น้ำท่วม....ได้อะไร ตอนที่ 1


คนกรุงส่วนใหญ่ แทบจะไม่ค่อยเข้าใจความรู้สึกของชาวต่างจังหวัดที่ถูกน้ำท่วม อย่างมากก็แค่รู้สึกสงสาร คราวนี้เป็นผู้ประสบภัยเอง

ใครจะนึกว่าน้ำจะท่วมบ้าน  หมู่บ้านอยู่สูงกว่าถนนเกือบเมตร  แถมอยู่ใกล้สถานที่สำคัญ  คงไม่มีใครปล่อยให้น้ำท่วมแน่   แต่วันนั้นก็มาถึง  คนกรุงส่วนใหญ่ แทบจะไม่ค่อยเข้าใจความรู้สึกของชาวต่างจังหวัดที่ถูกน้ำท่วม  อย่างมากก็แค่รู้สึกสงสาร  คราวนี้เป็นผู้ประสบภัยเอง  กว่าหนึ่งเดือนที่อยู่ในภาวะเครียด สับสน  หวาดผวาและที่สำคัญ ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ  จึงอยากจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่า  น้ำท่วม....ได้อะไร

                ช่วงเตรียมรับน้ำ   ระหว่างที่น้ำท่วมที่อื่น  เราได้แต่นั่งเฝ้าติดตามข่าวตลอดเวลา  เตรียมซื้ออาหารตุนไว้ช่วงที่น้ำท่วม   ยิ่งท่วมก็ยิ่งหาอาหารยาก  ยิ่งหายากก็ยิ่งซื้อมาก  เช่น เคยซื้อไข่ 10 ฟอง ก็ซื้อเป็นแผง  เคยซื้อหมู 2-3 ขีด ก็ซื้อเป็นกิโล  เห็นอะไรก็ซื้อตุนไว้หมด  เพราะเหตุนี้จึงทำให้ข้าวของขาดแคลน  ด้วยความกลัวโดนตัดน้ำ  เลยซื้อถังน้ำขนาดเล็ก-ใหญ่เท่าที่หาได้ 10  ถัง  เก็บน้ำดื่มน้ำใช้   นอกจากอาหารและน้ำแล้ว   ยังซื้ออุปกรณ์ป้องกันน้ำ  เช่น กระสอบทราย  ผ้าพลาสติก  เทปผ้า  ฟิวเจอร์บอร์ด ซึ่งก็หายาก  สำหรับรถ  นำไปเก็บไว้ที่ทำงาน 1 คัน  เอาไว้ใช้ที่บ้าน 1  คัน  แต่พอน้ำมาจริงๆ  ก็ไม่ได้ใช้   จึงห่อรถตามคำแนะนำในหนังสือพิมพ์  ห่อด้วยผ้าคลุมรถชั้นหนึ่งก่อน แล้วซื้อผ้าม่านพลาสติกมาต่อกันเป็นผืนใหญ่ หุ้มรถอีกชั้น  ดูแล้วปลอดภัยแน่  ปรากฏว่าไม่ได้ผล  น้ำเข้า   ดีว่าน้ำไม่สูงจึงเข้าได้เฉพาะท่อไอเสีย  ค่าใช้จ่ายในการเตรียมการรับน้ำท่วมประมาณ 20,000-30,000 บาท   ช่วงนี้มีแต่ความเครียด  สับสน  วุ่นวาย  และหวาดผวา

       ช่วงหนีน้ำ   พอน้ำท่วมมากขึ้นเราก็เริ่มอยู่ยากขึ้น  ข้าวของกินหายากเพราะไปไหนไม่ได้   ห้องน้ำใช้ไม่ได้  กลัวโดนตัดน้ำตัดไฟ  จึงตกลงกันว่าจะอพยพไปจังกวัดกาญจนบุรี  ที่ซึ่งปลอดภัย  ทั้งๆที่ไม่มีใครรู้จัก  แต่ด้วยความกรุณาของ ศ. ดร. รุจา ภู่ไพบูลย์  ที่อพยพไปอยู่ก่อน  ได้ช่วยเสาะหารีสอร์ทที่สะดวกและรับหมา-แมว   เราเตรียมเสื้อผ้า  ข้าวของที่จำเป็น เพียงคนละ 1  กระเป๋า  เพราะต้องลงเรือลำเล็กๆ  ที่นั่งได้เพียง 2 คน  โดยให้ รปภ.หมู่บ้านเข็นไป  ทั้งหมด 3 เที่ยว จึงครบ 5  คน รวมหมาและแมวอย่างละ 1  ระยะทางเพียง 800 เมตร  ใช้เวลาเกือบ 3  ชั่วโมง   แล้วอาศัยตู้คอนเทนเนอร์รถหกล้อของเพื่อนบ้านขับไปส่งที่แห้ง  เพื่อต่อรถตู้ที่ว่าจ้างไว้   เดินทางไปถึงกาญจนบุรีตอนเย็น   ปรากฏว่าข้าวของที่ตุนไว้เยอะแยะไม่ได้ใช้เลย   ต้องยกให้รปภ.ทั้งหมด  ช่วงอพยพนี้จึงเป็นช่วงที่ทุลักทุเล  ลำบาก  ผจญภัยเพราะไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเจออะไร  เป็นการหนีตายจริงๆ   บทเรียนที่ได้คือ ถ้าพบว่าน้ำท่วมมากแบบนี้  ไม่ต้องสู้  หนีดีกว่า  เพราะสู้ไปก็ไม่รอด  อพยพเร็วจะสะดวกและปลอดภัยกว่า   ไปช้าจะลำบาก  และของที่เตรียมไว้ก็สูญเปล่าไม่ได้ใช้

           ช่วงเป็นผู้อพยพ   เนื่องจากนำไปได้แต่ของจำเป็น  เราจึงต้องซื้อข้าวของใช้  เช่น กระทะไฟฟ้า  จาน ชาม ช้อน กาละมัง   โชคดีที่ ศ. รุจา  ให้ยืมหม้อหุงข้าวและซื้อของกินไปให้เป็นระยะ  ทำให้เรารอดตายไปได้   เราไปไหนก็ลำบากเพราะไม่มีรถ  จะซื้อของหรือทำธุระในเมืองต้องเช่ารถสองแถวเที่ยวละ 400  บาท   พวกเราจึงอยู่กันอย่างง่ายๆ  กินง่ายๆ  กับจานพลาสติก  พยายามประยุกต์สิ่งของที่มี นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์  วันๆ กินแล้วเดินไปมาอยู่ในรีสอร์ท   แขกที่มาพักเกือบทุกรายก็เป็นผู้อพยพหนีน้ำทั้งสิ้น  ชะตากรรมไม่หมดเพียงเท่านี้  เราต้องย้ายที่อยู่อีกเพราะที่รีสอร์ทมีกลุ่มทัวร์จอง   ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านที่อพยพมาก่อน  ได้แนะนำรีสอร์ทใหม่  ทำให้เราสะดวก ไม่ต้องเสียเวลาหาที่อยู่ใหม่   ความรู้สึกช่วงนี้  ทำให้เราเข้าใจคำว่าญวนอพยพ  หรือเขมรอพยพ  ที่อยู่  กินกันแบบง่ายๆ ประหยัด เพราะหาซื้อของยาก ไปไหนก็ไม่สะดวก    ระหว่างนี้เราต้องนั่งรถไฟเข้าไปบ้าน 2  ครั้ง เพื่อเอาเสื้อผ้า  สิ่งของจำเป็นและกุญแจรถเพื่อไปขับรถจากที่ทำงานมาใช้ที่กาญจนบุรี  ซึ่งก็ทุลักทุเลไม่แพ้กัน  เพราะต้องนั่งรถไปขึ้นรถไฟที่นครปฐม  ลงที่สถานีศาลายาแล้วต่อเรือไปที่ปากซอยแล้วเดินลุยน้ำเข้าบ้าน   ส่วนขากลับลุยน้ำแล้วเดินไปตามทางรถไฟประมาณ 500 เมตร เพื่อขึ้นรถไฟ

         ช่วงกลับบ้าน  เป็นช่วงที่เราทุกคนมีความสุข  แม้การเดินทางจะลำบาก  ใช้เวลานานเพราะต้องขับรถอ้อม หนีน้ำท่วม  แต่เมื่อถึงบ้านเราต่างก็ดีใจ   ถึงแม้น้ำจะไม่เข้าตัวบ้าน  รอบๆบ้านมีกลิ่นเหม็น  มีแมลงวัน ต้นไม้ตายเกือบหมด  เราใช้เวลาประมาณ 3-4 วันกว่าบ้านจะสะอาด  คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะปรับปรุงให้ดูดีเหมือนเดิม  ช่วงนี้เห็นได้ว่าทุกคนแสดงความรักบ้าน โดยช่วยกันเก็บกวาด  ทำความสะอาดบ้าน  มื้อแรกๆเราเกือบแย่เพราะไม่มีของขายเลย  โชคดีที่เตรียมของกินไว้บ้างและเพื่อนที่ชื่อมานพ มอบขนม กุนเชียง  หมูหยอง  น้ำพริกเผา และกล้วยหอมไว้ให้  จึงทำให้รอดตายไปได้อีกครั้งหนึ่ง  เราจึงได้บทเรียนว่า  ถ้าจะช่วยคนหนีน้ำ  ควรให้ของกินประเภทนี้จึงจะเป็นประโยชน์  สำหรับน้ำที่ตุนไว้  กลับมีประโยชน์ช่วงนี้  ช่วงที่น้ำประปายังใช้ไม่ได้  ช่วงที่เครื่องกรองน้ำยังใช้ไม่ได้ ก็ได้อาศัยน้ำที่ตุนไว้ดื่ม-ใช้ 

          ตอนหน้า  จะกล่าวเพิ่มเติมถึงสิ่งที่ได้รับจากน้ำท่วมครั้งนี้  เพื่อบันทึกไว้เป็นอนุสรณ์เตือนความจำ  ใครมีประสบการณ์คล้ายหรือต่างอย่างไร  ขอเชิญแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะคะ       

หมายเลขบันทึก: 470181เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2011 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะอาจารย์ ดร.อาภา

  • สำหรับตัวเองในฐานะผู้ประสานงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มหิดล ช่วงน้ำท่วมนี้ ได้อะไรเยอะจริงๆ ค่ะ อีกทั้งยังสะท้อนบางอย่างที่ทำให้เรารู้ว่า ประสบการณ์หรือทักษะที่เรามีนั่นช่วยได้พอสมควรในการทำงานประสานงาน ทำงานกับพื้นที่ และสะท้อนด้านเครือข่ายว่าที่เราทำงานกับทุกคนมาตลอดนั้นเข้มแข็งพอรึยังเลยทีเดียวค่ะ ..
  • ได้เติมเต็มทักษะบางอย่างให้ชัดขึ้น ..
  • ได้เห็นความเป็นมนุษย์
  • ได้เครือข่ายเพิ่มมากขึ้น ..
  • ได้ลุยน้ำ ได้ขึ้นรถทหารหลายรูปแบบ ลงเรือแทบทุกชนิด ..
  • ไม่สามารถพูดได้เต็มที่ค่ะว่าเพราะภัยพิบัติทำให้เราได้อะไรดีๆ มาบ้าง เพราะมันอยู่บนความทุกข์ร้อนของประชาชน ..
  • แต่ที่แน่ๆ ได้เห็นว่า คนไทยไม่ทิ้งกัน ค่ะอาจารย์ =)
  • มาเป็นกำลังใจครับอาจารย์ จิตนาการไปด้วย และรู้สึกได้ถึงความลำบากตรากตรำ
  • วันนี้ก็ได้ข่าวการรวมตัวประท้วงและเผชิญหน้ากันของชาวบ้านที่กระทุ่มล้ม ซึ่งเป็นย่านถิ่นของชาวมหิดลและเป็นพื้นที่ร่วมทำงานกับชุมชนของพวกเราด้วย เห็นถึงแรงประทุที่อัดอั้นกันมาหลายเดือนเลยทีเดียวครับ
  • ด้วยความรำลึกถึงครับอาจารย์ ขอคารวะผ่านไปยังท่านอาจารย์ ศ.ดร.รุจา และท่านผู้การด้วยครับ

เป็นทุกอย่างที่อ.เล่ามาเลยค่ะ

ตอนนี้กลับบ้านแล้ว ดีใจมากค่ะ

อย่างไรก็รู้สึกว่าเตรียมมาก ดีกว่าเตรียมน้อย และต้องยินดีด้วย ที่รถไม่จมน้ำ ขอบคุณสำหรับประสบการณ์ที่เล่าสู่กันฟัง จะตามอ่านตอน๒อีกค่ะ

ขอบพระคุณทุกความเห็นและกำลังใจ ขอบพระคุณอ.รุจิเรศ อ.วิรัตน์ และทุกท่านที่ให้เกียรติเข้ามาอ่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท