การจัดการเรียนการสอนโดยวิธีการสะท้อนคิด (Reflective thinking)


การจัดการเรียนการสอนโดยวิธีการสะท้อนคิด (Reflective thinking) โดย...กลุ่มวิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช

การจัดการเรียนการสอนโดยวิธีการสะท้อนคิด (Reflective thinking)

***โดย...อาจารย์ลำเจียก กำธร

กลุ่มวิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช วพบ.ตรัง

1. ความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนแบบการสะท้อนคิดในการพยาบาล

วิชาชีพการพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ต้องปฏิบัติงานในสถานการณ์ที่หลากหลาย และเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ ซึ่งต้องปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การเรียนรู้จากประสบการณ์หรือการสะท้อนคิดจากการปฏิบัติ (Reflective practice or reflection onpractice) จึงมีความสำคัญต่อการคิด ตัดสินใจ แก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆซึ่งจะช่วยให้เกิดทักษะในการแก้ปัญหาที่ยึดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งช่วยให้เข้าใจเหตุผลของการปฏิบัติได้ดีขึ้น (Davies, 1995) การฝึกสะท้อนคิดเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และเป็นการพัฒนาศักยภาพทางปัญญาที่ส่งผลให้มีการปฏิบัติและการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของพุทธศาสนาที่กล่าวถึงการคิดไตร่ตรองหรือการคิดทบทวนอย่างมีเหตุผล สามารถนำมาใช้เป็นวิธีการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี โดยนักปรัชญาเรียกว่า วิธีแห่งปัญญา การสะท้อนคิดเป็นรูปแบบการคิดที่ช่วยให้บุคคลเกิดการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจะเกิดจากการรับรู้ ความคาดหวัง ความรู้สึกตนเองเกี่ยวกับประสบการณ์ แล้วมีการวางแผนหาแนวทางแก้ไขในอนาคต โดยผ่านกระบวนการพูดหรือเขียน การสะท้อนคิดจึงเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับวิชาชีพพยาบาล เป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีการเชื่อมโยงความรู้ทางทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติได้ รวมทั้งมีการตัดสินใจเชิงจริยธรรมที่เหมาะสมในการปฏิบัติงานในสถานการณ์ต่างๆได้ (อรพรรณ, 2553) นอกจากนี้ ยังมีผลทำให้พยาบาลได้เรียนรู้และเข้าใจตนเองมากขึ้น ส่งผลต่อการดูแลผู้รับบริการอย่างเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์และมีความเอื้ออาทรเกิดขึ้น (Lauterbach & Becker, 1998) การนำวิธีการสะท้อนคิดมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน จึงเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการเตรียมบุคลากรทางการพยาบาลเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนที่มีการปฏิบัติเป็นฐาน (Practice - based Instruction) ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงการบริการกับการเรียนรู้ได้ (Service learning) เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงและเปิดโอกาสให้วิเคราะห์วิพากษ์ และประเมินสิ่งที่ปฏิบัติ รวมทั้งได้รับข้อเสนอแนะในการปฏิบัติครั้งต่อไป (Eyler, 2002)

ดังนั้นการสะท้อนคิดจึงเป็นทักษะทางปัญญาที่มีความจำเป็นสำหรับบัณฑิตพยาบาลทุกคนเพราะเป็นทักษะที่ช่วยให้พยาบาลรู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณรู้จักแก้ปัญหาและพัฒนางานด้วยกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบบนพื้นฐานหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือทั้งนี้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ ได้มีการกำหนดให้สถาบันการศึกษาพยาบาลจัดการเรียนการสอนที่พัฒนาให้เกิดผลการเรียนรู้ด้านต่างๆ รวมถึงทักษะทางปัญญาด้วยเช่นกัน

2. แนวคิดของการสะท้อนคิด(Reflection) การสะท้อน (Reflection) เป็นการคิดเกี่ยวกับการคิดของตนเอง การสะท้อนคิดแสดงออกถึงความคาดหวัง ความรู้สึก การสื่อสารโดยผ่านกระบวนการพูด หรือ เขียน โดยมีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์ เปรียบเทียบ วางแผนแก้ไขปัญหา โดยมีผู้ให้ความหมายการสะท้อนคิดดังนี้

2.1 ความหมาย

ดิวอี้ (Dewey, 1933:12) ในงานเขียนเรื่อง "How we Think" ให้ความหมายของการสะท้อนคิดว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของการคิดพินิจ พิเคราะห์ ตรึกตรองใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง โดยเริ่มจากความสงสัยใคร่รู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับความคิดความเชื่อหรือองค์ความรู้ที่ยึดถือกันอยู่ และใช้ความพยายามในการค้นหาคาตอบ โดยอาศัยเหตุผลและข้อมูลอ้างอิง

โนเวลส์, โคล และ เพรสวูด (Knowles; Cole and Presswood.1994 : 8-10) กล่าวว่าการสะท้อนคิดเป็นการใช้กระบวนการพินิจพิเคราะห์ ตั้งคำถามย้อนหลังกลับมายังสถานที่เป็นอยู่อย่างครอบคลุมทุกด้าน 6 แยกให้เห็นปัญหาที่เป็นเหตุผลในการปฏิบัติขณะนั้น ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้และส่งผลต่อการแก้ปัญหาที่เหมาะสม

แยซี (Yancey. 1998) กล่าวว่าการสะท้อนคิดอาจหมายถึงการทบทวนในงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งหรือการประเมินตนเอง หรือ เป็นการวิเคราะห์ การเรียนรู้ ที่เกิดขึ้น

โคลเลน (Colloen. 1996:54) ได้เสนอความคิดเห็นว่า การสะท้อนคิดเป็นปฏิกิริยาของสมองที่สะท้อนสิ่งที่บุคคลนั้นคำนึงถึงอย่างใคร่ครวญ ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อถ่ายโอนความรู้สึกต่างๆ ของตนเองก่อนที่จะสื่อสารกับผู้อื่นด้วยการพูดหรือการเขียน

จอห์น (Johns. 2000: 34) กล่าวว่าการสะท้อนคิดเป็นกระบวนการคิดไตร่ตรองทบทวน (Reflective Thinking) พินิจพิเคราะห์และพิจารณาสิ่งต่างๆอย่างรอบคอบโดยใช้สติและมีสมาธิ ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้บุคคลได้ทบทวนและสะท้อนการกระทำของตน (Reflective Practice) ช่วยให้เกิดความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ นำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงตนเอง ปรับปรุงงาน และการแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จากความหมายดังกล่าว สรุปได้ว่า การสะท้อนคิดเป็นกระบวนการภายในตัวบุคคลที่มีความซับซ้อน ถือ เป็นการคิดระดับสูง ที่เรียกว่า อภิปรัชญา ซึ่งเป็นการคิดเกี่ยวกับการคิดของตนเอง รวมทั้งสิ่งสำคัญที่มีผลต่อความคิดนั้น

ดังนั้นการสะท้อนคิดจึงขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 3 ประการ คือ ตัวผู้เรียน ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ และวิธีการในการเรียนรู้

2.2 ขั้นตอนของการสะท้อนคิด

กระบวนการเรียนรู้โดยการสะท้อนคิด ของ กิบส์ (Gibbs, 2000) ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนดังนี้

1. การบรรยาย (Description) เป็นการบรรยายว่า อะไรเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการสะท้อนคิด เป็นการบรรยายที่เกิดจากความรู้สึกที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์นั้น ๆ

2. ความรู้สึก (feelings) เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันโดยการสะท้อนการคิดจากการสังเกตความรู้สึก และการรับรู้ เรามีปฏิกิริยาอย่างไร หรือรู้สึกอย่างไรกับอุบัติการณ์ สถานการณ์หรือประเด็นแนวคิดนั้น เช่น การขาดความมั่นใจ ความกลัว ความสับสนในการปฏิบัติงาน เป็นต้น

3. การประเมิน (Evaluation) เป็นการประเมินวิเคราะห์ประสบการณ์ร่วมกันว่าเป็นไปในทางดีหรือไม่ดีเกี่ยวกับอุบัติการณ์ สถานการณ์ หรือประเด็นแนวคิดนั้น แล้วนำสิ่งที่คุณให้คุณค่ามาใช้ในการตัดสินใจ

4. การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์โดยภาพรวม โดยใช้ประสบการณ์เดิมมาช่วยในการมองว่า สถานการณ์นี้เป็นอย่างไร

5. การสรุป (General conclusions) เป็นการสรุปความคิดรวบยอดจากการวิเคราะห์โดยใช้เหตุและผล หรือสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงการสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยใช้ประสบการณ์เดิมมาช่วยในการสรุป

6. การวางแผนปฏิบัติในอนาคต (Personal action plans) การวางแผนนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติในสถานการณ์ใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาตนเอง ถ้าหากสถานการณ์นี้เกิดขึ้นอีก เราจะทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง มีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร

2.3 รูปแบบการเรียนการสอนที่การส่งเสริมการสะท้อนคิด
รูปแบบการจัดการเรียนการสอนทางการพยาบาล ได้มีการพัฒนาเพื่อให้มีความเหมาะสมทันสมัย จากการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมที่เน้นการถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียนโดยตรงมาเป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การสอนแบบเน้นปัญหา การสอนเพื่อพัฒนาการคิด รวมทั้งการใช้สื่อต่างๆ ในการเรียนรู้ ศึกษาวิจัยการจัดการเรียนการสอนทางการพยาบาลในประเทศไทยที่ผ่านมานั้น ได้มีการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีการคิดวิเคราะห์ การสะท้อนคิด เป็นวิธีการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนโดยใช้ผู้เรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับแนวทางการจัดการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาและสอดคล้องกับหลักสูตรที่กำหนด

การเรียนการสอนที่จะส่งเสริมให้มีการสะท้อนคิดสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเขียนบันทึก (Journal Writing) การสนทนา (Dialogue) การวิเคราะห์อุบัติการณ์ (Incident Analysis) การอ่านงานเขียนอย่างพินิจพิเคราะห์ (Reading With Reflection) การเขียนบัตรคำ (Talking Cards/ Index Cards) การเขียนแผนผังความคิด (Reflection Mapping) การวิเคราะห์กระบวนการตัดสินใจ (Decision-Making Analysis) การสนทนาโต๊ะกลม (Reflection Roundtables) กระบวนการกลุ่มแบบหมวกหกใบ (Six Hats) นอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายวิธี ซึ่งบางวิธีใช้สำหรับการสะท้อนคิดในตัวบุคคล หรือการส่องสะท้อนตนเอง (Self Reflection/ Individual Reflection) บางวิธีใช้สำหรับทำเป็นคู่ (Reflection with Partners) หรือทำเป็นกลุ่มเล็ก (Reflection in Small Groups and Teams)

คุณลักษณะของการสะท้อนคิด

1. เป็นวิธีการอย่างเป็นระบบของการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราจะพัฒนาให้ดีขึ้นในอนาคต

2. ทำให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ โดยพิจารณาสิ่งที่เรารู้ เชื่อ และให้คุณค่า อย่างเป็นระบบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

3. ช่วยทำให้ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของบุคคลมีความหมาย ทำให้ตระหนักถึงความสำเร็จและเกิดความพึงพอใจ

4. เกิดการเรียนรู้ประสบการณ์ที่ได้รับอย่างมีความหมาย

การสะท้อนคิดเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามและหาคำตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับความรู้ (Knowledge worker) ซึ่งต้องตั้งคำถามที่กระตุ้นการคิดและพัฒนาผลลัพธ์ของงานให้ดีขึ้น

การสะท้อนคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติ/ทำงาน นาไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อพัฒนาการปฏิบัติให้ดีขึ้น ช่วยส่งเสริมความรับผิดชอบส่วนบุคคล (individual accountability) เพิ่มความตระหนักรู้ในตนในสิ่งที่กระทำ และเปลี่ยนจากผู้ปฏิบัติที่มีประสบการณ์น้อยไปเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ (from novice to expert) นอกจากนี้ กระบวนการของการสะท้อนคิดช่วยทำให้เราสามารถเข้าถึงความรู้ที่มีอยู่ในตัวคน (tacit knowledge) ซึ่งบุคคลได้สั่งสมมาจากการปฏิบัติงาน

2.4 ประโยชน์ของการสะท้อนคิด

ประโยชน์ที่ได้จากการนำการสะท้อนคิดมาใช้ในการเรียนการสอน

1. เกิดทางเลือกแนวใหม่ในทางปฏิบัติ มีความชัดเจนในประเด็นปัญหาต่างๆ และสามารถพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาได้

2. มีการปฏิบัติงานอย่างรอบคอบโดยใช้ประสบการณ์มาปรับปรุงตนเอง ได้ เรียนรู้ข้อบกพร่องของตนเองเพื่อนำมาปรับปรุงการปฏิบัติของตนเองให้ดีขึ้น

3. ผู้เรียนสามารถระบุปัญหา และอธิบายการแก้ปัญหาในการปฏิบัติ และให้เหตุผลในการกระทำได้

4. ผู้เรียนมีโอกาสแสดงความรู้สึก และได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ ในกลุ่ม ทำให้ลดความวิตกกังวลในการปฏิบัติการพยาบาลลง

5. ผู้เรียนมีความมั่นใจในตนเองและเกิดความภาคภูมิใจที่เกิดจากการเรียนรู้ของตนเอง

6. สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้สอน มีความเข้าใจกันมากขึ้น

7. ช่วยเพิ่มความตระหนักรู้

8. ส่งเสริมให้เกิดการคิดอย่ามีวิจารณญาณ

9. ทำให้ผู้ปฏิบัติในคลินิกสามารถปฏิบัติได้ใกล้เคียงกับการปฏิบัติในอุดมคติ

10. ช่วยพัฒนาทักษะปฏิบัติของนักศึกษา

11. สอนให้ผู้ปฏิบัติรู้จักรับฟังเสียงสะท้อนภายในตนเอง

2.5 การพัฒนาทักษะการสะท้อนคิด

การสะท้อนคิดเป็นทักษะทางปัญญาที่อาศัยกระบวนการคิดขั้นสูงที่สามารถพัฒนาได้การพัฒนาทักษะดังกล่าวทำได้โดยการกระตุ้นผู้เรียนในการนำประสบการณ์มาคิดวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ ตามลำดับตามขั้นตอนของการสะท้อนคิด และตามวัตถุประสงค์ของการสะท้อนคิดดังนั้นการกำหนดประเด็นหรือการตั้งคำถามที่ช่วยกระตุ้นการคิดถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทักษะการสะท้อนคิด เพราะการกำหนดประเด็นคำถามที่ชัดเจนและเรียงลำดับไปตามขั้นตอนของการสะท้อนคิดจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างชัดเจนและส่งเสริมกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ

2.6 การเขียนบันทึกสะท้อนคิด

กระบวนการฝึกฝนการสะท้อนคิด ทำให้นักศึกษาคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) ซึ่งเป็นผลลัพธ์โดยตรงของกระบวนการสะท้อนคิด จะดึงประสบการณ์ในเชิงลึก นักศึกษาจะใช้เวลาในการคิดพิจารณา ไตร่ตรอง อย่างรอบคอบในสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญ การฝึกสะท้อนคิดสามารถฝึกได้โดยวิธีการเขียน (writing) และใช้วิธีการพูด (verbally) และทำเป็นรายบุคคลหรือทำเป็นรายกลุ่ม

การเขียนบันทึกสะท้อนคิด (Reflective Journal) เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ผู้สอนใช้ในการกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียนรวมถึงกระตุ้นทักษะการสะท้อนคิด บันทึกสะท้อนคิดเป็นเอกสารที่ผู้เรียนเขียนขึ้น เพื่อบรรยายประสบการณ์การเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในระหว่างการเรียนทฤษฏีฝึกปฏิบัติหรือแม้แต่เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันบันทึกการสะท้อนคิดถือเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความสามารถของกระบวนการคิดและกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ

การสะท้อนคิดด้วยการเขียน ช่วยให้นักศึกษาพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การเข้าใจตนเอง และการสะท้อนคิด กล่าวว่าการเขียนเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการเรียนการสะท้อนคิดที่ช่วยให้นักศึกษาแก้ปัญหาและเรียนรู้เกี่ยวกับว่าเขาจะทำอะไร การเขียนหมายรวมถึงการเขียนสิ่งที่เรียนรู้ เป็นการบันทึกเกี่ยวกับความคิดของเขา เมื่อทำบ่อยๆ จะกลายเป็นสิ่งที่เรียนรู้อย่างถาวร เมื่อผู้เรียนเขียนความคิดลงไป ความคิดเหล่านั้นจะถูกจัดรูปแบบ ให้เป็นระบบดีขึ้น การเขียนช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างลึกซึ้ง

การเขียนสะท้อนคิด เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการคิดจากความพยายามที่จะอธิบายและสื่อสารให้บุคคลอื่นทราบเกี่ยวกับความรู้ และความรู้สึกของตนเองที่มีอยู่ในแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้นการเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ในรูปแบบของการบันทึกสิ่งที่เป็นประโยชน์ จะทำให้ผู้เรียนเกิดความชัดเจนในความรู้

และการกระทำของตนเอง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เรียนสามารถที่จะเปิดใจในการประเมินตนเอง ส่งเสริมทักษะการรู้จักตนเองมากขึ้น การเขียนอาจทำโดยใช้ Portfolio ในการบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแนวความคิดของผู้เรียนในการมองย้อนถึงการกระทำของตนเองในแต่ละครั้งได้การกำหนดให้ผู้เรียนเขียนสะท้อนคิดในหัวข้อและในระยะเวลาที่กำหนดจะช่วยให้เกิดความคิดที่ต่อเนื่องและคงทน เนื่องจากการการเขียนจะช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นภาพของประสบการณ์ที่ผ่านมาของตนเองได้ชัดเจน มีการผสมผสานความคิดและสะท้อนความคิดของตนเอง สิ่งสำคัญที่พบอีกอย่างหนึ่งคือ การเขียนสะท้อนคิดทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้จากการคิดถึงสิ่งที่ผ่านมามาอย่างรอบคอบ การสะท้อนความคิดโดยการเขียนเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการอธิบายแนวความคิดและความเข้าใจในสถานการณ์ มีการแลก

เปลี่ยนความคิด ความรู้สึก ความเชื่อ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการรู้จักตนเองมากขึ้น การเขียนสะท้อนคิดนี้ยังเหมาะกับผู้เรียนที่ไม่ค่อยชอบพูดทำให้นักศึกษาสามารถมีโอกาสได้แสดงความรู้สึกความคับข้องใจต่างๆที่ได้จากการฝึกปฏิบัติและนำไปสู่การพัฒนาทักษะในการค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้

2.7 การวัดและประเมินผล

  1. ควรใช้ Authentic assessment ในการประเมิน แต่ควรมีการทำข้อตกลงระหว่างครูและนักศึกษาซึ่งจะต้องมีการกำหนดสิ่งที่ต้องการวัดให้ชัดเจน

2. ประเมินจากการเขียนสะท้อนผลการเรียนรู้ โดยให้เขียนภายหลังการเรียนรู้ในแต่ละวัน หรือ สัปดาห์ ว่าต้องการเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม มีปัญหาด้านใดบ้าง ต้องการอะไร เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนต่อไป

  1. บทสรุป

การนำแนวทางการสะท้อนคิดมาใช้ในการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพการสอนทางการพยาบาลที่ต้องการเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ของนักศึกษา ในการเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเองและของเพื่อนในกลุ่ม เพื่อก่อ่ให้เกิดความสามารถในการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาและสามารถประยุกต์ทฤษฎีที่ได้เรียนมาสู่การปฏิบัติการพยาบาลได้ การสะท้อนคิดเกิดจากตัวผู้เรียนเองที่รับรู้ข้อมูล ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ แล้วจึงนำสถานการณ์นั้นมาคิด วิเคราะห์ใคร่ครวญตามความคิดความเข้าใจของตนเอง ก่อนที่จะบอกต่อผู้อื่นโดยผ่านทั้งทางการพูดและการเขียนวิธีการสะท้อนคิดนี้ จึงเป็นการพัฒนาผู้เรียนทั้งวิธีการคิด และทักษะทางปัญญา เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ ที่จะสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาสาระเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง นอกจากนี้วิธีการสะท้อนคิดจะได้ผลดีต้องเกิดจากการรับรู้ ความเข้าใจตนเองเป็นสำคัญ มีการสะท้อนที่เป็นเหตุเป็นผล เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ในการใช้วิธีการสอนโดยกระตุ้นให้เกิดการสะท้อนคิดในผู้เรียนนั้น ผู้สอนบนคลินิกมีความสำคัญในการช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้เรียน ด้วยการเป็นแรงเสริม ช่วยเหลือ ประสานงานด้านต่างๆ ให้คำปรึกษาแนะนำโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง กระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการคิด ใช้ปัญญาเพื่อการเรียนรู้ที่ยั่งยืนและมีความสุขในการเรียน นำไปสู่การเป็นพยาบาลวิชาชีพที่มีความรู้ความสามารถต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

กนกนุช ชื่นเลิศสกุล (2544).การเรียนรู้โดยผ่านการสะท้อนคิด:การศึกษาและการปฏิบัติการพยาบาลในคลินิก.วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 9(2), 35-48.

เชษฐา แก้วพรหม (2556). การพัฒนาทักษะสะท้อนคิดของนักศึกษาพยาบาลด้วยการเขียนบันทึกการเรียนรู้ในรายวิชาการสอนและการให้คำปรึกษาทางสุขภาพ. วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี, 24(2), 12-20.

อรพรรณ ลือบุญธวัชชัย (2553). การให้คำปรึกษาทางสุขภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Freshwater, D, Taylor, B, & Sherwood, G. (Eds) (2008). International Textbook of reflective

Practice in Nursing. Oxford: Blackwell Publishing & Sigma Theta Tau Press.

Johns, Christopher (2000). Becoming a Reflective Practitioner. London:

Blackwell Science.

Sherwood, G. & Horton-Deutsch, S.(Eds.) (2012). Reflective Practice: Transformimg Eduation

and Improving Outcomes. Indianapolis: Sigma Theta Tau Press.

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย

….. อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/590695

หมายเลขบันทึก: 590757เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2015 23:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2015 23:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

น่าสนใจมาก

ผมทำเรื่องนี้เหมือนกัน

อยากให้นำแบบสะท้อนความคิดมา share กันบ้างว่า

นักศึกษาสะท้อนเรื่องใดบ้าง

ผมให้นักศึกษาทำ BAR และ AAR นอกจากนี้ยังทำ Reflection ในระหว่างเรียนรู้ด้วยครับ

ครูประจำการภาษาอังกฤษ

สะท้อนระหว่างทำ แผนที่ความคิด

กำลังอยู่ในความสนใจครับ ;)...

การสะท้อนคิด การให้ผู้เรียนสะท้อนความคิดออกมาภายหลังที่ผู้สอนจัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฎิบัติ ซึ่งอาจจะทำในขั้นก่อนที่จะสรุปบทเรียน หรืออาจจะใช้ในขั้นสรุปบทเรียนโดยตรงก็ได้ เช่น ภายหลังให้ผู้เรียนนำเสนองานหรือกรณีศึกษา ก็อาจใช้คำถามกับผู้เรียนเพื่อตรวจสอบว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง ถามภายใต้บรรยากาศที่ผ่อนคลาย อบอุ่นและเป็นกันเอง โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทีละคน โดยที่ผู้สอนอย่ารีบด่วนสรุป ควรรอ และเป็นผู้ฟังหรืออย่าชี้นำความคิด หรือแสดงความคิดเห็น เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังผู้เรียนจนครบทุกคน อาจพูดคุยในรูปแบบการล้อมวง หรือเป็นกลุ่ม แล้วครูจึงช่วยให้ผู้เรียนช่วยกันสะท้อนคิดสิ่งที่ได้เรียนรู้ สรุปออกมาเป็นประเด็น จากนั้นผู้สอนค่อยเสริมให้ครบถ้วนตามวัตถุประสงค์ หากผู้เรียนหลุดประเด็นสำคัญ ตัวอย่างที่ผู้เขียนใช้การเรียนรู้แบบสะท้อนคิดคือ การ conference case study การสะท้อนภายหลังการทำกิจกรรมกลุ่มบำบัดในผุ้ป่วยจิตเวช

ในช่วงท้ายชั่วโมง ผู้สอนควรจัดเวลาให้มีการสะท้อนคิดซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้สอนหรือผู้นิเทสอาจต้องยอมเสียเวลาบ้าง เพื่อตรวจสอบว่าภายหลังการจัดการเรียนการสอนผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อะไร ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น ด้านความรู้ ด้านอารมณ์ และเจตคติ เชื่อได้ว่าหากผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเขาได้พูดสะท้อนความคิดของเขาออกมาบ้าง เชื่อได้ว่าบรยากาศการเรียนทุกครั้งจะมีความหมายและเกิดประโยชน์สำหรับผู้เรียนอย่างแท้จริง

ได้ลองใช้เทคนิคการสะท้อนคิด ในการสอนภาคปฏิบัติในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาทางจิต กับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 3 สามารถทำได้ดีพอควร มีความเหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนการสอน แต่คิดว่ายังมีประเด็นที่ต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ตามประเด็นต่างๆที่พบเห็นจากการทดลองใช้เทคนิคการสะท้อนคิด ดังนี้

1. ด้านผู้เรียน ยังมีนักศึกษาบางคนเขียนสรุปเนื้อที่อ่านโดยการคัดลอกเนื้อหาแทนการสรุป หรือวิเคราะห์จากการอ่าน การเขียนไม่เขียนยังไม่มีความต่อเนื่องเท่าที่ควร ยังไม่เข้าใจวิธีการเขียนหรือโครงสร้างของการเขียนบันทึกการสะท้อนคิด ดังนั้นควรมีการชี้แจงหรือบอกวิธีการเขียนบันทึกสะท้อนคิดซ้ำ หรือนำชิ้นงานที่ผ่านมา มาวิเคราะห์สิ่งที่ดีอยู่ แล้วสิ่งที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติม

2. ด้านผู้สอน ได้มีการกำหนดประเด็นที่สอดคล้องกับสาระการเรียนรู้หลักของรายวิชา แต่ยังขาดความชำนาญในการตรวจ หรือการประเมิน/ให้คะแนน จากบันทึกการสะท้อนคิด ดังนั้นควรทบทวนหรือมีเกณฑ์การประเมินประกอบอยู่เสมอเมื่อต้องตรวจบันทึกการสะท้อนคิด ถ้าให้ดียิ่งขึ้นควรฝึกเขียนด้วยตนเองบ่อยครั้งจะทำให้เพิ่มความชำนาญทั้งการเขียนและการตรวจ




แม้นว่าไม่ได้เข้าฟังต้วยแต่คิดว่าเป็นการเรียนรู้ที่น่าสนใจที่จะทำให้ผู้สอนเข้าใจความรู้สึกผู้เรียนและรู็ว่าผู้เรียนคิดอย่างไรต่อเรื่องนั้นเพราะสาเหตุใด ค่อนข้างใช้เวลามากพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามตนเองรับชอบวิชาbasic sceincesตามจำนวนและเนื้อหาที่ต้องให้เกิดการเรียนรู้อาจจะไม่เหมาะที่จะสอนวิธีนี้คะ


การจัดการเรียนการสอนโดยใช้การสะท้อนคิด เป็นเรื่องที่ดิฉันได้ใช้มาทุกครั้งของการจัดการเรียนการสอน โดยให้นักศึกษาเขียนสะท้อนความรู้สึกต่อการเรียนการสอน และองค์ความรู้ที่ได้รับ แต่เมื่อได้รับฟังทฤษฎีจากวิทยากรจึงได้รู้ว่า เราทำเพียงขั้นตอนที่ ๑หรือ๒ เท่านั้นเพราะเราไม่ได้นำมาวิเคราะห์เป็นประเด็นปัญหาแล้วนำมาหาแนวทางการแก้ไขและพัฒนาเป็นองค์ความรู้ต่อไป แต่เนื่องจากรายวิชาที่รับผิดชอบมีหลากหลายรูปแบบของการจัดการเรียนการสอน จึงนำมาใช้แบบประยุกต์หรือผสมผสานกัน เพราะดิฉันมีความเชื่อว่าการจัดการเรียนการสอนโดยวิธีใดวิธีหนึ่งไม่สามารถพัฒนานักศึกษาได้ครบถ้วนตามที่เราต้องการและนักศึกษาน่าจะเบื่อหน่ายได้ จึงใช้การจัดการเรียนการสอนในหลากหลายรูปแบบแต่อาจไม่สมบูรณ์ทุกขั้นตอนเพราะยึดผู้เรียนเป็นหลักไม่ได้ยึดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเป็นหลัก แต่ดิฉันก็เกิดแนวคิดปี๊งขึ้นมาคือ ทุกครั้งของการสอนฝึกให้นักศึกษาสะท้อนความรูสึกของนักศึกษาเพื่อครูจะได้รู้ลักษณะ นิสัย บรรยากาศของการจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษา จะได้ปรับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการ ความชอบ และความถนัดของนักศึกษา คล้ายๆกับวิเคราะห์ผู้เรียนทางด้านจิตใจทุกครั้งของการสอนเพิ่มเติมจากการประเมินองค์ความรู้ที่นักศึกษาจะได้รับจากการสอน "ก็ครูนี่นะ ต้องพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสม ครอบคลุม สนุกแต่ได้สาระ" ขอบคุณความรู้เรื่องการเรียนรู้แบบสะท้อนคิดที่ช่วยให้ดิฉันหันมองตัวเองและปรับตัวเองให้เป็นครูที่ดีตลอดเวลาคะ

สรุปขั้นตอนการสะท้อนคิด

การสะท้อนคิดเป็นกระบวนการคิดอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน

  1. การคิดทบททวนประสบการณ์ (Description)
  2. การทบทวนความคิดความรู้สึก (Feeling)
  3. การประเมินผลกระทบของเหตุการณ์ (Evalation)
  4. การวิเคราะห์เหตุการณ์ (Analysis)
  5. การสร้างความรู้ความเข้าใจใหม่ (Conclusion)
  6. การวางแผนการนำความรู้ใหม่ไปใช้ในอนาคต

การใช้การสะท้อนคิดเหมาะที่จะนำไปใช้ในการเรียนการสอนภาคปฏิบัติของนักศึกษาพยาบาล โดยให้นักศึกษาฝึกการใช้ทั้ง 6 ขั้นตอนของการสะท้อนคิดร่วมกับการใช้กระบวนการพยาบาล ในการดูแลผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น

ขอบคุณคะ สำหรับข้อมูลเทคนิคการสะท้อนคิด

ได้เรียนรู้จากอาจารย์ที่ได้เข้าอบรม และทดลองใช้ในจัดการเรียนการสอน พบว่าต้องหาโอกาสได้ฟังแนวคิดจากอาจารย์ที่มีประสบการณ์การใช้ในการจัดการเรียนการสอนมากกว่านี้ น่าจะทำให้นำไปประยุกต์ใช้ได้ดีขึ้น

การจัดการเรียนการสอนโดยวิธีการสะท้อนคิดเมื่อบรรลุผลจะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง เกิดการเรียนรู้สู้ผลสัมฤทธิิ์ที่ดีจากประสบการที่นำการสะท้อนคิดมาใช้เราจะรู้ได้ว่านักศึกษาของเราที่แท้จริงในเนื้อหา บทเรียนที่ทำให้เป็นปัญหาสำหรับการเรียนของตัวนักศึกษาเองคืออะไรบางคนถนัดที่จะจดจำบันทึกบางคนชอบที่จะถ่ายทองแต่ไม่มีโอกาสหรือความกล้าแสดงออกแต่เมื่อได้มีการสะท้อนคิดยอมรับความคิดเห็นของกันและกันก้สู่การเรียนรู้ที่ทำให้เกิดเป็นแนวทางใหม่สำหรับตัวเองเพื่อการนำไปใช้ต่อไป

ชื่นชมกับการเริ่มต้นกับการนำวิธีการสะท้อนคิดมาใช้กับนักศึกษา เพราะมีประโยชน์มาก เป็นการสอนให้นักศึกษา ฝึกคิดวิเคราะห์ อย่างต่อเนื่อง ถ้าทำได้เช่นนี้ นักศึกษาจะเป็นคนเก่ง และมีเหตุผล

มีการนำเทคนิคการสะท้อนคิด ใช้ในการสอนภาคปฏิบัติในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ ๑กับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ ๒ มีความเหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนการสอน แต่ยังมีประเด็นที่ต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ดังนี้

1. ด้านผู้เรียน นักศึกษาบางคนเขียนสรุปเนื้อที่อ่านโดยการคัดลอกเนื้อหาแทนการสรุป หรือวิเคราะห์จากการอ่าน การเขียนไม่มีความต่อเนื่องเท่าที่ควร ยังไม่เข้าใจวิธีการเขียนหรือโครงสร้างของการเขียนบันทึกการสะท้อนคิด ดังนั้นควรมีการชี้แจงหรือบอกวิธีการเขียนบันทึกสะท้อนคิดซ้ำ หรือนำชิ้นงานที่ผ่านมา มาวิเคราะห์สิ่งที่ดีอยู่ แล้วสิ่งที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติม

2. ด้านผู้สอน มีการกำหนดประเด็นที่สอดคล้องกับสาระการเรียนรู้หลักของรายวิชา แต่ยังขาดความชำนาญในการตรวจ หรือการประเมิน/ให้คะแนน จากบันทึกการสะท้อนคิด ดังนั้นควรทบทวนหรือมีเกณฑ์การประเมินประกอบอยู่เสมอเมื่อต้องตรวจบันทึกการสะท้อนคิด

การเรียนการสอนตามวิถีแห่งปัญญาดีมาก บนปรัชญาแนวพุทธ เห็นควรใช้กันบ่อยๆ ซ้ำๆเพื่อพัฒนาทักษะทางปัญญาของเราเอง และผู้เรียน

ชื่นชมค่ะ เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ดีอีกวิธีหนึ่ง ที่ทำให้นักศึกษาได้เกิดการสะท้อนคิด และต้องการหาคำตอบด้วยตนเอง โดยมีครูเป็นผู้ตั้งคำถามกระตุ้นการคิดวิเคราะห์ ทำให้นักศึกษาได้กระตือรือร้น

เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ทำให้นักศึกษาได้สะท้อนผลการเรียนรู้และหาแนวทางพัฒนาในการเรียนด้วยตนเอง เกิดกระบวนการคิดและสามารถปรับใช้ในการการทำงานและชิวิตประจำวัน

เป็นเนื้อหาที่อัดแน่นด้วยข้อมูลทั้งทฤษฎีและที่ได้จากประสบการณ์การนำแนวคิดการสะท้อนคิดไปใช้ ขั้นตอนต่อไปคือนำไปทดลองใช้ด้วยตนเอง

ดิฉันได้มีโอกาสไปศึกษาดูงาน ณ College of Mout Saint Vincent ประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่องการดูแลโดยเน้นความเป็นมนุษย์ (Humanistic care) โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาจารย์พยาบาลในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข มีความเข้าใจในการบูรณาการศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ และศิลปะในการพยาบาล โดยเน้นเรื่องของการตอบสนองการดูแลผู้ป่วยตามความต้องการของผู้ป่วย (Call and Response) เพราะคนทุกคนมีความแตกต่างและมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน และมีสิทธิเท่าเทียมกัน สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการทำให้ผู้ป่วยเกิดความไว้วางใจ และเกิดความเชื่อถือ (Trust) ในการให้การพยาบาล และได้นำประเด็นการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ มาทดลองใช้กับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 2 ในรายวิชาปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันการเจ็บป่วย เมื่อได้ให้การพยาบาลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์แล้วนั้น ได้นำวิธีการสะท้อนคิด (Reflective) โดยการให้นักศึกษาเขียนบันทึกสะท้อนคิดในประเด็นที่ได้รับมอบหมาย เพราะการสะท้อนคิดคือการมองย้อนไปยังประสบการณ์ที่เราเคยผ่านมาในเรื่องที่สัมพันธ์กับสถานการณ์ปัจจุบันของเรา ผลจากการนำการสะท้อนคิดไปใช้ในประเด็นดังกล่าว พบว่านักศึกษาสามารถเขียนบันทึกการสะท้อนคิดในประเด็นการดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ได้ แต่ยังขาดความต่อเนื่องของเรื่องราว และนักศึกษายังให้ข้อมูลว่าการเห็นเหตุการณ์ หรือได้มีทบทวนถึงเหตุการณ์ที่ผ่าน และทำให้นักศึกษาต้องอ่านหนังสือทบทวนความมากขึ้น และเข้าใจเนื้อหานั้นได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการที่นำวิธีการสะท้อนมาใช้ ผู้สอนก็ยังไม่มั่นใจว่าผู้เรียนจะได้เนื้อหาตามที่รายวิชากำหนดหรือไม่

ได้มีโอกาสในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การสอนแบบ Simulation- Based Learning (SBL) ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ 1.Pre-brief 2.Simulation หรือ Scenario/Observation 3.Debrief และได้นำวิธีการสะท้อนคิด (Reflective thinking) มาใช้ในส่วนของขั้นตอนที่ 3 ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้รับ นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้มากขึ้นโดยมีอาจารย์เป็นผู้กระตุนใหนักศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรูรวมกัน สะทอนคิด ผู้สอนต้องสร้างสรางบรรยากาศใหนักศึกษารู้สึกว่าปลอดภัยที่จะแสดงความคิดเห็น ในประเด็นต่างๆ

ได้ทดลองใช้ในกลุ่มย่อยขณะฝึกภาคปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาทางจิต พบว่านักศึกษายังไม่คุ้นเคยกับวิธีการสะท้อนคิด ไม่กล้าบอกเล่าหรืออธิบายในสิ่งที่เป็นปัญหา ต้องมีการทำความเข้าใจ กระตุ้นการแลกเปลี่ยนจึงเกิดความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถสะท้อนได้ถึงความรู้ของนักศึกษาได้เพียงความรู้สึกต่อการฝึกปฏิบัติงานเท่านั้น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท