คนชอบวิ่ง


รองนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก
เทศบาลนครพิษณุโลก
Username
shantrakul
สมาชิกเลขที่
17770
เป็นสมาชิกเมื่อ
เข้าระบบเมื่อ
-
(ไม่มีตั้งแต่ พ.ศ. 2564)
ประวัติย่อ
ตำแหน่งหน้าที่ในอดีต
  • ศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลพุทธชินราช
  • ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรวมแพทย์พิษณุโลก
  • ประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก
ปัจจุบัน 
  • รองนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก

แนะนำตัว

ผู้เขียนเล่นกีฬาตั้งแต่เด็ก เป็นนักกีฬายูโดของมหาวิทยาลัย ระยะหลังก็ออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ( เคยลงวิ่งระยะทาง 10 กม. ประมาณ 30 ครั้ง 21 กม. ประมาณ 15 ครั้ง ไตรกีฬา 2 ครั้ง แต่เป็นประเภทวิ่งให้จบการแข่งขันได้เหรียญหรือประกาศนียบัตรเป็นที่ระลึก ไม่เคยได้รางวัลอะไรกับเขาหรอก )ช่วงอายุประมาณ 46 ปีก็หันเหชีวิตจากศัลยแพทย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอกชนมาเป็นนักการเมืองท้องถิ่น รับตำแหน่งเทศมนตรี ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นรองนายกเทศมนตรี ท่านนายกเทศมนตรีก็มอบหมายให้ดูแลงานด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สวัสดิการสังคมมาตลอด 12 ปี
ช่วงที่มาทำงานการเมืองท้องถิ่นก็ทำงานเพลิน งานภารกิจค่อนข้างมาก ก็เริ่มห่างเหินสนามวิ่ง จนไม่ออกกำลังกายเลยเป็นเวลา 10 ปี น้ำหนักตัวก็เพิ่มจาก 68 กิโลกัมมาเป็น 90 กิโลกรัม สุขภาพก็เริ่มแย่ลง เหนื่อยง่าย เป็นหวัดบ่อย รู้สึกไม่ค่อยคล่องตัว ( คล่องตัวก็บ้าแล้ว น้ำหนักปาไปขนาดนั้น ) ไปตรวจสุขภาพปรากฏว่าความดันโลหิตก็เริ่มจะสูง ไขมันในเลือดก็สูง
อยู่มาวันหนึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วก็คิดได้ว่าถ้าปล่อยตัวอย่างนี้ต่อไปคงจะแย่แน่ ก็ไปซื้อรองเท้าแล้วเริ่มออกกำลังกายใหม่ ช่วงนี้ก็จะค้นคว้าเรื่องการลดน้ำหนักค่อนข้างมาก ทั้งอ่านหนังสือและค้นจากอินเตอร์เน็ตทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพราะสนใจและต้องการลดน้ำหนักตัวด้วย ปรากฏว่าบทความที่ดีๆเกี่ยวกับการลดน้ำหนักตัวค่อนข้างน้อย ส่วนมากก็จะโฆษณาขายยาลดน้ำหนัก ขายอาหารเสริม ขายอุปกรณ์หรือวิธีแปลกๆ
จากการศึกษาก็ปรากฏว่า การลดน้ำหนักตัวที่จะได้ผลก็ต้อง
1. ควบคุมอาหาร คือค่อยๆลดปริมาณอาหารลงทีละน้อย
2. การออกกำลังกาย
3. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่นลดการทานขนมหวาน เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟท์ ไม่ทานของจุกจิก ฯ
นอกจากนี้ต้องมีการวางแผน ว่าต้องการลดน้ำหนักตัวเท่าไรภายในระยะเวลาที่กำหนด บันทึกการปฏิบัติ เช่นการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม น้ำหนักตัวอย่างต่อเนื่อง มีการประเมินผลว่าทำได้ตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได่เกิดจากสาเหตุอะไร จะแก้ไขอย่างไร ( ทำเหมือนการวางแผนทำงานเลย ) จึงจะได้ผลดี
หลังจากใช้เวลา 2 ปี ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ( ส่วนใหญ่จะเป็นการวิ่ง จักรยานและยกน้ำหนัก อาจมีว่ายน้ำบ้าง ) และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ขณะนี้น้ำหนักตัวก็ลดมาเหลือ 72 กิโลกรัม ร่างกายแข็งแรงขึ้นมาก สามารถวิ่งระยะทาง 10 กิโลเมตรได้ รู้สึกสนุกและมีความสุขกับการได้ออกกำลังกาย ไม่มีความรู้สึกว่าการออกกำลังกายเป็นภาระ เป็นอะไรที่น่าเบื่อ ต้องทนหรือแข็งใจทำ แล้วก็เริ่มทำโครงการชักชวนผู้คนมาออกกำลังกายด้วยการพูดในกลุ่มเล็กๆ กลุ่มละ 30-40 คน นอกจากนี้ยังเริ่มเปิดคลินิกลดน้ำหนักตัวเป็นการทดลองเพื่อพัฒนาวิธีการ หลักสูตร รวมทั้งเอกสารทางวิชาการ แบบรายงานต่างๆที่ต้องบันทึก ใช้ชื่อคลินิกหุ่นดี ทำไปแล้ว 2 รุ่นได้ผลดีพอสมควร ส่วนใหญ่ผู้เข้าโครงการจะลดน้ำหนักได้เฉลี่ยประมาณ 3-5 กิโลกรัมภายในเวลา 6 เดือน ปัจจุบันกำลังพัฒนาเพื่อให้สามารถเข้าโครงการได้ผ่านทาง เว็บไซต์ คงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง
วันหนึ่งก็ได้เพื่อนใหม่ น่ารักและใจดีมาก ชักชวนให้เขียนบทความที่เป็นประโยชน์ โดยอาสาจะช่วยเหลือให้ตอนเริ่มต้น ตอนหลังทราบว่าเพื่อนก็ไม่ค่อยออกกำลังกายเพราะบ้างาน ก็เกิดแรงบันดาลใจให้เขียนบทความด้วยความหวังว่าอาจจะทำให้เพื่อนสนใจมาออกกำลังกาย และอาจมีประโยชน์กับคนอื่นๆด้วย

ประวัติการทำงาน

ผู้เขียนเริ่มเข้าวงการการเมืองท้องถิ่นด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองพิษณุโลก เมื่อปี 2538 ได้รับเลือกตั้งยกทีมเข้ามาทำงานรับใช้พี่น้องชาวเทศบาลเมืองพิษณุโลก ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกสภา ฯ ด้วยกันให้ดำรงตำแหน่งเทศมนตรี ท่านนายกเทศมนตรีก็ได้มอบหมายให้ดูแลกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมกับกองสวัสดิการสังคม
หลังจากนั้นก็ได้รับเลือกตั้งยกทีมอีกสองสมัยและก็ยังได้รับมอบหมายให้ดูแลงานเดิมตลอดมาจนปัจจุบันก็เกือบ 12 ปีแล้ว ( ครั้งสุดท้ายเป็นการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรง เลยเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นรองนายกเทศมนตรี แต่ก็ยังรับผิดชอบงานเดิม )
งานด้านหนึ่งที่รับผิดชอบก็คืองานด้านการจัดการขยะมูลฝอย เมื่อเข้ามาทำงานใหม่ๆก็มีปัญหาค่อนข้างมาก ไม่มีที่ทิ้งขยะเพราะที่ทิ้งขยะเดิมถูกชาวบ้านใช้ปืนปิดก่อนเข้ารับตำแหน่งไม่นาน ( ไม่ปิดก็ไม่ไหวแล้วเพราะต้องตั้งสำรับ นั่งกินข้าวกันในมุ้ง เแมลงวันตอมหัวตอมหู แถมยังเหม็นอีกต่างหาก ) ไม่มีความรู้เรื่องการจัดการขยะมูลฝอยเลย การหาความรู้เรื่องนี้ก็ลำบาก หาคนรู้เรื่องจริงๆก็ไม่ค่อยจะมี
วันไหนมีเวลาว่างจะนั่งรถตรวจตามถนนสายต่างๆ ดูปัญหาและการทำงานของทีมงาน ว่ารถขยะแต่ละคัน ออกทำงานกี่โมง เก็บเส้นทางไหน ใช้เวลาเท่าไร กลางคืนถ้าว่างก็ออกตรวจเพราะมีการทำงานตอนกลางคืนด้วย ที่บ้านก็ขำ บอกว่าเป็นหมอผ่าตัดอยู่ดีๆไม่ชอบ ชอบออกมาเก็บขยะ ลูกๆถามว่าพ่อทำงานอะไรเพราะต้องกรอกประวัติของผู้ปกครองในสมุดประจำตัวของนักเรียน บอกว่าเป็นแพทย์ลูกก็ไม่ยอมกรอกลงไป บอกว่าไม่เห็นพ่อเป็นหมอเลย เห็นคอยแต่เก็บขยะอยู่ อาชีพอะไรแน่ ( เวรกรรม )
ปรึกษาท่านนายกเทศมนตรี ท่านก็แนะนำว่าคงต้องหาคนเก่งๆหรือผู้เชี่ยวชาญมาช่วย ถ้าในเมืองไทยหายากก็ใช้จากต่างประเทศก็ได้ พอดีตอนนั้นได้เริ่มโครงการก๊าซชีวภาพที่โรงฆ่าสัตว์ของเทศบาล คือน้ำเสียของโรงฆ่าสัตว์จะนำไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพนำมาใช้ต้มน้ำใช้ลวกสุกรก่อนจึงจะนำน้ำเสียที่เหลือไปบำบัดอีกครั้ง ก็เลยประสานงานกับ GTZ ซึ่งป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคของสหพันธรัฐเยอรมัน การติดต่อประสานงานใช้เวลาประมาณ 2 ปี ก็ได้เริ่มโครงการ ชื่อโครงการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเมืองพิษณุโลก โครงการนี้ก็จะได้ความช่วยเหลือแต่เฉพาะด้านเทคนิคและวิชาการ ไม่ยอมช่วยด้านการลงทุนเลย ขอรถขยะสักคันก็ไม่ให้ แต่จะสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าวิจัยเรื่องที่เกี่ยวข้อง สามารถขอผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆได้ แถมยังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการโครงการนี้อีกด้วยจนถึงปัจจุบัน
จากการทำงานด้านนี้มา 12 ปี ได้ไปศึกษาดูงานในหลายประเทศ มีประสบการณ์ตรงจากการทำงาน เลยนำเอาเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าสู่กันฟัง เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน หวังว่าคงจะเกิดประโยชน์บ้างนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท