ไอดิน-กลิ่นไม้


ข้าราชการบำนาญ
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
Username
pw-11-59
สมาชิกเลขที่
147999
เป็นสมาชิกเมื่อ
เข้าระบบเมื่อ
-
(ไม่มีตั้งแต่ พ.ศ. 2564)
ประวัติย่อ
พ่อเป็นครูใหญ่ แม่เป็นครูน้อยโรงเรียนเดียวกับพ่อ ตอนอายุ 4 ขวบพ่อเสียชีวิต ขณะนั้นน้องชายคนสุดท้องเพิ่งคลอดได้ 20 วัน น้องชายคนติดกันอายุ 2 ขวบ พี่สาวคนติดกันอายุ 6 ขวบ และพี่สาวคนโตอายุ 13 ปี เรียนป.1-4 ที่โรงเรียนบ้านขุมเงิน ต.เขื่องคำ อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี ผลการสอบจบหลักสูตรโดยไปสอบที่ตำบล ได้คะแนนอันดับ 1 ของตำบล เรียนป.5 รุ่นแรกที่โรงเรียนอรุณรัตน์วิทยาคม อ.ยโสธรตามพี่ลูกน้าที่เรียนอยู่ก่อนผลการเรียนชั้น ป. 5 ได้ 98 % สูงสุดในอำเภอ แล้วย้ายไปเรียน ป. 6 ที่โรงเรียนยโสธรวิทยาสิทธิ์เซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนเช่นเดียวกับโรงเรียนเดิม เพราะพี่สาวคนโตเป็นครูที่นั่น ตอนแรกโรงเรียนมีชื่อเสียงเพราะมีคุณครูเก่งๆ หลายท่านแม้แต่ลูกชายนายอำเภอยังเรียนที่โรงเรียนนี้ แต่ตอนหลังคุณครูเก่งๆ ไปสอบบรรจุเข้ารับราชการ นักเรียนก็เริ่มย้ายไปเรียนโรงเรียนอื่น พี่สาวบอกให้เราย้าย แต่เราสงสารเพื่อนที่เรียนชั้นม.ศ. 3 ด้วยกันซึ่งมีอยู่เพียง 7 คน จึงไม่ยอมย้าย ตอนนั้นได้เรียนเพียง 3 วิชา คือ เรขาคณิต ประวัติศาสตร์ และวาดเขียน เวลาว่างก็ใช้ไม้กวาดไล่ตีกัน และเล่นบาสเก็ตบอล สุดท้ายโรงเรียนก็ปิดกิจการตอนเรียนอยู่ภาคเรียนที่ 2  จึงต้องย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนยโสธร ซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐ และเป็นเวลาสอบกลางภาคพอดี เราเองก็ต้องสอบด้วย ตอนที่คุณครูที่คุมสอบแจกกระดาษกราฟทำข้อสอบวิชาพิชคณิต เราไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร และเราจะต้องทำอะไรกับมัน ไม่รู้ว่าสอบผ่านวิชานั้นได้อย่างไร

          หลังเรียนจบม.ศ.3 ได้ตามญาติที่จบม.ศ.5 ไปสอบเข้าป.กศ. (ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา) ที่วิทยาลัยครูอุบลราชธานี วันหนึ่งกลับจากเดินทางไปหาปลากับญาติฝ่ายพ่อที่แหล่งน้ำห่างจากบ้านประมาณ 10 กม. ออกจากบ้านตอนเช้ามืดกลับถึงบ้านค่ำพอดี ด้วยความเหน็ดเหนื่อยเตรียมจะล้มตัวลงนอน พอแม่บอกว่าเราสอบเข้าป.กศ.ได้ เรากระโดดตัวลอยด้วยความตื่นเต้นดีใจหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง แล้วเลิกความคิดที่จะนอนเปลี่ยนเป็นคุยฟุ้งแทน กลุ่มของเราที่ไปเรียน ป.กศ.ด้วยกันในตอนนั้นมี 5 คน 2 คนเป็นพี่ที่จบม.ศ.4 อีก 2 คนเป็นพี่ที่จบม.ศ. 5 มีเราเพียงคนเดียวที่จบม.ศ. 3 พวกพี่ๆ จึงเรียกเราว่า "อีหล่า" หรือ "น้องน้อย" เมื่อเรียนจบป.กศ. เราได้รับคัดเลือกให้เรียนต่อในระดับป.กศ.สูงประเภทเรียนดีในวิชาเอกภาษาอังกฤษ แต่แม่บอกว่าไม่ให้เรียน ให้ออกไปสอบบรรจุเข้ารับราชการครู เราจึงต่อว่าแม่ว่า ไหนแม่บอกจะให้ลูกทุกคนเรียนสูงสุดเท่าที่จะเรียนได้ แม่บอกว่าไม่มีเงินส่งเรียน แต่สุดท้ายโชคก็เข้าข้างเรา เราได้เรียนต่อเหตุเพราะอายุไม่ถึง 18 ปีจึงขาดคุณสมบัติในการสมัครสอบบรรจุ เมื่อจบป.กศ.สูงก็ได้รับคัดเลือกให้เรียนต่อประเภทเรียนดีในวิชาเอกภาษาอังกฤษที่วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม ซึ่งเป็นวิทยาเขตภาคอีสานของวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร โดยมีเพื่อนๆ จากวิทยาลัยครูในภาคอีสานทั้งหมด และเพื่อนๆ จากวิทยาลัยครูในกรุงเทพฯ ได้แก่ วิทยาลัยครูสวนดุสิต สวนสุนันทา จันทรเกษม บ้านสมเด็จ และวิทยาลัยครูพระนครเรียนด้วย  เมื่อจบการศึกษาวุฒิ กศ.บ. ในปีการศึกษา 2515 ได้บรรจุเข้ารับราชการในปี 2516 ทำหน้าที่เป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษชั้นม.ศ.2-3 ที่โรงเรียนมัธยมศึกษาเปิดใหม่ (ที่เปิดสอนจากชั้นม.1-3) ในอำเภอหนึ่งของจังหวัดยโสธร (อ.ยโสธรเปลี่ยนสถานภาพเป็นจังหวัดในวันที่ 1 มีนาคมพ.ศ. 2515 ) ตอนนั้นมีเพื่อนจากวิทยาลัยครูอุบลฯ ด้วยกันที่มีผลการเรียนในวุฒิ กศ.บ.ต่ำกว่าเราไปสอบบรรจุที่กรมการฝึกครูและได้เป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยครูอุบลฯ 2 คน แต่เราไม่มีเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสอบที่กรุงเทพฯ จึงต้องสอบบรรจุกรมสามัญฯ ซึ่งจัดสอบที่ยโสธร

       ในภาคเรียนที่ 2 เพื่อนครูที่โรงเรียนได้ซื้อใบสมัครสอบเรียนต่อปริญญาโทไปฝาก อาจารย์ใหญ่สั่งให้เราสมัครสอบในสาขาการแนะแนว เพื่อจะได้กลับไปปฏิบัติงานแนะแนวที่โรงเรียน ท่านเองสมัครสอบในสาขาบริหารการศึกษา ผลคือเราสอบได้แต่ท่านสอบไม่ได้ ท่านจึงแอบทำเรื่่องส่งไปที่กรมไม่อนุญาตให้ครูในโรงเรียนลาศึกษาต่อโดยอ้างเหตุผลว่าโรงเรียนขยายห้องเรียน และครูไม่พอ (ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มีการขยายห้องเรียนแต่อย่างใด) และที่สำคัญท่านไม่ได้บอกให้เราทราบในเรื่องดังกล่าว ได้แต่บอกให้เรารอหนังสือสัญญาลาศึกษาต่อจากกรมฯ ซึ่งจะส่งไปให้ที่โรงเรียน จนเหลือเวลาอีกเพียง 2 วันจะต้องรายงานตัวเข้าศึกษาก็ยังไม่ได้รับหนังสือสัญญาจากกรมฯ เราไม่อาจทนรอต่อไปจึงเดินทางเข้ากทม.ไปตามเรื่องที่กรมฯ เจ้าหน้าที่ที่กรมฯ บอกว่า "คุณไม่รู้รึไงว่าอาจารย์ใหญ่ส่งเรื่องยับยั้งการลาศึกษาต่อ" เราขอดูหลักฐานและรู้สึกเสียใจที่พบว่าเป็นจริงตามนั้น  และได้ออกไปนั่งพิจารณาตัดสินใจอยู่หลายชั่วโมง คิดทบทวนว่าการสอบเข้าศึกษาต่อก็ทำด้วยความยากลำบากต้องไปอาศัยอยู่กับเพื่อนที่ไปสอบด้วยกัน หนังสือก็ไม่มีอ่านแม้แต่เล่มเดียว ต้องหยิบของเพื่อนมาอ่านหลังเที่ยงคืนที่เพื่อนนอนแล้ว วันที่สอบข้าวเช้าก็ไม่ได้กินเพราะต้องรีบเดินทาง พักอยู่ที่บางเขนแต่ต้องไปสอบที่โรงเรียนพระโขนง ข้าวเที่ยงก็ไม่ได้กินอีกเพราะคนสอบมีมากข้าวไม่พอขายได้กินน้ำอัดลมไปขวดเดียว (สาขาการแนะแนวรับ 20 คน มีผู้สมัครสอบเกือบ 900 คน) น้องของเพื่อนที่ไปสอบด้วยกันบอกจะตามและแจ้งผลการสอบไปให้ทราบแต่ไม่เห็นแจ้งเราก็คิดว่าคงสอบไม่ได้ บ่ายวันหนึ่งขณะปันจักรยานเล่นอยู่ที่ยโสธร เจอเพื่อนคนหนึ่งเขาทักว่ายังไม่เข้ากรุงเทพฯ อีกหรือ เรางงว่าเข้าไปทำไม เขาบอกว่าก็เห็นสอบข้อเขียนเรียนต่อปริญญาโทผ่านและจะต้องสอบสัมภาษณ์พรุ่งนี้ เราถามย้ำว่ารู้ได้ยังไงเขาก็อ้างแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ จึงต้องตาลีตาเหลือกเตรียมตัวเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปเองยังไม่เป็นต้องให้เพื่อนครูที่โรงเรียนพาไป แต่งชุดสอบไปเลยไปถึงก็ได้แค่ล้างหน้าแปรงฟัน รุ่นนั้นสอบได้เพียง 19 คน และมีเพียงเรากับเพื่อนอีกสองคนที่ยังไม่ทำงาน ที่เหลือ 16 คนเป็นอาจารย์วิทยาลัยครู เป็นศึกษานิเทศก์ และเป็นครูโรงเรียนมัธยม มาจากทั่วประเทศ อีสานมีเราคนเดียว มหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ Dropt Out ต้องเรียนก่อนอย่างน้อย 1 ภาคเรียน สุดท้ายก็เลยตัดสินใจแจ้งกรมฯ ขอทำเรื่องลาออก และได้เข้าศึกษาต่อปริญญาโทสาขาการแนะแนวที่มหาวิทยาลัยศณีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร โดยเรียน Course Works ในปีการศึกษา 2517-2518 และในภาคเรียนที่ 1/2519 ต้องไปเป็นอาจารย์อัตราจ้างที่วิทยาลัยครูอุบลฯ เพื่อหางบประมาณในการจ้างพิมพ์วิทยานิพนธ์ที่ทำต้นฉบับเสร็จแล้วแต่ไม่มีเงินจ้างพิมพ์ (ในช่วงที่เรียน ได้รับทุนเรียนดี รับจ้างสอนพิเศษภาษาอังกฤษ และยืมเงินธนาคารกสิกรไทยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา) และจบการศึกษาได้วุฒิ กศ.ม. (การแนะแนว) ในเดือนพฤศจิกายน 2519 

            ปีการศึกษา 2520  บรรจุเข้ารับราชการที่วิทยาลัยครูสุรินทร์ (ตอนที่สอบมีตำแหน่งว่างอยู่ที่เชียงราย สุราษฎร์ธานี เลย และสุรินทร์ จึงเลือกสุรินทร์เพราะใกล้บ้านที่สุด ผลคือสอบได้อันดับที่ 1 จริงๆ แล้วทุนเรียนดีที่ได้รับมีเงื่อนไขว่า จบแล้วต้องเป็นอาจารย์มศว.ประสานมิตร แต่มหาวิทยาลัยมีอาจารย์ในสาขาที่เราจบเพียงพอแล้ว จึงไม่ยึดเงื่อนไขดังกล่าว ปรากฏว่า คนที่สอบได้อันดับที่ 2 จบจากมหาวิทยาลัยเดียวกันแต่เป็นสาขาจิตวิทยาพัฒนาการ และได้ทุนเรียนดีเหมือนกัน ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ที่มศว.ประสานมิตร วิทยาลัยครูสุรินทร์จึงเรียกบรรจุผู้ที่สอบได้ได้อันดับที่ 3 ซึ่งเป็นตัวสำรอง (เป็นผู้ที่จบปริญญาโทด้านการให้คำปรึกษาจากสหรัฐอเมริกาแทน)  ปีการศึกษา 2527 ย้ายไปรับราชการที่วิทยาลัยครูอุบลฯ จนถึงปัจจุบัน การศึกษาหลังปริญญาโท ได้รับ Graduate Diploma of Science in Interdiciplinary Studies จาก Edith Cowan University ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Perth เมืองหลวงของ Western Australia ในปีการศึกษา 2542 และในปี 2543-2546 ได้เดินทางไปศึกษา Ph.D (Education) แบบ Part Time ในช่วง Summer ครั้งละ 3 เดือน ที่ ECU ต่อแต่ไม่สำเร็จ เพราะ Supervisor คนแรกของเรา (ที่มีความเชี่ยวชาญในงานวิจัยที่เราทำ ซึ่งเป็นงานวิจัยปฏิบัติการแบบช่วงเวลา [Time Process Model Action Research] เพื่อพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ [Learning Competencies] โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม [Mixed Model Methodology]) เกษียณอายุ (65 ปี) จึงไม่สามาถทำหน้าที่ต่อ และ ECU ได้จัด Supervisor ให้ใหม่เป็นผู้ที่ไม่มีความเข้าใจในงานวิจัยของเราแม้แต่น้อย จึงเดินต่อไม่ได้ (ต้องขอโทษ Dr. Leonard King ชาวอังกฤษ ที่ปรึกษาคนแรกที่เป็น "My Great Supervisor" ที่เราทำไม่สำเร็จตามที่ท่านคาดหวัง ท่านชื่นชมเค้าโครงงานวิจัยที่เราเขียนให้อ่านมาก อ่านแล้วท่านดีดนิ้วให้ และเขียน Postcard ให้เรามีข้อความตอนหนึ่งว่า "...Wilai, you are a great doctoral student and will succeed very well..."  ปี 2547 ได้สอบเข้าเรียนหลักสูตร วท.ด. สาขาวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์ (เน้นวิจัย) ที่สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มศว. รับ 10 คน แต่สอบได้ 7 คน (รู้สึกว่าเราจะเป็นอันดับ 1) เป็นหลักสูตรแบบไม่มีวิชาเรียน แต่ต้องไปเรียนพื้นฐานอยู่ 1 เดือน และต้องทำวิจัย 3 เรื่องให้เชื่อมโยงกัน ลงทะเบียนเข้าเรียน 5 คน ต่อมา 1 คนบอกว่าไม่มีพื้นฐานพอจึงย้ายไปเรียนแบบมีวิชาเรียน ช่วงที่เรียนเห็นหน้าเห็นตากันอยู่ 2 คนที่เข้าร่วมกิจกรรม เราเองไปร่วมกิจกรรมทุกอย่างที่สาขาจัดให้และแจ้งให้เข้าร่วม  คณะกรรมการที่ปรึกษางานวิจัยของเรามี 3 ท่าน ทุกท่านน่ารักมาก ประธานที่ปรึกษาซึ่งเป็นรุ่นเดียวกันกับพี่สาวคนโตเรารู้สึกประหนึ่งท่านเป็นพี่สาวจริงๆ ปี 2547-2549 เราไม่เคยขาดกิจกรรม แต่ปี 2550-2551 เรายุ่งอยู่กับการทำเอกสารการสอนตามหลักสูตรใหม่ตามที่สาขามอบหมาย และการดูแลนักศึกษาปริญญาโทสาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา ที่ เราเป็นกรรมการที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์ ซึ่งทุกคนเป็นข้าราชการครู หลายรายหายไปทำผลงานวิชาการบ้าง ไปทำงานโรงเรียนบ้าง กลับมาอีกก็ลืมงานเก่าและเวลาก็จวนสิ้นสุด เราเองก็เน้นคุณภาพของงานทุ่มเทเวลให้คำปรึกษาตรวจแก้ไขจนเราไม่มีเวลาไปพบคณะกรรมการที่ปรึกษา สิ่งไหนที่ตนเองทำได้ก็ทำไป จนที่ปรึกษาบอกว่า คุณทำเหมือนไม่มีกรรมการที่ปรึกษา เราทำวิจัยไป 2 เรื่อง สอบ Comprehensive และภาษาอังกฤษผ่านเรียบร้อย แต่ช่วงที่เสนอเค้าโครงเรื่องที่ 3 ซึ่งถือเป็นปริญญานิพนธ์ มีระเบียบว่าจะต้องได้รับอนุมัติเค้าโครงภายในเดือนตุลาคม (ช่วงนั้นอาจารย์ส่ง e-mail ถึงเราให้เราไปดำเนินการในเรื่องต่างๆแต่เราไม่เห็น เพราะมี e-mail เกี่ยวกับการเรียนภาษาอังกฤษเต็มไปหมด อาจารย์ไม่พอใจมากและโทรศัพท์ถามว่าจะเรียนต่อไหมถ้าเรียนต่อให้ไปดำเนินการทุกอย่างให้เสร็จในเดือนตุลาคม เราส่ง e-mail ขอโทษอาจารย์และกลับไปดูแลนักศึกษาป.โทจนคนหนึ่งสอบผ่านวิทยานิพนธ์ในระดับดีเยี่ยม อีกคนได้แค่ระดับดีเพราะกลับไปทำต่อในเวลาจำกัด) หลังจากเคลียร์นักศึกษาป.โทเสร็จเราได้ไปติดต่อขอสอบในวันที่ 19 ตุลาคม แต่คณะกรรมการหลักสูตรลงความเห็นว่าไม่ค่อยติดต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาและดำเนินการล่าช้าจึงไม่ให้สอบ ทำเรื่องอุทรณ์แล้วแต่ไม่ได้ผล เลยศึกษาไม่สำเร็จ 

ผลงานทางวิชาการที่สำคัญเรียงตามลำดับเวลา (ตำรา เอกสารประกอบการสอนเข้าเล่ม เอกสารคำสอนเข้าเล่ม  รายงานวิจัย บทความ ชุดอบรม)  

          1. งานแปลและเรียบเรียง เรื่อง “กระบวนการกลุ่ม : Group Process” ปี 2525

          2. รายงานวิจัยเชิงสำรวจและทดลอง เรื่อง "ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อจริยธรรมของนักศึกษาสาขาวิชาการศึกษา" ” ปี 2530 โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจาก กรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ

          3. ตำราเรื่อง “ "มนุษยสัมพันธ์สำหรับครู" ” ปี 2536

          4. รายงานวิจัยเชิงสำรวจและปฏิบัติการ เรื่อง “ "การจัดการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ" ” ปี 2537 โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจาก กรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ 

          5. เอกสารประกอบการสอน เรื่อง “ "กิจกรรมแนะแนวในชั้นเรียน" ” ปี 2537 (ผลงานในรายการที่ 4-5 ใช้เสนอขอกำหนดตำแหน่ง ผศ. และได้รับการอนุมัติภายใน 2 เดือนหลังยื่นเสนอขอ)           

          6. เอกสารประกอบการสอน เรื่อง “ "การศึกษางานวิจัยทางจิตวิทยาและการแนะแนว" ” ปี 2543

          7. เอกสารประกอบการสอน เรื่อง “ "การทดสอบทางสติปัญญากับการแนะแนว" ” ปี 2544 

          8. รายงานการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based) เรื่อง “ "การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ" ” ภายใต้โครงการบ้าน-โรงเรียนร่วมใจ โดยดำเนินการวิจัยและขยายผลระหว่างปี 2541-2543 ปี 2544 รายงานผล โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

          9. เอกสารประกอบการสอน เรื่อง “ "การจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาชีวิต" ” ปี 2545

          10. ชุดประกอบการอบรมเชิงปฏิบัติการโรงเรียนปฏิรูปการเรียนรู้ เรื่อง “ "การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนด้วยกระบวนการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน" ” ปี 2545

          11. บทความ เรื่อง “ "การวิจัยเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ" ” ใน วารสารครุทัศน์ คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 ปี 2545

          12. บทความวิจัย เรื่อง “ "การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ" ” ใน เอกสารประกอบการสัมมนานำเสนอรายงานการวิจัย “ราชภัฏสุรินทร์ ท้องถิ่นวิจัย ครั้งที่ 2” วันที่ 11-12 มีนาคม 2545 (หน้า [3-1] - [3-16])  สุรินทร์ : สำนักวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันราชภัฏสุรินทร์

           13. บทความ เรื่อง “ "เจตคติและการรับรู้ประสิทธิภาพแห่งตนกับการสนับสนุนโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝัน" ” ใน วารสารครุทัศน์ คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 ปี 2546

           14. รายงานการวิจัยชั้นเรียน เรื่อง “ "การพัฒนาคุณลักษณะบุคคลแห่งการเรียนรู้ เพื่อสนับสนุนงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา" ” ปี 2546 ปรับปรุงปี 2548 และ 2550

           15. เอกสารประกอบการสอนนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา เรื่อง “ "การวิจัยด้านการเรียนรู้และการวัดตัวแปรทางจิตวิทยาการศึกษา" ” ปี 2546

           16. บทความ เรื่อง “"ทางเลือกใหม่การทำวิทยานิพนธ์…ในกระแสการปฏิรูปการเรียนรู้ของไทย" ” ใน วารสารการวิจัยและประเมินผลการศึกษา สาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา สถาบันราชภัฏ  อุบลราชธานี ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 ปี 2546

           17. บทความวิจัย เรื่อง “ "การพัฒนาสมรรถภาพการเรียนรู้ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ด้วยกระบวนการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน" ” ใน เอกสารการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนรู้ วันที่ 19-20 กรกฎาคม 2547 (หน้า 207-214)  กรุงเทพฯ  : สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.

           18. เอกสารประกอบการสอน เรื่อง “ "ความคิดสร้างสรรค์" ” ปี 2547

           19. ชุดอบรมครู เรื่อง “ "การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน" ” ปี 2547

           20. ชุดอบรมครู และชุดอบรมนักศึกษาปริญญาโทสาขาหลักสูตรและการสอนมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เรื่อง “"การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถภาพสมองสองซีกของผู้เรียน"” ปี 2548

           21.  เอกสารประกอบการสอนหลักสูตรครู 5 ปี เรื่อง “ "ธรรมชาติของผู้เรียน" ” ปี 2549

           22. เอกสารประกอบการสอนหลักสูตรปริญญาตรีทุกสาขา เรื่อง “ "พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน" ปี 2549

           23. ตำราประกอบการสอนหลักสูตรครู 5 ปี เรื่อง “ "จิตวิทยาสำหรับครู" ” ปี 2550

           24. คู่มือการเรียนรู้วิชา " "การพัฒนาทักษะการคิด "" ปี 2552 ปรับปรุงปี 2553

           25. คู่มือการเรียนรู้วิชา " "พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน" " ปี 2551 ปรับปรุงปี 2553

           26. เอกสารคำสอน วิชา “ "จิตวิทยาสำหรับครู" ” ปี 2551 ปรับปรุงปี 2553

           27. ตำราประกอบการสอนนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา เรื่อง “ "การศึกษาตัวแปรทางจิตวิทยาในงานวิจัยและประเมินผลการศึกษา" ” ปี 2551 ปรับปรุงปี 2552

การดำรงตำแหน่งทางการบริหาร

            ปีการศึกษา 2520-2523 เป็นหัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนวควบหัวหน้าฝ่ายแนะแนว ปีการศึกษา 2524-2526 เป็นหัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว วิทยาลัยครูสุรินทร์  

          ในช่วงเวลาที่ปฏิบัติราชการที่วิทยาลัยครูอุบลราชธานี และสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี จากปีการศึกษา 2527-2541 เคยดำรงตำแหน่งทางการบริหารต่างๆ ได้แก่ หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว รองหัวหน้าคณะวิชาครุศาสตร์ (ปัจจุบัน คือ รองคณบดี) ได้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งหัวหน้าโปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัย ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์แนะแนว สนเทศและบริการอาชีพ สำนักกิจการนักศึกษา หัวหน้าฝ่ายฝึกอบรมและบริการวิชาการ สำนักบริการวิชาการ และหัวหน้าฝ่ายสารสนเทศและเผยแพร่ สำนักวิจัย จากปีการศึกษา 2542 เป็นต้นมา ไม่ได้รับตำแหน่งบริหารใดๆ

งานบริการทางวิชาการแก่ชุมชน

              1. เคยปฏิบัติงานด้านการนิเทศงาน “โครงการบวร (บ้าน วัด โรงเรียน)” ในท้องที่ชายแดนของจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร และอำนาจเจริญ และงานจัดการศึกษาของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนใน 3 จังหวัดดังกล่าว

              2. มีประสบการณ์ในการจัดทำหลักสูตร ผลิตชุดจัดการอบรม และทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้การอบอบรมทั้งด้านเนื้อหา ด้านเทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน กลวิธีและเทคนิคการปฏิบัติงานแนะแนว สำหรับครูอาจารย์ทุกระดับการศึกษา ในจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และสุรินทร์ และหลักสูตรอื่นๆ สำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เช่น โรงพยาบาล วิทยาลัยพยาบาล เทศบาล การท่องเที่ยว ธนาคาร ฯลฯ รวมทั้งเยาวชนนอกระบบโรงเรียน ได้แก่ หลักสูตรเทคนิคการเป็นวิทยากร พลวัตกลุ่ม และการทำงานเป็นทีม การสื่อสาร มนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน กลุ่มสัมพันธ์ จิตวิทยาการให้บริการ ความเป็นผู้นำ การพัฒนาตนและพัฒนางาน และตอนที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายฝึกอบรมและบริการวิชาการ ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ริเริ่มจัดทำหลักสูตรและจัดการอบรมหลักสูตรมัคคุเทศก์ไทยรุ่นที่ 1

       3. ระหว่างปี 2538-2541 ปฏิบัติหน้าที่เป็นวิทยากรให้การอบรม เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการชุมชนและมวลชนสัมพันธ์ ในความรับผิดชอบของตำรวจภูธรภาค 3 จำนวน 7 จังหวัด ในหัวเรื่อง “กลุ่มสัมพันธ์”

       4. ได้รับเชิญเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาเครื่องมือวิจัย ของนักศึกษาหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ และสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และสาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเป็นผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเครื่องมือวิจัยของครูในท้องที่ ที่ทำวิจัยเพื่อเสนอขอเลื่อนตำแหน่ง

       5. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจประเมินผลงานทางวิชาการ เพื่อกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการครูให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ได้แก่ ปี 2547 เป็นกรรมการตรวจสอบและประเมินเอกสารทางวิชาการ ของข้าราชการครู (ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด) ที่ขอกำหนดตำแหน่งอาจารย์ 3 ในสาขาแนะแนวการศึกษา ปี 2551 เป็นกรรมการประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ สำหรับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ สาขาวิชาการแนะแนว และสาขาการศึกษาปฐมวัยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ มหาสารคาม  

            6. 26-29 เมษายน 2553 อบรมครูแนะแนวในหลักสูตรที่เน้นการพัฒนาผลงานทางวิชาการ

            7. อบรมวิทยาการแกนนำสาขาการแนะแนวจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร จำนวน 3 รุ่น รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 28 กรกฏาคม-1 สิงหาคม 2553 รุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 2-6 กรกฎาคม 2553 และรุนที่ 3 ระหว่างวันที่ 9-13 สิงหาคม 2553 ตามโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ

             8. อบรมวิทยาการแกนนำสาขาการแนะแนวจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร จำนวน 10 รุ่นระหว่างวันที่19 กรกฎาคม -11 สิงหาคม 2554 ตามโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ

ข้อมูลการพัฒนาทางวิชาการ

          29 พฤษภาคม 2538 ได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากอาจารย์ 2 ระดับ 6 เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 8

          ปี 2540 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นนักวิจัยแห่งชาติ รหัส 40-60-0087 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท