สุข ๘ จาก ๘ ผลงานของ ๘ กัลยาณมิตร (ตอนที่ ๑)


เมื่อศึกษาพบว่า Happy Ba กล่าวถึง "Happy ๘" ผู้เขียนจึงได้เลือกบันทึก ๘ เรื่อง ของกัลยาณมิตร ๘ ท่าน ที่มีเนื้อหาเข้าได้กับ “Happy ๘” เรื่องละ "Theme" ไม่ซ้ำกัน ไปถอดบทเรียน


เนื่องจากผู้เขียนไม่ได้ร่วม "กิจกรรม Happy Ba Creation" มาแต่แรก  แต่ได้รับเกียรติจาก “คุณ Sila Phu-Chaya” เชื้อเชิญให้ร่วมส่งบันทึก 5 เรื่อง และร่วม "กิจกรรมถอดบทเรียนการจัดการความสุข" จึงได้พยายามศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวข้อง และศึกษาโจทย์ที่ได้รับให้เข้าใจ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง ซึ่งคุณศิลาได้ชี้แจงในบันทึกเรื่อง “ร่วมถอดบทเรียนการจัดการความสุข Happy Ba e-book" (http://www.gotoknow.org/posts/535918) ว่า ให้ทำ ๔ อย่าง คือ ) เลือกอ่านบันทึกใดก็ได้ ที่ท่านชื่นชอบจากบันทึกที่กัลยาณมิตรของเราคัดเลือกไว้แล้ว บันทึกที่ท่านเลือกอ่านจะเป็นของท่านใด "กี่ท่านก็ได้ กี่บันทึกก็ได้" ที่สำคัญคือโปรดอ้างอิงชื่อเจ้าของบันทึกและชื่อบันทึกด้วย ๒) ถอดบทเรียนบันทึกที่ท่านอ่าน ท่านได้"ประโยชน์" + "ความสุข" อะไรจากบันทึกที่กัลยาณมิตรของพวกเราถ่ายทอดแบ่งปันให้พวกเราได้เรียนรู้ โดยจะเขียนสไตล์ไหนก็ได้…ท่านอาจจะนำมาเชื่อมโยงกับบันทึกที่ท่านมีอยู่แล้วก็ได้๓) ใส่คำสำคัญว่า Happy Ba ในบันทึกของท่าน ๔) แปะ link บันทึกของท่านไว้ในบันทึกนี้เท่านั้น ภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖

ผู้เขียนได้ออกแบบการถอดบทเรียน ให้เป็นไปตามตามเงื่อนไขที่คุณศิลากำหนดไว้ และเหมาะกับวัย เวลาที่มี และศักยภาพของตน เพื่อจะได้ไม่เป็นการเบียดเบียนตนเองในการทำงานนี้ให้ทันตามกำหนดเวลา ซึ่งจะนำไปสู่ "ประโยชน์ + ความสุข" อย่างแท้จริง ตามเจตนารมณ์ของโครงการ เมื่อศึกษาพบว่า Happy Ba กล่าวถึง "Happy ๘" (http://www.gotoknow.org/posts/532394) ผู้เขียนจึงได้เลือกบันทึก ๘ เรื่อง ของกัลยาณมิตร ๘ ท่าน ที่มีเนื้อหาเข้าได้กับ “Happy ๘” เรื่องละ "Theme" ไม่ซ้ำกัน ไปถอดบทเรียน เริ่มแรกนั้น ผู้เขียนได้ลงบันทึกการถอดบทเรียนทั้ง ๘ เรื่องในบันทึกนี้บันทึกเดียว แต่ในภายหลังที่เข้าไปดู พบว่า เนื้อหาจากตอนท้ายของเรื่องที่ ๖ - เรื่องที่ ๘ หายไป ซึ่งคงเกิดจากความยาวเกินกำหนดส่วนที่เกินเลยถูกตัดออกโดยอัตโนมัติ เพื่อความสมดุล ผู้เขียนเลยปรับให้บันทึกนี้เป็นตอนที่ ๑ ลงเนื้อหาการถอดบทเรียนบันทึก ๔ เรื่อง ตาม "Theme Happy" ในแถวบนของภาพ ส่วนอีก ๔ เรื่องตาม "Theme Happy" แถวล่าง จะนำไปใส่ไว้ในบันทึกตอนที่ ๒ (ต้องขออภัยกัลยาณมิตรทุกท่าน ทั้งท่านที่เป็นเจ้าของบันทึก และท่านที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้วยนะคะ ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น)  

๑) Theme “Happy Family : สุขครอบครัว” เลือกบันทึกของ “คุณนงนาท สนธิสุวรรณ" ที่ลงประมาณ ๘ เดือนที่แล้ว เรื่อง “ลูกรักหวังเป็นที่พึ่ง...ฝากบ้านช่องให้ดูแลเมื่อจากไป” (http://www.gotoknow.org/posts/508865)

 

"สุขครอบครัว : Happy Family" เกิดจากความอบอุ่น มั่นคงและความรักความผูกพันที่สมาชิกในครอบครัวมีต่อกัน ผู้เขียนได้เลือกบันทึกของ “คุณนงนาท สนธิสุวรรณ หรือ พี่ใหญ่” มาเป็นตัวอย่างแสดงภาพดังกล่าว "พี่ใหญ่" ที่ผู้เขียนเรียกขานด้วยความเคารพรัก และยึดเป็น “บุคคลต้นแบบ (The Idol) ในการดำเนินชีวิตหลังเกษียณอายุราชการ (ในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๕) ได้กล่าวไว้ในตอนต้นของบันทึก ว่า “ด้วยความรักและไว้วางใจในลูกสาวคนโต พ่อได้สั่งเสียไว้ในพินัยกรรม ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ครอบครองดูแลบ้านของท่าน (ที่เห็นเป็นบ้าน ๒ ชั้นสีขาว) หลังจากที่ท่านได้ถึงแก่กรรมเมื่อสี่ปีที่ผ่านมา...นับว่าโชคดีที่เมื่อแต่งงานมิได้จากไปไกล โดยมีเรือนหอทรงไทย…ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน (ภาพขวาสุด) มีโอกาสได้ใกล้ชิดไปมาหาสู่อยู่ตลอดเวลา…ข้าพเจ้าได้ชักชวนน้องๆ หากใครจะสมัครใจย้ายมาอยู่ โดยข้าพเจ้าจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมต่อเติมทั้งหมด แต่ไม่มีผู้ใดอาสาเข้ามาอยู่อาศัย ทั้งๆ ที่ทุกคนต่างเติบโตขึ้นมาจากบ้านหลังนี้ ข้าพเจ้าจึงเฝ้ารอรุ่นหลานปู่ในสายเลือด ๓ คน…ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากลูกชายสองคนของพ่อ ที่อาจจะรับมรดกนี้ต่อจากข้าพเจ้า...” อ่านท่อนนี้แล้ว ทำให้ผู้เขียนมีความสุขที่ได้จินตนาการเห็นภาพความรักความอบอุ่น จากการได้อยู่ใกล้ชิดและไปมาหาสู่กันของครอบครัวพี่ใหญ่กับครอบครัวของคุณพ่อคุณแม่ (ต่างจากผู้เขียนเองที่ไม่มีโอกาสดีๆ เช่นนั้น) และชื่นชมในความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อน้องๆ ของพี่ใหญ่ ที่บอกจะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการซ่อมแซมต่อเติมบ้าน ถ้าจะมีใครย้ายเข้าไปอยู่

ผู้เขียนรู้สึกซาบซึ้งใจมากขึ้น เมื่อได้อ่านและรับรู้ในสิ่งที่พี่ใหญ่ได้ปฏิบัติต่อบ้านของคุณพ่อคุณแม่ และคิดว่า ในยุคสมัยนี้และต่อๆ ไป จะยังมีภาพของความรักความกตัญญูของลูกต่อพ่อแม่เช่นนี้ ให้เห็นอีกหรือไม่ “ในระหว่างนี้ ข้าพเจ้าได้เข้าไปดูแลปัดกวาด รักษาภูมิทัศน์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยทุกๆ วัน ไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อย หากแต่ทำไปด้วยความรักผูกพันและรำลึกถึงพ่อ-แม่ มองไปที่มุมไหนของบ้าน ยังจำได้เสมอว่า ท่านทั้งสองเคยอยู่อาศัยอย่างมีความสุขเป็นเวลายาวนานกว่า ๕๐ ปี ประเภทต้นไม้ส่วนใหญ่ ยังคงปลูกไว้เช่นเดียวกับพืชพันธุ์ที่เคยเป็นอยู่เดิม ซึ่งทำนุบำรุงไม่ยาก ทนแดด ทนฝน ขอเพียงหมั่นรดน้ำตัดกิ่งใบอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยทอดทิ้งรกเรื้อเป็นที่สังเวชใจ หมู่โต๊ะเก้าอี้ที่พ่อ-แม่เคยนั่ง ข้าพเจ้ายังจัดวางไว้ที่เดิมและหาโอกาสใช้สอยเป็นที่พักผ่อนรับประทานอาหารเช้า และอ่านหนังสือพิมพ์ หรือนั่งชมนก ชมไม้ ในยามว่างเสมอๆ เก็บรักษาไว้ดั่งปูชนียวัตถุ เพื่อรำลึกถึงท่านทั้งสองด้วยความรักผูกพันไม่ลืมเลือน(ภาพโต๊ะเก้าอี้สีขาว ตรงกลางระหว่างบ้านสองหลัง)

ผู้เขียนได้แสดงความเห็นในบันทึกนี้ของพี่ใหญ่ ตอนหนึ่งความว่า “น้องรู้สึกซาบซึ้งใจมากค่ะ ในสิ่งที่พี่ใหญ่ปฏิบัติต่อบ้านที่คุณพ่อมอบให้เป็นผู้ดูแล นับว่าพี่ใหญ่โชคดีมากนะคะ ที่มีโอกาสได้อยู่ใกล้ชิดบุพการีจนทั้งสองท่านสูงวัย และได้รับความไว้วางใจให้ดูแลบ้านให้หลังจากท่านจากไป พ่อของน้องจากไปตอนน้องอายุประมาณ ๔ ขวบ และน้องก็ได้อยู่บ้านแม่แค่เรียนจบประถม ๔ จากนั้นก็ออกจากบ้านไปเรียน เรียนจบก็ทำงานในจังหวัดที่ไกลแม่ ขอให้ท่านไปอยู่ด้วยหลังท่านเกษียณจะได้มีโอกาสดูแล ท่านก็ด่วนจากไปก่อน (ปี ๒๕๒๗) บ้านของแม่รื้อให้น้องชายคนเล็กไปปลูกในเมือง น้องต้องปลูกดอกบานเย็นที่เป็นสัญลักษณ์ของแม่ ไว้ใกล้ตัว เพื่อให้รู้สึกว่าแม่อยู่ใกล้ๆ (น้องเก็บเมล็ดพันธุ์บานเย็นจากบ้านแม่ที่ยโสธร ไปปลูกที่บ้านพักอาจารย์วิทยาลัยครูสุรินทร์ในปี ๒๕๒๐ ที่น้องบรรจุเข้ารับราชการหลังจบปริญญาโท จากนั้นก็เก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อเนื่องมาจนปัจจุบันค่ะ”

ประโยชน์โดยตรงที่ผู้เขียนได้รับจากการอ่านบันทึกนี้ ก็คือ ทำให้ผู้เขียนได้รับการสะกิดเตือนให้นึกถึง “บ้านเรือนขวัญ” ของตน ที่ตั้งอยู่ใน อ.เมือง จ.อุบลฯ ว่าจะจัดการอย่างไรต่อไปในอนาคต เพราะ ณ ขณะนี้ ไม่มีใครอยู่อาศัย ผู้เขียนเองหลังเกษียณอายุราชการก็ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้าน "ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" ที่ อ.วารินชำราบ จะกลับไปดูแลรดน้ำต้นไม้สัปดาห์ละครั้ง ส่วนลูกๆ ก็มีที่อยู่และที่ทำงานในกทม. ทั้งสองคน

 

๒) Theme “Happy Money : สุขการเงิน” เลือกบันทึกของ “ทพญ.ธิรัมภา” ที่ลงประมาณ ๑๑ เดือนที่แล้ว เรื่อง “ข้าวในนา ปลาในสระ” (http://www.gotoknow.org/posts/497115)

 

"สุขการเงิน : Happy Money"  เกิดจากการประกอบสัมมาชีพ มีรายได้เลี้ยงตนและคนในครอบครัว ให้อยู่สุขสบายตามควรแก่ฐานะ และไม่มีหนี้สิน ...ประมาณ ๑๑ เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้คลิกเข้าไปอ่านบันทึกของ “ทพญ.ธิรัมภา” เรื่อง "ข้าวในนา ปลาในสระ" เพราะสนใจในชื่อเรื่อง เและเมื่อได้อ่านก็เกิดปิติสุขในหัวใจ ที่ได้เห็นภาพนาข้าวสีเขียวในมุมมองต่างๆ ทำให้ตกภวังค์ไปชั่วขณะ ด้วยหวนระลึกถึงชีวิตในวัยเยาว์ครั้งเมื่ออยู่กับแม่ในชนบท แม่เป็นครู พ่อที่เป็นครูใหญ่จากไปแล้ว พวกเราไม่มีนาของตัวเองแต่วันหยุดเรียนผู้เขียนขอไปนากับอาบ่อยๆ เพราะชอบท้องทุ่งสีเขียวขจีรอบตัว มองเห็นยอดข้าวพริ้วไหวตามแรงลม ได้เล่นน้ำกับลูกๆ ของอาตามประสาเด็กๆ ในขณะที่ผู้ใหญ่ดำนาเสียงจ๋อมแจ๋มๆ เป็นจังหวะอย่างสม่ำเสมอ...นับเป็นชีวิตที่มีความสุขมากช่วงหนึ่ง

ประโยชน์ที่ได้รับจากการอ่าน คือ เป็นการกระตุ้นจิตสำนึก ให้เห็นคุณค่าของอาชีพการทำนา ที่บรรพบุรุษได้สืบทอดมา และต้องการรักษาให้อยู่คู่คนไทยไปตราบนานเท่านาน จากการที่ “ทพญ.ธิรัมภา” ได้บรรยายให้เห็นภาพความยากลำบากของบรรพบุรุษ ในการหักร้างถางพงกว่าจะมาเป็นที่นาให้ได้ทำกินเลี้ยงชีพอยู่ในปัจจุบัน ความว่า “กว่าบรรพบุรุษจะเลือกทำเลใกล้น้ำ หักร้างถางป่า ตัดต้นไม้กลายเป็นฟืน เผาถ่านเรียงใส่กระสอบไว้ใช้เป็นเชื้อเพลิงนึ่งข้าว เตรียมพริก เกลือ ปลาร้า ครก หม้อนึ่ง หวด เครื่องใช้ เตรียมตัวนอนนา ตลอดฤดูฝนที่เหมาะต่อการทำนา ไม่ใช่ปีเดียว กว่าดินจะโล่งเป็นผืนต่อกัน คั่นเพียงคันนาที่ดินต่างระดับ การ ซ่าวโคกที่ดินสูง ไถดินฝังกลบหญ้าจนตาย  ซะดินปั้นคันนา ปรับระดับดินให้น้ำเข้านาได้ ไถอย่างน้อย ๒  รอบ  คราดหญ้าออกให้หมด  เก็บเศษรากไม้ทิ้งออกไว้คันนา น้ำพอ ดินละเอียดพอหว่านกล้า...และรอคอยใช้เวลาและการสังเกตทางน้ำ  เปิด ปิดคันนาในเวลาเหมาะ  ให้น้ำขังพอเลี้ยงต้นกล้าเติบโตต่อได้และได้สรุปว่า “ศาสตร์สั่งสม สังเกต ขวนขวาย เพิ่มความรู้ คือ ทางรอดที่จะรักษาการทำนาและสมบัติบรรพบุรุษไว้ได้ ไม่ให้กลายร่างเป็นสมบัติคนต่างชาติ ที่ณ วันนี้ถูกเปลี่ยนมือไปแล้ว ๑ ใน ๓ ของประเทศ”

ผู้เขียนเคยดูรายการโทรทัศน์ ที่สัมภาษณ์ชาวนาคนหนึ่งในภาคกลาง ที่ได้ขายที่นาให้กับนายทุนชาวญี่ปุ่น เพราะเห็นแก่เงินก้อนใหญ่ที่จะได้รับ หลังจากนั้นต้องเช่านาของตนเองทำกิน หลายปีเข้าก็รู้ว่าตนคิดผิด เพราะเงินที่ได้จากการขายนาก็หมดไปแล้ว ไหนยังต้องใช้เงินเช่าที่ทำกินอีก ที่เจ็บใจก็คือต้องเช่าที่นาที่เคยเป็นของตนมาก่อน นี่แหละนะ คือผลของการไม่ดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy)” ที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ให้ ผู้เขียนเองเคยเขียนไว้ในตอนต้นของบันทึกเรื่อง “สุขกาย-สุขใจ ใต้ร่มเงาฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ (ตอนที่ ๒) (http://www.gotoknow.org/posts/442600) เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” ๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ ว่า “ถึงแม้ผู้เขียนจะไม่ใช่ลูกแต่ก็เป็นหลานของชาวนา เทิดค่า "ข้าว" ทุกเม็ดที่ชุบเลี้ยงให้เติบโต” (ชีวิตหลังเกษียณ ผู้เขียนได้ผันตนเองไปเป็นเกษตรกรแบบพอเพียงที่ “ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้” ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่มีทุ่งนาของเพื่อนบ้านล้อมรอบ๓ ด้าน ให้ได้ดูด้วยความสุขใจ)

 

สองสามวันที่ผ่านมา มีการเสนอข่าวว่า การส่งออกข้าวของไทยประสบปัญหาถูกกีดกันทางการค้า ด้วยมีการตรวจพบสารเคมีตกค้างในข้าว และเช้าวันนี้ "คุณ SR" ได้เขียนอนุทินเรื่อง "คุณภาพข้าวไทย และ คุณภาพชีวิตชาวนาไทย?" ความว่า "Should rice growers look to ensure their product rice quality? Their market (for rice) is eroding (by recent market perception). Thailand has enjoyed being the best producer of best rice in the world. But now that is no longer the position. Thai rice growers now have more to do to regain market trust and market share. Their livelihood and quality of life and that of their children who follow them are now under threats. (Other farmers too will need to consider their positions.) They need to ensure quality of their products in order to ensure their quality of life in the long term. และผู้เขียนได้แสดงความเห็นเป็นภาษาอังกฤษแบบกระท่อนกระแท่นว่า "Khun SR, my opinion, to ensure quality of farmers' products in order to ensure their quality of life in the long term, needs helps from various stakeholders, for they seem cannot reach the addressed goal by themselves."

๓) Theme “Happy Body : สุขกาย” เลือกบันทึกของ “คุณกานดา น้ำมันมะพร้าว” ที่ลงประมาณ ๗ เดือนที่แล้ว เรื่อง “ความสุขกับครอบครัวอบอุ่น อาหารยอด สิ่งแวดล้อมเยี่ยม บ้านแม่ตาด อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่” (http://www.gotoknow.org/posts/510121)

 

"สุขกาย : Happy Body" เกิดจากการมีสุขภาพกายที่ดี ผู้เขียนเองนิยม "การมีสุขภาพดีด้วยวิถีธรรมชาติ" ซึ่งกัลยาณมิตรที่ได้ให้ความช่วยเหลือในแนวทางดังกล่าวมาตลอด ก็คือ "คุณกานดา น้ำมันมะพร้าว" ที่ผู้เขียนเรียกขานว่า "น้องดา" เพราะเธอได้เขียนบันทึกให้ความรู้ทั้ง รูปร่างหน้าตา คุณค่าของพืชผักสมุนไพรแต่ละชนิด โดยอ้างอิงข้อมูลการวิจัย หรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ประกอบ ตลอดจนบอกถึงการนำไปทำอาหารและเครื่องดื่ม ที่บอกส่วนประกอบและขั้นตอนการทำอย่างละเอียด มีภาพประกอบชัดเจน อ่านแล้วก็สามารถนำไปทำตามได้ง่าย ผู้เขียนเองยังได้นำไปทำตามบ่อยๆ และยังได้นำบันทึกของเธอไปรวบรวมไว้ใน Folder "แหล่งเรียนรู้ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" เพื่อศึกษาในภายหลังอีกด้วย

 

แต่ในบันทึกของเธอที่นำมาถอดบทเรียนนี้ เป็นเรื่องเล่าที่น้องดาไม่ได้เป็นแม่ครัวเอง แต่เป็นแขกที่ได้รับเชิญให้ไปรับประทานอาหารที่บ้านของ "คุณอักขณิช" ที่น้องดาเรียกว่า "น้องเพลิน" น้องดาเล่าว่า... (ยกมาบางตอน)  

น้องเพลินชวนไปเก็บดอกโสน โดยไปรถมอเตอร์ไซค์ซ้อน ๔ คนเลย ดอกโสนบางต้นดอกหมดแล้ว แต่ก็ยังมีเหลือให้พอเก็บไปจิ้มน้ำพริกได้บ้าง พี่ดาเก็บทั้งดอกและยอดซึ่งทราบมาว่ากินได้เช่นกัน…วกรถกลับแวะเก็บผักกูดอ่อนๆ ข้างร่องน้ำแห้งริมคันนาติดถนน แล้วแวะเก็บผักกาดดอย ดอกสีม่วงอมชมพู…น้องเพลินพาแวะชมดงดอกบัวตอง มองเข้าไปสะดุดตากับต้นขี้เหล็กอเมริกันต้นใหญ่ดอกสะพรั่งเต็มต้น เก็บภาพดอกบัวตองกันก่อนกลับเข้าบ้าน ถึงบ้าน…ก่อนเข้าไปช่วยคุณยาย พี่ดาเก็บดอกแคแดง-ยอดอ่อน ข้างบ้าน ช่วยคุณยายเด็ดผักชะอมทอดไข่…น้องเพลินมาชวนไปถีบจักรยาน เพราะใกล้ค่ำแล้ว ความที่ไม่ได้ถีบจักรยานมานานหลายปี ถีบช่วงแรกๆ รู้สึกเมื่อยขา สักพักก็หาย มีช่วงหนึ่ง ๒ ข้างทางยาวทีเดียว มีดงดอกหญ้าสวยงาม มีนกตัวใหญ่บนยอดไม้หลายตัว ตะวันใกล้ลับฟ้าก็ชวนกันกลับ ถึงบ้านคุณยายกำลังลวกผักอาหารเสร็จหลายอย่างแล้ว พี่ดาช่วยคุณยายแกะหน่อไม้ เมื่ออาหารพร้อมหมด ก็ตั้งวงอิ่มอร่อยกับอาหารผักสดๆเด็ดด้วยมือเรา น้องเพลินยังไปเก็บยอดใบมันปูมาเพิ่มอีก น้องเพลินลองนับผักจิ้มน้ำพริกมีกี่อย่าง นับได้ ๑๑ อย่าง…”

อ่านแล้วก็มีความสุขตามไปด้วย ที่เห็นการต้อนรับของเจ้าของบ้านแบบอบอุ่นเป็นกันเอง และให้แขกมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ทั้งการเก็บผัก การปั่นจักรยานออกกำลังกาย กินลมชมวิวสูดอากาศบริสุทธิ์ ทำให้ได้ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ อาหารที่รับประทานก็มาจากผักที่สดใหม่ปรุงแบบเรียบง่าย มีหลากหลายชนิดที่ให้คุณค่าทางอาหารต่างกัน เป็นประโยชน์ คือ ได้ตัวอย่างที่ดีในการสร้างความสุขกายสุขใจให้กับแขกที่เชิญให้ไปทานข้าวที่บ้าน สำหรับประโยชน์โดยตรงของผู้เขียนเอง ก็คือ ทำให้นึกได้ว่า เคยขอเมล็ดโสนไปปลูกซึ่งคุณอักขณิชบอกว่า เตรียมไว้ให้แล้ว ได้เวลาทวงให้ส่งไปให้ก็คราวนี้แหละค่ะ  

 

๔) Happy Society : สุขสังคม” เลือกบันทึกของ “คุณวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei" ที่ลงประมาณ ๖ เดือนที่แล้ว เรื่อง “เก็บตะวัน เก็บใจ ไปทบทวนงานที่ผ่านมา Happy Ba ก่อนนอน”  (http://www.gotoknow.org/posts/514011)

 

"สุขสังคม : Happy Society" เกิดจากสังคมที่สมาชิกมีความเอื้ออาทรแบ่งปันกัน  และบุคลากรในองค์กรทางสังคม ได้ทำงานด้วยความทุ่มเทเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร "คุณวอญ่าฯ" เป็นผู้ที่มีภาพลักษณ์ในการอุทิศตนเพื่องานขององค์กรอย่างเด่นชัดหาตัวจับยาก (ในสายตาของผู้เขียน) ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของท่าน ก็คือ พร้อมที่จะเดินทางไปพบปะกัลยาณมิตร GotoKnow ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของประเทศ ในกิจกรรมการประชุมสัมมนานั้น แม้กำหนดการจะมีเวลาคาบเกี่ยวกัน ท่านยังจัดการได้ไม่มีปัญหา ลองอ่านข้อความบางตอนที่ผู้เขียนยกมาจากบันทึกของท่านดูนะคะ... 

"การเดินทางคือการทำงาน การทำงานคือการพักผ่อน" เป็นสิ่งที่ผู้เขียนย้ำคิดย้ำทำ พร่ำบอกต่อผู้คนว่าการทำงานนั้นแท้จริงแล้วคือการพักผ่อน รอบนี้มีงานช้าง ๒ งานที่ผู้เขียนต้องเดินทางเข้าไปร่วมประชุมร่วมสังเกตการณ์ ร่วมพบปะ คือ งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ไบเทค บางนา ในวันที่ ๑๘-๒๐ ธันวาคม และงาน SHA Conference And Sharing ในวันที่ ๑๙-๒๑ ธันวาคม ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีน ปาร์ค …งานนี้ทางทีมงานโรงพยาบาลเตรียมการเรียนรู้ จัดคนที่เป็นหัวหน้างานทั้งคนที่ทำหน้าที่ FA และคนหน้างาน ขึ้นมาศึกษาเรียนรู้ในงาน SHA ๑๐ ท่านด้วยกัน

เสร็จภารกิจจากงาน SHA  พวกเราก็มุ่งหน้าสู่วังน้ำเขียว ไปเก็บเกี่ยวธรรมชาติ  เก็บตะวัน ประสานใจ  ให้ทุกคนมีความสุข เป็นการปลุกปัญญา เพื่อนำพาองค์กรไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิต เป็นการบูรณาการงานกับชีวิต .....ไปเก็บตะวันแบ่งปันภาพประทับดวงใจแล้ว พวกเราก็ทำงาน คือประชุมคุยกันวางแผนกัน เพื่อทบทวน ปรับปรุง พัฒนางาน SHA ที่ได้รับมอบหมายจาก สรพ.ให้เป็นแม่โหนด (Node) พี่เลี้ยง ของพัทลุง ผู้เขียนจึงเปิดวงชวนคุย ว่าเราจะขยับขับเคลื่อนงานประสานความคิด เอื้ออำนวยให้คนในองค์กรมีความสุขจากการทำงานกันอย่างไร…ผู้เขียนให้ข้อคิดว่า ทีม Fa คือหัวใจหลักที่ต้องไปปักธงคนในองค์กรให้เกิดสำนึกรักบ้านเกิด ต้องใช้ ศาสตร์ วิชา ฟา (Facilitator) วิชา โค้ช (Coach) ผสมผสานศาสตร์วิชาพื้นถิ่นดั้งเดิมคือวิชา "ยอน" (Jorn)…" ส่วนวิชา "ยอน" จะเป็นอย่างไรนั้น เพื่อให้ได้อรรถรสมากกว่าการอ่านจากบันทึกนี้ ขอเชิญชวนกัลยาณมิตรเข้าไปหาคำตอบเองที่ http://www.gotoknow.org/posts/514011 นะคะ

 

เห็นพลังในการทำงานของคุณวอญ่าแล้ว ทำให้ผู้เขียนนึกถึงรายการโทรทัศน์ "ลุยไม่รู้โรย" ที่นำเสนอชีวิตของผู้สูงวัยที่อุทิศตนเพื่อสังคม ไม่ทราบว่าคุณวอญ่าฯ ได้รับการติดต่อให้ไปออกรายการดังกล่าวแล้วหรือยัง ความสุขที่ได้รับจากบันทึกนี้ คือ ความสุขจากการอ่าน เพราะการเล่าเรื่องของคุณวอญ่า มีลักษณะ "ขึ้นต้นได้ตื่นเต้น ตรงกลางก็กลมกลืน ตอนจบยิ่งจับใจ" ทำให้อ่านสนุกได้รสชาติ ชวนติดตามตั้งแต่เริ่มต้นจนจบเรื่อง และประโยชน์ที่ได้รับ ก็คือ บันทึกนี้ ได้ให้แบบอย่างการทำงานของคนในองค์กร ที่ทำงานด้วยความทุ่มเทเปี่ยมไปด้วยพลัง สร้างแรงบันดาลใจ และปลุกจิตสำนึกให้ผู้อ่านอยากทำหน้าที่ในองค์กรให้ดีที่สุด 

"ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" ของผู้เขียน ได้มีส่วนสร้าง "สุขสังคม" ให้กับชุมชนที่ตั้งฟาร์ม โดยถือเป็นภารกิจตามคำขวัญของฟาร์ม วรรคที่ว่า "เพิ่มรายได้ให้ชุมชน อุทิศตนเพื่อประชา..." ดังตัวอย่าง ๒ กิจกรรมในภาพล่าง...การได้รับการเตรียมความพร้อมด้านกีฬาเปตอง ทำให้ทีมกีฬาเปตองบ้านหนองฝาง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในกีฬา อบต.ประจำปี ๒๕๕๕ และ ๒๕๕๖ (จากทั้งหมด ๑๓ ทีม ๑๓ หมู่บ้าน) ทั้งที่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีแค่ห้าสิบกว่าหลังคาเรือน ส่วนในภาพขวา เป็นกิจกรรมตาม "โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ" ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ (ใช้งบประมาณโครงการ SML) โดยผจก.ฟาร์มไอดินฯ เป็นหัวหน้าโครงการ และเป็นผู้ให้คำแนะนำวิธีทำปุ๋ยทุกขั้นตอน 

(แต่ผู้เขียนมีเรื่องหน้าแตกแบบหมอไม่รับเย็บมาเปิดเผย คือ ด้วยความศรัทธาในความทุ่มเทที่ "คุณวอญ่า" มีให้กับองค์กร และรูปลักษณ์ของท่าน ที่ดูเป็นผู้ใหญ่ มากด้วยประสบการณ์ชีวิต และสร้างความรู้สึกอบอุ่นให้กับผู้เขียนที่กำพร้าพ่อมาตั้งแต่อายุ ๔ ปี และไม่มีพี่ชาย ทำให้เมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้ขอเป็นน้องสาวของท่าน ผ่านการแสดงความเห็นใน GotoKnow ซึ่งท่านตอบว่า "...มหัศจรรย์สัมพันธ์ญาติทาง GotoKnow...ด้วยความขอบคุณ...ด้วยความยินดี...ด้วยความปิติ...และด้วยมิติแห่งความสุขจากการอ่านเขียน ใน GotoKnow" ...ผู้เขียนมาเอะใจก็ตอนที่ตนเองเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ท่านยังอยู่ในวงการนี่แหละ ...จะเป็นด้วยเหตุนี้หรือเปล่านะ ที่พี่ชายทางความรู้สึก ไม่เข้ามาเยี่ยมบันทึกของน้องเลยในช่วงหลังเกษียณ ทั้งที่น้องก็ได้แวะเวียนไปเยี่ยมท่านเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ ถ้าไม่เข้ามาเพราะเกรงว่า น้องจะเหนียมอาย ก็เลิกเกรงไปได้เลยนะคะ เพราะน้องผ่านวัยเขินอายมานานแล้ว ยังเหลืออยู่ก็แต่ความละอายต่อการทำความชั่วเท่านั้นค่ะ)

       ขอขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านที่กรุณาเข้ามาอ่าน โปรดติดตามตอนที่ ๒ ด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

หมายเลขบันทึก: 540899เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2013 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (38)

* ดูเหมือนว่าป้าวิจะเขียนถึงบันทึกของผมยาวกว่าเพื่อนเลยนะครับ   555

** สิ่งที่ผมปฏิบัติต่อภรรยาและครอบครัวนั้น ได้มาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นหลักนะครับ  และแอบเก็บเกี่ยวเอามาจากประสบการณ์ดีๆ ที่ได้พบเห็นมาจากคนอื่นอีกหลายๆ คน แล้วก็นำมาปฏิบัติด้วยตนเองอย่างที่เห็นครับ

     สุข ทุกข์ อบอุ่น หรือเหน็บหนาว...ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับตัวเราเองทั้งสิ้นนะครับ

*** ขอบคุณป้าวิมากๆ เลยครับ  ที่กรุณานำบันทึกของผมเรื่องนี้ไปเป็นบันทึกประทับใจใน Happy Ba ด้วย


ปล.  ป้าวิเขียน  "สัญญาของสามเณร" เสร็จละยังครับ  ผมรออ่านอยู่นะครับ   555

... แต่ละท่าน มีองค์ความรู้ เป็นกูรู ทั้งนั้นนะคะ อาจารย์แม่ ..... ขอบคุณบทความดีดีนี้ค่ะ

สุดยอดครับ จะตามไปอ่านต้นฉบับ

ข้าน้อย ขอคารวะครับ ;)...

สวัสดีค่ะพี่ผศ.วิไล...อ่านบันทึกที่พี่ผศ.ได้เลือกมาทั้ง ๘ เรื่อง (ของกัลยาณมิตร ๘ ท่าน) ทึ่งมากในเนื้อหาใจความที่สรุป...ขอชื่นชมมากๆค่ะ...

ซาบซึ้ง  ประทับใจ  ชื่นชมมุมมองลุ่มลึก  เชื่อมโยงหลายมิติของชีวิต

ผ่านประสบการณ์ตรงด้วยนะคะ  กลั่นกรองด้วยความตั้งใจสูงยิ่ง

ออกมาเป็นประโยชน์สุขให้น้อง - ลูกหลาน  กัลยาณมิตร  ได้ใช้เป็นแนวคิด - หลักดำเนินชีวิตต่อไป

ขอบพระคุณอาจารย์ไอดิน-กลิ่นไม้มาก ๆ ค่ะ

รออ่านตอนต่อเนื่อง  ด้วยระทึกในหทัยพลันนะคะ

ที่อาจารย์แม่นำมาเล่าสู่กันอ่านแบบสรุปให้ข้อคิดแบบนี้สุดยอดของความสุขที่ได้รับค่ะ ยอมรับว่าพลาดการอ่านบันทึกของสมาชิกที่เขียนแบบ"happy ba" หลายท่าน บันทึกของอาจารย์แม่เยี่ยมยอดเสมอค่ะ

อ.พี่วิเป็นอีกท่านที่รู้สึกว่าเจอตัวเป็นๆเมื่อไหร่ต้องขอกอดแน่นๆสักทีค่ะ ช่างเข้าถึงจิตใจของทุกคนได้อย่างลึกซึ้งจริงๆนะคะ ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบันทึกที่แสนอบอุ่นลุ่มลึกชิ้นนี้ 

ชื่นชมและน่านับถือมากเลยค่ะอาจารย์ สามารถถ่ายทอดออกมาได้ลึกซึ้งจริงๆ 

ขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านมากนะคะ ที่กรุณาเข้ามาอ่าน มอบดอกไม้ และให้ความเห็นไว้ในบันทึกนี้

"ปิยวาจา" จากจิตเมตตาของกัลยาณมิตรที่มอบให้ ทำให้ "ไอดิน-กลิ่นไม้" น้ำตาคลอด้วยความรู้สึกอบอุ่น ซาบซึ้งในใจ และขอยืมคำพูดของ "น้อง ดร.โอ๋-อโณ " ที่ว่า "ขอบคุณ GotoKnow ที่สร้างครอบครัวเครือญาติอันแสนอบอุ่นให้เรา” มากล่าวไว้ ณ ที่นี้ ด้วยนะคะ 

 

เมื่อวานไอดินฯ ลงบันทึกนี้ ที่บ้านเรือนขวัญในเมืองเวลาประมาณหกโมงเย็น (เพราะสมรรถนะการใช้งาน internet ที่ฟาร์มต่ำมาก กลัวจะลงไม่สำเร็จ) พยายามจะลงให้ครบจากการถอดบทเรียนของกัลยาณมิตรทั้ง 8 ท่าน แต่บันทึกคงยาวเกินจึงถูกตัดเนื้อหาของสองท่านสุดท้ายออก ไอดินฯ ออกจากบ้านเรือนขวัญประมาณ 19.50 น. แวะซื้ออาหารและสะเบียงต่างๆ หลายแห่ง กว่าจะกลับถึงฟาร์มก็สามทุ่มครึ่ง พบว่าพ่อใหญ่สอนอนดูละครตอน "เจ้าชายรณพีร์" เฉยเลย (ไอดินฯ รู้เรื่องละครต่างๆ เพราะพ่อใหญ่สอติดละคร ส่วนไอดินฯ จะท่องโลก GotoKnow แต่อยู่ในห้องโถงเดียวกันก็เลยได้ดูละครบ้าง) สำรวจดูหม้อข้าว ข้าวก็ไม่มีแถมหม้อก็ยังไม่ล้าง เลยต้องเสียเวลาล้างหม้อ-หุงข้าว กว่าจะได้ทานข้าวเย็นกันก็เกือบสี่ทุ่มแล้วค่ะ 

แล้วจะเข้ามาตอบเป็นรายท่าน อีกครั้งนะคะ  

เหนือคำบรรยายค่ะอาจารย์

-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน..

-ตามมารับความสุข 8 ด้านจากบันทึกนี้ครับ..

-มีเมนู"ยำว่านตูบหมูบ"มาฝากอาจารย์แม่ไอดินด้วยครับ...

-ที่ฟาร์มว่านตูบหมูบโตหรือยังครับ??555

-เมื่อวานไปตลาดเจอกับ"ว่านตูบหมูบ"ก็เลยจัดไป 1 เมนูครับ..

-เก็บภาพมาฝากครับ..


อ่านด้วยความสุขใจที่สะท้อนจากทุกประเด็นของบันทึกนี้ค่ะ..การเทียบเคียงด้วยประสบการณ์ดีๆของน้องผศ.วิไล ที่หล่อหลอมชีวิตแห่งความดีงามอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ น่าชื่นชมอย่างยิ่ง..ขอบคุณค่ะ


สวัสดีค่ะอาจารย์ไอดินฯ

แต่ละบันทึกถอดสรุปออกมาได้อย่างเข้าใจ  ละเอียดละออ ฯ ดาเลยได้อ่าน 3 บันทึกประทับใจไปด้วยอีกครั้ง รวมถึงบันทึกของดาด้วย ช่วงเวลานั้นมีความสุขมาก เหมือนได้กลับไปตอนที่เป็นช่วงเด็กๆที่บ้านปลูกสวนผักรายล้อมด้วยพืชสมุนไพร ที่รู้จักชื่อไม่หมดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งเมื่อก่อนก็ไม่ทราบเลยว่าสมุนไพรที่รอบตัวเรานั้นเป็นยาได้ทั้งนั้น บางชนิดก็เก็บมาเล่น แต่พอมาอยู่เชียงใหม่ต้นที่เราเคยเก็บลูกมาทาเล็บนั้นกินได้ เช่น ผักปลัง ยอดและใบแกงใส่แหนมบีบมะนาวแสนที่จะอร่อย ผักสมุนไพรต่างๆดีต่อสุขภาพทั้งนั้นนะคะ การได้เก็บสดๆก็ยิ่งดีมาก เวลาได้เก็บจากต้นจึงทำให้สุขใจมาก 

ชีวิตในเมืองสถานที่จำกัดถ้าไม่ปล่อยวาง นิ่ง ดาคงอึกอัดมาก รักต้นไม้ชอบปลูกแต่ปลูกต้นที่อยากปลูกไม่ได้ ทำใจมากๆเลยค่ะ แต่ก็มีสิ่งทดแทนได้บ้างจากต้นไม้ใกล้บ้าน หรือไปในสถานที่ที่มีต้นไม้มาก เวลามีงานของเชียงใหม่ก็จะเป็นต้นไม้ดอกไม้ที่จัดใกล้บ้าน  เชียงใหม่รอบคูเมืองจะมีต้นไม้ยืนต้นที่มีดอก จึงสวยงามชมได้ตลอดปีเพราะดาอยู่ติดคูเมือง พอคุยเรื่องต้นไม้ดาคุยได้ไม่จบ ถ้ามีโอกาสได้ไปสวนอาจารย์ไอดินดามีความสุขมากมายแน่ๆเพราะต้นไม้มาก แต่ได้ชมภาพ อ่าน นึกตาม ก็มีความสุขแล้ว

 gotoknow ทำให้เรามีความสุขได้จากภาพและตัวหนังสือ

โดยที่เราไม่ต้องพบตัวจริงเสียงจริง ไม่ว่าจะอยู่กันไกลแค่ไหน นะคะ 

ดาขอบคุณมากนะคะ


กระท้อนที่บ้านเพื่อนค่ะ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เพื่อนเข้าใจและชวนไปบ้านเสมอค่ะ

ป้าวิต้องขอโทษด้วยนะคะ ที่ย้ายเรื่องของ "คุณอักขณิช" ไปไว้ในตอนที่ ๒ เพื่อให้เกิดความสมดุล และก็ได้เพิ่มภาพที่ไม่มีในตอนที่ ๑ (ก็นำภาพมาจากบันทึกต่างๆ ของคุณอักขณิชนั่นแหละค่ะ) ซึ่งคุณอักขณิชก็ทราบแล้วและตามไปคุยแล้วนะคะ ป้าวิดีใจที่ดูท่าคุณอักขณิชจะชอบ Version ใหม่มากกว่า Version เก่า

ขอบคุณนะคะ ที่ชี้แจงที่มาของความเป็นคนโรแมนติค อย่างชัดเจน

เรื่อง "สัญญาของสามเณร" ชี้แจงในบันทึกของคุณอักขณิชไปแล้วเนาะ เปลี่ยนก็ดีแล้วนะคะ เพราะช่วงนี้ข่าว
"เณร" ดังมาก

ป้าวิได้ตามไปอ่านบันทึกของคุณอักขณิช 3 เรื่องรวด ดีใจด้วยนะคะที่มีผู้ติดตาม 100 คน up คนเขียนเขียนสนุก
เนื้อหาเป็นประโยชน์ และมีมนุษยสัมพันธ์ดี ก็ย่อมเป็นที่นิยมแน่นอนล่ะค่ะ ก็ขอให้ได้รับความนิยมยิ่งๆ ขึ้นนะคะ




.ใช่คะ "Dr.Ple" ทุกท่านที่ได้รับการนำบันทึกมาถอดบทเรียนมีองค์ความรู้เป็นกูรู ทั้งนั้น เช่นเดียวกับ "Dr.Ple" นั่นแหละค่ะ ที่ช่วงนี้ก็เป็นกูรูให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง

ขอบคุณมากนะคะ ที่กรุณาเข้ามามอบดอกไม้กำลังใจให้ "ไอดิน-กลิ่นไม้"

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับปิยวาจาเสริมสร้างพลังใจ จาก "คุณ  Yanyong-P" ที่บอกว่า "สุดยอดครับ"

ดีใจค่ะ ที่คุณยรรยงบอกว่า "จะตามไปอ่านต้นฉบับ" และจะดีใจมากขึ้น ถ้าคุณยรรยงจะเริ่มเขียนอะไรให้อ่านบ้าง ตามเข้าไปดูข้อมูลใน Profile ระบบน่าจะบันทึกสถิติผิดนะคะ เพราะเห็นคุณยรรยงเข้าไปให้ดอกไม้ แสดงความเห็นในบันทึกต่างๆ บ่อยๆ แต่สถิติ กลับเป็น 0, 1 น่าจะแจ้งผู้ดูแลระบบให้ตรวจสอบนะคะ  
 

ขอบคุณมากนะคะสำหรับดอกไม้กำลังใจจาก "อ.เสือ" 

   "ข้าน้อย ขอคารวะ ครับ"    "ผู้อาวุโส มิกล้า ค่ะ" 

ไปดูภาพ "แสงสุดท้าย ณ ปลายดอย" จาก ฺBlog อ.เสือตอนดึกๆ บังเอิญว่า เช้านี้เพิ่งถ่ายภาพ "แสงแรก ณ ฟาร์มไอดินฯ" มา เลยนำมาฝากนะคะ

             



 




ขอบคุณ "น้องพจนา" มากนะคะ ที่กรุณาติดตามอ่านบันทึกถอดบทเรียนการจัดการความสุข ทั้งสองตอน และยังให้กำลังใจด้วยถ้อยคำ "...ทึ่งมากในเนื้อหาใจความที่สรุป...ขอชื่นชมมากๆค่ะ..." 

เพิ่งตามไปอ่านบันทึกของน้อง 3 เรื่อง ต่อจากเรื่อง ฺBaby Ducks ค่ะ (มีเรื่องหนึ่งที่ยังให้ความเห็นไม่ได้นะคะ) ขอบคุณน้องมากเลยค่ะ ที่นำเรื่องหลากหลายในเมือง Calgary มาแบ่งปัน ทั้งเรื่อง สัตว์ป่า เหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้น การกุศล และงานประเพณี

ขอบคุณ "ทพญ.ธิรัมภา ลุพรหมมา" ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลสระใคร จังหวัดหนองคาย มากนะคะ ที่เขียนบันทึกสร้างความสุขความประทับใจให้ไอดินฯ จนต้องเลือกมาถอดบทเรียนในครั้งนี้

ความเห็นของคุณหมอ ความว่า "ซาบซึ้ง ประทับใจ ชื่นชมมุมมองลุ่มลึก เชื่อมโยงหลายมิติของชีวิตผ่านประสบการณ์ตรงด้วยนะคะ กลั่นกรองด้วยความตั้งใจสูงยิ่ง ออกมาเป็นประโยชน์สุขให้น้อง - ลูกหลาน กัลยาณมิตร ได้ใช้เป็นแนวคิด - หลักดำเนินชีวิตต่อไป" สร้างความรู้สึกซาบซึ้งใจ ปลื้มปิติ และตื้นตันใจให้กับไอดินฯ จนน้ำตาคลอเลยนะคะ ขอบคุณคุณหมอมากจริงๆ ค่ะ ที่ให้คุณค่ากับงานของไอดินฯ มากมายเช่นนี้

คุณหมอคงเป็นชาวอุดรฯ แต่ไปทำงานที่หนองคายใช่ไหมคะ (ไอดินฯ ก็คงจะมีลูกสะใภ้เป็นชาวอุดรฯ) ไอดินฯ เคยขับรถไปเที่ยวที่หนองคายช่วงเปิดสะพานมิตรภาพไทยลาวไม่นานนัก โดยจอดรถไว้ที่หนองคายแล้วข้ามไปเที่ยวฝั่งลาว แล้วก็กลับมานอนที่หนองคาย ตั้งใจไว้ว่า สักวันจะไปชมบั้งไฟพญานาคและการลอยเรือไฟบูชาพญานาคที่หนองคาย (ต้องขออภัยคุณหมอด้วยนะคะ ที่นำภาพคุณหมอมาลง ด้วยความที่อยากจะเห็นหน้าคุณหมอชัดๆ และอยากรู้ว่า "รพ.สระใคร" อยู่ที่ไหน จึงไปสืบค้นผ่าน google ค่ะ ...รอยยิ้มของคุณหมอช่างดูสดใส แถมยังยิ้มสวยสมกับที่เป็นทันตแพทย์จริงๆ นะคะ)

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับกำลังใจและปิยวาจาจากน้อง "krutoom"

น้องตูมบอกว่า "ที่อาจารย์แม่นำมาเล่าสู่กัน อ่านแบบสรุปให้ข้อคิดแบบนี้ สุดยอดของความสุขที่ได้รับค่ะ" ก็แสดงว่าการถอดบทเรียนการจัดการความสุข ที่พี่ทำบรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของท่านเจ้าของโครงการสิคะ ปลื้มใจจังค่ะ ที่ทำการบ้านได้ถูกทาง

น้องตูมบอกว่า "ยอมรับว่าพลาดการอ่านบันทึกของสมาชิกที่เขียนแบบ happy ba หลายท่าน" พี่ไอดินฯ เองก็ไม่ได้ร่วมโครงการมาแต่แรกนะคะ ใน 8 เรื่องที่นำมาถอดบทเรียนนั้น เป็นเรื่องที่เคยอ่านและแสดงความเห็นในบันทึกมาก่อน 6 เรื่อง ซึ่งเป็นการอ่านแบบเรื่องทั่วๆ ไป ไม่ได้รับรู้ว่าเป็นบันทึกใน Theme "Happy Ba" อะไร พอจะต้องมาจัับคู่ว่าเข้าได้กับ Theme ใดของ "Happy 8" ก็ต้องมาอ่านซ้ำอีกค่ะ

อ้อ! น้องตูมคะ พี่ได้เข้าไปแสดงความเห็นในบันทึกล่าสุดของน้องตูม และลงความเห็นไป 3 ครั้ง ครั้งที่สองบอกให้ลบความเห็นแรก ครั้งที่ 3 บอกไม่ต้องลบ (เพราะความเห็นแรกไม่ปรากฏ) แต่มาปรากฏภายหลัง สรุปว่าช่วยลบความเห็นแรกด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

ดีใจที่สุดเลยค่ะ ที่ "น้องดร.โอ๋-อโณ" เรียก "อ.พี่วิ" (ช่วยตัด อ.ออกด้วยนะคะ ขอเป็น "น้องโอ๋-พี่วิ") ปกติแล้วน้องโอ๋ได้แต่ให้ดอกไม้เสมอมา แทบไม่เอื้อนเอ่ยวาจาใดๆ แต่มาครานี้ มีวจีดั่งน้ำทิพย์ชโลมใจ "อ.พี่วิเป็นอีกท่านที่รู้สึกว่าเจอตัวเป็นๆ เมื่อไหร่ต้องขอกอดแน่นๆ สักทีค่ะ ช่างเข้าถึงจิตใจของทุกคนได้อย่างลึกซึ้งจริงๆ นะคะ ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบันทึกที่แสนอบอุ่นลุ่มลึกชิ้นนี้"

พี่วิปลื้มใจที่สุดเลยรู้ไหมคะ ที่น้องโอ๋บอกว่า "...เจอตัวเป็นๆ เมื่อไหร่ขอกอดแน่นๆ สักที..." ได้ค่ะ แต่ตอนนี้ขอให้น้องโอ๋เป็นน้องสาวก่อนได้ไหมคะ ในชีวิตจริงพี่ไม่มีน้องสาว (มีน้องชาย 2 คน พี่สาว 2 คน) มีแต่น้องสาวในGotoKnow 2 คน คือ "(ครู) น้องกายจอมเซี้ยว" อยู่ที่ยะลา และ "(ครู) น้องอินผู้อ่อนหวาน" อยู่ที่อุตรดิตถ์ อยากขอให้ "น้องโอ๋" เป็น "น้องนักวิชาการ" ซึ่งพี่ขอบอกตามสัตย์จริงว่า ในชีวิตข้าราชการกว่า 36 ปีของพี่ (สอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมัธยม 1 ปีการศึกษาแล้วลาออก และสอนกลุ่มวิชาจิตวิทยาในสถาบันอุดมศึกษา 35 ปีการศึกษาครึ่ง จนเกษียณอายุราชการ) พี่ได้พบ "ข้าราชการครูในอุดมคติ" คือน้องโอ๋นี่แหละค่ะ พี่เชื่อว่า ถ้าประเทศไทยมีข้าราชการครูแบบน้องโอ๋สักแค่ 20 % การศึกษาไทยจะมีคุณภาพกว่าที่เป็นอยู่มากมาย

เรามีอะไรที่คล้ายกันเป็นส่วนใหญ่แต่ก็ต่างกันนะคะ อย่างเช่น น้องโอ๋ได้ทุนไปเรียนที่ Perth, Western Australia 6 ปี แล้วได้ปริญญาโทปริญญาเอกกลับมา แต่พี่ได้ทุนไปเรียน Dr. of Philosophy (Education) ที่เมืองเดียวกัน เรียนแบบ Part Time อยู่ 4 ปี ได้มาแต่ "Philosophy" แต่ไม่ได้ Dr.เลยต้องคืนเงินเป็นส่วนใหญ่ (สงสารก็แต่ Supervisor คนแรกของพี่ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ ที่เราต่างก็ชื่นชมซึ่งกันและกัน ท่านจะดีดนิ้วให้ทุกครั้งที่พี่นำงานไปให้ตรวจ และเขียนข้อความใน Postcard ให้พี่ว่า "Wilai, you are a great doctoral student and will succeed very well." แต่เมื่อท่านทำหน้าที่ได้แค่ภาคเรียนเดียวแล้วเกษียณ ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป)...สิ่งที่เราเหมือนกันอีกอย่างก็คือ แรงจูงใจสำคัญในการสร้างงานเขียนใน GotoKnow เพื่อเป็นการแทนคุณประเทศชาติ

ที่ต้องขอขอบคุณน้องโอ๋อีกอย่างก็คือ การทำหน้าที่เป็น "Learning Facilitator" ให้กับพี่และนักศึกษาในภาคเรียนที่ 2/2554 และ 1/2555 และยังทำบทบาทนี้มาให้พี่ได้ใช้บริการจนปัจจุบัน ล่าสุดก็คือในบันทึกที่ลงประมาณ 6 วันที่ผ่านมา เรื่อง "การใช้ภาพแทนคำในการค้นหาด้วย Google...เทคนิคที่น่าสนใจ" http://www.gotoknow.org/posts/541184 และ 4 เดือนที่ผ่านมา "หนังสือศัพท์ต่างประเทศที่ใช้คำไทยแทนได้ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ควรดาวน์โหลดไว้ใช้ค่ะ http://www.gotoknow.org/posts/522404

ขอบคุณมากมายสำหรับดอกไม้กำลังใจและปิยวาจา "ชื่นชมและน่านับถือมากเลยค่ะ อาจารย์สามารถถ่ายทอดออกมาได้ลึกซึ้งจริงๆ" จาก "kunrapee"

ปิยวาจาดังกล่าว "เป็นเสมือนหยดน้ำไหลเย็น ที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตจิตใจ" ดังข้อความที่ kunrapee ได้ทิ้งท้ายไว้ในบันทึกเรื่อง "พี่เทพ"(http://www.gotoknow.org/posts/541341) เมื่อ 6 วันที่ผ่านมา ความว่า "kunrapee ได้เรียนรู้ (อย่างใหญ่หลวง)…การกล่าวชม (พูดหรือเขียน) นั้นเป็นเสมือนหยดน้ำไหลเย็น ที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตจิตใจในยามที่เหนื่อยล้า เคยได้เห็นคนทำสิ่งดีๆ... เพียงแค่คิดในใจ... น่ารักจังเลย เป็นคนดีมีน้ำใจจริงๆ แต่ไม่เคยกล่าวคำชมเชยผู้ที่ทำสิ่งดีๆ นั้นให้ได้รับรู้ ว่ายังมีคนเห็นว่าเค้าทำดี ควรแก่การยกย่อง ควรแก่การบอกต่อ (ลืมไปจริงๆ)"

ไอดินฯ ขอเชิญชวนให้กัลยาณมิตรที่ยังไม่ได้อ่าน เข้าไปอ่านบันทึกเรื่อง "พี่เทพ" ใน ฺBlog ของ "kunrapee" ตาม Link ที่ให้ไว้ด้วยนะคะ เพราะอ่านแล้วท่านจะได้ "ประโยชน์สุข" กลับมาอย่างแน่นอนค่ะ

"น้องลูกหมูเต้นระบำ" บอกว่า "ได้อ่านก็มีความสุขแล้วครับ" แต่พี่ไอดินฯ ยังอยากให้น้องลูกหมูเข้าไปอ่านตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนถอดบทเรียนบันทึกของน้องลูกหมูโดยตรง ด้วยนะคะ

พี่ได้อ่านบันทึกของน้องลูกหมูเรื่อง "little happiness : ความสุขเล็กๆในใจฉัน" (http://www.gotoknow.org/posts/540964) ที่น้องลูกหมูทำอาหารเอง ก็มีความสุข และอยากแนะนำให้กัลยาณมิตรที่เข้ามาอ่านบันทึกนี้ ตามไปดูอีกภาพหนึ่งของคุณลูกหมูด้วยนะคะ

ไอดินฯ แสดงความเห็นไว้ว่า "ได้เห็นคุณลูกหมูฯ" ในอีกมุมหนึ่ง ก่อนหน้านี้ มีแต่ความทึ่งในบุคลิกของคุณลูกหมูที่เปียมไปด้วยพลัง มีแรงบันดาลใจ และความใฝ่รู้สูง แต่พออ่านบันทึกนี้ มีความรู้สึกเอ็นดูเพิ่มขึ้นมาและพลอยสุขใจไปด้วยกับความสุขของคุณลูกหมู นะคะ"

น้องลูกหมู "ขอบคุณนะครับพี่อาจารย์ไอดินที่เข้ามาให้กำลังใจ และดีใจเป็นพิเศษที่อาจารย์เอ็นดูคิดว่าผมเป็นลูกเป็นหลานคนหนึ่งนะครับอาจารย์"

-ชื่นชมในความรู้ความสมารถในการเขียนของท่าน...ป๋าเดไม่ได้แวะเยี่ยมกัลญามิตรเสียนาน....

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจจาก "คุณ Sila-Phuchaya" ผู้มอบหมายงาน
"การถอดบทเรียนการจัดการความสุข" ...
จากความเห็นของคุณศิลาความว่า "เหนือคำบรรยายค่ะอาจารย์" นั้น คงแปลความได้ว่า งานที่ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ทำส่งนั้น เป็นไปตามเงื่อนไขที่โจทย์กำหนด และมีคุณภาพในระดับที่ผู้มอบหมายงานพึงพอใจนะคะ

ไอดินฯ ขออนุญาตคุณศิลาแจ้งข่าวให้กัลยาณมิตร GotoKnow ที่ยังไม่ทราบ ได้รับทราบนะคะ ว่า "ระหว่างวันที่ 1- 18 กรกฎาคม 2556 คุณศิลาอยู่ในช่วงของการอบรมหลักสูตรหลักเพื่อการพัฒนาบุคลากรระดับ Key
Positions ขององค์กรตาม Core Competency ประจำปี 2556"

กัลยาณมิตรเข้าไปดูรายละเอียดได้ใน บันทึกของคุณศิลา Blog "ศาสตร์และศิลป์แห่งการเรียนรู้" เรื่อง "Networking Camp สานรักในองค์กร" http://www.gotoknow.org/posts/541615 นะคะ

ขอบคุณดอกไม้กำลังใจ และ "เมนูยำว่านตูบหมูบ" ที่ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง" นำมาฝากอาจารย์แม่ไอดินฯ นะคะ และขอบคุณที่อ้างอิง อ.แม่ไอดินฯ ในบันทึกดังกล่าว (http://www.gotoknow.org/posts/541039) เห็นกัลยาณมิตรหลายท่านไมรู้จักต้น-ดอกว่านชนิดนี้ อาจารย์แม่เลยนำภาพไปให้ดูที่บันทึกของคุณเพชรฯ ด้วย

อย่างที่ อ.แม่ไอดินฯ เคยบอกไปแล้วนะคะ ว่า เห็นว่านตูบหมูบเกิดอยู่แห่งละต้นแถวขอบบ่อปลา เลยขุดไปปลูกให้รวมอยู่ในที่เดียวกัน เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจให้คิดถึงตอนไปเก็บเห็ดในป่ากับแม่ ตอนเรียนชั้นประถมฯ

ที่อุบลฯ ไม่เคยเห็นชาวบ้านนำว่านตูบหมูบไปขายนะคะ ตอนนี้ว่านตูบหมูบยังไม่โตค่ะ เพราะเพิ่งขุดไปปลูกได้แค่เดือนเดียว ภาพที่เห็นถ่ายประมาณอาทิตย์ที่แล้วค่ะ มีดอกสีขาวและสีม่วงแซม ตอนที่ถ่ายยังไม่มีหน่อ เมื่อกี๊แว้บออกไปดู เห็นมีหน่อขึ้น 2 หน่อค่ะ

เห็นคุณเพชรฯ มีพรสวรรค์ด้านการคิดเมนูแปลกใหม่ แถมยังทำอาหารอร่อยอีกต่างหาก อ.แม่ไอดินฯ เลยอยากจะชวนคุณเพชรไปเปิดร้านอาหารประเภท "เปิบพิสดาร" ที่มีเมนูอาหารแปลกๆ หาทานที่ไหนไม่ได้นอกจากที่ร้านนี้...สนใจไหมคะ คนอะไร คิดเมนูก็เก่ง ทำอาหารก็อร่อย แถมยังบอกวิธีปรุงได้อย่างน่าติดตามจริงๆ

กราบขอบพระคุณ "พี่ใหญ่" มากมาย สำหรับบันทึกประทับใจที่ได้นำมาถอดบทเรียน กำลังใจที่มอบให้เสมอมา มธุรสวาจาผ่านการอ่านเชิงวิเคราะห์-สังเคราะห์ "อ่านด้วยความสุขใจที่สะท้อนจากทุกประเด็นของบันทึกนี้ค่ะ..การเทียบเคียงด้วยประสบการณ์ดีๆ ของน้องผศ.วิไล ที่หล่อหลอมชีวิตแห่งความดีงามอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ น่าชื่นชมอย่างยิ่ง..ขอบคุณค่ะ" และการสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม

น้องได้ย้อนไปอ่านบันทึกต่างๆ เพื่อศึกษาชีวิตในหนหลังของพี่ใหญ่ "ยิ่งรู้จัก ยิ่งรัก พี่ใหญ่" ค่ะ

ขอบคุณน้องดามากนะคะ ที่เขียนบันทึกประทับใจให้พี่ไอดินฯ ได้นำมาถอดบทเรียน ดอกไม้ที่มอบให้ ปิยวาจาเสริมสร้างพลังใจ

"...แต่ละบันทึกถอดสรุปออกมาได้อย่างเข้าใจ ละเอียดลออฯ ดาเลยได้อ่าน 3 บันทึกประทับใจไปด้วยอีกครั้ง รวมถึงบันทึกของดาด้วย ช่วงเวลานั้นมีความสุขมาก เหมือนได้กลับไปตอนที่เป็นช่วงเด็กๆ..."

และชวนคุยในเรื่องที่สนใจร่วมกัน

"ที่บ้านปลูกสวนผักรายล้อมด้วยพืชสมุนไพร...ชีวิตในเมืองสถานที่จำกัดถ้าไม่ปล่อยวาง นิ่ง ดาคงอึกอัดาก รักต้นไม้ชอบปลูกแต่ปลูกต้นที่อยากปลูกไม่ได้ ทำใจมากๆ เลยค่ะ ... พอคุยเรื่องต้นไม้ดาคุยได้ไม่จบ ถ้ามีโอกาสได้ไปสวนอาจารย์ไอดินดามีความสุขมากมายแน่ๆเพราะต้นไม้มาก แต่ได้ชมภาพ อ่าน นึกตาม ก็มีความสุขแล้ว

ขอบคุณจริงๆ ที่เขียนบันทึกให้ความรู้ที่พี่ได้นำไปใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง ขยันเขียนจังนะคะ สัปดาห์เดียวเขียนถึง 14 เรื่อง ตัวอย่างเรื่องที่พี่ได้นำไปใช้ในสัปดาห์นี้ คือ คือ Blog อาหารเพื่อสุขภาพดี เรื่อง "เพกาสมุนไพรเป็นยาเพื่อสุขภาพ" (http://www.gotoknow.org/posts/541286) Blog กานดา-นาฬิเก (รวมความรู้ให้เกิดประโยชน์) เรื่อง "นอนไม่หลับมี 10 แนวคิดโดย นพ.ธิติพันธ์ ธานีรัตน์" (http://www.gotoknow.org/posts/541451)....ใช้กับผู้สูงวัยในบ้าน และ Blog สบายตาสบายใจ เรื่อง "บานเย็นต้นไม้ให้ดอกสีงามเท่านั้นหรือ?"http://www.gotoknow.org/posts/541851

ขอบคุณ "กัลยาณมิตร GotoKnow ทั้ง 8 ท่าน" ที่กรุณามอบดอกไม้ให้กำลังใจ "ไอดิน-กลิ่นไม้"

ขอบคุณ "ป๋าเด" มากนะคะ ที่โทรฯ ถามข่าวคราวยายไอดินฯ และมีปิยวาจาให้กับบันทึกนี้ "ชื่นชมในความรู้ความสมารถในการเขียนของท่าน"

ยายไอดินฯ ก็ขอเอาใจช่วยให้สิ่งที่ป๋าเดบอกว่ากำลัง (ขะมักเขม้น) ทำอยู่นั้น ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายนะคะ

สำหรับยายไอดินฯ เอง หันหลังให้กับสังคมเมืองแล้ว วันๆ มีความสุขอยู่กับดินกับต้นไม้ใบหญ้าการศึกษาสัตวป่า และการเข้าไปท่องโลก GotoKnow เพื่อเรียนรู้เรื่องที่น่าสนใจและพบปะทักทายกัลยาณมิตรในชุมชน GotoKnow ก็มีความสุขแบบพอเพียงแล้วค่ะ

-แล้วยายไอดินกับพ่อใหญ่รวมถึงชาวบ้านอย่าลืมช่วยกันปลดป้ายวัดตามที่บอกไว้ออกนะ...ประเดี๋ยวคนที่ไม่รู้เรื่องจะเข้าใจผิด.....

รองเจ้าคณะจังหวัดอุบลฯ บอกว่าจะต้องเปลี่ยนชื่อวัด ตั้งแต่งานสมโภชน์พระโตโคตมะ กลางเดือนเมษายน ที่ผ่านมาแล้วล่ะค่ะ "ป๋าเด" เพราะตั้งแต่ต้นปี 2553 เป็นต้นมาก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน มีพระิภิกษุจากที่อื่นมาจำพรรษาและพัฒนาวัด ส่วนป้ายวัดไม่ได้ปลดหรอกค่ะ เมื่อกี๊ผ่านไปเห็นใช้สีทาทับเพื่อจะเขียนชื่อใหม่แล้วค่ะ

ค่ะตามมาอ่านบันทึกนี้อีกครั้งค่ะ ดีใจมากที่ได้รับความเมตตาจากอาจารย์แม่ที่ให้เกียรติตอบแบบยาวๆ ชัดเจน เน้นความมีคุณภาพสม่ำเสมอนะคะ

เปลี่ยนชื่อวัดเมื่อไหร่บอกด้วยเด้ย....

รู้สึกว่า "ป๋าเด" จะสนใจเรื่องวัดมากนะคะ คงอยากร่วมทำบุญ ทางวัดยังต้องการเงินบริจาคสร้างศาลาการเปรียญอยู่มากมายเลยนะคะ (หลังเดิมทำแบบชั่วคราวและค่อนข้างคับแคบค่ะ) ตอนนี้แค่ถมที่เตรียมสร้างหลังใหม่ ท่านจะร่วมบริจาคเป็นเจ้าภาพเสาสักต้นไหมล่ะคะ

สำหรับชื่อวัดนั้น ต้องประชุมชาวบ้านก่อน แต่ก็คุยๆ กันว่า คงจะเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดป่าบ้านหนองฝาง" อะไรประมาณนี้แหละค่ะ

สวัสดียายไอดิน

-ก็จะร่วมทำบุญด้วยแต่จะมากน้อยเท่าไหร่ค่อยว่ากันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท