ปริญญา กับใบปริญญา


ผมเคยคิดเรื่องนี้เมื่อปี ๒๕๑๖ และ ๒๕๑๙ แล้วอายตัวเอง และ”ละอาย” เลยตัดสินใจไม่เข้าร่วมพิธี “พระราชทานปริญญา” ทั้งสองครั้ง แม้หลังจากจบปริญญาเอกก็ไม่ได้รับเช่นกัน
 

ตอนนี้เป็นฤดูกาลรับใบปริญญา ผมจึงขอถือโอกาสนำเรื่องใบปริญญามาพูดคุย ในรูปแบบติเพื่อก่อนะครับ ไม่มีเจตนาอื่น

  

ผมเคยเขียนไว้แล้วว่า ระบบการศึกษาไทยปัจจุบันได้ถดถอยจาก การศึกษา มาเป็น การเลียนแบบ มี การสอนและบอกหนังสือ ให้ ท่อง ไปสอบกันเป็นจำนวนมาก

  

โดยทั่วไป และ ผู้สอน ยังอ้างว่านั่นคือ การสอน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้

  

และทั้งอาจารย์และนักศึกษาก็ยังไม่ได้คิดปรับตัวเพื่อพัฒนาการศึกษาให้เป็นการเรียนรู้ทั้งในปัจจุบันและตลอดชีวิต ทำให้ระบบการสอนยังเป็นการ แจกเอกสาร ที่ใช้ประโยชน์ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง และ/หรือ บอกจด ในนามของ บรรยาย ในห้องสี่เหลี่ยม ที่จำกัดการจินตนการและการเรียนรู้ของผู้เรียนและนักศึกษา จนในที่สุดบุคคลที่ถูกขนานนามว่า นักศึกษา ก็ถูกลดระดับลงมาเป็น นักเลียน นักท่อง หนังสือตำราและถ่ายเอกสารต่างๆไปสอบ ใครท่องเก่งเดาเก่งก็ได้เกียรตินิยมกันไป ใครท่องไม่เก่งเดาไม่เก่งก็ลดลงมาตามส่วน โดยแทบไม่เกี่ยวกับระดับความรู้ความสามารถของผู้เรียน

   

มาวันนี้ บุคคลในคราบของ นักศึกษา ก็ได้ สอบ ผ่าน การท่องไปสอบ และสมมติว่าพร้อมที่จะ ออกไปหางานทำ โดยจะได้รับ กระดาษเปื้อนหมึกอาญาสิทธิ์ แล้วท่านลองคิดดูซิว่า คนที่เอาแต่ ท่องตำราไปสอบ นั้น จะทำ งาน อะไรเป็นบ้าง

  

นี่ยังโชคดีนะมีหลายสาขา เช่น แพทย์ พยาบาล ฯลฯ ที่ยังมีการสอบวัดความรู้ ความสามารถ วัดความสามารถในเชิงทักษะก่อนการแจกใบปริญญา ไม่งั้นพวกเราทั้งหลายคงได้เป็น หนูลองยา หรือ หมูลองมีด กันแน่นอน  

  

ใจผมอยากจะขออวยพรให้ท่านผู้ที่จะรับ ใบปริญญา ทุกท่าน เป็นผู้มี ปริญญา อยู่ในใจ ในชีวิต และจิตวิญญาณ แต่กลัวท่านทั้งหลายจะไม่รับ แต่จะขอรับแค่กระดาษเปื้อนหมึกไปติดข้างฝาบ้านเป็นยันต์กันผีกันเท่านั้น

  

แต่ ปริญญา ที่ควรมีนั้น คือ ความอุดมสมบูรณ์ในความสามารถ มีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ มีความรู้ มีทักษะ มีอุดมการณ์ ที่จะทำงาน เสียสละ เพื่อพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติ อย่างทุ่มเท โดยไม่เห็นแก่ตัวเอง

  

วันนี้ มีคนกี่คนที่มี ปริญญา และกี่คนมี ศักดิ์และสิทธิ์ แห่งปริญญา และมีกี่คนที่พร้อมจะรับ ปริญญา

   

และกี่คนที่ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ขอแค่กระดาษเปื้อนหมึกไปอวดพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อจะได้มีข้ออ้างไปรับประทานอาหารด้วยกันอย่างฟุ่มเฟือยเกินตัว

  

หรือเราก็เป็นเพียง ปูเสฉวนในกระดองเต่า อีกตัวหนึ่งเท่านั้น

  

ผมเคยคิดเรื่องนี้เมื่อปี ๒๕๑๖ และ ๒๕๑๙ แล้วอายตัวเอง และละอาย เลยตัดสินใจไม่เข้าร่วมพิธี พระราชทานปริญญา ทั้งสองครั้ง แม้หลังจากจบปริญญาเอกก็ไม่ได้รับเช่นกัน มีแต่เขายัดเยียดส่งมาให้ถึงบ้าน ตอนนี้ ใบปริญญาเอก ก็ยังอยู่ในซองจดหมายในตู้เก็บเอกสารอยู่เลย

  

ผมไม่ทราบว่าจะเอาออกมาให้ใครดูไปทำไม เพราะ ผมไม่แน่ใจว่า ผมมี ศักดิ์  พอที่จะทำให้ ใบปริญญา เป็นการรับรอง ปริญญา ของผมจริงๆ หรือเป็นแค่ กระดาษเปื้อนหมึก รกฝาบ้าน เปล่าๆ

    

ให้คนอื่นตัดสินจากการกระทำและการแสดงออกของผมจะดีกว่า

  

ขนาดสมัยที่ผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่ออสเตรเลีย เมื่อ ๒๕ ปีมาแล้ว ก็มีการคุยในกลุ่มนักเรียนไทยว่า เรามาเรียนปริญญาเอกทำไม หลายคนตอบและเห็นพ้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า กันหมากัด หรือ กันหมาเห่า ผมก็เลยมีจินตนาการว่า คงต้องเอาใบปริญญาไปพันขาไว้มั้ง จึงกันได้

  

แล้วก็มีคนปากคันถามต่อว่า แล้วเมื่อได้ปริญญาเอกแล้ว จะไปทำอะไร  (เพราะหมาคงไม่กล้าเห่า หรือกล้ากัดแล้ว) ก็มีการนั่งคิดหาคำตอบกันใหญ่ แต่คำตอบที่ถูกใจทุกคนมากที่สุดก็คือ จะไปกัดกับหมา ผมเลยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ใครเป็นคน หรือเป็นหมา ใครจะกัดกับใคร เพราะอะไร

  

ยิ่งเรียนยิ่งงงครับ

  

เห็นไหมครับ แค่คำอวยพรง่ายๆ ผมก็ยังพูดไม่ถูกเลย ขอโทษนะครับ บังเอิญผมบังเอิญถือว่าผมไม่มีใบปริญญานะครับ คนมีใบปริญญาติดโชว์ข้างฝาอาจจะพูดได้ครับ

  เชิญอัด เอ้ย........ แสดงความคิดเห็น ได้เต็มที่ครับ
หมายเลขบันทึก: 68298เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2006 08:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (41)
  • ผมไม่ได้ไปรับปริญญาโทครับ ปริญญาตรีก็ไม่อยากไปแต่อยากทำให้แม่สบายใจ ผมมีแม่คนเดียวครับ
  • ระบบการศึกษาเราในหลายอย่างยังเลียนแบบต่างประเทศ คงต้องมีการปรับและบูรณาการให้เข้ากับบริบทของไทย
  • ผมไม่ได้ใส่ใจปริญญามากนัก ความรู้อยู่ในสมอง ไม่ได้อยู่ในปริญญานะครับ
  • ขอบคุณมากครับ

เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งโลกครับอาจารย์

นิตยสาร Time ฉบับอาทิตย์ที่แล้วก็เปิดประเด็นการศึกษาในอเมริกา --How To Build a Student For the 21st Century-- (เขาใช้คำว่า build ครับ แปลกดีไหม?) ผมชอบที่เขาขึ้นต้นบทความโดยการสมมติเหตุการณ์ว่าถ้าคนยุคก่อนเกิดตื่นขึ้นมาในยุคนี้ คงตกใจกับสิ่งที่เขาเห็น ไม่ว่าจะเป็นคนเดินตามถนนพูดกับกล่องเหล็กเล็กๆ ข้างหู ใช้อุปกรณ์เล็กๆ จ่อที่กล่องสี่เหลี่ยมแล้วส่งเสียงเล่นกันสนุกสนาน... เขาคงรู้สึกมึนงง จนกระทั่งเดินเข้าไปในที่แห่งหนึ่ง เห็นเด็กนั่งกันเต็มห้อง มีคนยืนพูดปาวๆ อยู่หน้าห้อง เขารู้ทันที่ว่านั่นคือโรงเรียน

สังคมเปลี่ยนไปเยอะครับ แต่การเรียนการสอนไม่เปลี่ยนแปลง แล้วเราจะเปลี่ยนการเรียนการสอนอย่างไร?

ผมขอเริ่มด้วยการ "เปลี่ยน" ก่อนนะครับ อัตชีวประวัติของบุคคลสำคัญหลายคน ชี้ให้เราเห็นว่าคนเราจะเปลี่ยนได้ ต้องผ่านเหตุการณ์สำคัญ หัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เช่นสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ทำให้รู้ว่าชีวิตไม่ได้ยั่งยืน จึงเริ่มขวนขวาย ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ หรือเริ่มค้นหาว่าอยากทำอะไร มีอีกข้อคิดที่ต้องเอามาอ้างครับ ของคุณ McAdam จากหนังสือชื่อ The Stories We Live เขาบอกว่า คนเราไม่สามารถก้าวไปได้มากกว่าทรัพยากรที่มีอยู่ได้ ซึ่งถ้าจะโยงกลับมาถึงตรงนี้ก็หมายความว่าคนธรรมดาไม่สามารถจะเป็นยอดครูได้ อย่างนั้นหรือเปล่า? ทรัพยากรอะไรที่ทำให้คนเดินดินกลายเป็นยอดครูได้? ผมว่า "คนจะเป็นครูดีต้องมีครูดี และต้องมีความกล้า"

คนที่ขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมด้านการเรียนการสอนมามีไม่น้อยครับ ถ้าโชคดีได้เจอครูดี แล้วตัวเองมีทัศนคติที่ดี ก็จะรักในวิชาชีพนี้ แต่แค่นั้นคงไม่พอ เพราะรู้แล้วจะเอามาปฏิบัติได้หรือไม่ ก็ต้องลองผิดลองถูก แล้วจะกล้าลองไหม? ถ้าไอ้ที่ทำอยู่ทุกวันมันก็โอเค มีรายได้พอมีพอกิน จะหาเรื่องใส่ตัวทำไม ลองแล้วคนอื่นหาว่าเพี้ยน หรือว่าไม่ตรงกับนโยบาย จะไปขวางได้ไหม? ไม่ตามกระแส แล้วจะอยู่ได้หรือเปล่า?

ถ้าครูไม่กล้า แล้วนักเรียนจะกล้าไหมครับ?
ถ้าครูไม่นำ แล้วเด็กจะตามใคร?

เริ่มจะนอกเรื่องไปไกล ผมขอวกกลับมาอีกนิดครับ ถ้าคนจบด๊อกเตอร์เองตอบได้แต่ว่าเรียนมากันหมาเห่าหมากัดก็คงจะวนกันอยู่อย่างนี้ เด็กเองก็ต้องเรียนให้จบปริญญาตรี เพราะเป็นการศึกษาขั้นต่ำของทุกวันนี้ (กลัวจะไม่ได้งานดีๆ) ต้องเรียนโท ถ้าอยากได้เงินเดือนเพิ่ม (กลัวจะไม่พอกิน กลัวจะน้อยหน้าเพื่อน) ต้องเรียนเอกเพื่อกันหมาเห่าหมากัด (กลัวจะมีปัญหาในการทำงาน ถูกโอนย้ายเพราะคุณวุฒิไม่ถึง) แบบนี้แล้วใครมันจะกล้าทำอะไรแหกคอกละครับ? ผมไม่พูดไปไกลถึงนโยบายหรือการเปลี่ยนแปลงของระบบนะครับ ขอเน้นแค่ที่ตัวบุคคล...

พูดไปพูดมา ผมนึกถึงรายการ "กล้าหรือเปล่า" ที่เขาให้คนไปทำประหลาดๆ ในที่สาธารณะ แล้วให้เงินตอบแทน

ก็คงต้องถามแบบนี้แหละครับ กล้าหรือเปล่า?

อาจารย์อธิบายจนเห็นภาพหมากัดกันเลยนะครับ (เฮ้ย!!!ไม่ใช่)  การศึกษาของบ้านเราหน่ะ  ผมเห็นคนเรียนปริญญาโท ทุกวันนี้แล้วเหนื่อยใจแทนจริงๆนะครับ ไม่ใช่เหนื่อยแทนเพราะเค้าเรียนจบยากนะครับ แต่เหนื่อยแทนพ่อแม่เค้าต่างหากที่ต้องลำบาก หาเงินค่าเทอม ค่าลงทะเบียนมาให้ลูกหลายหมื่นบาท เรียนจบได้ปริญญามาแล้ว (ไง) ????  .......หางาน.....ได้งาน....ไม่พอใจ.....โดนลูกพี่ดุ........ทำงานไม่เข้าเป้า...... โอ๊ยยยยยทนไม่ไหว..........ลาออก!!!!!......เรียน ป.เอก ต่อดีกว่า...............เข้าวังวนเดิม       สุดท้ายชีวิตนี้อยู่ที่ลูกพี่ทั้งหมดหรือเปล่า???  หรืออยู่ที่เรากำหนดเองกันแน่ 

ขอเรียนอย่างนี้คะอาจารย์

ใบปริญญา เป็นส่วนที่แสดงว่าบุคคลคนนั้น "น่าที่จะมีความรู้ หรือความสามารถ" ในเรื่องนั้น ๆ  แต่ใครจะมีความรู้หรือความสามารถเพียงใด  อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

แต่ ...!! ถ้าหากมองประเด็น "แล้วเมื่อได้ปริญญาเอกแล้ว จะไปทำอะไร  จริง ๆ แล้วไม่ว่าคุณจะจบเพียงแค่ ป.4 หรือ ป.6  คุณก็สามารถทำอะไร ๆ ได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่าคุณคิดที่จะทำอะไร   แต่การที่เราไปเรียน   มันคงช่วยทำให้เราได้วิธีคิดที่เป็นระบบ และเป็นระเบียบมากขึ้นมากกว่า   จริงอยู่ที่ว่า  ความรู้บางอย่างไม่จำเป็นต้องเรียนให้ห้องเรียน  แต่การที่คุณลองผิด-ลองถูก  มันทำให้เสียเวลา  ซึ่งในขณะเดียวกัน !!  ถ้าเราไปเรียน เราจะรู้ว่าเราควรจะต้องทำอะไร  เริ่มด้วยอะไร  และจบด้วยสิ่งใด  !! 

อาจารย์จบปริญญาเอก  อาจารย์อาจกล่าวได้ว่า ใบปริญญาไม่สำคัญ  แล้วทำไมอาจารย์ถึงร่ำเรียนมาตั้งมากมาย  เรียนมาตั้ง 3 ใบ...

ในสังคมยังให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้อยู่ !!  แล้วนักศึกษาตาดำ ๆ จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้คนในสังคมยอมรับในตัวพวกเค้า..!!..ซึ่งมันก็คงจะเป็นใบปริญญา กระดาษที่อาจารย์เรียกว่าเป็น กระดาษเปื้อนหมึกอาญาสิทธิ์ 

ขอกราบเรียนด้วยความเคารพคะ

อาจารย์วสะ ครับ

ผมน่ะกล้า ครับ ถ้าอาจารย์ตามดูการเขียนของผม แต่คนอื่นไม่ค่อยกล้าครับ และนั่งคอยดูว่า ผมจะตายตอนไหน จะได้ไชโย และสมน้ำหน้า ครับ ผมถึงออกมาประกาศตัวหาพรรคพวก ผู้กล้าทั้งหลาย เพื่อแสดงให้เห็นว่า เรากล้า แต่ไม่ตายครับ เราไม่ใช่หน่วยกล้าตายครับ แต่เราเป็นหน่วยกล้าไม่ตาย ครับ อาจารย์พร้อมหรือยังครับ ถ้าพร้อมแล้ว เชิญเลยนะครับ รอของดี ๆ 10 ปียังไม่สาย ครับ

ผมมีปณิธาน จะแน่วแก้ไขในสิ่งผิดอยู่แล้วครับ อ่านข้าง ๆ กล่องนี้ ด้านขวามือนะครับ นั่นคือชีวิตผมครับ...ขอบคุณครับ

คุณขจิต ครับ

ผมพึ่งรู้ว่า ผมมีแนวร่วมแล้ว ผมสามารถจะร้องเพลง "ปูไข่ไก่หลง" ได้อย่างภาคภูมิใจ เรามาร้องด้วยกันครับ ขอบคุณครับ

คุณอิทธิพล ครับ

ผมยังไม่รู้ว่า ผมเป็นหมา หรือผมถูกหมากัดครับ ตอนนี้นัวเนียอยู่เลยครับ เพื่อนผมที่ออสเตรเลียบอกว่า กลับไปแล้วเราจะไปกัดกับหมา ตอนนี้ผมงุ่นง่านหาหมาตัวไหนกัดไม่ได้เลยครับ มีแต่เขาวิ่งหนีผมหมด สงสัยเขาคิดว่าผมเป็นหมาบ้าก็เลยไม่มีใครมากัดกับผม ผมเลยอยู่สบายครับ แต่ใครอย่าเข้ามานะครับ โดนกัดเป็นบ้าไปเลยครับ โดยเฉพาะคนที่เข้ามาในบล็อกนี้ครับ เริ่มติดเชื้อหมาบ้าผมไปแล้วครับ ไม่เชื่อลองไปอ่านดูสิครับ

น้องนิว ครับ

ผมไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรหาปริญญานะครับ แต่เราอย่าหลุดประเด็นว่า ใบปริญญาคือสรณะ แต่ควรถือว่าปริญญา (ไม่ใช่ใบนะครับ) เป็นสรณะ ต่างหาก เมื่อเรามีปริญญาแล้ว เราจะมีหรือไม่มีใบปริญญา ก็ไม่สำคัญ เพราะปริญญา คือเพื่อนของปัญญา กลับไปกลับมาครับ แต่ใบปริญญา เอาไว้ติดข้างฝาครับ ผมไม่ติดครับ รกบ้านเปล่า ๆ

ผมไม่มีใบปริญญานะครับ แต่ผมจบปริญญาคนละเรื่อง ครับ เพราะฉะนั้น ที่ว่าผมมีสามใบนั้น ไม่จริงครับ ผมมีอยู่ใบเดียวอยู่ในตู้เก็บของผมนี่แหล่ะครับ เขาอุตส่าห์ส่งมาให้ก็เลยเก็บไว้ ที่เหลือผมไม่ได้ไปรับ ครับ

ณ วันนี้ ผมถือว่าผมไม่มีใบปริญญาครับ แต่ผมค่อนข้างจะมั่นใจว่า ผมน่าจะมีปริญญาอยู่ในใจระดับหนึ่งแล้วครับ (ขอหลงตัวเองนิดนึงนะครับ) ขอให้เข้าใจตามนี้นะครับ

ขอบคุณครับ

คุณนิวครับ

ผมชอบที่คุณนิวบอกว่า "น่าที่จะมีความรู้ หรือความสามารถ" ครับ เพราะคำว่า "น่า" นี่แหละครับ ที่ทำให้นิสิตนักศึกษาหลงประเด็นว่าเขาเข้ามาแล้วเขา "น่า" จะมีความรู้ บางคนพาลคิดไปว่าได้เข้าเรียนแล้วก็น่าจะรู้แล้ว ยิ่งได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงยิ่งน่าจะเก่งกว่ามหาวิทยาลัยธรรมดาๆ แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีความ น่า ของมันอยู่ครับ

อีกประเด็นที่ผมชอบคือที่คุณบอกว่า "มันคงช่วยทำให้เราได้วิธีคิดที่เป็นระบบ และเป็นระเบียบมากขึ้นมากกว่า" ก็คำว่า "คง" นี่แหละครับ ที่ทำให้เราไม่ยอมเรียนกันเอง ไม่เชื่อว่าเราเรียนเองได้ ปรัชญาการสอนเขาเชื่อกันว่าการเรียนที่ดีที่สุดคือการสอน ผมถึงชอบเสนอหน้าสอนวิชาที่ผมอยากจะรู้

นิสิตนักศึกษาไทยมีสัดส่วนเท่าไหร่ที่ทำงานตรงสาขาครับ? หลายคนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้จบสาขานั้นมา แล้วที่ตลกคือพวกที่ยอมทนทำงานในสาขาที่จบมาแล้วไม่ชอบงานที่ตัวทำมีเยอะเหลือเกิน คนไทยถึงทำงานกันไม่มีความสุข ไม่ชอบ แต่ไม่เปลี่ยนครับ เพราะอะไร? ผมอยู่ในสังคมชั้นกลางมาตลอด และได้เห็นเหตการณ์เหล่านี้มาตลอด น้องที่ดั้นด้นมาเรียนถึงเมืองนอกแต่ก็ไม่ยอมขวนขวายหาความรู้ใส่ตัว จับกลุ่มอยู่แต่กับคนไทยก็มีเยอะไป (เห็นแล้วมันน่าจริงๆ)

อยู่ในวงวิชาการ ผมยอมรับว่าผมให้ความสำคัญกับใบปริญญาและปริญญา (ในความหมายของ ดร.แสวง ซึ่งผมเข้าใจว่าคือความรู้ที่ได้จากการเรียนปริญญา) คือมันต้องมาทั้งคู่ครับ แรกๆ รู้ว่าเขามีใบอะไร ก็น่าเชื่อถือ คงจะมีความรู้ แต่พอทำงานด้วยกัน คุยกัน แล้วถึงรู้ว่าเขามีปริญญาจริงหรือเปล่า ผมชอบที่อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เปรียบเทียบชีวิตกับการเรียนมหาวิทยาลัยมาก คนเราทำงาน ใช้ชีวิตก็เหมือนเก็บหน่วยกิตไปเรื่อยๆ เพียงแต่ว่ามหาวิทยาลัยชีวิตมันยากกว่าในสถาบันการศึกษามากนัก

เลี้ยงลูกที่พิการทางสมอง ต้องใช้ความพยายามมากกว่าเรียนปริญญาเอกสักกี่ร้อยเท่า ผมไม่ทราบครับ แต่แม่ที่เลี้ยงลูกพิการไม่เคยสำคัญตนว่าเก่งกล้ากว่าคนอื่น เลี้ยงไปด้วยความรัก ส่วนคนที่จบปริญญาเอกมาก็อาจจะหลงไปกับมายาคติของสังคม

ส่วนตัวผมเอง หวังทั้งสองอย่างครับ ขอทั้งกระดาษเพราะเห็นด้วยกับคุณนิว และความรู้เพราะเห็นด้วยกับ ดร.แสวงครับ

เรียนอาจารย์ ดร.แสวงครับ

ผมรู้อยู่แก่ใจครับ ว่าอาจารย์กล้า ผมถึงได้มาสนุกเฮฮาร่วมวงกับอาจารย์ ติดตามความเคลื่อนไหวด้วยใจระทึกอยู่ตลอด ผมน่ะยินดีที่ได้ค้นพบแหล่งความรู้และมิตรภาพแห่งนี้มากครับ

ปล. ผมไม่ได้เอาปริญญาติดข้างฝา แต่เอาไว้สมัครงานครับ แหะๆ

ผมก็เห็นด้วยว่าต้องมีทั้งสองอย่างครับ

ใบปริญญาเป็นใบเบิกทาง

แต่ปริญญาเป็นเคื่องมือในการทำงาน

ผมเห็นคนประเภท ที่มีใบปริญญา แต่ไม่มีความสามารถบางคนพยายามเก็บซ่อนตัวเองอย่างน่าสงสาร ไม่กล้าคุยกับใครลึกๆ กลัวปล่อยไก่

หรือคุยก็คุยทับมุมเดียวแล้วเลิกไปเลย กลัวคนอื่นรู้ไต๋

หรือเอาใบปริญญาไปอ้างทำงานอื่นที่ไม่ต้องใช้ความรู้จากการเรียน เพื่ออำพรางตัวเองไม่ให้คนอื่นรู้

มีหลายแบบครับ

วันหลังได้จังหวะดีๆ จะรวบรวมมาเขียนอีกครั้งหนึ่งครับ

ขอบคุณอาจารย์วสะ และน้องนิวที่มาให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากๆ

ผมดูดีๆ มีแต่ได้ ใครมองว่าไม่ดี ก็คงเป็นพวกวาสนาน้อย ปล่อยเขาไปก่อน

วันหลังเขาก็เข้าใจเองนั่นแหละ

ขอแลกเปลี่ยนด้วยคนคะ

  • เห็นจากหัวข้อข้างต้น  เมื่ออ่านแล้วก็มีแนวคิดปิ้งแว๊บมาคะ...จากคำถามที่อ. แสวง หยอดถามชาวG2K ก็มีการแลกเปลี่ยนกันพอสมควร และสำหรับจ๊ะจ๋าของมีแนวคิดอีกทางนะคะ
  • กับคำถามแล้วเมื่อได้ปริญญาเอกแล้ว จะไปทำอะไร  ต้องถามคนที่เรียนก่อนว่า ทำไมถึงดั้นด้นที่จะเรียนปริญญาเอก ? อะไรมีแรงบันดาลใจให้ไปเรียน? เป้าหมายหลังการเรียนเอกคืออะไร?  ถ้าย้อนไป 10 ปี คนเหล่านั้นจะบอกได้ว่า เรียนเพื่อไปประกอบวิชาชีพของตน และเพื่อให้รู้ลึกรู้จริงและนำไปต่อยอดได้ แต่กับสมัยนี้ไม่แน่ใจคะ...เพราะปัจจุบันมีเพื่อนกำลังเรียนเอกอยู่ 10 คน 3 คนจบแล้ว ที่เหลือกำลังขมักเขม้นเรียนอยู่ คาดว่าปี 2 ปีจะจบ...และคนที่จบส่วนใหญ่ก็มีงานรออยู่แล้ว 2ใน 3 คือ อาจารย์ในมหาลัยชื่อดังของไทย  ..อีก 1 ยังไม่แน่ ..นี่ก็พอตอบคำถามได้ว่าเป้าหมายหลังการจบปริญญาเอกทำอะไร...
  • แต่ถ้าถามว่าทำงานเพื่อชาติไหม...ขอตอบว่าจากที่คุ้นเคยกับคนที่จบปริญญาเอกมาไม่ต่ำกว่า 10 คน ที่ได้รับทุนจากรัฐ ..ทำงานเพื่อชาติคะ...ทุ่มสุดตัวถวายหัวจริงๆ คะ. และทำด้วยความตั้งใจและสมัครใจมากๆ  ....แต่ถ้าถามต่อว่าแล้วที่จบเอกมาจากเงินทุนตัวเองจะทำงานเพื่อสังคม เพื่อชาติไหม... ขอบอกว่าทำและไม่ทำคะ..อยู่ที่มุมมองและสังคมของคนเหล่านั้น
  • เรื่องใบปริญญา มีแนวความคิดว่ามันคือใบเบิกทาง    (ในการทำงาน).....เท่ากับว่าเราใช้ใบเบิกทางเพื่อให้เราได้โอกาสทำงาน....... สรุปก็คือปริญญาคือเส้นทางในการสร้างโอกาสมากกว่าคะ...และอยู่ที่ว่าเราจะนำโอกาสที่ได้รับ เรียนรู้ต่อไปได้อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ...เดินตามทางฝันที่ตนตั้งใจ ......หลายคนมักมีแนวคิดว่า การเรียนแบบท่องจำไม่เหมาะสม......แต่ถ้าเราคิดอีกแนวทางหนึ่งว่า คงต้องเรียนพื้นฐานเพื่อให้เราได้ประยุกต์ในสิ่งที่เรียนคงจะเหมาะกว่าคะ...เพราะบางสายวิชาชีพ คงต้องเรียนทฤษฏีก่อนปฏิบัติคะ...ซึ่งบางครั้งทฤษฏีก็ต้องท่องจำให้ขึ้นใจ บางครั้งการท่องจำก็มีประโยชน์นะคะ..เช่นท่องตารางธาตุเคมี...ถ้าเราไม่จำก็แย่คะ...ไม่รู้ว่าตัวไหนเป็นแบบไหน คุณสมบัติอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ถ้าจะรวมตัวกัน..อะไรทำนองนี้...ดังนั้นการเรียนแบบท่องจำยังคงเป็นประโยชน์อยู่คะ.

แต่ ปริญญา ที่ควรมีนั้น คือ ความอุดมสมบูรณ์ในความสามารถ มีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ มีความรู้ มีทักษะ มีอุดมการณ์ ที่จะทำงาน เสียสละ เพื่อพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติ อย่างทุ่มเท โดยไม่เห็นแก่ตัวเอง

    วันนี้ มีคนกี่คนที่มี ปริญญา และกี่คนมี ศักดิ์และสิทธิ์ แห่งปริญญา และมีกี่คนที่พร้อมจะรับ ปริญญา

โดนใจมากๆค่ะ  หนูเรียนมาด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์  หัวใจของวิชานี้ก็คือ Put the right man on the right job  ที่สำคัญก็คือ ชื่อว่าคนคือมนุษย์ ...มีเหตุมีผล มีความสามารถ  พัฒนาได้  เนื่องจากมองว่ามนุษย์เป็นทรัพยากร ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องบำรุงรักษาไว้ให้อยู่เพื่อพัฒนาองค์กร  แต่พอพิจารณากับหน่วยงานส่วนใหญ่แล้ว มันก็เป็นแค่ทฤษฎีซะส่วนใหญ่  หน่วยงานมีทุกอย่างตามทฤษฎีการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในกระดาษ แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ยังเป็นคนเหมือนเดิม ไม่ได้เป็นมนุษย์อะไรหรอก เป็นคนใช้แรงงานเหมือนเดิม แผนกบุคคลในหลายหน่วยงานเปลี่ยนชื่อเป็นแผนกพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความแตกต่างมีอยู่แค่ป้ายหน้าห้องทำงาน  การทำงานแบบเดิม  มีความเชื่อแบบเดิม...เห็นแล้วก็เหนื่อยเพราะเรายึดติดชื่อ กับเครื่องมือในการจัดการ  แต่เราไม่ได้เห็นความสำคัญจริงๆ นอกจากการทำไปตามกระแส  ...แล้วพอเป็นแบบนี้  หนูไม่เห็นหนทางในการนำความรู้มาใช้ มาเปลี่ยนแนวคิด ปริญญาจะสำคัญอะไร...ถ้าไม่ได้เอาความรู้มาใช้เลย  (ไม่รู้จะใช้ยังไง)  ตอนแรกหนูมั่นใจว่าตัวเองมีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรแน่นอนค่ะ  แต่ตอนนี้ไม่มั่นใจแล้ว....

เรียน ผศ.ดร.แสวง และทุกท่านที่ร่วมแสดงความ

         คิดเห็นครับ

  • การเรียนนั้นรู้นั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของชีวิตตนเองและครอบครัว แต่วัตถุประสงค์ของการเรียนนั้นก็คงมีมากมายแตกต่างกันออกไป
  • สำหรับการเรียนในระบบ หรือนอกระบบโดยที่มีการเรียนในสถานศึกษาทั่วไปนั้น หลังจากจบแล้วก็มีการให้ใบรับรองคุณวุฒิ หรือที่เราเรียกว่าใบปริญญาบัตรในระดับปริญญาตรี โท เอก  นั้น สำหรับผมขอมองอย่างนี้ครับ
  • ความมุ่งหวังของการเรียน แน่นอนครับแต่ละคนที่เข้าไปเรียนนั้นผมคิดว่าคงมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่ที่ผมยังมีความเชื่ออยู่อย่างก็คือว่า กว่าร้อยละ 99 คงตอบว่าเรียนเพื่อเอาความรู้ แต่ในระดับการเข้ามารับรู้นั้อาจจะมีควาเข้มข้นที่แตกต่างกันเท่านนั้นเอง
  • ผมยังมีความเชื่อว่าคนที่จบในระดับปริญญาทุกคนเป็นคนที่มีความรู้ แต่ระดับการรับรู้ก็จะแตกต่างกันออกไป ตามแต่จิตวิญญาณของแต่ละคน
  • ผมมีความเชื่อว่าสถาบันการศึกษาทุกสถาบันต้องการผลิตบัณฑิตที่ดีมีคุณภาพ แต่คุณภาพของคนแตกต่างกันออกไป ทุกสถาบันมีมาตรฐานการอนุมัติให้จบการศึกษา หากว่านักศึกษาไม่มีความรู้ตามมาตรฐานของสถาบันการศึกษาก็คงไม่ได้รับใบปริญญา ซึ่งจะมีความเข้มข้นแตกต่างกันไป
  • จากความหลากหลายบนความแตกต่างดังกล่าวจึงทำให้คุณค่าที่คนให้กับใบปริญญาแตกต่างกันออกไป 
  • คงไม่ผิดหรอกครับที่นักศึกษานั้น ต้องการใบปริญญา เพราะสังคม และวัฒนธรรม ณ เวลานี้เป็นไปอย่างนั้นจริงๆ แต่เราจะทำอย่างไรต่างหากที่จะสร้างจิตสำนึกให้กับบัณฑิตเหล่านั้นสร้างคุณค่าให้กับใบปริญญา
  • สุดท้ายก็คงกลับมาถึงอาจารย์ทุกท่าน ผู้ซึ่งมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตคนเพื่อไปรับใบปริญญา ว่าเราจะต้องแก้ไข ปรับปรุงกันอย่างไรเพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้ที่จะรับ และนำใบปริญญาไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์สู้ต่อไปนะครับ 

ด้วยความเคารพ

อุทัย   อันพิมพ์

 

ที่ผ่านมาใบปริญญามีไว้สำหรับซีร๊อกแนบขอต่ออายุสมาชิกภาพสภาวิชาชีพทุก 5 ปีค่ะ จะซีร๊อกทีหาแทบแย่จำไม่ได้ว่าเอาไว้ไหน

ตอนที่ไปเรียนปริญญาโทมีความคิดตื้นเขินนิดเดียวค่ะ ด้วยแรงสงสัยในใจนิดหน่อยว่าการทำงานพยาบาลนั้น จบปริญญาโททำงานแตกต่างจากจบปริญญาตรีตรงไหนอย่างไร ถามใครสังเกตคนจบมาแล้วก็มองไม่ออกเลยต้องไปหาประสบการณ์ตรงเอง

เรียนปริญญาเอกก็เพราะอยากรู้ว่าเรียนอะไรกันบ้าง ถามใครก็ได้คำตอบไม่แจ่มแจ้ง ไปเรียนเองซะเลยดีกว่า เรียนๆไป จิตใจแย่ลงๆ มองเห็นแต่ด้านลบทั้งๆที่สิ่งที่เห็นก็คือความจริงของสังคม จนวันหนึ่งกลั่นเลือด(เว่อร์เล็กน้อยค่ะ) ออกมาได้เป็นบันทึก http://gotoknow.org/blog/bridge/18468 นี้ค่ะ

ยิ่งเรียนยิ่งเห็นว่าที่ไม่รู้เยอะแยะไปหมด น่าจะรีบจบซะเร็วๆจะได้ไปทำอะไรๆอีกตั้งเยอะค่ะ..งานdissertation อยู่ระหว่างเขียนค่ะยังไม่เสร็จ แต่มีหัวข้อวิจัยที่อยากรู้อยากทำโปรแกรมต่อไปอีกหลายเรื่องค่ะ

ขอบคุณค่ะที่อาจารย์แหย่รังแตน ทำให้แตนตัวนี้ได้คิดทบทวนตัวเองด้วยค่ะ

ขอบพระคุณครับ อาจารย์ถอดหัวใจผมเขียนโดยไม่รู้ตัวแล้วล่ะครับ .. ผมเป็นพันธมิตรโดยไม่ได้ประกาศและจะขอประกาศตรงนี้ว่า ผมเชื่อและคิดเช่นเดียวกับที่อาจารย์นำเสนอ ผมอยู่ในแวดวงการฝึกหัดครูมาร่วม 30 ปี รู้สึกเจ็บปวดแทนสังคมอยู่ตลอดมา เพราะมองเห็นการจัดการเรียนการสอน และกิจกรรมที่เรียกว่า การศึกษา ที่ทำๆกันอยู่นั้น ยังเป็นไสยศาสตร์ อยู่มากเหลือเกิน อึดอัดรำคาญกับหลายเรื่อง หลายประเด็น เรียนรู้วิธีการและจัดการเปลี่ยนแปลงอย่างนั้น อย่างนี้ โกลาหลไปทั้งเมืองไม่รู้กี่ครั้งกี่คราว ที่เห็นๆก็ได้แค่รูปแบบที่ลอกเลียนเขา โดยไม่ได้เอา จิตวิญญาณ ของการทำอย่างนั้นมาด้วย ภูมิใจกันแค่ได้ทำเหมือนเขาและ ครบขั้นตอน ตามที่ บิดา ว่าไว้ จะปรับเปลี่ยนอะไรออกนอกกรอบ เพื่อความสอดคล้องกับสภาพจริง เพื่อผลที่ดีกว่า แท้จริงกว่า ยั่งยืนกว่า ก็ไม่กล้าทำเพราะกลัวผิด ผมไม่ได้พูดเลื่อนลอย จะยกกรณีตัวอย่างประกอบก็ได้ไม่น้อย แต่ไม่ขอทำตรงนี้เพราะมันจะยาวจนน่ารำคาญครับ อาจารย์ และท่านอื่นๆ ที่เข้ามาตรงนี้คงพูดแทนผมได้ เพราะมันเกิดครอบคลุมพื้นที่ประเทศนี้ ชนิดที่เห็นกันอยู่ตำตาทั่ไป .. ผม "เห่า" มากไปแล้ว ขอหยุดแค่นี้ สำหรับที่นี่ แต่ออกไปข้างนอกก็จะขอ "เห่า" ต่อ จนกว่าอะไรๆ มันจะเปลี่ยนแปลงไปแบบที่มีปัญญากำกับการเปลี่ยนแปลงนั่นแหละครับ. ขออภัยครับ อยากทำ ตัวเน้น ตัวหนา ให้อ่านง่าย แต่ บรรดา Tools กลับหายไปจากจอโดยไม่ทราบสาเหตุ เลยทำไม่ได้ครับ

 คือในการมองว่าระบบการศึกษาจะเป็นอย่างไรต่อไป ?? มันต้องเริ่มด้วยกระบวนการสอนของครูงั้นหรือ     นิวว่าไม่ใช่....และไม่ถูกต้อง..ทำไมเราถึงต้องเริ่มจากครู  เริ่มจากระบวนการสอนของครู  ทำไม และทำไม ???  จริงอยู่ที่ว่า..ในการสอนไม่น่าจะสอนให้เด็กท่องจำ  แต่การท่องจำ  มันเป็นจุดเริ่มต้นมิใช่หรือ  แต่นิวก็ยอมรับว่า  วิธีการสอนบางอย่างอาจไม่เหมาะสมกับการเรียนแบบท่องจำ   แต่การเรียนแบบท่องจำเช่น  การบวก ลบ คูณ  หาร   ต้องคิดด้วยวิธีการอย่างไร   สูตรมันเป็นอย่างไร  และโยงใยไปถึงการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร  สิ่งเหล่านี้มันคือการเรียนรู้และท่องจำได้ว่า  เราจะต้องบวกอย่างไร  คูณอย่างไร  ลบอย่างไร  หารอย่างไร  แล้วถึงนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร ???

วันนี้ มีคนกี่คนที่มี ปริญญา และกี่คนมี ศักดิ์และสิทธิ์ แห่งปริญญา และมีกี่คนที่พร้อมจะรับ ปริญญา

 

 

นิวคิดว่า นิวเป็นคนมีปริญญา  โดยมีศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญา  และเมื่อนิวเรียนจบ  นิวก็พร้อมจะไปรับใบปริญญาเอก แน่นอน...เพราะใบปริญญามันเป็นความภาคภูมิใจที่เราเหนื่อยมาตลอดระยะเวลา 4 ปีที่เราเรียน  บางคนอาจมองว่า  มันก็แค่กระดาษเปื้อนน้ำหมึกอาญาสิทธิ์  แต่สำหรับนิว  มันไม่ใช่  มันเป็นแผ่นกระดาษที่มีความหมาย และมีคุณค่า  เป็นใบที่แสดงถึงความสำเร็จ  และเป็นความภาคภูมิใจที่เราฟันฝ่ามาได้  มันเป็นตัวที่บ่งบอกถึงความอดทน  ความอุตสาหะ  ต่าง ๆ มากมาย  มันจึงไม่ใช่เพียงแค่ใบปริญญาเปื้อนน้ำหมึกอาญาสิทธิ์ 

 

กราบเรียนด้วยความเคารพคะ

 

ขอบคุณครับที่มาต่อยกันคับคั่ง มีแต่แตนระดับ heavy weight ทั้งนั้นเลยครับ

ผมขอตอบรวมนะครับ

โดยรวมเราเห็นปัญหาตรงกัน จะต่างก็มุมมองประสบการณ์เท่านั้น ใครที่ยังงงๆ ขอให้ไปอ่านเรื่อง "นักเลียน" ก่อนครับ ผมสร้าง link ไม่ได้ เครื่องมือไม่ทำงานให้หาเองนะครับ

ถ้าเรายังลอยคอยังไม่พ้นน้ำ เราจะยังมองไม่เห็นคลื่นบนผิวน้ำ วันหนึ่งน้องนิว และคุณอุทัยจะเข้าใจชัดกว่านี้ว่ามุมที่ผมเสนอนั้นเป็นการพูดคนละลำดับชั้นของปัญหา ทั้งในเชิงกว้างและลึก

เราต้องเอาตัวให้รอดก่อนจะมองว่าเราจะช่วยใครได้บ้าง อันนี้เป็นสัจธรรม ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว พระพุทธเจ้าก็ทำเช่นเดียวกัน  แต่ขณะที่เรายังเอาตัวไม่รอดนั้นเราก็จะมองแบบหนึ่ง พอรอดมาแล้วก็จะมองอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่การเปลี่ยนไป แต่จุดยืนคนละที่ ภาพที่เห็นจะต่างกัน

เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาจราจร ทุกคนเห็นด้วยที่จะทำโน้นทำนี่ แต่ถ้าการทำนั้นกระทบเรารุนแรงจนลำบาก (เพื่อคนส่วนใหญ่) เราก็อาจจะเปลี่ยนมุมมองทันทีได้เหมือนกัน ว่าไม่เห็นด้วย ทั้งที่คนส่วนใหญ่เขาเห็นด้วย

นี่ก็เรื่องเดียวกันครับ

ดูกันไปสักพักแล้วจะเข้าใจสิ่งที่ผมพยายามอธิบาย

คำว่ากระดาษเปื้อนหมีก นั้นสื่อว่า คนที่รับไม่ได้มีความรู้ความสามารถตามนั้น คำอธิบายสรรพคุณใดๆ ก้มีค่าแค่กระดาษกับหมีกที่เปื้อนอยู่ ไม่มีมากกว่านั้น เพราะคนที่ไม่รู้เท่านั้นที่ยังนับถือ คนที่รู้เขาก็ไม่นับถือ

คงพอเข้าใจนะครับ

ใจเย็นๆ เราพวกเดียวกันอยู่แล้ว ขอให้คุณรอดแล้วผมเชื่อว่ามุมมองคุณจะเปลี่ยนทันที 

ไม่นานเกินรอครับ

ขอให้เป็นพันธมิตรกันต่อไปนะครับ

 

(^_____^)

คึกคักนะคะอาจารย์...

แวะมาแซว...แบบไม่ขอแจม...

ตีพิมพ์ไปตั้งแต่ตอนบ่าย...ไม่ผ่าน..

ก็เลยแวะมาอ่านดีกว่าคะ...

มีใบปริญญามากมายเลยคะ...ไม่ได้เอามาทำอะไรเลย..เพราะพิจารณาแล้วว่าไม่มีประโยชน์สำหรับตน...สิ่งที่อยากได้เรียนรู้ก็ได้เรียนรู้แล้ว...แต่ไม่ใช่สิ่งเรียนรู้ในตำราในสาขา...หากแต่เป็นบางสิ่งบางอย่าง...ที่กำหนดไว้..เพื่อพุ่งเป้าไปสู่การเรียนรู้ของตนเอง...เข้ามาอ่านบันทึกนี้ของอาจารย์...คิดว่าเฉียดๆคำตอบของกะปุ๋ม..อยู่บ้างนะคะแต่ไม่ทั้งหมด...

....

สักวันจะมาต่อยอด..คำตอบที่อาจารย์เคยถามไว้นะคะ..ว่าเรียนไปทำไมมากมาย...

Y___*

กะปุ๋ม

 

ใช่ครับ

ผมนั่งเขียนอยู่ข้างรั้วบ้านคุณกะปุ๋มเลยละครับ

ยังหักเอารั้วบ้านบางส่วนมาขีดเป็นตัวหนังสือด้วยนะครับ เดี๋ยวจะหาว่าไม่บอก

ขอบคุณครับที่มาแสดงมุมมอง

อยู่ที่ว่าใครจะมองเช่นไรนะคะ ที่พูดกันมาน่าจะเป็นความรู้ที่เกิดจากสัญญา (ความจำ) ค่ะ พออายุมากขึ้น ก็จำได้บ้างลืมไปบ้าง เช่นเดียวกับเพลงฮิตในอดีตที่ว่าบางสิ่งที่อยากจำกลับลืม แต่สิ่งที่อยากลืมกลับจำมันก็เลือนลางไปตามอายุสมองเพราะโลกเรามันเป็นเช่นนั้นเอง หากจะให้ปราดเปรื่องรู้เท่าทันโลกจริงๆ ก็ต้องเป็นความรู้ที่เกิดจากวิปัสสนาที่พระท่านสอนนั่นแหละ ปัจจุบันได้ฟังอาจารย์ที่จบดอกเตอร์หลายท่านสอนท่านก็เอาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ค่ะ ก็เลยอยากให้พิจารณาคำกล่าวของหลวงปู่เกษม  เขมโก ตามนี้ค่ะ  http://gotoknow.org/blog/chuanpis/67318
  • ศักดิ์และสิทธิ์ของตัวปริญญา เจ้าตัวแต่ละคนคงตอบได้ครับ ว่าเรามีศักดิ์และสิทธิ์เพียงใดในปริญญานั้น
  • ส่วนตัวปริญญา เป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของครอบครัวครับ เราไม่ใช่ผู้ที่อยู่คนเดียว ยังมีอีกหลายคนที่ร่วมอยู่ในชีวิตเรา การรับปริญญาอาจเป็นความหวังของหลายๆคน ทั้งพ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ มิตร ที่เฝ้ารอวันที่เขาคิดว่าเราประสบความสำเร็จในชีวิตการศึกษา การปฏิเสธการรับปริญญา เราอาจให้คำตอบกับตัวเองได้ แต่คำตอบของเราจะทำร้ายจิตใจคนที่เฝ้ารอคอยวันสำคัญนั้นขนาดไหน ความสบายใจที่เราตอบตัวเองว่า เราไม่มีศักดิ์และสิทธิ์สมควรรับปริญญานั้น อาจเป็นความทุกข์ใจแสนสาหัสของใครบางคนในครอบครัวได้ คนที่เคยคุยให้เพื่อนบ้านฟังว่า ลูกจะจบแล้วนะ อีกไม่กี่วันก็จะรับปริญญาแล้วนะ
  • ไม่ว่าคำตอบให้กับตัวเองจะเป็นการที่เรามีศักดิ์และสิทธิ์เหมาะสมกับปริญญาที่ได้รับหรือไม่ แต่ผมก็ไม่กล้าทำร้ายจิตใจของคนในครอบครัวครับ เพราะคำตอบของผมคือ การรับปริญญา เป็นหน้าที่ครับ ที่เราต้องทำให้สมบูรณ์ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อความสุขของคนในครอบครัวที่เขารอคอยวันนี้ครับ
  • ศักดิ์และสิทธิ์ของปริญญา อยู่ที่การขวนขวายหาความรู้ครับ คนบางคนขวนขวายที่จะรู้ หาคำตอบให้กับชีวิต หาทางออกให้กับงาน ทำให้งานพัฒนาขึ้นไปสู่แนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ แม้เขาไม่มีใบปริญญา แต่ประสบการณ์ของเขา เป็นได้ยิ่งกว่าปริญญา ในขณะที่คนบางคนจบมาชั้นสูงจนคนต้องแหงนคอคุย แต่ก็หยุดไขว่คว้าหาความรู้ ด้วยเข้าใจว่าตัวเองเรียนจบแล้ว สักพักก็ถอยหลังเข้าคลอง ใบปริญญาสำคัญไฉน การปฏิบัติน่าจะเป็นทางออกของชีวิตมากกว่า ระหว่างคนสองคนที่ทำงานเหมือนกัน ความแตกต่างไม่ได้อยู่ที่ปริญญาครับ ไม่ได้อยุ่ที่ตัวงานประจำปกติ สองคนนี้ความต่างอยู่ที่ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในงาน ใครล่ะจะเป็นคนที่สามารถแก้ปัญหาได้ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์นั้นๆ .....เห็นไหมว่าไม่ได้ขึ้นกับปริญญา
  • คนที่หลงอยู่กับปริญญา มีมากมายครับที่มีความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอด

คุณชวนพิศครับ ขอบคุณมากครับที่มาเติมในส่วนระดับของปริญญา ผมคิดว่าน่าจะแจงกันให้ชัดเจน

ผมจะขอนำไปขยายเป็นอีกบล็อกหนึ่งนะครับ

 

ต่อคุณชวนพิศ อีกนีดครับ

คุณชวนพิศจะเสนอให้ยึดคืนปริญญาเลยหรือครับ

ทำให้ผมนึกถึงการไม่ต่อใบอนุญาตขับรถในออสเตรเลีย เมื่ออายุคนขับเกิน ซึ่งต้องสอบปีต่อปี ที่แตกต่างจากเมืองไทย ที่เราให้ตลอดชีวิต

การยึดคืนใบปริญญานี่น่าจะทำ เฉพาะเมื่อเกิดข้อผิดพลาดอย่างร้ายแรง ผิดหลักการที่ควรจะเป็น หรือพิสูจน์ได้ว่าไม่มีความรู้เต็มตามขั้นต่ำที่เขียนไว้

เช่น ครูที่สอนไม่เป็น มีแต่บอกจด

หรือ วิศวกรที่สร้างตึกจนถล่ม

หรือ หมอที่รักษาคนไข้ผิด จนทำให้ไตวาย

ฯลฯ

นี่ก็น่าสนใจนะครับ

ที่จริงลึกๆแล้วผมเห็นด้วย แต่ในทางปฏิบัติจะทำได้ยากมากเลยครับ

 

คุณ สุคนธ์

ผมบังเอิญเกิดในครอบครัวที่ให้อิสระในการดำเนินชีวิตตนเอง ก็เลยไม่มีปัญหาในการตัดสินใจ

แม้แต่งานแต่งงานของผม ก็ยังไปแต่งที่โรงพยาบาลสงฆ์ เชิญญาติผู้ใหญ่มาร่วมพิธีไม่ถึง ๑๐ คน หมดเงินไป ๑๔๘ บาท (ปี ๒๐) ยังเก็บใบเสร็จไว้เลยครับ

ฉะนั้น แค่รับหรือไม่รับปริญญาเป็นเรื่องเล็กมาก แต่เราจะมาคุยและฉลองกันเมื่อเราทำงานสำเร็จมากกว่า

เรียกว่า ระบบครอบครัวผม เราเน้นแต่เนื้อๆครับ น้ำไม่ต้องก็ได้ ประมาณนั้น

ผมเลยไม่ต้องกังวลกับเรื่องแบบนี้ แต่ต้องกังวลกับ "ผลงาน" มากกว่า ว่าแต่ละปีผ่านไป เราทำอะไรได้บ้าง

ผมจะเล่าให้ครอบครัวฟัง ว่าผมได้ช่วยงานใคร สำเร็จไปแค่ไหน เรียกว่า update กันเป็นอย่างน้อยรายครึ่งปี

และที่สำคัญ

เราไม่คุยกันเรื่องเงิน แต่คุยกันแต่เรื่องงาน และการช่วยเหลือคนอื่น ครับ

ฉะนั้น ผมอาจจะทำในสิ่งที่ไม่เป็นปัญหาสำหรับผม แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่า คนอื่นจะต้องทำตาม

เพียงให้ทุกคนมีสติ รู้ว่าตัวเองทำอะไร เพื่ออะไร ทำให้ชีวิตตัวเองมีคุณค่า ก็พอแล้ว

และในส่วนของปริญญานั้น ก็เน้นการพัฒนาตัวเองให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่ใช่โอ้อวดแบบไร้สาระ

และที่สำคัญ ผมอยากเห็นระบบการศึกษาของไทย พัฒนาอย่างถูกต้อง และพร้อมจะเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ไม่ใช่ทำเล่นทำหัว เป็นทองไม่รู้ร้อนอยู่แบบนี้

ความเสียหายจะตกแก่ทั้งส่วนบุคคล และประเทศชาติอย่างแน่นอน

ลองจินตนาการดูซิครับ ถ้าการศึกษาเราเป็นจริงตามที่เขียนไว้ในกระดาษสักครึ่งหนึ่ง (ปริมาณ หรือคุณภาพก็ได้)เท่านั้นแหละ

ประเทศชาติจะเข้มแข็งขนาดไหน

ถ้าเรามองแต่ตัวเอง เอาแค่ตัวรอด ไม่มองภาพรวมว่าจะเสียหายอย่างไร ใครจะดูแลประเทศชาติของเรา นี่คือปัญหาที่เราต้องมาพัฒนาจิตสาธารณะของบุคลากรทางการศึกษา ที่จะทำให้ความฝัน (ที่เขียนไว้ในกระดาษนั่นแหละ) เป็นจริงได้อีกสักหน่อย

ผมก็ถือว่า เราทำสำเร็จแล้ว

เพื่อหลีกเลี่ยงการดิ่งลงเหว ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

ปัญหาเรื่องระบบการศึกษา เป็นเรื่องใหญ่ครับ มีปัญหา ทั้งในเรื่องของระบบ และตัวบุคคล แทบทุกคนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกันทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็น
  • ระดับชาติ การวางนโยบายการศึกษา การสนับสนุนทรัพยากรที่เพียงพอ การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ยุติธรรม โอ้ย สารพัดครับ จารนัยกันไม่หมด
  • ระดับมหาวิทยาลัย การดูแลกำกับในภาพรวม ส่วนใหญ่ เมื่อมหาวิทยาลัยตั้งคณะได้ ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของคณะดำเนินการครับ ทุกอย่างว่ากันตามกฎ ระเบียบของราชการ คนตั้งใจทำงานจะอึดอัดอย่างไร ก็ตามแต่ครับ สุดท้ายระบบกับกดดันให้คนที่ตั้งใจดี ลดทอนความตั้งใจลง และให้กินก๋วยเตี๋ยวตอนเช้า บะหมีน้ำตอนเย็นครับ จะมีก็เหลือแต่คนที่ตั้งใจมั่นและมีความเพียรชอบเท่านั้นครับ ที่ยังมีแรงกระเสือกกระสนกันต่อไป แต่ก็อ่อนล้าเต็มที
  • ครูผุ้สอน บางท่านก็สอนเพียงความรู้ที่เด็กควรจะได้รู้ แต่ไม่ได้สอนจริยธรรมที่เด็กควรจะมี บางท่านก็ไม่แน่ใจว่ามีความรู้เพียงพอที่จะสอนเด็กหรือไม่ แต่ก็เป็นส่วนน้อยครับ ปัญหาส่วนใหญ่ ที่เกิดขึ้น คือ การที่ครูไม่สามารถสอนให้เด็กเข้าใจที่ไปที่หา และสามารถต่อยอดหาความรู้เพิ่มเติมเองได้ เหมือนกับครูไม่สามารถสอนให้เด็ก หาปลากินเองได้ ครูก็ทอดปลาแล้วจับยัดเข้าปากเด็กแทน บางคนก็ยังตั้งคำถามครับ ว่าครูน่ะหาปลากินเองได้หรือเปล่า เพราะทุกวันนี้ ครูก็ไปซื้อปลาที่ตลาดมากินเหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้ ถ้าไม่แก้ไข ระบบการศึกษาบ้านเรา ก็จะผลิตนกแก้ว นกขุนทองออกมาครับ คือรู้ แต่นำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ หรือได้แต่น้อยมาก การใช่ประโยชน์จากความรู้จะเริ่มต้นจากการทำงานจริงไม่ใช่จากการเรียน แล้วห้ามถามว่า ทำไมนะครับ เพราะเมื่อไล่เบี้ยทำไมไป ไม่กี่ครั้งก็ตอบไม่ได้แล้วครับ
  • ตัวเด็กเอง ที่เคยชินกับการป้อน โดยไม่ต้องเคี้ยว เลี้ยงอย่างไรก็ไม่โต หากินเองไม่เป็น
     ปัญหาเหล่านี้พันเป็นงูกินหาง ผมเคยเห็นสถาบันการศึกษาหน่วยงานหนึ่ง ผลิตนักศึกษาออกไปไม่ได้คุณภาพที่ดีพอ ด้วยเหตุนักศึกษามีคุณภาพที่ไม่ดีเพียงพอ แต่อาจารย์ก็เลือกที่จะให้นักศึกษาจบ แทนที่จะยึดมั่นในคุณภาพของหลักสูตร เพียงเพราะไม่อยากทำเรื่องชี้แจงว่า ทำไมถึงไม่ให้นักศึกษาจบ ....ครับ เรื่องมันน่าเศร้า.....ปัญหาเหล่านี้ จะตามมาเมื่อเด็กที่ไม่มีคุณภาพ ถูกป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานครับ ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย....ถูกทำลาย เพียงเพราะเด็กเสริฟในร้านคนหนึ่ง เสร็ฟน้ำด้วยการยกแก้วโดยเอานิ้วจุ่มเข้าไปในแก้ว เพื่อให้ยกได้มากขึ้น....จะให้พูดอย่างไรดีครับ อย่าไปโทษเด็กเลยครับ โทษผุ้ใหญ่ที่ไม่สอนเด็กให้ดีจะดีกว่า

คุณ สุคนธ์ ครับ

ปัญหาก็เยอะอย่างที่ว่าแหละครับ

ผมเลยเลื่อกแต่ประเด็นใหญ่มาเล่นก่อน ที่จะช่วยให้ปัญหาเล็กๆคลี่คลายไปได้เองครับ

เพราะปัญหาเล็กๆมันพันกันอิรุงตุงนัง ทำยากครับ

เล่นใหญ่ๆไปเลยดีกว่า ครับ

อาจารย์ครับ

  • ถ้าเป็นข้าราชการแล้วส่วนใหญ่จะ เรียนมาเพื่อทราบ
  • สำหรับปริญญานั้น ปริญญาใจ เพราะที่สุดครับ

ผมจะจำไว้ครับ คุณพันธ์บุณย์

ผมจะไปเรียนที่ไหนได้บ้างครับ แนะนำหน่อยครับ ค่าเรียนเท่าไหร่ครับ ใช้ชีวิตแลกเลยหรือเปล่าครับ

ผมมองต่างจาก ดร.แสวงในเรื่องของที่ท่านกล่าวว่า "ผมเลยเลื่อกแต่ประเด็นใหญ่มาเล่นก่อน ที่จะช่วยให้ปัญหาเล็กๆคลี่คลายไปได้เองครับ" นะครับ

ผมกลับมองว่าระบบ หรือสังคมระดับประเทศนั้นเปลี่ยนยาก (หรืออาจเปลี่ยนไม่ได้ด้วยซ้ำ) เราควรเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน แล้วถึงจะค่อยๆ ขยายไปในวงกว้างได้

ถ้าครอบครัว (ซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคม) รับผิดชอบต่อบุตรหลาน ให้ความใส่ใจ ปัญหาด้านการไม่รู้หนังสือ ขาดจริยธรรม และการศึกษาที่ด้อยคุณภาพจะลดลงไปเยอะ

ผมมองว่าถ้าอาจารย์เริ่มจากหัวลงมา (คือเล่นประเด็นระดับชาติ) มันจะกลายเป็นการกำหนดทิศทางแบบเหมารวม ซึ่งหลายครั้งมันใช้ไม่ได้จริง ถ้าเราดูเป็นพื้นที่ จัดการตามความเหมาะสม

ผมเชื่อว่าเราคิดไม่ต่างกัน แต่เลือกทางที่จะไปถึงจุดหมายต่างกัน อาจารย์ว่าอย่างนั้นไหมครับ?

  • จะเป็น ใบปริญญาที่ศักสิทธิ์ มีคุณค่า เป็นกล่องดวงใจของเจ้าของ ปริญญา หรือ จะเป็น กระดาษเปื้อน  ก็แล้วแต่ว่าไครจะมองมุมใด และก็ขึ้นอยู่กับ ว่าคน ๆนั้นเป็นนัเรียน  หรือ นักเลียน ครับ
  • เพราะบางคน มีความเหมาะสมมากที่จะได้ทั้ง ปริญญา และได้เป็นบัณฑิต ด้วยความชอบธรรม ครับ

 

อาจารย์วสะครับ

ที่จริงเราไม่ต่างกันหรอกครับ

เวลาผมพูดว่าประเด็นใหญ่ ผมหมายถึงประเด็นที่มีผลกระทบในวงกว้างครับ

แต่การปฏิบัติต้องมีผลระดับครัวเรือนและตัวบุคคลที่เผชิญปัญหา

เรียกว่า ตาดูดาวเท้าติดดิน และต้องระวังคอยหลบตอด้วยครับ

สวัสดีค่ะ ท่านดร. แสวง รวยสูงเนิน

ครูอ้อยมาอ่าน...คงจะไม่สายเกินไปนะคะ  พอดีต้องการข้อมูลไปพูดเย็นนี้  ในการปัจฉิมนิเทศ มหาบัณฑิตจบใหม่  หัวข้อว่า.....เรียนจบมาแล้ว นำความรู้ไปใช้อะไร  และคิดจะเรียนต่อปริญญาเอกเพื่ออะไร

ความคิดเห็นของครูอ้อยมีเพียงแค่  ....จะจบอะไร  ขอให้ได้นำความรู้ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ แก่ตนเอง  ครอบครัวสังคมและประเทศชาติ

ท่านคิดว่า  ..เพียงพอหรือยังคะ

แล้วที่ครูอ้อยเรียนต่อนี้..ก็เพราะรู้ตัวว่ายังไม่มีความรู้มากพอที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ค่ะ ...เลยต้องเรียนต่อ

บันทึกของท่านดีมากเลย  เป็นประโยชน์ นานาทัศนะค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณครับครูอ้อย

นึกว่าหายไปไหน เงียบมากเลยครับ

ลองย้อนไปอ่านความหมายของปริญญา ๓ มิติก็จะช่วยเสริมได้ครับ

คนเราเมื่ออยู่ ณ.จุดที่ต่างกัน มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ สิ่งต่างๆ ที่ ชีวิตพึงมี  ต่างกัน  ก็จะมองต่างมุม กัน เป็นเรื่องธรรมดา  ที่คนไม่มี  ก็อยากมี  คนมีสิ่งนั้นแล้ว  ก็อยากจะมีสิ่งอื่น  เช่น คนที่พ่อแม่ ทำนามาชั่วชีวิต  ก็อยากจะหนีออกจากจุดนั้น  แต่คนไม่ไม่เคยทำการเกษตร ก็สงสัยทำไมทำเกษตรกรรมไม่ดีตรงใหน ก็อยากคิดวิธีการใหม่   แต่คิดว่ายังไงการเษตรกรรมก็เป็นสิ่งพิสูจน์ได้ว่า  มันคู่กับมนุษย์มานาน ทำแล้วได้อะไรหลายอย่าง มากกว่าผลผลิต  ทั้งด้านบวกและลบ อยู่ที่เรา เลือกจะให้มันเกิดอะไร สำหรับปริญญา หรือการเข้าสู่ระบบ ไม่ว่าระบบอะไร เป็นประโยชน์ ทั้งนั้น  เพื่อปูพื้นฐานให้รู้จักคิดจักเลือก   จึงเป็นที่มาของการ คิดนอกกรอบ

ขอบคุณ

ขอบคุณครับ คุณนพดล ที่มาเพิ่มมุมมอง

แต่เราก็ยังคุยเรื่องเดียวกันอยู่นะครับ

ประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นเป็นแกนของเรื่องครับ

สวัสดีครับอาจารย์

 

ผมเข้ามาครั้งแรกครับ

 

อ่านแล้วได้ข้อคิดดีมากครับ

ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ครับ

และชอบที่อาจารย์วางตัวได้ดี เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนครับ ถึงจะเก่งเป็นคนเหนือคนอยู่หลายที

 

บางคนที่มาแสดงความเห็นก็เพราะไม่เข้าใจถึงความหมายผู้เขียน ซึ่งอาจจะมีกระทบบ้างนิดหน่อยก็เป็นธรรมดา  ...แต่สำคัญอยู่ที่ว่าการแสดงความเห็นนั้นไม่งามเลย ถึงจะพูดถูกก็ตาม

 

ที่ว่าไม่งามเพราะผู้พูด อ่อนน้อมไม่เป็นครับ ไม่ให้เกียรติผู้อื่น

 

ขอเป็นกำลังใจครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

กระแต เพิ่งเข้ามาอ่านบทความของอาจารย์ ให้ข้อคิดดีๆมากค่ะ

ผมจบรัฐศาสตร์ราม สองปีครึ่งแต่ผมพึ่งรู้ตัวเองว่าผมชอบทำอาชีพกุ๊กแล้วต้องมาเป็นลูกน้องเอาประสบการณ์จากคนที่ จบมอ สามผมคิดว่าปริญญาไม่ได้ช่วยอะไรเลยผมไม่ชอบแข่งขันกับใคร ประสบการณ์สำคัญที่สุด ผมคิดว่าการทำงานนั้นวัดกันที่ ความอดทน รับผิดชอบตรงต่อเวลา เสียสละ พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น และจะปรับตัวเองให้เข้ากับสังคมอย่างไรเท่านั้นเองจิงไหมคับอาจารย์เงินเดือนสูงก็เท่านั้นแหละคับ ผมเป็นกุก ได้กิ น ข้าวสามมื้อในครัว จะกินอะไรมีความสุขมากกว่า

นั่นแหละคือปริญญาที่ไม่จำเป็นต้องมี "ใบ" ครับ

และความสุขคือ ปริญญาขั้นสูงสุด ในเครือข่ายปราชญ์เราเรียกว่า "ปัญญาบัตร" ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท