ชีวิตที่พอเพียง 3552. เล่าไว้ในวัยสนธยา (๑๗) ถามพ่อ



บันทึกที่ ๑    บันทึกที่ ๒   บันทึกที่ ๓   บันทึกที่ ๔    บันทึกที่ ๕    

บันทึกที่ ๖    บันทึกที่ ๗    บันทึกที่ ๘   บันทึกที่ ๙   บันทึกที่ ๑๐    

ตอนที่ ๑๑    ตอนที่ ๑๒    ตอนที่ ๑๓    ตอนที่ ๑๔    ตอนที่ ๑๕ 

ตอนที่ ๑๖

บันทึกชุด เล่าไว้ในวัยสนธยา เป็นการเล่าเรื่อยเปื่อย นึกอะไรออกก็เล่าไว้ เป็นบันทึกชีวิตที่คนสมัยนี้อาจนึกไม่ถึง ว่าชีวิตสมัยก่อนเขาขาดแคลนและยากลำบากขนาดนั้น    และเพื่อตอกย้ำว่า “ชีวิตที่ยากลำบากเป็นชีวิตที่เจริญ” (คำของ ศ. นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว) 

คิดย้อนหลังไปเจ็ดสิบปี    ในวัยเด็กผมทั้งรักทั้งกลัว และเทิดทูนความฉลาดสามารถของบิดา นายดำริ พานิช (๑)     ผมน่าจะเป็นเด็กขี้สงสัยและตั้งคำถามถามพ่อบ่อยๆ    มีบางเรื่องที่คำตอบประทับใจหรือสอนใจผมมาตลอดชีวิต  

ตอนยังเด็กมากๆ น่าจะอายุราวๆ สิบขวบ    ผมเห็นพ่อทำงานเหนื่อยมาก (ขับรถยนต์โดยสาร)     และเห็นคนเรียกเถ้าแก่โป๊ะที่ปากน้ำว่า เถ้าแก่ สะท้อนว่าคนทำโป๊ะจับปลารวย    แต่พ่อผมไม่รวย    ผมอยากให้ฐานะทางบ้านของตนรวยบ้าง จึงถามพ่อว่า ทำไมบ้านเราไม่ทำโป๊ะอย่างเถ้าแก่ที่ปากน้ำบ้าง    พ่อบอกว่า ลูกเอ๋ย คนทำโป๊ะจับปลาได้มากเท่าไรก็เท่ากับฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมากเท่านั้น   

เมื่อผมมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพ อายุ ๑๕ ปี    และกลับไปบ้านตอนปิดเทอม    พบว่าที่บ้านเลิกขายเหล้าไปแล้ว    โดยที่สมัยเด็ก ผมมีหน้าที่ข้ายเหล้า    เพราะที่บ้านเป็นเอเย่นต์ขายเหล้าโรงหรือเหล้าขาว ที่ผลิตโดยโรงเหล้าที่ตลาดชุมพร    เราขายเป็นเท (บรรจุในลังไม้ ๑๖ ขวด) หรือครึ่งเท    ไม่ได้ขายปลีก    เมื่อกลับไปบ้านและไม่เห็นมีการขายเหล้า    แต่ยังขายของชำอยู่    จึงถามพ่อว่าทำไมจึงเลิกขายเหล้า    มันให้กำไรดีไม่ใช่หรือ

พ่อตอบว่า เลิกเพราะปู่สั่งไว้    ว่าเมื่อไรตั้งตัวได้ ขอให้เลิกขายเหล้า    เพราะการขายเหล้าเป็นการเบียดเบียนคนอื่น    พ่อพูดแค่นี้    แต่ผมจำจนตายว่า ตระกูลเราไม่ทำมาหากินโดยเบียดเบียนคนอื่น    อย่าว่าแต่คนเลย ชีวิตสัตว์เราก็พยายามเบียดเบียนให้น้อยที่สุด        

วิจารณ์ พานิช

๒ ต.ค. ๖๒    


หมายเลขบันทึก: 671934เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2019 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2019 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท