เก่ง ฉลาด รวย


อยากได้ แต่ไม่อยากให้.. สมการนี้ ยังไงก็ไม่สมดุล มันเป็นไปไม่ได้..

วันก่อนคุยกับ อ.ศิริศักดิ์ เรื่องธรรมะทั่วๆ ไป ดิฉันก็พูดขึ้นมาลอยๆ (เพราะมันแวบเข้ามาในหัว) ว่า..

เดี๋ยวนี้เราสอนเด็กๆ ตั้งแต่เล็กๆ เลยว่า เรียนหนังสือให้เก่งๆ จะได้เรียนจบ มีการมีงานทำ ร่ำรวย ฯลฯ  แต่ไม่ค่อยได้เคยสอนว่า เด็กๆ..เรียนหนังสือให้เก่งๆ นะ เรียนหนังสือจบมาจะได้มาทำงานพัฒนาประเทศ ช่วยเหลือคนอื่น และดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า ฯลฯ

ดิฉันว่าเดี๋ยวนี้สิ่งที่เราเห็นในสื่อต่างๆ หรือเห็นในทีวี ในเกมส์โชว์ ในละคร คือถ้าอยากประสบความสำเร็จ (รวย) ต้องเก่ง ฉลาด หรือหน้าตาดี!!! ตัวตนจริงๆ เป็นอย่างไรไม่รู้แต่ต้อง "ดู" ดีไว้ก่อน   หัดเป็นนักสร้างภาพ(ลวงตา)กันเสียอีก  ทั้งในทีวีและนอกจอด้วยสิ...

รู้สึกว่าสังคมไทย หรือสังคมโลก กำลังมีทิศทางพัฒนาคนรุ่นใหม่มาในทางนี้กันไปหมด.. (คิดมากไปไหมเนี่ย... )

อาจารย์บอกว่าคนเรามักสอนเด็กแบบง่ายๆ เช่น เก่ง ฉลาด รวย..  แต่จริงๆ แล้วลองมาคิดดูว่า..

 

ถ้าเรามีเพื่อนให้เลือกคบ ๒ คน

คนหนึ่ง...... เก่ง ฉลาด รวย

อีกคนหนึ่ง........ ขยัน อดทน และเอื้อเฟื้อ

เราจะเลือกคบเพื่อนคนไหน

.........



สำหรับเด็กๆ หลายๆคน ก็คงอยาก"เป็น"เพื่อนคนแรก แต่อยากจะคบเพื่อนคนหลัง.!!!!.

แล้วจะมีเพื่อนคนหลังให้คบไหมเนี่ย???

 

สำหรับตัวเองก็เลยต้องมาันั่งคิดหาทางว่าทำอย่างไรถึงให้เด็กที่สอนอยู่รู้จักให้บ้าง...เพราะบางทีลองพูดๆ เรื่อง"การให้" ให้เด็กๆ ฟัง    ก็พบว่าเด็กๆ ไม่ตอบสนองเท่าใดนัก..

ยังมองไม่เห็น"การให้"    เพราะค่อนข้างได้รับจากพ่อแม่ ผู้ปกครองมามาก..   เป็นแต่ฝ่ายรับ ยังไม่เคยได้เป็นฝ่ายให้...ไม่มีประสบการณ์ เลยยังไม่ค่อยเข้าใจ..  

 

อยากได้ แต่ไม่อยากให้.. สมการนี้ ยังไงก็ไม่สมดุล     มันเป็นไปไม่ได้.. 

 

แล้วก็ถามตัวเองว่า ตัวเองรู้จัก"ให้"และทำตัวเป็นตัวอย่างหรือยัง....

อืมมม... "_"  พยายามทำอยู่ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 160558เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2008 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ น้อยคนจะมองเห็น กำลังพยายามผลิต เด็กเก่ง เป็น เด็กดี ที่น่ารักของคุณครูค่ะ
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • ถ้าป้าแดง มีลูก คงสอนให้เขาเป็นคนมีน้ำใจค่ะ
  • ป้าแดง เห็นน้อง ข้างบ้าน สอนลูกแล้วรู้สึกเป็นห่วงค่ะ ป้าแดง ชวนเด็กๆไปนอนเต้นท์เที่ยวป่า ก็รีบออกตัวว่า เด็กๆๆไม่ชอบ
  • แต่ชอบพาเด็กไปเที่ยวห้าง
  • บางครั้ง พ่อแม่ เนี่ยละนะคะ ที่ ทำร้ายลูก

 

สวัสดีครับ อาจารย์กมลวัลย์ ที่เคารพ :)

  • "โปรดเื้อื้อเฟื้อเด็ก สตรี และคนชรา" ... มีชายไทยสักกี่คนที่ทำเมื่อขึ้นรถเมล์ที่กรุงเทพฯ ใช่ไหมครับ :)
  • ผมเชื่อว่า อิทธิพลของสื่อโฆษณามีผลต่อความนึกคิดของเด็กมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการขายสินค้าที่ไม่สนใจผลกระทบในการเลียนแบบของเด็ก หรือ ละครทีวีที่พระเอก นางเอก หน้าตาดี รวย เก่ง ... เด็กมักจะเีลียนแบบได้อย่างเดียวคือ พยายามจะรวย หน้าตาดีก็หาซื้อครีมมาโบ๊ะหน้า (ไถพ่อแม่มา) แต่เก่ง ไม่ค่อยจะพยายามสักเท่าไหร่
  • ชัตดาวน์คอมพ์ ... ชัตดาวน์ชีวิต (ความเป็นจริงในโลกเสมือน) ตัวอย่างของอิทธิพลที่เกิดจากการเล่นเกมหรือแชตรูม
  • อาจารย์ครับ ... ในเืมื่อสื่อโทรทัศน์มีอิทธิพลกับเด็กปานนี้ ครูก็น่าจะใช้สื่อพวกนี้เพื่อสอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมให้เขาได้มิใช่หรือครับ ???
  • แน่นอนครับ การสอนหนังสือของผม ไม่ได้สอนแค่เนื้อหาวิชาการเท่านั้น ผมชอบสอดแทรกสื่อคุณธรรม จริยธรรม เพื่อสอนเขาเสมอ ยอมเสียคะแนนของส่วนวิชาการไปบ้าง โดยเอาคะแนนมาให้เรื่องคุณธรรม จริยธรรมแทน แต่ผมเชื่อถึงผลการเปลี่ยนแปลงความคิดของเด็กที่คิดผิดมาตลอด ครับ .. หาสิ่งใดก็ได้ที่ทำให้เขา "ฉุกคิด" มาก่อนที่สายเกินไป ครับ
  • มันน่าลองไหมครับอาจารย์ ...
  • อีกประการที่ควรลองคือ ... มหาวิทยาลัยต้องมีระบบกิจกรรมเพื่อชุมชนเยอะ ๆ ครับ .. เช่น ออกค่ายสร้างโรงเรียน ออกค่ายบริจาคสิ่งของให้กับผู้ด้อยโอกาส ให้เขาได้เห็นว่า คนในสังคมเรา ยังมีคนที่ด้อยกว่าเขา แล้วเขายังจะเรียนคนเดียว จบคนเดียวอย่างนั้นหรือ ต้องให้คิด ครับ
  • ยาวไป ๆ ครับ ... ไม่ทราบว่า มีประเด็นโดนหรือไม่ครับเนี่ย

ขอบคุณครับ อาจารย์

บุญรักษา ครับ :) 

สวัสดีค่ะคุณครูเอ

บทความนี้เกิดขึ้นเพราะการสนทนากับอ.ศิริศักดิ์ค่ะ  เหมือนตัวเองก็ถูกสอนมาอีกที แ้ล้วนำมาถ่ายทอดต่อน่ะค่ะ

เป็นกำลังใจให้คุณครูผลิต เด็กเก่ง เป็น เด็กดี ที่น่ารักสำหรับเราทุกคนต่อไปนะคะ ^ ^ ต้องมีคุณครูที่ช่วยกันคิดช่วยกันทำเยอะๆ ความหวังที่จะสร้างเด็กๆ ที่น่ารักจึงจะเป็นผลได้ค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาให้ข้อคิดเห็นนะคะ

 

สวัสดีค่ะป้าแดง 

เห็นด้วยเลยค่ะ ว่าพ่ิอแม่สามารถทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัวได้.. เพราะพ่อแม่บางคนเองก็เคยเป็นเด็กที่โตมาในสังคมที่สอนกันมาผิดๆ มาก่อน..  บางคนก็เคยอยู่ในสภาวะขาดแคลนและถูกเอารัดเอาเปรียบมาบ้าง ทำให้เมื่อมีโอกาสก็จะตักตวง กอบโกยให้มากที่สุด และยึดเอาวัตถุเป็นหลัก (เพราะเขามีแต่ประสบการณ์แบบนี้)  ทั้งน่าเห็นใจและน่าเป็นห่วงสังคมไทยมากๆ เลยค่ะ  ก็เลยเอาขึ้นมาเขียนให้เห็นชัดๆ ว่า ถ้ามีแต่ความต้องการ แต่ไม่เคยมีน้ำใจให้ใคร...   พอของ(วัตถุ)น้อย.. แต่ความต้องการมาก ก็ยิ่งแก่งแย่งกันไปใหญ่...   น่าสงสารกันไปหมดค่ะ

ต้องช่วยกันให้ (ในบทบาทหน้าที่และบริบทของเราเอง)..เป็นตัวอย่างให้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในสังคมค่ะ...  ^ ^ 

สวัสดีค่ะ อ.วสวัตดีมาร

น๊านๆ แล้วที่จะมีคนเขียนชื่อดิฉันต่อท้ายด้วย "ที่เคารพ" แหะๆ ไม่คุ้นค่ะ เดี๋ยวคนอื่นๆจะเข้าใจว่าดิฉันนามสกุล "ที่เคารพ" นะคะ... (เอ..ไม่เลวนะ ความคิดนี้ ^ ^)

  • ไปอ่านเรื่อง ชัตดาวน์คอมพ์ ... ชัตดาวน์ชีวิต (ความเป็นจริงในโลกเสมือน) มาแล้วค่ะ  น่ากลัวจริงๆ และก็คิดว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วย คือเด็กแยกความจริง กับความจริงเสมือน ในทีวี หรือในคอมพ์ไม่ออกค่ะ
  • เรื่องสื่อต่างๆ ที่จะมาใช้สอนนักศึกษานั้น  ยังไม่เคยใช้เต็มที่ในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมค่ะ แต่มักใช้การพูดสอดแทรกเล่าให้ฟังเสียมากกว่าค่ะ  สงสัยต้องหัดเก็บสื่อดีๆ มาใช้กับเด็กๆ บ้างแล้วค่ะ 
  • กิจกรรมชุมชน เป็นกิจกรรมที่น่ากระทำมากๆ ค่ะ แต่เห็นด้วยค่ะว่ายังมีไม่พอ ต้องมีเพิ่ม
  • สรุปแล้ว ประเด็นของอาจารย์ตรงทุกประเด็นค่ะ ไม่หลุดไปไหนหรอกค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาให้ข้อคิดเห็นอยู่เสมอนะคะ  ^ ^ 

สวัสดีอีกครั้งครับ ... อาจารย์กมลวัลย์ ที่เคารพ (เหมือนเดิม) :)

  • อาจารย์ครับ ... ตอนนี้ผมใช้วีดิทัศน์ของ พอ.น.พ.พงษ์ศักดิ์ ตั้งคณา ครับ ... อาจารย์เคยดูไหมครับ รายการตีสิบเอามาออกครับ ... ถ้าผมเอาไปฉายที่ไหน ... น้ำตาไหลทุกห้องครับ
  • อีกรายการที่ผมใช้ครับ คือ "สานรัก คนเก่ง หัวใจแกร่ง" ของ AIS ฉาย TITV เดิม ตอนนี้ต้องติดตามว่า จะย้ายไปอยู่ช่องใดครับ เป็นเรื่องราวของเด็กด้อยโอกาสที่สู้ชีวิต คือ อยากเรียนหนังสือ ถึงแม้ว่า ยากจนมากมายแค่ไหน ครับ :)
บุญรักษา อาจารย์กมลวัลย์ นามสกุลไม่ใช่ "ที่เคารพ" แน่นอนครับ อิ อิ

 

 

น่าจะเคยเห็นแว๊บๆ แบบดูไม่จบมาก่อนค่ะ เพราะไม่ได้ดูทีวีไทย (ยกเว้นข่าว) มานานมาก

ส่วนรายการสานรักนั้นเคยดูค่ะ  ดีมากทีเดียว..  ดีจังค่ะ ขอบคุณที่แนะนำนะคะ ^ ^

เป็นบันทึกที่โดนใจผมมากจริงๆ ครับ ประเทศไทยเรามีคนอยาก "เก่ง ฉลาด รวย" มาก แต่คนอยาก "ขยัน อดทน เอื้อเฟื้อ" น้อยลงทุกวัน ทั้งๆ ที่ คนเก่งและฉลาดคือคนขยันและอดทน ส่วนคนรวยนั้นเกิดจากการเอื้อเฟื้อครับ

ผมคิดว่าสังคมสอนเด็กยุคใหม่ให้เข้าใจผิดว่าความ "เก่ง ฉลาด รวย" เกิดขึ้นอย่างไม่มีที่มาที่ไป (เหมือนในละคร) เขาก็เลยค้นหาความ "เก่ง ฉลาด รวย" ไม่เจอเสียทีครับ

สวัสดีครับพี่

           บันทึกนี้โดนยอด อก เลยครับ แบบว่าถูกใจโดน ยอด อก ครับ

เก่ง ฉลาด รวย  สวย เท่ห์ เก๋ ทันสมัย ....

ทำให้ผมนึกถึงบทความที่ฟาดไปเมื่อคืนครับ เมื่อผลผลิตแบบนี้ เราจะต้องปรับที่ผู้ผลิตกันอย่างไรดีครับ

ผมมีบทความมาฝากครับ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยที่ประชาชนต้องการ

ขอให้พี่เจริญในการสนทนาธรรมและเกิดประโยชน์กับสังคมแบบนี้ต่อไปนะครับ 

สวัสดีค่ะอาจารย์

  พรุ่งนี้ ที่สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ จ.ชลบุรี ก็กำลังชักชวน ให้คนเป็นผู้ให้ค่ะ บริจาคเลือดกัน เมื่อมีจุดเริ่มต้น ก็จะมีต่อๆไปได้ง่ายขึ้นค่ะ ของเป็นกำลังใจ ให้คุณครูทุกคน ท่านเก่ง และสำคัญมาก ในการสร้างคนค่ะ

สวัสดีค่ะ อ.ธวัชชัย

เห็นด้วยค่ะว่าเด็กๆ มีแนวโน้มคิดสั้นๆ ไม่ต้องการรู้ที่มาที่ไปของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเก่ง ความดี หรืออะไร.. เช่น เขาจะต้องการรู้สูตร เพื่อไปแทนค่า แต่ไม่ค่อยรู้ที่มาของทฤษฎีพื้นฐานของสูตรนั้นๆ  แล้วก็ไม่ค่อยสงสัยใคร่รู้... ต้องบอกว่าวัฒนธรรมฟาสท์ฟูตเข้าครอบงำเด็กๆ ไปเยอะทีเดียวค่ะ 

โลกนี้คือละครโรงใหญ่ ที่คนเล่นก็ไม่ค่อยรู้ตัว ก็เลยมีละครซ้อนโรงกันมากมายจริงๆ ค่ะ  ยิ่งคนเล่นมัวแต่ดูคนอื่นเพลิน ไม่หันมาดูตัวเองบ้าง ก็เลยไม่ค่อยรู้ที่มาที่ไปของอะไรสักอย่างค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ที่แวะมา ลปรร นะคะ ^ ^ 

 

สวัสดีค่ะน้องเม้ง

โดนยอดอกเลยหรือคะ ^ ^ 

พี่ไปอ่าน  สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยที่ประชาชนต้องการ แล้ว..โดนเหมือนกันค่ะ ปลายคางเลย โอย...  ตรงที่บอกว่า"เจ๊งแล้ว ฟันธง"  พี่ก็เห็นด้วยเป็นอย่างมากเลยค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาให้ข้อคิดเห็นนะคะ ต้องช่วยกันต่อไปค่ะ 

  • พี่ตุ๋ยขา...
  • นานๆจะเข้ามา g2k พอเห็นบันทึกพี่ก็รีบเข้ามาทันที
  • การที่เด็กจะรู้สึกเป็นผู้ให้ได้นั้น   ต้องอยู่ที่ต้นแบบของผู้ใหญ่
  • หนึ่งในจำนวนนั้นนอกจากพ่อแม่ก็คือ  ครูอาจารย์ค่ะ
  • แต่ครูก็ต้องรู้จักการเป็น "ผู้ให้" ซะก่อนที่จะมาสอนและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก
  • ยังไม่สายนะคะ  สำหรับการเริ่มต้น
  • คิดถึงพี่ตุ๋ยค่ะ  วันอาทิตย์หว้าจะลงไปประชุมที่กรุงเทพฯจ้า  งานยุ่งตลอดเลยค่ะพี่
เดี๋ยวนี้สื่อกับสังคมมันสร้างให้เด็กเป็นอย่างนั้นจริงๆ ค่ะ ส่วนใหญ่นำเสนอเรื่องเด็กเก่ง คนรวยทำยังไงถึงรวย ชื่นชมเด็กฉลาด แต่นำเสนอเรื่องความเอื้อเฟื้อน้อยกว่ามาก หรือถ้านำเสนอเรื่องความขยันก็จะโยงว่าจะนำมาซึ่งความร่ำรวย นำเสนอเรื่องความอดทนก็เพื่อสร้างความร่ำรวยอีกเช่นกัน ส่วนใหญ่ที่นำเสนอแบบนี้เพราะมันจับต้องได้ง่ายนำเสนอก็ง่ายเห็นชัดเจนกว่านามธรรม

อยากให้พี่ได้ดูรายการปราชญ์เดินดินที่ออกอากาศเมื่อวานจัง ที่เขาไปสัมภาษณ์ท่านผู้เฒ่าแห่งเมืองยูฟูอิน ที่พัฒนาเมืองที่ไม่มีใครรู้จักให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นพวกสำนึกรักบ้านเกิด เดิมเริ่มมาจากที่เขาไม่สามารถบอกใครได้ว่ามาจากเมืองนี้เพราะบอกไปก็ไม่มีใครรู้จัก ต่อมาก็พยายามพัฒนาอย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ใช้เวลาถึง 30 ปี ทุกวันนี้คนมาเที่ยวในเมืองนี้มากมาย แต่ชาวบ้านก็ยังคงวิถีชีวิตประจำวันของเขาได้ คือมีแนวคิดแห่งการพัฒนาแต่ไม่เกินพอดีจนนำมาซึ่งความทุกข์ ควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวด้วยจำนวนโรงแรมที่ไม่เพิ่มขึ้น ใครจะมาพักที่เมืองนี้ต้องจองกันเป็นปี ชาวบ้านสามัคคีไม่แย่งลูกค้ากัน ต่างคนต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง เงินเป็นสิ่งจำเป็นแต่มันไม่มีความหมายสำหรับเขาหากชีวิตของเขาต้องถูกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เป็นแนวคิดที่ดี น่านับถือมาก
โดนใจมากเลยค่ะ กับ  เงินเป็นสิ่งจำเป็นแต่มันไม่มีความหมายสำหรับเขาหากชีวิตของเขาต้องถูกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง นั้นคือ มิตรภาพ
  • ไม่รู้นะ...สำหรับผม...ถ้าได้เพื่อนที่มีลักษณะ..แบบ..รศ.ดร.กมลวัลย์ ผมว่าผมได้เพื่อนดีที่สุดแล้ว
อาจารย์คะ
เรื่องนี้ นึกถึงเรื่อง......
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2550 ดิฉันได้ไปร่วมงาน เทวาลัยรำฦก : รวมพลคนอักษร ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดขึ้น ณ ศาลาดุสิดาลัย
ที่เขียนไว้ค่ะ.....
สมเด็จพระเทพฯ ท่านเล่าว่า มีคนต่อว่าท่าน ว่า ท่านอวยพร แต่ให้...ตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน จะได้ มีความสุขความเจริญ ไม่เห็นอวยพรให้รวยมั่ง
ท่าน บอกว่า คนเรา มีค่านิยม ของการอยากร่ำรวย จริงๆ มากๆด้วย ท่านเลยตรัส วันนั้น ว่า เรียนดีๆ จบแล้ว มีงานทำ ตั้งใจ ทำงานดีๆ ก็จะร่ำรวยเอง อยู่เฉยๆ จะให้รวยได้อย่างไร
ค่านิยม เป็นอย่างนี้ จริงๆค่ะอาจารย์
แต่จากประสบการณ์ชีวิตตัวเองจริงๆนะคะ  พี่เองคิดว่า ทุกอย่างเริ่มมาจากครอบครัว ผู้ใหญ่ทำตัวเป็นตัวอย่างแก่เด็กๆค่ะ ต่อไป คือโรงเรียน
แต่ครอบครัวมีอิทธิพลกว่ามาก 
 ครอบครัวและญาติๆพี่ เป็นครอบครัวใหญ่หน่อย ไม่มีลุกหลานคนไหน มีปัญหาเลย ทุกคนเป็นเด็กดี มีความกตัญญู จะมากน้อย ต่างกันอยู่บ้าง เราจะโทษแต่เด็ก และสังคมไม่ได้ทั้งหมด คงต้องเริ่มที่ตัวเราก่อนค่ะ
แต่ อยู่ที่การอบรมเลี้ยงดู ทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียนค่ะ  แน่นอนค่ะ
P
ลืมใส่รูป พี่เองค่ะ ขี้เกียจ log in

สวัสดีค่ะคุณหมอรุ่ง ตันติราพันธ์

ดีจังเลยค่ะคุณหมอ กิจกรรมการให้เลือดก็เป็นกิจกรรมที่ดีมาก (โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ นักศึกษา) ที่สถาบันก็มี blood drive อยู่บ้าง เวลาเห็นก็ชื่นใจทุกทีค่ะ

ขอบคุณที่แวะมา ลปรร นะคะ

 

สวัสดีค่ะน้องลูกหว้า

เห็นด้วยทุกประการกับที่น้องลูกหว้าบอกไว้ค่ะ  พี่เองก็พยายามเป็นต้นแบบที่ดี แต่บางทีเราก็ไม่ใช่ต้นแบบที่เขาเห็นแล้วอยากเป็นตาม.. เพราะเราไม่ค่อยตามสังคมหรือกระแสนิยม..  บางทีเด็กๆ เขาเห็นเราอนุรักษ์นิยมหรือเตือนบ่อยๆ ก็จะเบื่อ.. แต่ก็มีเด็กบางคนที่ดีและพร้อมที่จะรับจากเราค่ะ

ทำงานเยอะต้องพักผ่อนด้วยนะคะ ช่วงนี้พี่ก็งานเยอะ และมีวิบากพอสมควร (ตามสภาพ) น่ะค่ะ ^ ^  คิดถึงนะจ๊ะ 

 

สวัสดีจ้าน้องซูซาน

เห็นด้วยเลยว่าการนำเสนออะไรที่เป็นรูปธรรมนั้นชัดเจนและทำง่ายกว่า เพราะความสุขทางใจ หรือความพอใจในสิ่งที่มีอยู่นั้นทำได้ยากกว่าการนำเสนอรถคันหรู บ้านหลังโตๆ กับแก้วแหวนเงินทองจริงๆ  เข้าใจดีเลย.. เพราะพยายามจะสื่อให้เด็กๆ เห็นก็ยากมากๆ เลยเหมือนกัน

พี่เคยดูรายการนี้เหมือนกันนะ แต่ไม่ได้ดูตอนเมื่อคืนนี้  พี่คิดว่าสังคมอย่างเมืองที่ยูฟูอินนั้นเป็นสังคมที่เจริญ(ทางใจ)แล้ว   เพราะเมื่อขาดแคลน ก็รู้จักแสวงหา  เมื่อได้มาแล้ว ก็รู้จักพอ และรักษาสิ่งที่มีอยู่ไว้...  สมควรนำมาเป็นตัวอย่างให้เมืองท่องเที่ยวในเมืองไทยจริงๆ...  แต่พอเจอคน(ไทย)ที่คิดแบบง่ายเข้าว่า แสวงหาผลประโยชน์ไว้ก่อน โมเดลของยูฟูอินก็คงไม่เป็นผลที่บ้านเราแน่...  เสียดายประเทศไทยจังเลยเนาะ T_T

 

สวัสดีค่ะคุณครูเอ

น้องซูซานมีความคิดดีๆ กับคำคมมาฝากพวกเราเสมอค่ะ ใน gotoknow เป็นสังคมที่ดีจริงๆ ค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมอีกครั้งนะคะ

 

สวัสดีค่ะอ.พิสูจน์

อาจารย์ชมเกินไปแล้วค่ะ ^ ^ เขินค่ะเขิน ดิฉันก็เป็นคนธรรมดา..  ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งรู้ตัวว่าตัวเองธรรมดาๆ และไม่มีอะไร มากขึ้นทุกทีๆ เหมือนกับเวลาที่ท่องใน gotoknow นี่แหละค่ะ ยิ่งได้พบคนเก่งคนดีมากมาย ก็ยิ่งรู้ว่าเรามีความรู้น้อย เมื่อเทียบกับความรู้ที่มีอยู่

ดีใจที่ได้อาจารย์เป็นเพื่อนและครูมากๆ เลยค่ะ ^ ^

 

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์

เห็นด้วยค่ะว่าครอบครัวคงต้องเป็นหลักให้กับเด็กๆ ก่อน.. แต่ในสังคมปัจจุบันที่ครอบครัวเองก็ฝากความหวังไว้มากกับทางโรงเรียน เนื่องจากไม่มีเวลาอยู่กับลูก ก็ทำให้โรงเรียนต้องมาคิดว่าทำอย่างไรถึงจะอบรมให้เด็กๆ เป็นคนดี มากกว่าเป็นคนเก่งได้  เป็นโจทย์ที่ยากจริงๆ

คนสำคัญของเรื่องนี้ก็คือตัวเด็กเองด้วยค่ะ... เมื่อใดก็ตามที่เขาคิดได้..ไม่ว่าจะคิดได้จากการดูแล อบรมสั่งสอนของครอบครัว หรือจากโรงเรียน..เมื่อนั้นเราจะได้คนดีเพิ่มอีกคนในสังคมค่ะ

ตอนนี้ที่เห็นในระดับอุดมศึกษา..ยังพบว่าเด็กยังไม่คลิก  ยังไม่เข้าใจกับเรื่อง"การให้" และยังไม่เห็นว่าผลจากการกระทำของเขาไปส่งผลต่อสังคมได้อย่างไรน่ะค่ะ.. เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้เกิด realization หรือมี awareness ได้ยากจริงๆ เพราะต้องใช้เวลากับความทุ่มเทมากๆ และเด็กๆ ก็เขวจากสื่อหรือตัวอย่างไม่ดีที่เขาได้พบเห็นได้ตลอดเวลา..

ยอมรับเลยค่ะว่าเป็นโจทย์ที่หนัก  แต่ก็ต้องลองดูและสู้ต่อค่ะ

ขอบคุณคุณพี่ที่แวะมาให้ข้อคิดเห็นนะคะ 

สวัสดีครับ อาจารย์

โจทย์หนักจริงๆครับ หลายคนต้องยอมแพ้ และอีกหลายคนก็ล้มหายตายจากไปแล้ว ผมและเพื่อนๆก็เคยคิดทบทวนบทบาทของตัวเองกันว่า จะช่วยเหลือสภาพที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นอย่างไรได้อย่างไร บทสรุปของพวกผมออกมาว่า ให้แก้ไขที่ตนเองให้ดีก่อน และให้เต็มกำลังความสามารถ เพราะการจะไปแก้ไขที่คนอื่นมันมีผลกระทบมากมาย และดีไม่ดีมันก็ย้อนกลับมาเล่นงานเราอีก " บางครั้งการเงียบ และการไม่เคลื่อนไหว ก็นับเป็นการช่วยเหลือที่ดีที่สุด "

ส่วนจะช่วยได้แค่ไหนคงต้องแล้วแต่เหตุปัจจัยแวดล้อมอื่นๆแล้วละครับ

เห็นด้วยค่ะคุณปู่หลง ว่าคงต้องแก้ที่ตัวเองก่อนเป็นแน่แท้ เพราะถ้าเราเองไม่เคยให้ ไม่รู้จักให้ เราจะไปเรียกร้องหรือสอนคนอื่นให้รู้จักให้ได้อย่างไรใช่ไหมคะ ^ ^

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ใหญ่มากปัญหาหนึ่ง แก้ยาก เพราะสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมไม่ค่อยอำนวย แต่ก็ยังต้องแก้ ต้องช่วยกันต่อไปค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาให้ข้อคิดเห็นดีๆ นะคะ ^ ^ 

สวัสดีค่ะ อาจารย์กมลวัลย์

  • เห็นหัวข้อแล้ว อดไม่ไ่ด้ที่ต้องเข้ามาอ่าน อ่านไปแล้ว ยิ่งคันไม้คันมือ ขอร่วมแสดงความคิดเห็น
  •  แม้ว่าตนเองจะอยู่ในแวดวงการศึกษามาเพียงไม่นาน แต่สิ่งหนึ่งที่มองเห้นได้คือความแตกต่างทางด้านทัศนคติ และคงวามคิดของเด็กในปัจจุบัน ว่า มันเปลี่ยนไปเยอะมาก เน้นวัตถุนิยม มากกว่า ความถูกต้อง และขาดศีลธรรม อันดีงาม
  • การศึกษาไทย มุ่งแต่ให้เด็กเก่ง แต่ไม่สอนให้เด็กมีคุณธรรม อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิต เมื่อ หลายวันที่ผ่านมา มีข่าวเด็กม.6 ยิงตัวตาย เพราะ ไม่มีรายชื่อเข้าสอบสัมภาษณ์ ทั้งๆที่ความจริงแล้วตัวเองติดในคณะนั้น อ่านแล้วหดหู่มากค่ะ อนาคตของชาติคิดได้เพียงเท่านี้หรือ แล้วชาติจะฝากอนาคตไว้กับพวกเขาได้อย่างไร
  • ข่างนี้สะท้อนไปถึงระบบการศึกษาของเราเลยนะคะ ว่า ทุกวันนี้เราผลิตบุคคลากรของชาติกันอย่างไร มันเหมือนตบหน้า(ขอโทษนะคะ ถ้าใช้คำที่ไม่สุภาพ หรือรุนแรงเกินไป แต่มันรู้สึกอย่างนั้นจริงๆค่ะ) คนเป็นครูเลยนะคะ เศร้าใจค่ะ แต่มันก็ทำให้เรา คนเป็นครูได้สติกันขึ้นมาบ้าง ว่า เราควรเดินไปในทิศทางได้ต่อไป

สวัสดีค่ะน้องอ.หัวใจติดปีก

ตอนเขียนเรื่องนี้ก็คันหัว(ใจ)เหมือนกันค่ะ

การศึกษาบ้านเรามีปัญหาเยอะมาก จะว่าไปต่างประเทศเขาก็มีปัญหาเหมือนกัน แต่ว่าค่าเล่าเรียนของเขาในระดับป.ตรีแพงมาก (อเมริกา) คนที่เข้ามาเรียนจะต้องทำมาหากิน อยู่อย่างประหยัด และเรียนให้จบเพื่อหางานทำ (คราวนี้เงินเดือน+สวัสดิการเพียบ) เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาเรียนจะตั้งใจมากๆ เพราะถ้าเรียนแล้วล้มเหลวอาจมีหนี้มีสิน แล้วไปทำงานเป็นแคชเชียร์เงินเดือนน้อย กว่าจะเงยหน้าอ้าปากได้จะลำบากมาก

มันไม่เหมือนบ้านเราเท่าไหร่นัก..ค่าเล่าเรียนถูก(กว่ามากๆ) และไม่ได้เอาเงินมาทำสถานศึกษาให้มีความพร้อมสำหรับเป็นมหาวิทยาลัย บางครั้งเิงินถูกนำไปลงกับการให้ทุนคนมาเป็นอาจารย์ (อย่างตัวพี่เอง) แต่พอคนเหล่านี้จบกลับมา เจอเิงินเดือนราชการ และมีงานข้างนอกมายั่ว .. งานสอนและวิจัยเลยกลายเป็นงานรอง..

บ้านเรายังขาดการลงทุน infrastructure เพื่อการศึกษามากๆ และขาดการลงทุนคนที่จะมาเป็นอาจารย์ที่มีคุณธรรม จริยธรรม (ไม่ได้มีแต่ความรู้และความเก่ง และอัตตาสูง) บางครั้งคนที่มาตั้งใจสอน เจอระบบการทำงานในมหาวิทยาลัยแบบบริหารเพื่อผู้บริหารอยู่สุขสบาย บวกกับเด็กที่มีทัศนคติเกี่ยวกับการเรียนมหาวิทยาลัยที่ได้เรียนเพื่อรู้ แต่เรียนเพื่อใบปริญญา(เรียนเพื่อหน้าตา) ก็เลยเป็นแบบนี้

พี่เองก็อาจจะเขียนแรงเหมือนกัน อิอิ แต่ก็พูดกันตามที่รู้สึกค่ะ อาจจะไม่เป็นอย่างนี้ทั้งหมด อาจารย์ดีๆ เด็กดีๆ ก็มีเยอะค่ะ.. คนที่ไม่ดี..ทำตัวไม่ถูก กลับตัวบ้างก็มี หรือเลวกว่าเดิมก็มีค่ะ ...

ทำใจ..แล้วทำเท่าที่เราทำได้ค่ะ ^ ^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท