ตอนที่ ๑ : เมื่อปี ๒๕๔๑ หลังวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ได้แผ่ขยายเป็นวิกฤติต้มยำกุ้งของทั่วโลก ผมได้ร่วมทำงานสนามกับเครือข่ายวิจัยและพัฒนาประชาคมจังหวัดกาญจนบุรี ระดมพลังทั้งกลุ่มนักวิชาการกับกลุ่มคนท้องถิ่นเรียนรู้เพื่อค้นหาอนาคตของการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการ ทำให้เป็นกระบวนการที่สร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่การวิจัยไปด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งก็ทำให้มีเครือข่ายแกนนำกลุ่มต้นน้ำแควซึ่งมีบทบาทในลำดับต่อมาในจังหวัดอีกหลายอย่าง ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่รูปแบบการมีส่วนร่วมในเรื่องสาธารณะอื่นๆมากขึ้นเป็นลำดับ
ในห้วงเวลาดังกล่าว นอกจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ต่อมาเมืองกาญจนบุรีก็เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งกรณีการวางท่อก๊าซจากประเทศเมียนมาร์เข้าสู่ประเทศไทยอีกด้วย ผู้คนและภาคส่วนต่างๆของสังคมเกิดความเห็นแตกต่างกันอย่างกว้างขวางทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ เมื่อเริ่มเข้าสู่พื้นที่จึงทำงานต่างๆอย่างที่วางแผนไว้ไม่ได้เลย ผู้คนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร การจัดเวทีและการประท้วงเกิดขึ้นจนทุกฝ่ายต่างหวาดระแวงกันไปหมด เมื่อเริ่มจัดประชุมผู้คนเพื่อหารือและพัฒนาเครือข่ายทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ด้วยกัน บางครั้งก็มีคนที่กำลังต่อสู้กันเรื่องท่อก๊าซหลงเข้ามาเรียกร้องและรณรงค์ในเวทีประชุม บางครั้งก็มีคนเมาสุราและกลุ่มคนซึ่งเหมือนมาคอยสังเกตการณ์และกดดันวนเวียนอยู่โดยรอบที่ประชุม ผมเลยประเมินสถานการณ์ว่าเราต้องการเตรียมพื้นที่และสร้างความเข้าใจกับคนในจังหวัดเสียใหม่ก่อน เพราะสภาพการณ์อย่างที่ปรากฏนี้คงไม่เอื้อให้ทำงานกันได้
ตอนที่ ๒ : จากนั้นผมก็วางข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับเมืองกาญจน์ที่ได้ค้นคว้าจากเอกสารก่อนหน้านั้นลงไปก่อน แล้วก็ขออาสาทีมวิจัยของมหิดลเพื่อลงไปหาข้อมูลและเชื่อมต่อคนในพื้นที่ด้วยตัวเราเองใหม่(๑) ลงไปอยู่และเริ่มต้นเดินประสานงานที่ไม่ได้ผ่านหนังสือและเอกสารอย่างเดียว(๒) แต่เดินไปด้วยตัวเราเองก่อน แล้วก็ประสานงาน เชื่อมต่อคนและกลุ่มปัจเจกที่เป็นทุนทางสังคมของคนเมืองกาญจน์ เดือน-สองเดือนกว่าก็สามารถเตรียมการประชุมกับคนเมืองกาญจน์ได้ประมาณ ๕๐ คน
พอเริ่มต้นได้ก็เหมือนเป็นจุดเปลี่ยนอันเล็กน้อยแล้ว เพราะต่อมาอีก ๑ ปีก็ทำให้หลายฝ่ายที่เพิ่งผ่านการขัดแย้งกันในกรณีท่อก๊าซได้กลับมานั่งขอโทษกัน แล้วก็ขอบคุณเครือข่ายนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลว่าเหมือนกับผู้ที่ได้ช่วยร้อยไข่มุกของคนเมืองกาญจน์ที่ขาดกระจายให้กลับเป็นสร้อยไข่มุกอันงดงามดังเดิมอีกครั้ง ก่อนที่ต่อมาจะร่วมกันจัดเวทีค้นหาและประกาศวิสัยทัศน์จังหวัดกาญจนบุรี ก่อเกิดบรรยากาศแห่งการร่วมสร้างสรรค์เมืองกาญจน์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ต่อมาก็เป็นเครือข่ายร่วมมือกันทำงานเชิงพื้นที่ได้อย่างหลากหลาย รวมทั้งการระดมพลังพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลกาญจนบุรีซึ่งหลายอย่างพัฒนาคืบหน้าขึ้นได้ก็พอจะพูดได้ว่าเพราะมีการทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ที่นักวิจัยกลุ่มหนึ่งในครั้งนั้นได้สร้างความรู้ชี้นำการปฏิบัติและวางพื้นฐานไว้
ตอนที่ ๓ : ในระหว่างการทำงานครั้งนั้น ผมเองกับนักวิชาการและแกนนำของคนในพื้นที่ทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม รวมไปจนถึงภาครัฐในท้องถิ่น ก็มักมีจุดยืนที่แตกต่างกันไปด้วยอยู่เสมอ แต่ด้วยการเดินประสานงานที่ใช้การเปิดรับและเคารพซึ่งกันและกัน ก็ทำให้เราสามารถแลกเปลี่ยนทรรศนะและปรึกษาหารือเพื่อสร้างสรรค์สังคมไปตามจุดยืนของตนเองได้ ในจำนวนนั้นก็มีสองท่านซึ่งขอคุยกับผมอย่างจริงจัง ท่านหนึ่งเป็นคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี คือผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิวกานท์ ปทุมสูติ และอีกท่านหนึ่งเป็นอาจารย์วิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี คืออาจารย์ณรงค์เดช นวลมีชื่อ ทั้งสองท่านเป็นนักวิชาการและเป็นผู้นำทางความคิดที่มีบทบาทหลายด้านในจังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านเรื่องท่อก๊าซ คณะกรรมการเลือกตั้ง และอีกหลายอย่าง
เรามีเป้าหมายเพื่อร่วมสร้างสังคมที่มีความศานติสุขและไม่ใช้วิธีการที่รุนแรงแก้ปัญหาเหมือนกัน รวมทั้งในสภาวการณ์ขณะนั้นทั้งของสังคมไทยและสังคมโลก เราก็เห็นสอดคล้องกันว่าวิถีการพัฒนาในกระแสหลักซึ่งมุ่งลงทุนทั้งสังคมเพื่อได้ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเงินตรา แต่คน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้องถูกละทิ้งและล่มสลายไปหมดอย่างที่ดำเนินมาในอดีตนั้นคงไปไม่ไหว มุ่งสู่การสร้างคนและลงทุนทางสังคม รวมทั้งส่งเสริมปัจเจกที่มีจิตสาธารณะและภาคประชาชน ให้มีบทบาทต่อการร่วมสร้างสุขภาวะสาธารณะให้มากขึ้นกันดีกว่า ทว่า จุดยืนในเรื่องแนวคิดและวิธีการของเรามีความต่างกันบ้างพอสมควร
ตอนที่ ๔ : ท่านอาจารย์ศิวกานท์ ปทุมสูตินั้น นอกจากเป็นนักวิชาการและเป็นผู้นำทางความคิดซึ่งเป็นที่ยอมรับมากของคนเมืองกาญจน์แล้ว ท่านเป็นกวีและนักเขียนซึ่งมีผลงานแพร่หลาย เป็นคนดีศรีเมืองกาญจน์ ได้รับรางวัลระดับประเทศ และเคยเข้ารอบเป็นผู้ชิงรางวัลซีไรต์อยู่ก็หลายครั้ง เป็นปัจเจกที่มีพลังต่อสาธารณะในวิถีประชาสังคมผ่านสื่อและงานสร้างสรรค์ทางปัญญา ท่านมีความอาวุโสกว่าผมหลายปี ส่วนอาจารย์ณรงค์เดช นวลมีชื่อนั้น เป็นนักวิชาการที่ชำนาญในการทำงานสื่อด้วย มีแนวคิดและทรรศนะเชิงวิพากษ์ อาวุโสน้อยกว่าผมหลายปีเช่นกัน ส่วนผมก็เชื่อในวิถีชุมชนและกระบวนการเชิงสังคมที่ขับเคลื่อนผ่านงานความรู้และวิถีวิชาการที่เชื่อมโยงกับสังคม สิ่งแวดล้อม และถิ่นฐาน พอคุยกันในเวทีใหญ่เสร็จเราก็เลยต้องจับเข่าคุยกันต่ออีกทุกที บางวันเรานั่งถกกันจนเกือบสว่าง โดยมีเพียงบทกวี หนังสือ งาน และความเคารพที่จะนั่งคุยกันด้วยน้ำใจแห่งมิตรเท่านั้น ที่เป็นสื่อยึดโยงวงสนทนาของเราอย่างแน่นหนัก
วันหนึ่ง กลุ่มมิตรทางวิชาการสามวัยใจเดียวของผมนี้ ก็ไปนั่งคุยกันอีกซึ่งไม่เพียงเพื่อขับเคลื่อนงานในเมืองกาญจน์เท่านั้น ทว่า คุยกันไปจนถึงขั้นอยากหาหนทางทำในสิ่งที่จะเป็นงานเชิงปฏิรูปและสร้างทางเลือกใหม่ๆในขอบเขตที่เราเองสามารถทำได้กับมือดีกว่า คุยกันไปด้วยบรรยากาศแห่งมิตรที่เปิดใจกว้างต่อกัน บ้างก็เห็นสนับสนุนกัน บ้างก็เห็นต่าง บางครั้งอาจารย์ศิวกานท์ก็จะเปิดบทกวีออกมาอ่าน ผมเองกับอาจารย์ณรงค์เดชก็ร่วมแบ่งปันหนังสือและการอ่าน ต่างเสริมให้เราเป็นชุมชนการเรียนรู้ที่หูตากว้าง นับว่าเป็นวงสนทนาเพื่อทำงานและมีความหมายต่อทรรศนะต่างๆของเราเองมากครั้งหนึ่ง
ตอนที่ ๕ : ท่านอาจารย์ศิวกานท์นั้นเชื่อมั่นว่าต้องเดินออกไปสร้างเด็ก สร้างครู และคนที่ทำมาหากินอยู่ในชุมชนชนบท ให้เป็นคนที่อยู่กับความเป็นธรรมชาติ ใส่ใจวิถีวัฒนธรรมรากเหง้าของท้องถิ่น และเป็นคนรุ่นใหม่ไปเลยดีกว่า ปัญหาสังคมมากมายไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือในวงกว้างเราคงจะไปแก้ไม่ไหวหรอก ลงไปเป็นภาคีวิชาการเสริมให้ชาวบ้านเข้มแข็งกันดีกว่า ส่วนอาจารย์ณรงค์เดชนั้น ก็บอกว่าต้องพัฒนาบทบาทของสื่อทั้งสื่อมวลชนและสื่อท้องถิ่น สังคมจึงจะมีกำลังเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองได้ ท่านจะศึกษาและทำงานในแนวทางใหม่ๆด้านสื่อ
ส่วนผมก็บอกว่าจะส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อริเริ่มการเปลี่นแปลงของปัจเจก เริ่มตั้งแต่การปฏิรูปออกมาจากจิตใจและวิธีคิด กระทั่งออกไปสู่การรวมกลุ่มและสร้างสังคมในวิถีที่ต่างออกไปจากเดิม ถึงแม้จะเล็กน้อยและคงจะช้านานเหมือนการเติบโตของกล้วยไม้ แต่ก็เป็นวิถีที่เน้นงานพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของประชาชนและเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการพัฒนาจิตใจ ผมจะแปรวิกฤติสุขภาพชุมชนและปัญหาทุกเรื่องให้เป็นโอกาสเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ในแนวทางที่เราทำได้ แล้วก็บอกว่า สักวันหนึ่งเราจะเจอกันผ่านการทำงาน
กว่า ๑๐ ปีผ่านไป เราได้ติดต่อถามไถ่ข่าวคราวและสารทุกข์สุกดิบกันบ้างพอสมควร อาจารย์ศิวกานท์ถึงกับตัดสินใจลาออกจากราชการแล้วก็ดุ่มเดินไปในวิถีที่ตนเองเชื่อมั่น ทำสิ่งต่างๆได้มากมายทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ รวมทั้งทุ่งสักอาศรมซึ่งสร้างเด็กเยาวชนและครูแนวใหม่จากทั่วประเทศอย่างแข็งขัน นอกเหนือจากการทำหนังสือและบทกวีออกมาอย่างต่อเนื่อง บางปีก็ทำค่ายวรรณกรรม แต่งเพลง และดนตรี กับนักการศึกษาแนวปฏิรูป คนทำเพลงและคนในวงการสื่อชั้นนำของประเทศ ส่วนผมก็ไปในหนทางที่ผมเชื่อในทุกเวทีทั้งภาคประชาชนและภาครัฐ พร้อมกับทำฐานชีวิตของตนเองให้เป็นที่ดำเนินชีวิตไปกับการทำงานทีละเล็กละน้อย ส่วนอาจารย์ณรงค์เดชก็มีงานหนังสือและสื่อมาแบ่งปันกับผม แม้นอย่างประปราย แต่ก็ทำให้รู้ว่ายังคงดำเนินแนวทางที่สนใจไปอย่างสืบเนือง
ตอนที่ ๖ : มีบางส่วนเกี่ยวข้องกับ GotoKnow อย่างไม่ได้ตั้งใจซึ่งต้องขอบคุณ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ คุณมะปรางเปรี้ยวและคณะทำงานของ GotoKnow เนื่องจากส่วนหนึ่งของการนั่งคุยกันเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนของเรานั้น ผมกับอาจารย์ศิวกานท์ตั้งใจว่าจะมีงานหนังสือด้วยกัน แต่ผมขอไว้ว่างานของผมจะขอเขียนออกมาจากประสบการณ์สนามและขอเป็นแนวร่วมขยายเสียงทางเลือกของปัจเจกและชุมชน ผมจะลงทำงานเพื่อเข้าถึงประสบการณ์ตรงของสังคมด้วยตนเองแล้วจะใช้เป็นวัตถุดิบมาเขียนหนังสือกับทำงานศิลปะ(๓) จะหาความลงตัวที่ดีในบริบทใหม่ๆของสังคมไทยที่การปฏิบัติของสังคมกับสิ่งที่เป็นงานความรู้ ไปด้วยกันอย่างเสริมพลังกัน
แต่เนื่องจากคงต้องทุ่มเทและใช้เวลาในชีวิตมาก ผมจึงจะทำอย่างสะสมโดยจะเขียนงานตีพิมพ์เผยแพร่ทางสื่อในรูปแบบต่างๆเหมือนกับเป็นการทำงานสร้างสรรค์ที่ออกมาจากงานวิจัยเชิงพื้นที่ แต่ให้เป็นบันทึกงานสนามที่สอดคล้องกับการมีความเป็นจริงเกิดขึ้นด้วย เมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็จะสามารถรวมเล่มและทำเผยแพร่กับอาจารย์ และอีกด้านหนึ่งก็ใช้เป็นข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์สร้างความรู้จากงานวิจัยไปด้วย เราจะเขียนสร้างความรู้จากสิ่งที่ทำได้จริงและจะรายงานจากความเป็นจริงให้มากที่สุดที่สังคมมี ทำนองว่าจะเป็นวิถีวิชาการที่เป็นเพื่อนตัวเล็กๆพาคนกลับบ้านได้
ผมทำอย่างที่ตั้งใจได้บ้างในระยะต้น แต่สำหรับการเขียนบทความและทำงานเผยแพร่ทางสื่อนั้น สภาพการณ์หลายอย่างไม่เอื้อให้ทำได้จากความตั้งใจของเราเองแต่เพียงลำพัง เลยต้องหาวิธีอื่นที่ไม่ให้ความตั้งใจดังกล่าวขาดความต่อเนื่องซึ่งทางหนึ่งก็คือเข้ามาใช้บริการของบล๊อก GotoKnow นี้นั่นเอง
ตอนที่ ๗ : อันที่จริงผมเกือบไม่ได้เขียนและไม่ได้ถ่ายทอดอีกหลายอย่างดังที่ปรากฏในลำดับต่อมาในบล๊อกนี้และในอีกหลายที่ เพราะดันไปวางกรอบตนเองว่าจะมุ่งสร้างความรู้ที่มีองค์ประกอบครบทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวท หรือต้องพร้อมไปด้วยทั้งทฤษฎีและความรู้ การลงมือทำจริง และการเกิดผลดีต่อผู้คน จึงจะถือว่ามีการเรียนรู้เกิดขึ้นและมีของจริงของสังคมให้เขียนความรู้ แม้จะเล็กน้อยก็ตาม คนอื่นคงจะทนทำในแนวทางนี้ได้ยาก แต่ผมมาจากลูกหลานชาวนา เป็นคนบ้านนอก ชีวิตเติบโตมากับความลำบากและเหนื่อยยาก ทุกอย่างที่มีและเป็นอยู่ในทุกวันนี้ล้วนเกินกว่าที่จะคิดฝันไปแล้วทั้งนั้น ผมจึงเป็นคนหนึ่งที่คิดว่าจะอดทนทำงานแนวที่ยากๆนี้ให้สังคมได้
ผมมั่นใจในตอนนั้นว่าเราจะค้นหาแนวการทำงานที่เชื่อมงานวิจัยและวิถีคนชั้นกลางเข้ากับวิถีชาวบ้านเพื่อเป็นพลังความรู้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีและพอเหมาะกับสภาพความเป็นจริงของสังคม จะอาสาลองสะท้อนความรู้และแนวคิดที่จำเป็นลงไปหาคำตอบให้ดูทางการปฏิบัติในบริบทต่างๆของสังคมไทย พร้อมกับจะหาวิธีถอดบทเรียนแปรประสบการณ์ภาคปฏิบัติให้เป็นทุนทางปัญญาทีละเล็กละน้อย โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง
ตอนที่ ๘ : ผมจะไม่เขียนความรู้ที่ไม่มีความเป็นจริงของสังคมเกิดขึ้นมารองรับก่อน จะไม่อ่านหนังสือมาเขียนและหากทำงานอย่างที่เราเชื่อได้แค่เหมือนกับไปอ่านหนังสือมา ก็ให้คนเขาไปอ่านหนังสือที่มีคนเขียนมากมายแล้วดีกว่า ในขณะที่ผมเป็นคนรักและส่งเสริมการอ่านการศึกษาค้นคว้ามากคนหนึ่ง ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่มิใช่การปฏิเสธวิถีความรู้ของกระแสหลัก แต่การวิจัยเชิงปฏิบัติการสังคมของเรามุ่งไปยังจุดหมายอย่างนั้น
วิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติสังคมแบบฟองสบู่แตกของสังคมไทยก่อนหน้านั้นทำให้กลุ่มทางวิชาการจำนวนหนึ่งอย่างเรา เลือกแนวทางที่จะผุดออกจากรากฐานของสังคมแล้วจึงค่อยเชื่อมต่อเข้ากับพรมแดนอันกว้างขวางของความรู้ให้วิถีท้องถิ่นและโลกาภิวัตน์ส่งเสริมเกื้อหนุนกันอย่างสมดุล ภายหลังที่เห็นความเป็นตัวของตัวเองแล้ว
แนวทางดังกล่าวจะช้าและบังคับให้เป็นไม่ได้ อีกทั้งหลายอย่างก็ต้องปรับวิถีวิชาการให้ไปด้วยกันกับความเป็นจริงสังคม ซึ่งอาจจะไม่เป็นไปตามพิธีกรรมทางวิชาการกระแสหลัก ในระยะนี้จึงไม่เป็นผลดีต่อการทำเพื่อสร้างผลงานและได้ความก้าวหน้าทางวิชาการ
แต่มาระยะ ๔-๕ ปีที่ผ่านมา หลายสิ่งที่เราทำมายาวนานก็กลับเริ่มปรากฏผลออกมาและเริ่มดีขึ้น ผมลืมไปว่าผมเคยพูดหลักการนี้ไว้กับอาจารย์ศิวกานท์และอาจารย์ณรงค์เดชว่าแนวทางของผมที่เน้นกระบวนการศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นคงจะช้าเหมือนกับการปลูกและดูแลกล้วยไม้ เมื่อมีบางสิ่งที่เป็นผลสืบเนื่องจากการทำงานของเราเกิดขึ้นเหมือนกล้วยไม้จะผลิช่อดอกงามบ้าง ก็ทำให้ผมต้องตาลีตาเหลือกมาตั้งหลักใหม่และเริ่มบันทึกสิ่งต่างๆพร้อมกับทำอีกหลายอย่างเพื่อรายงานและถ่ายทอดไว้แบบเบาๆ
บทเรียนบางประการ
ผมได้เรียนรู้และเห็นบทเรียนที่สำคัญบางอย่างว่า ในแหล่งที่งานเชิงพื้นที่มีความหลากหลาย และกลุ่มทางสังคมที่สำคัญก็มีความสนใจที่ต่างกันนั้น การเห็นประเด็นร่วมด้วยกัน ที่สามารถเชื่อมโยงพลังสร้างสรรค์จากปัจเจกและกลุ่มประชาคมที่หลากหลายให้เป็นพลังนำการเปลี่ยนแปลงในทางเลือกใหม่ๆที่ยกระดับความเป็นส่วนรวมให้ครอบคลุมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายได้ดีขึ้น ในขณะที่แต่ละเรื่องก็ยังคงมีความเป็นตัวของตัวเองและคงความหลากหลายได้นั้น จะสามารถเกิดขึ้นผ่านการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกันในแนวราบด้วยรูปแบบผสมผสานอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ สิ่งที่สื่อสะท้อนให้เห็นวิธีคิด บ่งบอกวิถีทรรศนะต่อสังคม และบอกให้รู้ถึงจุดยืนกันและกันอย่างไม่ต้องปะทะกันเชิงเหตุผลถูกผิด เช่น ศิลปะ งานวรรณกรรม บทกวี ดนตรี จะสามารถเป็นสื่อสร้างการคิดและเกิดการเห็นร่วมกันที่ลึกซึ้งแต่มีความเป็นธรรมชาติ ทำให้เกิดความเป็นกัลยาณมิตรทางการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้ทำสิ่งอื่นได้ต่อไปในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การมีสำนึกต่อสังคมด้วยกัน ลดความเป็นตัวตนของเรา เคารพผู้อื่น มีความเป็นมิตรให้กัน แล้วก็คุยและฟังกันด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ จะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ทุกอย่างได้.
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บันทึกหมายเหตุ :
(๑) การลงไปฝังตัวและพัฒนาการเรียนรู้เพื่อสร้างข้อมูลและเตรียมชุมชนบนฐานข้อมูลสนามที่นักวิจัยลงไปอยู่ในชุมชนระยะหนึ่ง ก่อนที่จะวิเคราะห์และออกแบบขั้นตอนการทำงานในขั้นต่อไปเสียใหม่บนความเป็นจริงของชุมชนและด้วยจุดยืนที่มีความร่วมกันกับจุดยืนของชุมชนในลักษณะนี้ ในทางการวิจัยเชิงคุณภาพถือว่าเป็นการทำงานขั้นการเลือกฐานคติทางทฤษฎีหรือมุมมองความเป็นจริง (Point of view) จากจุดยืนร่วมกับชุมชน ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนกรอบความรู้และชุดความเป็นจริง จากการขึ้นต่อนักวิจัยภายนอกและการใช้ทฤษฎีที่ผู้อื่นสร้างขึ้นเป็นตัวตั้ง มาสู่การใช้ความเป็นจริงของชุมชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะมีความสำคัญต่อการวิจัยในแนวที่เน้นการแก้ปัญหามาก เพราะทำให้ความรู้ที่สร้างขึ้นมีความเป็นจริงของชุมชนรองรับและชุมชนมีบทบาทต่อการวิจัยมากขึ้น ทั้งเป็นผู้กำหนดวิถีความรู้ เป็นผู้สร้างความรู้ และเป็นผู้ใช้ความรู้นั้นด้วย (People and research user centered)
(๒) เทคนิคและวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการในสนามในลักษณะดังกล่าว ในทางการวิจัยเชิงคุณภาพถือว่าเป็นการได้กลุ่มตัวอย่างการวิจัยโดยอิงอยู่กับข้อมูลและความเป็นจริงของชุมชน เพราะจะใช้เทคนิคผมผสานกับการบอกต่อและการอ้างอิงจากประสบการณ์ของผู้ที่อยู่ในชุมชน (Snowball Technique) ซึ่งข้อมูลในการระบุกลุ่มตัวอย่างจากการอ้างอิงดังกล่าว สะท้อนถึงการวิเคราะห์และใช้ความรู้ของชุมชนเองด้วย ในแง่ของแนวการปฏิบัติ (Approach)นั้น ก็จะเป็นการลดความสำคัญของนักวิจัยลงไปให้เสมอกับความรู้ของชุมชน ถือเกณฑ์การตัดสินใจจากข้อมูลและความรู้ของชุมชน และในแง่คุณภาพทางวิชาการ ก็เป็นวิธีการขจัดอคติของนักวิจัย(Bias) และควบคุมให้เกิดความเชื่อถือได้มากขึ้น
(๓) การสนทนาครั้งนั้น ผมเองก็ได้อ่านบทกวีแลกกับทั้งสองท่านด้วย ทว่า บทกวีของผมมีลักษณะเป็นการบันทึกห้วงเวลาต่างๆของการทำงานกันสำหรับตีพิมพ์ทางสื่อ เดือนละ ๑ บท เพื่อให้เป็นการสรุปบทเรียนและบันทึกการเดินทางเดือนละ ๑ ก้าวให้ได้ ๓ วิธีการ คือ ทำสกู๊ปเชิงสารคดี ๑ เรื่อง บทกวี ๑ บท งานสนทนาทางศิลปะและวรรณกรรม ๑ ครั้ง ทั้งหมดในแต่ละเดือนจะเป็นประเด็นเดียวกัน จะเป็น ๕ ปี ๑๐ ปี เราจะรวมเล่ม สังเคราะห์ซ้ำ แล้วตีพิมพ์งานวิชาการกับงานสร้างสรรค์ที่ทำขึ้นจากการเชื่อมต่อกับภาคปฏิบัติของสังคม ระหว่างเส้นทางที่จะได้ทำงานด้วยกันอีกนั้น เราจะหาประสบการณ์และความจัดเจนในเรื่องที่ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ และถ้าหากไม่ได้ก็จะไม่ทำอะไรเลย ดังนั้น ทุกครั้งที่เรามีงานเผยแพร่จะหมายถึงการมีความคืบหน้าก้าวเล็กๆเกิดขึ้น ในบทกวีที่ผมเขียนขึ้นและอ่านนั้น ได้หยิบเอาเรื่องที่เป็นประเด็นเชิงแนวคิดและวิธีการทำงานมาปรารภแล้วบันทึกไว้ บทกวีได้กล่าวถึงความต่อเนื่องและการเปลี่ยนผ่าน เช่น กล่าวถึงภาวะจนกว่าน้ำค้างจะกลายเป็นแมลงปอ จนกว่าแมลงปอจะกลายเป็นนกฮูก จนกว่านกฮูกจะกลายเป็นแมว ซึ่งทุกอย่างนอกจากมุ่งสื่อถึงความเนิ่นนานจนสุดจะคาดหวังแล้ว ก็ทำให้เห็นถึงความเป็นไปไม่ได้ด้วย เพื่อแสดงแนวคิดต่อสังคมว่า เราควรเป็นบางคนที่ขอเลือกทำสิ่งที่ยาก ทำในสิ่งที่ขาดคนทำหรือไม่ค่อยมีคนอยากทำ ซึ่งในสถานการณ์ที่สังคมขัดแย้งกันก็คือ การใช้หนทางทางปัญญาแทนความรุนแรงและการพัฒนาที่เน้นจิดใจให้สมดุลกับวัตถุซึ่งเหมาะกับทุนทางสังคมของโลกตะวันออก แต่เป็นแนวที่อยู่นอกกระแส คนไม่อยากทำ อีกทั้งดูไม่มีความหวัง กวีบทนั้นจบด้วยคำถามลอยๆ ประหนึ่งว่าแม้จบบทกวีแล้วก็จะขอฝากไว้ในใจคน ให้คิดอ่านและทำต่อไปอีกเหมือนไม่ต้องจบสิ้นไปตามกระแสสังคม เพื่อสื่อว่า(ในเรื่องที่กล่าวถึง)ต่อให้ยากกระทั่งคนรุ่นหนึ่งทำได้ไม่ถึงไหนเราก็จะส่งต่อให้ผู้คนอีกรุ่นสานต่อไปอีก เราจะทำงานเหมือนนายไปรษณีย์ ส่งความทรงจำของคนรุ่นหนึ่งให้ไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งความหมายคือเราจะเลือกหนทางที่เป็นการทำงานความรู้และทำวิจัยเชื่อมต่อกับวิถีสังคม เพราะเชื่อว่าแนวทางอย่างนี้ในระดับชุมชนฐานราก จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สังคมไทยมีทางออกดีๆในหลายเรื่อง อีกทั้งเป็นวิถีที่สวนทางกับบุคลิกของสังคมไทยที่มักขาดการสืบทอดและพัฒนาบางเรื่องให้งอกงามต่อเนื่อง แต่แนวทางอย่างนี้ก็เป็นงานที่ทำได้ยากเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ขาดโอกาสการพัฒนาตนเองมาก งานความรู้กับวิถีชีวิตชาวบ้านแยกส่วนกัน คนส่วนใหญ่มักสนใจเรื่องปากท้อง ไม่มุ่งยกระดับความหมายแห่งชีวิต และเผชิญการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างขาดความเชื่อมโยงว่าปูมเดิมมาจากไหน แล้วในอนาคตจะอยู่กันต่อไปอย่างไร
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ใน ประชากรและประชาสังคมศึกษา
อ.วิรัตน์ครับ
แวะมาเยี่ยมครับ
ผมมีโอกาสลงพื้นที่เมืองกาญจน์ฯอยู่หลายครา
เห็นพัฒนาการ การทำงานของผู้คนที่ขับเคลื่อนงานการเมืองภาคพลเมือง
ผมมีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนที่ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวนอยู่หลายครา
ผมชื่นชม และหลงเสน่ห์เมืองกาญจน์ฯครับ ทั้งธรรมชาติ ผู้คน ศิลปวัฒนธรรม
และงานชุมชนเข้มแข็งครับ
ชอบภาพวาดของอาจารย์ครับ