อนาคตการอุดมศึกษาไทย


ขอบันทึกเอาไว้อ่านในอนาคต..ว่าแนวโน้มต่อจากที่มหาวิทยาลัยหลายๆ มหาวิทยาลัยกำลังจะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับกัน..และหลังจากเลือกตั้งวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ผ่านไป ได้รัฐบาลใหม่ รัฐมนตรีศึกษาใหม่...จะีมีนโยบายอะไรมาแก้ปัญหาเหล่านี้บ้างไหม...

สืบเนื่องจากบันทึกต่างๆ ที่ในสมุด นานาสาระกับอุดมศึกษาไทย ที่ได้เขียนเกี่ยวกับปัญหาของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไว้หลายบันทึกด้วยกัน เช่น

วันนี้ได้ย้อนหลังไปอ่านหนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ เห็นบทความหนึ่งของหนังสือพิมพ์มติชนวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๐ ที่ผ่านมาเรื่อง "อนาคตมหาวิทยาลัยของไทย" จะไปทางไหนดี โดย คุณอนันต์ สกุลกิม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เคยเขียนไว้ ก็เลยจะนำมารวบรวมไว้.. ตอนแรกว่าจะไปฝากไว้ที่บันทึกของคุณเบิีร์ิดที่สมุด ของขวัญจากวันวาน » คนไทยจบแค่ชั้นประถม ฯ ? แต่เกรงว่าจะทำให้บันทึกยาวเกินไป เลยมาบันทึกเริ่มใหม่ที่นี่เอง 

โดยเนื้อหาบทความมีใจความโดยสรุปคือ


  • การผลิตบัณฑิตในปัจจุบันเป็นการผลิตเชิงปริมาณ ไม่ใช่เิชิงคุณภาพ

  • มหาวิทยาลัยมีการแข่งขัน(แย่งกัน)รับนักศึกษา มีกลเม็ดในการแข่งขันกันรับนักศึกษาเช่น

    • ให้มอบตัวเป็นนักศึกษาตั้งแต่ ม.๖

    • เปิดสอบโควต้าเร็วกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ

    • ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่มีแนวโน้มว่าจะเรียนดีเป็นการจองตัว

    • ทำโรดโชว์ แนะนำมหาวิทยาลัยไปตามโรงเรียน

  • ไม่มีคนเรียนวิชาชีพครู หรือสายวิทยาศาสตร์ มีแต่คนนิยมเรียนแพทย์กับวิศวกรรมศาสตร์

  • จำนวนโรงเรียนในระดับการศึกษาพื้นฐานมีลดลง แต่มีมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น

  • ผลลัพธ์คือประเทศ ขาดครู กับขาดบุคลาการสายวิทยาศาสตร์

  • มหาวิทยาลัยควรปรับตัวอย่างไรเพื่อการอยู่รอด

    • เปิดรับนักศึกษาในสาขาที่มีค่านิยมสูง เพื่อความอยู่รอด

    • หานักศึกษาจากต่างประเทศมาเรียนเพิ่มขึ้น


ขอบันทึกเอาไว้อ่านในอนาคต..ว่าแนวโน้มต่อจากที่มหาวิทยาลัยหลายๆ มหาวิทยาลัยกำลังจะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับกัน..และหลังจากเลือกตั้งวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ผ่านไป ได้รัฐบาลใหม่ รัฐมนตรีศึกษาใหม่...จะีมีนโยบายอะไรมาแก้ปัญหาเหล่านี้บ้างไหม

หมายเลขบันทึก: 154932เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2007 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

 สวัสดีค่ะ

P


เห็นด้วยที่อาจารย์จะบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ค่ะ

ที่พี่กังวล คือ ปัญหาคุณภาพทางการศึกษาก็เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง

 อันที่จริง มีการพบกันว่ามาตรฐานของมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆ หลายประเทศทั่วโลกนั้นต่ำลง อาจจะเป็นเพราะการ privatize มหาวิทยาลัยหรือเปล่าไม่ทราบค่ะ

แต่สำหรับเมืองไทย  มหาวิทยาลัยไทยยังไม่สามารถสร้างความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองให้แก่บัณฑิตได้ดีนัก แม้แต่นิสัยรักการเรียนรู้ ในการศึกษาเราก็ดูจะมีน้อย นานๆจะมีคนเก่งจริงๆ มาให้ชื่นชมอยู่บ้าง แต่เรื่องนี้ ไม่ใช่ความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยแต่ฝ่ายเดียวค่ะ

และการวิจัย (ซึ่งควรเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย) ในมหาวิทยาลัยไทยยังมีน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น

แต่ถ้าจะออกนอกระบบ   การประเมินคุณภาพของบุคลากรและตัวมหาวิทยาลัยเอง เห็นว่า จะมีการใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการทำงาน ทำให้งานวิจัยเริ่มได้รับความสนใจทั้งจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยและอาจารย์มากขึ้นๆนะคะ

ที่ผ่านๆมา ก็เห็นที่ ม.มหิดล ที่ทำวิจัยไว้มาก

และที่โรงเรียนมัธยมและประถมของราชการบางแห่ง ก็เริ่มมีการประเมินคุณภาพสถาบันและอาจารย์แล้วเหมือนกันค่ะ

  • คุณภาพ การศึกษา น่าแก้ไข
  • จะโทษใคร กันหนอ ขอเล่าขาน
  • ชั้นประถมศึกษา ว่ารำคาญ
  • อนุบาล สอนเด็ก เล็กไม่ดี
  • มัธยมศึกษา ว่าเสียงขรม
  • ชั้นประถม เด็กปัญญา ช้าเหลือที่
  • มหาวิทยาลัย ไม่รอรี
  • บอกเดี๋ยวนี้ มัธยม ล้มเหลวมา
  • บริษัท ห้างร้าน หน่วยงานราช
  • บอกอนาถ คุณภาพ นักศึกษา
  • ว่าจบจาก มหา..ลัย แห่งใดมา
  • อนิจจา โทษกัน ให้ลั่นไป

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์ (sasinanda)

สำหรับตัวเองแล้วไม่คิดว่าการ privatization นั้นจะทำให้คุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นลดลงหรอกค่ะ แต่สำหรับสถานการณ์ตอนนี้คิดว่าการเปลี่ยนมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของแต่ละที่นั้นมีการเตรียมการน้อยเกินไป ไม่มีการชี้แจงให้ทุกฝ่ายเข้าใจข้อดี ข้อเสียกันตรงๆ  เมื่อภาพอนาคตไม่ชัดเจน  แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ได้แต่ร้องปฏิเสธหรือต่อต้านกันเยอะน่ะค่ะ อันนี้เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารไม่สามารถทำให้ stakeholders มั่นใจได้ว่าเปลี่ยนแล้วคุณภาพการศึกษาจะดีขึ้นและดีขึ้นอย่างไร

้้

เห็นด้วยกับคุณพี่เป็นอย่างมากค่ะเรื่องตัวชี้วัดที่เป็นงานวิจัยในมหาวิทยาลัย ม.มหิดล เป็นตัวอย่างที่ดีมากในเรื่องนี้  แต่การทำงานวิจัยก็คงไม่เหมาะเป็นตัวชี้วัดสำหรับทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทยในขณะนี้ค่ะ  บางมหาวิทยาลัยเน้นการผลิตสิ่งประดิษฐ์มากกว่า อย่างเช่น สจพ. ซึ่งบางทีในวงวิชาการก็ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นงานวิจัยมากนักน่ะค่ะ  อย่างมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดก็คงต้องมีบางมหาวิทยาลัยที่เน้นให้ความรู้คู่การปฏิบัติกับชาวบ้านในชุมชน..จะทำงานวิจัยที่ต้องใช้เครื่องมือ และลงทุนสูงแบบก็คงยากน่ะค่ะ

สรุปแล้วตัวเองยังเห็นว่าต้องมีการประเมินศักยภาพบุคลากร และองค์กรในภาพรวม แต่ทำในแง่สร้างสรรค์ เพื่อหาจุดอ่อนมาพัฒนาให้สอดคล้องกับเป้าหมายและพันธกิจของแต่ละมหาวิทยาลัย..ดังนั้นตัวชี้วัดในการประเมินศักยภาพของแต่ละมหาวิทยาลัยก็ควรแตกต่างกันไปด้วย...  แต่ก็นั่นแหละค่ะ เท่าที่เห็นระบบประเมินในปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นระบบประเมินที่ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงมากนัก..ยังเป็นระบบประเมินที่ดูแต่ตัวเลขผลผลิต ไม่ได้ดูคุณภาพเท่าใดนักค่ะ

ขอบคุณคุณพี่ที่แวะเข้ามา ลปรรเสมอนะคะ

สวัสดีค่ะ อ.พิสูจน์ 

สำหรับ ตัวเองแล้วไม่อยากโทษใครเลยค่ะ สุดท้ายแล้วคิดว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องหันกลับมามองตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นตัวเด็กเอง พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ผู้บริหารโรงเรียน มหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาและรัฐบาล ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรม  รวมถึงสื่อต่างๆ ที่มีแต่การนำเสนอค่านิยมบางอย่างที่ทำให้วัฒนธรรมดีๆ บางอย่างหายไป

ตัวเองมองว่าปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาของทุกคนจริงๆ เป็นปัญหาของประเทศชาติ..  ถ้าเปรียบการศึกษาเป็นการทำการเกษตร ตอนนี้พื้นที่ทำการเกษตรก็ไม่ค่อยมี ดินที่มีก็ไม่เหมาะกับการทำการเกษตรเท่าใด ต้องปรับปรุงมาก น้ำท่าบางครั้งก็ไม่ค่อยดี เมล็ดพันธ์บางส่วนก็อ่อนแอ ชาวนาชาวสวนบางคนก็มีความรู้น้อย..บางคนก็ไม่ค่อยขยันอีกต่างหาก ผู้บริโภคบางส่วนก็ไม่ค่อยเข้าใจ... 

สรุปแล้ว..ไม่มีใครได้อะไรดีๆ สักเท่าไหร่ในภาพรวมเลยค่ะ... ดิฉันบ่นอีกแล้ว ^ ^'  แต่มันก็เป็นมุมมองที่ดิฉันเห็นจริงๆ ... อย่างน้อยก็ได้แต่คิดเชื่อในกฎแห่งกรรมค่ะ ทำอย่างไรได้อย่างนั้น.. เพราะฉะนั้นถ้าเราทำดีไว้มากๆ สักวันต้องออกดอกออกผลดีค่ะ จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ที่เข้ามาเขียนกลอนเพราะๆ เตือนใจกันนะคะ ^ ^ 

 

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในมุมมองเล็ก ๆ  ดังต่อไปนี้ครับ

  • ปัญหา 
    2. เราผลิตผู้เรียนเพื่อเป็น "ทาสระบบทุนนิยม" โดยให้กลไกการตลาดมาตัดสินนโยบายการจัดการศึกษา มองผิวเผินในมุมมองสถาบันดูคล้าย ๆ จะคล่องตัวและพัฒนาเร็วดี .. แต่หลงลืม สิ่งดี ๆ ง่าย ๆ และสำคัญหลายประการ เช่น ทำอย่างไร ผู้เรียนจะเห็น นิพพาน
  • ทางแก้ ขอยกตัวอย่างวิธีคิดของเยอรมนี มาเป็นกรณีศึกษา ครับ.. เขามีระบบการศึกษา ที่มีวิธีคิดเบื้องหลังว่า 
    .. ใช่ว่า คนทุกคนจะสามารถเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยได้ แต่ช่างซ่อมรถ ก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไม่น้อยไปกว่าอาชีพอื่น ๆ ..
    หมายความว่า เขาเอาการพัฒนาสังคมและประเทศชาติเป็นตัวตั้ง แล้วออกแบบว่า จะผลิตอาชีพอะไร จำนวนเท่าใด เหมือนกับ ภาพ Jigsaw การพัฒนาเต็มภาพ แล้วก็ผลิตให้ได้ตามภาพใหญ่นั้น .. ถึงแม้ในความเป็นจริง อาจได้รับผลกระทบจากความนิยมของสาขาวิชาบ้าง ในสาขาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศแต่มีผู้นิยมเรียนน้อย รัฐก็จะให้การส่งเสริมในการจัดการศึกษาทั้งสถาบัน และตัวบุคคล
  • แค่นี้ก่อนนะครับ เดี๋ยวจะเกินงาม

ไม่เกินงามแต่อย่างใดหรอกค่ะุคุณนิโรธ

ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าการผลิตบัณฑิต ไม่จำเป็นต้องผลิตให้เป็นวิศวกรหรือแพทย์กันทุกคน  ทุกๆ อาชีพมีความสำคัญกันทั้งนั้น  ดิฉันค่อนข้างจะสนับสนุนให้คนเรียนอาชีวะศึกษากันมากๆ ด้วยซ้ำ ไม่ค่อยสนับสนุนให้เรียนโท หรือเอก กันไปหมด เพราะรู้สึกว่าการเรียนโทหรือเอก ไม่ได้รับประกันว่ามีปริญญาบัตรมากขึ้น สูงขึ้นแล้วจะทำให้ทำงานดีขึ้นเสมอไป

น่าเสียดายที่ค่านิยมปัจจุบันของคนไทยไม่นิยมการเรียนในสายอาชีวะสักเท่าไหร่ ถึงรัฐจะสนับสนุนมากๆ ในตอนนี้ คนที่จะมาเรียนก็จะเป็นคนที่ขาดเงินทุนและโอกาสในการเรียนมัธยมปลาย แต่มาเรียนอาชีวะเพื่อการประกอบวิชาชีพ.. ไม่ได้มาเพราะใจรักในอาชีพนั้นๆ..ดิฉันว่าต้องเปลี่ยนค่านิยมกันในภาพรวมเลย..ต้องให้มีแนวคิดคล้ายกับที่คุณนิโรธยกตัวอย่างของประเทศเยอรมนีไว้น่ะค่ะ

สำหรับปัญหาที่บอกว่าเราผลิตผู้เรียนเพื่อเป็น "ทาสระบบทุนนิยม" นั้น ดิฉันคิดว่าตั้งแต่เด็กคนหนึ่งเกิดมา ยังไม่ต้องเข้าโรงเรียน ก็ถูกเลี้ยงให้อยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมแล้วล่ะค่ะ เพราะพ่อแม่ ผู้ปกครองก็อาศัยอยู่ในระบบทุนนิยมอยู่ตลอด เด็กจะโตมากับการแข่งขันเพื่อเกรด ไม่ได้แข่งขันเพื่อรู้.. สังคมและพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็มองงานเกษตร งานอาชีวะ เป็นงานที่ลำบาก ค่าตอบแทนต่ำ ไม่มีเกียรติ..เด็กๆ ก็จะซึมซับสิ่งเหล่านี้ตลอด...สุดท้ายก็เป็นค่านิยมอย่างที่เห็นเนี่ยแหละค่ะ

ส่วนเรื่องทำอย่างไรผู้เรียนจะรู้จักนิพพานนั้น..ถ้าจะให้ดิฉันตั้งเป้าตอนนี้คงเอาแค่ให้นักศึกษารู้จักอิทธิบาท ๔ และรักษาศีล ๕ ไว้เป็นหลักก่อนค่ะ ถ้าปฏิบัติศีล ๕ ได้ รู้จักไตรลักษณ์ ..การศึกษาและทำความเข้าใจนิพพานก็คงจะมาได้เอง..ไม่ต้องสอนค่ะ 

ขอบคุณที่เข้ามา ลปรร นะคะ 

สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์อันสำคัญในขณะนี้ก็คือการเปิดรับนิสิตเข้าสู่กระบวนการทางการศึกษาอย่างล้นหลาม   ในบางสถาบัน  โดยเฉพาะที่ผมคุ้นเคยเห็นแผนชัดเจนว่าต้องการรับนิสิตเพิ่มขึ้นทุกปี  ...  และกระบวนการของการเข้ามาก็ดูจะไม่เข้มข้นนัก  โดยเฉพาะการเปิดรองรับในระบบ "พิเศษ"  แต่พอเข้ามาเรียน  กลุ่มที่มาในโควตาปกติก็มาเรียนปนกับกลุ่มมาในระบบ "พิเศษ"  ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจารย์ผู้สอนต้องปรับฐานนิสิตอย่างยกใหญ่ ...

........

การรับคนจำนวนเข้ามามาก ๆ   ผลพวงที่กระทบอย่างเห็นได้ชัดก็คือ  หอพักในมหาวิทยาลัยไม่เพียงพอที่จะรองรับนิสิต   โดยเฉพาะนิสิตชั้นปีที่ 1  ก็ไม่สามารถเข้าพักในหอพักของมหาวิทยาลัยได้อย่างพอเพียง  หลายคนต้องออกไปอยู่หอพักข้างนอก  ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตอยู่ค่อนข้างมาก   ทั้ง ๆ  ที่ในระยะต้น ๆ นั้นการพักอาศัยในมหาวิทยาลัยมีความสำคัญต่อการปรับตัว, เรียนรู้ชีวิตใหม่อย่างมหาศาล ....

กรณีดังกล่าว  บางสถาบันถึงกลับไปกู้เงินจากเอกชนมาสร้างหอพักเพื่อรองรับนิสิต  จากนั้นก็เรียกเก็บเงินค่าหอพักส่งคืนให้เอกชนเป็นรายปี   รวมถึงการประสานหอพักภายนอกมหาวิทยาลัยเข้าสู่การเป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัย  เพื่อให้นิสิตได้เข้าไปพักอาศัย  

กรณีหอพักเครือข่ายนั้น  มองในภาพรวมก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี   แต่ปัญหาตามมาก็คือ มาตรฐานที่ยังไม่เป็นไปตามนโยบายอันแท้จริงของมหาวิทยาลัย  ซึ่งมหาวิทยาลัยเองก็ขาดการติดตามประเมินอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

.............

ประเด็นการเปิดสอนเป็นวิทยาเขต  หรือศูนย์ตามจังหวัดต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่น่าขบคิด   โดยเฉพาะการเปิดศูนย์ข้ามข้ามภูมิภาคนั้นเห็นได้ชัดว่าเริ่มที่จะ "ปักธง"  กันแพร่หลายมากยิ่งขึ้น   ยังผลให้สถาบันการศึกษาในท้องถิ่นก็พลอยลำบากกับกระบวนการแข่งขันนี้ไปด้วย

ศูนย์บางศูนย์ใช้โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดในการเรียนการสอน  ผมไม่ปฏิเสธเรื่องการเรียนรู้ด้วยตนเองในระบบต่าง ๆ  แต่ภาพพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้บริการห้องสมุดของผู้เรียนก็ดูจะไม่สมบูรณ์นัก

.........

สวัสดีค่ะน้องแผ่นดิน

เรื่องการรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี โดยระดับความเข้มข้นในการคัดเลือกลดลงที่เราพบเห็นคงไม่แตกต่างกันนักค่ะ   ที่ต่างก็คงมีในเรื่องประสบการณ์เรื่องหอพัก เพราะที่สจพ.ยังไม่มีหอพักใน  แต่กำลังสร้างอยู่ในพื้นที่อันจำกัดมากๆ ของสถาบัน..กำลังรอดูว่าหลังสร้างแล้วเอานักศึกษามาอยู่ในรั้วแคบๆ จำนวนมากๆ แล้วจะเำิกิดอะไรขึ้นเหมือนกันค่ะ

ก่อนหน้านี้ก็มีการประสานกับหอพักรอบๆ รั้วสถาบัน..แต่รู้สึกว่าการสร้างเครือข่ายจะไม่ประสบความสำเร็จ ก็เลยมาทำเอง..ไม่รู้ว่าแย่ลงหรือดีขึ้น.. ก็คงมีทั้งจุดดีและเสียค่ะ

สำหรับการกระจายการศึกษา การส่งเสริมการศึกษาโดยการมีศูนย์เรียนต่างจังหวัดนั้น มองด้านหนึ่งพี่ก็เห็นด้วยหากศักยภาพของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ยังไม่มีเพียงพอ แต่ตอนนี้อาจจะไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว..   ดูเ้หมือนว่าการกระจายการศึกษากับคุณภาพการศึกษาจะุสวนทางกันในยุคปัจจุบันนะคะ

สำหรับความเห็นส่วนตัว พี่คิดว่าคงต้องเริ่มปรับปรุงกระบวนทัศน์กันใหม่ทั้งหมด รวมถึงต้องมีการปรับทัศนคติให้เห็นคุณค่าของทุกวิชาชีพ ไม่ใช่เฉพาะบางวิชาชีพ ต้องส่ิงเสริมคุณธรรม จริยธรรมให้กับเด็กๆ มากๆ ในทุกระดับ..มิเช่นนั้นการปรับทัศนคติให้มีความพอเพียง ให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้มีการลงทุนทำเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามสมควร (ไม่ใช่อยากได้แต่ไม่ค่อยอยากลงทุน หรือใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม) หรือเน้นการให้มากกว่าการครอบครอง คงเกิดขึ้นไม่ได้ค่ะ 

ขอบคุณน้องแผ่นดินที่เข้ามา ลปรร นะคะ 

  • มาอวยพรปีใหม่ครับ
  • ขอให้อาจารย์มีความสุขมากๆๆในปีใหม่นะครับผม

ขอบคุณค่ะ อ.ขจิต ^ ^

ขอให้น้องมีสุขภาพแข็งแรง ทั้งกายและใจ และประสบความสำเร็จในการศึกษาตามที่มุ่งหวังนะคะ 

สวัสดีปีใหม่ครับ ... อาจารย์กมลวัลย์

  • แวะมาแปะบันทึกของอาจารย์ไว้ก่อนนะครับ
  • เรื่องยาวอีกแล้วล่ะครับ อาจารย์ :)
  • ปีหน้าแวะมาหาอาจารย์แน่นอนครับ

บุญรักษา อาจารย์ครับ :)

สวัสดีค่ะอาจารย์ Wasawat Deemarn

ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันไว้ก่อนค่ะ ไม่ว่าปีนี้ ปีไหน ก็ทักทายกันได้ค่ะ ^ ^

สวัสดีปีใหม่ค่ะ 

สวัสดีปีใหม่ค่ะคุณหมอชอบวิ่ง

ขอให้คุณหมอและครอบครัวมีความสุข สุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้นไปนะคะ

ขอบพระคุณที่แวะมาอวยพรค่ะ  ^ ^

ถ้าอุดมศึกษา ตามชื่อเรียกก็จะดี

แต่ถ้าไม่อุดม นี่ควรจะเรียกชื่อใหม่ว่า

สถาบัน เกือบ อุดมศึกษา อิอิ

สวัสดีค่ะพ่อครู

ส่วนตัวแล้วคิดว่าการอุดมศึกษาไทยนั้นไม่ค่อยอุดมสมชื่อสักเท่าไหร่ค่ะ

ฝรั่งเขาใช้คำว่า Higher Education กับการอุดมศึกษา สงสัยจะต้องเปลี่ยนเป็น Almost-a-higher Education เสียแล้วค่ะ เวลาไปลอกเขามาก็แบบนี้แหละค่ะ ลอกวิธีการได้ เช่น เรียน ๔ ปี กี่หน่วยกิต เรียนอะไรบ้าง ฯลฯ แต่ลอกปรัชญาได้ยาก เพราะคนเรียนมีนิสัยและวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน

ตอนนี้ได้ข่าวว่าแถวๆ ยุโรปซึ่งเคยมีระบบการเรียนที่หลากหลาย จะพยายามทำระบบการอุดมศึกษาให้เป็นมาตรฐาน (เหมือนคนอื่น) เพื่อที่คนจะได้ข้ามไปทำงานในหลายๆ ประเทศหลายๆ ที่ได้มากขึ้นโดยไม่ต้องแปลงคุณวุฒิ  ไปๆ มาๆ ก็เอากฎเดียวกันมาใช้กับคนทั้งโลก...มันจะไหวหรือนีั่่ T_T

มีความรู้สึกเหมือนว่า..เขาว่าโลกเราพัฒนาขึ้นแล้ว..แต่ทำไมเรารู้สึกว่ามันถอยหลังเข้าคลองเสียทุกทีก็ไม่รู้แล้วค่ะ

บ่นไปเรื่อยๆ อีกแล้วค่ะพ่อครู.. ^ ^ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท