เรียนรู้การจัดการชุมชนในวงน้ำชา : การจัดการความขัดเเย้งในกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู


การบริหารความขัดแย้งของลีซูน่าสนใจ ตรงที่ ลีซูใช้รูปแบบทางการอ้างอิงตามรูปแบบรัฐ แต่ผสมผสานกระบวนการของท้องถิ่นโดยผ่านคณะกรรมการหมู่บ้านที่เป็นผู้อาวุโส ที่ได้รับความไว้วางใจจากชนเผ่า

ผมบอกทีมงานทุกคนว่า  “ เวทีที่เรานัดชาวบ้านควรนัดตอนกลางคืน เพราะกลางวันชาวบ้านออกไปทำไร่ ทำสวน  ไม่ค่อยมีใครอยู่”  โดยเฉพาะชาวลีซูที่ช่วงนี้ต้องขลุกอยู่ในไร่เพื่อเตรียมพื้นที่ในการทำเกษตรปีต่อๆไป แต่หากเป็น “วันศีลลีซู” เราสามารถนัดชาวบ้านในช่วงกลางวันได้ เพราะวันศีลลีซู ชาวบ้านต้องหยุดงานและพักผ่อนอยู่กับบ้าน

การเรียนรู้ที่เข้าใจวิถีชุมชน(เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา)  เป็นเสมือนประตูเปิดเชื่อมคนนอก (นักวิจัย ) และ คนใน (ชาวบ้าน) อย่างสมานฉันท์ และยั่งยืน

เพราะเหตุผลนี้ เราจึงนัดชาวบ้านที่เป็นคณะกรรมการชุมชนที่บ้านลีซูดอยล้าน ต.วาวี อ.แม่สรวย  เอาไว้ในช่วงกลางคืน ผมนึกถึงเวทีพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ พร้อม “ซาเย-โด๊ะ” ซาเย = น้ำชา, โด๊ะ = เป็นคำกริยา แปลว่า "ดื่ม-จิบ"   (จิบน้ำชา) เวทีสไตล์กันเองแบบนี้ทำให้เราเข้าถึงโลกของชาวบ้านโดยไม่ยากเย็นนัก

บ้านลีซูดอยล้าน เป็นหมู่บ้านลีซูขนาดใหญ่ ที่ยังมีจารีตดั้งเดิม รวมถึงโครงสร้างทางสังคมที่เข้มแข็ง แม้ว่ากระแสทุนจากข้างนอกจะรุนแรงเพียงใด ชุมชนบนดอยยังประคับประคองตนเองไปได้...นี่หละครับ เพราะข้อมูลพื้นฐานแบบนี้ ทำให้หมู่บ้านลีซูที่นี่อยู่ในความสนใจของผมและทีมงาน

"ประเด็นการจัดการความขัดแย้ง โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น"  นั้นเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะในสังคมปัจจุบันเราเปราะบางมากต่อเงื่อนไขเล็กน้อย ที่มักจะขยายผลนำไปสู่ความขัดแย้งที่ใหญ่และรุนแรง เกิดความเสียหายต่อตนเองและประเทศชาติเป็นวงกว้าง

ช่วงเย็นก่อนที่เราจะเข้าร่วมเวทีประชุมกับคณะกรรมการ พี่วิวัฒน์ ตาหมี่ และเจ้าของบ้านที่ทีมงานจะพักผ่อนแบบโฮมสเตย์ทำกับข้าวอร่อยๆ เลี้ยง  อาหาร ทำให้ผมรำลึกถึงบรรยากาศเดิมๆที่เคยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพี่น้องลีซูที่แม่ฮ่องสอน อาหารของลีซูในแต่ละมื้อมีไม่กี่อย่าง เช่น น้ำพริก ผักสด ผักต้มใส่หมู ที่พิเศษก็คือ ข้าวที่หุงได้หอม เหนียว เป็นเอกลักษณ์เฉพาะลีซู เรานั่งล้อมขันโตก ใช้ตะเกียบพุ้ยข้าว กันอย่างเอร็ดอร่อย...อิ่มหนำ - สำราญ

ลีซูมีเครื่องดื่มที่เราเห็นจนคุ้นชินเสมอๆคือ “เหล้าข้าวโพด”

หรือหากเรียกตามภาษาชนเผ่า ก็เรียกว่า “ขื่อซา ยี่เผอะ” (ขื่อซา = ข้าวโพด และ ยี่เผอะ = เหล้า )  เหล้าข้าวโพดเป็นเสมือน เครื่องดื่มชั้นดีของลีซู นอกจากจะใช้ในพิธีกรรมแล้ว การจิบ ดื่ม กิน ในหมู่ชายชาวลีซูก็ถือว่าวิเศษสุดเลยทีเดียว

เหล้าข้าวโพดผลิตจากเมล็ดข้าวโพดหมักกับ แป้งเหล้า เคล้าสมุนไพร ลีซูมักต้มเหล้ามากในช่วงก่อนปีใหม่ลีซู (ตรุษลีซู) เพราะในช่วงปีใหม่ลีซูจะมีพิธีกรรมหลายๆพิธีกรรมด้วยกันที่ต้องใช้เหล้าดังกล่าวประกอบในกระบวนการ อีกทั้งใช้รับรองแขกเหรื่อที่มาเยือนบ้านด้วย

ผมเคยเขียนถึง “ขื่อซา ยี่เผอะ”เหล้าข้าวโพดที่เป็นเครื่องดื่มที่ชาวลีซูต้องมีติดบ้าน ใช้ในการทำพิธีเลี้ยงผี และต้อนรับแขกพิเศษ รสชาติเข้ม บาดคอเสียเหลือเกิน ชาวลีซูถือกันว่า “ใครต้มเหล้าได้ รสชาติดี คือ ฝีมือของลูกผู้ชาย”  อ่านเพิ่มเติมได้ ในบันทึกนี้ ต้มเหล้าข้าวโพด : กิจกรรมการเก็บข้อมูลนักวิจัยคนจน

คืนนี้ผมจิบ ขื่อซา ยี่เผอะ สองจิบ ร้อนผ่าวตั้งแต่ลำคอจนถึงกระเพาะเลยทีเดียว...ผลที่ได้คือ หน้าแดงๆร้อนวูบวาบ พูดคล่องมากขึ้น :)

หลังจากที่จัดการอาหารเย็นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมและทีมงานเดินทางไปที่บ้าน พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) เพื่อเข้าแนะนำตัวพร้อมกับร่วมนั่งสนทนาพูดคุย ที่ไปที่มา แนะนำตัวให้รู้จัก ว่าเป็นใครมาจากไหน มาทำอะไร...และโชคดีที่พี่วิวัฒน์ ตาหมี่ อธิบายภาษาลีซูให้คณะกรรมการหมู่บ้านได้รู้จักผมและทีมงาน การสื่อสารผ่านคนกลางทำให้ความสัมพันธ์เราแนบแน่นมากขึ้นด้วยภาษาของพวกเขาเอง

บรรยากาศคืนนี้ชื่นมื่นครับ “ซาเย” ถูกริน ให้กับทุกคนในวง ไอร้อนๆ ของชาเย ทำให้ร่างกายของผมตื่นตัวดีมาก ชาเยที่นำมาเสริฟ ทำมาจาก "ใบเมี่ยง" ที่นำมาตากแห้ง แล้วนำมาคั่วให้หอม เมื่อผสมกับน้ำร้อน กลิ่นหอมของชาคั่ว ก็รัญจวนยิ่งนัก...คนล้านนาเรียกว่า "น้ำเมี้ยง"

เวทีซาเย-โด๊ะ จึงเป็นเสมือน วงสนทนาแบบไดอาล็อก,โสเหล่ชาวอีสาน,แตออ ของชาวใต้ แบบธรรมชาติ เนียนกับวิถีชีวิต ทำให้เรา (นักวิจัย กับ ชุมชน) แนบแน่นกันมากยิ่งขึ้น

ผมเล่าถึงวัตถุประสงค์การเดินทางเข้ามาศึกษาและบอกเหตุผลว่า ทำไมผมถึงสนใจที่จะเข้ามาเรียนรู้กับพี่น้องลีซูที่บ้านดอยล้าน

"ภาษา"  ก็เป็นสิ่งสำคัญครับ...ภาษาที่ใช้นอกจากภาษาลีซู ที่เป็นภาษาสื่อสารปกติของชาวบ้านแล้ว ภาษากำเมือง ก็เป็นอีกภาษาหนึ่งที่พวกเขาคุ้นชิน เพราะลงดอยก็ต้องไปติดต่อกับคนเมือง ดังนั้น ผมอู้กำเมือง จึงเข้าใจได้ไม่ยากนักสำหรับลีซูที่ดอยล้าน

บรรยากาศเวที เริ่มครึกครื้นเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ...การสนทนาแลกเปลี่ยนเป็นไปแบบกันเอง แม่บ้านลีซู นั่งผิงไฟสังเกตการณ์ไม่ไกลนักจากวงซาเย-โด๊ะ

ผมเริ่มตั้งประเด็น เกี่ยวกับ การจัดการความขัดแย้งของชุมชนดอยล้าน ว่า ทางหมู่บ้านใช้กระบวนการจัดการความขัดแย้งอย่างไร? ทางพ่อหลวงและคณะกรรมการ พร้อมกับผู้อาวุโสก็ช่วยกันแลกเปลี่ยน อย่างลื่นไหล...

ผมพอจับใจความได้ว่า...ความขัดแย้ง หรือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน แบ่งออกเป็น สองประเด็นใหญ่ๆคือ

         ๑.        ความขัดแย้ง หรือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำละเมิด ฝ่าฝืนกฏเกณฑ์ชุมชน

        ๒.        ความขัดแย้ง หรือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำละเมิด ฝ่าฝืนจารีต ประเพณี และ ผี

ดังนั้นกระบวนการจัดการความขัดแย้ง หรือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน จึงถูกจัดการจากคนสองกลุ่มคือ หากเป็นการละเมิดกฏเกณฑ์ของชุมชนก็จะผ่านคณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จนถึงผู้ใหญ่บ้าน หากจัดการไม่ได้ในชุมชนก็ส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ส่วนในกรณีละเมิด ฝ่าฝืนจารีต และผี ทางหมอเหมอผะ (หมอพิธีกรรม) จะเป็นผู้วินิจฉัยและคลี่คลายปัญหา

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อเกิดการขัดแย้งขึ้นระหว่างคนสองคน ลีซูจะมี “ผู้ไกล่เกลี่ย”(Mediater) เพื่อพูดคุย ระงับความขัดแย้งเบื้องต้น ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการบริหารความขัดแย้งในขั้นตอนต่อไป ดังนั้น กระบวนการเป็นผู้ไกล่เกลี่ย (Mediater) ของชาวลีซู เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ เราสนใจว่า บุคลิกของผู้ไกล่เกลี่ย นั้นน่าจะเป็นอย่างไร ?ใครบ้างที่เป็นได้ ? ใครมีศักยภาพที่จะทำตำแหน่งนี้? รายละเอียดที่เป็นคุณสมบัติเหล่านี้ เป็นข้อมูลหนึ่งที่ทีมงานสนใจ และเรียนรู้

กระบวนการจัดการความขัดแย้งที่ดอยล้าน มีกระบวนการสำคัญๆดังนี้

ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้นำสูงสุดในชุมชน ทางฝ่ายปกครอง และ ทางผู้นำธรรมชาติที่มีบทบาทอย่างมากในการจัดการความขัดแย้งประเด็นพิธีกรรมคือ หมอเหมอผะ (หมอเมือง)  ทั้งสองทำบทบาทหน้าที่วินิจฉัยและตัดสิน ถือว่าเป็นที่สุดในระดับชุมชน

คณะกรรมการหมู่บ้าน ใช้รูปแบบของมหาดไทยที่มีฝ่ายต่างๆ ตามโครงสร้าง กล่าวคือ มี ผู้ช่วย ๒ ท่าน ผรส. ๑ ท่าน และคณะกรรมการฝ่ายต่างๆอีก ๗-๘ คน ตามขนาดของหมู่บ้าน

ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือ คณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เป็นผู้นำทางธรรมชาติ มีคุณสมบัติเบื้องต้นที่ได้รับการยอมรับ มีทุนทางสังคมที่ยอมรับกันในระดับชุมชน ดังนั้นถึงแม้ว่าโครงสร้างจะอิงทางมหาดไทย แต่ตัวบุคคลมาจากการยอมรับนับถือของชาวบ้านอยู่แล้ว

เพื่อความสมานฉันท์ ผู้ใหญ่บ้านดอยล้านบอกว่า มีกลุ่มคณะกรรมการที่ถูกคัดเลือกขึ้นมา แต่ละคนเป็นตัวแทนตระกูลด้วย เช่น ดอยล้านมี ทั้งหมด  ๗ ตระกูล ก็จะมีคณะกรรมการหมู่บ้าน ๗ คน (แซ่หมี่,แมวป่า,แซ่เช้า,แซ่ย่าง,แซ่จู,แซ่หมง,ตาหมี่) ทั้งนี้ก็เพื่อความเสมอภาค และ การจัดการความขัดแย้งในระดับตระกูลผู้ไกล่เกลี่ยก็เป็น ตัวแทนตระกูลที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการนั่นเอง

กระบวนการการจัดการความขัดแย้งที่บ้านลีซู ดอยล้าน มีรูปแบบ ตามแผนภาพที่ผมสรุปดังนี้..

อย่างไรก็ตาม การบริหารความขัดแย้งของลีซูน่าสนใจ ตรงที่ ลีซูใช้รูปแบบทางการอ้างอิงตามรูปแบบรัฐ แต่ผสมผสานกระบวนการของท้องถิ่นโดยผ่านคณะกรรมการหมู่บ้านที่เป็นผู้อาวุโส ที่ได้รับความไว้วางใจจากชนเผ่า

การตั้งกฏเกณฑ์ที่เป็นกฏเกณฑ์ร่วมของชุมชน โดยผ่านเวทีประชาคมใช้ข้อบังคับ(กฏหมู่บ้าน) จากที่ คณะกรรมการได้ร่างไว้ก่อน แล้วพิจารณาร่วมกันในเวทีประชุมเมื่อได้มติเป็นข้อตกลงร่วม แล้วจึงแสดงเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ป้ายประกาศ การบอกกล่าวผ่านหอกระจายข่าว เพื่อให้สมาชิกในหมู่บ้านได้ทราบ  และใช้บังคับเป็นกฏของหมู่บ้านจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง หากมีการละเมิดก็มีการปรับ ไหม หรือมีกระบวนการลงโทษตามข้อตกลง

จุดเด่นของการจัดการความขัดแย้งที่เป็นข้อสังเกตของลีซูคือ

         ๑.        การใช้รูปแบบการจัดการความขัดแย้งระบบผสมผสาน ระหว่าง การจัดการตามกระบวนการทางกฏหมาย-โครงสร้างการปกครองโดยรัฐ และ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของลีซูเอง

        ๒.        ผู้อาวุโสของชนเผ่า จะถูกการยอมรับสูง ความไว้เนื้อเชื่อใจสูงไปด้วย ดังนั้นผู้คนกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่คอยดูแลความเรียบร้อยของชุมชน รวมถึงเป็นผู้นำทางด้านจิตใจไปด้วย

        ๓.        หมอเหมอผะ เป็นผู้นำทางพิธีกรรม และเป็นผู้จัดการความขัดแย้งโดยมี “ผี” เป็นตัวควบคุม วิถีชีวิตของชาวลีซู ที่ยังมีความเชื่อเรื่องผีกันอย่างเข้มข้น ความยำเกรงต่อผี มีผลทำให้เกิดคนลีซูปฏิบัติตนตามกรอบ จารีตของชุมชน

        ๔.        ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ทำให้สังคมคนลีซู มีความรัก ความสามัคคี การจัดการความขัดแย้งผ่านระบบสายเครือญาติ เป็นการจัดการความขัดแย้งที่อยู่บนฐานของความเอื้ออาทรระหว่างกันมากกว่าการตัดสินโดยกฏเกณฑ์

รายละเอียดในบันทึกนี้ ผมนั่งขบคิดด้วยตนเองเงียบๆจากการที่ได้เข้าไปเรียนรู้กับลีซูบ้านดอยล้าน ในเวลาสั้นๆ (หนึ่งคืน)  เป็นเพียงข้อสรุปเบื้องต้น ในส่วนกระบวนการที่ละเอียด อาจต้องเขียนขึ้นมาให้สมบูรณ์เป็นรายงานการศึกษา

ครั้งนี้ผมไปในฐานะที่ปรึกษาของโครงการศึกษาดังกล่าว ของสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ถือได้ว่า ได้ร่วมเรียนรู้กับพื้นที่ และได้ความรู้ใหม่ๆ พร้อมที่จะนำเรื่องราวดังกล่าว มาแลกเปลี่ยนกับผู้สนใจใน Gotoknow หากท่านไหนมีประเด็นที่จะเพิ่มเติม หรือให้ข้อเสนอแนะ ก็ยินดีอย่างยิ่ง

งานศึกษาชิ้นนี้ จะทำการศึกษา กระบวนการจัดการความขัดแย้งของชุมชน ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือของประเทศไทย ตอนนี้เท่าที่คุยๆกันก็ จะเลือกศึกษาใน ๕ กลุ่มชาติพันธุ์หลัก (ลีซู,ปกาเกอญอ,อาข่า,ม้ง และ ลาหู่)  คิดว่าในช่วง ๖ เดือนที่ลงไปเก็บข้อมูลมีประเด็นที่น่าสนใจ ผมพยายามจะนำมาแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอครับ

 


 

 

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

๒๑ กพ. ๕๒

ธรรมศาสตร์,ท่าพระจันทร์

หมายเลขบันทึก: 243696เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2009 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (35)

วันศีล หยุดทำงานและหยุดพักผ่อน ของชาวลีซู เหรอคะ

แล้ว อ.แม่สรวย อยู่จังหวัดอะไรคะ

แวะมาอ่าน เรียนรู้ ขอบคุณค่ะ

มีสิ่งดีๆในทุกๆที่  นะคะ

 

สวัสดียามบ่ายแก่ๆค่ะคุณเอก

ชาวเราน่าจะนำจุดเด่นข้อ 2  และ ข้อ 4  ที่คุณสรุปเบื้องต้นมาปรับใช้ให้มาก  เพราะปัจจุบันสังคมเราละเลยเรื่องเหล่านี้ไปมากเลยค่ะ 

 

        นั่งใต้ต้นประดู่แดง จิบชาตอนเช้า น่าจะดีนะเอก

 

อยากจิบ "ขื่อซายี่เผอะ" บ้าง น่าจะมีวางจำหน่ายที่ 7-11 :)

  • สวัสดีค่ะ
  • วันนี้เข้ามาแว๊บเดียว
  • เดี๋ยวจะเข้ามาอ่านใหม่ในวันพรุ่งนี้
  • (พร้อมกับบันทึกย้อนหลังด้วย...หายไปหลายวัน)
  • คิดถึงจัง คิดถึงนะ

ครู@..สายธาร..@

เดือนหนึ่งๆจะมีวันศีลลีซู ๒ วัน เป็นวันที่ชาวลีซูจะหยุดการงานในไร่ พักผ่อนและหยุดอยู่กับบ้านครับ

หากใครละเมิด ก็ถือว่า "ผิดผี" ต้องมีการขอขมา หรือ เชื่อว่า จะมีเคราะห์ อาจถูกกระทำจากสิ่งที่เหนือธรรมชาติ

ผีกับชาวลีซู ยังผูกติดด้วยกัน แยกไม่ออก ...ถือว่าเป็น จารีต - กฏ ของชุมชนอย่างหนึ่งด้วยครับ :)

ครูแป๋ม

ในผลของการศึกษาประเด็นนี้ ผมคิดว่า จะนำไปประยุกต์เปรียบเทียบกับ กระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดเเย้งในสังคมอื่นๆได้

แต่สิ่งที่เป็นวิกฤติก็คือ "กลุ่มคนที่เราควรเคารพกลับไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดี ดังนั้น เมื่อเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี คนในสังคมก็ไม่ให้ความเชื่อถือ"

และกลุ่มคนเหล่านี้ เป็นใคร? (ส่วนหนึ่ง...)

พระสงฆ์,ครูบา อาจารย์ ,นักการเมือง(สว.,สส)  เป็นต้น..

เรียกอย่างหนึ่งว่า "วิกฤติทางจริยธรรม - คุณธรรม"

 

เห็นวงกินอาหาร..รู้สึกเป็นกันเอง...และกับข้าวน่าอร่อยจังเลย...บรรยากาศ..เป็นมิตรไมตรีและสร้างสรรค์...อยากให้สังคมไทยปัจจุบันในเมืองหลวงเป็นอย่างนี้จังครับ

ประดู่แดง (Phyllocarpus septentrionalis Donn. Smith)

ดูสวยเพลินตาดีจังนะครับ "ประดู่แดง..." ที่สำคัญผมชอบใบของประดู่ที่เขียวสดด้วย สีแดงตัดกับสีเขียว ยิ่งน่าดูชม

จริงๆมองดูก็เป็น สัจธรรมอย่างหนึ่งเหมือนกันนะครับ ของที่ตรงกันข้ามกัน (สี เขียว - แดง) แต่รวมกันก็สวยงาม

เหมือนกับการบริหารความขัดเเย้งก็เช่นเดียวกันครับ ความหลากหลาย การยอมรับ หรือแม้แต่ ความพอดีระหว่างกัน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของความขัดเเย้งแต่กลับเสริมพลังกัน..

...

ประเด็น ประดู่แดง  ทำให้ผมคิดไปไกลเลยครับผม

ขอบคุณพี่แก้วแก้ว..อุบล จ๋วงพานิช 
มากครับ ที่ช่วยจุดประกายความคิด

จิบชาที่ไหนก็ได้ครับ ยกเว้น นั่งจิบใกล้คนหลายใจ...แบบนี้ไม่เอา นะครับ :)

อาจารย์พันคำครับ

"เหล้าข้าวโพด" สุดยอดเลยครับ...ไม่นับดีกรี จุดไฟลุกพรึ่บเลยครับ :)

ผมถือโอกาสนี้ นำเรื่องราวของเหล่าข้าวโพด มาเล่าสู่กันฟังด้วยครับ

-----------------

คัดลอกมาจาก http://www.openbase.in.th/node/1420

ประวัติศาสตร์เหล้าลีซู

ในยุคแรกของการผลิตเหล้าของชนเผ่าลีซู
จะมีขั้นตอนการผลิตเหล้าที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เพียงแต่นำข้าวสาร (ข้าวเหนียว) และข้าวโพดแห้ง ไปแค่น้ำ 1 ข้ามคืน เสร็จแล้วนำมาต้มข้าวเหนียวให้สุก ต้มข้าวเหนียวสุกแล้วต่อด้วยข้าวโพด ต้มข้าวโพดให้เปลือย จากนั้นเอาข้าวโพดที่ต้มสุกแล้วนำไปล้างน้ำแล้วมาผสมกัน หมักไว้ในโอ่งไม้ (ลูทวู) ประมาณ 4-5 เดือน จากนั้นมาตักน้ำที่เกิดจากการหมักข้าวกับข้าวโพดตักกินแต่น้ำ(เหล้า)

ในยุคที่สองของการผลิตเหล้าของเผ่าลีซู
เริ่มมีการนำข้าวกับข้าวโพดที่หมักไว้มาต้ม กลั่นเฉพาะน้ำที่เกิดจากความร้อนมาเป็นเหล้า วิธีนี้สามารถเก็บรักษาเหล้าไว้ได้นาน ไม่ทำให้เหล้าเลื่อมคุณภาพ

ในยุคที่สาม
เป็นการพัฒนาต่อเนื่องมาจากยุคแรกและยุคที่สอง เนื่อจากกระบวนการหมักข้าวและข้าวโพดในทั้งสองยุค ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน กว่าจะหมักข้าวและข้าวโพดได้พอจะกลั่นเป็นน้ำ จึงมีผู้รู้ในด้านการผลิตเหล้าได้ทำการคิดค้นวิธีการย่นระยะเวลาการหมัก ข้าวและข้าวโพดให้สั้นลง

การคิดค้นวิธีนี้ได้มีการทดลองด้วยวิธีต่างๆและหลายๆปี เพื่อช่วยย่นระยะเวลาการหมักเหล้าให้เร็วขึ้น ผู้รู้ด้านยาสมุนไพรได้ทดลองสมุนไพรกับเหล้า สามารถสรรพคุณของยาสมพุนไพรไว้ได้นาน ดังนั้นผู้รู้ด้านการผลิตเหล้า และได้ร่วมมือกับผู้รู้ด้านยาสมุนไพรพื้นบ้าน ได้ทดลองคิดค้นกันการผสมตัวยาสมุนไพรเข้ากับส่วนผสมการทำแป้งหัวเชื้อเหล้า เพื่อให้เหล้ามีคุณสมบัติในการเป็นยาสมุนไพร จนถึงปัจจุบันนี้มีการพัฒนาการผลิตเหล้าสมุนไพรมาเรื่อยๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ชนเผ่าลีซูมีการผลิตเหล้าโพดจะติดบ้านไว้ทุกครัวเรือน และมีความเชื่อว่า"เหล้า" คือ น้ำบริสุทธิ์ เช่น ในกรณีมีแขกมาเยี่ยมบ้าน เจ้าบ้านจะเอาเหล้าออกมาให้แขกดื่ม เพื่อเป็นการแสดงน้ำใจและสื่อถึงความยินดีอย่างยิ่งที่แขกให้เกียรติเดิน ทางไกลมาเยี่ยมถึงบ้าน "เหล้า"จะมีบทบาทต่อสังคมลีซูมาก เพราะเหล้าเป็นสื่อในการติดต่อกับดวงวิญญาณของบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยังมีความสำคัญต่อการความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในสังคมด้วยกัน ยาสมุนไพรสำหรับรักษาการเจ็บป่วยหางกาย จะสังเกตุได้จากการแพทย์พื้นบ้านของชนเผ่าลีซู เหล้านั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญในการรักษาควบคู่กับยาสมุนไพรตัวอื่นๆ เหล้ายังมีคุณสมบัติในการเร่งการออกฤทธิ์ของยาสมุนไพรตัวอื่นๆด้วย

ดังนั้นหมอสมุนไพรลีซูจึงนิยมนำเหล้ามาผสมกับยาสมุนไพร เพื่อรักษาอาการเห็นผลเร็วขึ้น

เรื่องราวของเหล้าข้าวโพด น่าสนใจครับ อ่านต่อได้ที่ http://www.openbase.in.th/node/1420

 

การจัดการความขัดแย้งระดับชุมชน...เป็นวัฒนธรรมเพื่อสงบสุขโดยแท้

น่าสนใจมากครับ...

จองคิวรอติดตามตอนต่อไปนะครับ..

สวัสดีครับ พี่สาว ♥< lovefull >♥


เห็นพี่มาเยี่ยม คิดถึง พี่ชายและหลานๆทุกทีครับ...ช่วงนี้ผมเร่งเขียนบันทึกเหนือ ให้เสร็จก่อนที่จะเดินทางไป มาเลเซีย ผมเชื่อว่าที่โน้นมีประเด็นที่ผมจะนำมาแลกเปลี่ยนอีกมากมาย

ผมมีภารกิจเพื่อชาติที่สำคัญมากๆที่ มาเลเซียครับ :)

ฝากความระลึกถึง พี่ชายและหลานสาวผมด้วยนะครับ

สวัสดีครับ ซาฟิอีย์ จารุวัจน์

กระบวนการการจัดการความขัดเเย้งที่ผม เคยไป นั่งสนทนากับ อาจารย์ ที่ มอย.(ม.อิสลามยะลา)  ประเด็น "สภาชูรอ" จำได้ไหมครับ

ผมคิดว่าประเด็นนี้ เราอาจโยงไปได้

 

สวัสดีครับ อ.พิสูจน์

"กินข้าวกับชาวลีซู"

เอร็ดอร่อยมากครับ (ลำแต้ๆกา)  โดยเฉพาะน้ำพริกกับผักสด ซดกับต้มผักเปื่อยๆ น้ำซุปหวานๆ แค่นี้ก็อร่อยมากๆแล้วครับ การกินง่าย อยู่ง่าย ทำให้เราเพลิดเพลินกับวิถีของลีซูได้ โดยแนบเนียนเลยหละครับ  :)

นอกจากข้าว,กับข้าว แล้วยังแอบมี "ยอดข้าว" วางแอบๆขันโตก นัยว่า ทำให้ทานข้าวได้อร่อยมากยิ่งขึ้น (จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้)    :)

 

น้องขุน ย่ามแดง ครับ..

พี่อ่านข้อเสนอแนะของน้องแล้ว "ปิ้งๆ" เลยครับ ผมคิดชื่อบันทึกนี้ตั้งนานนะครับ ว่าควรให้ชื่ออะไรดี เพราะตามบริบทของเนื้อหาที่นำเสนอแล้ว ประเด็นนี้หนัก ไม่เหมาะสำหรับสมาชิก gotoknow ส่วนใหญ่...

"การจัดการความขัดแย้งระดับชุมชน...เป็นวัฒนธรรมเพื่อสงบสุข"

เป็นหัวข้อที่ขอบอกว่า "ใช่เลย"ครับ

เรียนเป็นยังไงบ้างครับ?? ...เรียนหนัก แต่ขอให้ดูแลสุขภาพด้วยนะครับ :)

16. จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

การเรียนไม่ค่อยมีปัญหาครับ...ทะเลาะกับระบบนิดหน่อย...พอเป็นสีสัน

ตอนนี้อยู่ระหว่างการแสวงหาหัวข้อในการทำดุษฎีนิพนธ์...ครับ

ช่วงนี้อากาศร้อน ๆ หนาว ๆ ต้องปรับตัวมากเอาการ

ระลึกถึงครับพี่...อยากมีโอกาสเข้าคารวะสักครั้ง...อิอิ

พี่เอกมา กทม หรอครับ กลับรึยังครับเนี่ย ไม่ได้เจอตั้งนาน

เยี่ยมบันทึก โดยไร้ซึ่งความเห็น ครับ :) ... อ่านอย่างเดียวครับ

เดินทางไกลอีกแล้วใช่ไหมครับเนี่ย .. 

สวัสดีครับเอก

กลับจาก กทม.แล้วตั้งแต่ 20 ก.พ.

เมื่อวานพา Mr.Weil ไปเยี่ยมชมกะเหรี่ยงเมืองน้อยมา

พูดถึงลีซู ชนเผ่านี้ไม่เหมือนยิว(อิสราเอล)ยิวไม่ชอบให้ใครเอาเปรียบ

ในเวลาเดียวกันก็ไม่ชอบเอาเปรียบใคร ที่เหมือนกันคือ "ความกลัว...ยิวก็กลัว

ลีซู....ก็กลัวถูกไล่ ถูกทำร้าย คงเป็นฝันร้ายจากบรรพบุรุษที่ต้องหนีลงมาอยู่กับคนไทย ทุกอย่างที่ทำไป ส่วนใหญ่ด้วยความไร้เดียงสา "........."

ที่สำคัญคือ ยีเผอะของลีซู โดยเฉพาะทำจากข้าโพด ทำเอานายกระท้อนลุกไม่ขึ้นเลยทีเดียวครับ ฮะ ฮะ ฮะ

สวัสดีคะ คุณเอก

มาติดตามบันทึกคุณเอกคะ

กระบวนการกำจัดความขัดแย้ง ดูเหมือนจะใกล้เคียงกับ ทฤษฎี ที่อ่านคะ

( แวะให้กำลัง ด้วยคะ ...ติดตามอยู่น่ะคะ )

ฐิฏรฐาว์

การบริหารความขัดแย้งของลีซูน่าสนใจ ตรงที่ ลีซูใช้รูปแบบทางการอ้างอิงตามรูปแบบรัฐ แต่ผสมผสานกระบวนการของท้องถิ่นโดยผ่านคณะกรรมการหมู่บ้านที่เป็นผู้อาวุโส ที่ได้รับความไว้วางใจจากชนเผ่า

***        ***       *****       ***        ***

ถ้าทุกหน่วยขององค์กร, สังคม(ตั้งแต่หน่วยย่อยเช่นครอบครัว--->หน่วยใหญ่โตระดับโลก) ใช้หลักการคล้าย ๆ กันนี้ ในการบริหารความขัดแย้ง

 

โลกของเราคงสวยงาม นะคะ

 

น้องย่ามแดง

หากมีโอกาสก็อยากเจอน้องขุนสักครั้งเหมือนกันครับ ...ไปอยู่เหนือไม่รู้ซึมซับอะไรไปบ้าง..??

อยากแลกเปลี่ยนมุมมองครับ...ผมเดินทางไปเชียงใหม่บ่อยๆ ก็เรื่องงานครับ ครั้งต่อไป ก็คิดว่าคงจะขึ้นไปในอีกไม่กี่สัปดาห์ที่จะถึงนี้

:)

เชียร์ เรื่อง ประเด็นหัวข้อดุษฏีนิพนธ์ นะครับ

น้องชาย  น้อง ปืน..บีเวอร์

ดีใจครับ ที่ได้พบปืนในบันทึกของพี่อีก..   :)

เป็นยังไงครับ การงาน...ไม่เห็นมาเขียนเล่าในบันทึกเหมือนเมื่อก่อนเลย..

ผมอยู่ กทม.เป็นส่วนใหญ่นะครับ แต่ก็เดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยๆ เหมือนกัน มีโอกาส มีเวลา เจอกัน ทานข้าวกันนะครับ..

 

อ.Wasawat Deemarn

มาเยี่ยมผมก็ดีใจมากๆแล้วครับ :)  ขอบคุณมากๆครับ

Mr. Kraton Pai

เรื่อง "ยีเผอะ" ลีซูนั้น ขึ้นชื่อมาก ...   :)

ต้องขออภัยที่พี่กระท้อนมาถึง กทม. แต่ไม่ได้ต้อนรับเลย ทั้งๆที่อยู่ใกล้จากที่พักผมมาก...ขอเป็นโอกาสหน้านะครับ..  :)

ประเด็นลีซุ ผมมีเรื่องที่จะเขียนอีกเยอะครับ ส่วนหนึ่งเป้นเรื่องราวของพัฒนาการปัญหาสังคมที่พบเห็นได้ ... ส่วนศักยภาพของชุมชนก็เยอะ เพียงแต่นักพัฒนาจะผลักดันอย่างไร? ตรงนี้ท้าทายดี..

ประเด็นเยาวชน ของลีซู ก็น่าสนใจดีนะครับ..

ขอบคุณมากครับ คุณรฐา

ดีใจครับ ที่คุณรฐาอ่านหนังสือที่ผมส่งไปให้ หากมีหนังสือดีๆผมจะส่งไปให้ได้อ่านอีกนะครับ...

การจัดการความขัดเเย้งนั้น โดยหลักๆผมอยู่ที่การ เจรจา เป็นส่วนใหญ่ ต้องมีคนกลาง หากมีคู่กรณี ๒ ฝ่าย ที่สำคัญทั้งสองฝ่ายต้องเปิดใจด้วยครับ

เราพบความขัดเเย้งนี้มากมายในองค์กร โดยเฉพาะโรงเรียน ครู โรงเรียนระดับประถม มัธยม คุณครูแบ่งเป็นกลุ่ม เป็นก๊ก เท่าที่ผมสัมผัสมา เป็นแบบนี้ ร้อยละ ๘๐ ...(ประสบการณ์ผมเอง) บั่นทอนพลังการพัฒนาเยาวชนมากครับ เพราะเอาครูพลังงานดีๆไปเสียกับการขัดเเย้งกันในองค์กร

คุณรฐาเองเป็น ผู้บริหารคงได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่ว่ามาบ้าง ...เรื่องของการจัดการความขัดเเย้งต้องปฏิบัติในสถานการณ์จริง แล้วถอดบทเรียนออกมาครับ...เพราะแต่ละกรณีมีปัจจัยเงื่อนไข ทางออกที่แตกต่างกัน..

แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับคุณครู

ขอบคุณสำหรับกำลังใจที่มอบให้ผม ทั้ง MSN และ ในบันทึกนะครับ

สวัสดีครับ พี่หมอเล็กภูสุภา

การจัดการความขัดเเย้งเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะครับ แน่นอนว่า หากไร้ซึ่งความขัดเเย้งโลกของเราก็เกิดสันติสุข..

แต่เป็นธรรมดาของความหลากหลายครับ ย่อมเกิดกรณีขัดเเย้ง  ที่น่าสนใจคือ กระบวนการแก้ไขปัญหานั้น เป็นไปด้วย "ปัญญา" หรือไม่? หรือ ใช้ "กำลัง" ที่มีแต่ความสูญเสียและลดทอนพลังของคน องค์กร

ขอบคุณมากครับพี่หมอเล็ก

เรื่องความขัดแย้งนี้หากมีสติ ขันติ เมตตา ย่อมเกิดสิ่งดีใหม่ๆที่ดีขึ้น หลุดจากสภาพเดิม ที่สำคัญทำอย่างไรให้เกิด dialogue ให้ได้ วงน้ำชาเป็นบริบทที่เอื้อต่อการเกิดสุนทรียสนทนานะคะ

อ่านแล้วได้ความรู้มากเลยค่ะ

เคยถกกับอาจารย์ฝรั่งเรื่องความขัดแย้ง -Conflict ว่าคนไทยไม่ชอบความขัดแย้งแต่ชอบประณีประนอม อาจารย์ฝรั่งงง ถามกลับมาว่าทำไมคนไทยจึงคิดว่าความขัดแย้งไม่ดี เพราะเมื่อมีความแตกต่าง เกิดความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา ทำให้มนุษย์ต้องใช้ปัญญาเพื่อหาทางพัฒนาต่อไปโดยใช้ความขัดแย้งเป็นจุดผลักดันความคิด ก็ท่าจะจริงนะคะ หากความขัดแย้งไม่ปรากฏตัว คนที่เหนือกว่าก็นึกว่าตัวเองทำดีแล้ว(หลงตัว หลงทาง) คนที่ถูกกดก็สะสมความเครียดยาวนานจนระเบิดออกมาในที่สุด ในชุมชนการมีช่องทางให้เกิดdialogue อย่างแท้จริงจึงสำคัญยิ่ง

สวัสดีตอนเช้า อาจารย์ ยุวนุช ครับ- - - คุณนายดอกเตอร์

ช่วงหลังผมเข้ามาทำงานในแวดวงของ การจัดการความขัดเเย้งมากขึ้น ผมคิดว่า เป็นโอกาสที่ดีของผมครับที่ได้เรียนรู้ปมของปัญหา และเรียนรู้กระบวนการแก้ไขปัญหาที่หลากบริบทและเงื่อนไข

ผมถือว่าได้พัฒนาตนเองไปด้วย เพรเพราะการจัดการความขัดเเย้ง คงต้องพัฒนาจิตใจ วิธีคิดของตัวเองด้วย เปิดใจให้กว้าง ยอมรับ ปรับตัว และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นบุคคลเรียนรู้

แท้จริงนั้น ความขัดเเย้งเกิดขึ้นได้เสมอ เกิดขึ้นตลอดเวลา รูปแบบหรือวิธีการที่คนหนึ่งคนจะจัดการกับสถานการณ์นั้นก็ต่างกัน วิธีการที่เราสนใจที่สุดคือ สันติวิธี เริ่มจากสันติวิธีโดยวิธีคิดตัวเองก่อน ถึงจะทะลุปัญหาที่เกิดขึ้น (เพราะใจเย็นลงมาก) หากมองในแง่ "ธรรมะ" ก็ใช่ด้วยครับ สันติวิธีเป็นการแยกแยะสาเหตุ ปัจจัย และทำความเข้าใจว่า เป็นเช่นนั้นเอง ยอมรับความจริงของมนุษย์

ส่วนในกระบวนการจัดการความขัดเเย้งในสังคม ก็ยากมากขึ้นเพราะ ความหลากหลายของพื้นฐานคน ส่วนใหญ่ในสังคมจะเป็น "กลุ่มความขัดเเย้ง"ที่ประกอบขึ้นจากปัจเจกที่ขัดเเย้ง การใช้ เวทีสุนทรียสนทนา ก็ยากและท้าทายครับ หากเราไม่สามารถทะลายอคติในใจของทุกคนให้อยู่ในระดับที่ยอมรับซึ่งกันและกันได้

การคุยกันให้มาก การเรียนรู้กันให้มาก ล้วนแต่ใช้เวลา

สำหรับ การเรียนรู้ของผมที่บนดอย ในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ  เราพบว่า มีปัจจัยที่น่าสนใจครับที่เร่งให้กระบวนการสุนทรียสนทนา เกิดเร็วขึ้น นั่นคือ รากของวัฒนธรรม ความไว้เนื้อเชื่อใจผู้อาวุโส ซึ่งคนไทยอาจมีน้อยลง และคนต่างประเทศอาจไม่มีเลย ตรงนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจและนำมาขยายผลต่อ

เราก็ไม่ลืมเรื่องของการผสมผสานนะครับ เพราะเข้าใจดีว่า โลกเปลี่ยนไปมาก หากจะยึดแต่เรื่องเดิมก็ไม่ได้ ต้องเปิดใจรับกระบวนการการจัดการความขัดเเย้งใหม่ๆของสังคมไปด้วย แต่จะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับวิถีเดิมของพวกเขา...เปิดพื้นที่ในชุมชนเพื่อให้เกิดเวทีสุนทรียสนทนามากขึ้น เพื่อลดความรุนแรงและสมานฉันท์ นี่เป็นความสวยงามของกระบวนการที่ผมค้นหา และได้เรียนรู้ในพื้นที่ครับ

เขียนไปเขียนมาชักจะยาวไปเรื่อยๆนะครับ...มีโอกาสต่อไป จะขอนำมุมมองของการจัดการความขัดเเย้งใหม่ๆมาแลกเปลี่ยนกับอาจารย์อีกครับ

ขอบคุณอาจารย์มากครับที่กรุณา

:)

หวัดดีครับเอก

หายไปนานคงนึกถึงพิโลกได้อยู่เนอะ ช่วงนี้ผมเริ่มจะมีเวลา

ทำหัวข้อวิทยานิพนธ์แล้วครับเลยไม่คอยได้เข้ามา ได้อ่านเรื่องแล้วน่าสนใจดีครับ

วันหลังลงพื้นที่ภาคเหนือก็บอกด้วยนะ จาไปเก็บข้อมูลด้วยครับ ฝากความคิดถึงไปถึงเพื่อนอีกคนด้วยนะครับ มาพิโลกก็แวะมานะครับ....คนแถว มน. รออยู่ครับ

สวัสดีครับพี่ประโยชน์

ดุษฏีนิพนธ์ ไปถึงไหนแล้วครับ?

ผมเดินทางไปมา เรียกได้ว่า พิษณุโลกสองแคว เป็นทางผ่านหากสบโอกาสผมคงได้เเวะอีกครั้ง

พื้นที่ภาคเหนือ ผมจะลงในวันใกล้ๆสิ้นเดือนนี้ครับ คราวนี้ ไปกลุ่มชาติพันธุ์ล่าหู่ และ ม้ง  พื้นที่ก็คงที่เชียงรายเช่นเดิม การเดินทางไม่ได้ผ่านสองเเควครับ ผมบินตรงไปลงที่เชียงราย แล้วใช้รถเช่าในการทำงานที่โน่นเลย แบบนี้สะดวกกว่ามากครับ

หากเวลาตรงกัน ...ไปร่วมแจมกันครับผม

สวัสดีค่ะ คุณเอก

เป็นผู้นำ ท่องเวปไปทั่วทุกแว่นแคว้น

สิ่งตอบแทนแสนคุ้มค่าพาผ่องใส

เช้า-ค่ำภาวนาทำให้พ้นภัย

เป็นปัจจัยให้บรรลุสุขาวดี

มีความสุขมากๆนะคะ

สวัสดีครับคุณหมอเอก ผมน้องชาย อรัญ จำได้ไหมครับ ตอนผมเป็นเด็กคุณหมอได้รักษาผม คุณหมอได้แวะไปเยี่ยมเยียนที่บ้านกึ้ดสามสิบบ่อยไหมครับ ตอนนี้คุณหมอทำงานที่ใหนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท