วิชาพัฒนานิสิต (๕) ตะลุยทาสีรั้วชุมชน


โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมชอบการเรียนรู้ในแบบลงแรงเล็กๆ แบบนี้ การงานที่ทำไม่ได้ใหญ่โตอลังการ ถึงขั้นเทงบลงเยอะๆ ถึงขั้นต้องเรียนเชิญผู้หลักผู้ใหญ่มาเปิดงานให้ยุ่งยากเป็นพิธีการและพิธีกรรมเหมือนที่เราๆ ท่านๆ คุ้นชิน

วิชาพัฒนานิสิต เป็นหนึ่งในวิชาการอันหลากหลายในหมวดศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หากแต่มีจุดเด่นที่อาจแตกต่างไปจากวิชาอื่นๆ อยู่บ้าง นั่นก็คือเป็นวิชาที่เติบโตและพัฒนามาจากกระบวนการพัฒนานิสิตนอกชั้นเรียนในสายธารกิจการนิสิต หรือฝ่ายกิจการนิสิต นั่นเอง

วิชาพัฒนานิสิต เป็นรายวิชาที่พัฒนาต่อยอดจากระบบและกลไกการจัด "กิจกรรมนอกชั้นเรียน" ของ "องค์กรนิสิต" ที่ประกอบด้วยองค์การนิสิต สภานิสิต สโมสรนิสิต ชมรม กลุ่มนิสิต หรืออื่นๆ รวมถึงการต่อยอดมาจากระบบคิดของ "ระเบียนกิจกรรมนิสิต" (ทรานสคริปกิจกรรม)

หัวใจหลักของการเรียนการสอนวิชาพัฒนานิสิต ประกอบด้วยประเด็นหลัก ๓ ประเด็น คือ เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-centered) เรียนรู้ผ่านกิจกรรม (Project base learning & Activity Based Learning) และชุมชนเป็นชั้นเรียน (Community-based learning)

ทว่า "ชุมชน" อันเป็นห้องเรียนนั้น มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะชุมชนที่เป็นหมู่บ้านเท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงทุกๆ สถานที่ใน "มหาวิทยาลัย" ด้วยเช่นกัน



การเรียนการสอนวิชาพัฒนานิสิต มีหลายหัวข้อ แต่กระบวนการเรียนการสอนจะเน้น "บันเทิง-เริงปัญญา" เรียนในแบบกระบวนการ เน้นให้นิสิต "ได้คิด ได้ลงมือทำ ได้สรุปการเรียนรู้" ทั้งในระบบกลุ่มและระบบบุคคล ซึ่งการเรียนในชั้นเรียนจะประกอบด้วยรูปแบบหลากหลาย เช่น บรรยาย เสวนา สื่อ เกม ฯลฯ...

เช่นเดียวกับการมุ่งการเรียนรู้ให้นิสิตได้รู้จักหลักของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เริ่มตั้งแต่การเขียนโครงการ หลักการบริหารจัดการโครงการ หลักการทำงาน หรือการจัดกิจกรรมพัฒนานิสิตร่วมกับชุมชน –

ด้วยเหตุนี้ในปลายเทอมของแต่ละปี นิสิตต้องร่วมกันทำโครงการกลุ่มละ ๑ โครงการ เป็นโครงการง่ายๆ บนความต้องการของชุมชนและฐานความรู้ของนิสิตเป็นหัวใจหลัก มิใช่โครงการอลังการงานสร้างใหญ่โตมโหฬาร-ใช้งบประมาณอย่างมากมายก่ายกอง

ยกตัวอย่างเช่นล่าสุด (วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๘) นิสิตได้ออกไปจัดกิจกรรมการ "เรียนรู้คู่บริการ" ณ บ้านกุดร่อง ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆ คือ ทาสีรั้วบ้านของแต่ละครัวเรือน รวมถึงพัฒนาสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้านและวัด



พัฒนาโจทย์แบบง่ายงามระหว่างนิสิตกับชุมชน

จากคำบอกเล่าของนิสิต ทำให้ทราบว่า "นิสิตเข้าไปสำรวจความต้องการของหมู่บ้าน โดยพบปะกับแกนนำและชาวบ้าน ทำให้รู้ว่าชาวบ้านกำลังดำเนินการเรื่องรั้วบ้านยังไม่แล้วเสร็จ จึงอยากให้นิสิตได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรมดังกล่าว"

การสำรวจความต้องการง่ายๆ ในแบบ "พบปะพูดคุย" และพิจารณาจาก "สถานการณ์" (ความจริงของหน้างาน) เช่นนั้น คือการ "พัฒนาโจทย์" แบบไม่ซับซ้อนอันใด และสิ่งที่เป็นความต้องการของชาวบ้านก็มิได้เหลือบ่ากว่าแรงที่นิสิตจะทำได้ พร้อมๆ กับการพิจารณาใคร่ครวญถึงงบประมาณ ทั้งโดยนิสิตเอง หรือชาวบ้านก็อยู่ในวิสัยที่พอเป็นไปได้ -

นั่นคือภาพสะท้อนเล็กๆ ของการร่วมคิดร่วมตัดสินใจระหว่าง "นิสิตกับชาวบ้าน" ซึ่งดำเนินการไปบนฐานคิดหลักของ "การมีส่วนร่วม"




ต่อยอดจากโครงการในฝันของนิสิตในกลุ่ม

ครั้นเจาะลึกลงไปก็ทำให้เห็นว่าโครงการดังกล่าวนี้ เป็นหนึ่งใน "ความฝัน" ของเพื่อนในกลุ่มที่เคยได้ฝึกเขียนโครงการในฝันของตนเอง (งานเดี่ยว) เป็นการเขียนโครงการแต่ไม่ได้ลงมือทำ เมื่อนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนทุกคน-เพื่อนทุกคนก็เห็นพ้องที่จะขับเคลื่อนผ่านฐานคิดของโครงการดังกล่าว

อีกทั้งโครงการดังกล่าวฯ ก็มาจากแรงบันดาลใจ (ความประทับใจ) ที่นิสิตคนดังกล่าวเคยได้เข้าร่วมค่ายการศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศวัฒนธรรมในชุมชนนี้ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์มาก่อน

กรณีเช่นนี้ผมถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ นับตั้งแต่การให้นิสิตได้ฝึกเขียนโครงการในฝันของตนเอง โดยมองผ่านต้นทุนชีวิตของตนเอง จากนั้นก็ให้แต่ละคนเล่าโครงการในฝันของตนเองให้เพื่อนฟัง เพื่อนำไปสู่การออกแบบกิจกรรมที่จะมีขึ้น ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเลือกโครงการของใครคนใดคนหนึ่ง บูรณาการร่วมกันทั้งหมด หรือกระทั่งคิดค้นขึ้นมาใหม่

  • ยิ่งมาเจอกรณีนี้ที่เป็นการต่อยอดจากโครงการของเพื่อในกลุ่ม ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงการร่วมกันสานฝันของเพื่อนร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างยึดติดแต่เฉพาะความคิดฝันของตนเอง
  • ยิ่งมาเห็นว่าเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากที่เคยลงชุมชนกับทางคณะฯ ผมยิ่งถือว่า นี่คือกระบวนการเรียนรู้ที่เดินทางมาอย่างถูกต้องแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐาน "ปัจจัยความสำเร็จ" เล็กๆ ที่มองข้ามไม่ได้จริงๆ




การมีส่วนร่วมของชุมชน

วิชาพัฒนานิสิต ไม่ใช่วิชาพัฒนาชุมชน แต่มุ่งเน้นให้นิสิตเข้าใจหลักคิดของการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม โดยใช้ชุมชนเป็นฐานและขับเคลื่อนบนกรอบแนวคิดของการมีส่วนร่วมของ "นิสิตกับนิสิต" และ "นิสิตกับชุมชน" หรือกระทั่ง "นิสิตกับอาจารย์ที่ปรึกษากลุ่ม"

แน่นอนครับ-การมีส่วนร่วมถือเป็นหัวใจที่ละทิ้งไม่ได้ กิจกรรมครั้งนี้ชี้ให้เห็นความสำเร็จเล็กๆ ของการมีส่วนร่วม นับตั้งแต่การพัฒนาโจทย์ร่วมกับชุมชน ไม่ใช่นิสิตจะไป "ขายฝัน" ว่า "อยากทำโน่นทำนี่" (นักเสกสร้าง) แต่ร่วมคิดร่วมตัดสินใจว่าสิ่งใดคือสิ่งที่สามารถทำงานร่วมกันได้ อะไรคือสิ่งที่จะ "แบ่งปัน-เกื้อหนุน" กันได้บ้าง

กิจกรรมครั้งนี้ ชาวบ้านไม่ได้แค่ลงแรงเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น หากแต่รับผิดชอบเรื่อง "สีและอุปกรณ์" ต่างๆ อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็น "พี่เลี้ยง" คอยแนะนำเรื่องการทาสีไปพรางๆ เพราะนั่นคือความรู้และทักษะที่นิสิตไม่ค่อยมีกัน

ไม่เพียงเท่านั้น ชาวบ้านยังขันอาสาเป็นเจ้าภาพด้าน "ข้าวปลาอาหาร" อย่างครบครัน ทั้งนิสิตและชาวบ้านได้เข้าครัวทำอาหารร่วมกัน ซึ่งบรรยากาศเช่นนั้น กลายเป็นการเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ไปในตัวอย่างแนบเนียน เสมือนการจัดการความรักไปพร้อมๆ กับการจัดการความรู้ดีๆ นั่นเอง

และที่สำคัญคือ นิสิตเองก็มิได้ละทิ้งความรับผิดชอบเรื่องงบประมาณค่าอาหารการกิน หากแต่ยังสมทบงบประมาณร่วมกับชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้ยืนยันว่า "ต่างคนต่างช่วยกัน" เป็นการเรียนรู้คู่บริการอย่างง่ายงาม มิใช่ทำตัวแบบช้างเหยียบนาพญาเหยียบเมืองจนชาวบ้านต้องสิ้นเปลืองงบส่วนตัวกันอย่างยกใหญ่




เกือบสายไปกับการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชน

จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่/อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการที่เฝ้าสังเกตการณ์อยู่ใกล้ๆ ทำให้ทราบว่า โครงการ/กิจกรรมดังกล่าว ยังไม่เด่นชัดเรื่องของการเรียนรู้บริบทชุมชนอย่างเท่าที่ควร ถึงแม้จะมีการลงพื้นที่มาพัฒนาโจทย์บ้างแล้ว แต่ก็มากันไม่ครบทีม และยังสื่อสารข้อมูลชุมชนกันยังไม่เต็มร้อยเท่าใดนัก จึงมีการแนะนำให้นิสิตได้เพิ่มกิจกรรมเข้ามา นั่นก็คือการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชน โดยเข้าเรียนรู้ "ศูนย์ศึกษาวิถีนิเวศน์ชุมชนบ้านกุดร่อง" (ชุมชนเชิงเกษตร) ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมถือว่า "สำคัญมาก"

ใช่ครับ-สำคัญมาก เพราะทำกิจกรรมไปด้วยเรียนรู้ชุมชนไปด้วย อาจไม่บรรลุเป้าเสียทั้งหมด เพราะการงานอันบีบเร่งอย่างน่าใจหาย นิสิตอาจพุ่งสมาธิไปยังเรื่อง "ปลายทาง" มากกว่าส่วนอื่นๆ อันหมายถึง "ต้นน้ำ" และเรื่องราว "ระหว่างทาง"

กระบวนการที่แนะนำเข้าไปนั้น คือ "หัวใจหลัก" ของการเรียนรู้ในวิชานี้ด้วยเช่นกัน เพราะการจะสร้างสรรค์อะไรในชุมชน ย่อมต้องรู้ "บริบท" อันเป็น "สถานการณ์" ของชุมชนนั้นๆ เสียก่อน มิใช่ "จินตนาการ-พยากรณ์" บ้าบอแต่ทฤษฎี-




ในมุมของผมเอง

โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมชอบการเรียนรู้ในแบบลงแรงเล็กๆ แบบนี้ การงานที่ทำไม่ได้ใหญ่โตอลังการ ถึงขั้นเทงบลงเยอะๆ ถึงขั้นต้องเรียนเชิญผู้หลักผู้ใหญ่มาเปิดงานให้ยุ่งยากเป็นพิธีการและพิธีกรรมเหมือนที่เราๆ ท่านๆ คุ้นชิน

  • การได้เห็นนิสิตรู้จักทำงานบนฐานความต้องการของชุมชนและไม่ถึงขั้นอึดอัดต้องทำในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัด - ผมถือว่าสุดยอดแล้ว
  • การได้เห็นนิสิตรู้จักกระบวนการลงชุมชนว่าต้องเข้าหาใคร พูดคุยอย่างไร ร่วมคิดและร่วมตัดสินใจว่านิสิตกับชาวบ้านจะทำอะไรร่วมกันได้บ้าง -ผมถือว่าสุดยอดแล้ว
  • การที่ได้เห็นนิสิตรู้จักลงพื้นที่เพื่อเตรียมชุมชน มิใช่ปล่อยให้ชุมชนต้องเตรียมชุมชนแต่เพียงฝ่ายเดียว -ผมถือว่าสุดยอดแล้ว
  • การได้เห็นนิสิตได้ฝึกเขียนโครงการ แบ่งงานกันว่าใครต้องทำอะไร -ผมถือว่าสุดยอดแล้ว
  • การได้เห็นนิสิตทำงานร่วมกันแบบเป็นทีม ทำงานกับอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างเป็นเหตุเป็นผล และทำงานบนฐานอันเป็นสถานการณ์จริง -ผมถือว่าสุดยอดแล้ว
  • การได้เห็นนิสิตทำงานแล้วมีการสรุปผลร่วมกัน ทำรายงานร่วมกัน จัดนิทรรศการร่วมกัน นำเสนอผลการเรียนรู้ร่วมกัน -ผมถือว่าสุดยอดแล้ว
  • การได้เห็นนิสิตทำงานแล้วรู้ว่าอะไรคือปัญหา อะไรคือความสำเร็จ และทั้งสองอย่างอะไรคือต้นเหตุของความล้มเหลว หรือความสำเร็จ - ผมถือว่าสุดยอดแล้ว
  • การได้เห็นนิสิตบอกเล่าได้ว่า "รู้สึกอย่างไร เห็นอะไร ได้อะไรจากสิ่งที่ทำ" –ผมถือว่าสุดยอดแล้ว
  • การได้เห็นนิสิตออกจากชั้นเรียนไปทำประโยชน์ต่อคนอื่น สอดคล้องกับอัตลักษณ์ (นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน) เอกลักษณ์ (มหาวิทยาลัยกับการเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) ปรัชญา (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) -ผมถือว่าสุดยอดแล้ว
  • ฯลฯ

แน่นอนครับ ด้วยข้อจำกัดบางประการ ผมยังไม่อยากชั่งวัดว่าการงานครั้งนี้ หรือกระบวนการเรียนรู้ในวิชาพัฒนานิสิตจะเปลี่ยนแปลงชุมชนได้แค่ไหน นั่นยังไม่ใช่โจทย์ที่ผมปักหมุดไว้เป็นหัวใจหลักเสียทั้งหมด การประเมินการเรียนรู้ในตัวนิสิต คือสิ่งที่ผมให้ความสำคัญในวาระนี้ และเฝ้ามองว่าพวกเขาจะเดินไปสู่ถนนสายกิจกรรม เป็นนักกิจกรรมอย่างเต็มตัว ทั้งในระบบและนอกระบบอย่างไร หรือกระทั่งกิจกรรมที่จัดขึ้น จะถูกต่อยอดได้ด้วยองค์กรใดอีกบ้าง

เช่นเดียวกับการคิดแบบขำๆ ว่า จะดีแค่ไหนถ้านิสิตกลุ่มนี้ไปตักบาตรที่วัดในตอนเช้า พบปะชาวบ้านในศาลาวัด พูดคุยเรียนรู้บริบทชุมชนไปในตัวผ่านศาลาวัด จากนั้นก็ลงสู่การงานร่วมกัน ----

หรือกระทั่งเอาง่ายๆ เลยนะครับ รั้วที่ทำจากไม้ไผ่ ก็เป็นโจทย์การเรียนรู้ได้... ไม่ใช่แค่เรื่องวัตถุดิบในท้องถิ่นแค่นั้น มันมีอะไรซ่อนลึกในกระบวนการพัฒนาชุมชนตั้งหลายอย่าง-น่าสนใจ ครับ


...

หมายเหตุ : นิสิตและบุคลากรวิชาพัฒนานิสิต

หมายเลขบันทึก: 588708เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2015 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 18:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)




ท่าน เป็นนักพัฒนาที่เยี่ยม ค่่ะ

มาเป็นกำลังใจให้กับการพัฒนาเยาวชนเช่นนี้ค่ะ


วิชาการทำให้มีงานทำ และกิจกรรมทำให้คนทำงานเป็นเร่ิมต้นจากส่ิงเล็กที่ทำร่วมกัน ก่อให้เกิไฟฝันที่มีพลังยิ่งใหญ่ สอนด้วยการเปิดโอกาสให้ได้ลงมือทำ ความสำเร็จจะผลักดันให้งดงาม

อยากเข้ามาซอดแทรกตรงนี้นิด..เพราะชอบมากๆ..กับคำว่ารั้วไม้ไผ่..(แทนที่เป็นไม้ไผ่ตายแล้วเป็นต้นไผ่ซึ่งมีถึงสามพันกว่าชนิด..และสูญสิ้นทรากไปแล้วเยอะเลย...)มาปลูกเป็นรั้ว..

ด้วยไม้ต่างชนิด..ต้นยาไม่ล้มลุก..ไม้กินได้...ยิงนกด้วยปัญญแทนใช้ลูกดอก..อิอิ..ไม่ต้องเสียเงินค่าสี..มีประโยชน์..ตลอดการ...

โครงการนี้เคยมี.เป็นทางการแต่.แล้วล่องหนหลายไปหลายร้อยล้าน..๕๕๕..

ถ้าเป็นงานที่นิสิต..คิดทำเอง..หรือ..ช่วยชาวบ้าน..วิจัย..ความเป็นไปได้...ถ้าทุกหมู่บ้าน.เริ่มสร้างที่รั้วบ้าน ตนเองได้..คง..มีผลพวงอีกเยอะแยะตามมา..

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด...(แอบคิดตามประสายายธี..อิอิ)...

ชอบใจการทำงานครับ

นิสิตได้เรียนรู้เรื่องในชุมชน ได้ศึกษาและทำงานกับชุมชนเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง

ผู้เรียนจะมีความสุขมากกว่าการเรียนรู้ในตำราครับ

ขอบคุณมากๆครับ

อ่านถึงตอน "ในมุมของผมเอง" ผมตกลงใจว่า ควรจะเริ่มถอดบทเรียนจากบล็อคของผู้เขียน และจัดเวทีตัวแทน"ผู้เรียน" ที่ผู้เขียนกล่าวถึง ... น่าจะเริ่มแบบนี้แหละ ...ถอดความสำเร็จ "จากปลายไปสู่ต้น" จาก "คนไปสู่ความ"...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท