ปี 2553 บทความ เรื่อง 2 ขั้วเสียง ของการประกวดเพลงลูกทุ่งหญิง ประมาณกาล พ.ศ.2538 – ปัจจุบัน (พ.ศ.2553)


ในการประกวดเพลงลูกทุ่งส่วนใหญ่ สิ่งที่ดึงดูดใจคณะกรรมการและส่งผลให้ได้รับการตัดสินว่าคุณได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ ความเป็นเงาเสียงของนักร้องต้นฉบับที่คุณเลือกเพลงเข้ามาประกวด

ในวงการการประกวดเพลงลูกทุ่ง นักร้องหญิงที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแบบฉบับแห่งกระแสเสียงที่มีคุณภาพโดยหลัก ๆ มีอยู่ 2 ท่าน คือ ราชินีลูกทุ่งพุ่มพวง ดวงจันทร์ ผู้ซึ่งล่วงลับไปแล้ว อีกท่าน คือ คุณสุนารี ราชสีมา ราชินีลูกทุ่งผู้เป็นดาวค้างฟ้าในยุคนี้ ทั้งสองท่านนี้มีความเป็นเอกลักษณ์ของเสียงที่แตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง เรียกได้ว่าอยู่กันคนละขั้วเลยก็ว่าได้

พุ่มพวง ดวงจันทร์ อยู่ในขั้วเสียงประเภท เสียงแหลม ช่วงเสียงไม่กว้างนัก แต่ยามฟังเสียงร้องเพลงช่างหนักแน่นแฝงไปด้วยพลังเสียง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการเปล่งเสียง สำเนียง ภาษาและการพูด การเป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรีคงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กลิ่นอายความเป็นลูกทุ่งชัดเจน ได้อารมณ์ในเพลงช้า เช่น ฝนซาฟ้าใส สยามเมืองยิ้ม ดาวเรืองดาวโรย หม้ายขันหมาก นักร้องบ้านนอก ฯลฯ และความจัดจ้านซ่อนเปรี้ยวของเสียงในเพลงเร็ว เช่น กระแซะ ผู้ชายในฝัน ฉันเปล่านะเขามาเอง นัดพบหน้าอำเภอ ฯลฯ

ขณะที่ สุนารี ราชสีมา อยู่ในขั้วเสียงประเภท เสียงทุ้ม ลึก เสียงใหญ่ ช่วงเสียงกว้าง จะบีบให้เล็กก็ทำได้ จัดเป็นโทนเสียงที่มีพลัง เพลงเร็วที่โด่งดัง ได้แก่ มอเตอร์ไซด์นุ่งสั้น เป็นต้น โดยส่วนใหญ่เพลงดังที่ได้รับการยอมรับของสุนารีจะได้แก่เพลงช้าเสียมากกว่า ทั้งนี้เพราะสุนารี สามารถร้องเพลงช้าได้หวานที่ซ่อนความหนักแน่นได้อารมณ์ความเป็นลูกทุ่งที่ชัดเจน ไม่ทำให้เพลงเสียอรรถรสทั้งผู้แต่งเพลงและผู้ฟัง สำหรับเพลงช้าที่โด่งดังของสุนารี เช่น สุดท้ายที่กรุงเทพฯ กลับไปถามเมียเธอดูเสียก่อน รายงานหัวใจ เรารอเขาลืม กราบเท้าย่าโม ฯลฯ นอกจากนี้แล้ว สุนารียังสามารถร้องเพลงในแนวลูกกรุงได้ดีไม่ทำให้เพลงเสีย คนฟังก็ไม่เสียความรู้สึก เช่น ชุดเพลงลูกกรุง คุณแม่ยังสาว เป็นต้น

ในปัจจุบันเพลงลูกทุ่งที่ผู้เข้าประกวดหญิงเลือกมาขับร้องมีหลากหลายมากขึ้น ในที่นี้หมายถึง นอกจากเพลงของพุ่มพวง ดวงจันทร์ และสุนารี ราชสีมา แล้วยังมีเพลงที่นำมาขับร้องประกวดของนักร้องท่านอื่น ๆ อีก เช่น ฝน ธนสุนทร, คัฑลียา มารศรี, จินตหรา พูลลาภ, ต่าย อรทัย, ดาว มยุรี, แมงปอ ชลธิชา, หลิว อาจารียา, กระแต โฟร์ทีน, ตั๊กแตน ชลลดา เป็นต้น อย่างไรก็ดีในการประกวดร้องเพลงจะแบ่งขั้วเสียงออกเป็น 2 สายเช่นเดิม คือ กลุ่มเสียงแหลม และกลุ่มเสียงทุ้ม,ใหญ่ และยิ่งถ้าเวทีไหนที่นักร้อง 2 ขั้วเสียงนี้ต้องเจอกันและร้องดีซึ่งหมายถึงนอกจากจะเป็นเงาเสียงของนักร้องต้นฉบับแล้ว ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ดีกันโดยทั้งคู่ ความหนักใจจะตกมาอยู่ที่กรรมการ เพราะอาจเกิดอาการที่เรียกว่า "กินกันไม่ลง" หรือไม่ก็ "รักพี่เสียดายน้อง" อย่างไรก็ดีช่วงเวลาการประกวดถือเป็นโอกาสทองทั้งของนักร้องผู้เข้าประกวดบางท่านและบรรดาแมวมอง โดยส่วนใหญ่พวกที่เป็นเงาเสียงได้ดีมักได้รับรางวัลชนะเลิศแต่ไม่ได้เป็นนักร้อง หรือถ้าได้เป็นก็ไม่โด่งดัง ทั้งนี้เพราะการเป็นเงาเสียงหรือการหลงอยู่ในความชื่นชอบชื่นชมนักร้องในดวงใจ จึงมัวแต่ตั้งหน้าตั้งตาเลียนแบบเขาทุกอย่างฝังใจกับความสำเร็จในการร้องเพลงในแนวทางของต้นแบบ ทำให้ไม่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ในวงการก็มีอยู่หลายคน แต่นักร้องที่ประสบความสำเร็จจากการร้องในแนวเสียงของคนดังใช่ว่าไม่มีเอาเสียเลย คัฑลียา มารศรี กับ ยุ้ย ญาติเยอะ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของคนที่เคยยึดการร้องในแนว พุ่มพวง คัฑลียา นั้นบางเพลงที่ร้อง ถ้าหลับตาฟังนึกว่าพุ่มพวง เพราะเก็บรายละเอียดได้ทุกเม็ด แต่ทั้งคู่พยายามหาเอกลักษณ์เฉพาะตัวออกมาได้ในภายหลัง และกลายเป็นเสียงต้นแบบของคนรุ่นต่อ ๆ มา สำหรับ คัฑลียา มารศรี นั้นกล่าวได้ว่าเป็นแบบการร้องอีกรูปแบบหนึ่งในยุคนี้ที่ขั้วเสียงเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง มีทั้งแหลม ทุ้ม และกว้าง จะให้คล้ายพุ่มพวงก็ได้ หรือสุนารีก็ดี น้ำเสียงของ คัฑลียา นั้นให้อารมณ์ทั้ง เผ็ด ดุ มัน หวาน เศร้า และบอกอารมณ์กลิ่นอายความเป็นลูกทุ่งได้อย่างชัดเจนเช่นกัน ถือเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้เข้าประกวดร้องเพลงลูกทุ่งหญิงในยุคนี้ เพลงของ คัฑลียา ที่นักร้องส่วนใหญ่หยิบขึ้นมาประกวดก็เช่น เขตปลอดคนลวง รอยแผลเป็น โรงแรมใจ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด เป็นต้น

กล่าวได้ว่าในการประกวดเพลงลูกทุ่งหญิงประมาณกาลช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 กระทั่งถึงปัจจุบัน มีทางเลือกของเพลงที่จะหยิบยกนำไปประกวดไม่น้อยนัก ซึ่งนั่นหมายถึงมีนักร้องดังหลายคนที่ผู้เข้าประกวดชื่นชอบ ซึ่งอาจเป็นเพราะตนสามารถเลียนเสียงให้คล้ายนักร้องคนนั้น ๆ ได้ หรือเพราะเพลงของนักร้องคนนั้น ๆ ดังเปรี้ยงปร้าง เป็นต้น อย่างไรก็ดีแม้ปัจจุบันแม้จะมีนักร้องหน้าใหม่ ๆ ที่นำเสนอน้ำเสียงที่มีเอกลักษณ์มีรูปแบบฉบับเฉพาะเป็นของตนเองออกมาหลายต่อหลายคน ค่านิยมในวงการประกวดเพลงลูกทุ่งก็ยังคงดำเนินไปอย่างเข้มแข็งที่จะมีขั้วเสียงที่แบ่งออกเป็น 2 สาย คือ พุ่มพวง ดวงจันทร์ และ สุนารี ราชสีมา


#งานเก่าเล่าใหม่ นิจพร นิจพรพงศ์ เขียน

หมายเลขบันทึก: 588704เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2015 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2015 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท