ขอความเห็นครับ


โปรดช่วยกันเสนอความเห็น เกี่ยวกับ "แนวทางแก้ปัญหา gotoknow คนใช้มาก ทำให้ช้า" เข้ามานะครับ

Gotoknow เผชิญปัญหาเป็นที่นิยมมากเกิน : จะเลือกทางแก้แนวไหน

        Gotoknow ยุคที่ ๒ เปลี่ยนโฉมและ software ใหม่หมด    งามงดและสะดวกกว่าเดิม    แต่ช้า เพราะคนนิยมใช้มากเกินคาด     แต่ละเวลามีคนใช้อยู่ ๕๐๐ - ๖๐๐ คน    ส่วนใหญ่เข้ามาอ่าน    เราจะต้องหาทางแก้ และต้องมียุทธศาสตร์ในการแก้

        ที่จริงก็มีทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์อยู่ ๒ ทางเท่านั้น    คือแนวเปิดให้ทุกคนเข้ามาใช้อย่างอิสระ อย่างที่ทำมาปีเศษ เรียกว่าแนว inclusive     กับอีกแนวหนึ่งเรียกว่าแนว exclusive ให้เข้ามาใช้ได้เฉพาะคนที่เราเลือกแล้วว่าเหมาะสมที่จะใช้ บล็อก ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้       

        เริ่มมีคนให้ความเห็นว่าน่าจะจำกัดการใช้ gotoknow คือใช้แนวที่ ๒    เพราะมีการใช้แบบไม่ค่อยตรงเป้าประสงค์ของ บล็อก อยู่ด้วย     เช่น

รศ. พญ. ปารมี ตั้งคำถามว่า "การใช้ blog ในการสอนนักเรียน นักศึกษา โดยให้นักเรียนค้นหาความรู้ (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ search มาจากเน็ตนั่นเอง) มาเขียนตอบใน blog จะตรงกับวัตถุประสงค์ของ gotoknow กับการขับเคลื่อน KM ที่ต้องการเน้นการบันทึกและ ลปรร. tacit knowledge หรือไม่    อยากให้ทีมงาน และ สคส. พิจารณาประเด็นนี้ด้วย"

        ดร. จันทวรรณ มีความเห็นว่า "ในฐานะผู้ดูแลระบบ ดิฉันขอแสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติมนะคะ จากการดูแลระบบจะพบว่า gotoknow มีกลุ่มผู้ใช้ 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1) กลุ่มที่ต้องการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์การทำงาน
2) กลุ่มที่ต้องการสนทนาพูดคุยแลกเปลี่ยนข่าวสารความเป็นไปของกลุ่ม และ
3) กลุ่มที่เข้ามาเพื่อการส่งงานการบ้านจากการเรียนการสอน 


เรื่องในแง่นโยบายของ GotoKnow คงต้องรบกวนให้ทางอาจารย์วิจารณ์ช่วยตอบนะคะ    ดิฉันคงขอตอบในแง่ของเทคโนโลยี ดังนี้คะ Gotoknow แม้จะมีจุดยืนที่ประกาศอย่างชัดเจน แต่ด้วยว่าเป็น website ที่เปิดออกสู่สาธารณชนทั้งโลกอินเตอร์เน็ต    การควบคุมการใช้งานเพื่อให้ตรงวัตถุประสงค์จึงเป็นไปได้ยากคะ  
การจะทำให้ Gotoknow เป็น professional blog    และเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้ใช้ที่ต้องการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ที่ตนมีอยู่    พอมีวิธีการอยู่บ้าง เช่น การใช้ระบบ rating เพื่อสร้าง reward ให้แก่ผู้ที่เขียนบันทึกเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือ อีกวิธีก็เป็น
การสร้างระบบ approval ร่วมกันกับระบบการ invitation เพื่อการร่วมเป็นสมาชิกคะ" 
 
           เราอยากขอความเห็นจากสมาชิกของ gotoknow นะครับ ว่าจะกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการเปิดกว้าง  หรือจำกัดประเภทการใช้ อย่างไรดี   

โดยที่นโยบายเดิมคือเปิดเต็มที่ยกเว้นไม่อนุญาตการเข้ามาขายของ  มาจีบกัน  มาด่ากัน  หรือมาโป๊เปลือย  อย่างนี้เราไม่ยอมให้ทำ     และโชคดีที่ไม่มีใครเข้ามาทำสิ่งไม่สร้างสรรค์    เราจึงเป็นเว็บสร้างสรรค์อันดับหนึ่งของประเทศไปโดยปริยาย

          แต่เราก็มาพบปัญหาที่มากับความสำเร็จ    นี่คือปัญหาคลาสสิคนะครับ    แม้ในทางส่วนตัวของคนเราทุกคนความสำเร็จก็เป็นปัญหาในตัวของมันเอง     gotoknow ของเราสำเร็จในการดึงดูดคนเข้ามาใช้มากเกินไป จนเครื่องรับไม่ไหว  ทำให้ช้า

          สไตล์ผมคือแก้ปัญหาเชิงรุกครับ    มันช้าก็ทำให้มันเร็วเสีย ถ้าไม่หมดเปลืองเกินไปก็พอรับไหว    คือผมอยากให้คงความเปิดกว้างไว้

หันไปเน้นแก้ปัญหาทางเทคนิค ให้มันกลับมาเร็วดังเดิม หรือเร็วกว่าเดิม     แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องหันมาจำกัดคนใช้ที่ใช้ผิดประเภทอยู่   

          ที่จริงผมมีความเห็นว่าการที่อาจารย์ใช้ในการเรียนการสอนเป็นสิ่งดีครับ    แต่ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่เกิดโทษ    การที่ นศ. ทำการบ้านส่งครูแบบค้นเน็ตแล้วตัดแปะสำหรับผมถือว่าผิดจริยธรรม และเป็นการฆ่าตัวตาย    เพราะจะเป็นการเรียนแบบไม่เกิดปัญญา     และอาจารย์ที่สนับสนุนหรือยอมให้ลูกศิษย์ทำเช่นนั้น ในสายตาของผมเป็นอาจารย์ที่ใช้ไม่ได้   

         โปรดช่วยกันเสนอความเห็น เกี่ยวกับ "แนวทางแก้ปัญหา gotoknow คนใช้มาก ทำให้ช้า"    เข้ามานะครับ

วิจารณ์ พานิช
๒๔ มิย. ๔๙
วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

คำสำคัญ (Tags): #gotoknow#it#blog#บล็อก
หมายเลขบันทึก: 35433เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2006 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (36)

ความเห็นของผม

   ๑. ใช้ทางแก้หลายทาง

    ๒. จำกัดทุกคน    ให้ทุกคนได้รับผลกระทบหมด   โดยการลดลูกเล่นลง     ให้มี features จำกัด   เช่นไม่ต้องมี บันทึกสุ่ม    บันทึกที่มีข้อคิดเห็นมากที่สุด   บันทึกที่มีผู้เข้าชมมากที่สุด    ในระยะแรกน่าจะลองแนวนี้ดูก่อน    นอกจากย้ายกลับประเทศไทย

เรียนทีมงาน GotoKnow

 ๑.เห็นด้วยครับ ช้ามาก แต่เช้านี้ "ปรับหน้าแรกใหม่ เร็วขึ้นแล้วครับ"

 ต้องขอให้กำลังใจ ท่านอาจารย์ ดร.จันทวรรณ และ อาจารย์ ดร.ธวัชชัย และ สคส ครับ

Computing

 ๒.ใช้การเรียนการสอนเหมือนกันครับ ส่งการบ้านด้วย แต่เป็นการ เผยแพร่ให้ GotoKnow สู่นักศึกษาที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจน เช่น

 ๒.๑ สอน AA(L)R ของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๕ ทั้งด้านจริยธรรมและด้าน Formative Evaluation คลิก

๒.๒ สอนในหลักสูตรรังสีเทคนิค ที่ได้ไปเรียนรู้จากการดูงานในวิชา จริยธรรมและการบริหาร เพื่อ สร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ คลิก





สิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดคือ    คนใช้มากขึ้น - ดีเชิงจำนวนหรือปริมาณ    แต่ทำให้ช้า มีผลให้ผู้ใช้ที่มีคุณภาพ ใช้ ลปรร. ความรู้ปฏิบัติ / ความรู้ฝังลึก และเป็นคนไม่ค่อยมีเวลา     เมื่อเข้ามาใช้ก็พบปัญหา    จึงเบื่อและเข้ามาใช้น้อยลง     อย่างนี้เราไม่ชอบ    เพราะ gotoknow ก็จะได้แต่ปริมาณ แต่ด้อยคุณภาพ

      เราอยากให้ gotoknow เป็น ชุมชน ของการ ลปรร. ความรู้ปฏิบัติที่มีคุณภาพครับ    ช่วยกันออกความเห็นวิธีแก้ปัญหานะครับ

1. ดึง Features ที่ไม่จำเป็น และทำให้ระบบช้าออกไปก่อน คงไว้เฉพาะที่ทำให้การสื่อสารคล่องตัว "พอประมาณ" แต่มีประสิทธิภาพ ไม่ต้อง "ทันสมัย" โดยไม่จำเป็น

2. การใช้เพื่อการเรียนการสอนควรสนับสนุน แต่ควรสื่อสารขอความร่วมมือจากครู-อาจารย์ ให้นิเทศ แนะนำผู้เรียนอย่างพอเพียง ที่จะไม่เข้ามาก่อปัญหา นำขยะเข้ามาใส่ gotoknow  ถ้าจะลองผิดลองถูก ลองเล่นอะไรทางเทคนิคก็ควรเริ่มที่ Free servers ทั้งหลายก่อน  เข้ามาใช้ gotoknow เมื่อพร้อม และเหมาะที่จะเข้ามา

3. แม้จะยากแต่ควรทำเท่าที่ทำได้ คือการ Monitor และช่วยชี้แนะเมื่อเห็นใคร หรือกลุ่มใด ทำท่าจะออกนอกลู่  อาจอาศัย Bloggers ด้วยกันช่วยเฝ้าระวัง โดยมีการมอบหมาย อย่างไม่เป็นทางการ และกำหนดแนวปฏิบัติที่จะช่วยเหลือให้เป็นมาตรฐานเดียวกันก็ได้

 

1.ผู้อ่านจำนวนมาก เป็นประโยชน์ค่ะ การได้อ่านสิ่งที่ดี ดี มากๆ ซ้ำๆ จะเป็นผลดีกับคนรุ่นใหม่ ที่ อาจไม่ถนัดในการเขียนถ่ายทอด ซึ่งหาอ่านได้ยากใน web อื่น อย่างน้อยยังมี gotoknow.org ให้อ่าน และฝึกเล่าเรื่องความสำเร็จจาก สิ่งเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน   จนในที่สุดกลายเป็นยอมรับนับถือ ความสำเร็จเล็ก ๆ ที่รวมตัวกันเป็นความสำเร็จใหญ่ได้

2. การได้เข้ามาเรียนรู้เรื่อง การจัดการความรู้ แบบซึมซับทุกวัน เป็นวิธีการที่ดี ค่ะ

3. gotoknow สอนให้ดิฉัน ยอมรับความคิดเห็นคนอื่นและความหลากหลายของความคิด แทนที่จะได้อ่านตามแนววิเคราะห์ของ คนใดคนหนึ่งแต่ที่นี่ผสมผสาน ต่างมุมมอง

4.หากต้องเลือกวิธีจำกัดสิทธิ์ขึ้นมา คงมี สิทธิ์การเข้าถึง 2 ระดับ ผู้อ่าน และผู้ประสงค์แลกเปลี่ยน เมื่ออ่านจนพอใจแล้วอยาก แลกเปลี่ยน ก็ให้สมัครอีกระดับ เป็นต้น

ด้วยความเคารพ

มีเครื่องมือหลายอย่างของ gotoknow ที่มีประโยชน์มาก ที่ดึงดูดให้หลายคนเข้ามาใช้ ซึ่งคงจะดึงดูดให้ผู้สนใจมาใ้ช้มากขึ้นเรื่อยๆ

ในเมื่อระบบ gotoknow เป็นระบบที่พัฒนาขึ้น ควรที่จะมีการนำไปใช้ในที่อื่นต่อ เช่น มหาวิทยาลัยต่างๆที่มีเวบไซต์ของหน่วยงานของตนเองอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่เอาระบบของ gotoknow ไปลงในเวบไซต์ของหน่วยงานล่ะครับ

ไปสร้างเวบบล็อกของสถาบันนั้นๆ ซึ่งจะทำให้การใช้ประโยชน์เร็วมากขึ้น

ยิ่งกลุ่มที่จะใช้เพื่อการส่งการบ้า่นเพื่อการเรียนการสอน หากไปติดตั้งระบบในเวบไซต์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ มีโฮสต์ของตัวเอง จะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากระบบนี้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ที่สำคัญ ข้อมูลต่างๆ จะเป็นที่อยู่เวบไซต์ของสถาบันนั้นๆ เช่น msu.ac.th  ไม่ใช่ของ gotoknow อย่างเดียว

และอยากใ้ห้พัฒนาและส่งเสริมเวบไซต์ 
ThaiMatter.org ซึ่งสามารถที่จะดึง feed  จากทุกเวบไซต์มาแสดงเป็นส่วนกลางได้  ไม่จำเป็นต้่องมีบันทึกที่  gotoknow แห่งเดียว ที่ไหนที่มีประโยชน์ก็สามารถดึงข้อมูลมานำเสนอได้เช่นกันครับ

เรื่องนี้ต้องเรียนถามคุณหมอวิจารณ์ครับ ว่าวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งเว็ปไซต์นี้มีวัตถุประสงค์หลัก หรือภาระกิจหลักเป็นอย่างไรครับ แล้วนำวัตถุประสงค์นั้นมาคิดถึงความคุ้มค่าสำหรับทุก ๆ ฝ่ายครับ แต่ถ้าถามทางด้านความคิดส่วนตัวของผมเอง ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นว่า วัตถุประสงค์หลัก ๆ น่าจะเป็นชุมชนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ความรู้ความคิดที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรหม ได้เปิดเผยออกมาสู่สาธารณะชน ไม่มีขีดจำกัดทางด้านการเข้าถึง แลกเปลี่ยนกันอย่างไร้พรหมแดน แล้วก็จะเกิดองค์ความรู้ที่ดี ๆ สำหรับสังคมไทยเกิดขึ้นอย่างเอนกอนันต์ ดังนั้นถ้าเอาผลงานทั้งหมดที่ผ่านมาหนึ่งปี นำเสนอต่อผู้บริหารที่คุมนโยบายและงบประมาณ พูดถึงข้อดีที่ได้รับอย่างมากมายที่เกิดขึ้นจากเวปไซต์นี้ ซึ่งไม่เคยที่ใดมาก่อนในประเทศไทย ผมคิดว่ามันคุ้มซะยิ่งกว่าคุ้มที่จะลงทุนในการทำ Server เพื่อระดมสมองนักวิชาการไทย ข้าราชการไทย รัฐบาลไทย พ่อแม่พี่น้องทุก ๆ ในประเทศไทย เพื่อพัฒนาประเทศไทย ทุก ๆ คนก็รู้ว่าคุ้มค่ามาก ๆ ครับ

http://gotoknow.org/blog/memecoder/35415

เริ่มวาง open-source ของ KnowledgeVolution ให้แล้วคะที่ http://KnowledgeVolution.org คะ

สำหรับองค์กรที่อยากได้ระบบอย่าง GotoKnow ไป run ในวง Intranet

มองอีกมุมนะคะ... 

นี่เป็น การแสดงออกครั้งใหญ่ของการศึกษาไทย ที่ทำให้ว่า ครูบาอาจารย์ นักเรียน และ นักศึกษา มีความต้องการอย่างมากในใช้ระบบสารสนเทศที่เอื้ออำนวยการเรียนการสอน

ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การที่อาจารย์เอาบทเรียนมาวาง แต่เป็นที่ที่นักศึกษาสามารถเก็บผลงานการเรียนของเขาได้ตลอดทั้งชีวิตการเรียนของเขา ตั้งแต่มัธยม จนเข้ามหาวิทยาลัย จนจบมหาวิทยาลัย ก็สามารถใช้เป็นที่ที่แสดงผลงานต่อผู้ว่าจ้างงาน ให้สามารถเห็นความสามารถที่แท้จริงของผู้สมัครงานได้เป็นอย่างดี เหมือนเป็น online resume ของแท้

ดิฉันเสนอว่า NECTEC เอาระบบ KnowledgeVolution ไปลงระดับประเทศเพื่อการศึกษาของไทยโดยเฉพาะน่าจะดีนะคะ เพราะ NECTEC พร้อมในเรื่อง hardware และ telecommunication คะ

ด้วยความเคารพ
จันทวรรณ

อยากฟังความเห็นของคนในหลากหลายวงการครับ
     ไม่ทราบว่าจะเป็นไปได้แค่ไหนนะครับ ผมขอเสนอเชิงเทคนิคว่า น่าจะแยกคนอ่านบันทึก+การให้ คห. และการตีพิมพ์บันทึก ไว้คนละ Server กัน ครับ ผมเคยทราบว่าในทางทฤษฎีทำได้ แต่จะยากในการปฏิบัติจริงอย่างไร อันนี้ไม่ชัดเจนครับ
     โดยส่วนตัวก็ได้แก้ไขปัญหาไปบ้างแล้ว เช่น การเอาลูกเล่นที่นำมาตกแต่ง Blog ออกเสียบ้าง ก็พบว่าเร็วขึ้นตามความรู้สึกของตนเอง แต่ประเด็นนี้ก็ยังมีตัวแปรกวนอื่น ๆ อีกมาก ทำให้สรุปไม่ได้ว่าจริงหรือไม่ แต่หากพิจารณาเชิงทฤษฎี ก็น่าจะทำให้เร็วขึ้นไม่มากก็น้อยครับ
     ในประเด็นเรื่องบริการส่ง E-mail ผ่านหน้า Blog นั้น ผมมองเห็นว่าไม่ค่อยจำเป็นนัก เนื่องจากหากเราใช้วิธีการเดิมคือ แจ้ง E-mail ไว้ ในลักษณะภาพที่นำไปตกแต่งให้เห็นที่หน้า Blog ก็สามารถสื่อสารกันได้อยู่เช่นใน version 1 ครับ
     แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ผมยังอยากให้อิสระแก่ผู้ใช้ใหม่ ๆ ที่เข้ามาแล้วอาจจะงง ๆ เช่นผมในตอนแรก ๆ ด้วยคิดว่า Tacit K. อาจจะยังแกะออกมาไม่ได้ ต้องอาศัยเวลาเรียนรู้ในสังคมนี้ก่อน จะได้อยู่ต่อ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ต่อไป ไม่หนีหายไปเสียตั้งแต่แรกเข้าครับ
     หากมีประเด็นอื่นที่จะเติมเต็มได้อีก ก็จะมานำเสนอไว้อีกครับ

ผมกำลังขมักเขม้นเขียน wiki ที่ KnowledgeVolution.org ครับ หน่วยงานต่างๆ จะได้สามารถนำไปติดตั้งได้โดยง่าย

ส่วนเรื่อง GotoKnow.org นั้น ในเชิงเทคนิคแล้ว ผมเชื่อว่าถ้าเรา upgrade เครื่องแม่ข่ายให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและย้ายกลับประเทศระบบก็น่าจะรองรับผู้ใช้ได้มากขึ้นในความเร็วที่สูงขึ้นครับ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้โทรศัพท์คุยกับ ISP อยู่เจ้าหนึ่ง (ISSP) ได้ราคาที่น่าสนใจมาก แต่ก็ยังติดในเงื่อนไขบางประการ นอกจากนี้ยังรอราคาจาก ISP อีกเจ้า (Internet Thailand) ไว้วันจันทร์ก็น่าจะได้ข้อสรุปว่า GotoKnow.org จะกลับเมืองไทยมาที่ไหนครับ

อีกประการที่เกี่ยวข้องกับความเร็วก็เป็นเรื่องโปรแกรมของเรานี่ละครับ ยังมีจุดที่ optimize ได้อีกมากทีเดียว ผมก็จะพยายามทำในส่วนที่ช้าให้เร็วขึ้นเป็นส่วนๆ ไปครับ เรียกได้ว่าแม้จะไม่เปลี่ยนเครื่องแม่ข่าย แต่การพยายาม optimize โปรแกรมเป็นส่วนๆ ไปนั้น GotoKnow.org ก็จะเร็วขึ้นทีละนิดทีละหน่อยได้เหมือนกันครับ

ดังนั้นโดยสรุปในเชิงเทคนิคแล้ว เรายังมีช่องทางในการปรับปรุงเรื่องความเร็วได้ในอีกหลายประเด็นด้วยกันครับ

ความเห็นของผม 

  1. เห็นด้วยกับการที่ให้มหาวิทยาลัย/วิทยาลัย/โรงเรียน เอา Gotoknow ไปใช้แบบ Intranet เพื่อส่งการบ้านในหน่วยงาน และใช้ในงานประจำของหน่วยงาน
  2. ส่วนนักเรียน นิสิต นักศึกษา พนักงาน ข้าราชการ ท่านใดพอใช้แล้ว ติดใจค่อยมาสมัครอยู่กับส่วนกลางต่อไป
  3. ผมกำลังจะใช้ GotoKnow สอนนิสิตอยู่พอดี ยังสนับสนุนให้ใช้ในการเรียนการสอนอยู่ แต่ต้องเน้นผู้เรียน ไม่ให้ใช้วิธี copy --> Paste (ของคนอื่น) มากนัก (ยังมีความจำเป้นอยู่บ้าง) แต่เน้นในเขารู้จักวิเคราะห์ และสังเคราะห์ และคิดเชิงบูรณาการ (มีการลอกเลียนแบบเพื่อต่อยอดบ้าง ซึ่งบางหน่วยงานเขาเรียก "วิศวกรรมย้อนรอย")
  4. ควรมีหน่วยงานระดับชาติ เช่น NECTEC มาดูแล ระบบ GotoKnow ต่อจากสคส.
  5. การแก้ไขบันหาเฉพาะหน้า อาจลด Features บางอย่าง ใน Gotoknow ที่เป็นลูกเล่นเอาไว้ก่อน เหลือเฉพาะส่วนที่จำเป็นจริงๆ และเมื่อมีความพร้อมมากขึ้น ค่อยเอามาลง
  6. การย้าย server กลับประเทศ อาจดีได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจมีปัญหาเรื่อง server ล่ม หรือไฟฟ้าดับ
  7. ต้องมีการเตรียมแผนสำรองไว้ด้วย
  8. GotoKnow โตเร็วเกินไป อาจเป็นปัญหา แต่ผมก็มองโลกในแง่ดี มีความเห็นว่า อย่างน้อยมันก็ดีกว่า การที่สร้างขึ้นมาแล้วไม่มีคนใช้ ไม่มีคนติดครับ
  9. ต้องไปดูระบบจัดการของ "Pantip" ว่าเขาแก้ปัญหาเรื่องระบบช้าได้อย่างไร เข้าใจว่าระบบของเขามีผู้ใช้มากกว่า Gotoknow (อาจเข้าใจผิดก็ได้)
  10. ผมไม่อยากให้มีการจำกัดการใช้ อยากให้ Open ต่อไปครับ
  11. ให้ขึ้นอยู่ในดุลยพินิจ ของผู้เสพ คือผู้อ่านและผู้เขียน ครับ
  12. ถึงเวลาที่สคส. ต้องตัดสินใจในเชิงนโยบายครั้งใหญ่แล้วครับ

พันธ์ทิพย์มีผู้ใช้เยอะกว่าแน่นอนคะ แต่เขาทำได้เพราะหลายประการด้วยกันคะ เช่น

- มีเครื่องแม่ข่ายหลายเครื่อง แยกออกมาเฉพาะงานแต่ละงาน เช่น file server, database server, mail server เป็นต้น คะ แต่เรามีแค่เครื่องเดียว คุณภาพของเครื่องที่เราใช้อยู่ ก็ไม่ได้ดีที่สุดคะ

- เขามีระบบ caching ที่ดีกว่า

- มีระบบบริหารจัดการ network และความเร็วของ network ที่เร็วกว่า

เป็นต้นคะ

นาง สิริพร กุ่ยกระโทก เมื่อ อ. 25 มิ.ย. 2549 @ 15:34 จาก 58.8.115.85   ลบ

ดิฉันไม่กล้าแนะนำอะไรในเชิงความรู้ทางเทคนิค  แต่มีความนิยมชมชอบ gotoKnow โดยเข้ามาบันทึกเพื่อเก็บความรู้  เทคนิควิธีการสอนภาษาอังกฤษ  ตลอดจนอื่นๆที่กำลังศึกษาระบบ

เรื่องการส่งการบ้านอาจารย์ใน blog นี้  ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ความหนาแน่นจนการทำงานช้าลงของ  gotoKnow  แต่อาจจะแนะนำให้ไปลองส่งการบ้านที่อื่นอีก  ที่เป็น blog สากล  ให้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ  ซึ่งมี blog สากลที่เปิดฟรีให้ใช้ มากมาย  มีลูกเล่นสวยงามสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่กำลังทดลองการใช้ blog  เช่น  http://www.bravenet.com  หรือ  http://www.geocities.com   หรือ  http://www.google.go.th  หรือ http://www.kapook.com

ดิฉันเคยเปิดบล็อก gotoKnow ในเส้นทางหลักตั้งแต่หน้า 1 จนถึงหน้า 603 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  พบว่า  มีบล็อกเปล่าๆที่ยังไม่ได้บันทึกมากมาย  แต่ก็ไม่ได้เป็นประเด็นที่ทำให้ gotoKnow ช้าลง 

ดิฉันจะคอยให้กำลังใจ  และจะเข้ามาบันทึกสิ่งละอันพันละน้อยที่เป็นความรู้เพื่อจัดเก็บไว้จามเจตนารมย์ของ gotoKnow ต่อไป  พบกับดิฉันที่นี่

ดร. จันทวรรณ น้อยวัน เมื่อ อ. 25 มิ.ย. 2549 @ 15:41 จาก 202.47.247.135   ลบ

ต้องแยกปัญหาให้ออกนะคะ มี 2 เรื่องคะ

1) ปัญหาเรื่องความช้า

2) ปัญหาเรื่องนโยบายการใช้

ในเรื่องแรก ความช้ามาจากหลายสาเหตุ เช่น จำนวนผู้ใช้ เครื่องแม่ข่าย ระบบที่ซับซ้อนขึ้น และ อีกหลายอย่างคะ ดังที่ได้พูดคุยไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/thaikm/35433
และจำนวนคนที่เข้าใช้ต่อวินาที (สุ่ม) เฉลี่ยประมาณ 500-600 คนคะ แต่ส่วนใหญ่จะอ่านมากกว่าเขียน

ในเรื่องที่สอง เรื่องนโยบายการใช้ http://gotoknow.org/blog/thaikm/35433
 อ่านได้ที่ เช่นกันคะ

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นนะคะ

จันทวรรรณ

มีหลายประเด็นค่ะ ที่อยาก share ความคิด

  1. การให้ Gotoknow เปิดกว้างน่าจะเป็นสิ่งที่ดี สำหรับสังคมการเรียนรู้ และการศึกษา ดีทั้งสร้างกลุ่มผู้เรียนรู้ระหว่างการทำงาน ทั้งผู้ที่เป็นตัวแบบ และผู้ต้องการศึกษาตัวแบบ ดีทั้งกลุ่มนักศึกษา เพราะว่าเขาได้เรียน และรู้จักทั้งแนวคิด กลวิธี และตัวแบบของการเรียนรู้ ... เพราะฉะนั้น Gotoknow น่าจะเปิดต่อไป
  2. การจัดการระบบของ Gotoknow น่าจะทำได้หลายวิธี เสนอแบบไม่ทราบว่าจะเป็นไปได้หรือไม่นะคะ ว่า ทำแบบเดียวกับเฟรนไชน์ ก็อาจต้องไปคิดว่า จะทำแบบการค้า (แบบไม่กินกำไร) หรือแบบ opensorce อย่างไหนจะพัฒนาได้ไกล และมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน (+ บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้)
  3. เรื่องการใช้งาน ใช้ง่าย คล่องตัว มีผลสำคัญที่สุด เพราะถ้าเขายาก ใส่ข้อมูลยาก อาจจะทำให้ลูกค้าน้อยลง (version 2 มีปัญหานี้เพิ่มขึ้นค่ะ อาจเพราะว่าคนเข้ามาใช้งานเพิ่มขึ้น)
  4. เอกลักษณ์ gotoknow ของ สคส. น่าจะยังคงอยู่ เพราะมีความหมายเพื่อ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สิ่งนี้ ราชการยังต้องการเวทีให้กับสมาชิกอยู่ค่ะ (หวังพึ่ง สคส.เต็มที่)

มหัศจรรย์จริงๆ ค่ะ อาจารย์ เพราะว่าไม่น่าเชื่อว่า GotoKnow มีผลกระทบต่อสังคมมากมายขนาดนี้ เพราะว่า ที่เห็นเพิ่มเติมมาในขณะนี้ชัดๆ ก็คือ มีผู้คนเข้ามาอ่านเรื่องราวมากขึ้น เพราะมีผลสะท้อนจากการ comment เยอะขึ้นมาก (ถ้าดูจริงๆ อาจเป็นกลุ่มผู้เรียนรู้ คือ นักศึกษา แต่ไม่ได้วิเคราะห์จริงค่ะ ... คนทำงานกลับละเลยนะคะ) ข้อมูลนี้สำรวจจากเวปของตัวเอง ทั้งๆ นี้ gotoknow ตอนนี้เข้ายากมาก หลุดบ่อย บางที post ข้อความขึ้นไปแล้ว ก็หลุดประจำค่ะ

เชียร์ สคส. คิดต่อนะคะ 

 

  • ขอแสดงความคิดเห็นตามความรู้ที่มีจำกัดดังนี้ครับ
  • ด้านเทคนิค แก้ไข ความช้า ผมว่าน่าจะมีวิธีแก้ได้ เพราะผมคาดว่า ปริมาณ การใช้ GotoKnow ยังเทียบไม่ได้กับของที่เขามีการใช้มาก ๆ อย่างเช่น pantip, sanook, kapook โดยไม่ต้องคิดเทียบกับของระดับโลกอย่าง google  หรือ  yahoo blog
  • ด้านนโนบาย การใช้งาน  ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่ต้องมีการจัดการ อย่างดี  gotoKnow  จึงจะสามารถ จัดการให้เป็นแหล่ง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้ตามนโยบาย  การเปิดเสรี ในระยะเริ่มต้นที่ระบบยังไม่เป็นที่รู้จักหรือนิยมนั้นดีแล้ว แต่ถ้าจะให้เป็นไปตาม นโยบาย เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้าน KM (ถ้าเป็นนโยบาย ?)  จะต้องมีการจัดการเพื่อให้ผู้ใช้ ใช้อยู่ในกรอบของนโยบาย ครับ  คงเปิดเสรีอย่างในปัจจุบันไม่ได้  เรื่องนี้ผมเคยออกความเห็นไว้ครั้งหนึ่งแล้ว ตอนที่คุณหมอวิจารณ์  หรือมีผู้เขียนถึงการใช้ gotoKnow เป็นที่ส่งการบ้าน
เนื่องจากไม่มีความรู้ด้านเทคนิค แต่คิดว่า การให้ gotoknow เป็นแหล่งเรียนรู้น่ะดีแล้ว มีแหล่งให้คนได้อ่าน ถึงจะไม่บันทึก และขอสนับสนุนความคิดของอาจารย์ ดร จันทวรรณ ที่ให้ gotoknow เป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกคน อีกทางหนึ่งก็จะเพิ่มแหล่งเรียนรู้สำหรับการศึกษาไทย ดีกว่าให้นักเรียนักศึกษาไปติดเกม หรือติดอย่างอื่น ติดบล็อก gotoknow น่าจะดีกว่าเป็นไหนๆจริงไหมคะ จึงน่าจะมีการสนับสนุนอย่างยิ่ง จากหลายแหล่งก็น่าจะได้นะคะ ผ

เมื่อ "เปิดกว้าง ไยต้องปิดกั้น"

"นิมิตหมายที่ดี" เมื่อ อ. 25 มิ.ย. 2549 @ 21:02 จาก 203.188.51.16   ลบ
  • การที่ gotoknow เป็นที่นิยมมาก ไม่น่าจะถูกมองว่าเป็นปัญหานะคะ 
  • อยากให้มองว่า เป็น "นิมิตหมายที่ดี" ที่เว็บฯ นี้เป็นที่ตอบรับอย่างท่วมท้นจากวงการการศึกษาของไทย แสดงให้เห็นว่าคนไทยอยากมีสังคมที่ดี "สังคมแห่งการเรียนรู้"  "สังคมแห่งการแบ่งปัน"  และอยากมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมอุดมปัญญาของไทย
  • gotoknow.org เป็นแหล่งรวม blog เชิงวิชาการ  ที่เปิดกว้างทางความคิด  มีความโดดเด่นตรงที่ "เป็นที่ชุมนุมของนักวิชาการ นักคิด นักปฏิบัติระดับหัวกะทิของประเทศ(เกิดขุมทรัพย์ Tacit Knowledge)"  ซึ่งเอื้อให้คนตัวเล็กๆที่อยากเติบโตทางความคิดและสติปัญญา มีโอกาสเข้ามา "อ่าน"งานเขียนของผู้ทรงภูมิความรู้ ที่เค้าชื่นชมศรัทธาเหล่านั้นได้ไม่จำกัดเวลา   มีโอกาสปรึกษา พูดคุย ทักทาย อย่างเป็นกันเอง และแลกเปลี่ยนความรู้กันได้อย่างสะดวก 
  • เป็นสังคมจัดการความรู้ที่พึงประสงค์ ยากที่จะหาชุมชนออนไลน์ที่ใดในประเทศเทียบคุณภาพ คุณค่า และความนิยมได้

 

ทาง สคส. ดำเนินการในลักษณะดังนี้จะดีไหมคะ

  1. มีหนังสือถึงสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ให้รู้จัก Gotoknow.org อย่างเป็นทางการ 
  2. จัดฝึกอบรมพิเศษ+เร่งด่วน  ให้กับผู้ดูแลระบบสารสนเทศของสถานศึกษา   ให้สามารถจำลองหรือพัฒนาระบบแบบ Gotoknow ไปลงใน Intranet หรือที่ใดๆบนเครือข่ายสารสนเทศของสถาบัน      "โดยที่...ผู้คนที่เคยเข้ามาเยี่ยมเยียนและสร้างบ้านในชุมชนอบอุ่นอย่าง Gotoknow.org จะต้อง ไม่ถูกตัดขาดหรือแบ่งแยกจาก Gotoknow "  นะคะ     การที่เว็บไซต์ลักษณะนี้เติบโตอย่างน่าทึ่งอย่างนี้ได้  ย่อมเกิดจากความไว้วางใจและความเชื่อมั่น ที่"สมาชิก"  มีต่อ gotoknow เป็นสำคัญ   

 ซึ่งถ้าความรู้สึกดีๆที่สมาชิกหรือผู้เยี่ยมชมมีต่อ gotoknow.org จืดจางและหมดไป  คงไม่ต้องเดาว่าประเทศไทยเราต้องกลับไปนับเลขแถวๆ เลข 1 ใหม่(อย่างน่าเสียดาย) กับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ค่ะ

 

ขอขอบพระคุณและขอเป็นกำลังใจให้สคส. โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมผู้พัฒนาระบบค่ะ

อยากให้เปิดกว้างเหมือนเดิมค่ะ

สนับสนุนให้ไปใช้ในหนว่ยงานที่สนใจโดยช่วยสอนและแนะนำให้

ถ้าไม่มีการบันทึกภายในเวลาที่กำหนดน่าจะตัดออกเพราะมีบางblogไม่กลับมาเขียนอีกเลย

ขอบพระคุณผู้ที่เสียสละและช่วยเหลือพวกเราทำให้มีwebใช้งาน    ดิฉันแอบไปชักชวนคนมาเข้าเป็นสมาชิกอีกหลายคนค่ะ

ขอให้กำลังใจทุกๆท่านค่ะ

           คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้ Gotoknow เป็นคนในแวดวงการศึกษา และทำ KM ไปด้วย จะว่าไปแล้วการสอนและการวิจัยก็เป็นงานหลักของคนกลุ่มนี้ และดูเหมือนว่าการสอนจะเป็นงานหลักด้วยซ้ำไป และการที่ผู้สอนได้เห็นได้พบในสิ่งที่ดีๆ แหล่งความรู้ รวมถึงเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสิ่งหนึ่งที่ที่อื่นไม่มี แต่มีใน gotoknow เช่น

  • ความเป็นชุมชน
  • เนื้อหาที่ค่อนข้างเชื่อถือได้เพราะมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
  • เนื้อหาที่ไม่สามารถหาได้ในหนังสือซึ่งเป็นแต่ทฤษฎี แต่ที่นี่เป็น ประสบการณ์
  • และที่สำคัญมีผู้เขียนที่ต้องรับผิดชอบ มีตัวตน โต้ตอบได้

    ดังนั้นผมว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่ครู อาจารย์  ทั้งหลายจะไม่หยิบยืมเครื่องมือทั้งหลายมาใช้ในการเรียนการสอน และแนะนำสิ่งที่ดีๆ เหล่านี้ให้กับลูกศิษย์ และที่สำคัญคือฟรี

           ดังนั้นผมเห็นด้วยกับนายบอน ความเห็นที่ 6 และ อ.จันทรวรรณ นะครับ ว่าเรื่องความเร็วก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องนโยบายก็เป้นอีกเรื่องหนึ่ง 

         ผมไม่รู้ว่าทำไมเว็บพันทิพย์ ทั้งๆที่มีคนใช้มากมายกว่า gotoknow จึงรวดเร็วได้ คงต้องเชิญเว็บมาสเตอร์พันทิพย์มาให้คำแนะนำกับเราบ้างก็น่าสนใจนะครับ

           ดังนั้นถ้าจะทำให้เร็ว แต่ไม่เป็นที่นิยมสามารถทำได้หลายทางครับ

  • จำกัดกลุ่ม
  • ตัดสมาชิกที่ไม่อัพเดท (hotmail ยังไม่ทำเลยครับ)
  • เก็บตังค์
  • ย้ายกลุ่มที่ทำ KM ไปใช้เว็บอื่น และเปิดพื้นที่นี้ให้เป็นสาธารณะ
  • นำไปให้องค์กรณ์ใช้ในการเีรียนการสอนเฉพาะด้าน (ผมว่ามันทำให้ขาดเสน่ห์ ที่ Gotokow เข้าถึงสังคมไทยโดยรวมในวงกว้างทุกกลุ่มนะครับ) 
  • เห็นด้วยกับอาจารย์ดร.รุจโรจน์และดร.จันทวรรณครับ
  • ปัจจุบันนี้คนในวงการต่างๆรู้จักgotoknowมากขึ้น ผมเห็นว่าถ้าใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลและการเรียนการสอนก็จะเป็นประโยชน์แก่สังคม
  • เช่นใครอยากค้นเรื่องภาษาอังกฤษก็พิมพ์คำหลักในgoogleก็จะพบข้อมูลจากgotoknow หาง่ายมาก มีประโยชน์แก่วงการศึกษา
  • ขอเอาใจช่วยอาจารย์ทั้ง ดร.จันทวรรณและดร. ธวัชชัยครับ ถ้าทำwikiสำเร็จ
"นิมิตหมายที่ดี" เมื่อ อ. 25 มิ.ย. 2549 @ 21:02 จาก 203.188.51.16   ลบ
  • การที่ gotoknow เป็นที่นิยมมาก ไม่น่าจะถูกมองว่าเป็นปัญหานะคะ 
  • อยากให้มองว่า เป็น "นิมิตหมายที่ดี" ที่เว็บฯ นี้เป็นที่ตอบรับอย่างท่วมท้นจากวงการการศึกษาของไทย แสดงให้เห็นว่าคนไทยอยากมีสังคมที่ดี "สังคมแห่งการเรียนรู้"  "สังคมแห่งการแบ่งปัน"  และอยากมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมอุดมปัญญาของไทย
  • gotoknow.org เป็นแหล่งรวม blog เชิงวิชาการ  ที่เปิดกว้างทางความคิด  มีความโดดเด่นตรงที่ "เป็นที่ชุมนุมของนักวิชาการ นักคิด นักปฏิบัติระดับหัวกะทิของประเทศ(เกิดขุมทรัพย์ Tacit Knowledge)"  ซึ่งเอื้อให้คนตัวเล็กๆที่อยากเติบโตทางความคิดและสติปัญญา มีโอกาสเข้ามา "อ่าน"งานเขียนของผู้ทรงภูมิความรู้ ที่เค้าชื่นชมศรัทธาเหล่านั้นได้ไม่จำกัดเวลา   มีโอกาสปรึกษา พูดคุย ทักทาย อย่างเป็นกันเอง และแลกเปลี่ยนความรู้กันได้อย่างสะดวก 
  • เป็นสังคมจัดการความรู้ที่พึงประสงค์ ยากที่จะหาชุมชนออนไลน์ที่ใดในประเทศเทียบคุณภาพ คุณค่า และความนิยมได้

 

ทาง สคส. ดำเนินการในลักษณะดังนี้จะดีไหมคะ

  1. มีหนังสือถึงสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ให้รู้จัก Gotoknow.org อย่างเป็นทางการ 
  2. จัดฝึกอบรมพิเศษ+เร่งด่วน  ให้กับผู้ดูแลระบบสารสนเทศของสถานศึกษา   ให้สามารถจำลองหรือพัฒนาระบบแบบ Gotoknow ไปลงใน Intranet หรือที่ใดๆบนเครือข่ายสารสนเทศของสถาบัน      "โดยที่...ผู้คนที่เคยเข้ามาเยี่ยมเยียนและสร้างบ้านในชุมชนอบอุ่นอย่าง Gotoknow.org จะต้อง ไม่ถูกตัดขาดหรือแบ่งแยกจาก Gotoknow "  นะคะ     การที่เว็บไซต์ลักษณะนี้เติบโตอย่างน่าทึ่งอย่างนี้ได้  ย่อมเกิดจากความไว้วางใจและความเชื่อมั่น ที่"สมาชิก"  มีต่อ gotoknow เป็นสำคัญ   

 ซึ่งถ้าความรู้สึกดีๆที่สมาชิกหรือผู้เยี่ยมชมมีต่อ gotoknow.org จืดจางและหมดไป  คงไม่ต้องเดาว่าประเทศไทยเราต้องกลับไปนับเลขแถวๆ เลข 1 ใหม่(อย่างน่าเสียดาย) กับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ค่ะ

 

ขอขอบพระคุณและขอเป็นกำลังใจให้สคส. โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมผู้พัฒนาระบบค่ะ

นพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์ เมื่อ จ. 26 มิ.ย. 2549 @ 09:14 จาก 58.136.141.62   ลบ

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์จันทวรรณ และทีมงาน Go2Know...

  • ขอสนับสนุนข้อเสนอ

(1). "อาจารย์ชายขอบ" ที่ว่า e-mail เตือนว่า มีคนมาให้ข้อคิดเห็นไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่ ระบบใหม่มี "ศูนย์รวมข้อมูล" ที่เปรียบคล้ายกับเป็นเลขานุการส่วนคนเก่งอยู่แล้ว
(2). "อาจารย์นิมิตหมายที่ดี" ที่ว่า Go2Know โตเร็วเป็นโอกาสมากกว่าวิกฤต...
(3). ถ้ามีบริษัทเอกชน หรือมูลนิธิการกุศลบริจาคอะไรที่อาจจะช่วยให้ระบบเร็วขึ้นได้ก็น่าจะดี เช่น servers, ระบบสายส่งสัญญาณ ฯลฯ
(4). ถ้ามีผู้ช่วย webmaster น่าจะดีครับ... ดูเหมือนท่านอาจารย์ทีมงาน Go2Know ทุกท่านจะเหนื่อยมาก

 

อิสระ ไร้รูปแบบ หากแต่สมดุล

หากจำกัด..การใช้...ไร้อิสระ
หากกำหนดกฏเกณฑ์...เริ่มมีรูปแบบ
จำกัดการใช้+กำหนดกฏเกณฑ์ = มีรูปแบบตายตัว และไร้อิสระ --> "อึดอัด ครอบงำ" และจะสมดุล?

คันตรงไหน...เกาตรงนั้น
"ลปรร. น้อย ก็แก้ว่า..ทำอย่างไรจึงจะเกิด ลปรร.เพิ่มขึ้น
ระบบช้า...ก็แก้ว่า...ทำอย่างไรจึงจะเร็วในเชิงเทคนิค"

ครู...พานักเรียนมาใช้...ดูท่าจะดี เพราะเพิ่มทัศนคติ..เชิงบวกต่อ"การบันทึก"ได้
ต่อไป..เลิกเป็นนักเรียน...ก็อาจยังคงเป็นผู้บันทึกต่อไปได้
มองให้เห็น ให้เจอ...ในสิ่งดี ครูให้นักเรียนส่งงาน...ก็ควรจะเป็นงานที่เป็น "กึ๋น" ของนักเรียน...หาใช่งาน coppy ตัดแปะ..
ครู..ก็ควรพิจารณา รับผิดชอบด้วย...เพราะจะได้ไม่เป็นขยะแห่งทางปัญญาที่มีแต่การ "ลอก"..คิดเองไม่เป็น...

เอาเทคโนโลยีเข้าว่า ท่าจะดีคะ :) เช่น กำลังคิดทำ directory ไว้หน้าแรกเลยคะ เช่น ด้านจิตวิทยา ด้าน km ด้านเบาหวาน ด้านเทคโนโลยี โดยดึงเอาจากป้ายบล็อก เหมือนเช่น เวลาหาบล็อกด้าน knowledge management ใน search นั่นแหละคะ

มี server หลายๆ ตัวอยู่ในหลายที่หลายสถาบัน ต่อกัน    ให้เครื่องมันช่วยกัน   ทำได้ไหมครับ

เรียนอาจารย์วิจารณ์

ได้ครับ ที่จริงแล้วก็เป็นหนึ่งในแผนของเราที่จะพัฒนา KnowledgeVolution ให้สามารถอ่านข้าม installation ได้ อาทิเช่น ผู้ใช้ kv.psu.ac.th สามารถเห็นบันทึกใหม่จาก kv.nu.ac.th ได้เป็นต้นครับ

โดยเฉพาะ function ของ Planet ต้องรับ feed นอกเหนือจากใน KnowledgeVolution ด้วยกันได้ด้วย นั่นคือมี function ของ PlanetMatter รวมอยู่ด้วยครับ

แต่ตอนนี้พวกเราอยากทำให้ KnowledgeVolution สามารถรองรับ single-site installation ได้ก่อนครับ

ที่จริงแล้วปัญหาความช้าของ GotoKnow.org นี่ผมมองว่าอยู่ในส่วนหลักเพียงสามส่วนเท่านั้น

อย่างแรกคือ hardware เราเร็วไม่พอ เครื่องแม่ข่ายเราเป็นเพียง Pentium4 3.0GHz มี RAM แค่ 2.0GB  แถม HD ก็เป็นแบบ IDE ธรรมดาเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นเครื่อง desktop ธรรมดาเครื่องหนึ่งเท่านั้นเอง เมื่อนำมาใช้เป็นเครื่องแม่ข่ายของ site อย่าง GotoKnow.org จึง overload ได้ง่ายมาก ปัญหานี้แกได้เมื่อเรา upgrade เป็นเครื่องแม่ข่ายจริงๆ ครับ

อย่างที่สองคือ ความช้าของ network ระหว่างประเทศครับ เนื่องจาก GotoKnow.org เป็น site ไทย user perception จึงเปรียบเทียบความเร็วกับ site ไทยอื่นๆ ปัญหานี้ก็แก้ได้เมื่อเราย้ายมา Internet Thailand แล้วครับ

อย่างที่สามคือตัวโปรแกรมครับ ตัวโปรแกรมยังมีอีกหลายส่วนที่ยังทำให้เร็วขึ้นได้อีกมากครับ ตอนนี้ผมเหมือนกับ proofread โปรแกรมอยู่ ก็จะเจอสิ่งละอันพันละน้อยที่แก้นิดแก้หน่อยก็จะเร็วขึ้นครับ

เช้ามืดวันนี้เข้าใช้งานระบบได้เร็วจี๋เลยค่ะสุดยอด!

เป็นบุญของประเทศไทยเราที่มี "นักพัฒนาหัวใจทองคำ"  อย่างทั้ง 2 ท่าน และสถาบันที่สรรค์สร้างสังคมอย่างแท้จริง อย่าง สคส. 

ขอบพระคุณค่ะ

หลากความคิด หลายความเห็น ต่างมุมมอง แตกต่างแต่มิใช่แตกแยก ทุกคนล้วนปรารถนาดี วิเคราะห์ปัญหา เสาะหาสาเหตุ ที่สุดก็พบว่ามาจาก hardware, network และ program(จากความเห็นของ ดร.ธวัชชัย)คนจำนวนมาก ใช้ถนนสายเดียวกัน จุดหมายปลายทางเดียวกัน ก็ย่อมเบียดเสียด แออัด ช้า-เร็วเป็นธรรมดา ห้ามคนเดินทางคงยาก แต่ตัดถนนเพิ่มขึ้นคงง่ายกว่า

ตอนนี้ได้แก้ไขคอมพิวเตอร์ของตัวเองให้เร็วขึ้นด้วย เป็นทางแก้อีกทาง

 และได้เปิดดู Gotoknow อีกครั้ง พบว่า gotoknow เดี๋ยวนี้ก็เร็วขึ้นเยอะเลย จึงขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมด้วยช่วยกันค่ะ

ไปอยู่ในพื้นที่มาหลายวันค่ะ กลับมาตรวจบันทึกของนักวิจัยที่ดูแล และของนักศึกษาที่สอนเทอมนี้

ชักร้อนตัวว่า เราเองทำให้โกทูโนเดือดร้อนไหมเนี่ย ???

อยู่ๆ ก็เอาทีมวิจัยกับห้องเรียนมาทำงานกันในโกทูโน ก็คิดว่า น่าจะดีนะคะ ที่ให้นักวิชาการรุ่นเยาว์มาเจอรุ่นใหญ่ เอาเรื่องของคนรากหญ้ามาพูดคุย 

ถ้าเสนอได้ต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากความช้าของระบบ ก็ต้องแก้ทางเทคโนโลยีนะคะ

แต่ถ้าเป็นปัญหาที่นักศึกษาที่มาส่งการบ้าน "โดยลอกเขามา" ก็ต้องแก้ไขที่ "จริยธรรม" ในใจนักศึกษาที่ทำเช่นนั้น มันเป็นผิดแน่นอน แต่เมื่อเขาผิด เราก็สอนให้เขาทำถูก ครูคนสั่งการบ้าน คงต้องจัดการ และประชาคมวิชาการโกทูโนออกมาบอกเขาอย่างนี้ เขาก็จำไปอีกนานนะคะ แต่กลัวพวกเขาจะไม่เห็นบันทึกนี้จัง (สำหรับในห้องเรียนของตัวเอง จะเอาไปเปิดให้เจ้านักศึกษาตัวดีทั้งหลายได้อ่านทีเดียว) 

ตกลงยังให้นักศึกษาตัวน้อยทั้งหลายส่งการบ้านได้ใช่ไหมคะ   

gotoknowเป็นบล็อคที่ดีมากหลังจากที่ได้เรียนรู้วิธีการใช้งานจากอ.รุจโรจน์ ซึ่งดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ใช้บล็อคในการส่งงาน  ติดต่อส่งข่าวในกลุ่มเพื่อนและขอความช่วยเหลือจากเพื่อนสมาชิกในเรื่องที่ต่างๆ ความคิดเห็นจริงๆแล้วอยากให้ทุกคนที่รู้จักgotoknowได้ใช้ประโยชน์กันทั่วหน้าไม่ควรไปจำกัดสิ่งดีๆ กับนักแสวงหาหากจำกัด ก็เหมือนกับไม่เปิดกว้างซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็เหมือนไม่มีน้ำใจ  ช้าหน่อยแต่ใช้ได้ทั่วถึงดีกว่ารึป่าว...แต่ถ้าแก้ที่hardware,softwareได้จะดีกว่าการใช้คำพูดฟาดฟันกันเองนะคะ........อย่าลืมว่าเรากำลังอยู่ในสังคมKMนะคะ

 

 

เป็นสมาชิกใหม่ ขอรายงานตัวครับ

แบบง่ายๆ ไม่ทราบว่าด้านเทคนิคทำได้หรือไม่? คือ แยกเป็นกลุ่มตามความสนใจเช่น

ภาษา ท่องเที่ยว สุขภาพ ศาสนา ปรัชญา ฯลฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท