ชาววังเทวะเวสม์ (๒)
ในแต่ละวัน ห้องทำงานของข้าพเจ้า ไม่เคยว่างเว้นผู้มาเยือนจาก
ต่างประเทศที่เข้ามายื่นข้อเสนอขอจัดตั้งธนาคาร หรือ ยกระดับ
สำนักงานตัวแทนของธนาคารตนในประเทศไทย หลายรายมาเยือน
พร้อมกับอุปทูต เพื่อหว่านล้อมด้วยภาษาดอกไม้หอมกรุ่นไปทั่วห้อง
บางกรณีหอบรายการธุรกรรมทางการเงินหน้าตาแปลกๆมาขออนุญาต
ขายผลิตภัณท์แก่ลูกค้าไทย ซึ่งข้าพเจ้าสามารถคุยกับพวกเขาได้อย่าง
อิสระ ปราศจาก "ไฟเขียว" เปิดทางผ่านตลอดแม้แต่รายเดียวจากผู้
บังคับบัญชาคำตอบที่พวกเขาได้รับกลับไป จึงเป็นแนวขอรับการ
สนทนาไว้เป็นข้อมูล พร้อมให้การบ้านยากๆ ไปศึกษาผลดี-ผลเสีย ที่
ประเทศไทยพึงได้รับจากธนาคารต่างชาติเหล่านี้ รวมทั้งกรณีศึกษาที่
แสดงความสำเร็จมาแล้วในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ไม่เกิดการขัด
แย้งกับผลประโยชน์ทางธุรกิจการเงินของธนาคารท้องถิ่น
ด้วยตระหนักดีถึงการเตรียมพร้อมของธนาคารไทย ที่จะต้องเพิ่ม
ความแข็งแกร่งให้เท่าเทียมกับธนาคารต่างประเทศมากกว่าที่เป็นอยู่
และในขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเสริมสร้างกฏเกณท์
เพิ่มเติมในการกำกับสถาบันการเงินให้เกิดเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อ
รองรับธุรกรรมทางการเงินใหม่ๆ และการแข่งขันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
อย่างรวดเร็ว ข้าพเจ้าจึงได้ถูกส่งไปสัมมนาด้านกฏเกณท์ใหม่ๆที่องค์กร
การเงิน BIS (ฺBank for International Settlements) @ Basel
ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เป็นเวลาสามสัปดาห์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับนำ
มาสร้างป้อมปราการรองรับกระแสการเงินโลกที่ตั้งเค้าถาโถมสู่
ประเทศไทย ในระยะต่อมา
แม้การพิจารณาอนุญาตธนาคารต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบ มีข้อจำกัด
ด้วยเหตุผลปกป้องการแข่งขันกับธนาคารไทยหลายประการ ซึ่งต่อมา
ทางการยอมให้เพียงเปิดทำการเฉพาะบางธุรกิจการเงิน ที่มีแหล่งเงิน
จากต่างประเทศ ในฐานะ BIBF (Bangkok International
Banking Facilities) จำนวนหนึ่งของธนาคารต่างช่าติที่เคย
มีประวัติการดำเนินงานดีเป็นระยะเวลายาวนานในประเทศไทยเท่านั้น
อย่างไรก็ตามเงินนำเข้าอัตราดอกเบี้ยต่ำ กลับไหลผ่านเข้ามาจาก
สำนักงานเหล่านี้ ทั้งสู่สถาบันการเงินไทยหลายแห่ง และตรงไปยัง
ธุรกิจภาคเอกชนที่เร่งขยายการดำเนินงานในแทบทุกภาค โดยเฉพาะ
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จนขยายตัวเป็นภาวะเศรษฐกิจ "ฟองสบู่" รวมทั้ง
เพื่อเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดยอดหนี้สิน
ของประเทศมหาศาล เกินกว่าทรัพย์สินของประเทศจะรองรับได้อย่าง
เหมาะสม จนทางการต้องประกาศลอยตัวอัตราแลกเปลี่ยนตามสภาพ
ตลาดในขณะนั้น ส่งผลให้หนี้สินเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นหลายเท่า
ตัว กระทบต่อสภาพคล่องสถาบันการเงินในประเทศเป็นจำนวนมาก จน
ทางการต้องสั่งปิดการดำเนินงานมากถึง ๕๖ แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น
บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เกิดเป็นวิกฤตการณ์ "ต้มยำ
กุ้ง" ขยายผลไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ อยู่ช่วง
หนึ่งกว่าที่จะฟื้นตัวได้
...........................................................................
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นงนาท สนธิสุวรรณ ใน เส้นทางชีวิต..ใครลิขิต
เป็น ประวัติศาสตร์ รากฐานที่มาทางระบบเศรษฐกิจ ที่มีคุณค่า ค่ะ
ขอบคุณ ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ ดีดี นะคะ