สุนทรียสนทนา (Dialogue) ที่สถาบันเพิ่มฯ


....และเมื่อคนในองค์กรมีชีวิตที่ดีขึ้น องค์กรก็จะต้องดีขึ้นด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะองค์กรนั้นประกอบด้วยชีวิตแต่ละชีวิตเหล่านั้น...
         เมื่อวานเย็น ดร. บุญดี บุญญากิจ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติได้จัดการประชุมปรึกษาหารือเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) เป็นการพูดคุยที่โยงไปถึงการสัมมนา IPC 2007 – Knowledge Management “From Brain to Business” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-19 มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนกันว่าแต่ละท่านนั้นได้เรียนรู้อะไรจากสองวันนี้ บรรยากาศของการพูดคุยค่อนข้างจะดี เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่ใหญ่เกินไป และแต่ละท่านก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป ทำให้ได้มุมมองที่ค่อนข้างหลากหลาย ประกอบด้วย 1. ท่านอาจารย์ประสิทธิ์ (อดีตผอ. สถาบันเพิ่มฯ) 2. อ.ดร. ยุวดี (ศิริราช) 3. คุณพรทิพย์ (Fullbright) 4. ดร. ปรอง (Spansion) 5. คุณวิเชียร (7 Eleven) 6. รศ. รัชต์วรรณ (ม.เกษตร) 7. คุณพัฒนศักย์ (สภาอุตสาหกรรมฯ) รวมผมและ ดร.บุญดี เป็น 9 ท่าน
        ในระหว่างที่พูดคุยกันนั้น ผมเกิดความคิดรวบยอด (Conceptual Thinking) เห็นภาพการทำ KM หรือการนำ KM ไปใช้”  ในประเทศไทย ว่ามีการนำไปใช้ 3 แบบ (หรือ 3 ระดับ) ด้วยกัน
        แบบแรก เป็นการใช้ KM เชิงองค์กร จะเรียกว่าเป็น “Strategic KM” ก็ได้ เป็น KM ที่เน้นยุทธศาสตร์ เน้นโครงสร้าง เน้นระบบ เน้นการจัดทำแผน และการประเมิน มีเรื่อง ICT เข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก มีเรื่องตัวชี้วัด เพื่อใช้ประเมินผลการปฏิบัติงาน เป็น KM แบบที่ กพร. และสถาบันเพิ่มฯ ส่งเสริมอยู่
        KM แบบที่สอง เป็น KM ที่เน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณอำนวยส่งเสริมให้คุณกิจแลกเปลี่ยน Tacit Knowledge เน้นการสร้าง Network สร้าง CoP เป็น KM ในรูปแบบที่หน่วยงานต้นสังกัดผม (สคส.) ส่งเสริมอยู่ จะเรียกว่าเป็น KM ระดับกลุ่มก็น่าจะได้
        KM แบบที่สาม เป็น KM ที่ผมเองสนใจมาโดยตลอด เป็น KM ที่มุ่งเน้นไปที่ระดับปัจเจก (Individual) เน้นที่เรื่องของใจ ให้ความสำคัญกับกิจกรรมการสื่อสารเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration-based Communication) ให้ความสนใจไปที่ Mental Model เป็น KM เชิงปัญญาปฏิบัติ (Phronesis) ที่ผมเริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ฟังการบรรยายของ Professor Nonaka ในวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมานี้
        แต่แล้วสิ่งที่ยืนยันการนำ KM ไปใช้ในแบบที่สามนี้ ก็เกิดขึ้นตอนที่ผมได้ฟังคุณพัฒนศักย์ ฮุ่นตระกูล ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมฯ ที่นั่งอยู่ข้างๆ ผม เล่าถึงประสบการณ์การนำ KM ไปใช้ในบริษัทที่เป็น SMEs โดยเล่าว่าต้องเป็นการทำให้เกิด การระเบิดจากข้างใน คือต้องใช้เรื่องที่คนในหน่วยงานสนใจ เช่น เรื่องการใช้จ่ายอย่างพอเพียง ... ทำอย่างไรจึงจะไม่มีหนี้สิน .... เทคนิคการทำบัญชีครัวเรือน คุยกันเรื่องการเลี้ยงลูก เรื่องครอบครัว ... สรุปว่าเริ่มจากเรื่องที่ใกล้ๆ ตัวก่อน
        สิ่งที่สะท้อนใจผมก็คือ ผู้บริหารองค์กรส่วนใหญ่มักจะใจร้อนในการเลือกหัวปลา (KM Focus Area)” เรามักจะมุ่งเป้าไปที่เรื่องขององค์กรเลย เช่น พูดเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพ การมุ่งสู่ความเป็นเลิศ อะไรทำนองนั้น และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบที่ไม่ค่อยจะมีพลังเท่าใดนัก แต่หากเราใช้กลยุทธ์แบบที่คุณพัฒนศักย์ใช้ เอาเรื่องที่เขาสนใจก่อน อาจจะเป็นเรื่องชีวิต เรื่องเศรษฐกิจ (เรื่องปากเรื่องท้อง) เรื่องสังคมของเขา แล้วค่อยๆ หยิบประเด็นความรู้ใหม่ๆ ใส่เข้ามา ผมว่าวิธีนี้น่าจะได้ผลดีมากกว่า...
        ยิ่งไปกว่านั้นการที่ผู้บริหารคิดว่า ถ้าตั้งหัวปลาที่เป็นเรื่องปัจเจก เป็นเรื่องชีวิตแล้ว ก็จะได้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร ผมว่านี่เป็นความคิดที่ผิดครับ จริงๆ แล้ว การตั้งหัวปลาเรื่องชีวิตจะทำให้ชีวิตของคนในองค์กรดีขึ้น และเมื่อคนในองค์กรมีชีวิตที่ดีขึ้น องค์กรก็จะต้องดีขึ้นด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะองค์กรนั้นประกอบด้วยชีวิตแต่ละชีวิตเหล่านั้น... นับว่าเป็นการพูดคุยที่คุ้มค่ามากจริงๆ ต้องขอขอบคุณ ดร. บุญดี และทุกท่านที่ร่วมพูดคุยกันในวันนั้นอีกครั้งครับ
 
คำสำคัญ (Tags): #km#phronesis#dialogue#smes
หมายเลขบันทึก: 75443เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2007 08:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)
  • ได้รับสิ่งดีๆ ที่เข้าใจชัดเจนแต่เช้าเลยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ อาจารย์
  • มีหลายองค์กรที่ต้องการหัวปลาแบบสำเร็จรูป จนลืมไปว่าบริบทมันไปด้วยกันไม่ได้
  • ดิฉันชอบบทสรุป 3 ข้อของอาจารย์ค่ะ คนที่นำไปใช้โดยเฉพาะผู้บริหารคงต้องใจเย็นและสามารถพอสมควรทีเดียว ที่จะบูรณาการทั้ง 3 ข้อมาใช้ในองค์กรเดียวกัน
  • ตัวหนังสืออ่านยากจังค่ะ

ขอบอกเล่ามุมมองขององค์กรประเภทโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำอยู่นะคะ... พนักงานอยากจะเปลี่ยนเสื้อที่ใส่ประจำจากเสื้อ Shop (ไม่แน่ใจว่าเขียนยังไงค่ะ) สีน้ำเงินที่เหมือนเสื้อช่างทั่วไป เป็นเสื้อโปโล แต่ติดที่ว่าสีอะไรดี... หัวหน้าแผนกจึงนัดประชุมกัน... ตกลงสร้างความเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนเป็นสีเลือดหมู ปักชื่อสีขาว... พอผู้บริหารทราบ...ไม่อนุมัติ...ที่จริงดิฉันเชื่อว่าหลายคนคิดว่าสีอะไรก็ได้ แต่ที่เล่ามาเพื่อจะบอกว่า... ครั้งหนึ่งดิฉันได้เอาเอกสารเกี่ยวกับ KM ให้ผู้จัดการโรงงานอ่าน อ่านเสร็จแกบอกว่าผมทำมาแล้วทั้งนั้น... แต่คุณเชื่อไหม...คุณอะไรๆ ก็แพ้คุณอำนาจ... มาคราวนี้คงจะจริงตามที่แกบอกแล้วค่ะ

อ.มีความคิดเห็นอย่างไรค่ะกับตัวอย่างจิ๊บจ้อยนี้ (ครูบาว่าเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว)

ขอบคุณมากค่ะ

อ่านแล้วเกิดแรงบันดาลใจประเด็น KM ที่มุ่งเน้นไปที่ระดับปัจเจก (Individual) เน้นที่เรื่องของใจ ให้ความสำคัญกับกิจกรรมการสื่อสารเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งทำให้ดิฉันนึกถึงงานชิ้นหนึ่งที่เคยทำในหน่วยงานโดยทำมาระยะหนึ่งแล้วทิ้งไปเพราะภาระงานอื่นที่มากขึ้น  คิดว่าจะสานต่อค่ะ

            การทำสุนทรียสนทนาเป็นเรื่องที่ดี ผมเคยได้รับการฝึกจากอ.นพ.ทวีศักดิ์ ทำให้เกิดทักษะการฟังดีขึ้น แต่เมื่อกลับไปที่ทำงานก็ฝ่อเหมือนเดิม เพราะผู้บริหารท่านขาดการฟัง(มีแต่พูด) แต่คิดว่าประโยชน์ของการทำ dialogue ก็คือการเปลี่ยนแปลงตนเองให้ฟังได้ดียิ่งขึ้น หากคนเราใช้ทักษะการฟังมากขึ้น โลกคงมีสันติสุขมากกว่านี้

                                  สุพัฒน์

เห็นด้วยกับคุณสุพัฒน์ค่ะ เมื่อก่อนผู้บริหารก็นิยมพูดมากกว่าฟัง เข้าปีใหม่ 2550 แล้ว ดูว่าท่านจะฟังมากขึ้นค่ะ

  • อ. ครับ
  • ผมได้อ่านบันทึกอาจารย์หลายครั้งแต่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นไว้
  • ผมเคยจัดเวที ให้ทาง คณะแพทย์ ขอนแก่น ได้รู้จัก KM และรู้จักการแลกเปลี่ยนด้วยหัวข้อง่ายๆ ใกล้ตัว อย่างที่อาจารย์แนะนำ คือ การล้างมือก่อนทานอาหาร และเรื่อง การดูป้ายบอกจำนวนแคลลอรี่ (มีติดที่ร้านค้า) ก่อนซื้ออาหาร
  • ช่วยทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมสนุกสนาน รู้จัก KM อีกด้วย
  • ขอโทษนะครับ ตัวหนังสือในบันทึกอาจารย์เล็กมาก ผมว่าอ่านยากครับ ไม่ทราบคนอื่นอ่านลำบากเหมือนผมไม๊ครับ

P
beyondKM เมื่อ ส. 02 ก.ย. 2549 @ 07:58 (68785)

ขอโทษจริงๆ ครับ ...ผิดพลาดทางเทคนิค (อีกแล้ว!!) ...คราวหน้าจะระมัดระวังยิ่งขึ้น ...จะไม่เชื่อ Technology จนเกินไป (....โทษเทคโนโลยีซะนี่ ทั้งๆ ที่เป็น "คน" ที่ทำพลาด!!)

  • ผมไปพบเหตุการณ์ (ตัวอักษรเล็ก) โดยบังเอิญครับ..เลย copy มาฝากท่านอาจารย์ประพนธ์
  • ผมต้อง copy ข้อความไปใส่ word ก่อน ครับ..ขยาย font เพื่อจะอ่านข้อความ
  • สรุปว่า KM มีสามแบบ ที่ทำกันในปัจจุบัน (๑) KM เชิงองค์กร (๒) KM เชิงกระบวนการ ลปรร.และ (๓) KM ที่เน้นปัจเจกบุคคล
  • ได้ความรู้ไปคิดต่อครับ

ขอบคุณทุกๆ ท่านสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ ผมได้เข้ามาแก้ตัวอักษรแล้วครับ เมื่อเช้ารีบเร่งไปหน่อยเพราะต้องเข้าประชุม ขออภัยผู้อ่านช่วงเช้าด้วยครับ

....เห็นด้วยกับอาจารย์อย่างมากถึงมากที่สุดค่ะ....ขอบพระคุณเหลือเกินที่ท่าน ...KM ต้นแบบ...เห็นคุณค่าของความคิดและเข้าใจผู้ปฏิบัติระดับรากหญ้าค่ะ
  • เห็นด้วยกับอาจารย์มากเลยครับ ผมว่า KM แบบที่ 3 น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับวิธีอื่น ๆ ด้วย เพราะต่อให้มี ICT จากแบบแรกหรือ CoP จากแบบที่ 2 แต่ถ้าคนไม่มีความอยากที่จะแลกเปลี่ยนแล้วก็คงไม่มีประโยชน์ครับ
  • ในอนาคตคงต้องขอรบกวนปรึกษาอาจารย์เพิ่มเติมครับเรื่อง KM ครับ ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ
  • ขอบคุณครับ จะนำไปเป็นข้อคิดข้อปฏิบัติ

สวัสดีอีกครั้งครับอาจารย์ เจอกันในงาน IPC2007 ไม่ทราบว่าอาจารย์ยังจำได้อยู่หรือเปล่า ดร.บุญดีได้แจ้งผมแล้วว่าจะมี ลปรร กัน แต่ผมไม่สามารถเข้าร่วมเสวนา Focus Group ได้ เพราะติดงานที่จะต้องไปบรรยายให้กับลูกค้าครับ

อย่างที่คุณพัฒนศักย์พูดไว้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ เพราะในงานวันนั้นได้มีโอกาสในช่วงพักดื่มชากาแฟ ก็ได้เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องลูกกับคุณพัฒนศักดิในงานนั้นแหละครับ เนื่องจากลูกผมยังเล็กกำลังเตรียมตัวเข้าอนุบาล1 คุณพัฒนศักดิ์ก็ถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์เพราะลูกโตแล้ว เข้าใจว่าเรียนระดับมัธยม นอกจากนั้นก็ยังคุยไปถึงเรื่องอื่นๆ อีกแม้แต่แลกเปลี่ยนแนวคิดว่าน่าจะทำงานเชิงวิชาการเกี่ยวกับการนำเอาแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับภาคธุรกิจ เพราะรู้สึกว่ายังมีตัวอย่างในเรื่องนี้น้อยอยู่

แล้วก็คุยกันอีกหลายเรื่อง แบบนี้เรียกว่าเริ่มต้นจาก KM ในระดับปัจเจก พอเริ่มได้รสชาติก็พลาดผ่านไปถึง KM ระดับยุทธศาสตร์กันทีเดียว

         บอกตรง ๆ ว่ามีความมั่นใจในการที่หน่วยงานได้ส่งเสริมให้ทุกกลุ่มงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งแบบไม่เป็นทางการและแบบให้ IT มาช่วย  แบบไม่เป็นทางการที่เจ้าหน้าที่ได้มีการพบปะในห้องอาหารเล็ก ๆ ได้พูดคุยเรื่องครอบครัวเรื่องข่าว และในบางครั้งรวมไปถึงเรื่องงานถึงเป็นเวลา 15-20 นาที  ก็เป็นประโยชน์ในเชิงความร่วมมือร่วมใจในการทำงานช่วยเหลือกันมีความอบอุ่นในหน่วยงาน     แต่ถ้าจะนำไปเล่าให้ต่างหน่วยงานฟังจะไม่ให้ความสำคัญเห็นเป็นเรื่องเล็ก ๆ  

       

บันทึกนี้มีค่าสำหรับหนูจริงๆ ค่ะอาจารย์....สามแบบที่อาจารย์กล่าว....นั้นเห็นภาพชัดเจนขึ้น....ที่ ม.อ.เน้นแบบที่สอง...อาจเป็นเพราะได้รับอิทธิพลมาจากการเป็นเครือข่าย ของ สคส.....แต่ทว่าทำแบบที่สองทำไป...ทำไปคุณอำนวยทั้งหลายก็จะ...in เข้าไปกลายเป็นแบบที่สามค่ะ อาจารย์.....เป็นเหตเป็นผลกัน...

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะต้องเริ่มจากใจก่อนKMถึงจะยั่งยืน    แต่บางครั้งตัวชี้วัดที่ต้องส่งทำให้ผู้บริหารมีเวลาน้อยที่จะคอยโดยเฉพาะองค์กรใหญ่ๆกว่าจะได้templateและตกลงกันก็นานมากค่ะ
    เห็นด้วยกับ KM ประเภท 3  แต่ที่ผมแนะให้ทีม KM ใน สพท.ทำอยู่อาจติดรูปแบบนิดๆ โดยทำในกลุ่มสนใจเป็นกลุ่มๆ คล้าย CoPs นั่นแหละ เช่น ICT  ภาษาไทย  วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งเขามีชมรม/ศูนย์อยู่แล้ว  แต่พยายามให้มีประเด็นเพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในกลุ่มของเขาตามเรื่องที่เขาสนใจ  ทำไปเรื่อยๆ  ก็น่าจะติดวัฒนธรรม ลปรร.กัน อาจารย์ว่าพอไปไหวไหมครับ  ทำกับราชการนี่ยากจังเลยนะครับ  ทำอะไรก็ติดฟอร์มกันไปหมด

ในที่สุดต้องใช้ KM ทั้งสามแบบครับ ...จึงจะเรียกได้เต็มปากว่าเป็นการสร้าง LO ที่แท้จริง

ชอบแบบที่ 3 ครับ เชื่อว่าพลังขับเคลื่อนที่แท้จริงอยู่ตรงนั้นจะทำให้ยั่งยืนกว่า ขอบพระคุณอาจารย์ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท