บุญนิธิจันทร์ตองไชยะวุฑฒิกุล


ประธานผู้ก่อตั้งบุญนิธิจันทร์ตองไชยะวุฑฒิกุล
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา
Username
sribandorn
สมาชิกเลขที่
148589
เป็นสมาชิกเมื่อ
เข้าระบบเมื่อ
-
(ไม่มีตั้งแต่ พ.ศ. 2564)
ประวัติย่อ
  • บุญนิธิจันทร์ตองไชยะวุฑฒิกุล ก่อตั้งโดยพระครูโสภณปริยัติสุธี (รศ.ดร.ศรีบรรดร ถิรธมฺโม) รองเจ้าคณะจังหวัดพะเยา

.......................................................

เขียนในสิ่งที่รับรู้ สัมผัสมาจากประสบการณ์ ผ่านตัวหนังสือสู่บล็อก Gotoknow.org เพื่อ go สู่เครือข่ายทางสังคมหลายแนวทาง เช่น

  • รัฐศาสตร์ตามแนวพระพุทธศาสนา (การเมืองเชิงพุทธ)
  • พระพุทธศาสนาในประเทศลุ่มน้ำโขงและเอเชีย
  • ศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรมท้องถิ่นเมืองพะเยาและล้านนา มากกว่า
  • ปรัชญาไร้รูปแบบ-ปรัชญานอกห้องเรียน
  • ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เมืองพะเยา
  • เรียนท่านผู้เข้าชมทุกท่าน-งานเขียนทั้งหมด ผู้เขียนยินดีให้ท่านคัดลอกและนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ควรอ้างอิงแหล่งที่มาเพื่อเคารพสิทธิในความคิดของผู้เขียนด้วย

...............................................................................................................

โดยมีปณิธาน ว่า "เพื่อความเจริญแพร่หลายแห่งวัฒนธรรมเมืองพะเยาและความเจริญงอกงามแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยไม่ทิ้งกรอบแนวคิดทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนถึงการเติมใจ-ปัญญาให้กับสังคม"

..............................................................................................................

ผลงานที่ผ่านมาของบุญนิธิจันทร์ตองไชยะวุฑฒิกุล (ก่อตั้งปี ๒๕๔๔)

๑.มีผลงานเผยแผ่แล้ว ๒๐ รายการ รวม ๘๐,๐๐๐ เล่ม

๒.มอบทุนการศึกษา

๓.ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

๔.จัดกิจกรรมร่วมกับสังคมชุมชน

๕.รางวัลวชิรปัญญา

๖.บทความและงานเขียนในลักษณะอื่น ๆ

..................................................................................................................

การศึกษา ปร.ด.,ป.ธ.๖

รางวัลที่เคยได้รับ

๒๕๔๖ "ผู้ส่งเสริมงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา" จากเครือข่ายเครือญาติเบญจภาคีวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ โดย มรว.จักรรถ จิตรพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

๒๕๔๘ "คนดีศรีสยาม" จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ ร่วมกับบริษัทวิสุทธิ์และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ โดยพระมหาโพธิวงศาจารย์

๒๕๕๑ "ราชมงคลสรรเสริญ" จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดย ศาสตราจาร์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี

๒๕๕๒ "เสาเสมาธรรมจักร" จากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ โดยพระเทพรัตนราชสุดาสยามราชกุมารีฯ

๒๕๕๕ "สื่อปลอดภัยและสื่อสร้างสรรค์ดีเด่น" จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา

๒๕๕๖ "บุคคลดีเด่น" จากมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม โดย พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี

.................................................................................................................

มีผลงาน ที่เป็นหนังสือ มากกว่า ๒๐ รายการ แบ่งเป็น ๔ ลักษณะ คือ

๑)พุทธธรรมคำสอน ได้แก่ มรรคาแห่งชีวิต, จินตลีลากับปริศนาธรรม,แนวทางการใช้ธรรมะกับกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ฯลฯ

๒)วัฒนธรรมท้องถิ่น ได้แก่ ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา,แปดเป็งประเพณีนมัสการพระเจ้าตนหลวงเมืองพะเยา, พระพุทธรูปเมืองพะเยา, พระธาตุเมืองพะเยา, พระเด่นเมืองพะเยา, นิทานพื้นบ้านเมืองพะเยา, พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ : ผญาแห่งเมืองพะเยา, นอตราดามุสแห่งเมืองพะเยา:ตำนานพ่อผ้าขาวเป็งพร้อมกับ ๒๐ คำทำนาย, เรื่องเล่าจากกว๊านพะเยา ฯลฯ

๓)วิชาการประยุกต์รัฐศาสตร์กับพุทธศาสนา ได้แก่ รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก, สังฆาธิปไตย : ระบอบการปกครองสงฆ์, สังคมทางการเมืองการปกครองในอาณาจักรภูกามยาว (รัฐพะเยาในอดีต), ธรรมาธิปไตย:ธรรมรัฐ-ธรรมราชา-ธรรมานุวัตร ฯลฯ

๔)หนังสือเพื่อเด็กและเยาวชน (ฉบับการ์ตูน)ได้แก่ ตำนานช้างปู้ก่ำงาเขียว, ตำนานผ้าขาวเป็ง (นอตตราดามุสแห่งเมืองพะเยา) ฯลฯ

รายละเอียด ดังนี้

ผลงานลำดับที่ ๑ นิทานพื้นบ้านเมืองพะเยา

ได้นำเอานิทานพื้นบ้านที่อยู่ในเมืองพะเยามาเล่าขานจนเป็นตำนานของพะเยาโดยเฉพาะทั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนิทานล้านนาหรือจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดจำนวน ๙ เรื่อง

ผลงานอันดับที่ ๒ พระเด่นเมืองพะเยา

ได้นำเอาคุณสมบัติของพระมหาเถระแห่งเมืองพะเยาทั้งในอดีตและปัจจุบันมาสื่อให้กับผู้คนรุ่นใหม่ได้ทราบว่าเมืองพะเยาจังหวัดเล็ก ๆ ทางภาคเหนือตอนบนของไทย แต่ทว่ายิ่งใหญ่ได้โดยบุคลากรทางด้านพระพุทธศาสนาที่ได้พยายามเป็นเมืองพะเยาให้น่าอยู่และเป็นผู้มีคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างหาที่เปรียบมิได้ โดยพระมหาเถระที่มีคุณสมบัติและปฏิปทาน่าเลื่อมใสควรแก่การกราบไหว้สักการบูชา จำนวน ๕ รูป

ผลงานอันดับที่ ๓ พระพุทธรูปเมืองพะเยา

ได้นำเอาพระพุทธรูป จำนวน ๙ องค์ที่สำคัญอันเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และพระเครื่องเมืองพะเยาอีก ๑ องค์เข้ามาเป็นรูปเล่มเดียวกันเพื่อง่ายต่อการศึกษาค้นคว้าและเป็นกรณีตัวอย่างทางการศึกษา

ผลงานอันดับที่ ๔ จินตลีลากับปริศนาธรรม

เป็นการใช้จินตนาการของผู้เขียนที่เน้นเอาเฉพาะช่วงที่ก้าวเดินขึ้นสู่พระธาตุจอมทองทางบันไดนาค พร้อมกับหน้าที่ที่จำเป็นต้องกระทำ และได้สังเกตเห็นประติมากรรมที่โบราณาจารย์ได้ปั้นแต่งขึ้นที่มีรูปของพญานาคราช กำลังถูกกิเลนกลืนกินอยู่เพื่อสื่อความหมายอะไรบางอย่าง จึงเป็นเหตุแห่งคำถาม? และคำตอบในที่สุดได้แบ่งออกเป็น ๔ ภาค

ผลงานอันดับที่ ๕ ชื่อบ้าน-ภูมิเมืองพะเยา

เป็นการนำเรื่องของชื่อบ้านนามเมืองของเมืองพะเยามาเล่าขยายสู่กันฟัง เช่น บ้านแท่นดอกไม้ เดิมเป็นสถานที่ชาวบ้านนำดอกไม้ไปวางไว้บนแท่นบูชาเพื่อสักการะพระธาตุจอมทอง เหตุเพราะชาวบ้านเดินผ่านไปมา การที่จะขึ้นไปสักการะพระธาตุจอมทองนั้นลำบากเพื่อความสะดวกจึงได้ทำแท่นบูชาเอาไว้ หรืออย่างเช่น บ้านแม่กาหม้อแกงตอง ซึ่งมีความหมายว่าหม้อแกงที่เป็นตอง คือทองสำริด แต่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นหม้อแกงทอง ซึ่งก็หมายถึงหม้อแกงทองคำ เป็นต้น เป็นการนำเสนอทั้งหมด ๙ อำเภอ ๖๘ ตำบล ๘๑๓ หมู่บ้าน ในเขตจังหวัดพะเยา

ผลงานอันดับที่ ๖ มรรคาแห่งชีวิต

เป็นการรวบรวมเอาหัวข้อธรรมที่ได้แสดงไว้ในคราวต่าง ๆ โดยเลือกเอาเนื้อหาธรรมที่พอจะเป็นประโยชน์และข้อคิดสะกิดใจ เอาไว้เป็นหมวดหมู่ จำนวน ๔ หมวดคือ ๑ ชีวิตเรา-เขาลิขิต, หมวดที่ ๒ ชีวิตเรา-เราลิขิต ,หมวดที่ ๓ เสบียงแห่งชีวิต ,หมวดที่ ๔ มรรคาแห่งชีวิต

ผลงานอันดับที่ ๗ พระธาตุเมืองพะเยา

เป็นการรวบรวมเอกสารที่เป็นตำนานและคำบอกเล่าถึงพระธาตุที่สำคัญโดดเด่น และเป็นที่เคารพสักการะรู้จักกันโดยทั่วไปจาก ๗ อำเภอ ๒ กิ่งอำเภอ รวมแล้วมี ๑๘ แห่ง

ผลงานอันดับที่ ๘ ประวัติศาสตร์พัฒนาการชุมชนบ้านถ้ำ

เป็นการนำเสนอบริบทชุมชน สังคมบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยาในเชิงประวัติศาสตร์ ความเป็นมา พัฒนาการใน ๓ ยุค ตั้งแต่ยุคหิน ยุคประวัติศาสตร์ และยุคปัจจุบัน การย้ายถิ่นฐานจากอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปางสู่จังหวัดพะเยา ๗ ครอบครัว รวมถึงการสำรวจถ้ำต่าง ๆ และวัดร้างที่ปรากฏชื่อ ตลอดถึงเกร็ดความรู้ทั่ว ๆ ไปของท้องถิ่นตำบลบ้านถ้ำ

ผลงานอันดับที่ ๙ แปดเป็ง : ประเพณีนมัสการพระเจ้าตนหลวงเมืองพะเยา

ได้นำเอาเรื่องราวของพระเจ้าตนหลวงพระคู่บ้านคู่เมืองพะเยามารวบรวมทำการชำระและวิเคราะห์ ซึ่งมีทั้งหมด ๖ ภาคด้วยกันคือ๑.ภาคตำนาน .ภาคประวัติศาสตร์.ภาคประเพณี .ภาคเสวนาทางวิชาการ.ภาคบทความ ๖.ภาควิจารณ์ และข้อสรุป ได้แบ่งออกเป็น ๒ ประเด็น คือประเด็นความคลาดเคลื่อนของเนื้อหาและประเด็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ควรจะเป็นไปได้

ผลงานอันดับที่ ๑๐ แนวทางการใช้ธรรมะเพื่อพัฒนาชุมชนเข็มแข็ง

เป็นการเขียนถึงการใช้ธรรมะในการสร้างกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยยกกรณีพระราชวิริยาภรณ์ (ศรีมูล มูลสิริ) ที่เป็นผู้โดดเด่นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนสังคมเมืองพะเยาโดยการชูธงรบคือการสะสม หรือการออมเงินไว้ใช้ในคราวจำเป็น มีทั้งหมด ๔ หมวด

ผลงานอันดับที่ ๑๑ รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก

เป็นงานเรียบเรียงทางวิชาการเพื่อเป็นเอกสารประกอบการสอนในวิชาทฤษฎีรัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก แห่งสาขาวิชาเอกรัฐศาสตร์ (การเมืองการปกครอง) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ชั้นปีที่ ๔ ทั้งหมดมี ๑๐ บท

ผลงานอันดับที่ ๑๒ สังคมทางการเมืองการปกครองในอาณาจักรภูกามยาว (รัฐพะเยาในอดีต)

เป็นงานเขียนทางวิชาการเพื่อประกอบการอ่านเสริมในวิชาเอกการเมืองการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยาโดยนำเอาสังคมทางการเมืองการปกครองของรัฐพะเยา หรืออาณาจักรภูกามยาว มานำเสนอความเป็นไปเป็นมาทั้งหมด ๕ บท

ผลงานอันดับที่ ๑๓ สังฆาธิปไตย : ระบอบการปกครองสงฆ์

เป็นงานทางวิชาการที่ต้องการตีประเด็นที่นักวิชาการทั้งหลาย มักจะกล่าวอ้างว่า “ธรรมาธิปไตย” เป็นระบอบการปกครอง แต่ผู้เขียนกลับมองว่าธรรมาธิปไตยเป็นธรรมรัฐ หรือธรรมนูญ สำหรับเป็นจริยธรรมทางการเมืองการปกครองเท่านั้น แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงจำลองการปกครองให้สังคมในยุคสมัยได้รู้ตามคือ “สังฆาธิปไตย” ต่างหากที่เป็นระบอบการปกครองที่ทรงใช้กับสงฆ์ก่อน หนังสือเล่มนี้ ได้นำเสนอออกเป็น ๕ บท

ผลงานอันดับที่ ๑๔ ตำนานช้างปู่ก่ำงาเขียว (ฉบับการ์ตูน)

เป็นตำนานที่เขียนขึ้นเล่าถึงช้างปู่ก่ำงาเขียวและน้ำแม่ร่องช้าง ลำน้ำที่เป็นเหมือนสายเลือดของคนดอกคำใต้ ตลอดถึงเวียงห้าว การสร้างคูเมืองป้องกันช้างตกมัน วิธีการฆ่าช้าง ตลอดถึงซากของช้างที่ไหลไปในที่ต่าง ๆ จนชาวบ้านตั้งชื่อสถานที่นั้น ๆ ตาม โดยมีภาพการ์ตูนเป็นส่วนประกอบ เพื่อต้องการให้เป็นสื่อที่เข้าถึงเด็กและเยาวชนให้มากที่สุด

ผลงานอันดับที่ ๑๕ ตำนานพ่อผ้าขาวเป็ง (นอตราดามุสแห่งเมืองพะเยา) ฉบับการ์ตูน์

เป็นการเล่าเรื่องจริงผ่านประสบการณ์ของพ่อผ้าขาวเป็น ที่ได้ชื่อว่าเป็นนอตราดามุสแห่งเมืองพะเยา ที่บำเพ็ญจนได้ฌานสมาบัติสามารถเห็นเหตุการณ์ในอนาคตได้ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้รวบรวมมาได้ ๒๐ คำทำนาย ซึ่งได้ให้คนวาดการ์ตูนลงไปเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคือเด็กและเยาวชนของชาติ จะได้นำแนวทางและเพลิดเพลินในการศึกษาเรียนรู้ต่อไป

ผลงานอันดับที่ ๑๖ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ : ผญาแห่งเมืองพะเยา

เป็นการเขียถึงตัวตนที่แท้จริงของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ในแง่มุมต่าง ๆ โดยผู้เขียนต้องการให้เป็นแบบอย่างแห่งความประพฤติให้กับคนรุ่นต่อไปได้ศึกษาและนำไปปฏิบัติใน ๔ ประเด็น ดังนี้๑.ผญาในฐานะส่งเสริมงานด้านการศึกษา, ๒.ผญาในฐานะผู้สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้, ๓.ผญาในฐานะเป็นองค์แห่งความรู้, ๔.ผญาในฐานะเป็นแบบอย่างแห่งการประพฤติปฏิบัติ

ผลงานอันดับที่ ๑๗ นอตราดามุสแห่งเมืองพะเยา : ตำนานพ่อผ้าขาวเป็งและ ๒๐ คำทำนาย

เป็นการนำเอาตำนานพ่อผ้าขาวเป็ง ฉบับการ์ตูนมาวิเคราะห์พร้อมกับการอธิบายขายความให้เห็นภาพวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ โดยแบ่งออกเป็น ๓ ภาค คือภาคการ์ตูน-สำหรับเด็ก ภาคอธิบายขยายความ-สำหรับผู้ใหญ่ และภาคการวิเคราะห์

ผลงานอันดับที่ ๑๘ ธรรมาธิปไตย : ธรรมรัฐ-ธรรมราชา-ธรรมานุวัตร

เป็นการนำเอาแนวคิดของคำว่าธรรมาธิปไตย, ธรรมรัฐ, ธรรมราชา, ธรรมานุวัตร มาขยายให้เห็นภาพทั้งที่มา หลักการ ของธรรมรัฐ(แนวคิดของประเทศตะวันตก)คืออะไร? ธรรมราชา(ธรรมะสำหรับภาวะผู้นำ)เป็นมาอย่างไร? ธรรมานุวัตร (ธรรมะสำหรับผู้ตามคือประชาชน)จะปฏิบัติตามในแนวทางไหน?

ผลงานอันดับที่ ๑๙ เรื่องเล่าจากกว๊านพะเยา (การ์ตูน)

เป็นการนำเอาเรื่องเล่า ที่เป็นชื่อของหมู่บ้าน แม่น้ำ สถานที่ รอบกว๊านพะเยามาเล่าให้รู้ที่มา ที่ไปของชื่อนั้น ๆ

ผลงานอันดับที่ ๒๐ พุทธธรรมกับการบริหาร

เป็นการนำเอาหลักพุทธธรรมกับการบริหาร โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ ตอน รวม ๑๐ บท ประกอบด้วย...ตอนที่ ๑ ความรู้พื้นฐานพุทธธรรมและการบริหาร (บทที่ ๑ แนวคิดเกี่ยวกับพุทธธรรม, บทที่ ๒ แนวคิดเกี่ยวกับการบริหาร, บทที่ ๓ ธรรมรัฐกับแนวคิดการบริหาร)...ตอนที่ ๒ การบริหารงานตามแนวทางพระพุทธศาสนา (บทที่ ๔ บทบาทการบริหารงานของพระพุทธเจ้า, บทที่ ๕ แนวคิดธรรมราชากับการบริหาร, บทที่ ๖ หลักพุทธธรรมกับการบริหาร, บทที่ ๗ คุณธรรมจริยธรรมของนักบริหาร)...ตอนที่ ๓ การประยุกต์พุทธวิธีการบริหาร (บทที่ ๙ การบริหารเชิงรุกของพระพุทธเจ้า, บทที่ ๑๐ การบริหารตามแนวพระสูตร)

กำลังจัดทำอีกสามเรื่อง คือ อันดับที่ ๒๑ ธรรมรัฐในทรรศนะแห่งสังคม อันดับที่ ๒๒ รัฐศาสตร์ในวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา และอันดับที่ ๒๓ ท่าทีคนลุ่มน้ำโขงที่มีต่อพุทธศาสนาเชิงรุกในยุคโลกาภิวัตน์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท