บทนำ
เดิมกฎหมายไทยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 มาตรา 20(1) บัญญัติการกระทำที่ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ว่า “การใช้โดยธรรมซึ่งสิ่งมีลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์แห่งการร่ำเรียนส่วนตัว การค้นหาความรู้...”
ต่อมาในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 30(1) และ (2) บัญญัติข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ในส่วนที่เกี่ยวกับการวิจัย ศึกษา และการใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง และปัจจุบันบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ในมาตรา 32 วรรคสอง (1) และ (2)
ซึ่งเงื่อนไขทั่วไปของข้อยกเว้นมีบัญญัติไว้ในมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับความตกลง TRIPs ข้อ 13 บทยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้บัญญัติไว้ตั้งแต่มาตรา 32 ถึงมาตรา 43 ที่เรียกว่า The Fair – Use Doctrine ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา ปี 1976 มาตรา 107 หรือหลักความชอบธรรมในการกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งองค์ประกอบที่จะนำมาเปรียบเทียบข้อแตกต่างได้แก่ (วัส ติงสมิตร, บทบัณฑิตย์ 57, 1 (มีนาคม 2544))
(1) วัตถุประสงค์ (Purposes) และลักษณะ การกระทำ (Character) ซึ่งรวมถึง ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเป็นในรูปการค้า (Commercial) หรือเพื่อวัตถุประสงค์ในการศึกษาที่ไม่มีกำไร (Nonprofit Educational Purposes)
(2) ลักษณะของงานอันมีลิขสิทธิ์ (The Nature of the Copyrighted Work)
(3) จำนวน (Amount) และความสำคัญของส่วนหรือตอน (The Substantiality of Portion) ที่ถูกนำมาใช้ เมื่อเทียบกับงานที่มีลิขสิทธิ์ทั้งหมด (As a whole)
(4) ผลกระทบของการกระทำหรือการใช้ที่มีต่อตลาดของงานอันมีลิขสิทธิ์ที่มีขึ้น (The Potential Market) หรือต่อคุณค่าของงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น (Value)
วัส ติงสมิตร สรุปว่า กรณีข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือการใช้ที่เป็นธรรม (fair use) พึงระลึกเสมอว่าเป็นการพบกันคนละครึ่งทางระหว่างประโยชน์ของผู้สร้างสรรค์กับสังคม การใช้งานของผู้สร้างสรรค์จึงไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน (The use is free) (วัส ติงสมิตร,Ibid.)
ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ (มาตรา 32 - มาตรา 43) เป็นความพยายามสร้างดุลแห่งผลประโยชน์ระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ โดยให้บุคคลอื่นสามารถใช้งานลิขสิทธิ์ได้ตามความเหมาะสมโดยไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นการจำกัดสิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ลงภายใต้เงื่อนไขบางประการ เงื่อนไขที่สำคัญที่สุด บัญญัติไว้ในมาตรา 32 วรรคแรก (ไมตรี สุเทพากุล, “การคุ้มครองลิขสิทธิ์และข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทย”. 22 เมษายน 2551.)
http://www.gotoknow.org/nonplagiarism-writing-guideline
จากหลักข้อยกเว้นดังกล่าว สามารถแยกหัวข้ออธิบายได้ 9 หัวข้อ(ประเภท)ในงานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งแยกเป็น 12 การกระทำที่เป็นข้อยกเว้นของการละเมิดลิขสิทธิ์ ดังนี้
1. ข้อยกเว้นทั่วไป
การละเมิดลิขสิทธิ์ในการทำการใดๆ แก่งานอันมีลิขสิทธิ์
ในมาตรา 32 ได้วางหลักกฎหมายเอาไว้ว่า “ การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
(2) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท
(3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
(4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
(5) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว”
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม(ตัวอย่าง)
หัวข้อนี้เป็นข้อยกเว้นทั่วไป ถือเป็นหัวใจของหลักข้อยกเว้น ตามหลักการใช้ที่เป็นธรรม เป็นการยกเว้นที่ “การกระทำ” มิใช่ “ตามวัตถุประสงค์ของการกระทำ” ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มีความเหมือนกันระหว่างมาตรา 32 วรรคสอง (7) และมาตรา 34 (2) ซึ่งเป็นการทำซ้ำของผู้สอน หรือสถาบันการศึกษา และบรรณารักษ์ห้องสมุด ให้แก่ผู้เรียนหรือบุคคลอื่นเพื่อการวิจัยหรือศึกษาอันเป็นข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องเป็นการทำซ้ำเพียงบางส่วนของงานหรือบางตอนตามสมควรเท่านั้น
มาตรา 32 วรรคแรก เป็นหลักการตรวจสอบการใช้อย่างเป็นธรรม (fair use)ใน 3 ขั้นตอน ของ TRIPs (Three step test)
" การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ "
มาตรา 32 มาตรา 33 และมาตรา 34 กำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้หลายประการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาวิชาการเป็นหลัก (scholar) อันเป็นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (Research & Development - R&D)
เช่น ในข้อยกเว้นต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ที่จะนำมาใช้แก่กรณีคำบรรยายของผู้สอนมีดังนี้ (อรพรรณ พนัสพัฒนา, การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในคำบรรยายของผู้สอน, มปป.)
ก. ข้อยกเว้นตามมาตรา 32 วรรคสอง
ข. ข้อยกเว้นสำหรับการอ้างอิง มาตรา 33
การกล่าว คัดลอก เลียน หรืออ้างอิงคำบรรยายบางตอนตามสมควรโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในคำบรรยายนั้น ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
อย่างไรจะถือว่าเป็นกรณีตามสมควรนั้นจะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีไป
ค. ข้อยกเว้นสำหรับการกระทำของบรรณารักษ์ห้องสมุด มาตรา 34
การทำซ้ำคำบรรยายโดยบรรณารักษ์ห้องสมุดมิให้ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หากไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไรในกรณีต่อไปนี้
การทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น เช่น บรรณารักษ์ห้องสมุดบันทึกภาพและเสียงคำบรรยายของผู้สอนเพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในห้องสมุด เป็นต้น
การทำซ้ำงานบางตอนตามสมควรให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิจัยหรือการศึกษา เช่น บรรณารักษ์ห้องสมุดทำซ้ำงานบางตอนให้แก่บุคคลอื่นที่กำลังทำการศึกษาวิจัยเรื่องที่เกี่ยวกับคำบรรยายนั้น เป็นต้น
ง. ข้อยกเว้นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการ มาตรา 43
การทำซ้ำคำบรรยายเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการโดยเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายหรือตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน และที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการ ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ตัวอย่างการวิเคราะห์นวนิยาย เรื่องสั้น และกวีนิพนธ์ ทั้งเรื่อง (วสวัต ดีมาร. "กฎหมายลิขสิทธิ์ : ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์."19 ธันวาคม 2551. [Online].Available URL: http://www.gotoknow.org/blogs/posts/230733)
กรณีศึกษา : การนำนวนิยาย เรื่องสั้น และกวีนิพนธ์ ทั้งเรื่อง มาวิเคราะห์เพื่อหาแนวคิด และกลวิธีในการนำเสนอแนวคิดอย่างละเอียด โดยนำข้อความมาชี้ให้เห็นเป็นระยะ ๆ ตามประเด็น โดยมีการอ้างอิงข้อความตลอด เช่นนี้จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำชี้แจงไว้ว่า
"... แม้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ มาตรา 32 วรรคสอง จะยกเว้นให้การ "ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น" ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
แต่ในกรณีนี้เป็นการนำนวนิยาย เรื่องสั้น และกวีนิพนธ์ ทั้งเรื่อง มาวิเคราะห์ ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า มีเนื้อหาอันเป็นการสร้างสรรค์ของผู้เขียนนวนิยาย เรื่องสั้น หรือกวีนิพนธ์ อยู่ในงานเขียนของผู้ที่วิเคราะห์ดังกล่าวย่อมกระทบต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร จึงไม่สามารถกระทำได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ มาตรา 32 วรรคหนึ่ง
ดังนั้น หากผู้เขียนประสงค์จะเขียนหนังสือแนววิเคราะห์ดังกล่าวต้องดำเนินการขออนุญาตผู้แต่งนวนิยาย เรื่องสั้น และกวีนิพนธ์เสียก่อน
มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า หากเป็นเพียงการวิเคราะห์นวนิยาย เรื่องสั้น และกวีนิพนธ์ โดยไม่มีการนำเนื้อหาของนวนิยาย เรื่องสั้น และกวีนิพนธ์นั้นมาลงไว้ในหนังสือที่วิเคราะห์ เช่นนี้สามารถทำได้ ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะเป็นไปตามข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 วรรคสอง (3) ที่ให้ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้นได้ ..."
ตัวอย่างการนำบทความจากนิตยสารมาเป็นกรณีศึกษาและวิเคราะห์ข้อบกพร่อง (วสวัต ดีมาร, Ibid.)
การนำบทความจากนิตยสารมาเป็นกรณีศึกษาและวิเคราะห์ข้อบกพร่อง โดยมีการระบุนามปากกาและนิตยสารอย่างชัดเจน จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
ประเด็นนี้ รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ทัศนะไว้ว่า
บทความในนิตยสาร ปกติลิขสิทธิ์ย่อมเป็นของผู้เขียนบทความ เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันให้ลิขสิทธิ์ตกเป็นของนิตยสาร แต่อย่างไรก็ดี เมื่อบทความนั้นมีลิขสิทธิ์ การนำบทความมาเป็นกรณีศึกษาและวิเคราะห์ข้อบกพร่องในลักษณะที่นำมาทั้งบทความนั้น แม้จะมีการอ้างอิงระบุนามปากกาและนิตยสารอย่างชัดเจน ก็ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะกระทบต่อสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร (คือนำบทความมาทั้งบทความ)
ในกรณีประเด็นปัญหานี้ หากผู้เขียนประสงค์จะเขียนตำราแล้วยกบทความของผู้อื่นมาเป็นกรณีศึกษาและวิเคราะห์ข้อบกพร่อง ผู้เขียนจะต้องดำเนินการขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อน
โดยสรุป... แม้มีการอ้างอิงอย่างชัดเจน แล้วหากไม่ขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ ก็ถือว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ เช่นกัน
2. ข้อยกเว้นสำหรับการอ้างอิง
มาตรา 33 การกล่าว คัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานบางตอนตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม(ตัวอย่าง)
ความแตกต่างและความเชื่อมโยงของข้อยกเว้นข้อนี้กับข้ออื่น คือ กรณีที่มีการอ้างอิงงานอันมีลิขสิทธิ์แล้วไปเผยแพร่ในเวบไซต์ หรือในทางกลับกันใช้ข้อมูลจากเวบไซต์ไปอ้างอิง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของบุคคลธรรมดาผู้ใด หรือบรรณารักษ์ นักวิชาการ อาจารย์ผู้สอน นักศึกษา หน่วยงานราชการ ฯลฯ
ข้อยกเว้นนี้ถือเป็นเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาหาความรู้โดยแท้ (scholar)ไม่มีเหตุผลอื่นใดที่จะถือเป็นละเมิดได้ เช่น การอ้างอิงของอาจารย์ ของนักวิชาการ ของแพทย์จากเอกสารวิชาการ วารสาร ฯลฯ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนางานในสาขาของตน อย่างไรก็ตามต้องย้อนไปดูหลักทั่วไปตามมาตรา 32 ประกอบด้วย
ปัญหาการอ้างอิงโดยการคัดลอกทั้งหมดโดยหน่วยงานวิจัยหรือวิชาการ หรือโดยหน่วยราชการ จะอ้างประโยชน์สาธารณะ ตามหลักกฎหมายมหาชนได้หรือไม่ เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์มิใช่กฎหมายมหาชน แต่ก็คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะด้วยส่วนหนึ่ง
ปัญหาในโลกอินเตอร์เน็ตปัจจุบันก็คือ การคัดลอก หรือ การอ้างข้อมูลจากเวบไซต์ จะถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เพียงใด เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ไทย ไม่มีบัญญัติ ต้องใช้บังคับตามกฎหมายอื่นในเรื่องอื่น เช่น กฎหมายอาญา พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
3. ข้อยกเว้นสำหรับการกระทำของบรรณารักษ์ห้องสมุด
มาตรา 34 การทำซ้ำโดยบรรณารักษ์ของห้องสมุดซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หากการทำซ้ำนั้นมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร และได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) การทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น
(2) การทำซ้ำงานบางตอนตามสมควรให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิจัยหรือการศึกษา
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม(ตัวอย่าง)
ความแตกต่างและความเชื่อมโยงของข้อยกเว้นข้อนี้กับข้ออื่น คือ ขอบข่ายงานบรรณารักษ์ห้องสมุดมีกว้างขวางมาก ตามความก้าวหน้าเทคโนโลยีข่าวสาร (Information technology) ด้วยความหลากหลายของสื่อที่มีการบันทึกไว้ ไม่ว่าในรูปของ หนังสือ วัตถุ สื่อดิจิตัลต่าง ๆ ทุกชนิดที่มี ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (Research & Development - R&D)
ในปี 1968 บริษัท Williams & Wilkins ผู้จัดพิมพ์วารสารทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เช่นวารสารวิทยาการภูมิคุ้มกัน(Immunology), ยา(Medicine), และระบบทางเดินอาหาร(Gastroenterology) ฟ้องห้องสมุดการแพทย์แห่งชาติและสถาบันสุขภาพแห่งชาติว่าละเมิดลิขสิทธิ์วารสาร มีการโต้แย้งถกเถียงกัน โดยบริษัทฯกล่าวหาว่าห้องสมุดละเมิดลิขสิทธิ์และแพทย์มีการขู่ว่าจะเลิกรับวารสาร ในที่สุดศาลตัดสินว่าเป็นการใช้ที่เป็นธรรม (Williams & Wilkins Co. v. U.S., opinion of the Court of Claims,1968 in Edward Samuels, 2002)
มีกรณีตัวอย่างของไทยปี 2550 ห้องสมุดหน่วยราชการแห่งหนึ่งได้นำภาพจากสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งไปประกอบเว็บโดยไม่ขออนุญาต จำนวน 5 ภาพ ใน 2 ภาพ นำมาสแกนแล้วตกแต่งประกอบจากภาพโปสเตอร์ใหญ่ที่บรรณารักษ์นำมาให้โดยไม่บอกว่าเอามาจากที่ใด อีก 3 ภาพเป็นภาพที่มาจากหนังสือโดยมีการอ้างอิงที่มาในบรรณานุกรม แต่ไม่ได้ระบุที่มาไว้ใต้ภาพแต่อย่างใด ถือว่ามีความผิดละเมิดลิขสิทธิ์ โดยไม่สามารถอ้างข้อยกเว้น มาตรา 34 ได้ เพราะมีการนำไปโพสเผยแพร่บนเวบไซต์ ในที่สุดห้องสมุดฯต้องขอประนีประนอมกับสำนักพิมพ์ดังกล่าว (ดินสอสีส้ม(นามแฝง), 2550.)
อย่างไรก็ตามห้องสมุดมีสิ่งที่น่าเสี่ยงมาก ซึ่งแตกต่างจากข้อยกเว้นอื่น อาทิ
(สิริพร ทิวะสิงห์, 2552 .)
สิ่งที่เสี่ยงตามมาตรา 27 เช่น การถ่ายสำเนาหนังสือทั้งเล่มเพื่อให้บริการในห้องสมุด, การรับหนังสือฉบับสำเนากรณีที่ผู้ใช้บริการนำมาทดแทนเล่มที่สูญหาย, การนำหนังสือฉบับถ่ายสำเนาที่ได้รับจากการบริจาคมาให้บริการ
สิ่งที่เสี่ยงตามมาตรา 28 เช่น การทำสำเนา CD เพื่อให้บริการด้วยเกรงว่าต้นฉบับจะสูญหาย, การแปลงสัญญาณเทปบันทึกเสียง หรือวีดิทัศน์เป็นสื่อดิจิทัล, การนำ VCD ให้บริการในระบบเครือข่ายเพื่อเรียกดูพร้อมกันได้หลายคน เช่น VDO on demand
สิ่งที่เสี่ยงตามมาตรา 29 เช่น การอัดรายการจากโทรทัศน์ วิทยุ หรือ เคเบิ้ลทีวี เพื่อผลิตสื่อการเรียนรู้
สิ่งที่เสี่ยงตามมาตรา 30 เช่น การสำเนาโปรแกรมที่มาพร้อมหนังสือเพื่อป้องกันต้นฉบับสูญหาย, การให้ผู้ใช้บริการดาวน์โหลดโปรแกรมจากเว็บไซต์ของห้องสมุด เช่น โปรแกรม Anti virus
สิ่งที่เสี่ยงตามมาตรา 31 เช่น การนำ VCD ที่ไม่ถูกลิขสิทธิ์ออกให้บริการ เป็นต้น
4.ข้อยกเว้นสำหรับโปรแกรมคอมพิวเตอร์
มาตรา 35 การกระทำแก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร และได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) วิจัยหรือศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
(2) ใช้เพื่อประโยชน์ของเจ้าของสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
(3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
(4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
(5) ทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในจำนวนที่สมควรโดยบุคคลผู้ซึ่งได้ซื้อหรือได้รับโปรแกรมนั้นมาจากบุคคลอื่นโดยถูกต้อง เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในการบำรุงรักษาหรือป้องกันการสูญหาย
(6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
(7) นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ
(8) ดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในกรณีที่จำเป็นแก่การใช้
(9) จัดทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเก็บรักษาไว้สำหรับการอ้างอิง หรือค้นคว้าเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม(ตัวอย่าง)
ความแตกต่างและความเชื่อมโยงของข้อยกเว้นข้อนี้กับข้ออื่น ข้อยกเว้นข้อนี้หมายถึงซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ หากเป็นการกระทำที่เป็นละเมิดทางคอมพิวเตอร์โดยการเผยแพร่ ในกฎหมายลิขสิทธิ์ไทยไม่บัญญัติโดยตรง ซึ่งสามารถบังคับได้ตามกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
จากข้อมูลการละเมิดลิขสิทธิ์ไอทีภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค ประเทศไทยมีการละเมิดเป็นอันดับที่ 4 ขณะที่อินเดียไม่มีปัญหาการละเมิดเหมือนไทย โดยเฉพาะโปรแกรมซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ ย่อมทำให้การพัฒนาซอฟแวร์สามารถกระทำได้อย่างราบรื่น เกิดมูลค่าเพิ่มและกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ ถ้าเรายังปล่อยให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟแวร์ และมองการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นซอฟแวร์แห่งชาติ คนของเราเองก็จะไม่พัฒนาซอฟแวร์เพื่อการค้า ประเทศก็จะไม่มีนักพัฒนาซอฟแวร์คนไหนอยากพัฒนาและอุตสาหกรรมซอฟแวร์ก็ไม่สามารถเติบโตได้ในประเทศไทย คนไทยเองแม้ก็อปปี้โปรแกรมมาใช้ แต่ก็ไม่สามารถพัฒนาโปรแกรมตนเองเพื่อขายให้ใครได้ ผลกรรมก็จะตกอยู่กับประเทศที่ไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟแวร์ได้ เพราะคำถามแรกคือ "ถ้าผมพัฒนาซอฟแวร์แล้วมีคนก็อปปี้เอาไปขาย ผมจะพัฒนาไปทำไม" (ปรัชญนันท์ นิลสุข, เดลินิวส์ 2550)
นายดรุณ ซอว์นีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) กล่าวว่า หลังเข้ารับหน้าที่ติดตามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยได้ 6 ปี พบว่า แนวโน้มการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยมีอัตราลดลงเล็กน้อย โดยซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์มากที่สุดได้แก่ ไมโครซอฟท์ออฟฟิศ ซอฟต์แวร์สำหรับสำนักงาน, อะโดบี ซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการจัดการรูปภาพ ส่วนซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์มากที่สุดเป็นของค่าย ไซแมนเทค แมคอาฟี นอกจากนี้ยังมีซอฟต์แวร์ดิคชันนารีภาษาไทยที่คนไทยคิดค้นเองก็ถูกละเมิดลิขสิทธิ์มาก รวมทั้งซอฟต์แวร์เพื่อการออกแบบอย่าง ออโต้แคด ออโต้เดสก์ ซึ่งมีราคาแพง ใช้ในอุตสาหกรรมการออกแบบ อาทิ โรงงานผลิตรองเท้า และรถยนต์ จากผลสำรวจของไอดีซี ระบุว่า ประเทศไทยมีการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ที่ 80% (ปรัชญนันท์ นิลสุข, Ibid.)
กรณีมูเดิล (Moodle) เป็นโปรแกรมแจกฟรีสำหรับสร้างห้องเรียนออนไลน์ คู่มือก็แจกฟรีให้ศึกษาโดยไม่คิดมูลค่า แต่ไม่ใช่นำคู่มือแจกฟรีไปซื้อขายหรือหาผลประโยชน์ได้ ข้อพิพาทลิขสิทธิ์จึงเป็นเรื่องปัญหาน่าศึกษาอย่างยิ่ง มูเดิลจึงไม่เพียงแค่ข้อพิพาทของคนไทย ที่ไม่ยอมเคารพสิทธิคนไทยด้วยกันเท่านั้น เมื่อไทยไม่เคารพสิทธิไทยด้วยกัน แล้วจะหวังให้ใครมาเคารพตนเอง (ปรัชญนันท์ นิลสุข, มติชน 2550.)
ประเด็นทางกฎหมาย (Legal Issues)การใช้งานอินเทอร์เน็ตในแต่ละประเทศ มีกฎหมายที่รองรับการใช้งานที่แตกต่างกัน บางเรื่องเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในทุกประเทศทั่วโลก อาทิ ปัญหาสื่อลามกซึ่งเป็นภาพของเยาวชน การบุกรุกเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ในขณะที่บางเรื่อง เช่น การพนัน อาจจะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือไม่ผิดกฎหมายได้ในบางประเทศ ผู้ใช้จึงต้องระมัดระวังและศึกษากฎหมายที่รองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศของตน กิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตที่โดยทั่วไปถือเป็นความผิดทางกฎหมายได้แก่
• การเล่นการพนัน
• การซื้ออาวุธปืน
• การซื้อขายยาเสพติด
• การนำเสนอสื่อลามกทุกประเภท
• การบุกรุกคอมพิวเตอร์หรือเครือข่าย
• การพัฒนา และแพร่ไวรัสคอมพิวเตอร์
• การทำให้เครือข่ายหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นไม่สามารถใช้งานหรือ ให้บริการได้
• การสวมรอยบุคคลเพื่อทำการฉ้อฉล
(ดู กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, 2551.)
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Phachern Thammasarangkoon ใน Phachern Law Adiministration
5. ข้อยกเว้นสำหรับการแสดงนาฏกรรม หรือดนตรีกรรม
มาตรา 36 การนำงานนาฏกรรม หรือดนตรีกรรมออกแสดงเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามความเหมาะสมโดยมิได้จัดทำขึ้น หรือดำเนินการเพื่อหากำไรเนื่องจากการจัดให้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้น และมิได้จัดเก็บค่าเข้าชมไม่ว่าโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อมและนักแสดงไม่ได้รับค่าตอบแทนในการแสดงนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากเป็นการดำเนินการโดยสมาคม มูลนิธิ หรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการสาธารณกุศล การศึกษา การศาสนา หรือการสังคมสงเคราะห์ และได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม(ตัวอย่าง)
ความแตกต่างและความเชื่อมโยงของข้อยกเว้นข้อนี้กับข้ออื่น ข้อยกเว้นข้อนี้เป็นเรื่องของสิทธิข้างเคียง (Neighboring Rights) ของนักแสดง แต่อย่างไรก็ตามงานเพลงปัจจุบันมีการรวบรวมงานที่มีลิขสิทธิ์แต่ละอย่างมาด้วยกัน เช่น แผ่นซีดีเพลง จะมีลิขสิทธิ์หลายอย่างอยู่ในอันเดียว ประกอบกับวิทยาการสมัยใหม่ ทำให้โลกไซเบอร์เป็นที่เผยแพร่อันเป็นช่องทางในการละมิดลิขสิทธิ์ที่รวดเร็วและกว้างขวางมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น เกี่ยวกับการนำไฟล์เพลงที่มีลิขสิทธิ์มาใช้ในบล็อก ทางบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)ได้ขอความร่วมมือกับผู้ดูแลบล็อกและเว็บไซต์ต่างๆเกี่ยวกับการนำเอาเพลงที่มีลิขสิทธิ์ของทางบริษัทมาเผยแพร่ ไม่ว่าจะเป็นการนำโค้ดที่มีเพลงของบริษัทมาใช้ประกอบในบล็อกหรือเว็บไซต์ ทั้งแบบสามารถควบคุมเพลงได้ (เช่นที่มีแผงควบคุมเพลงที่เราสามารถให้มันเล่นหรือหยุดได้) หรือซ่อนเป็นพื้นหลัง แม้แต่ไฟล์เพลงที่ฝากไว้ในเครื่อง server ของตัวเองหรือผู้อื่น แล้วเปิดให้ดาวน์โหลด ไม่สามารถทำได้ (ดุษณี โสภณอดิศัย, 2551.)
6. ข้อยกเว้นสำหรับงานศิลปกรรม
6.1 การวาดเขียน การเขียนระบายสี การก่อสร้าง ฯลฯซึ่งงานศิลปกรรม
มาตรา 37 การวาดเขียน การเขียนระบายสี การก่อสร้าง การแกะลายเส้น การปั้น การแกะสลัก การพิมพ์ภาพ การถ่ายภาพ การถ่ายภาพยนตร์ การแพร่ภาพ หรือการกระทำใดๆ ทำนองเดียวกันนี้ซึ่งศิลปกรรมใดอันตั้งเปิดเผยประจำอยู่ในที่สาธารณะ นอกจากงานสถาปัตยกรรม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม(ตัวอย่าง)
ความแตกต่างและความเชื่อมโยงของข้อยกเว้นข้อนี้กับข้ออื่น งานศิลปกรรม และงานศิลปประยุกต์ปัจจุบันมีมากมาย ช่องทางในการละเมิดลิขสิทธิ์ก็มีมากไปด้วยตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น งานภาพถ่าย งานศิลปะต่าง ๆ เป็นต้น
6.2 การถ่ายภาพหรือการถ่ายภาพยนตร์หรือการแพร่ภาพซึ่งงานอันมีศิลปกรรมเป็นส่วนประกอบ
มาตรา 39 การถ่ายภาพหรือการถ่ายภาพยนตร์หรือการแพร่ภาพซึ่งงานใดๆ อันมีศิลปกรรมใดรวมอยู่เป็นส่วนประกอบด้วย มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม(ตัวอย่าง)
ความแตกต่างและความเชื่อมโยงของข้อยกเว้นข้อนี้กับข้ออื่น หัวข้อนี้มีข้อยกเว้นตามช่องทางก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะโลกไซเบอร์ดังกล่าวแล้ว
การนำ "ภาพ" มาประกอบการเขียนผลงานทางวิชาการ (วสวัต ดีมาร. Ibid.)
ในการเขียนตำรับตำรา หนังสือต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการเขียนบันทึกบน BLOG นั้น เราอาจจะต้องใช้ "ภาพ" ประกอบคำอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เนื้อความมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ผู้เขียนดาวน์โหลดภาพจากระบบเครือข่ายสากลอินเทอร์เน็ต หรือสแกนมาจากหนังสืออื่น มาใช้ประกอบการเขียนผลงานได้หรือไม่ ?
ประเด็นนี้ รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ "เขียนผลงานวิชาการอย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์" ว่า "... กรณีนี้ต้องพิจารณาและระมัดระวังว่า ภาพที่ผู้เขียนจะนำมานั้นเป็นภาพที่มีลิขสิทธิ์หรือไม่ หลักการในพิจารณา คือ หากภาพนั้น เป็นภาพที่มีการถ่ายโดยไม่ได้สร้างสรรค์ใด ๆ ภาพนั้นก็ไม่มีลิขสิทธิ์ เช่น ภาพโต๊ะ, ภาพเก้าอี้ อาคาร เป็นต้น แต่หากภาพนั้นมีการใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์ เช่น ผู้ถ่ายได้ใช้ความพยายามอดทนเฝ้ารอเพื่อถ่ายภาพพระอาทิตย์ตก หรือมีการจัดแสง ปรับแต่งภาพเป็นพิเศษ ภาพที่สร้างสรรค์เช่นนี้จะเป็นภาพที่มีลิขสิทธิ์
ดังนั้น หากภาพใดมีลิขสิทธิ์ การเอาภาพเขามาประกอบการเขียนผลงาน จำต้องดำเนินการขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อน ส่วนภาพนั้นไม่มีลิขสิทธิ์ ย่อมสามารถนำมาใช้ประกอบการเขียนได้ โดยไม่จำต้องขออนุญาต นอกจากนั้น หากภาพใดมีลิขสิทธิ์ แม้ผู้เขียนจะนำภาพนั้นจากระบบเครือข่ายสากลอินเทอร์เน็ต หรือนำมาจากที่ใดก็ตาม แล้วนำมาตกแต่งดัดแปลงจนไม่เหมือนของเดิม ในกรณีนี้ ยังคงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะเข้าข่ายดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ ..." ภาพที่อยู่ในระบบเครือข่ายสากลอินเทอร์เน็ต หรือแหล่งต่าง ๆ มีความยากลำบากที่เราจะทราบว่า ภาพใดผ่านการสร้างสรรค์มา
6.3 ลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมมีบุคคลอื่นนอกจากผู้สร้างสรรค์เป็นเจ้าของอยู่ด้วย
มาตรา 40 ในกรณีที่ลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมใดมีบุคคลอื่นนอกจากผู้สร้างสรรค์เป็นเจ้าของอยู่ด้วยการที่ผู้สร้างสรรค์คนเดียวกันได้ทำศิลปกรรมนั้นอีกในภายหลังในลักษณะที่เป็นการทำซ้ำบางส่วนกับศิลปกรรมเดิม หรือใช้แบบพิมพ์ ภาพร่าง แผนผัง แบบจำลอง หรือข้อมูลที่ได้จากการศึกษาที่ใช้ในการทำศิลปกรรมเดิม ถ้าปรากฏว่าผู้สร้างสรรค์มิได้ทำซ้ำหรือลอกแบบในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของศิลปกรรมเดิม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม(ตัวอย่าง)
ความแตกต่างและความเชื่อมโยงของข้อยกเว้นข้อนี้กับข้ออื่น ข้อยกเว้นข้อนี้เป็นเรื่องของเจ้าของร่วม หรือเป็นผู้สร้างสรรค์ร่วมในงานศิลปะ ศิลปประยุกต์ ซึ่งโลกไซเบอร์ทำให้มีช่องทางหลากหลายในการละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น
7. ข้อยกเว้นสำหรับงานสถาปัตยกรรม
7.1 การวาดเขียน การเขียนระบายสี ฯลฯงานสถาปัตยกรรม
มาตรา 38 การวาดเขียน การเขียนระบายสี การแกะลายเส้น การปั้น การแกะสลัก การพิมพ์ภาพ การถ่ายภาพ การถ่ายภาพยนตร์หรือการแพร่ภาพซึ่งงานสถาปัตยกรรมใด มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสถาปัตยกรรมนั้น
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม(ตัวอย่าง)
ความแตกต่างและความเชื่อมโยงของข้อยกเว้นข้อนี้กับข้ออื่น งานสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการออกแบบก่อสร้าง ก็เช่นกันที่โลกไซเบอร์ทำให้มีช่องทางที่กว้างขวางในการละเมิดลิขสิทธิ์ได้
7.2 การบูรณะอาคารที่เป็นงานสถาปัตยกรรมอันมีลิขสิทธิ์
มาตรา 41 อาคารใดเป็นงานสถาปัตยกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ การบูรณะอาคารนั้นในรูปแบบเดิม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม(ตัวอย่าง)
ความแตกต่างและความเชื่อมโยงของข้อยกเว้นข้อนี้กับข้ออื่น งานสถาปัตยกรรมบูรณะอาคารก่อสร้าง เป็นข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ด้วยเหตุผลทางด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมของสังคม
8. ข้อยกเว้นสำหรับงานลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ในภาพยนตร์
มาตรา 42 ในกรณีที่อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ใดสิ้นสุดลงแล้ว มิให้ถือว่าการนำภาพยนตร์นั้นเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ สิ่งบันทึกเสียงหรืองานที่ใช้จัดทำภาพยนตร์นั้น
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม(ตัวอย่าง)
ความแตกต่างและความเชื่อมโยงของข้อยกเว้นข้อนี้กับข้ออื่น งานภาพยนตร์ส่วนใหญ่เป็นงานอุตสาหกรรมที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ ซึ่งมีงานลิขสิทธิ์สิทธิข้างเคียงนักแสดง งานเพลง งานดนตรีประกอบ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์โปรโมทของชำร่วย ของฝาก ของที่ระลึก ตุ๊กตาจากภาพยนตร์ ฯลฯ เป็นต้น เป็นแหล่งทำเงินเข้าประเทศได้คราวละมาก ๆ บางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ถึงขนาดกำหนดนโยบายเป็น “ภาพยนตร์สร้างชาติ” โลกไซเบอร์ทำให้มีช่องทางที่กว้างขวางในการละเมิดลิขสิทธิ์ได้มากเช่นกัน
9. ข้อยกเว้นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการ
มาตรา 43 การทำซ้ำ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการโดยเจ้าพนักงาน ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายหรือตามคำสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าวซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้และที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม(ตัวอย่าง)
ความแตกต่างและความเชื่อมโยงของข้อยกเว้นข้อนี้กับข้ออื่น ในงานราชการถือเป็นข้อยกเว้นสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะราชการเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจ ดูแลปกครองสังคม การดำเนินการใด ๆ ของทางราชการย่อมต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) เป็นที่ตั้ง อย่างไรก็ตามการละเมิดเอกชน ทางราชการก็อาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้หากเกินขอบเขต “การใช้ที่เป็นธรรม”
บทสรุป
ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ปี 1776 ระบุว่า “การใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ภายในขอบเขตอย่างจำกัด” เพื่อให้เอกชนได้นำคืนสู่สาธารณะได้เร็วขึ้น จากหลักข้อยกเว้นตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยทั้ง 9 หัวข้อ(ประเภท)ของงานอันมีลิขสิทธิ์ 12 การกระทำในข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ในแต่ละหัวข้อดังกล่าวจึงมีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นมากมายว่าเพียงใดคือความเหมาะสมในการใช้ (fair use) เนื่องจากกฎหมายไทยไม่ระบุถึงจำนวนความเหมาะสมไว้ หากมีการลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศกรณีของไทยใช้ระบบ “Dualism” ก็จะต้องมีการอนุวัตร กฎหมายภายในออกมาใช้บังคับด้วย ปัจจุบันโลกมีความก้าวหน้าสื่อสารทางเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร (Information technology)มาก ทำให้ช่องการละเมิดลิขสิทธิ์มีขอบข่ายที่รวดเร็วและกว้างขวางขึ้นโดยเฉพาะในโลกไซเบอร์ที่ไร้พรมแดน อย่างไรก็ตาม กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกคู่มือการใช้งาน (Guidelines)ที่เป็นธรรมไว้ดังนี้
•คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม
•คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมสำหรับงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์แต่ละประเภท
•คู่มือใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมสำหรับการรายงานข่าว
•คู่มือการจัดซื้อและตรวจรับซอฟต์แวร์สำหรับหน่วยงานราชการ
•คู่มือสิทธิของนักแสดง
•คู่มือลิขสิทธิ์สำหรับนักเขียน
•คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมสำหรับการเรียนการสอน
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทำให้การใช้งานที่มีลิขสิทธิ์สามารถมีการใช้งานที่ๆไม่เกินเลยไประหว่างเจ้าของผู้สร้างสรรค์งาน กับผู้ใช้ให้อยู่ในจุดที่พอดีกัน จากคู่มือในแต่ละประเภทที่จัดทำไว้จะแยกถึงความแตกต่างได้
มีกรณีตัวอย่างต่าง ๆ ที่เป็นประเด็นน่าสนใจว่าจะเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เพียงใด อาทิเช่น เรื่อง การเขียนรายงานนักศึกษาส่งอาจารย์, การละเมิดลิขสิทธิ์ของห้องสมุด, การนำไฟล์เพลงมาใช้ในบลอกเวบ การโหลดเพลงจากเวบ, การละเมิดลิขสิทธิ์ไอที, โปรแกรมห้องเรียนออนไลน์, การนำรูปภาพของเขาไปลงประกอบเวบของตน, การนำภาพมาประกอบการเขียน, การวิเคราะห์นวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ฯ, การแปลหนังสือต่างประเทศ,การนำภาพเขียนขณะเป็นลูกจ้างมาประกอบการเขียนตำราของผู้วาดภาพ, การนำบทความนิตยสารมาศึกษาวิเคราะห์, โหลดข้อมูลอินเตอร์เน็ตฟรี, นำรูปหน้าเวบเพจมาเขียนตำรา, นำหนังสือหรือบทความที่ลงเวบมหาวิทยาลัยมาให้นักศึกษาศึกษา, การนำบทความของตนที่ลงในนิตยสารมารวบรวมเป็นหนังสือ, การนำวิทยานิพนธ์ของตนมาเป็นส่วนหนึ่งของตำรา, การนำข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐมาเขียนตำรา ฯลฯ
เหล่านี้หลายประเด็นปัญหาล้วนเกี่ยวข้องกับ “การใช้ที่เป็นธรรม” (fair use) อันเป็นหลักข้อยกเว้นของการละเมิดลิขสิทธิ์เกือบทั้งสิ้น ซึ่งในบางกรณียังไม่มีกฎหมายใดมาบังคับได้โดยตรง สมควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบดำเนินการแก้ไข เพื่อให้การคุ้มครองปัจเจกบุคคลในผลงานอันสร้างสรรค์ของเขาให้มีการวิจัยและพัฒนา (Research & Development - R&D) ไปสู่การสร้างความเจริญก้าวหน้าของประเทศและสังคมโลกสืบไป
บรรณานุกรม
Edward Samuels. The Illustrated Story of Copyright. 2002. [Online]. Available URL : http://www.edwardsamuels.com/illustratedstory/index.htm
กรมทรัพย์สินทางปัญญา, “คู่มือการใช้งาน.”
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร. “คู่มือการปฏิบัติและแนวทางการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์.” 2551. [Online].Available URL: http://www.thaihotline.org/images/handbook-MICT.pdf
ดินสอสีส้ม(นามแฝง). “ละเมิดลิขสิทธิ์ภาพ... ผมเอาความผิดของตัวเอง มาให้ดูเป็น case study ครับ.” 3 พฤษภาคม 2550. [Online].Available URL:
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/05/K5374965/K5374965.html
ดุษณี โสภณอดิศัย. “บล็อก : แนะนำการนำไฟล์เพลงมาใช้ในบล็อก.” 15 ธันวาคม 2551. [Online].Available URL:http://www.gotoknow.org/blogs/posts/229721
ปรัชญนันท์ นิลสุข. “กรณีศึกษา : ประเทศไทยอันดับ 4 การละเมิดลิขสิทธิ์ไอทีภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค.” เดลินิวส์ 1 พฤศจิกายน 2550. [Online].Available URL: http://www.gotoknow.org/blogs/posts/143436
ปรัชญนันท์ นิลสุข. “กรณีศึกษา : ข้อพิพาทลิขสิทธิ์ ห้องเรียนออนไลน์.” มติชน 12 เมษายน 2550. [Online].Available URL: http://www.gotoknow.org/blogs/posts/89869
ไมตรี สุเทพากุล, “การคุ้มครองลิขสิทธิ์และข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทย.” 22 เมษายน 2551. [Online].Available URL: http://61.47.2.69/~midnight/midnighttext/0009999953.html
วสวัต ดีมาร. "กฎหมายลิขสิทธิ์ : ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์."19 ธันวาคม 2551. [Online].Available URL: http://www.gotoknow.org/blogs/posts/230733
วัส ติงสมิตร, “การศึกษาหรือวิจัยอันเป็นข้อยกเว้นการละเมืดลิขสิทธิ์.” บทบัณฑิตย์ 57, 1(มีนาคม 2544). [Online].Available URL: http://elib.coj.go.th/Article/intellectual5.htm
สิริพร ทิวะสิงห์. “การละเมิดลิขสิทธิ์ที่ห้องสมุดควรตระหนัก.” 30 เมษายน 2552. [Online].Available URL: http://www.gotoknow.org/blogs/posts/258401
อรพรรณ พนัสพัฒนา, การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในคำบรรยายของผู้สอน, มปป. [Online].Available URL: http://elib.coj.go.th/Article/intellectual9.htm
มานิตย์ จุมปา. เขียนผลงานวิชาการอย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537. http://www.thnic.co.th/docs/copyright-law.pdf (19 ธันวาคม 2551).
อุดม งามเมืองสกุล. "รับสัญญาณภาพมาจากต่างประเทศ...เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในประเทศไทยหรือไม่???." คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ, 14 มกราคม 2555. [Online]. Available URL : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/474601