การสอนและการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีความสุข


ภาพที่ ๑ สามารถเล่นให้สนุกและบูรณาการเรียนรู้ได้อยู่ตลอดเวลา  การเตรียมความพร้อมโดยการแบ่งกลุ่มและพากันสวดมนต์ไหว้พระก่อนแยกย้ายไปเรียนรู้ตามฐานต่างๆอีก ๕ ฐานซึ่งจัดฐานการเรียนรู้โดยนิสิตอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน และกลุ่มครูพี่เลี้ยงจากในพื้นที่ ดร.ขจิต ฝอยทอง ใช้กิจกรรมแบ่งกลุ่มที่กระตุ้นผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้รอบด้านแบบ Active Learner ได้แข่งกันนับเลข เล่น Action Song เพื่อเรียนทักษะภาษาอังกฤษทั้งคำศัพท์ การฟัง การพูด ได้พัฒนาความกล้าคิดกล้าแสดงออก

ภาพที่ ๒ พระครูสุวรรณประชานุกูล (พระมหากมลศิลป์) รองเจ้าคณะอำเภอ และเจ้าอาวาสวัดเขากำแพง ได้กล่าวเปิดโครงการกิจกรรมและแสดงธรรมกถา ให้แนวคิด เสริมกำลังใจ และย้ำให้สังคมตื่นตัวต่อการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของเด็กเพื่อสร้างสุขภาวะสังคมในอนาคต

ความเป็นมาบนความเป็นเครือข่ายคนทำงานเพื่อสังคมและการศึกษา

ผมได้รับการติดต่อจากท่านอาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทอง ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนอยู่เสมอในหลายโอกาส ทั้งทางเครือข่ายสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างคนทำงานด้วยกันผ่านบล๊อก การบอกกล่าวและรักษาการติดต่อกันไว้ทางโทรศัพท์ แวะไปเยือนและนั่งกินข้าวด้วยกัน  รวมไปจนถึงการบอกกล่าวกิจกรรมที่กำลังทำเพื่อจะได้แวะไปดูและเป็นกำลังใจให้กัน ครั้งนี้ก็เช่นกัน ท่านก็บอกกล่าวและทาบทามผมว่า อยากขอแรงผมไปช่วยจัดฐานการเรียนรู้ให้กับคุณครู นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่มนักเรียน โรงเรียนประถมศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาอำเภออู่ทองและอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นทั้งถิ่นฐานบ้านเกิดและเป็นเครือข่ายพี่ๆน้องของอาจารย์ ดร.ขจิตอีกด้วย  

กิจกรรมที่ชวนผมไปช่วย เป็นกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาการสอนและการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนมีความสุข ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๓ สิงหาคม  พุทธศักราช ๒๕๕๔ ณ ศาลาวัดสระยายโสม และโรงเรียนวัดสระยายโสม อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี  จัดว่าเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในพื้นที่ซึ่งอาจารย์มีทุนทางสังคม อีกทั้งกลุ่มคนที่เข้ามาร่วมเวทีด้วยกันนี้  ส่วนใหญ่ก็มาร่วมด้วยน้ำใจผูกพันต่อสังคมส่วนรวมของตนเอง มากกว่าเข้ามาร่วมเพียงเป็นสิ่งที่จะต้องทำอย่างเลี่ยงไม่ได้

กลุ่มครูที่เข้ามาร่วมกิจกรรมเวที ประกอบด้วยเครือข่ายผู้ที่เห็นความสำคัญด้วยตนเองต่อการพัฒนาการศึกษาของเด็ก โรงเรียน และชุมชน ประกอบด้วยกลุ่มครูซึ่งส่วนใหญ่ขอสมัครมาด้วยความสนใจของตนเอง ๑๓๐ คน บางส่วนเป็นผู้บริหารและครูของโรงเรียนเอกชน  นักเรียนระดับประถมศึกษา ๒๐๐ คน  ผู้บริหารสถานศึกษา  ศึกษานิเทศน์ ผู้อำนวยการสำนักงานประถมศึกษา รวมทั้งอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญมากคือ กลุ่มนิสิตจากคณะศึกษาพัฒนศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ซึ่งขออาสามาทำงาน พัฒนาประสบการณ์วิชาการ สาธิตการจัดการเรียนการสอนในแนวทางใหม่ๆที่สนุกและมีความสุขทั้งเด็กและครู และพัฒนาความเป็นผู้นำในวิชาชีพ เป็นกลุ่มเล็กๆ ๗-๘ คน งานนี้ได้รับการสนับสนุนด้านสถานที่และการมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมของโรงเรียนวัดสระยายโสม

พัฒนาเครือข่ายครูเพื่อศิษย์ : สร้างปัจจัยทุนมนุษย์เพื่อสุขภาวะสาธารณะพอเพียง

เวทีระดับเครือข่ายเชิงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นรูปแบบการเดินทำงานด้วยกันในแนวราบอีกวิธีหนึ่งของเครือข่ายคนทำงานในภาคการศึกษา จุดหมายจำเพาะนั้นก็อยู่ที่การพัฒนาเครือข่ายครูเพื่อเป็นผู้นำในการปฏิรูปการศึกษาและปฏิรูปสังคม ระดมสังคมทั้งมวลเพื่อการศึกษา และมุ่งจัดการศึกษาเพื่อคนทั้งมวล เน้นให้ตัวบ่งชี้ความสำเร็จในทุกด้าน เกิดขึ้นอย่างเป็นองค์รวมที่ตัวเด็ก ซึ่งในหลายแห่งก็มีวิธีดำเนินการที่อาจแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด และในส่วนของอาจารย์ดร.ขจิต ฝอยทองกับเครือข่ายชุมชนเชิงพื้นที่ของสุพรรณบุรีในครั้งนี้ มุ่งดำเนินการตามแนวคิดของเครือข่ายครูเพื่อศิษย์ของแผนงานพัฒนาเครือข่ายครูเพื่อศิษย์โดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ซึ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดขึ้นจากเครือข่ายครูที่สอนเก่ง ให้มีโอกาสเพิ่มพูนศักยภาพและได้ถ่ายทอดความรู้ความสามารถของตนเองไปสู่ผู้อื่น พร้อมทั้งเสริมกำลังความเข้มแข็งให้ได้มีโอกาสทำงานเพื่อสร้างเด็กด้วยความเก่งของตนเองได้มากยิ่งๆขึ้น

ในเวทีนี้ อาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทอง ได้รับคำแนะนำจากหลวงพ่อวัดกำแพง ในการนำเอาประเด็นการสอนและการจัดการเรียนรู้อย่างมีความสุข มาเป็นวาระการจัดกระบวนการเวที ท่านอาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทองและเครือข่ายจะใช้การเรียนรู้ภาษาอังกฤษเป็นแกน  แต่เวทีนี้เป็นเวทีที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ยังไม่รู้ว่าจะสามารถบูรณาการกิจกรรมการเรียนการสอนต่างๆ เพื่อทำให้ผู้เรียนมีความสุข รักและได้ความสนุกกับการเรียนภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งสามารถได้ประสบการณ์อย่างรอบด้านแบบไหน

การออกแบบกระบวนการ

อาจารย์ ดร.ขจิต ได้ให้ข้อมูล บอกเล่าแนวคิด และกรุณายกร่างกำหนดการเวทีแบบกว้างๆ เปิดโอกาสให้ผมสามารถออกแบบกระบวนการต่างๆให้ยืดหยุ่นไปตามความเหมาะสมได้ แต่เราก็ไม่เคยร่วมเวทีด้วยกันในแนวนี้โดยตรงเลย ยิ่งไปกว่านั้น ผมเคยสอนแต่นักวิชาการและนักพัฒนาสาธารณสุข นักพัฒนาสังคมและงานพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากร ครู เครือข่ายผู้ปกครอง กับเจ้าของและผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งโดยมากก็เป็นผู้ใหญ่ทั้งกลุ่มปริญญาโท-เอก กลุ่มบุคลากรประจำการ และกลุ่มกำกับนโยบายขององค์กรต่างๆทั้งสิ้น พอจะเคยได้สอนเด็กๆบ้างก็ในกระบวนการทำวิจัย ได้มีโอกาสจัดกิจกรรมกับเด็กๆเหมือนกัน แต่เป็นกิจกรรมในวิถีชุมชน หรือเป็นการเรียนรู้ที่กลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิต ไม่เคยสอนเด็กๆลูกหลานตัวน้อยๆของเราอย่างมืออาชีพแบบที่คุณครูทุกคนมีอยู่เลย

ดังนั้น การสอนของผมกับอาจารย์ณัฐพัชร์ หากใช้วิธีถ่ายทอดความรู้อย่างเดียว ฤาจะดีเท่ากับการที่ผู้เข้าร่วมเวทีจะได้สร้างความรู้และได้ตัวปัญญาเป็นของตนเอง ด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง และได้วิเคราะห์ประสบการณ์ในสิ่งเดียวกันแต่ข้ามบริบทอันหลากหลายกับคนอื่น เงื่อนไขนี้ ผมนำมาเป็นฐานในการออกแบบกระบวนการ เพื่อทำเวทีให้เป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนทำงาน และมุ่งเติมเต็มให้กันในด้านที่จะช่วยกันได้  

ผมอาจะมีเทคนิคและวิธีการหลายอย่างที่จะสามารถเป็นเครื่องมือขยายพลังการเรียนการสอนของครู ผู้บริหาร พัฒนาความสามารถการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ โดยเฉพาะเรื่องสื่อ เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อจัดการความรู้แบบบูรณาการชุมชน ศิลปะเพื่อบูรณาการการเรียนรู้และพัฒนาการคิด การออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม การเรียนรู้ด้วยกิจกรรมและเกมส์ อีกทั้งได้ชวนอาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ จากสถาบันพัฒนสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ไปด้วย ซึ่งท่านเป็นมือหนึ่งคนหนึ่งของการบูรณาการกิจกรรมและเกมส์ เพื่อทำการเรียนรู้ให้มีความสุขทั้งครูและผู้เรียน แต่ดูระยะเวลาเพียง ๒ วัน ขนาดกลุ่มที่ใหญ่พอสมควร และความเป็นกลุ่มเพิ่งเริ่มต้นจัดกิจกรรมด้วยกัน ของเวทีครั้งนี้แล้ว ก็คิดว่าคงจะไม่เหมาะสำหรับการเรียนรู้เชิงทักษะและเทคนิคปฏิบัติซึ่งต้องใช้เวลามาก

เมื่อคะเนดูแล้ว เวทีแรกอย่างนี้ อาจจะทำกิจกรรมเพื่อให้มีบทบาทสำคัญ ๒ อย่างสำหรับเครือข่ายครูเพื่อศิษย์ คือ ทำหน้าที่เป็นสื่อกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายครูเพื่อศิษย์ในพื้นที่การศึกษาอำเภออู่ทองและอำเภอสองพี่น้อง กับเป็นเวทีเรียนรู้เพื่อได้เห็นศักยภาพและต้นทุนประสบการณ์ของเครือข่ายเพื่อพัฒนาตนเองได้อย่างเหมาะสมในอนาคต โดยใช้กิจกรรมพัฒนาการสอนและการจัดการเรียนรู้เพื่อผู้เรียนมีความสุขนั่นเอง ให้เป็นกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาเครือข่ายไปในตัว

ผมกับอาจารย์ณัฐพัชร์เตรียมหลายอย่างไปด้วย แต่เมื่อไปถึงแล้ว ก็มีความจำเป็นที่จะต้องออกแบบและจัดกระบวนการกันใหม่ ซึ่งก็ไม่ยุ่งยากและไม่ติดขัดแต่อย่างใด เพราะผมคาดเดาได้พอสมควรแล้วว่าอาจจะต้องปรับกระบวนการต่างๆไปตามสภาพความเป็นจริงของกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มครูที่มาร่วมเวทีนั้น เป็นจำนวนถึง ๑๓๐-๑๕๐ คน หากจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆเพื่อประจำตามฐานการเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งมีอยู่ ๕ ฐานและเตรียมไว้ตามห้องเรียนต่างๆของโรงเรียนวัดสระยายโสมแล้ว ก็คงจะทำให้ดำเนินการกันลำบาก ผมกับอาจารย์ขจิต จึงแยกจัดกิจกรรมให้กลุ่มครูบนศาลาวัด แต่ออกแบบกระบวนการทั้งหมดให้เชื่อมโยงกับฐานปฏิบัติการเรียนรู้ และสาธิตการเรียนการสอนในแนวทางใหม่ๆโดยกลุ่มนิสิตและเครือข่ายครูพี่เลี้ยง ดังภาพ

ภาพที่ ๓ การออกแบบระเบียบวิธีและจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการหลายมิติ

สาธิตการจัดการเรียนการสอน
และฐานสำหรับร่วมกันเรียนรู้ทั้งนักเรียนและครูผู้สอน

ในวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ ได้ออกแบบกระบวนการจาก ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. เพื่อให้ฐานสาธิตการสอนและการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเป็นแกนกลางของกระบวนการทั้งหมด ขณะเดียวกัน เครือข่ายครูในพื้นที่ก็ได้เรียนรู้อย่างบูรณาการ โดยนำประสบการณ์ตนเองของเครือข่ายในพื้นที่มาทบทวนเรียนรู้ เตรียมตนเองเพื่อเรียนรู้จากทีมวิทยากรแบบสหวิทยาการ จากนั้น ก็เรียนรู้การสาธิตการสอนจากฐานการเรียนรู้ของกลุ่มนิสิตและเครือข่ายครูพี่เลี้ยง เห็นตัวอย่างของการสอนและการเรียนรู้เพื่อผู้เรียนมีความสุข และนำประสบการณ์มาวิเคราะห์ เรียนรู้เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาครูเพื่อศิษย์

ครึ่งเช้า เป็นกระบวนการเรียนรู้จุดหมายให้ลึกซึ้งและเตรียมตนเองเพื่อให้สามารถเรียนรู้อย่างบูรณาการ ผ่านการสร้างประสบการณ์จากแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ เป็นกลุ่ม ผมให้เวทีเริ่มเดินเข้าสู่ด้านในตนเองเพื่อรู้จักความสุขและลมหายใจแห่งสติซึ่งเป็นพื้นฐานชีวิตของมนุษย์ทุกคนก่อน โดยเริ่มจาก Action Song หรือเพลงประกอบท่าทางเพื่อการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวของเสฐียรธรรมสถาน 

ระหว่างนำผู้ร่วมเวทียืนทำสมาธิเคลื่อนไหวไปกับเพลง ก็ให้รู้จังหวะและวิธีน้อมใจไปสัมผัสกับอารมณ์และสำนึกแห่งการเผื่อแผ่แบ่งปันชีวิตกับผู้อื่น ผ่านการกำหนดรู้ลมหายใจแห่งสติ ให้รู้จักวิธีเรียนรู้ไปกับลมหายใจเพื่อคลายตัวตนและตัวกูของกู เพื่อบ่มสร้างจิตสำนึกการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างไม่จำกัด และไม่เจาะจงต่อสรรพชีวิตอันเป็นเพื่อนร่วมทุกข์สุขต่อกัน

จากนั้น ได้เชิญนั่งล้อมวงและสาธิตการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวแนวหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ แห่งวัดป่าสุคโต จังหวัดชัยภูมิ ให้ผู้ร่วมเวทีได้อยู่กับตนเอง สังเกตอาการเพื่อมีประสบการณ์ตรงแก่ตนเองต่อความสุขและจิตใจอันเกษม ลึกซึ้ง สงบ และศานติ เมื่อสัมผัสได้ก็ให้หมายรู้อารมณ์ดังกล่าวของตนเองเพื่อกลับมาอยู่บนฐานจิตใจนี้ ทุกครั้งที่รู้สึกตัว ต่อไป

การเข้าถึงประสบการณ์ต่อความสุขและการหลุดพ้นภาวะแห่งทุกข์ตามเหตุปัจจัยต่างๆที่สามารถพัฒนาตนเองให้ยั่งยืนมากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับนี้ จะทำให้ครูได้บทเรียนเพื่อสื่อสะท้อนคุณค่าและความหมายแห่งความสุขออกจากใจไปสู่การสอนและการจัดการเรียน ได้ดีกว่าการใช้เหตุผลคิดเอาจากความรู้ความจำที่ผู้อื่นถ่ายทอดมาให้ การเรียนรู้ต่างๆในภายนอกในลำดับต่อจากนี้ จึงล้วนจะเป็นเทคนิคและกิจกรรมเพื่อช่วยขยายขีดความสามารถของคุณครูทั้งสิ้น

การเรียนรู้ความเชื่อมโยงและการเสริมเนื้อหาเชิงทฤษฎีแบบบูรณาการ

ผมได้ให้แนวคิด และขยายกรอบความรู้ความเข้าใจ เพื่อเห็นเหตุผลและความกว้างขวางของประเด็นความเชื่อมโยงต่างๆภายใต้การสอนและการจัดการเรียนรู้อย่างมีความสุข อธิบายให้เห็นถึงสภาพปัญหาและแรงกดดันมากมายของสังคมอันเกิดจากการเรียนรู้และการพัฒนาทางด้านต่างๆอย่างแยกส่วนของสังคมไทยและสังคมโลก  แยกจิตใจออกจากวัตถุ แยกประโยชน์ของมนุษย์ออกจากความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ แยกการเรียนรู้เพื่อสร้างคนเก่งออกจากการสร้างสุขภาวะสังคมและสร้างคนเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรต่อกัน แยกเด็กออกจากครอบครัวและชุมชน ทางด้านการจัดการศึกษา ก็แยกความรู้และความจริงจากชีวิตของผู้คน ภูมิปัญญาของตนเอง ออกจากความรู้และความจริงที่คนอื่นสร้าง กระทั่งทำให้ด้อยกว่าความรู้และวิทยาการของต่างประเทศ เน้นรูปแบบที่ทำให้เกิดการแยกส่วนการศึกษาออกจากการสร้างความเป็นจริงให้กับสังคม

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดความตระหนักว่าการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีความสุขนั้น มิใช่อยู่ที่กิจกรรมเพื่อให้เกิดความสนุกและมุ่งสร้างความสุขอย่างไม่มีความหมาย แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ในกระบวนทัศน์ที่ต่างออกไปจากกระแสหลักที่เป็นอยู่ของสังคม เพื่อสร้างพลเมืองรุ่นอนาคตให้ออกไปเป็นพลเมืองของชุมชนและของสังคม  ร่วมกันนำการเปลี่ยนแปลงของสังคมสู่แนวทางการพัฒนาใหม่ๆที่ดีกว่าเดิม วิธีคิดดังกล่าวนี้ จะช่วยให้เครือข่ายการเรียนรู้พัฒนาครูเพื่อศิษย์ เห็นบทบาทความสำคัญต่อการมุ่งพัฒนาการเรียนรู้ด้วยสำนึกและจิตใจที่ใหญ่กว่าการพัฒนาครูเก่งและเด็กเก่ง

 

ภาพที่ ๔ กรอบแนวคิดแสดงการจัดความสัมพันธ์ของมนุษย์กับระบบนิเวศที่มีความบูรณาการและเป็นองค์รวม ( จากแผนภาพ บรรยายเสริมความรู้ให้กับเวทีเครือข่ายศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน โรงเรียนหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์, บรรยายเสริมความรู้ให้กับเวทีเครือข่ายครูเพื่อศิษย์ในครั้งนี้, และเขียนตำราในชุดวิชามนุษย์กับระบบนิเวศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช : วิรัตน์ คำศรีจันทร์) 

จากภาพ เมื่อมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญต่อการแก้ปัญหา รวมทั้งเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาอย่างบูรณาการ หากเริ่มต้นจากการเรียนรู้อย่างมีความสุขและการพัฒนาอย่างไม่แยกส่วน ก็จะทำให้การสร้างคนมีโอกาสเกิดเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผ่านการจัดความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมต่างๆในหลายขอบเขต

การจัดความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ ทำให้เกิดระบบวิธีคิดเกี่ยวกับความเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดระบบสุขภาพ โรงพยาบาล ระบบสาธารณสุข ซึ่งถ้าหากเริ่มต้นด้วยวิถีเรียนรู้และจิตใจที่แยกส่วน มนุษย์ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาวิธีเอาชนะธรรมชาติ มุ่งเอาชนะโรค ขจัดปัจจัยทางชีวภาพ ทุ่มเทวิทยาการและเทคโนโลยีการรักษาแบบตั้งรับจนสุดขั้ว ส่งผลให้เกิดรูปแบบการดำเนินงานทางสุขภาพ การผลิตยารักษาโรค และอื่นๆ ที่ถือเอาการชนะธรรมชาติเป็นตัวตั้ง ซึ่งเมื่อถึงระดับหนึ่ง ก็จะมีความจำกัดต่อสุขภาวะสังคมของมนุษย์

แต่จากกรณีเดียวกัน เมื่อเปลี่ยนวิธีพัฒนาด้านในของมนุษย์ ส่งเสริมการเริ่มต้นจากการพัฒนาความสุข วิธีคิดก็จะมีความสมดุลมากขึ้น แทนที่จะมุ่งขจัดปัจจัยภายนอกและมุ่งเป็นนายธรรมชาติ ก็ทำให้เกิดวิถีเรียนรู้ที่มุ่งปรับเปลี่ยนตัวเองของมนุษย์ให้สมดุลกับสิ่งแวดล้อม วิธีคิดและระบบสุขภาพ ตลอดจนความรู้และภูมิปัญญาต่างๆที่นำมาใช้ ก็เปลี่ยนแปลงไปในอีกแนวทางหนึ่ง ต่างจากวิถีทรรศนะแยกส่วนดังในข้างต้น ดังนี้เป็นต้น

ดังนั้น การเรียนรู้อย่างมีความสุข จึงนำไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้และปฏิรูประบบต่างๆในสังคมที่มุ่งเน้นการแก้ปัญญาด้วยปัจจัยมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเพียงเทคนิคเพื่อแยกส่วนเด็กๆออกจากครอบครัวและวิถีชีวิตชุมชน ไปทำให้บางส่วนเป็นเด็กเก่งๆ เรียนได้คะแนนดีๆ แข่งขันเอาตัวรอดได้ดีที่สุดในโลก ไหลขึ้นไปเสริมกำลังให้กับกระแสหลักการพัฒนาที่สังคมไทยและทั่วโลกต่างก็กำลังอยากเปลี่ยนแปลง ซึ่งเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรต่างๆได้ดีอยู่แล้วให้กลับเข้มแข็งและล้นเกินมากยิ่งขึ้นไปอีก ขณะที่กลับเชื่อมโยงกับสังคมเพื่อสุขภาวะคนส่วนใหญ่ที่ไร้โอกาส ที่ต้องการคนรุ่นใหม่ไปเป็นกำลังนำการเปลี่ยนแปลงทุกด้านไม่ค่อยได้ ให้ยิ่งอ่อนแอและกลับไร้โอกาสมากยิ่งๆขึ้น 

นอกจากนี้ การเรียนรู้ของเครือข่ายครูเพื่อศิษย์ต้องเรียนรู้อย่างเชื่อมโยงเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและโครงสร้างที่ต้องดำเนินไปด้วยกันของสังคมทั้งมวล แตกต่างจากการมุ่งระดมความเป็นส่วนรวมเพื่อได้เด็กและโรงเรียนที่เก่งแบบปัจเจกแยกส่วนดังที่กล่าวมา ซึ่งอุปมาดังต้องลงทุนเผาทำลายป่าทิ้งและโค่นกอไผ่ทั้งกอเพียงเพื่อได้หน่อไม้งามๆ ๑ หน่อให้กับความล้นเกินของคนส่วนน้อย ดังเช่นกระแสหลักของการพัฒนาทางด้านต่างๆในปัจจุบัน ทั้งของสังคมไทยและสังคมโลก

ภาพที่ ๕ การบูรณาการการเรียนรู้ด้วยสื่อกิจกรรมพับกระดาษออริกามิ

ภาพที่ ๖ การบูรณาการกลุ่มครูผู้สอนจากต่างกลุ่มสาระการเรียนรู้และต่างประสบการณ์ : การจัดการเรียนการสอนเพื่อให้มีความบูรณาการและมุ่งให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาอย่างสมดุลทั้งความเก่ง ดี มีความสุขพอเพียง สามารถใช้เนื้อหาสำหรับเป็นแกนกลางที่แตกต่างกันไป แต่ต้องสามารถออกแบบให้ผสมผสานและดำเนินไปด้วยกันได้อย่างกลมกลืน การเรียนรู้วิธีทำงานให้เกิดบูรณาการกลุ่ม เป็นจุดเริ่มต้นของความสามารถบูรณาการกันได้ในมิติอื่นๆ 

ภาพที่ ๗ เข้าถึงคุณค่าและความหมายการเรียนรู้อย่างมีความสุขเพื่อเพิ่มพูนออกจากจุดที่ตนเองมีและเป็น ร่วมกันนำเอาประสบการณ์มาเรียนรู้ หลอมรวมความรู้ความเข้าใจ และสำรวจต้นทุนประสบการณ์ที่มีอยู่ในพื้นที่ 

กิจกรรมและปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้เป็นกลุ่ม

หลังทำสมาธิ เจริญสติภาวนาแบบตื่นรู้การเคลื่อนไหว เตรียมความพร้อมเพื่อการเรียนรู้ในแนวทางนี้แล้ว ก็ให้เรียนรู้หลักคิดและวิธีใช้แผนที่ระดมความคิด (Mind Mapping) สำหรับใช้พลังบูรณาการกลุ่มให้เป็นวิธีเรียนรู้ความหมายและรู้จักธรรมชาติของ 'ความสุข' กับการสอนและการเรียนรู้เพื่อผู้เรียนมีความสุขให้รอบด้าน นั่งคุยกันและใช้แผนภาพความคิดบันทึกรวบรวมประสบการณ์จากกลุ่มเล็กๆกลุ่มละ ๗-๑๐ คน ๔๐ นาที เสร็จแล้วก็นำเสนอเพื่อวิเคราะห์และสร้างความรู้ขึ้นเองจากการเปรียบเทียบข้ามกลุ่มในเวทีรวม แล้วจึงเสริมความรู้และให้หลักทฤษฎีในภายหลังโดยผมกับอาจารย์ณัฐพัชร์

กระบวนการดังกล่าวนี้ อาจจะคล้ายกับกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นตัวตั้ง (PBL : Problem-Based Learning) แต่ในการออกแบบและทำกระบวนการนั้น ผมทำด้วยหลักคิดของการจัดกระบวนการให้กับชุมชนที่รวมตัวกันปฏิบัติการวิจัยอย่างมีส่วนร่วม หรือ CO-PAR : Community Organizing Through Participatory Action Research ซึ่งมุ่งตั้งคำถามสำหรับการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และสามารถเกิดภาพเพื่อตั้งคำถามและกำหนดความสนใจเพื่อปฏิบัติการได้อย่างแยบคายกว่าเดิม ผมเคยทดลองใช้กระบวนการนี้ถอดบทเรียนสหกรกล้วยไม้ของชุมชนข้างอ่าวรามอนแมกไซไซ กรุงมะนิลา ในระหว่างเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการของนักวิจัยชุมชนนานาชาติครั้งหนึ่งในโครงการ Canada-Asia Partnership Programme เมื่อประมาณปี ๒๕๓๕ จากนั้น ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ทำงานอยู่เสมอมา

ข้อดีของการนำเอาประสบการณ์มาเรียนรู้ผสมผสานกับการวิเคราะห์และให้ความรู้เพิ่มเติมจากวิทยากรแบบสหวิทยาการอย่างนี้ นอกจากจะไม่เป็นการเริ่มต้นที่ศูนย์ และนำเอาความรู้จากภายนอกมาปิดทับความรู้ของคนทำงานด้านเดียวแล้ว  ก็นับว่าเป็นการทำให้เวทีเรียนรู้และการให้ความรู้ ไม่เป็นการมองข้ามประสบการณ์ตรงที่มีเป็นทุนเดิมของผู้ร่วมเวทีทุกคน การบรรยายและการให้หลักคิด ทฤษฎี รวมทั้งการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆจากทีมวิทยากรให้แก่ผู้เข้าร่วมเวที จึงเป็นการต่อเติมขึ้นจากประเด็นและหัวข้อที่มีอยู่ในประสบการณ์ของคนทำงานอยู่แล้ว ทำให้เป็นการจับมือกันเดินออกจากจุดที่ทุกคนมีโอกาสพึ่งตนเองและสามารถคิดริเริ่มสิ่งต่างๆด้วยความเป็นตัวของตัวเองได้ดีที่สุด

จากนั้น ก็ได้ใช้สิ่งที่ทำในช่วงแรกนี้ อันได้แก่ ความรู้ความเข้าใจ, การบูรณาการกลุ่มแตกต่างประสบการณ์, การทำแผนภาพความคิด, และทักษะติดตัวที่มีแต่เดิมของทุกคน ให้เป็นเครื่องมือเพื่อแบ่งกลุ่มออกไปเรียนรู้และร่วมกิจกรรมฐานการเรียนรู้ ๕ ฐาน ได้สังเกตกิจกรรมการสาธิต เห็นตัวอย่าง ได้เพิ่มพูนประสบการณ์และแนวคิดใหม่ๆ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการเดินเก็บข้อมูลเพื่อเป็นฐานวิเคราะห์และเรียนรู้เป็นกลุ่มบนศาลาวัดด้วยกันทั้งกลุ่มอีกครั้ง

กระบวนการในขั้นตอนนี้ จัดว่าเป็นสื่อกิจกรรมเพื่อเรียนรู้จากการทำงานจริงๆไปด้วย โดยทางด้านเทคนิคและวิธีเรียนรู้อย่างบูรณาการ ก็จะได้วิธีเรียนรู้เป็นกลุ่มและใช้เครื่องมือง่ายๆที่เตรียมกันแล้วในข้างต้นอย่างผสมผสาน ส่วนทางด้านเนื้อหาจากฐานสาธิตการสอนและการเรียนรู้ซึ่งเป็นเป้าหมายของการเข้าไปสังเกตการณ์และเรียนรู้ ก็ได้แก่การใช้สื่อกิจกรรมบูรณาการการสอนและการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้เด็กๆมีความสนุกและมีความสุข

คนรุ่นใหม่จะมีความรู้และทักษะการเข้าถึงความสนุกสนานของเด็กๆ มีศิลปะการสอนที่มีความสด มีพลังความริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นสื่อกิจกรรมให้เครือข่ายครูในพื้นที่ได้เห็นแบบอย่างในการจัดการเรียนการสอนอย่างบูรณาการและมุ่งให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาอย่างรอบด้านทั้งความเก่ง ดี มีความสุข ขณะเดียวกัน ในส่วนของครูประจำการที่จะเข้าไปเรียนรู้การสาธิต ก็ต้องถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ชีวิตและได้สัมผัสกับโลกความเป็นจริงจากการทำงาน มีความรู้และภูมิปัญญาปฏิบัติที่อิงอยู่กับบริบทของท้องถิ่นและมีความรู้ความเป็นจริงในบริบทของการปฏิบัติ หากสามารถสร้างการเรียนรู้ขึ้นภายในตนเองให้ทั้งสองส่วนบูรณาการและเสริมกำลังกันได้ ก็จะทำให้ทั้งครูรุ่นใหม่กับครูรุ่นเก่า เป็นเครือข่ายนำการเปลี่ยนแปลงที่ต่างก็เติมเต็มพลังความสร้างสรรค์ให้กันได้อย่างเป็นทวีคูณ เป็นกำลังเครือข่ายที่สะสมความเป็นมวลวิกฤต (Critical mass) สำหรับนำการเปลี่ยนแปลงและสร้างสุขภาวะเชิงระบบ ได้ดีกว่าการพัฒนาคนแบบแยกส่วน

การใช้กระบวนการอย่างนี้ นอกจากจะทำให้เครือข่ายครูเพื่อศิษย์พึ่งธรรมชาติของตนเองและธรรมชาติการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ มาเป็นเครื่องมือและวิธีการเรียนรู้สิ่งซึ่งกลุ่มนิสิตและครูพี่เลี้ยงร่วมกันทำให้เด็กๆ ได้อย่างทรงประสิทธิภาพแล้ว ก็นับว่าเป็นการทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ เรียนรู้ข้ามกลุ่มระหว่างเครือข่ายครูกับฐานการเรียนรู้ ซึ่งหากมองในแง่ความเป็นการปฏิบัติการชุมชน (Community Action)  ก็จัดว่าได้เป็นการทำให้เกิดความเป็นชุมชน ที่ผู้คนในพื้นที่ได้สร้างความเป็นญาติกันทางการงาน มีความเกี่ยวดอง และผูกพันกับความเป็นส่วนรวม ด้วยวิธีการทางความรู้ และในความเป็นการปฏิบัติการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Action and Movement) เพื่อให้ฐานรากของสังคมมีสุขภาพดี ก็ต้องนับว่าเป็นกระบวนการเชื่อมโยงและจัดความสัมพันธ์ให้หน่วยสังคมวิชาการและภาคีทางการศึกษา ได้มีปฏิสัมพันธ์กันในระนาบของพื้นที่ ทำให้กระบวนการทางสังคมวัฒนธรรมด้านการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ มีกำลังเคลื่อนไหวเพื่อนำการพัฒนาจากผู้ปฏิบัติในระดับชุมชนและฐานรากของสังคม (Community-Based and Buttom-up Development) ให้สะท้อนขึ้นไปสร้างความเป็นระบบและกระบวนการระดับนโยบายในมิติใหม่ๆได้มากยิ่งๆขึ้น กระบวนการและวิถีปฏิบัติอย่างนี้ มีความเป็นการปฏิรูปและเป็นวิถีวัฒนธรรมอย่างใหม่อยู่ในตัวเอง เพราะในกระแสสังคมส่วนใหญ่นั้น ครูและคนทำงานในพื้นที่มักต้องเป็นผู้รอตั้งรับสถานการณ์ต่างๆ และแนวนโยบายต่างๆทางการศึกษา ก็มักสั่งการจากบนลงล่างอยู่ตลอดเวลา

หลังจากรับประทานอาหารกลางวันแล้ว จึงแบ่งกลุ่มครูออกเป็นกลุ่มละประมาณ ๗-๘ คน ให้กระจายออกไปสังเกตการณ์และร่วมกิจกรรมฐานการเรียนรู้เป็นเวลา ๑ ชั่วโมงครึ่ง

จากนั้นก็กลับมารวมกลุ่มบนศาลาและนั่งเป็นวงกลมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เป็นรายบุคคลทุกคนใน ๒ ประเด็น คือ (๑) สิ่งที่ได้เรียนรู้และสามารถอภิปรายและเปลี่ยนได้ กับ (๒) ความบันดาลใจจากสิ่งที่ได้รับ ที่อยากแบ่งปันและมอบให้เป็นกำลังใจกันเพื่อกลับออกไปทำงานและดำเนินชีวิต

ภาพที่ ๘ สื่อกิจกรรมเพื่อเรียนรู้เครื่องมือและวิธีทำงานเป็นกลุ่ม บูรณาการการเรียนรู้ผ่านการเรียนรู้เป็นกลุ่มและใช้ผลการเรียนรู้เป็นเครื่องมือและวิธีบูรณาการการเรียนรู้ทุกมิติบนเวที

ภาพที่ ๙ ชุมชนเรียนรู้ของคนทำงาน นอกจากเป็นการทำงานด้วยกันแล้ว กิจกรรมที่ทำด้วยกันก็เป็นการบูรณาการมิติการเรียนรู้ที่จำเป็นต้องใช้ไปด้วยกันอย่างเป็นธรรมชาติ ได้เรียนรู้และสัมผัสเทคนิคการทำสื่อการเรียนการสอน การเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้จากต่างเนื้อหาประสบการณ์ การบูรณาการทรัพยากรและเทคนิควิธีการจัดการเรียนการสอน ที่สามารถริเริ่มจากต้นทุนที่มีอยู่ในคนอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ภาพที่ ๑๐ นำเสนอและเชื่อมโยงการเรียนรู้ในภาพรวมของทั้งพื้นที่เขตการศึกษา

ภาพที่ ๑๑ นำเสนอและเชื่อมโยงการเรียนรู้ในภาพรวมของทั้งพื้นที่เขตการศึกษา

การวิเคราะห์ สรุปบทเรียน และสะท้อนความมุ่งหวังในอนาคต

ผู้ร่วมเวทีได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ อภิปรายอย่างรอบด้าน รวมทั้งสะท้อนความบันดาลใจเพื่อกลับออกไปทำงานและดำเนินชีวิต ซึ่งรวมทั้งนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ที่ได้อาสาเข้ามาทำงานและขอเรียนรู้กับเครือข่ายด้วย

ภาพที่ ๑๒ สรุปบทเรียนและเสริมความรู้

ผมและอาจารย์ณัฐพัชร์ ได้สรุปบทเรียนของเวทีเสริมหลักทฤษฎีในการออกแบบระเบียบวิธีเพื่อจัดการสอนและจัดการเรียนรู้อย่างบูรณาการ โดยให้คุณครูคำนึงองค์ประกอบที่สำคัญ ๓ อย่าง คือ

  • องค์ประกอบด้านบทเรียนและเนื้อหาประสบการณ์
  • องค์ประกอบด้านกิจกรรมและบทบาทผู้สอน
  • องค์ประกอบด้านกิจกรรมและบทบาทผู้เรียน

การสรุปและเสริมหลักทฤษฎี มุ่งผสมผสานสภาพการทำงานของเครือข่ายครูในพื้นที่ กับบทเรียนที่มีเป็นต้นทุนเดิมและหลักวิชาที่ไปด้วยกัน เพื่อเป็นกรอบแนวคิดสำหรับนำเอาปัจจัยและองค์ประกอบที่สำคัญมาออกแบบเชิงระเบียบวิธี พัฒนาการเรียนสอนให้มีความเป็นศิลปะดังที่ต้องการ.

หมายเลขบันทึก: 454099เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2011 00:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (51)

แอบมาสังเกตการณ์ครับ ท่านพี่ ;)...

ขอบคุณมากครับ

อ้าว สวัสดีครับท่านอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ 
เห็นแว๊บบ ๆ นะครับอาจารย์ ผมกำลังเข้าไปชงกาแฟหอมๆมาให้นั่งกินเพื่อเสวนากันแหมน่อย บิดมอเตอร์ไซค์พาเจ้าหมาน้อยซ้อนท้ายไปไหนต่อเสียแล้ว
ขอบคุณที่มาเยือนเช่นกันครับผม

สวัสดีครับท่านอาจารย์ วิรัตน์ มาเรียนรู้การทำเวทีให้ผู้ร่วมเวทีมีความสุข

(ลักจำไปปรับใช้ครับ)

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • แวะมาเรียนรู้  เชื่อว่าครูทุกคนอยากจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข
  • เรียนโดยไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเรียน  จะได้ว่าเคยคุ้นกับคำว่า "เรียนปนเล่น" หรือ "เล่นปนเรียน"
  • ที่โรงเรียนครูอิง แม้ว่าจะมีครูไม่กี่คน แต่ก็หลากหลาย
  • สังเกตได้ว่า ครูที่จบใหม่ ๆ  โดยเฉพาะครูที่เรียกว่า ครู 5 ปี  มักจะสอนเด็กได้สนุกสนาน  เด็ก ๆ จะเรียนรู้อย่างมีความสุข เพราะเค้ามีเทคนิคการสอนโดยใช้ เกมบ้าง เพลงบ้าง ใช้นวัตกรรมที่ทันสมัย โดยเฉพาะด้าน ITมีปัญหานิดนึงที่ต้องปรับ คือนักเรียนจะอยากเรียนกับคุณครูคนนั้นคนเดียว  ทำให้ครูท่านอื่น ๆ ที่ไม่สามารถปรับพฤติกรรมการสอนได้ ไม่เป็นที่ต้องการของนักเรียน 
  • ขอบพระคุณค่ะ

เรียนท่านอาจารย์

ครูอ้อยเข้ามาเรียนรู้ และขอแลกประสบการณ์ ในส่วนของการเรียนรู้ และเลยไปถึงการจัดการ

ปัจจุบันนี้  ไปที่ไหนก็นิยมแต่จัดการเรียนรู้อย่างมีความสุข บนพื้นฐานของการพัฒนาสมอง

ทางด้านบวก ดีมาก ในฐานะที่เป็นครู  ก็จัดแบบนี้  แต่มองเลยไปถึงการประเมินผล  หมายถึงบั้นปลายกันจริงๆๆการจัดการเรียนรู้แบบนี้ คือ ผลที่ยั่งยืน 

แต่อาจารย์ค่ะ หนึ่งในความท้อแท้ คือ ผลของการสอบ O-Net หรือ N.T.ตกต่ำ จนถึงขั้น ต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน

ทางด้านลบ  การสอนแบบนี้  ไม่ได้ช่วยให้ค่าของการสอบที่กล่าวมา  เพิ่มขึ้นหรือ กระเถิบขึ้นมาในขั้น พอใช้  และไม่อาจจะนึกถึง ขั้น ดี ได้เลย

เพิ่มภาระให้ครูหรือเปล่า  สิ้นเสียเวลาไปเปล่าประโยชน์หรือเปล่า  สอนเพื่อสอบใช่ไหม  เครียดกับการสอบแบบนี้แน่นอน

เห็นด้วยนะคะ  ที่จะจัดการเรียนรู้แบบนี้ ที่พัฒนาทักษะชีวิต

และเห็นด้วยนะคะ  ที่จะแก้ไข  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้

การประเมินคุณภาพสถานศึกษา โดย สมศ.พบว่า  ทุกโรงเรียน  ผ่านการประเมินด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทุกวิชา  ในระดับ  ต้องปรับปรุง  แทบทุกโรงเรียน

ฝ่ายวิชาการ  จึงไม่เต็มที่กับการจัดการเรียนรู้แบบนี้เท่าไร  แต่เราก็แอบๆๆจัดกันเสมอค่ะ

ขอแลกเปลี่ยน เท่านี้ค่ะ

สวัสดีครับบังวอญ่าครับ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่งดงามครับ เพราะผมว่าตัวบัง การงาน การดำเนินชีวิต และการอุทิศกำลังสมอง แรงกาย แรงใจ สร้างความสุขร่วมกับสังคมส่วนรมอยู่ตลอดเวลาของบังนั้น เป็นสื่อการเรียนรู้ที่สร้างความสุขและแก้ไขความทุกข์ยากมากจริงๆเลยละครับ

สวัสดีครับคุณครูอิงจันทร์ครับ
เห็นมุมนี้เหมือนกันเลยครับ การบูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้และประสบการณ์การเรียนรู้แบบต่างๆ ผ่านการทำงานเป็นกลุ่มหรือเป็นเครือข่าย เป็นวิธีหนึ่งที่อาจจะช่วยได้บ้างในบางเงื่อนไข โดยให้เนื้อหาการเรียนรู้ทีมีครูสอนเก่งๆและเด็กชอบ เป็นแกนกลาง

แต่ตรงนี้ เท่าที่ได้มีโอกาสสัมผัส ก็พบว่าก่อให้เกิดปัญมากไปด้วยเหมือนกันครับ เพราะการบูรณาการมิติต่างๆผ่านการเรียนรู้เป็นชุมชนผู้ปฏิบัติหรือเป็นเครือข่ายทำงานให้ประสานสอดคล้องกันนั้น เป็นสิ่งที่ต้องมีพัฒนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งกระบวนการประเมินที่เน้นแสดงความสำเร็จด้วยเอกสาร ก็ทำให้ผู้คนไม่อยากอดทน ไม่อดทนต่อการคุยและเดินผสมผสานกัน ที่สุดก็ใช้วิธีง่ายๆโดยเรียนรู้วิธีบูรณาการลงไปบนความแยกส่วน ซึ่งเลยกลายเป็นยิ่งเพิ่มภาระและความล้นเกินทั้งการเรียนของเด็กและการสอนของครู

สวัสดีครับครูอ้อยแซ่เฮครับ

ตรงนี้ผมก็เห็นความจำเป็นที่สังคมและภาคสาธารณะต่างๆต้องคุยกันก่อนมากอย่างยิ่งเลยละครับ เท่าที่ผมทราบ การเรียนรู้อย่างมีความสุขไม่ได้เป็นเพียงเทคนิคการสอนและเทคนิคการจัดการเรียนรู้เพื่อมุ่งบรรลุจุดหมายทางการศึกษาแบบเดิม แต่มุ่งสนองตอบปัญหาและความจำเป็นในระดับความเชื่อมโยงของระบบสังคมกับกระบวนการจัดการศึกษา อีกทั้งมุ่งเป็นการเคลื่อนไหวและจัดการความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา เพื่อเตรียมพลเมืองในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ โดยเฉพาะการสนองตอบการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาจากถือเอา GDP เป็นตัวตั้ง ไปสู่ความสามารถเข้าถึงคุณค่าและความหมายของชีวิตที่หลากหลายสำหรับผู้คนส่วนใหญ่มากขึ้น การปฏิรูประบบต่างๆของสังคมในแนวทางใหม่ๆจึงจะสามารถบังเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบสุขภาพ เศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่ยั่งยืน การรวมตัวกันในระดับอนุภูมิภาคต่างๆของโลก รวมทั้งประชาคมอาเซียน เหล่านี้แหละครับ 

แต่ปัญหาหนึ่งที่เห็นๆก็คือคนส่วนใหญ่ก็ยังมุ่งแข่งกันเป็นยอดปิรามิดของความเก่งมิติเดียวอยู่เหมือนเดิมน่ะสิครับ ทั้งๆที่ก็ทราบกันอยู่ว่ามันมีธรรมชาติที่สนองตอบได้แต่เพียงคนส่วนน้อย และคนส่วนใหญ่จะหลุดไปกับการแพ้คัดออก หากสังคมจะไปในแนวอย่างนี้ จังหวะการขับเคลื่อนต้องมีเวลาการเรียนรู้และส่งเสริมการพัฒนาตนเองได้มากกว่าสภาพที่เป็นอยู่หรือเปล่านะครับ การประเมินที่เร่งเอาแต่ความสำเร็จตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม ก็คงจะมีส่วนเป็นแรงกดดันให้ทุกอย่างดำเนินไปแบบผิวเผินได้เหมือนกัน

ขอบคุณมากครับ สำหรับประสบการณ์พัฒนา Active Learning ได้อย่างเป็นรูปธรรม ผมจะขยายองค์ความรู้นี้กับนศ.กิจกรรมบำบัด ม.มหิดล ต่อไปครับผม

สวัสดีครับอาจารย์ Dr.Pop ครับ
อาจารย์ก็เป็น Active Learner/Teacher ที่เยี่ยมยอดจริงๆ 

กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแล และขอสวัสดีพี่ใหญ่กับ Dr.Pop
ขอบพระคุณที่มาเยือนและร่วมแบ่งปันกันนะครับ

Ico48    พระมหาแล อาสโย ขำสุข   Ico48  นาง นงนาท สนธิสุวรรณ   Ico48    Dr. Pop

  • สวัสดีครับท่านอาจารย์ที่เคารพ
  • การจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีความสุขนั้น มิใช่อยู่ที่กิจกรรมเพื่อให้เกิดความสนุกและมุ่งสร้างความสุขอย่างไม่มีความหมาย แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ในกระบวนทัศน์ที่ต่างออกไปจากกระแสหลักที่เป็นอยู่ของสังคม เพื่อสร้างพลเมืองรุ่นอนาคตให้ออกไปเป็นพลเมืองของชุมชนและของสังคม
  • ช่างเป็นคำจำกัดความที่ดีและมีความหมายลึกซึ้งมากเลยนะครับ

วศินก็บันทึกถ่ายทอดประสบการณ์ และสะท้อนแง่คิดจากบทเรียนต่างๆได้ลึกซึ้งดีนะครับ
เป็นทักษะการเรียนรู้ที่สั่งสมได้แก่ตนเอง สามารถนำมาใช้หาประสบการณ์ต่างๆตลอดเส้นทางการทำงานและดำเนินชีวิต ที่จะทำให้เราเป็นผู้เรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อยู่เสมอที่ดีมากนะครับ ชื่นชมนะครับ ทุกคนเลย

ดีใจที่ได้ร่วมทำงานกับอาจารย์ มีการเรียนรู้ของครูมากจริงๆๆ แอบมาก่อน ยังอยู่เวทีครูเพื่อศิษย์ที่กรุงเทพฯครับ ...

มาเรียนรู้ ด้วยคนนะคะ  อาจารย์บันทึกละเอียดมากเลย

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ บันทึกเล่าให้ติดตามบ้างนะครับ
แหล่งประสบการณ์ดีๆทั้งนั้นเลยนะครับ

สวัสดีครับคุณชาดาครับ

เผื่อคุณครูและทุกท่านที่สนใจจะได้นำเอาไปใช้น่ะครับ วิธีอย่างนี้ เป็นการผสมผสานการถอดบทเรียน การวิจัยแบบ PAR และการปฏิบัติการชุมชน เข้ากับการทำงานด้านการศึกษาและการเรียนการสอนน่ะครับ งานด้านการเรียนการสอนและการจัดการศึกษา คนมักจะนึกถึงแต่ในห้องเรียนและในโรงเรียน การบูรณาการวิธีทำงานชุมชน จากเครือข่ายของคนที่ทำงานกับชุมชนและเชื่อมโยงกับภาคการศึกษาด้วย ก็จะช่วยสร้างเพื่อนและขยายฐานประสบการณ์ให้กับคุณครูได้บ้างน่ะครับ

สวัสดีครับ มีอาจารย์ท่านหนึ่งมาบอกว่าเป็นโครงการที่ดี เขาจะนำไปประยุกต์บ้าง แต่จะเป็นโครงการ "สอนอย่างไรให้ครูมีความสุข" :-)

ฮ่าา  น่าสนใจ น่าจะทำได้หลายวิธีเหมือนกันหรือเปล่านะ เป็นต้นว่า

๑. ไปสอนที่ตำบลแสนสุข เมืองพัทยา ชลบุรี ครูในพื้นที่นั้น เป็นครูชุมชนแสนสุขแน่นอน
๒. ไปเรียนรู้จากครูและโรงเรียนนครสวรรค์ และกรุงเทพมหานคร ครูทั้งจังหวัดสอนคนที่อยู่นครสวรรค์และอยู่เมืองของเทพ ต้องมีความสุขแน่นอนเหมือนกัน
๓. ไปเรียนรู้จากครูและโรงเรียนของเมืองสุโขทัย สุโขทัยเป็นเมืองรุ่งอรุณแห่งความสุข ย่อมมีบทเรียนที่เพิ่งสิ้นทุกข์และทุกอย่างกำลังรุ่งเรือง มีความสุข  
๔. ใช้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย คือ ไปวัดหลวงปู่ศุข จังหวัดชัยนาท กราบหลวงปู่ศุขและขอน้ำมนต์มากิน-อาบ น่าจะสุขสบายใจ

เป็นการทักทายกันหรอกนะครับ คำกล่าวที่ว่า "สอนอย่างไรให้ครูมีความสุข" นั้น เป็นมุมมองที่ให้ความลึกซึ้งมาก ครูและพ่อแม่ทุกคนในฐานะครูแห่งชีวิต ย่อมมีความสุขไปกับการที่เด็กๆลูกศิษย์ เก่ง ดี มีความสุข มีความสำเร็จในชีวิต ออกไปเป็นคนที่อยู่ในสังคม มีส่วนร่วมในฐานะเป็นพลเมืองที่ดี พื้นฐานที่สุดก็พึ่งตนเองได้ เหล่านี้แหละนะครับ ดังนั้น สอนอย่างไรให้ครูมีความสุข ก็ย่อมมีความหมายที่มุ่งสอนอย่างครูเพื่อศิษย์เหมือนกัน แต่มองไปไกลมากกว่าสอนให้เด็กได้เรียนอย่างมีความสุข มองพ้นไปจากการเรียนการสอน

ไม่ได้ดูเฉพาะช่วงที่สอน แต่ใส่ใจไปจนถึงรอคอยได้เห็นการเติบโตงอกงาม อยากเห็นเด็กๆที่ตนเองได้สอนมีอนาคตที่ดี ไม่ต้องเก่ง รวย อยู่เหนือผู้อื่นเป็นเจ้าคนนายคน ก็ได้ เพียงเก่งในสิ่งที่ตนเองทำ ดีกับสังคมและถิ่นฐานที่ตนเองอยู่ และมีความสุขกับสิ่งที่ตนเองมีและเป็นในทุกปัจจุบันขณะ

ข้อเขียนของอาจารย์ช่วยให้เข้าใจ Community-based development มากขึ้นเลยล่ะค่ะ....แต่ยังไม่มากพอ ขอเวลาลงมือทำต่อเนื่องไปอีก

เห็นการบูรณาการวิธีทำงานชุมชน จากเครือข่ายของคนที่ทำงานกับชุมชนและเชื่อมโยงกับภาคการศึกษา

คงเอาไปหาทางเพิ่มทักษะของตนเอง ในการจัดการเรียนรู้ให้ผู้คนที่เข้าร่วมศึกษาชุมชน...มีความสุข

จะได้มีความคิดสร้างสรรค์ ค้นหาสิ่งดี ๆ ที่เป็นศักยภาพ....พัฒนาจากรากฐานของชุมชนเอง

สู่เป้าหมาย...ความสุขของชุมชน

ขอบพระคุณอาจารย์มากนะคะ...ที่ขยันเขียนเผยแพร่

สวัสดีครับคุณหมอครับ ขอบพระคุณครับ
ขอเป็นกำลังใจครับ ชอบอ่านการนำมาบันทึกถ่ายทอดไว้ของคุณหมอมากครับ

สวัสดีค่ะ

รูปแบบการพาครูคิดที่อาจารย์นำมาใช้นี้ลำดวนชอบมาก

เพราะว่าแต่เดิมเราชอบหาแบบสำเร็จรูปที่ไม่แนใจว่าดีกับครูทุกคนเท่าเทียมกัน

แต่การพาเขาคิดวิเคราะห์ได้ด้วยตนเอง

จะทำให้ไปสู่การพัฒนาด้วยตนเองอย่างยั่งยืนใช่ไหมคะ

ขอบพระคุณอาจารย์มากที่กรูณาไปช่วยครูสุพรรณเขตสองค่ะ

ขอบคุณค่ะ แวะมาอ่านเพื่อหวังจะนำไปใช้ให้สุขเด็กและสุขเราค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ลำดวนครับ

ดีใจครับที่ได้เจออาจารย์และอีกหลายท่านที่สุพรรณฯในเวทีทำกิจกรรมของเราในครั้งนี้
พอจะสัมผัสอารมณ์จากเวทีได้เหมือนกันครับว่าส่วนใหญ่แล้วชอบกระบวนการคิดวิเคราะห์และการได้ทำงานเชิงความคิดสร้างสรรค์ ที่สะท้อนการได้มีโอกาสนำเอาประสบการณ์จากการงานที่ทำ มานั่งวิเคราะห์ หาความลุ่มลึก เพิ่มพูนแนวคิดและทฤษฎีเพื่อชี้นำการปฏิบัติให้เป็นระบบยิ่งๆขึ้น แล้วลองออกแบบ นำเสนอเพื่อตรวจสอบตนเองกับเวทีและรับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์ แล้วกลับไปสู่วงจรการทำงานและการดำเนินชีวิตให้กระปรี้กระเปร่า ซึ่งในระยะยาวก็จะยิ่งแตกฉานในสิ่งที่ตนเองทำและเกิดระบบที่เป็นธรรมชาติในการพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนดูสนุก

มองอย่างคนที่อยู่กับการปฏิบัติและต้องการทำงานความรู้ไปบนการปฏิบัติด้วยนั้น ผมก็มองว่าการมีเวทีให้คนทำงานมานั่งคุยกันอย่างนี้ นับว่าเป็นกลไกการจัดการเครือข่ายอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่ที่ดีมากอย่างหนึ่งครับ แต่การที่จะต้องทำอย่างนี้ ก็คงต้องมีทีมสักทีมหนึ่ง ที่มีจิตวิญญาณของคนทำงานด้วยใจและพอจะสามารถฝึกฝนตนเองให้เป็นคนออกกระบวนการเพื่อจัโอกาสให้คนมานั่งทำเรื่องสร้างสรรค์สิ่งดีๆด้วยกันได้

ในทรรศนะผมนั้น ผมก็จะมองไปยังกลุ่มผู้บริหารระดับแผนงานและผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการติดตามผล ที่จะมีส่วนต่อการจัดสรรทรัพยากรและสะท้อนการตัดสินใจเกี่ยวกับความการส่งเสริม-สนับสนุนทั้งการพัฒนางานกับความก้าวหน้าในชีวิตของคนทำงาน รวมทั้งนึกถึงทีมศึกษานิเทศน์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญสำหรับการแปรแนวคิดและนโยบายใหม่ๆไปสู่การปฏิบัติและสะท้อนความเป็นจริงทางการปฏิบัติไปสู่การขับเคลื่อนของกลไกประสานงานในระดับนโยบายในเชิงปฏิรูปทางการศึกษา

แต่คงจะจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนสไตล์การพบปะคนและสไตล์การลงพื้นที่ เปลี่ยนรูปแบบการจัดประชุม การจัดเวทีรายงานและนำเสนองาน พัฒนาศิลปะการสื่อสารแบบเสริมพลัง การสังเคราะห์และสะท้อนข้อเสนอแนะด้วยทักษะความเป็นผู้นำและผู้บริหารทางวิชาการที่มีความเป็นนักปฏิบัติการวิจัยอยู่ในตัวเองด้วย ซึ่งหากทำได้ ก็จะทำให้เกิดกลไกบริหารจัดการเครือข่ายผู้นำแบบเป็นกลุ่ม (Collective Leadership) ซึ่งหลากหลายและบูรณาการไปตามประเด็นความจำเป็นของสังคมได้รอบด้านมากกว่าผู้นำแบบเดี่ยวทั้งระดับบุคคลและระดับองค์กร อีกทั้งมีกำลังพอที่จะชูเรื่องการศึกษาและการพัฒน่าการเรียนรู้ของผู้คน ให้ชี้นำการบูรณาการการพัฒนาเรื่องสำคัญอื่นๆ ให้ดำเนินไปด้วยกันและเพียงพอต่อการสร้างผลกระทบเชิงระบบที่ซัชซ้อนในพื้นที่หนึ่งๆได้

แต่ก็มีบางส่วนที่อยากได้เทคนิคดีๆกลับไปทำงานด้วยเสมอ ซึ่งเมื่อมีเวทีทำกิจกรรมอย่างนี้จนรู้จังหวะกันและมีวัฒนธรรมกลุ่มการเรียนรู้เป็นพื้นฐานด้วยกันระดับหนึ่งแล้ว ก็เชื่อว่าจะสนองตอบได้ อีกทั้งจะสามารถบูรณาการการเรียนรู้ที่จำเป็นได้อีก มากกว่าเรื่องการเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆอีกด้วย

ตอนเย็นของวันนั้น ผอ.และคณะ ของโรงเรียนวัดสระยายโสม ได้พาไปนั่งคุยและกินข้าวเย็นด้วยกัน จนไม่อยากกลับเลยละครับ

มีอีกกิจกรรมหนึ่ง ที่ได้รับเสียงสะท้อนดีมากเลยครับ คือ การบูรณาการสื่อศิลปะให้เป็นเครื่องมือการทำงานออกจากข้างใน และการได้มีจังหวะเจริญสติภาวนา ได้อยู่กับตัวเอง ได้ทำความคิดและจิตใจให้นิ่ง ซึ่งสถานที่และสภาพแวดล้อม รวมทั้งการมีหลวงพ่อ และการสวดมนต์ของเด็กๆเปิดเวที ช่วยทำให้ผมจัดกระบวนการดังกล่าวนี้ลงไปได้อย่างเหมาะสม เป็นองค์ประกอบเล็กๆน้อยๆ แต่มีความสำคัญต่อความลึกซึ้งและแยบคายของกระบวนการอื่นๆมากเลยครับ

สวัสดีครับคุณครูนกทะเลครับ
ขอบพระคุณที่แวะมาเยือนและทักทายกันครับ
ทุกคนได้มีความสุข สังคมมีสุขภาวะ จัดว่าเป็นจุดหมายของการศึกษา การพัฒนาการเรียนรู้ของสังคม และการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมเลยนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

หน่อยค่ะ เพิ่งลองเข้ามาสมัคร gotoknow ขอเข้ามารับความรู้จากอาจารย์บ้างนะคะ

สวัสดีว่าที่ดอกเตอร์หน่อย ยินดีต้อนรับครับ
เอาเรื่องความเคลื่อนไหวทางวิชาการใหม่ๆในห้องบรรยายมาเล่าแบ่งปันกันบ้างสิ

  • อาจารย์ครับ
  • ไปมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯมา
  • เจอคุณนีน่า
  • เธอออกเสียงภาษาอังกฤษชัดมาก
  • เอามาฝากอาจารย์ด้วย
  • http://www.gotoknow.org/blog/yahoo/455773
  • อันนี้เวทีครูเผื่อศิษย์ครับ
  • http://www.gotoknow.org/blog/yahoo/454124
  • ดีใจได้เรียนรู้ การทำงานกับอาจารย์และพี่เหมียว  ขอเอาบันทึกไป link นะครับ
  • เป็นบันทึกแรกที่ได้ทำงานกับอาจาย์เย้ๆๆ
  • มิใช่แค่สอนหรือเรียนสนุกสนานเท่านั้น แต่หมายถึงความสุขของชีวิตเลย การพัฒนาครูดีๆ ด้วยแนวคิดดีๆอย่างนี้ มิค่อยได้เห็น โดยเฉพาะในระบบของศธ.ครับ อาจทำให้ที่ผ่านมาการศึกษาบ้านเรานับวันแต่จะไร้ความหวัง นอกจากไม่ค่อยได้ช่วยอะไรสังคมแล้ว ยังเป็นภาระหรือการบ้านให้ทุกฝ่ายมาช่วยแก้เสียด้วย 
  • ขอบคุณความรู้ครับอาจารย์ และขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมเยือนพร้อมร่วมแสดงความเห็นด้วยครับ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ บันทึกนี้แทบไม่ว่างที่จะเขียนให้เป็นหมายเหตุดีๆและบันทึกทิ้งรอยที่ได้ไปทำร่วมกับเครือข่าของอาจารย์ได้เลย ช่วงนี้ต้องอดนอนแทบสลบทุกคืนครับ แต่เห็นความเอาจริงเอาจังของอาจารย์ นิสิต กลุ่มครูพี่เลี้ยง และเครือข่ายคุณครูในพื้นที่แล้ว ก็คิดว่าไม่มีอะไรที่จะให้กำลังใจและเป็นกำลังความคิดกันได้ของคนทำงานได้ดีไปกว่าสะสมบทเรียนตามรายทางเหล่านี้ไว้ให้ ช่วยกันมองเห็นหลายๆมุม ก็ย่อมได้ความลึกซึ้งแยบคาย ผลดีย่อมได้แก่เด็กๆ เลยเป็นบันทึกเพื่อเสริมแรงใจแรงกายให้กันนะครับ มีความสุขครับ

สวัสดีครับอาจารย์ธนิตย์ครับ
ชอบอ่านการบันทึกเรื่องราวและการสะท้อนคิดในโลกการศึกษาเรียนรู้ ที่เฝ้ามองและครุ่นคิดไปบนเส้นทางระหว่างชีวิตการทำงานของอาจารย์นะครับ แม้จะนานๆที่อาจารย์จะเข้ามาอัพเดทเรื่องใหม่ๆ แต่นำมาแบ่งปันกันได้ทีไรก็ไม่ผิดหวังเลย การอ่านโลกรอบข้างได้สนุก งดงาม และแยบคาย หรือมีโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่จะ Approach ต่อสิ่งต่างๆอย่างมีความหมายได้อยู่เสมอๆนี่ สงสัยต้องฝึกให้ผู้คนไปด้วย พอๆกับต้องฝึกให้อ่านเขียนหนังสือได้เลยนะครับ วิธีมองสิ่งต่างๆของอาจารย์มีพลังดีครับ เหมือนคนทำงานศิลปะ มีความลงตัวทั้ง Science และ Arts มากเลยละครับ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เด็กๆจะชื่นชอบและจะเพลิดเพลิน บันทึกนี้สาระมากมายจริงๆค่ะ ขอแบ่งปันไว้ศึกษานะคะ

มารับข้อคิดที่สำคัญครับ

   การจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีความสุขนั้น มิใช่อยู่ที่กิจกรรมเพื่อให้เกิดความสนุกและมุ่งสร้างความสุขอย่างไม่มีความ หมาย แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ในกระบวนทัศน์ที่ต่างออกไปจากกระแสหลักที่เป็นอยู่ ของสังคม เพื่อสร้างพลเมืองรุ่นอนาคตให้ออกไปเป็นพลเมืองของชุมชนและของสังคม  ร่วมกันนำการเปลี่ยนแปลงของสังคมสู่แนวทางการพัฒนาใหม่ๆที่ดีกว่าเดิม

    ขอบคุณมากครับอาจารย์ นำประสบการณ์เชิงนวัตกรรม  มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ได้ประโยชน์มากเลยครับ ผมจะได้นำไปปรับใช้  อย่างแน่นอนครับ

สวัสดีครับคุณครูรินดาครับ
อาจารย์ดร.ขจิต ศน.ลำดวน และคณะ ที่เป็นกลุ่มริเริ่มโครงการนี้ บอกว่าเครือข่ายเชิงพื้นที่ของคุณครูที่เข้ามาร่วมเวที จะแยกย้ายกันออกไปทำงาน แล้วก็หลังปีใหม่จะกลับมาถอดบทเรียน นำเอาเรื่องราวและประสบการณ์ต่างๆมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันอีก บันทึกนี้เลยก็คงจะช่วยเป็นการทิ้งรอยเท้าของการพากันเดินไปข้างหน้าได้ด้วยเหมือนกันนะครับ นี่ต้องขอบคุณอาจารย์ขจิตและคณะนะครับ ที่ทำให้ได้มีโอกาสเอามือแตะกันด้วยชีวิตและการงาน ได้ทำเรื่องดีๆด้วยกัน 

ท่านรอง small man นี่แม่นประเด็นอยู่เสมอนะครับ
การให้ความสำคัญกับหลักคิดเบื้องหลังในแง่มุมที่สำคัญอย่างนี้ และสื่อสะท้อนไปสู่การออกแบบบกระบวนให้ยืดหยุ่น มีความเหมาะสมไปตามแต่ละเงื่อนไข ก็จะช่วยให้เราไม่ติดอยู่กับเทคนิค แต่จะค่อยๆทำให้กระบวนการทางการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ของสังคม เป็นคลื่นนำการเคลื่อนไหวและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างที่สังคมมีความตระหนัก ให้มีความต่อเนื่อง สั่งสม

การจัดการเรียนรู้และพัฒนากระบวนการศึกษา ให้มุ่งไปยังการสร้างเด็กให้เก่ง ดี มีความสุขนั้น สาระสำคัญคือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จากการที่กระบวนการศึกษาเป็นกลไกสร้างคนให้เป็นวัตถุดิบและปัจจัยการผลิต เพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายสุดขั้ว-เสียความสมดุลไปทางวัตถุ ความมั่งคั่งทางวัตถุ รวย แต่สังคมล่มสลาย สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรสูญสิ้น ปัจเจกและครอบครัวอ่อนกำลัง ไปสู่การทำให้มนุษย์ ปัจเจก และชุมชน รวมทั้งสุขภาวะทางสังคม เป็นทั้งเป้าหมายและปัจจัยหลักของการแก้ปัญหาการพัฒนาให้สมดุลและมีความยั่งยืนกว่าเดิม แทนการเน้นเป้าหมายอย่างอื่นที่ไกลออกจากชีวิตของผู้คนซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่อยู่ร้อนนอนทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการศึกษาเป็นการลงทุนทางสังคมในระยะยาว ดังนั้น จึงต้องลงทุนที่การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆเพื่อสร้างพลเมืองรุ่นอนาคต

การเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีใช้การศึกษาแทนการใช้อำนาจที่รุนแรงอย่างอื่นนั้น เป็นวิถีเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรม ค่อยคิด ค่อยสั่งสม ค่อนสร้างสา ค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น ระหว่างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีความสุขนั้น นอกจากครูและผู้เรียนจะต้องมีความสุขอย่างมีความหมายแล้ว ต้องได้มีโอกาสเรียนรู้บริบทต่างๆ รวมทั่้งได้ทำสิ่งเล็กๆตรงหน้าตนเอง แต่ได้เรียนรู้ทางสังคมเป็นอย่างดีไปด้วยเสมอว่า ทำไมต้องมีความสุข ทำนองนี้แหละครับ

สวัสดีครับอาจารย์วิรัตน์

วันนี้มีผู้บริหารระดับสูงตั้งคำถามกว้างๆ เกี่ยวกับการพัฒนานิสิตที่เสนอเป็นแผนกลยุทธ (2255-2559)  ท่านพยายามให้เราพูดให้ชัด กำหนดให้ชัดว่า "เก่งอะไร...ดีอะไร...สุขอะไร.."  และทั้งหมดนั้น มีกลไก เครื่องมือการขับเคลื่อนอย่างไร มีการชี้วัดได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร

เป็นคำถามที่ผมกลับมานั่งทบทวนอยู่ในขณะนี้...
ลึกๆ ก็ถามตัวเองว่า เราผลิตบัณฑิตให้กับตลาดแรงงานมากไปหรือเปล่า คุณภาพบางทีจำเป็นต้องวัดว่า "จบแล้วได้งาน"  ขนาดนั้นเชียวหรือ

ผมเรียนท่านกว้างๆ ว่า คำว่า "พึ่งได้" ตามอัตลักษณ์นั้น  หมายถึงนิสิตจบไปแล้วสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข  เลี้ยงตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นลูกน้องใครในตลาดแรงงานของสังคม  และหากต้องไปอยู่ในตลาดแรงงานของสังคมนั้นก็เป็นคนที่สามารถทำงานได้ ไม่เป็นภาระองค์กร

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับคุณแผ่นดินครับ

ก็น่าคิดเหมือนกันนะครับ เมื่อตอนที่ผมเป็นเด็กๆ-วัยรุ่นนั้น เมื่อมองเข้ามายังสังคมการศึกษา-สังคมมหาวิทยาลัย ผมก็จินตนาการไปว่า สังคมของการศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น เป็นชุมชนที่สาธิตให้เห็นและจับต้องได้ว่า สังคมแห่งอุดมคติ ที่ใช้ความรู้และวิถีทางแห่งปัญญาเข้าใจโลก อธิบายปราฏการณ์ของสรรพสิ่ง เอาปัญหาของสังคมมาขบคิด ถกแถลง ร่วมกันแก้ปัญหาและหาทางออก และดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความสัมพันธ์แบบใช้วิถีแห่งปัญญา เปิดกว้างต่อมนุษยชาติ เป็นที่ซึ่งจัดปัจจัยแวดล้อมเพื่อให้ความเป็นอิสรภาพทางปัญญา เป็นที่ซึ่งให้ผู้คนสามารถหมุนเวียนเข้ามาสัมผัส ลิ้มชิมรสสังคมแห่งผู้นำที่รวมกลุ่มและเป็นสภาแห่งความสร้างสรรค์ทางปัญญา เป็นกลไกบริหารจัดการทางปัญญาของสังคม บ่มเพาะปัญญาชนและชี้นำการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม เหล่านี้นั้น ก่อเกิดขึ้นได้และมีอยู่จริง คนหนุ่มคนสาวและผู้ที่ต้องการอุทิศตนให้กับสังคมอย่างไม่จำกัดด้วยวิถีแห่งปัญญา ต่างก็สามารถเข้ามาใช้ชุมชนอย่างนี้ร่วมกัน เป็นเวทีของการทำความกระจ่างและแก้ปัญหาด้วยสภาของบัณฑิต....?

แต่ไปๆมาๆ ก็ดูจะออกไปทางเป็นโรงงานผลิตภัณฑ์ ซึ่งเหมือนกับใช้ Know How ของบริษัทและองค์กรธุรกิจมาชี้นำตนเองมากกว่าจะชี้นำสังคมนะผมว่า การที่จะบอกว่าต้องสอนคนให้มีจิตวิญญาณของความใฝ่รู้ มีอิสรภาพทางปัญญา เป็นสภาพแวดล้อมให้เขามั่นใจว่าเขาจะมีที่ซึ่งจะได้พัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง เข้าถึงศักยภาพของมนุษย์และของตนเองอย่างเต็มที่ พันคนก็หนึ่งพันชุดของ KPI หากพูดอย่างนี้ก็กลายเป็นเพ้อฝันและจับต้องไม่ได้

หากเราไม่เชื่อในศักยภาพการพัฒนาตนเองของปัจเจกและชุมชนเสียแล้ว ก็พูดกันยากครับ ยิ่งหลายเรื่องที่เราไม่สะท้อนเข้าสู่การเป็นวิถีปฏิบัติและเป็นส่วนเดียวกันกับวิถีชีวิตของตัวเราเอง กระทั่งลึกซึ้งพอที่จะหยั่งและวัดเอาด้วยชีวิตของเราเองด้วย ไม่ได้ เราก็ต้องพูดและจินตนาการไปอย่างหนึ่ง แต่แล้วก็ต้องหันไปใช้วิธีชั่งตวงวัดอย่างลดทอนง่ายๆอย่างนี้แหละหรือเปล่านะครับ

ผมว่าตอนที่สังคมต้องต่อสู้กัน ปะทะกัน เสียเลือดเสียเนื้อ เรียกร้องการออกนอกระบบ  ต่อสู้กันเพื่อได้ความเป็นอิสระทางวิชาการ ความเป็นอิสระของสื่อ ความเป็นอิสระของโลกแห่งความรู้ เหล่านี้ คนที่คิดท่ามกลางปากกระบอกปืน คิดและต่อสู้ด้วยตระหนักถึงวิกฤติและความรุนแรง ว่าน่าจะมีทางออก เหล่านี้ เป็นความเคลื่อนไหวของสังคมอีกส่วนหนึ่ง แต่ตอนที่คิดระบบแบบโรงงานผลิตคนนั้น ก็เป็นการเคลื่อนไหวในสภาพที่ทุกอย่างมันปรกติดี ซึ่งก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ก็เลยต้องดำเนินไปกันอย่างนี้เลยหรือเปล่านะครับ .....อ้าว ก็เลยบ่นไปเรื่อย !!!

ดูแล้วพลังสร้างสรรค์ เห็นพลังการสร้าง EQ ให้เด็กๆ นะคะอาจารย์ ขอบคุณค่ะ

  • ขอบพระคุณครับอาจารย์ดร.จันทวรรณครับ
  • ขอผ่านไปให้เครือข่ายการสอน-เรียนอย่างมีความสุข และคุณแผ่นดินไปด้วยเลยนะครับ
  • สงสัยต้องมีสองชุด 2EQ, ชุดหนึ่งความสุขเป็นความฉลาดทางอารมณ์ EQ - Emotinal Quotients และอีกชุดหนึ่ง ส่วนที่เป็นกระบวนการและกิจกรรมที่เป็นปัจจัยแวดล้อม หนุนเสริม ก็คงจะเป็น EQ ตัวที่สอง คือเป็น E-Sarn Quotients - ความฉลาดต่อความเป็นท้องถิ่นอีสาน ซึ่งก็บ่งบอกความสุขแบบสุขสาธารณะได้เหมือนกันนิ 
  • คลิ๊กความคิดกันหรอกนะครับ
  • พี่ใหญ่อุ้ม UKULELE มาฝากและขอบคุณที่ไปให้กำลังใจ..ผ่อนคลายยามว่างค่ะ

                      

    • ความสำเร็จ..จาก แนวคิด วิธีการ เป้าหมาย และสำคัญสุดคือพลังใจอย่างเปี่ยมล้น..
    • ขอขอบคุณความรู้ และการแวะไปร่วมแสดงความคิดเห็น มากค่ะ

    สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ
    เป็นวิธีสร้างที่อยู่กับให้ความแจ่มใสและความรื่นรมย์ ที่ในใจของเรา
    ที่เข้าท่ามากเลยนะครับ

    สวัสดีครับคุณครูกาญจนาครับ

    คุณครูถ่ายรูปดีจังเลยนะครับ ทั้งฝีมือและภาษาการถ่ายรูปกับบุคลิกของคุณครูนี่ ทำให้ผมนึกถึงอาจารย์ธนิตย์เลยละครับ ตอนเห็นวิธีบันทึกและบอกเล่าด้วยภาพถ่าย กับเห็นคนถ่ายแว๊บแรกนี่ อย่างกับอาจารย์ธนิตย์สวมวิกเอาเลย
    ไม่ใช่แค่มาดเกือบคล้ายกันเท่านั้น ภาษาการถ่ายภาพ การสื่อความคิดและถ่ายทอดอารมณ์ภาพ ก็เป็นแนวเดียวกันมากเลยละครับ  

    สวัสดีครับอาจารย์ ดร.จันทวรรณครับ เป็นสุขภาวะทางปัญญาของชุมชนไปด้วยเลยใช่ไหมครับอาจารย์ ช่วยคุยเสริมพลังใจให้กับคุณแผ่นดินไปด้วยน่ะครับ 

    อาทิตย์สวัสดีค่ะท่านอ.เซียนศิลป์

    เป็นกิจกรรมทีบูรณาการครบถ้วนกระบวนการ สู่ความสุข จริงๆเลยนะคะ

    เดี๋ยวนี้ทุกกิจกรรม ต้องเรียนรู้และกระทำด้วยพอใจ และมีความสุขเน้อเจ้า

    ส่งกำลังใจ สุขสันต์ทุกวี่วันเจ้า

    สวัสดีครับคุณ Poo
    เพิ่งแวะเข้าไปเยี่ยมในบันทึกคุณ Poo บันทึกหนึ่งพอดีเลย
    มีวความสุขเช่นกันครับ

    สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์

    • แวะเอาขนมมาฝากค่ะ ^^

             

    • แพ็คเกจจิ้งกับของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ (ที่มีความหมาย) ในงานประชุมประจำเดือน (พร้อมอำลาอาลัย) ของภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ฯ ม.มหิดล เพื่อมอบแด่คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ ... (วันอังคารที่ ๖ กันยายน ๕๔)
    • ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์และน้องๆชาวสถาบันสุขภาพอาเซียน ที่อุตส่าห์แอบเอาไปทำห่อเสียสวยงาม เก๋ และมีความหมายให้กันมากอย่างยิ่ง นะครับ
    • ทางภาควิชา หัวหน้าภาค เพื่อนๆ และพี่ๆน้องๆ ในภาควิชาศึกษาศาสตร์ ได้จัดให้ผมได้มีโอกาสพูดอำลา ในช่วงตอนท้ายของการประชุมประจำเดือนของภาควิชา
    • ผมเลยได้ใช้ช็อคโกแล็ต คุกกี้ และห่อที่อาจารย์ณัฐพัชร์กับน้องๆช่วยกันทำจากแสกนรูปวาดของผมไปทำเป็นห่อให้ มอบแด่ทุกท่านแล้วก็นั่งคุยไปเรื่อยเปื่อยแบบสนุกๆ ไม่เป็นสาระอะไรหรอกครับ  คุยอย่างเป็นการแสดงน้ำใจจากกันเสียมากกว่า หลายท่านนั่งฟังไปก็เคี้ยวขนมกร้วมๆไป คนกินอร่อยและคนให้ก็มีความสุข เพราะไม่อยากให้เป็นบรรยากาศการกล่าวอำลา แต่ให้เป็นการแสดงความขอบคุณ แสดงความซาบซึ้งใจ และเป็นการสร้างความคุ้นเคยกันไว้ เพราะในอนาคตก็คงได้มีโอกาสเจอกันโดยการทำงานอยู่อีกเรื่อยๆแน่ๆ
    • ฝากขอบคุณทุกท่านมากๆครับพ๊ม
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท