คิดอย่างไรที่ใช้ Gotoknow ในการเรียนการสอน


"ถ้าผมเป็นอาจารย์ผู้สอน ผมจะไม่ยอมให้นักศึกษา "ตบหัวเล่น" กลางที่ "สาธารณะ" เช่นนี้เป็นอันขาด"

              เช้าวันจันทร์ที่ 3 ก.ค. 2549 หลังผมได้รับข่าวสารจากนิสิตที่แจ้งมาว่า " อาจารย์ อาจารย์ได้เข้าไปอ่านบล็อกที่อาจารย์ มอออ เค้าบันทึกว่านิสิตที่มอเราลอกการบ้านกันหรือยัง เค้าว่าแรงนะอาจารย์"  ผมกำลังกลับจากไปรับเสื้อผ้าและเตรียมตัวจะไปส่งลูกไปโรงเรียนแต่เช้าเนื่องจากลูกต้องนำของไปทำบุญร่วมกับทางโรงเรียน ต้องรีบเข้าเน็ตจากที่บ้าน และค้นหาประเด็นดังกล่าว นึกในใจว่า ประเด็นที่เขาพูดถึง ถ้าในมอเราก็มีอาจารย์ที่ใช้บล็อกของ Gotoknow ในการเรียนการสอนอยู่หลายคน คนหนึ่งก็คือผมนี่แหละ ซึ่งใช้อยู่สองรายวิชา  ซึ่งผมเองได้อ่านประเด็นที่คุณหมอวิจารณ์ เขียนไว้ในประเ็ด็น ขอความเห็นครับ เกี่ยวกับที่ รศ พญ. ปารมี ตั้งคำถามว่า

"การใช้ blog ในการสอนนักเรียน นักศึกษา โดยให้นักเรียนค้นหาความรู้ (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ search มาจากเน็ตนั่นเอง) มาเขียนตอบใน blog จะตรงกับวัตถุประสงค์ของ gotoknow กับการขับเคลื่อน KM ที่ต้องการเน้นการบันทึกและ ลปรร. tacit knowledge หรือไม่    อยากให้ทีมงาน และ สคส. พิจารณาประเด็นนี้ด้วย"

             ซึ่งคุณหมอวิจารณ์ได้ให้ความเห็นไว้ว่า

"ที่จริงผมมีความเห็นว่าการที่อาจารย์ใช้ในการเรียนการสอนเป็นสิ่งดีครับ    แต่ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่เกิดโทษ    การที่ นศ. ทำการบ้านส่งครูแบบค้นเน็ตแล้วตัดแปะสำหรับผมถือว่าผิดจริยธรรม และเป็นการฆ่าตัวตาย    เพราะจะเป็นการเรียนแบบไม่เกิดปัญญา     และอาจารย์ที่สนับสนุนหรือยอมให้ลูกศิษย์ทำเช่นนั้น ในสายตาของผมเป็นอาจารย์ที่ใช้ไม่ได้  "
 ผมเองหลังจากได้อ่านบันทึกนี้แล้วก็ได้ให้ความเห็น ณ เวลานั้นไว้ว่า
" คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้ Gotoknow เป็นคนในแวดวงการศึกษา และทำ KM ไปด้วย จะว่าไปแล้วการสอนและการวิจัยก็เป็นงานหลักของคนกลุ่มนี้ และดูเหมือนว่าการสอนจะเป็นงานหลักด้วยซ้ำไป และการที่ผู้สอนได้เห็นได้พบในสิ่งที่ดีๆ แหล่งความรู้ รวมถึงเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสิ่งหนึ่งที่ที่อื่นไม่มี แต่มีใน gotoknow เช่น
  • ความเป็นชุมชน
  • เนื้อหาที่ค่อนข้างเชื่อถือได้เพราะมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
  • เนื้อหาที่ไม่สามารถหาได้ในหนังสือซึ่งเป็นแต่ทฤษฎี แต่ที่นี่เป็น ประสบการณ์
  • และที่สำคัญมีผู้เขียนที่ต้องรับผิดชอบ มีตัวตน โต้ตอบได้

    ดังนั้นผมว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่ครู อาจารย์  ทั้งหลายจะไม่หยิบยืมเครื่องมือทั้งหลายมาใช้ในการเรียนการสอน และแนะนำสิ่งที่ดีๆ เหล่านี้ให้กับลูกศิษย์ และที่สำคัญคือฟรี           ดังนั้นผมเห็นด้วยกับนายบอน ความเห็นที่ 6 และ อ.จันทรวรรณ นะครับ ว่าเรื่องความเร็วก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องนโยบายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

          แต่จริงๆ แล้วคำพูดของคุณหมอวิจารณ์ ที่ว่า "อาจารย์ที่สนับสนุนหรือยอมให้ลูกศิษย์ทำเช่นนั้น ในสายตาของผมเป็นอาจารย์ที่ใช้ไม่ได้  " มันก้องอยู้ให้หัวผมตลอดเวลา และ ผมเองก็อยู่ในกลุ่มของคน KM ซึ่งใช้ Gotoknow อยู่ด้วย เป็นต้นเหตุให้ gotoknow ล่าช้าเพราะการใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ ในช่วงนี้ผมก็ได้พยายามไม่ให้ลูกศิษย์ เข้ามาใช้ผิดช่องทาง ซึ่งตอนนี้ก็มีช่องทางอื่นๆ เช่น ตอนนี้ผมเริ่มให้นิสิต อ่านหนังสือที่น่าสนใจ 8 เล่ม คือ 1.Literal Thinking  2.Rethinking the Future 3.as the future catch you 4.six thinking hat 5.The road a  head 6. Business@The Speed of Thought using A Digital Nervous System 7.The third wav 8. Next Trend for the near future โดยผมให้ 1) นิสิตอ่านและสรุป 2) ได้อะไรจากเรื่องที่อ่าน 3) อ่านแล้วคิดอะไรต่อ จะไปทำอะไร 4) ยกคำคมจากหนังสือ 3 ประโยค ที่ชอบ และอธิบายว่าทำไมชอบ ซึ่งหนังสือทั้ง 8 เล่ม  ผมเห็นว่ามีประโยชน์สำหรับนิสิตที่เรียนทางด้านไอที หรือทางด้านเทคโนโลยีการศึกษาน่าจะได้อ่าน ทำอย่างไรนิสิตจึงจะแบ่งปันความคิดกันได้ แต่ละคนอ่านคนละ 1 เล่ม ไม่ได้อ่านทุกเล่ม ตอนแรกผมมองไปที่ gotoknow แต่จากคำพูดของใครหลายๆ คนทำให้ผมเปลี่ยนใจ ผมก็เลยนึกว่า มีเครื่องมือที่ไหนที่จะง่ายและสะดวก มีความเป็นสังคมวิชาการ คล้ายๆ กับ Gotokow หรือไม่ แต่โลกของผมมันก็แคบจริงๆ ผมก็เลยให้ แนะนำให้นิสิตใช้ Spaces.msn แทน ซึ่งก็จะเป็นการช่วยไม่ให้ Gotoknow ต้องช้า แต่ก็ต้องเสียเวลามานั่งทำลิ้งของนิสิต 40-50 คน แต่ผมก็คิดว่า OK  

         จากคำพูดของคุณหมอวิจารณ์ยังไม่ทันจางหาย เช้าเมื่อวาน คำพูดของ ดร.ธวัชชัย ที่ว่า

"ถ้าผมเป็นอาจารย์ผู้สอน ผมจะไม่ยอมให้นักศึกษา "ตบหัวเล่น" กลางที่ "สาธารณะ" เช่นนี้เป็นอันขาด" 

        เข้ามาแทนที่ในสมองของผมแทน ผมรีบโทรหาประธานนิสิตในห้องที่ผมสอน เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง พร้อมกับนึกถึงประโยคที่อาจารย์ในภาควิชา ที่ผมชวนให้สมัครบล็อกของ Gotoknow แต่อาจารย์ท่านไม่ยอมสมัคร ท่านให้เหตุผลว่า

"Gotoknow เป็นเว็บที่ออกไปสู่โลกกว้าง การที่เราแสดงความคิด หรือเขียนอะไรออกไปซักอย่างมีคนที่มองเราอยู่ มองว่าเราคิดอย่างไร ทำอย่างไร แล้วยิ่งเป็นคนที่อยู่ในแวดวงวิชาการ เป็นอาจารย์ เป็นดอกเตอร์ คนยิ่งเชื่อคนยิ่งสนใจ แล้วถ้าเราทำอะไรที่ไม่น่าเชื่อถือ เป็นความคิดที่ไม่ได้ผ่านการกรอง แทนที่จะเป็นสิ่งที่ดี กลับจะกลายเป็นผลเสียมากกว่า"

           ผมเองไม่เคยคิดถึงในแง่นี้เลย กลับคิดว่า สิ่งที่เราบันทึกไป ไม่มีผิดไม่มีถูก ความคิดของคนมีหลายมุม มุมของเราอาจขัดแย้งกับความคิดของคนอื่น ผมเองมุ่งแต่การให้คนเขียนบันทึกออกมาโดยไม่ได้มาคิดถึงสิ่งที่บันทึก หรือสาระนั้นจะเป็นอย่างไร ไม่ได้คิดว่าบันทึกนั้นจะมาจากนักปราชญ์ หรือชาวนา แต่ถ้าบันทึกนั้น ตรงใจ หรือโดนใจ อาจเป็นบันทึกที่มีคุณค่ากับเรา หรือผู้อ่านคนนั้น

           ดังนั้น ตอนที่ผมใช้ gotoknow เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนจึงคิดแต่เพียงว่า Gotoknow เป็นเครื่องมือในการบันทึกของผู้เรียน และเป็นเครื่องแสดงร่องรอยให้เห็นความรู้และพัฒนาการทางการเรียนของผู้เรียน ว่า ณ วันเริ่มต้นเขาคิด เขาเขียน เข้าเข้าใจ เขาบันทึกไว้อย่างไร และ ณ วันสุดท้ายของการเรียน เขาคิด เขาเขียน เขาบันทึก เหมือน หรือแตกต่างจาก ณ วันเริ่มต้นอย่างไร และเมื่อเขาสำเร็จการศึกษาไปแล้ว เขาจะยังเห็น Gotoknow เป็นประโยชน์ต่อไปในการทำงาน และประสบการณ์ชีวิตของเขาหรือไม่ หรือเขาก็ทิ้ง gotoknow ที่เหมือนสมุดหนังสือ ที่เค้าทิ้งไว้หลังห้องเรียน เมื่อเขาสำเร็จการศึกษาไป 

หมายเลขบันทึก: 36954เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2006 12:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
อาจารย์เขียนเหมือนน้อยใจเลยคะ  อย่าเสียกำลังใจเลยนะ  นิสิตคนนี้จะเป็นกำลังใจให้คะ....และเชื่อว่ายังไม่นิสิตอีกหลาย ๆคนเป็นกำลังใจให้อาจารย์เช่นกันคะ....

  ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์นะคะ  

     ลึก ๆ ผมเข้าใจนะครับ และมองอย่างเป็นกลาง ๆ ว่าประเด็นอยู่ที่การเข้าใจว่า "ลอก" งานกันแล้วส่งอาจารย์ หากเมื่อไม่ใช่ ประเด็นก็จบลง และ สำหรับผม Happy Ending ด้วย ผมก็คนหนึ่งครับที่ได้รับ E-mail ชี้แจงจาก นศ. ผมพยายามเขียนในบันทึกนั้นว่า ระบบการศึกษาต้องให้ความเชื่อมั่นในตัวเด็ก ให้เขากล้าคิด กล้าทำ ไม่กลัวว่าจะผิดจะถูกครับ ผมคงพูดได้ไม่มากนักในฐานะที่สอนนักศึกษาด้วย แต่ก็เพียงน้อยนิดครับ

     แต่ที่ผมตัดสินให้ให้ คห.นี้คือ ประเด็นที่ผมรู้สึกเศร้า ๆ กับถ้อยคำนี้มากกว่าครับ คือ

           ผมชวนให้สมัครบล็อกของ Gotoknow แต่อาจารย์ท่านไม่ยอมสมัคร ท่านให้เหตุผลว่า "Gotoknow เป็นเว็บที่ออกไปสู่โลกกว้าง การที่เราแสดงความคิด หรือเขียนอะไรออกไปซักอย่างมีคนที่มองเราอยู่ มองว่าเราคิดอย่างไร ทำอย่างไร แล้วยิ่งเป็นคนที่อยู่ในแวดวงวิชาการ เป็นอาจารย์ เป็นดอกเตอร์ คนยิ่งเชื่อคนยิ่งสนใจ แล้วถ้าเราทำอะไรที่ไม่น่าเชื่อถือ เป็นความคิดที่ไม่ได้ผ่านการกรอง แทนที่จะเป็นสิ่งที่ดี กลับจะกลายเป็นผลเสียมากกว่า"

     ประเด็นนี้ครับที่ผมยอมรับเลยว่าเศร้าใจเป็นอย่างยิ่ง อนิจจาประเทศไทย แต่ก็ยอมรับในสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนโดยดุษฏีครับ คงไม่เป็นไรนะครับ เพราะผมก็มีสิทธิเช่นกัน ที่จะแสดงความคิดเห็นนี้ไว้ เพื่อดึง ๆ ความรู้สึกท่านอื่น ๆ ที่จะคล้อยตามไปไม่กล้าใช้ GotoKnow.Org เนื่องจากผมเสียดายโอกาส

 

จริงๆ ดิฉันก็ตามเรื่องนี้เช่นกัน...ก็ไม่ได้เห็นว่ามีใครเจาะจงว่าเป็นใคร...เรื่องการใช้...เพราะคนที่เป็นอาจารย์..ใช้ Gotoknow นี้มาเป็น Tool ในกิจกรรมการเรียนการสอนมีเยอะและหลายท่าน...และผู้พัฒนาระบบ หรือทาง สคส. ก็ไม่ได้ห้าม แต่สิ่งที่ซีเรียสคือ การลอก และตัดแปะ ตลอดจนการไม่อ้างอิงถึงที่มา หรือแม้เป็นเสมือนการนำความรู้ฝังลึกของตนเองมา...อันไม่ได้แสดงถึง "กึ๋น"...ของผู้บันทึกเหล่านี้ต่างหากเล่าที่น่าจะเป็นประเด็นที่เรากำลังถกกันมากกว่า....

 

มีสองความคิดที่อยากเสนอค่ะ

1 เรื่องนักศึกษาและอาจารย์ใช้บล็อก gotoknow เป็นช่องทางการเรียนการพัฒนาการเรียนรู้ จากหลายๆอาจารย์ที่ใช้นะคะ ด้วยดิฉันเองมักจะเข้าไปอ่าน ถึงจะเห็นความซ้ำซ้อนบ้าง แต่หลายๆครั้งก็อมยิ้มกับสิ่งที่นักศึกษาเขียน เพราะจะเจอถ้อยคำเคารพอ่อนน้อมกับอาจารย์และผู้อ่าน และวิธีเสนอความเห็นก็พยายามชักชวนให้เข้าไปดูไปเห็นด้วย ซึ่งดูแล้วน่ารักดี

2 เรื่องการลอก ตัดแปะ นั้นไม่เห็นด้วยแน่นอนค่ะ แต่ถ้าความคิดคนจะตรงกันได้ อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลก สำหรับคนในบริบทเดียวกัน ฐานความรู้เท่ากัน แหล่งค้นคว้าเดียวกัน สิ่งที่ต้องการเห็นคือการอ้างอิงแหล่งที่มาหากมีการนำเสนอแนวคิดสิ่งที่ไม่ใช่ความคิดล้วนๆของตัวเอง 

  

อ.หนึ่งคะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกเพื่อการอธิบายการใช้ GotoKnow เพื่อการเรียนการสอน เป็นบันทึกที่มีประโยชน์นะค่ะสำหรับอาจารย์ทุกท่านที่จะใช้ GotoKnow หรือบล็อกที่อื่นๆ เพื่อการสร้างสังคมเรียนรู้ค่ะ

จากที่อ่านและได้แสดงข้อคิดเห็นไปยังนศ.ของอาจารย์ในบันทึกของอ.ธวัชชัยนั้น ดิฉันขอเรียนสรุปดังนี้คะ

- นศ.ของอาจารย์ไม่ได้ลอกการบ้านค่ะ แต่ลักษณะการเขียนแบบ copy เนื้อความมาแปะในแต่ละบล็อกพร้อมๆ กัน ทำให้ดูเหมือนเป็นการคัดลอกคะ จึงทำให้ทุกคนที่อ่าน ไม่ว่าจะเป็น ดิฉัน อ.ธวัชชัย อ.ขจิต หรือ ท่านอื่นๆ เข้าใจผิดกันไปหมดค่ะ เพราะจริงๆ แล้ว การอ่านบันทึกของคนที่เรายังไม่รู้จักนั้น จะเป็นแค่การ scan คะ ไม่ได้อ่านเอาเนื้อความจริงๆ ค่ะ ทำให้ทุกคนพลาดบันทึกรายชื่อสมาชิกกลุ่มของนศ.ที่เขียนไว้ล่างสุดกันไปหมดคะ

- การลอกการบ้านกันมาส่งใน GotoKnow นั้นมีจริงๆ ค่ะ และยังมีอยู่นะค่ะ (แต่ไม่ใช่จากกลุ่มนศ.ของอาจารย์ค่ะ) ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สร้างสรรค์ และสมาชิกชาว GotoKnow ร่วมด้วยช่วยกันต่อต้านคะ หากไม่ช่วยกันซิคะ เขาจะได้ว่ากันได้ว่า เป็นอาจารย์เป็นนักวิชาการกันอยู่เยอะแยะ ทำไมปล่อยให้เกิดเหตุการณ์การลอกกันได้ใน GotoKnow จริงไหมค่ะ

- ดิฉันขอเสนอแนะในมุมมองแบบ win-win ว่า ที่ GotoKnow นี้พร้อมให้นศ.มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แน่นอนคะ และระบบจะช่วยทำให้อาจารย์เห็นแผนที่ความรู้และเครือข่ายทางสังคมของนักศึกษาได้คะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออาจารย์และนักศึกษามากคะ 

- แต่ในขณะเดียวกัน ดิฉันอยากให้นักศึกษาที่ต้องการ copy บันทึกมาใส่ในบล็อกของแต่ละคน ให้ copy ตัว URL ดีกว่า หรือไม่ก็ copy เนื้อหาด้วย และ url ของบันทึกแหล่งที่มาด้วยดีกว่านะค่ะ จะได้ไม่ต้องเข้าใจกันผิด เพราะหากต่อไปมีนศ.หรือนักเรียนที่อื่นมาลอกการบ้านกันใน GotoKnow เดี๋ยวจะไม่มีสมาชิกมาช่วยกันเป็นหูเป็นตาปกป้องสอนสั่งให้นศ.เข้าใจว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควรนะค่ะ

- ที่สำคัญ ไม่อยากให้เรื่องนี้ มาเป็นการ block การนำ GotoKnow เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คะ เหตุการณ์การเข้าใจผิดที่ผ่านมานี้ ดิฉันคิดว่า เป็นตัวอย่างการร่วมกันเรียนรู้ในทางสร้างสรรค์ที่ดีนะค่ะ และ นศ.ของอาจารย์หนึ่งเองก็น่ารักคะ ที่ได้อธิบายให้ทุกคนเข้าใจ และทุกคนก็เข้าใจและขอโทษขอโพยกันด้วยดีนะค่ะ Happy Ending ค่ะ สบายใจได้ค่ะ

... ดิฉันยังตอบเขาไปเลยว่า ผิดเป็นครูคะ คนทำผิดดีกว่าคนที่ไม่ได้ทำอะไรเลยค่ะ ...

ที่จริงแล้วผมต้องเรียนขอโทษอีกครั้งว่าบันทึก "ออกยักษ์" ของผมนั้น ออกจะดุเดือดมากถึงมากที่สุดไม่น้อยทีเดียวครับ แต่ก็อดใจไม่ได้เมื่อเห็นการส่งการบ้าน 3 บันทึกพร้อมๆ กัน จาก 3 กลุ่ม กลุ่มละ 3 คน เป็น 9 คนโดยเนื้อหาเหมือนกัน แถมมาจากนักศึกษาที่เป็นผู้ใหญ่อีกต่างหาก ก็เลยขอเขียนระบายความรู้สึกหน่อยเถอะ

แต่เรื่องก็กลายเป็นความผิดพลาดของผมเองเพราะกลายเป็นการบ้านของ 3 คน แล้วส่งมา 3 บันทึกในบล็อกของแต่ละคนไป กลายเป็นว่าผมสะเพร่าอ่านชื่อไม่ชัดเจนเลยเข้าใจผิดไปใหญ่โต เพราะส่วนที่เป็นรายชื่อนั้นผม scan สายตาผ่านเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของผมที่เป็นบทเรียนสำคัญมากครับ

แต่เรื่องนี้เริ่มต้นเป็นประเด็นขึ้นมาแล้วผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีครับ เพราะถ้ามองในมุมกว้างขึ้น เราจะพบว่าสิ่งที่ Dr. Ka-Poom เขียนด้านบนนี้นั้นน่าจะเป็นประเด็นหลักที่เราควรจะมุ่งไป เพื่อให้เหตุการณ์นี้กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ว่าทำอย่างไรถึงจะหยุด "การลอก การตัดแปะ ตลอดจนการไม่อ้างอิงถึงที่มา" ที่เกิดขึ้นเสียทีครับ

ผมขอยกคำพูดที่เขียนติดไว้ในมหาวิทยาลัยที่ผมเรียนมานะครับ "Plagiarism is a serious crime."

Wikipedia ให้ความหมายของ plagiarism ไว้ดีทีเดียว 

เรื่อง plagiarism นี่เป็นเรื่องใหญ่มากครับ ต้องขอเรียนว่าในวงการวิชาการเท่าที่ผมได้มีโอกาสได้สัมผัสในช่วงศึกษาอยู่นั้น plagiarism เป็น "อาชญากรรม" จริงๆ ครับ เรื่องอื่นยังทนกันได้ครับ แต่ plagiarism นี่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายกันเลย ผมจึงเขียนในบันทึกว่า ในบางประเทศนั้น "การลอก" หมายถึงถูกไล่ออกและหาที่เรียนใหม่ไม่ได้ทีเดียวครับ

ในความเห็นของผม เราจะช่วยพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ก้าวหน้าขึ้นได้ถ้าเรา "ไม่ยอม" อย่างเอาจริงเอาจังต่อ plagiarism ครับ ดังนั้นเรามา focus ประเด็นเรื่อง plagiarism กันดีกว่าไหมครับ

แง ๆ อาจารย์ของหนูเป็นอะไรกันไปหมด !!  ..หนูเคารพอาจารย์ทั้ง 2 ท่านคะ....เห็นด้วยกับอาจารย์ทั้ง 2 คน แต่อย่าเขียนหรือนำสิ่งนี้มาเป็น"ประเด็น" อีกเลย  ตอนนี้ทุกคนเข้าใจกันหมดแล้วคะ  ...???  ขอบคุณที่เรียนชี้แจงให้พวกเราทราบและหนูจะเป็นคนนึง ที่ไม่ทำแบบนั้นคะ..ขอบคุณ ผศ.ดร.ธวัชชัย  ปิยะวัฒน์ เป็นอย่างสูงที่สอนให้หนูและคนอื่น ๆใช้ blog  อย่างถูกต้อง และเรียนรู้ในสิ่งที่ดี ๆ กล้าคิด กล้าทำ  กล้าพูด  //  และขอขอบคุณ ดร.รุจโรจน์  แก้วอุไร  ที่ชี้แจงให้พวกเราทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดคะ...

/// หนูเป็นคนไปบอกดร.รุจโรจน์ ให้เข้ามาอ่านเองคะ ***///

รักและเคารพอาจารย์ทุกท่านใน gotoknow และถ้าหนูเขียนอะไรที่ทำให้ท่านอาจารย์รู้สึกไม่ดีก็ต้องขอกราบขอโทษอาจารย์  ณ  ที่นี้ด้วยคะ....

น้องนิวค่ะ บันทึกอย่างนี่แหละคะ คือการเรียนรู้อย่างเปิดกว้าง กล้าคิด กล้าแสดงออก และ กล้าเขียน ดีนะค่ะ อาจารย์เขาไม่ได้ทะเลาะกันนะค่ะ :)

ฮือ ๆ  วิพากษ์กันแบบนี้หนู "หนาว" เลยคะ...แง ๆๆ สงสัยต้องเรียนรู้อีกเยอะเลย....ขอขอบคุณ ดร.จันทวรรณ มากคะ..ที่สอนหนูคะ....หนูค่อยรู้สึกดีขึ้นที่หนูไม่ได้เป็น "ต้นเหตุ"  คะ..........??..เย้ ๆ กลับมาร่าเริงได้อีกแย้ววววววววววววววววว......อิอิ....

gotoknow ใช้ในการเรียนการสอนดีมากอยู่แล้วคะ  การศึกษาคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ถ้าเราไปหยุดสิ่งดีๆ ไว้ไม่เปิดกว้างแล้วคนอื่นจะรู้ได้ยังไงใช่ไหมคะ  อ.หนึ่งใช้gotoknow ในการเรียนการสอนดีแล้วคะและอยากให้ใช้ต่อไปนะคะ เพราะดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ร่วมเรียนรู้จากgotoknowจากการเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยของอาจารย์..อย่าคิดมากคนเราต้องมองที่เจตนาคะ

  • ขอบคุณทุกความคิดเห็นครับ
  • อย่างที่อาจารย์จันทรวรรณเขียนครับ เราไม่ได้ทะเลาะกัน
  • แล้วผมก็อ่านบันทึกที่ ดร.ธวัชชัย ชี้แจงไว้แล้วครับ
  • ผมยังรู้สึกชื่นชม ดร.ธวัชชัยเสียอีกที่กล้าพูด
เมื่อ สติ มา ปัญญา เกิด

กลับมาอีกครั้ง...ขอชื่นชม"น้องนิว"..คะ

คือความกล้าหาญ..แห่งทางปัญญา...

ความเข้าใจผิด...หรือแปลงเจตนาที่ดีงามบิดเบือนไป..

แต่หากเมื่อเข้าใจ...เราก็มาช่วยกันสรรสร้าง...สิ่งที่ดีงามกันต่อนะคะ...ว่าไหมคะ...อ.รุจโรจน์

 

gotoknow ใช้ในการเรียนการสอนดีอยู่แล้ว เพียงแต่ผู้ใช้ต้องใช้เป็นด้วยจิตสำนึก ไม่ทำในสิ่งไม่ควร เห็นด้วยกับ Dr.จันทรวรรณ ค่ะ ว่าต้อง copy url มาด้วยหากความเห็นของเราตรงกับคนอื่น แต่คงไม่เป๊ะทีเดียวหรอกใช่ไหมคะ อยากเป็นกำลังใจให้อาจารย์รุจโรจน์ และผู้ใช้ blog ทุกคน.. ฟ้าหลังฝน มักสดใสเสมอ.
  • เข้ามาขอโทษอาจารย์ครับ ผมเป็นคนเอยชื่อสถาบันเองครับ
  • เชื่อมั่นว่าการใช้ gotoknow มีผลดีต่อนักศึกษาครับ
  • ได้เขียนข้อความคุยกับนักศึกษาและเข้าใจกันแล้ว ต้องขอบคุณ ดร. ธวัชชัยและหลายๆท่านที่ช่วยเหลือ
  • ขอบพระคุณมากครับ

 

การเกิดกรณีอะไรเช่นนี้  เป็นเหมือนวัคซีนชั้นดี  อีกไม่ช้าเราจะแข็งแกร่งและนำพาเยาวชนของเราไปสู่สังคมการเรียนรู้ยั่งยืนได้ค่ะ

ดีใจมากๆ ค่ะ ที่ได้เป็นสมาชิก gotoknow.org ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท