การก้าวสู่ความเป็นครูในศตวรรษที่ ๒๑ : ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านกรูโบ


งานครูเป็นงานสร้างคน ถ้าเราไม่ดูแล ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับเขา เราจะสร้างเขาได้อย่างไร เหนื่อยแต่ก็มีความสุขท่ามกลางป่าเขานะคะ

               เช้าวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๖ หลังผ่าน ๑,๒๑๙ โค้งจากตัวจังหวัดตากมายังอำเภอแม่สอดจนถึงอำเภออุ้มผาง ก็สะบักสะบอมกันพอสมควรโดยรถของกศน.จังหวัดตาก เมื่อได้พักผ่อนกัน ๑ คืน รถของกศน.ก็มารับในเวลา ๗ โมงเช้าเพื่อเดินทางขึ้นไปยังบ้านกรูโบซึ่งมีระยะทาง ๑๑๑ กิโลเมตร การเดินทางที่เป็นทั้งทางราบและทางขึ้นเขาจึงจำเป็นต้องพึ่งรถขับเคลื่อน ๔ ล้อและเราโชคดีมากที่ได้คนขับรถที่ชำนาญทาง แต่แม้จะชำนาญทางอย่างไรก็ยังใช้เวลาถึง ๖ ชั่วโมงที่เขย่าพวกเราจนหิวแล้วหิวอีก ..

               ในที่สุดเราก็เดินทางมาถึงศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านกรูโบ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง เมื่อลงจากรถเห็นได้ชัดว่าศูนย์การเรียนฯ และบริเวณโดยรอบดูสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างมาก และได้พบกับคุณครูนฤมล แก้วสัมฤทธิ์ ครูดีเด่น “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ในด้านพัฒนาการศึกษาของประชาชนผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นทุรกันดาร โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมกับ สำนักบริหารงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นรางวัลเพื่อเผยแพร่ผลงาน คุณงามความดีและยกย่องเชิญชูเกียรติผู้ที่เป็นแบบอย่างการทำดีในสังคมไทย เป็นขวัญกำลังใจให้แก่ครูที่ปฏิบัติงานในถิ่นทุรกันดาร ..

           

เป็นครูและผู้ให้แรงบันดาลใจ

               ครูนฤมล แก้วสัมฤทธ์ วัย ๔๘ ปี หรือครูเจี๊ยบ ชาวกำแพงเพชรได้เดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ครูที่ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา (ศศช.) แม่ฟ้าหลวง บ้านกรูโบมา ๑๕ ปี ในปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด ๕๑ คน ตั้งแต่ระดับอนุบาล ๑ ถึงประถมศึกษาปีที่ ๖ ครูเจี๊ยบทำการสอนหนังสือทุกวันไม่เว้นแม้วันหยุดเสาร์ อาทิตย์ “งานครูเป็นงานสร้างคน ถ้าเราไม่ดูแล ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับเขา เราจะสร้างเขาได้อย่างไร เหนื่อยแต่ก็มีความสุขท่ามกลางป่าเขานะคะ” ครูเจี๊ยบกล่าว ..

               บ้านกรูโบ ด้วยพื้นที่อยู่ไกลเมืองถึง ๖ ชั่วโมงด้วยรถยนต์ ถ้ายิ่งเป็นหน้าฝนการเดินทางก็ยิ่งเพิ่มความยากลำบากเข้าไป รถขึ้นไม่ได้ต้องเดินเท้าเท่านั้น ซึ่งครูเจี๊ยบบอกว่าถ้าต้องลงไปประชุมที่จังหวัดตากต้องเริ่มเดินทางล่วงหน้ากันเป็นสัปดาห์ เท่ากับในช่วงนั้นศศช.บ้านกรูโบ ต้องปิดทำการเรียนการสอนไปโดยปริยาย ภายในบ้านกรูโบ ยังมีวัด (น่าจะเป็นที่ปฏิบัติธรรม และเป็นที่จำวัดของพระที่ธุดงค์มา) เป็นที่พึ่งทางใจ และมีสุขศาลา เพื่อดูแลสุขภาพของชาวบ้านกรูโบ ชาวบ้านบ้านกรูโบส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง นับถือศาสนาพุทธ บางครอบครัวมีลูกมากถึง ๗-๘ คน มีอาชีพทางการเกษตร ทำไร่ ทำนา ปลูกข้าว ปลูกพริก เหลือกินเหลือใช้ในครัวเรือนก็นำไปขาย ส่วนภายในศศช.บ้านกรูโบ มีเรือนไม้อยู่ ๕ หลัง เรือนอาคารเรียน เรือนโรงครัว เรือนห้องสมุด เรือนห้องพัก และเรือนทำกิจกรรม มีห้องน้ำ ๒ ฝั่งซ้าย ขวาของเรือนอาคารเรียน มี ๖ ห้องแยกชาย หญิง มีแผงโซล่าเซลในการเก็บและจ่ายกระแสไฟภายในศูนย์ฯ มีน้ำประปาภูเขา แต่ใช้น้ำฝนเพื่อการบริโภค ...

           

               การดูแลลูกๆ หลานๆ ชาวกรูโบของครูเจี๊ยบจะเน้นให้เด็กมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ รู้จักดูแลและแบ่งปัน เช้าๆ เด็กๆ จะเดินไปกราบพระ มาไหว้คุณครู และเริ่มภารกิจที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ การทะเลาะเบาะแว้งที่นี่จะไม่มีเพราะครูเจี๊ยบจะให้จับคู่กันดูแลและรับผิดชอบ “พี่ดูแลน้อง” พี่จับมือคัดลายมือ น้องสกปรกก็พาน้องไปอาบน้ำ ดูแลข้าวของของน้องถ้าไม่สะอาดไปช่วยน้องทำความสะอาด เด็กนักเรียนทุกคนจะมีหน้าที่รับผิดชอบ ทำเวรต่างๆ การดูแลจัดข้าวของเครื่องใช้ในศูนย์ฯ มีต้นไม้ที่ต้องดูแล เด็กอนุบาลจะดูแลคนละต้น ผัก ผลไม้ ช่วยกันปลูกช่วยกันดูแล “แจกเมล็ดพันธุ์ และให้ไปปลูก ไปดูแล ไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง การได้ดูแล เค้าก็จะได้กิน ถ้าไม่ดูแลเค้าก็จะไม่ได้กิน และต้องดูแลจนถึงรากแก้ว ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีกินในครั้งต่อไป” ครูเจี๊ยบผู้มีชีวิตการเป็นอยู่ที่มีพลังความเป็นครู และให้แรงบันดาลใจแก่เด็กบอกกับพวกเรา ..

กระบวนการเรียนรู้ที่บูรณาการเพื่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ และเชื่อมโยงสู่ชุมชนสังคม

               จากหลักคิดของครูเจี๊ยบที่ไม่อยากให้เด็กทิ้งถิ่นฐาน “ถ้าเด็กไม่รักชุมชนของตนเองเด็กก็จะทิ้งถิ่น” จึงเลือกการอนุรักษ์ลายผ้าเพื่อให้เด็กรักในเอกลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยงเพื่อไม่ให้เด็กทิ้งถิ่นเป็นตัวเดินเรื่อง เป็นตัวช่วยในการเดินทางของเด็กๆ ไปเยี่ยมบ้านโน้นบ้านนี้ หรือแม้แต่พาเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนบ้านในอาเซียนที่มีลายผ้าสวยๆ ไม่แพ้กัน จึงเริ่มเขียน แผนการเรียนรู้ประชาคมอาเซียนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน ของครูเจี๊ยบ เพื่อให้ได้ทักษะการเรียนรู้ตามแนวคิดการสร้างทักษะอนาคตใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ ในโครงงาน “เส้นสายลายสวย ศิลปะบนผืนผ้า สู่วิถีอาเซียน”  เพื่อให้ความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองยังคงอยู่และได้เรียนรู้เอกลักษณ์ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งความเหมือนและแตกต่าง บูรณาการกันระหว่างสาระวิชาสังคมศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี ในระดับประถมปีที่ ๖ แต่เท่าที่สังเกตน่าจะได้ในสาระวิชาศิลปะ และวิชาคณิตศาสตร์ ควบคู่ไปด้วย ..

           

           

               การค้นหาข้อมูลของเด็กไกลเมืองแบบนี้คงหนีไม่พ้นห้องสมุดของศูนย์ฯ ที่ครูเจี๊ยบพยายามเก็บรวมรวมข้อมูลต่างๆ หรือจากหนังสือบริจาคมาจัดไว้อย่างเป็นระเบียบ น่าอ่าน ครูเจี๊ยบให้เด็กๆ จับกลุ่มป.๖ และป.๔ เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน และพากันดำเนินไปตามจังหวะของกิจกรรม ครูให้ใบงาน และพากันเรียนรู้ ออกไปสนทนาซักถามที่บ้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้เฒ่าผู้แก่ แล้วนำมาเล่าสู่กันฟัง เช่น เรียนรู้วิธีการจักสาน การทอผ้า เรียนรู้เพลง นิทานพื้นบ้าน แม้จะยังไม่ชัดเจนในการร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ของครูและเด็ก แต่คุณครูเจี๊ยบก็มีทักษะในการพาเด็กทำกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ และคอยกระตุ้นเด็กๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ..

               นอกจากเรื่องการบูรณาการการเรียนการสอนแล้ว ครูเจี๊ยบยังช่วยจัดส่งเสริมอาชีพให้กับคนในบ้านกรูโบ เช่น ก่อตั้งกลุ่มพริกแห้ง, กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยง มีการก่อตั้งธนาคารข้าวให้ชุมชน และดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวกะเหรี่ยง อนุรักษ์เครื่องใช้หัตถกรรมพื้นบ้านกะเหรี่ยง และอีกหลายอย่าง ครูเจี๊ยบเป็นครูผู้เสียสละจริงๆ จึงกลายเป็นที่รักของคนในชุมชน ..

ลงมือปฏิบัติทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

               การฝึกฝนเด็กๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปของครูเจี๊ยบโดยการปฏิบัติจริงร่วมไปการดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นครูด้วยการใช้ชีวิต อบรมสอนสั่ง พาคิด พาทำ อยู่บนชีวิตจริง นอกจากโครงงานเส้นสายลายสวย ศิลปะบนผืนผ้า สู่วิถีอาเซียน ที่บูรณาการกลุ่มสาระวิชาต่างๆ แล้ว ครูเจี๊ยบเคยมีโครงงานวิทยาศาสตร์ เช่น การรู้จักตัวแมลง พืชผัก โดยให้เด็กๆ ได้ทำงานกลุ่ม มีการตั้งโจทย์คำถามเพื่อให้เด็กพูดคุยแลกเปลี่ยนและช่วยกันหาคำตอบ  ซึ่งเด็กๆ สะท้อนว่าสนุก ชอบ ได้ทำงานกับเพื่อนๆ และยังมีโครงงานการปลูกผัก ที่ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันของคนในครอบครัว ถ้าไม่ช่วยกันปลูก ช่วยกันดูแล ผักจะไม่งามแพ้ลูกบ้านอื่น การประเมินของครูเจี๊ยบโดยเดินไปเยี่ยมบ้านโน้น บ้านนี้พูดคุยซักถามผู้ปกครองถึงกระบวนการทำงาน ความรับผิดชอบของเด็กๆ หรือลูกๆ ของพวกเขา และนำผลผลิตมาขายที่ศูนย์ฯ เด็กมีรายได้ ครอบครัวมีกิน นับว่าเป็นการสร้างการเรียน การทำงาน การอยู่ร่วมกันของคนในครอบครัว ในชุมชนอย่างเป็นเนื้อเดียวกับชีวิต ..

           

การก้าวสู่ความเป็นครูในศตวรรษที่ ๒๑

               ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๖ ตั้งแต่เช้ามืด นอกจากได้สัมผัสอากาศอันหนาวเหน็บแล้ว ยังได้เห็นวิถีชีวิตภายในศูนย์ฯ ที่ทำให้เห็นเรื่องราวของความเป็นจริงทางการปฏิบัติ สะท้อนภาพความเป็นครูที่มีจิตวิญญาณ และมีคุณธรรม ที่มีต่อเหล่าศิษย์ตัวน้อยของคุณครูนฤมล แก้วสัมฤทธิ์ หรือครูเจี๊ยบ ...

      • เป็นครูผู้มีพลังและเป็นผู้ให้แรงบันดาลใจ : เป็นครูผู้มีพลังและเป็นผู้ให้ให้แรงบันดาลใจแก่เด็กและผู้คน ในชุมชน
      • การดำเนินชีวิตอย่างมีความหมาย : พาเด็กๆ เรียนรู้ พาเด็กๆ ทำงานอย่างเป็นเนื้อเดียวกับชีวิต และสร้างสิ่งต่างๆให้กับเด็ก ชุมชน อย่างมีความหมาย
      • อดทนและมีจิตใจที่เปิดกว้าง : พยายามและให้โอกาสทำความเข้าใจและเรียนรู้ความเป็นจริงร่วมกับผู้อื่น
      • ใช้ชีวิตและทำสิ่งสร้างสรรค์ : เป็นครูด้วยการใช้ชีวิต อบรมสอนสั่ง พาคิด พาทำ
      • ให้โอกาสและทำความเข้าใจ :  ให้โอกาส อดทน ต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปบนเงื่อนไขที่แตกต่างกัน
      • บูรณาการการเรียนรู้กับการใช้ชีวิต : เรียนรู้และให้เข้าถึงความจริงด้วยการปฏิบัติ ไปจนถึงการเกิดทักษะการมีความมั่นใจในการทำงาน และอยู่อาศัยอย่างมีความสุขในสังคม
      • เป็นกัลยาณมิตรให้กัน : เป็นครูและเป็นสภาพแวดล้อมแก่กันและของตัวเอง เด็ก เยาวชน และชุมชน เพื่อให้มีประสบการณ์ต่อถิ่นฐานบ้านเกิด และโลกภายนอกอย่างค่อยเป็นค่อยไป

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

Location and place : บ้านกรูโบ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา 'แม่ฟ้าหลวง' บ้านกรูโบ ตามกระแสรับสั่งจากสมเด็จพระเทพฯ โดยให้ กศน.จ.ตาก เป็นผู้ดำเนินการและสนับสนุนการศึกษา และอุปกรณ์การเรียนการสอน
Event : ร่วมเป็นทีมจับภาพครูเพื่อศิษย์ ครูสอนดี โครงการสร้างชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์เพื่อปฏิรูปการศึกษา ของมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) โดยการจับภาพครูสอนดี และโรงเรียน ที่จัดกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL บนฐานคิดสร้างทักษะแห่งอนาคตใหม่ศตวรรษที่ ๒๑
Date : ๗-๘ มกราคม ๒๕๕๖ 
เรื่องราว/ถ่ายภาพ : ณัฐพัชร์ ทองคำ
กล้องและเทคนิค : iPhone4

หมายเลขบันทึก: 518259เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2013 22:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2013 01:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

“งานครูเป็นงานสร้างคน ถ้าเราไม่ดูแล ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับเขา เราจะสร้างเขาได้อย่างไร เหนื่อยแต่ก็มีความสุขท่ามกลางป่าเขานะคะ” ครูเจี๊ยบกล่าว .. น่าชื่นชมในจิตวิญญาณครูผู้สร้างตัวจริง นะคะ

การออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้บนโครงงาน “เส้นสายลายสวย ศิลปะบนผืนผ้า สู่วิถีอาเซียน” ดูชื่อโครงการที่สื่อสะท้อนแนวคิดไปด้วยเป็นอย่างดีไปด้วยแล้ว นอกจากจะบรรลุจุดหมายเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ในหลายสาระการเรียนรู้อย่างที่อาจารย์ณัฐพัชร์ได้ถอดบทเรียนและบันทึกถ่ายทอดให้ได้เรียนรู้กันเป็นวงกว้างไปด้วยนี่ ก็เป็นการเรียนรู้โลกกว้าง เห็นความเป็นสากล ที่เชื่อมโยงออกไปจากจุดแข็งและความเป็นตัวของตัวเองของชุมชนชาวไทยภูเขามากเลยนะครับ 

“งานครูเป็นงาน สร้างคน ถ้าเราไม่ดูแล ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับเขา เราจะสร้างเขาได้อย่างไร เหนื่อยแต่ก็มีความสุขท่ามกลางป่าเขานะคะ”

อ่านแล้ว อนุโมทนากับคุณครูจังค่ะ

ขอบคุณพี่เหมียวมากครับ และส่งความสุขเทศกาลแห่งความรักแด่พี่เหมียว พร้อมสุขสันต์วันเิกิดแด่คุณแม่ของพี่ด้วยครับผม

ขอบคุณอาจารย์ ดร.ป๊อบ ด้วยเช่นเดียวกันนะครับผม ^^

ขอบคุณมากครับสำหรับกำลังใจจากพี่เหมียว ขอให้มือของพี่หายไวๆ ทำงานได้เร็วๆ ครับ

ขอบคุณครับอาจารย์ ดร.ป๊อป ^^

แวะมาสวัสดีปีใหม่กับอาจารย์นะครับ

ด้วยความเคารพและระลึกถึงครับ

สวัสดีค่ะคุณแสงแห่งความดี

สวัสดีคุณพ่อที่แสนน่ารัก ความรักของคุณพ่อช่างงดงามจริงๆ ค่ะ

ขอให้คุณพ่อมีสุขภาพที่แข็งแรงนะคะ

ขอบคุณเช่นกันค่ะอาจารย์ป๊อบที่น่ารักที่สุดดด

ส่งความสุข ในวันแห่งความอบอุ่นของครอบครัวนะครับ อาจารย์ณัฐพัชร์

ด้วยความเคารพ

มาทักทายพี่เหมียว

หายไปนานมากๆ

เด็กๆปลูกผักงามมากเลยครับ

  • ขอบคุณค่ะคุณแสงแห่งความดี ขอส่งความสุขให้กับคุณแสงฯ และครอบครัวด้วยเช่นกันนะคะ ^^
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์ ดร.ขจิต ขอบคุณสำหรับมะเขือเทศงามๆ นะคะ น่าทานมากเลยค่ะ ^^
  • ไม่ได้เขียนบันทึกนานมากเลยยยย สนิมจับแหล่ววววว ^^"

คิดถึงพี่เหมียว

พี่เหมียวก็มา

ท่าทางงานยุ่งแน่ๆเลย ไม่ได้ข่าวเลย

สบายดีไหมครับ

  • สุดๆ ค่ะ อาจารย์ ดร.ขจิต >"<
  • ขอบคุณนะคะที่แวะมาทักทายกันนนน
  • ขอให้อาจารย์มีความสุขม๊ากกก มากนะค๊าาาาาา ^^

ขอบคุณแทนลูกศิษย์ ที่มีครูทุ่มเทแบบนี้ค่ะ

ขอบคุณคุณหมอด้วยเช่นกันนะคะ ^^

สวัสดีค่ะคุณครูเจี๊ยบ (นฤมล แก้วสัมฤทธิ์)

ขอบคุณสำหรับ e-mail แจ้งความก้าวหน้าของเด็กๆ รุ่นแรกที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ มศว. 2 คนด้วยกันค่ะ เก่งมากๆ เลยค่ะ ได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ความอดทนของเด็กแล้วร่วมชื่นชมเด็กๆ ไปกับคุณครูเจี๊ยบด้วยนะคะ ^^

หลังจากได้ไปพบปะพูดคุยกับเด็กๆ ที่ มศว.ประสานมิตร ก็ติดตามเด็กๆ จากเฟสบุ๊คของ น้องพรรณิภา บำเพ็ญรุ่งโรจน์ น้องอ๊อด อยู่บ้างหน่ะค่ะ เห็นความสำเร็จของน้องๆ เห็นแล้วมีความสุขไปคุณครูเจี๊ยบด้วยค่ะ ครูเจี๊ยบเป็นแรงผลักดัน เป็นกำลังใจ จนน้องๆ ประสบความสำเร็จจริงๆ ค่ะ ^^


ขอบคุณค่ะ
ครูเจี๊ยบ รักษาสุขภาพด้วยนะคะ ^^

พี่เหมียวมา

เย้ๆๆ

สบายดีไหมครับ

หายไปนานมากๆ

คิดถึงพี่เหมียว

พี่เหมียวก็มา

เสียดายไม่ได้พบกัน

แงๆๆๆๆ

  • แฮ่ๆ ไม่ได้เข้ามานาน อ่านแต่บล๊อคคนอื่น ลืมเข้าบล๊อคตัวเอง ๕๕๕
  • ขอบคุณ อ.ดร.ขจินคร๊าบบบบ ^^
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท