การพัฒนาทักษะชีวิต


การสอนทักษะชีวิตด้วยกิจกรรมค่ายโครงงานบูรณาการ

 

วันนี้ได้เข้าอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างหลักสูตรค่ายโครงงานบูรณาการเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต ด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาชีวิตของนักเรียนทุกคนให้สามารถแก้ไขปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง และสามารถอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ได้อย่างมีคุณภาพ บรรยากาศการอบรมเชิงปฏิบัติการทำให้ได้มองเห็นความตั้งใจจริงของเพื่อนครูที่ช่วยกันระดมพลังความคิดในการออกแบบกิจกรรมค่ายได้อย่างหลากหลาย กลายเป็นหลักสูตรค่ายโครงงานบูรณาการเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตที่สมบูรณ์และมีความเหมาะสมกับวัยของนักเรียนในทุกระดับชั้น ผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นขานรับกับจุดหมายและมาตรฐานโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งมีทิศทางในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เป็นคนดี คนมีปัญญา มีคุณภาพที่ดีและมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีระดับโลก

กระบวนการสอนนักเรียนให้พัฒนาทักษะชีวิต ได้ยึดแนวปฏิบัติตามทักษะที่เป็นแกนกลางหรือหัวใจสำคัญในการดำรงชีวิต อันมีคุณลักษณะ 10 ทักษะ คือ

1.ทักษะการแก้ปัญหา

2.ทักษะการตัดสินใจ

3.ทักษะการคิดสร้างสรรค์

4.ทักษะการคิดวิเคราะห์วิจารณ์

5.ทักษะการสื่อสาร

6.ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

7.ทักษะการตระหนักในตนเอง

8.ทักษะความเห็นอกเห็นใจ

9.ทักษะการจัดการกับอารมณ์

10.ทักษะการจัดการกับความเครียด

เมื่อได้เรียนรู้คุณลักษณะของทักษะจำเป็นของชีวิต พบวานักเรียนส่วนใหญ่ยังขาดทักษะชีวิต เช่น นักเรียนชายที่อยู่ในความดูแลคนหนึ่ง อายุ 15 ปี มีทักษะชีวิตอยู่ในขั้นต้องได้รับการพัฒนาเร่งด่วน เพราะนักเรียนกำพร้าพ่อตั้งแต่เรียนชั้นประถม ได้รับทั้งการตอกย้ำว่าขาดพ่อ และได้รับการปรนนิบัติจากแม่เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดมากเกินไปจนนักเรียนขาดทักษะชีวิตเกือบทุกทักษะที่กล่าวมาข้างต้น

มีข้อมูลอันเป็นประเด็นปัญหาคือนักเรียนคนนี้ ไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียน ไม่ใส่ใจในภาระงานที่ครูสั่งทำงานผิดพลาดหลายครั้ง ทำงานไม่เสร็จตามกำหนดเวลา เมื่อได้รับการส่งเสริมให้เข้าร่วมโครงการต่างๆ ทั้งในระดับโรงเรียนและในระดับท้องถิ่น นักเรียนก็ทำกิจกรรมได้ไม่เต็มที่นัก เช่น การสมัครเข้าอบรมในค่ายคอมพิวเตอร์ ณ สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในท้องถิ่นของตนเอง เมื่อถึงวันสอบคัดเลือก นักเรียนลืมว่าต้องไปสอบ เมื่อครูโทรไปเตือนจึงนึกขึ้นได้ ทำให้มาไม่ตรงตามนัดไม่ทันเพื่อนและรถรับส่ง เหลือเวลาอีกชั่วโมงเศษก็จะถึงเวลาสอบ ซึ่งต้องเดินทางไปให้ถึงสนามสอบที่อยู่ห่างจากโรงเรียน 16 กิโลเมตร ครูถามนักเรียนว่า…แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร …นักเรียนตอบว่า “ไม่รู้ครับ” ( ทั้งที่ตั้งใจจะไปสอบ แต่ก็ยังคงนั่งอยู่เฉยๆ ไม่สนใจที่จะเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหา ) ครูเสียดายโอกาสจึงช่วยแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ ทำให้ได้คิดว่าการขาดทักษะชีวิตของนักเรียนคนนี้ ต้องหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษา เพราะทักษะชีวิตเป็นเรื่องที่สอนกันในครอบครัวได้ไม่เท่ากัน เมื่อส่งต่อมายังโรงเรียน ครูคงต้องทำหน้าที่อย่างหนักนอกเหนือจากการสอนคือ หน้าที่ดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้นักเรียนเกิดการพัฒนาทักษะชีวิตทั้ง 10 ข้อให้ได้ คงจะต้องให้นักเรียนเขียนถึงสถานการณ์อันก่อให้เกิดปัญหา แล้วมาคิดวิเคราะห์ สอนให้นักเรียนเขียนรายงานว่าตนเองขาดทักษะด้านใดบ้าง เพื่อให้คำชี้แนะวิธีแก้ไขปัญหาให้ ถ้าจะรอให้เป็นหน้าที่ของครอบครัวนักเรียนเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ทันการณ์ เท่าที่มีข้อมูลจากประสบการณ์งานด้านปกครองนักเรียน พบว่านักเรียนที่ขาดทักษะชีวิต ได้รับผลต่อเนื่องมาจากครอบครัวที่ไม่แข็งแรงเพราะทั้งพ่อและแม่ รวมทั้งผู้ใกล้ชิด ก็ขาดทักษะสำคัญในการดำรงชีวิตอย่างมากเช่นเดียวกัน

การจัดกิจกรรมค่ายโครงงานบูรณาการเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต จึงควรทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตทุกระดับชั้นของเยาวชน ตั้งแต่ชั้นประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย จึงจะส่ง “ คนคุณภาพ “ของสังคมไปแข่งขันกับประชากรในสังคมโลกได้

บันทึกนี้จึงขอเชิญชวนให้ร่วมกันพัฒนาเยาชน ด้วยทักษะชีวิตทั้ง 10 ข้อ โดยเริ่มกันตั้งแต่ในครอบครัวเลยนะคะ ยังบกพร่องข้อไหนก็รีบแก้ไขให้ดีเพราะที่คนมีทักษะชีวิตดี ย่อมอยู่รอด อยู่ดี อยู่อย่างยั่งยืนและมีความสุขค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #ทักษะชีวิต
หมายเลขบันทึก: 254732เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2009 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

  ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูลเรื่องนี้ซึ่ง.ในขณะนี้ มีองค์กรเครือข่ายพัฒนาเยาวชนและชุมชนหลายแห่งได้ร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของเยาวชน เพื่อสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงแก่เด็กๆของเรา...ให้เป็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติ..

     ดิฉันจะได้นำตัวอย่างภาคปฏิบัติในเชิงการจัดเวทีการเรียนรู้ของเรื่องนี้ มาเล่าสู่กันฟังต่อไปค่ะ

                        nongnarts

สวัสดีค่ะ

***ขอขอบคุณ..คุณนงนาทมากๆเลยค่ะ

***ถ้าหลายๆองค์กรร่วมมือกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เครือข่ายย่อมเข้มแข็ง เพราะทุกๆองค์กรต่างคาดหวังให้เกิดผลกับเยาวชนเหมือนกัน แล้วจะนำการสรุปผลโครงการมาแลกเปลี่ยนในโอกาสต่อไปนะคะ ด้วยความยินดีค่ะ

  • สวัสดีค่ะ  ตามมาเยี่ยมและขอบคุณที่แวะไปทักทายที่บันทึกนี้นะคะ
  • เห็นด้วยกับอาจารย์อย่างยิ่งในเรื่องของการพัฒนาทักษะชีวิต
  • ส่วนใหญ่ผู้คนมักจะให้ความสำคัญกับคะแนนและเกรด จนละเลยด้านอื่นๆ ซึ่งสำคัญมากยิ่งกว่าเสียอีกนะคะ
  • พยายามหาวิธีที่จะให้เด็กได้พัฒนาตนเองได้รอบด้านอยู่เหมือนกันค่ะ
  • การทำค่าย ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่กำลังทำกันอยู่ค่ะ
  • คงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกนะคะ
  • สวัสดีครับคุณครูกิติยา เตชะวรรณวุฒิ
  • ทักษะชีวิตทั้ง 10 ลักษณะนั้น น่าสนใจครับ
  • หากเราพิจารณาดูแล้ว เป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับจิตทั้งนั้นเลยนะครับ
  • ทักษะการอบรมจิต เป็นทักษะที่เป็นหัวใจอย่างถ่องแท้ทีเดียว
  • ขอให้โชคดีมีความสุขตลอดไปนะครับ

สวัสดีค่ะ ddL

***ขอขอบคุณสำหรับความคิดเห็นที่ทำให้เกิดกำลังใจ

***ยินดีอย่างยิ่งสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขอให้พบกับความสำเร็จในทุกโครงการนะคะ

สวัสดีค่ะ พี่ทนัน ภิวงศ์งาม

***เร่องของการอบรมจิตเป็นเรื่องลึกซึ้งละเอียดอ่อน และต้องอาศัยเวลาในการกล่อมเกลา ค่อยๆแทรกในกิจกรรมทีละเล็กที่ละน้อยจึงจะสร้างความตระหนักให้เด็กๆได้

***ชอบคุณสำหรับความคิดเห็นที่ช่วยถ่ายโยงความคิดค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์กิติยา ดีใจที่อาจารย์สนใจพัฒนาทักษะชีวิตให้นักเรียน ดิฉันขอแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องนี้กับอาจารย์นะคะ

  • ทั้ง ๑๐ ตัวเป็นทักษะชีวิตที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ มี ๒ ตัวเป็น Core Set คือ ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) กับ ความคิดวิเคราะห์วิจารณ์ (Critical Thinking) แปลว่าถ้าเราสร้างสองตัวนี้ให้เด็กได้ (ตั้งแต่เล็กๆ) ตัวอื่นๆ จะสร้างตามมาได้ง่าย
  • อาจารย์สร้างสองตัวนี้ได้ง่ายๆ ด้วยกระบวนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Center) ค่ะ ซึ่งคิดว่าอาจารย์ทำอยู่แล้ว
  • เราเคยเสนอ Participatory Learning เป็น Process เพื่อสร้างทักษะชีวิต เพราะมันเป็นรูปธรรมของ Learning Process ที่ชัด และประยุกต์ใช้ได้กับการสอนทักษชีวิตทุกตัว
  • วิเคราะห์ให้ดีจะพบว่า ทักษะชีวิตทั้ง ๑๐ ตัวเป็น "ปลายทาง" ของการพัฒนา  เราสามารถบรรจุเนื้อหาต่างๆ ลงไปในการสอนได้  ที่เราเคยทำ เช่น เรื่องเอดส์ ยาเสพติด  ความรุนแรง
  • กล่าวได้ว่า  เราสามารถสอนทุกเนื้อหาให้บรรลุเป้าหมายปลายทางที่เป็นทักษะชีวิตได้  แต่เรามักเน้นไปที่การเผชิญปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน  ตามความหมายของ ทักษะชีวิตที่ว่า  "ความสามารถในการเผชิญปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน  และเตรียมพร้อมเพื่อการจัดการกับปัญหาในอนาคต"

สุดท้ายค่ะ ได้เข้ามาอ่าน และรู้ว่าอาจารย์กิติยา สนใจมุ่งมั่นที่จะสร้างทักษะชีวิตให้เด็กๆ แล้วชื่นใจมากเชียวค่ะ 

มีความสุขกับการทำงานนะคะ

สวัสดีค่ะคุณnui

***ขอบคุณนะคะที่เข้ามาแลกเปลี่ยน

***ทั้ง ๑๐ ทักษะชีวิตที่องค์การอนามัยโลก เรานำมาจัดเป็นฐาน แต่จัดกินกรรมแยกเป้น 6 ระดับชั้น แต่ละระดับชั้นมีกิจกรรมต่างกันออกไป และมีคณะกรรมการจากระดับชั้นที่มีคุณวุฒิด้านทักษะชีวิตจากการอบรม เช่น ครูแนะแนว และครูในกลุ่มสาระสุขศึกษาพลสึกษา ประจำอยู่ทุกกลุ่ม เป็นค่ายแบบโครงงานบูรณาการ ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ นักเรียนจำนวนสามพันเศษได้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนค่ะ

***เชื่อว่าข้อคิดเห็นต่างๆ ที่นำเสนอวิธีการจัดการชีวิต...จะเกิดองค์ความรู้เรื่องการจัดการชีวิต ที่ใช้เป็นต้นแบบได้นะคะ

***ขอให้มีความสุขในการพัฒนางานและมีข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกันอีกนะคะ

มาชม

เป็นมุมคิดที่ดีมีสาระนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

***ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม

***อาจารย์สบายดีนะคะ

  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาแลกเปลี่ยนค่ะ
  • มาแล้วถือโอกาสอ่านบันทึกซะเลย
  • แล้วเอ๊ะกับตรงนี้ค่ะ
  • ..........
  • นักเรียนคนนี้ ไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียน ไม่ใส่ใจในภาระงานที่ครูสั่งทำงานผิดพลาดหลายครั้ง ทำงานไม่เสร็จตามกำหนดเวลา
  • ..........
  • พี่สงสัยว่าเด็กคนนี้เขาผ่านชีวิตที่สบายมานะค่ะ
  • น่าจะไม่เคยได้ลองลงมือทำอะไรด้วยตัวเองเลยด้วย
  • เหมือนการได้กินอาหารแบบ no hand ยังไงยังงั้นเลยค่ะ
  • ครูรู้จักมั๊ยค่ะ การบริการร้านอาหารแบบ no hand อ่ะค่ะ
  • .........
  • แล้วก็สะกิดใจอีกอย่าง
  • ว่าน้องอาจจะเคยลองมาแล้ว
  • แต่ผู้ใหญ่บอกว่าเขา "ผิด"
  • ลองแล้วยัง "ผิด" ร่ำไป
  • เขาก็เลยไม่ลองดีกว่ารึเปล่า
  • .........
  • มาเสนอครูช่วยลองค่ะว่า
  • การฝึกให้ตัวเขาได้รู้วิธีแก้ปัญหา
  • โดยให้คิดแล้วบอกว่ามีปัญหาอะไร
  • กับการหาโจทย์จริงๆที่ต้องลงมือเองแก้ปัญหา
  • อะไรที่จะช่วยเพิ่มทักษะให้เขาได้ดีกว่ากันค่ะ
  • สำหรับเรื่องของเขา
  • .........
  • เสนอเรื่องที่พึงทำคู่กันไปก็คือ
  • ทำให้พ่อแม่วางใจ ไว้ใจลูกด้วยค่ะ
  • ไว้ใจว่าลูกทำได้
  • ไว้ใจว่าการพลาดของลูก ไม่เป็นเรื่องใหญ่หรอกหนา
  • ด้วยว่าคือการหัดเดินทีละก้าวเพื่อให้มั่นในการเรียนรู้
  • .........
  • เพื่อให้เด็กได้ลองสิ่งที่อยากลองเต็มๆ
  • ฝากครูช่วยน้องด้วยนะค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

มาอ่านและเก็บเกี่ยวความรู้ค่ะ

กระบวนการสอนนักเรียนให้พัฒนาทักษะชีวิต ได้ยึดแนวปฏิบัติตามทักษะที่เป็นแกนกลางหรือหัวใจสำคัญในการดำรงชีวิต อันมีคุณลักษณะ 10 ทักษะ คือ

1.ทักษะการแก้ปัญหา

2.ทักษะการตัดสินใจ

3.ทักษะการคิดสร้างสรรค์

4.ทักษะการคิดวิเคราะห์วิจารณ์

5.ทักษะการสื่อสาร

6.ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

7.ทักษะการตระหนักในตนเอง

8.ทักษะความเห็นอกเห็นใจ

9.ทักษะการจัดการกับอารมณ์

10.ทักษะการจัดการกับความเครียด

ขอบคุณมากค่ะ

(^___^)

สวัสดีค่ะพี่หมอ

*** ขอบคุณค่ะที่กรูณาแลกเปลี่ยนเข้ามา เป็นประโยชน์สำหรับครูและผู้ปกครองเด็ก ซึ่งขณะนี้โรงเรียนได้จัดกิจกรรมทั้งทางวิชาการและพัฒนาผู้เรียน

*** การออกวารสารเพื่อประชาสัมพันธ์โรงเรียนก็เป็นการนำเสนอแนวคิดให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็กมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้การแก้ปัญหาในด้านต่างๆของนักเรียนเป็นไปได้ดีขึ้นค่ะ

*** ในนบางครั้งก็ยังต้องอาศัยคุณหมอมาช่วยแก้ไขและพัฒนาเด็กๆในบางกรณีด้วยการติดต่อคุณหมอเอง หรือแนะนำให้ผู้ปกครองพาเด็กไปขอคำปรึกษา

*** ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยที่แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ ขอบคุณคุณหมอโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยเ้ฉพาะแพทย์หญิงสุกัญญา ที่ให้ความอนุเคราห์ในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

*** อยากได้แนวคิดของพี่หมออีกในโอกาสต่อไปนะคะ

สวัสดีค่ะ

***ขอบคุณคนไม่มีราก

*** สบายดีอยู่นะคะ .. อากาศร้อนมากอย่าลืมรักษาสุขภาพด้วยค่ะ

ทั้ง 10 ทักษะนี้ มีบางทักษะ ก้ไม่ง่ายนะคะ เช่นการจัดการกับความเครียด และการจัดการกับอารมณ์ คงต้องใช้เวลาและศิลปะเหมือนกันนะคะ แต่การมีงานอดิเรกที่ชอบ ก็สามารถทำให้เรา ไม่ค่อยเครียดค่ะ

 

สวัสดีค่ะ Sasinand

***ขอบคุณค่ะแวะมาทีไรได้เห็นดอกไม้สวยๆทุกครั้ง สดชื่นจังค่ะ

บล็อกนี้ดี มีประโยชน์มากครับ ขอบคุณทีแวะมาเยียมชมบันทึกของผมครับ

สวัสดีค่ะ .. โรงเรียนฝึกสุนัข ชุท(SchH)

*** ขอบคุณสำหรับสิ่งที่ส่งมาด้วยนะคะ...น่ารักจริงๆ

สวัสดีค่ะ Sasinand

*** เห็นด้วยกับความเห็นที่เป็นประโยชน์

*** ขอบคุณมากค่ะ

สิบทักษะชีวิตที่จัดกิจกรรมเป็นหกระดับชั้น มีรายละเอียดไหมคะ กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่เพือนำไปใช้กับงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนค่ะ

ชื่นชมครับ ขอให้ประสบความสำเร็จในการไปจัดต่อให้กับนักเรียนทุกคน 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท