เราเดินทางไกล เพียงเพื่อจะกลับบ้าน
ผมเชื่อเช่นนี้มาเนิ่นนาน หากแต่คำว่ากลับบ้านของผมไม่ได้หมายถึง การได้กลับไปกินนอน-ใช้ชีวิตที่บ้านที่เราเกิดมา หรือบ้านที่เราได้ปลูกสร้างขึ้น
บ้าน หรือการกลับบ้านในที่นี้หมายถึง การรู้สึกและสัมผัสได้ว่าตัวเราก่อเกิดมาจากที่ไหน โตมาจากอะไร มีจุดมุ่งหมายใด อะไรคือฝั่งฝัน อะไรคือสิ่งที่สำเร็จแล้ว และอะไรคือสิ่งที่ล้มเหลว หรือกระทั่งยังไม่สำเร็จ
สำหรับลูกๆ แล้ว ผมไม่รู้หรอกว่าคำว่าบ้านในมุมของเขาจะหมายถึงอะไร วันนี้อาจจะหมายถึงแค่บ้านที่เป็นสถานที่เกิด (บ้านเกิดเมืองนอน) สถานที่ๆ รายล้อมไปด้วยญาติมิตร ฯลฯ หรือกระทั่งเมื่อโตขึ้นแล้ว บ้านในมุมคิดของเขาจะหมายถึงอะไร ก็เกินหยั่งรู้ คาดเดาได้ เพราะทุกสิ่งอย่างก็ขึ้นอยู่กับว่า พวกเขาจะรู้สึกกับคำว่าบ้านอย่างไร และมีหมุดหมายต่อคำว่าบ้านอย่างไร
แต่ไม่ว่าอนาคตกาลจะเปลี่ยนแปลงไปจากวันนี้แค่ไหน ผมจะมีลมหายใจยาวนานพอที่จะอยู่ได้เห็นลูกเติบโตเป็นหนุ่มสาว บรรลุนิติภาวะได้หรือไม่ ซึ่งสภาวะเช่นนั้น เขาคงบอกได้ว่า “บ้าน คืออะไร”
ก็ด้วยความที่ว่ามันยาวนานเกินหยั่งรู้ สิ่งหนึ่งที่ผมจำต้องบ่มเพาะไว้กับเขาให้ได้มากที่สุดก็คือการทำให้เขาได้มีต้นทุนชีวิตที่หนักแน่นกับ “รากเหง้า” อันเป็น “รกหญ้า” ของเขาเอง
ครับ-รากเหง้าและรกรากที่ว่านี้ ผมหมายถึงการมุ่งพยายามส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกๆ ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของเครือญาติให้ได้มากที่สุด เป็นการสัมผัสแตะต้องบนผืนแผ่นดิน “บ้านเกิด” ของผมเองซึ่งกระบวนการแตะต้องสัมผัสที่ว่านี้ผมจะจัดวางไว้อย่างเนียนนุ่มในช่วงปิดเรียน หรือปิดห้วงยาวๆ เป็นสำคัญ จนเป็นที่มาที่ไปของวาทกรรม “ส่งลูกไปเรียนพิเศษที่บ้านนอก” นั่นเอง
ปีนี้ก็เช่นกัน (ตุลาคม ๒๕๕๗) หลังการสอบปลายภาคเรียนต้นเสร็จสิ้นลง ผมไม่ลังเลที่จะพาพวกเขากลับไปอยู่ที่บ้านเกิดของผมที่จังหวัดกาฬสินธุ์ -
จริงๆ ผมไม่ได้บีบเร่ง กะเกณฑ์ใดๆ ให้เขาได้กลับบ้านเท่าใดนัก แต่ก็เป็นเสียงเรียกร้องของพวกเขาเองแหละ เพียงแต่ครานี้ ลูกๆ มักจะพูดว่า “คึดฮอดแม่ย่าเนาะ”
ปิดเทอมคราวนี้ ลมหนาวดูเหมือนจะมาทักทายเป็นระยะๆ เร็วขึ้น การกลับบ้านเช่นนั้น มันทำให้เด็กๆ คิดถึง “ย่า” ที่จากไปเมื่อปลายปีที่แล้ว เพราะโดยปกติแล้ว การปิดเทอมเด็กๆ จะมีความสุข และสนุกกับการได้ใช้ชีวิตอยู่ใกล้ๆ กับ “แม่ย่า” โดยเฉพาะน้องแดน เรียกได้ว่า ไม่เคยห่างจากย่าเลย เคยตำหมาก จัดแต่งข้าวปลา บีบแขนบีบขาให้ “แม่ย่า” อยู่เนืองๆ ในยามเข้านอนก็จะนอนกับแม่ย่าเป็นหลัก
การส่งลูกกลับไปเรียนพิเศษที่บ้านนอกเช่นนี้ ผมถือเป็นการบ่มเพาะทุนชีวิตบนรากเหง้าหรือรกรากของเขาเอง เป็นรากเหง้า (รกราก) ผ่านนิยามของคำว่า “บ้าน” ตามมุมมองของผม แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า โตขึ้น หรือสภาวะหนึ่งลูกๆ จะนิยามคำว่า “บ้าน” เหมือนกับผม เพียงแต่ผมกำลังทำหน้าที่แห่งการบ่มเพาะ-ฉีดวัคซีนบางสิ่งบางอย่างให้กับพวกเขาอย่างสุภาพ นุ่มเนียน ค่อยเป็นค่อยไป
ครับ-เราล้วนเดินทางไกลเพียงเพื่อจะกลับบ้าน
บ้าน-ในนิยามของแต่ละคน ย่อมมีนิยามที่แตกต่างกันไป
วันนี้คำว่าบ้าน หรือการกลับบ้านในมุมของผมหมายถึง การรู้สึกและสัมผัสได้ว่าตัวเราก่อเกิดมาจากที่ไหน โตมาจากอะไร มีจุดมุ่งหมายใด อะไรคือฝั่งฝัน อะไรคือสิ่งที่สำเร็จแล้ว และอะไรคือสิ่งที่ล้มเหลว หรือกระทั่งยังไม่สำเร็จ
การส่งให้ลูกได้กลับไปเรียนพิเศษที่บ้านนอกในวาระนี้ จึงเป็นหนึ่งในการบ่มเพาะวัตถุดิบบางอย่างไว้ในตัวตนของพวกเขา เผื่อว่าวันหนึ่งหากเขาต้องนิยามคำว่าบ้าน หรือการกลับบ้านเหมือนที่ผมนิยามในวันนี้ พวกเขาจะได้มีต้นทุน-วัตถุดิบเพื่อนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ตอบกับตัวเองได้...
๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๗
บ้านเหล่าหลวง ต.ภูดิน อ.เมือง
จ.กาฬสินธุ์
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย แผ่นดิน ใน pandin
กลับคืนสู่รากเหง้า