(2549-3-26) : เส้นทางการเป็นคนไทยที่วกวน .."จอบิ"


เส้นทางการเป็นคนไทยที่วกวน.."จอบิ" โดย ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล โครงการเด็กไร้รัฐ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชน  วันที่ 26  มีนาคม 2549 หน้า 8
แม้อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จะสรุปตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2547 ว่านายจอบิเกิดที่บ้านใจแผ่นดิน อำเภอแก่งกระจานจริง แต่จนถึงวันนี้ล่วงเข้า 39 ปีของชีวิตนายจอบิก็ยังคงไม่ได้รับเอกสารใดๆ จากรัฐไทยที่รับรองว่าเขาเป็นผู้มีสัญชาติไทย
กล่าวได้ว่าปัญหาของนายจอบิ (ไม่มีนามสกุล) ก็คือปัญหาร่วมของ "คนไทยตกหล่นทางทะเบียนราษฎร" หลายสิบหมื่นในรัฐไทยนั่นเอง..
ปู่ของจอบินั้นเป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงสกอว์ เดิมเป็นคนต้นน้ำภาชี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ทำหน้าที่เป็นผู้นำศาสนาของชุมชน หรือที่เรียกกันว่า "บูคู้" มาได้เมียเป็นคนกะเหรี่ยงสกอว์ที่ต้นน้ำปราณ บ้านห้วยสัตว์ใหญ่หรือบ้านป่าเด็ง ตำบลสองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
นายพะวอ พ่อของจอบิ ก็เกิดที่บ้านป่าเด็งนี้ เมื่อประมาณปี 2459 ส่วนแม่ของจอบิ หรือนางกิคุ นั้นเป็นคนบ้านบางกลอยบนหรือบ้านใจแผ่นดิน อำเภอแก่งกระจาน จอบิและพี่น้องรวม 4 คนเกิดและเติบโตที่บ้านใจแผ่นดิน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
คนกะเหรี่ยงสกอว์ก็เฉกเช่นเดียวกับคนพื้นเมืองหรือกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในดินแดนรัฐไทยกลุ่มอื่นๆ อาทิ ม้ง อาข่า ลาหู่ ลีซู ฯลฯ ที่หากพิจารณาภายใต้หลักกฎหมายแล้ว คนกลุ่มนี้ย่อมเป็น "ผู้มีสัญชาติไทย" มาตั้งแต่ปี 2456 (ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2456)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีจอบิ เขาเป็นไทยทั้งตามหลักสืบสายโลหิตและหลักดินแดน อย่างไรก็ดี หากเพราะ "บ้าน" ของพวกเขาอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และภูมิประเทศนั้นยากต่อการเดินเท้าเข้าถึงและถูกบันทึกโดยงานทะเบียนราษฎร ซึ่งเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2499
คนกลุ่มนี้จึงกลายเป็น "คนไทยตกหล่น" หรือเป็นคนไทยโดยข้อกฎหมาย แต่ขาดเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล (Identification Paper) ประเภทต่างๆ มารับรอง อาทิ ใบเกิด ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ฯลฯ จากรัฐไทย  ซึ่งผลตามมาก็คือ ต้องกลายเป็น "คนไร้สัญชาติในทางข้อเท็จจริง" (De Facto Nationalityless Person) ไป
แน่นอนว่า ด้วยความไม่รู้ข้อกฎหมายและความห่างไกลจากตัวอำเภอ ลูก-หลานของคนกลุ่มนี้อีกจำนวนไม่น้อย ไม่มีใบเกิด ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน และไม่สามารถทำบัตรประชาชนได้ เพื่อเป็นการเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดแนวทางให้อำเภอทั่วประเทศดำเนินการออกเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่รับรอง หรือแสดงถึงการมีสัญชาติไทยของคนไทยตกหล่นไว้ 2 แนวทาง คือ
1.รับและพิจารณาคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพิจารณาลงสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านให้แก่ชาวเขา พ.ศ.2517 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2539 และระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543 และ
2.รับและพิจารณาคำร้องเพื่อขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535
จอบิ ใช้แนวทางที่ 2 เขาได้ยื่นคำร้องต่อ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2547 ในเดือนต่อมา อ.แก่งกระจานได้ข้อสรุปว่า จอบิเกิดที่บ้านใจแผ่นดินจริง แต่ อ.แก่งกระจานไม่สามารถเพิ่มชื่อจอบิได้ โดยอ้างว่า "ภูมิลำเนาปัจจุบัน" ของจอบินั้นไม่ได้อยู่ที่ อ.แก่งกระจาน หากแต่อยู่ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ที่จอบิไปทำงานรับจ้าง (และนำไปสู่สถานการณ์ตกเป็น "แพะ" ในคดียิงรถเด็กนักเรียน)
อาจกล่าวได้ว่า เหตุผลของ อ.แก่งกระจานนั้น ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่า อ.แก่งกระจานเป็นภูมิลำเนาที่จอบิเกิด เติบโต และอาศัยอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นมันบ้านของครอบครัวเขามาโดยตลอด
หากแต่อาชีพของจอบิคือ รับจ้าง และการไปมี "ที่อยู่" ที่ อ.สวนผึ้งนั้นก็เพื่อเป็นบ้านพักระหว่างการรับจ้างทำงาน และก็เป็นช่วงเวลาเพียง 2 ปี
หลังจากปี 2545 จนถึงประมาณเดือนสิงหาคม 2547 ก็เป็นช่วงเวลาที่จอบิถูกควบคุมในเรือนจำ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่านายจอบิบริสุทธิ์ในคดียิงรถนักเรียน นายจอบิล้มเจ็บเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี และโรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานครตามลำดับ โดยเป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ระหว่างที่นายจอบิรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ภรรยาของจอบิ คือพอวาและลูกทั้ง 4 คนก็พำนักอยู่ที่เรือนพักผู้ป่วย สวนจิตรลดารโหฐาน
หลังจากนั้นก็ย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านใจแผ่นดินหรือบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมและปลูกบ้านหลังใหม่ด้วยเงินทุนที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินินาถ
ยิ่งไปกว่านั้น เหตุผลของ อ.แก่งกระจานดูไร้น้ำหนักอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากหลักภูมิลำเนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่แปลความได้ว่า "บ้าน" ที่ อ.สวนผึ้งนั้นเป็นเพียง "ภูมิลำเนาเฉพาะการ" คือ เป็น "ที่อยู่ชั่วคราว" ในระหว่างทำงานรับจ้าง หากแต่ "ถิ่นที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญ" หรือ "ภูมิลำเนา" นั้นย่อมต้องเป็น "บ้าน" ที่ อ.แก่งกระจาน เพราะจอบิไม่เคยมีความคิดที่จะย้ายบ้าน
ไม่น่าเชื่อ-ก็ต้องเชื่อ ไม่น่าเป็นไปได้-ก็เป็นไปแล้ว นายจอบิ (ไม่มีนามสกุล) ไม่ได้รับการรับรองว่าตัวเองมีสัญชาติไทยเสียทีนั้น ก็ด้วยเหตุเพียงแค่นี้!
ตัวแทนของจอบิจึงได้ยื่นหนังสือคัดค้านคำสั่งของ อ.แก่งกระจาน ไปเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 พร้อมคัดค้านการดำเนินการสอบปากคำของ อ.แก่งกระจานที่ไม่มีการจัดหาล่ามให้จอบิ และพยานบุคคลของจอบิ โดยนายวุฒิ บุญเลิศ ประธานประชาคมสวนผึ้ง และผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่านายจอบิเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
และมีหนังสือจากนายจิ๊บ จะนุ กำนัน ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.เพชรบุรี ระบุว่านายจอบิไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่ดูแลของตน เพียงมาทำงานชั่วคราว และออกนอกพื้นที่ไปนานแล้ว
แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบ คำชี้แจงใดๆ จาก อ.แก่งกระจาน
ด้วยเงื่อนเวลาภายใต้หลักกฎหมายปกครอง จอบิจึงไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากการยื่นฟ้อง อ.แก่งกระจานต่อศาลปกครองภายใน 180 วัน โดยเจตนาแล้ว จอบิย่อมมิได้ต้องการกล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐคนใดคนหนึ่ง เขาเพียงแต่ต้องการให้หน่วยงานรัฐทำตามอำนาจหน้าที่ในการรับรองว่าเขาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นสิทธิของเขาโดยชอบธรรมตามกฎหมาย
คำฟ้องถูกยื่นต่อศาลปกครองกลางเมื่อเดือนมีนาคม 2548 แต่ อ.แก่งกระจานนั้นใช้เวลาร่วม 1 ปี จอบิและตัวแทนของเขาจึงได้รับทราบถึงคำให้การแก้ฟ้อง แต่ระหว่างเวลาร่วมปีที่ผ่านมานั้น ทาง อ.แก่งกระจานได้แนะนำว่าจอบิควรจะเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนราษฎรคนต่างด้าว (ท.ร.13) เพื่อจะได้ใช้เป็นเอกสารเบื้องต้นประกอบการยื่นคำร้องเพื่อลงรายการสัญชาติไทยตามแนวทางที่หนึ่ง
ใครที่ไม่เคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นคนไทยแบบตกๆ หล่นๆ แบบจอบิ อาจสงสัยว่า คนไทยโดยข้อกฎหมายอย่างจอบินั้นจะยื่นคำร้องเพื่อขอให้ตัวเองมีชื่อในทะเบียนคนต่างด้าวหรือไม่
สำหรับกรณีของจอบิ ย่อมมีประเด็นให้เกิดความลังเล เพราะ
ประการแรก-การเพิ่มชื่อตัวเองในทะเบียนบ้านคนต่างด้าว ย่อมอาจถูกใช้ตีความในภายหลังว่า จอบิปฏิเสธการมีสัญชาติไทยตัวเอง โดยยอมรับว่าตัวเองเป็นคนต่างด้าว
ประการที่สอง-การยื่นคำร้องตามระเบียบฯปี 2543 อีก มันย่อมหมายถึงการกลับไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้งในกระบวนการยื่นคำร้อง
ผลก็คือ...วันที่ 31 มีนาคม 2548 จอบิยื่นคำร้องเพื่อเพิ่มชื่อตนเองในทะเบียนบ้านคนต่างด้าว เดือนเมษายน ปีเดียวกัน อ.แก่งกระจานได้อนุมัติคำร้องของจอบิ และเพื่อให้จบกระบวนการที่ อ.แก่งกระจานแนะนำ
จอบิได้ยื่นคำร้องขอให้มีการลงรายการสัญชาติไทยของเขา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2548
และการดำเนินการล่าสุดนี้เอง ได้ถูก อ.แก่งกระจานใช้เป็นข้ออ้างชี้แจงต่อศาลปกครอง ว่าอำเภอมิได้ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าในการพิจารณาคำร้องตามระเบียบฯ 2535 หรือตามฟ้องของจอบิ หากแต่อำเภอกำลังพิจารณาคำร้องฉบับใหม่ของจอบิอยู่
แต่ผ่านไปกว่า 7 เดือนก็ไม่มีความคืบหน้าของคำร้องฉบับใหม่...จอบิจึงหาทางออกเพื่อให้ตัวเองได้รับการรับรองว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยอีกครั้งด้วยการถวายฎีกาต่อองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
แม้รัฐไทยจะมีหลักกฎหมายปกครองที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องปฏิบัติอำนาจหน้าที่โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลภายในรัฐเป็นพื้นฐาน แต่สำหรับบุคคลที่อยู่ระหว่างการเยียวยาปัญหาสถานะบุคคลของตนนั้น ล้วนตระหนักและเข้าใจดีถึง "ขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา" ซึ่งต้องทำความเข้าใจและทำใจ ส่วนกรณีนายจอบิ (ไม่มีนามสกุล)
จนถึงวันนี้ คงไม่มีใครกล้าประเมินได้ว่าจะต้องใช้เวลาและต้องทำใจไปอีกกี่เดือน กี่ปี เพราะเส้นทางไปสู่ความเป็นคนไทยที่ผ่าน อ.แก่งกระจานนั้น ดูวกวน ยืดเยื้อ เหลือเกิน
หมายเลขบันทึก: 160554เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2008 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท