ลุงๆมาช่วยซ่อม-ยาเรือแบบภูมิปัญญาพื้นบ้าน


เมื่อสองวันก่อน (อังคาร ๒ สิงหาคม ๒๕๕๔)น้ำยังสูงอย่างภาพบนอยู่เลย เมื่อเย็นวานน้ำค่อยๆลดลงอย่างรวดเร็ว เช้านี้ ๕ สิงหาคม นำลดลงมากขนาดนี้ ดังภาพล่าง

 

ทว่าไม่ได้หมายความว่าเราจะพ้นจากวิกฤตน้ำหลากแล้ว เพราะข่าวบอกว่า น้ำก้อนใหญ่จากเหนือจะค่อยๆล่องลงมาในสามสี่วันนี้แหละ ก็ต้องคอยดูกันต่อไป

เดี๋ยวนี้พอพูดถึงน้ำท่วม เรามักได้ยินภาษาทางการพูดถึงน้ำที่ท่วมหลากว่าเป็น “ก้อน” เช่น น้ำก้อนใหญ่จากภาคเหนือหลายจังหวัดกำลังเดินทางล่องลงมา จังหวัดที่อยู่ในทางน้ำผ่านต้องเฝ้าระวังระลอกน้ำก้อนนี้ แปลกดี แต่ก็ทำให้เห็นถึงพลานุภาพของน้ำที่จะลงมา

อย่างที่เคยเล่าว่าบ้านผู้เขียนอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก เราจึงต้องเตรียมพร้อมมีเรือไว้พร้อมใช้งาน คนข้างกายผู้เขียนเห็นคุณค่าของเรือไม้ที่ไม่ค่อยมีคนใช้กันแล้วเพราะมักหันไปใช้เรือไฟเบอร์กลาสกันหมด เขาจึงซื้อเรือไม้หลายชนิด หลายขนาด มีมากกว่าห้าสิบลำ ไม่เชิงสะสมเพราะชอบ แต่เพราะเสียดายที่เรือสวยงามด้วยฝีมือคนรุ่นก่อนจะผุพังไปอย่างไร้ค่า ผู้เขียนได้มารู้จักเรือไม้หลากหลายชนิดก็ตอนมาใช้ชีวิตที่นี่แหละค่ะ

ได้เรือมาแล้วเขาก็มักทยอยหาคนมาซ่อมไปเรื่อยๆ ซึ่งหาคนมาซ่อม-ยาเรือยากมาก เพราะคนที่ซ่อม-ยาเรือเป็น มักเป็นคนแก่ คนหนุ่มๆไม่มีความรู้ด้านนี้  ทำให้เราต้องเลือกซ่อมเรือที่จะเอามาใช้จริงๆก่อน

หลายปีมาแล้วเคยเขียนเล่าเรื่องการยาเรือไว้ครั้งหนึ่ง

http://www.gotoknow.org/blog/riverlife/128103

ครั้งนั้นลุงโชติและลุงเป้ ซ่อมเรือที่มีรอยแตกลึก ต้องใช้เส้นด้ายดิบอัดลงไปในรอยแตก

ครั้งนี้เป็นการซ่อมรอยแตกที่ไม่กว้างและค่อนข้างตื้น วิธีการแตกต่างกันเล็กน้อย

วันนี้มีลุงๆ ๓ คนจาก อำเภอเสนา มาซ่อมเรือ ๓ ลำที่วางรอซ่อมมานานเกินครึ่งปีแล้ว เลยได้โอกาสไปพูดคุยและได้ความรู้ทั้งการยาเรือและเรื่องราวชีวิตจากลุงๆที่น่านำมาถ่ายทอด

ทีมสามหนุ่ม(น้อย) มาจากบ้าน สามตุ่ม อำเภอเสนา ประกอบด้วย ผู้นำทีม คือ ลุงประยูร อายุ ๖๒ ปี ลุงอำนวย อายุเท่ากัน ลุงอำนวยนี้เป็นใบ้และหูหนวก ทว่ายิ้มแย้มอารมณ์ดี และ ลุงสวิง ที่น่าเรียกว่า ปู่ เพราะอายุมากถึง ๘๓ ปีแต่แข็งแรง ความจำ พูดจายังเฉียบมาก

ลุงๆยิ้มและท่าทางดีใจที่ผู้เขียนสนใจไปไถ่ถามและขอถ่ายภาพการทำงาน บอกว่า “พวกเราชาวนาแท้ ซ่อมเรือเป็น”

ทุกคนมีความรู้ความชำนาญในการซ่อม-ยาเรือ เพราะวิถีชีวิตเดิมก็ใช้เรือกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ปู่ย่าตายาย เมื่อใช้ในชีวิตประจำวันก็ต้องรู้จักวิธีดูแลรักษา ซ่อมบำรุง ได้เห็นพ่อแม่ทำ ได้ลงมือช่วย ก็ได้เรียนรู้ นี่แหละคือการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น แถมลุงประยูรยังบอกว่า “ลุงทำลอดช่อง ทำขนมปลากริมไข่เต่าก็เป็นนะ เห็นแม่ทำ แล้วได้ช่วย เลยทำเป็น” พูดแล้วลุงก็หัวเราะ ท่ามกลางบรรยากาศการทำงานที่ผ่อนคลาย ลมพัดเอื่อยๆ

ลุงประยูรนั้น มีอาชีพทำนา ยังทำนาอยู่กับลูกชาย มีนา ๓๐ ไร่ ที่ สามตุ่ม ข้าวกำลังตั้งท้อง แต่ฝนที่ตกและน้ำที่ท่วมหลากมาระลอกแรกก็เข้าท่วมข้าวเสียหายมาก ลุงบอกว่า “ต้องทำใจ ทำยังไงได้ คนอื่นเขาก็โดน ไม่ใช่เราคนเดียว หากไม่ทำใจไปกลุ้มใจ ก็จะบ้าตายซะเปล่าๆ รออีกไม่กี่วันจะเกี่ยวข้าวขึ้น ไม่ได้ทำนา ก็มาทำงานนี่ไง”  ฟังแล้วให้รู้สึกเห็นใจลุงประยูรและชาวนาและเกษตรกรทั้งหลายที่ประสบภัยน้ำท่วมทำลายพืชผล ในขณะเดียวกันก็ชื่นชมทัศนคติของลุงประยูรที่ไม่เศร้าจมทุกข์กับสิ่งที่นอกเหนือการควบคุมของตน

ปัญหาน้ำท่วมทุกปี พืชผลเสียหาย เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการความเข้าใจในการแก้ปัญหาระยะยาว

ลุงอีกสองคนนั้นไม่ได้ทำนาแล้ว มีอาชีพรับจ้างทั่วไป แล้วแต่ใครจะว่าจ้างให้ไปทำอะไรที่ไหน

การเตรียมเรือ

เรือที่จะซ่อม จะทำการยา ต้องวางคว่ำให้มั่นคง เรือที่รอซ่อมนี้เก่าแก่น่าดูอายุกว่าร้อยปี นี่คือ รอยแผลเก่า

 

คนข้างกายให้ข้อมูลว่านี่เป็นเรือขุด ขุดจากไม้ตะเคียนทั้งต้น เป็นเรือมาด ๒ ลำ เรือพายม้า ๑ ลำ เรือพวกนี้ลำใหญ่นั่งได้ราว ๘ คน สมัยก่อนชาวนาจะใช้ขนคน ขนข้าวเข้าออกนา

ขั้นแรกต้องสำรวจว่าบริเวณใดที่จะต้องทำการยา โดยดูจาก รู และ ร่อง ที่ปรากฏให้เห็น แล้วขูดชันเก่าออก ก่อนนำชันยาใหม่ ยาลงไปตรงรอยนั้น

 

 

การขูดใช้เครื่องมือสองแบบ เรียกว่า เหล็กขูด ลุงๆจะนำเครื่องมือนี้ติดตัวมาเอง

แบบหนึ่ง เป็น เหล็กปลายกลมแหลม เพื่อจิก หรือขูดลึกลงไปในเนื้อไม่ได้

อีกแบบเป็นขอปลายบานแบน เพื่อขูดเป็นบริเวณกว้าง

เมื่อขูดชันเก่าออก ก็จะทำการล้างให้สะอาด แล้วผึ่งเรือให้แห้งสักพัก

การเตรียมส่วนผสม

ลุงบอกว่าคนข้างกายผู้เขียนสั่งไว้ว่าให้ซ่อมอย่างดี แข็งแรงทนทาน ผู้เขียนยังสงสัยว่าที่ซ่อมแล้วไม่แข็งแรง ไม่ทนเป็นอย่างไร

ลุงประยูร และ ปู่สวิง ช่วยกันเล่าว่า “ยาแบบเอาเร็วเข้าว่า ยาเสร็จเอาเรือลงน้ำได้เลยก็ทำได้นะ แต่มันไม่ทนหรอก นอกจากฝีมือก็ยังอยู่ที่ ส่วนผสม...”

ส่วนผสมหลักของการทำชันยาเรือ มีแค่ ๓ อย่าง  คือ ปูนแดง ที่กินกับหมาก ผงชัน และ ตัวทำละลาย

ต้องใช้ กะลามะพร้าวเพื่อเป็นภาชนะผสม เพราะทำให้คนส่วนผสมเข้ากันได้ดี เขาไม่ใช้ภาชนะพลาสติกเพราะจะกวนส่วนผสมยาก พี่น้อยต้องไปขอกะลามะพร้าวคนแถวบ้านมาให้ใช้

การที่ยาเรือแล้วจะอยู่ทนหรือไม่ ทางเทคนิคอยู่ที่ ตัวทำละลาย ให้ปูนแดงและผงชันผสมเป็นเนื้อเดียวกัน

  • หากต้องการเสร็จเร็ว รีบใช้ แต่ไม่ทน ตัวทำละลายที่ใช้ ลุงๆเรียกว่า น้ำมันแก๊ป ปรากฏว่าก็คือ น้ำมันก๊าด แต่คนรุ่นเก่า”ชาวยุดยา”เขาจะเรียกว่า น้ำมันแก๊ป นี่จะทำให้ส่วนผสมแห้งเร็วมาก

 

แบบซ่อมด่วน จะใส่ ปูนแดงลงในกะลา ใส่ผงชัน แล้วเติมน้ำมันก๊าด กวนให้เข้ากันจนเหนียว นำไปยาตามแผล เสร็จแล้วเอาเรือลงน้ำได้เลย แต่ที่ยาจะแตกเร็ว

 

  • แบบซ่อมอย่างดี ทนทาน จะใส่ ปูนแดง  เท น้ำมันยาง ลงผสม แล้วค่อยๆเติม ผงชัน คนไปเติมไป ลุงเขาก็ใช้กิ่งไม้คนๆ ของเราซ่อมอย่างดี ใช้ส่วนผสมแบบนี้ค่ะ

 

         จะรู้ว่าพอดี ใช้ได้ ก็ต้องใช้ สายตา คะเนดูว่าเหนียวพอหรือยัง แล้วใช้ มือสัมผัส

 

การลงมือยา

การยา หมายถึง การนำส่วนผสมมาประสานรอยแตก รูรั่วให้ไม้เรือไม่รั่ว ไม่แตกอีกต่อไป

ลุงๆจะนำ กะลาส่วนผสม และ กะลาใส่น้ำมันยาง มาวางใกล้กัน เอามือแตะน้ำมันแล้วมาหยิบส่วนผสม ใช้นิ้วมือบี้ๆให้เนื้อส่วนผสมเนียนเข้ากันอีกครั้ง แล้วป้าย อัดลงบริเวณที่ต้องการยา ทำจนหมดรอยแผลที่ต้องการยา

 

ทำเสร็จแล้ว ก็พักสักหน่อย มาทำการผสมส่วนผสม ปูนแดง ผงชัน น้ำมันยางอีกครั้ง ทีนี้ผสมให้พอข้น ทำปริมาณมากหน่อยเพื่อนำมาไล้ทาให้ทั่วพื้นผิวด้านนอกของลำเรือที่ทำการยาเสร็จแล้ว

ลุงๆภูมิใจนำเสนอว่านี่จะทำให้เรือทนทานไปอีกนานทีเดียว

 

นี่คือปู่สวิง(อายุ ๘๓ ปี) ทำงานใจเย็นมาก

พรุ่งนี้ลุงๆยังต้องมาอีกเพื่อยาด้านในลำเรือทั้งสามลำ เรือที่ยาเรียบร้อยต้องปล่อยให้แห้งราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนจะนำลงน้ำได้อีกครั้ง

ภาวนาขอให้น้ำที่จะมาจากเหนือ รีบๆมา รีบๆไป อย่าให้เดือดร้อนกันมากนักเลย

 

 

หมายเลขบันทึก: 452572เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2011 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

พี่นุชเขียนเรื่องนี้แล้ว ผมคิดถึงบ้านเลย

บ้านยายผมก็มีวิธีการยาเรือคล้าย ๆ แบบนี้ครับ

ผมชอบเรือไม้มากกว่าเรือไฟเบอร์กลาสแน่นอนครับ

บันทึกแห่ง "ภูมิปัญญาไทย"

ขอบคุณครับพี่นุช ;)...

สวัสดีครับคุณ นาย ส่วนผสมในการยาถ้าเป็นเรือที่ใช้กับน้ำเค็ม ก่อนทำกานยา ต้องลงน้ำมันยาง (ที่ได้จากการเผาเจาะโคนต้นยาง) มีชันเป็นตัวหลัก ปูนแดงประสาน

ส่วนการเจาะยาง นี้เป็นอาชีพเสริมของเฒ่าวอญ่าครับ

สวัสดีค่ะ

การยาเรือเดี๋ยวนี้เริ่มหายไป

ที่บ้านเดิมอยู่้ริมคลองเคยเห็นพ่อยาเรือบ่อยๆ

ปัจจุบันเรือไม้หายาก ใช้เรือเหล็ก เรือยางไม่มีการยาเรือ

ผงชันเดี๋ยวนี้น่าจะหาซื้อยากนะคะ

คุณนุชนำภาพมาลงให้เห็นด้วยนี้ดีจังค่ะ

เด็กรุ่นหลังที่เข้ามาอ่านจะได้รู้จักภูมิปัญญานี้ไปด้วย

ขอบคุณค่ะที่ทำให้นึกถึงความหลัง

โพรงต้นยางที่เจาะเผาเอาน้ำมันยาง

ขอบคุณเรื่องเล่าภูมิปัญญาไทยค่ะ..ขอเอาใจช่วยเรื่องระดับก้อนน้ำค่ะ..ที่กทม. ต้องเฝ้าระวังเช่นกันค่ะ เพราะเป็นปลายทางค่ะ

  • สวัสดีครับอาจารย์
  • ได้ความรู้เพิ่มขึ้นครับ
  • อยากฝากถามคุณลุงว่าใช้ยาหลังคากระเบื้องได้ไหมครับ
  • เผื่อจะได้ใช้บ้างเวลาจำเป็น
  • ขอบคุณครับ

..สวัสดีค่ะ..คุณนุช..เป็นห่วงจังเรื่องน้ำท่วม..(ถ้าเรากลับมาอยู่เรือนแพได้..คงจะสุขกว่านี้นะเจ้าคะ..เพราะจะเพียงแต่..ระวังไม่ให้ขาดหลุดลอยไปเท่านั้น..)ที่บ้านเมืองกาญจน..ยายธี ปลูกยางนาไว้สองต้น..ใหญ่แล้ว..คงจะเจาะเอาน้ำยางได้แล้ว..คงต้องถาม.ผู้เฒ่า วอญ่าดูว่า..ต้นยาง..อายุเท่าไร จึงจะเจาะได้..และมีกรรมวิธีอย่างไร..จึงจะผสม..ชันได้..และคำว่า..ชัน นั้นคืออะไรงงเป็นผงไม้หรือตัวน้ำยาง..ที่แห้งแล้ว บด...(สอนๆกันไว้..ถึงเวลาเรา..จะได้ช่วยกันได้..ทันท่วงที..นะเจ้าคะ...ขอให้โชคดี..ค่ะ..ยายธี)

คนโบราณเหมือนกันค่ะอาจารย์Wasawat Deemarn ชอบเรือไม้ ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นภูมิปัญญาและสวยงามเท่านั้นนะคะ การนั่งเรือไม้ยังรู้สึกว่ามั่นคงไม่โคลงเคลงง่ายเหมือนเรือพลาสติคและเรือเหล็ก คนพายบอกว่าเรือไม้ยังบังคับการพายได้ง่ายกว่าด้วยค่ะ

การยาเรือไม่ว่าภาคใดพื้นฐานคงคล้ายกันแตกต่างที่รายละเอียดและวัสดุจากท้องถิ่นที่ใช้นะคะ

ขอบคุณค่ะที่มาร่วมวง

 

ขอบพระคุณท่านผู้เฒ่าฯวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- ได้เห็นหลุมที่เจาะเผาเอาน้ำมันยางที่ส่งมาให้ชม น่าทึ่งมาก ที่สามารถทำแล้วต้นยางยังมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เป็นความชาญฉลาดของบรรพบุรุษเราที่รู้จักใช้สิ่งที่ธรรมชาติมอบให้ด้วยความเคารพ

อยากทราบการยาเรือที่ใช้ในน้ำเค็มเหมือนกันค่ะว่าวิธีเขาต้องเอาส่วนผสมมากวนๆแล้วค่อยโป๊วลงไปอย่างนี้หรือเปล่าคะ

ทั้งชัน และ น้ำมันยาง ต่างได้จากพืชที่มียาง หากท่านผู้เฒ่าฯมีข้อมูลอีกช่วยมาเล่าเพิ่มเติมให้ลูกหลานได้ทราบด้วยนะคะ

ตามชุมชนบ้านนอกริมคลองยังพอมีคนใช้เรือไม้ลำเล็กๆอยู่บ้างค่ะอาจารย์ลำดวน 

แต่เรือเหล็ก เรือไฟเบอร์กลาสก็เข้ามาแทนที่ ทำให้ความรู้เรื่องการยาเรือเลือนหายไปเพราะไม่ได้ใช้ความรู้

ผงชันคงหาซื้อค่อนข้างยาก แต่ตามแหล่งที่มีการใช้เรือก็มักมีขายอยู่ค่ะ เช่นที่อยุธยาหาซื้อง่าย ช่างเขาจะรู้แหล่งซื้อขายค่ะ

ขอบพระคุณพี่ใหญ่นาง นงนาท สนธิสุวรรณที่ส่งใจมาช่วยค่ะ คิดว่าครั้งนี้นำคงไม่ท่วมถึงตัวบ้าน คงอยู่แค่ที่ท่าน้ำ

โลกทุกวันนี้มีแต่ความสุดขั้วนะคะ หลายประเทศฝนตกมาก น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม หลายประเทศร้อนแห้งมาก บางทีการทำความเข้าใจปรัชญาที่เป็นพื้นฐานของภูมิปัญญาไทยอาจช่วยให้คนไทยได้คิด มีสติและคิดถูก ทำถูกนะคะ

สวัสดีค่ะคุณสิงห์ ป่าสัก ถามผู้พอรู้ให้แล้วค่ะว่าส่วนผสมที่ยาเรือนี้ใช้ยากระเบื้องมุงหลังคาได้ไหม คำตอบคือไม่ได้ค่ะ เพราะทั้งผงชันและน้ำมันยาง มาจากยางไม้ หากอยู่ที่โดนความร้อนนานเรื่อยๆ ก็จะละลาย ต้องเป็นที่เย็นก็จะอยู่ได้เช่นยาเรือ

 

ขอบพระคุณค่ะคุณยายธีที่เป็นห่วง

ได้พยายามค้นข้อมูลมาตอบค่ะ พอสรุปได้คร่าวๆว่า

ชัน เป็นของแข็ง คือ น้ำยางจากไม้หลายประเภทที่แข็งตัวแล้ว เขาก็จะเก็บรวบรวมเอามาใช้ บดเป็นผงละเอียด เช่น ชันจากต้นจิก ในภาคอีสาน ขี้ซี หรือ ยางไม้ที่เกิดจากแผลของ ต้นจิก เมื่อแห้งแล้วเป็นสีเหลือง ใช้เป็นชันยาตะกร้าไม้ไผ่สาน ทำเป็นถังตักน้ำ หรือ ทำเป็น ชันยาเรือ ได้

ส่วน น้ำมันยาง บางทีก็เรียก น้ำมันชัน ได้จากการเจาะหลุมโคนต้นไม้บางชนิดที่ให้น้ำยาง แล้วเขาจะเผาจนเกิดเป็นน้ำมันในหลุมแบบที่ท่านผู้เฒ่าวอญ่าถ่ายรูปมาให้ชม ค่อยๆตักน้ำมันที่ได้รวบรวมไว้ใช้ ผสมกับ ผงชัน และ ปูนแดง น้ำมันยางนี้ได้จากไม้หลายชนิด เช่น ยางนา ยางเหียง สนอินเดีย

มหัศจรรย์ที่คนโบราณรู้ได้อย่างไรว่าต้องใช้ส่วนผสมทั้งสามอย่างนี้

..สวัสดีค่ะคุณนุช...ขอบคุณค่ะกับความกระจ่างที่ได้มา..ทั้งนี้..ยายธี.พยามเก็บตกไปเรื่อยๆ..ได้ประโยชน์มากมาย..ที่จะได้นำมาใช้ในยามจำเป็น..ถ้าเรา..(ขาดความสำรวยในปัจจุบัน)...เราก็หมุนตัวกลับได้อย่างทันท่วงที..นะเจ้าคะ...."อีกอย่างหนึ่งเรื่องของปูนกินหมาก"ที่ยายธีมหัศจรรย์ใจจริงๆที่..คนโบราณ..รอบรู้เรื่องส่วนผสมของปูนกินหมาก..ยายธีใช้..ผสมกับเนยสด..ใช้เป็นกาว..ในการเขียนรูป..ปูนเปียก..(เป็นต้นว่ารูปตามผนังโบถส์ สมัยก่อนในยุโรป..ศึกษาอยู่นาน..กว่าจะคลำเจอว่า.."กาวเนยนี้ดี"..อย่างไร..).

..กลับไปคราวนี้..จะชวน..คุณนุชกับคุณดุลย์งงมาทำเรือนแพ..เล็กๆ..อยู่กัน..ดีไหมเจ้าคะ...สวัสดีค่ะ..อยู่เย็นเป็นสุขนะเจ้าคะ..ยายธีค่ะ

สวัสดีค่ะ พี่นุช ^_^

เรือไม้ตะเคียน....ดูขลังจังดำเป็นมันสวยงามมากค่ะ

ภาวนาขอให้น้ำที่จะมาจากเหนือ รีบๆมา รีบๆไป อย่างเบาๆ อย่าให้เดือดร้อนกันมากนักเลย เช่นกันค่ะ

สวัสดีค่ะ

ปีนี้น้ำท่วมหลายระรอกสร้างความเดือดร้อนในหลายหมู่บ้าน ชื่นชมในภูมิปัญญาไทย เอาใจช่วยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณนายดอกเตอร์

  • ถึงวันนี้น้ำคงค่อยๆมาและรีบๆไปแล้วนะคะ
  • คุณยายช่วยภาวนาอีกแรงค่ะ

 

พี่นุชครับ  อ่านบันทึกนี้ ราวกับเปิดทีวีดูสารคดียังไงยังงั้นเลย
และที่สำคัญ  ผมคิดถึงบ้าน บันทึกนี้ชวนผมกลับบ้านอย่างแท้จริงครับ

นั่งยิ้ม กับความเป็นคนรักษ์ธรรมชาติ และคุณค่าแห่งภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่คุณนายดอกเตอร์ได้สัมผัสและเรียนรู้ไปกับเค้า

...

..

มาเยี่ยมด้วยความระลึกถึงและความเป็นห่วงกับสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ด้วย นะครับ

ขอบคุณครับ

พพี่นุชครับ เพิ่งเห็นว่าใช้น้ำมันก๊าดเป็นส่วนผสมด้วย ไม่ค่อยมีโอกาสเห็นการซ่อมเรือ สมัยก่อนชาวบ้านซ่อมกันเอง ปัจจุบันหาคนซ่อมเป็นยากมาก ท่าทางลุงสวิงใจดีและใจเย็นมาก

ชอบเรือไม้ เห็นแล้วคิดถึงเลค่ะพี่นุช วันก่อนพาแขกไปชมพิพิธภัณฑ์ เห็นเรือไม้รีบตรงเข้าไป นับว่ามี กี่กง แต่ก็แห้ว เพราะกง หายเรียบไปแล้ว คิดถึงบ้านค่ะ

ช่วงทำงานโครงการสึนามิมีกิจกรรมสร้างเรือ ซ่อมเรือ ยาเรือ แถวบ้านใต้ยังมีเยอะค่ะ เคยคิดถึงขนาดว่าอยากมีเรือเป็นของตัวเองสักลำ เวลาเรือไม้จอดเรียงกันเป็นตับ นับธง ดูแนว เรียงแถว ชอบจับภาพเรือค่ะพี่นุช

พี่นุชจ๋า บ้านริมน้ำป่าสัก เป็นไงบ้างคะ น้ำท่วมไหม

 

สวัสดีค่ะ

ได้อ่านแล้วดีใจที่ยังมีคนเห็นคุณค่าของเรือไม้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท