เป็นเรื่องของครอบครัวเพื่อนบ้าน ที่อยู่กันมานานเสมือนญาติ เขามีปัญหาครอบครัวแบบคาราคาซังหน่ะค่ะ
  • กำลังตัดสินใจว่าจะเรียนปรึกษาท่าน เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อกฏหมายด้วยค่ะ
  • ครูอิงอาจจะขึ้นเป็นบันทึกเพราะอยากให้เพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ได้ให้ข้อคิด แนะนำ ด้วย
  • ตอนนี้กำลังเรียบเรียงเหตุการณ์ และ เรียบเรียงว่าจะเขียนอย่างไรดี อยู่ค่ะ
  • พร้อมจะขึ้นบันทึกเมื่อไหร่ จะมากราบเรียนเชิญท่านอัยการไปให้คำชี้แนะนะคะ
  • ขอบพระคุณท่านมากค่ะ  ขอความดีคุ้มครองให้มีความสุขเสมอ ๆ นะคะ
  • มากราบขอบพระคุณท่านอัยการฯ ที่แวะไปเยือน กล้วยไม้ฯ และให้ข้อสังเกตที่ดีมากนะครับ
  • ผมระลึกถึงท่านในแนวทางการทำงานมากเสมอมาครับ
  • ภูมิใจที่ท่านได้เป็นหนึ่งในสาระหลักแห่งชาติบ้านเมืองนะครับ
  • ผมเสียอีก ที่โลกมันแคบจังเลยครับ
  • ขอเป็นกำลังใจท่านเสมอไปนะครับ

สวัสดีครับ ท่าน  การเมืองเรื่องสำคัญดีใจที่ได้คนดีมีคุณภาพไปทำงานให้บ้านเมือง  เป็นกำลังใจให้ท่าน ขอให้ทำงานประสบความสำเร็จครับ  ด้วยความเคารพบันถือ และจริงใจ ครับท่าน

มาคารวะท่านอัยการด้วยความระลึกถึงค่ะ ไม่ได้เเวะมานาน

สวัสดีครับคุณจินตนา ในที่ประชุมเขาก็บอกกันว่าก็ในเมื่อปัญหาภาคใต้มันเหมือนเป็นเรื่องในครอบครัว คนในครอบครัวก็ต้องช่วยกันแก้ไข ดังนั้น ปัญหาภาคใต้ซึ่งมีปัญหาปะปนกันทั้งเรื่องแบ่งแยกดินแดน เรื่องผลประโยชน์ เรื่องการบิดเบือนคำสอนทางศาสนา เรื่องที่ภาครัฐกระทำต่อเขาด้วยความไม่เป็นธรรมทั้งที่ปากบอกว่าเขาคือคนไทย เรียกเขาว่าไทยมุสลิม แต่ให้ความเป็นธรรมกับเขาไหม สร้างความแตกแยกให้เขาเองด้วยการที่ประกาศว่า ใครไม่เลือกก็ไม่สนับสนุนงบประมาณให้ การจัดการต้องเด็ดขาด แล้วเป็นไงปัญหามันรุกลามจนกระทั่งแก้ไม่ตกอยู่ทุกวันนี้ วิธีการที่ถูกต้องคือคนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ข้าราชการในพื้นที่ต้องทำหน้าที่ด้วยความอดทนอดกลั้น แต่ก็ต้องบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายให้ประชาชนเชื่อถือให้ได้ครับ

กำลังจะตอบของน้องอิงจันทร์ไฟฟ้าดับก็เลยออกไปโต๋เต๋นอกบ้าน

พอจะมาตอบก็ถูกตามไปร่วมประชุมมูลนิธิชุมชนภูเก็ต เพิ่งกลับมาครับ

เรื่องปัญหาครอบครัวถนัด สมัยเรียนรามทำวิชากฎหมายครอบครัวได้ดีที่สุดในการเรียนครับ อิอิ

ขอบคุณน้องอิงจันทร์เช่นกันที่แวะมาเยี่ยมบันทึก ยินดีให้คำแนะนำปรึกษาครับไม่ต้องเกรงใจ

สวัสดีครับ อ.ชยพร

ขอบคุณที่ชื่นชม ผมก็ทำงานตามหน้าที่เพียงแต่ใส่ใจหัวอกชาวบ้านมากขึ้นหน่อยเท่านั้นเอง ผมขายความคิดนี้ให้กับอัยการรุ่นน้องๆให้เขาเป็นข้าราชการที่ดีครับ

อาจารย์ก็ทำหน้าที่ของอาจารย์ โลกไม่ได้แคบหรอกครับเพราะอาจารย์มีหน้าที่ปั้นดินให้เป็นดาว งานของอาจารย์มีคุณค่ามากกว่าผมเสียอีก

เป็นกำลังใจให้อาจารย์เช่นกันครับ

สวัสดีครับท่าน ผอ.ประจักษ์

ขอบพระคุณท่านมากที่ให้เกียรติให้คำอวยพร

ผมก็เคารพนับถือท่านเช่นกัน โดยเฉพาะในฐานะผู้บริหารที่เขียนบันทึกให้ผู้นำรุ่นหลังได้ตระหนักครับ

สวุสดีครับคุณสุธีรา

ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมทักทายกันครับ

ขอบคุณท่านอัยการ

ปัญญาเพิ่มขึ้นอีกโข

น่าชวนลุงเอก ทำ KM ให้กองทัพกับรัฐบาลครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท