คุณภาพมหาวิทยาลัย ... ในสายตาของ สมศ.


ไม่ว่าผลการประเมินจะเป็นอย่างไร ดิฉันคิดว่าการประเมินโดยหน่วยงานภายนอกนั้นเป็นสิ่งที่ดี เป็นภาพสะท้อนที่เปรียบเทียบเรากับหน่วยงานอื่นๆ ..

สืบเนื่องจากที่เคยเขียนบันทึกในเรื่อง อุดมศึกษาไทย...ตกต่ำ วันนี้มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มานำเสนอ โดยนำข้อมูลมาจากหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2550 ซึ่ง ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการ สมศ. ได้ให้สัมภาษณ์และรายงานผลความคืบหน้าการประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัยรอบที่ ๒ ไว้ โดยเกณฑ์ที่ สมศ. ใช้ในการประเมินมี ๗ มาตรฐาน ดังนี้ <blockquote>

๑.คุณภาพบัณฑิต

๒.การวิจัย และงานสร้างสรรค์

๓.การบริการวิชาการ

๔.การทำนุบำรุงศิลปะ และวัฒนธรรม

๕.การพัฒนาองค์การ และบุคลากร

๖.การบริหารหลักสูตร และการเรียนการสอน และ

๗.ระบบการประกันคุณภาพ

</blockquote><p>หากต้องการทราบรายละเอียดของตัวบ่งชี้ สามารถดูข้อมูลรายละเอียดได้ที่นี่ (ศูนย์เครือข่าย สมศ.ที่ ม.นเรศวร) ส่วนข้อมูลแนวคิด การดำเนินงานในการประเมินคุณภาพนี้ สามารถดูได้ที่นี่ </p><p>ผลการประเมินรอบที่ ๒ นี้พบว่ามีมหาวิทยาลัยผ่านประเมิน ๑๒๔ แห่งจากทั้งหมด ๒๖๐ แห่ง คิดเป็นร้อยละ ๔๗.๖๙ โดยมีรายละเอียดและสัดส่วนการได้รับการรับรอง หรือรับรองแบบมีเงื่อนไข ซึ่งจะต้องรอประเมินเพิ่ม และ ไม่ผ่านการรับรองดังนี้</p><p>สัดส่วนการรับรอง </p><p>ดิฉันว่าแต่ละท่านก็คงวิเคราะห์กันได้นะคะ หากว่ากันตามเกณฑ์ปัจจุบันของ สมศ. แล้ว มหาวิทยาลัยในกลุ่มใดนั้นวิกฤตที่สุด อย่างไรก็ดี ควรอ่านรายละเอียดมาตรฐานของ สมศ. รวมถึงตัวบ่งชี้ต่างๆ ประกอบด้วย เพื่อทำให้วิเคราะห์และตัดสินใจได้ดีขึ้น ว่าตัวบ่งชี้ที่ใช้นั้นครบถ้วนและเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่ </p><p>สำหรับดิฉันก็คงต้องไปค้นข้อมูลของมหาวิทยาลัยที่ตัวเองสังกัด แล้วหา room for improvement ต่อไปค่ะ เพราะไม่ว่าผลการประเมินจะเป็นอย่างไร  ดิฉันคิดว่าการประเมินโดยหน่วยงานภายนอกนั้นเป็นสิ่งที่ดี เป็นภาพสะท้อนที่เปรียบเทียบเรากับหน่วยงานอื่นๆ และดิฉันเห็นว่าการพัฒนาคุณภาพนั้น สามารถพัฒนากันได้ไม่มีที่สิ้นสุดอยู่แล้วค่ะ</p><hr>

ข้อมูลเพิ่มเติม ณ วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๐

นสพ. ผู้จัดการ ลงข้อมูลเพิ่มเติมว่าการประเมินรอบที่สองยังไม่เสร็จสิ้น และ "นายก สสอท.กล่าวว่า การที่ สมศ.ระบุว่า จำนวนมหาวิทยาลัยเอกชนผ่านการรับรองไม่มาก แสดงว่า มหาวิทยาลัยเอกชนไม่มีคุณภาพนั้น ตนอยากให้มองข้อมูลหลายด้าน เกณฑ์ที่ สมศ.นำใช้ครอบคลุมทุกเรื่อง ทั้งที่มหาวิทยาลัยเอกชนแต่ละแห่งมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ดังนั้น จะใช้ข้อมูลเดียวกันไม่ได้"

ส่วนหนังสือพิมพ์มติชน ก็ลงข่าวสืบเนื่องเป็นคำสัมภาษณ์ของอธิการบดีของที่ต่างๆ บางท่านก็เห็นว่าควรมีดัชนีเฉพาะของ ม.เอกชน บางท่านก็ว่าดีที่มีการประเมินจะได้พัฒนากันต่อไปค่ะ

</span>

หมายเลขบันทึก: 92724เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2007 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

สวัสดีค่ะอาจารย์

ในความเห็นอาจารย์ มหาวิทยาลัยของรัฐกับไม่ใช่ของรัฐตอนนี้ ต่างกันในจุดไหนบ้างคะ

ไม่กล้าพูดอะไรตรงๆ  เอาแค่ภาพรวมค่ะ

  • เห็นข้อมูลแล้วตกใจครับ
  • รับรองแบบมีเงื่อนไขค่อนข้างมาก
  • ขอบคุณมากครับ
  • สวัสดีครับอาจารย์
  • ไม่ทราบว่าทาง สมศ. ได้แจ้งด้วยหรือไม่ครับว่ามหาวิทยาลัยใดผ่าน หรือ ไม่ผ่าน หรือรับรองแบบมีเงื่อนไขครับ? ข้อมูลพวกนี้น่าจะเปิดเผยด้วยเพื่อเป็นประโยชน์กับสังคมครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ คุณsasinanda

เรื่องที่ถามนี้ตอบยากมากเลยค่ะ ถ้าลองคิดดูแบบเร็วๆ อาจไม่ครบนะคะ สามารถแบ่งออกมาได้ ๔ ด้านดังนี้ค่ะ

๑. ด้านการบริหารงาน

  • ม.เอกชนมีความคล่องตัวในการบริหารงาน ไม่ยึดกฎระเบียบ ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม
  • ด้านงบประมาณ ม.รัฐได้รับการสนับสนุนระดับหนึ่ง โดยไม่ต้องทำผลกำไรตอบแทน แต่การใช้เงินค่อนข้างจำกัด เฉพาะตามที่กำหนดไว้ในงบประมาณประจำปี ปรับเปลี่ยนได้ยาก (ทำให้การใช้เงินของม.รัฐอาจมีประสิทธิภาพต่ำ) แต่ของ ม.เอกชน นั้นเป็นธุรกิจที่จำเป็นต้องมีผลประกอบการหรือมีกำไร การใช้เงินน่าจะปรับเปลี่ยนได้ง่ายกว่า

๒. ด้านวิชาการ

  • เรื่องหลักสูตร ไม่ต่างกันมาก ขั้นตอนการขออนุมัติอิงเกณฑ์ สกอ.เหมือนกัน
  • งานวิจัย ม.รัฐอาจได้รับการสนับสนุนมากกว่าจากทั้งอุตสาหกรรมและภาครัฐด้วยกันเอง
  • การบริการวิชาการ ม.รัฐจะได้รับความเชื่อถือมากกว่า มีงานบริการวิชาการมากกว่า

๓. ด้านบุคลากร

  • ม.เอกชนใช้งานบุคลากรได้เต็มที่ และบุคลากรได้เงินค่าตอบแทนสูงกว่า
  • ม.รัฐ มีบุคลากรที่มีคุณสมบัติดีกว่าเป็นส่วนใหญ่
  • การปรับเปลี่ยนบุคลากรทำได้ยากกว่าในม.รัฐ

๔. ด้านนักศึกษา

  • ม.รัฐได้นักศึกษาที่มีคะแนนสอบสูงกว่า
  • จำนวนนักศึกษาใน ม.เอกชนมีมากกว่า

แล้วก็คงมีประเด็นอื่นๆ อีกมากมายค่ะที่แตกต่าง ตอนนี้คิดออกแค่นี้ค่ะ ถ้าใครจะช่วยเสริมก็ยินดีนะคะ

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์นาย ขจิต ฝอยทอง

ก็ยังดีที่รับรองแบบมีเงื่อนไขค่ะ เพราะ สมศ. คงให้โอกาสให้ส่งข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมอีกที เดานะคะ

แต่ถ้าแถบสีเลือดหมูเป็นไม่รับรองสิคะ น่าคิดๆ

สวัสดีค่ะ aj kae เมื่อ พฤ. 26 เม.ย. 2550 @ 22:02

ไม่แน่ใจเหมือนกันค่ะ ว่าเขาจะประกาศหรือไม่ อย่างไร ยังไม่ได้ลองค้นดูเลยค่ะ เพราะคนที่เขาไม่ผ่านเขาอาจจะไม่อยากให้ประกาศ เพราะคงมีผลต่อผู้สมัครเข้าเรียนบ้าง ไม่มากก็น้อยค่ะ แต่ดิฉันว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะได้ feed back ของตัวเองกลับไป ดิฉันว่าจะไปค้นที่สถาบันก่อนค่ะ

ถ้าใครมีข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติม กรุณาช่วย post เข้ามาก็จะเป็นการดีนะคะ จะได้ ลปรร ร่วมกัน

ขอบคุณค่ะ

  • เรื่องนี้มองได้สองมุม
  • มุมหนึ่ง เป็นการประเมินเพื่อให้รู้ตัวว่าแค่ไหน แล้วก็พัฒนากันไปในส่วนที่ตกต่ำ ที่ดีก็ยิ่งพัฒนากันมากขึ้น
  • อีกมุมก็ว่าไม่อยากให้ประกาศเพราะมีผลไม่มากก็น้อย 
  • เป็นเรื่องจริงที่เห็นด้วยครับ  แต่ในทางสร้างสรรค์น่าจะมากกว่านะครับ หากพบว่าบกพร่องก็เร่งปรับปรุงแก้ไข
  • สำหรับ มหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองแบบมีเงื่อนไข อาจเกิดจากหาข้อมูลได้ยังไม่ครบถ้วน  ซึ่งทาง สมศ. จะมีการกำหนดระยะเวลาเพื่อให้ส่งข้อมูลเพิ่มเติม หากข้อมูลที่เพิ่มเติมสามารถตอบคำถามที่ สมศ. สงสัยได้  ก็จะได้รับการรับรองในโอกาสต่อไปค่ะ
  • การประเมินของ สมศ. จะเปรียบได้กับการทำวิจัยดีมั้ยค่ะ (Research & Development) เมื่อได้ผลการวิจัยออกมาแล้ว  เราชาวมหาวิทยาลัยก็ควรจะร่วมกันหาทางในการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อไปนะคะ  
  • รายชื่อมหาวิทยาลัย+ผลการประเมินในอนาคตน่าจะมีการเปิดเผยทั้งหมดนะคะ (หลังจากประเมินเสร็จสิ้นหมดทุกมหาวิทยาลัย) ถึงแม้จะไม่ใช่จาก สมศ.  แต่คิดว่ามหาวิทยาลัยที่ได้รับทราบผลการประเมินก็คงจะเร่งหาแนวทางในพัฒนาตนเองจากผลการประเมินอยู่แล้วจริงมั้ยคะ

สวัสดีค่ะ คุณบางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

เห็นด้วยเลยค่ะ ว่าต้องมองมุมบวกและคิดอย่างสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยที่ม่ผ่านการรับรอง ก็จะมีเป้าหมายพัฒนาทำให้ผ่าน มหาวิทยาลัยที่ผ่านการรับรองแล้ว ก็คงอยากจะพัฒนาต่อไป เพราะถ้าใครได้เป็น champion แล้ว ที่ยากก็คือรักษา champ : )

ขอบคุณที่แวะเข้ามาให้ข้อคิดเห็นนะคะ

สวัสดีค่ะคุณ เจนจิต รังคะอุไร (ตูน)

ขอบคุณสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมนะคะ ดิฉันว่าเป็นไปได้สูงที่เมื่อมหาวิทยาลัยที่ผ่านแบบมีเงื่อนไขได้ resubmit เอกสารแล้ว น่าจะผ่านการรับรอง สำหรับเรื่องการเปิดเผยผลการประเมิน ถ้าจะประกาศ อาจจะต้องมาจาก สมศ. เอง น่าจะเชื่อถือได้มากกว่า ในมุมมองของประชาชน สักพักก็คงจะทราบกันค่ะ ว่าจะมีการประกาศหรือไม่ เท่าที่ไปค้นดูปัจจุบันยังหาไม่เจอค่ะ

ขอบคุณสำหรับความเห็นดีๆ นะคะ

  • อ่านแล้วตกใจค่ะ...ลูกกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย....อนาคตจะเป็นอย่างไรล่ะคะเนี่ย....เป็นห่วงเด็กไทยและอนาคตชาติค่ะ
  • อีกมุมมองหนึ่ง...เกณฑ์นั้นประเมินได้ตามที่ต้องการ  ครอบคลุมแล้วใช่ไหมคะ
  • ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ กฤษณา สำเร็จ

  • ดิฉันว่าดัชนีที่ใช้น่าจะครอบคลุมพอควรค่ะ ทาง สมศ.คงต้องพิจารณามาแล้วหลายรอบ เป็นอย่างดี แต่ที่มหาวิทยาลัยอาจไม่ผ่านการรับรองนั้นเป็นไปได้ว่า ยังส่งข้อมูลให้ สมศ.ไม่ครบถ้วน หรือผิดรูปแบบ ที่กำหนด
  • แต่บางครั้งก็เป็นไปได้ว่าไม่ผ่านเพราะยังไม่มีข้อมูล เช่น ในมาตรฐานคุณภาพบัณฑิต สมศ.ระบุให้มีการวัดความพึงพอใจของผู้จ้างงาน ซึ่งต้องผ่านเกณฑ์......  (ดิฉันจำไม่ได้แน่นอน) แต่ถ้ามหาวิทยาลัยไม่เคยประเมินความพึงพอใจ หรือไม่ได้ประเมินในรูปที่จะวัดเป็นคะแนนได้ ก็อาจทำให้ข้อนี้ตกหรือไม่ผ่านการรับรองนั่นเอง
  • หรือในเกณฑ์เรื่องการวิจัยที่ สมศ. ระบุว่าจะต้องมีเงินสนับสนุนงานวิจัยต่อหัวอาจารย์.......บาท/หัว  ซึ่งหลายๆ มหาวิทยาลัยอาจจะไม่ผ่านเกณฑ์นี้ ไม่ใช่เพราะทำวิจัยไม่เป็น แต่เป้นเพราะการหาเงินสนับสนุนทำได้ยาก ฯลฯ ค่ะ
  • ดิฉันว่าคงมีหลายประเด็นที่เป็นเหตุ เป็นผลค่ะ อย่างที่ดิฉันกล่าวไว้เบื้องต้นนะคะ คือต้องมองว่าทุกอย่างพัฒนาได้ค่ะ
  • ดิฉันว่าถ้าลูกกำลังเข้ามหาวิทยาลัย ในหลักสูตรที่เปิดสอนมาระยะหนึ่ง มีคณาจารย์พอสมควร ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรค่ะ ถ้าสนใจว่าประเมินใช้เกณฑ์อะไรบ้าง ลอง download เอกสารที่ link ไว้มาดูนะคะ
  • ขอบคุณที่ให้ข้อคิดเห็นค่ะ

เรียนท่านอาจารย์กมลวัลย์

เมื่อวานก็ได้อ่านข่าวหน้านี้เช่นกันครับ

ผลที่ออกมาโดยเฉพาะ ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน จะเป็นการบังคับให้สถาบันแห่งนั้น ต้องดิ้น ต้องเร่ง โดยอัตโนมัติครับ

เพราะแน่นอนว่าผลออกมาเช่นนี้ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ที่จะตัดสินใจมาเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าสถาบันไม่เกิดการพัฒนาคุณภาพในทางที่ดีขึ้นแล้วนั้น สถาบันนั้นก็จะตาย อวสานไปเองโดยไม่ต้องมีใครมาสั่งปิด เพราะไม่มีผู้เรียน

และอีกสิ่งหนึ่งคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สำนักงบประมาณ สกอ. ก็ตามต้องรับผิดชอบด้วยว่าการที่สถาบันไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน  นั้นก็ต้องร่วมรับผิดในส่วนนี้ด้วยครับ

ขอบคุณมากครับ

กัมปนาท

สวัสดีค่ะ คุณกัมปนาท อาชา (แจ๊ค)

แน่นอนค่ะ ที่ต้องส่งผลถึงความเชื่อมั่นของแต่ละสถาบัน ใครมีผลการดำเนินการไม่ได้คุณภาพเมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ หรือไม่ได้ตาม minimum ที่สมศ.กำหนด ก็ต้องปรับตัวกันไปค่ะ เพราะถ้าประเมินซ้ำทุกปีแล้วผลออกมาเหมือนเดิม ผู้บริหารก็ต้องพิจารณาตัวเองค่ะ

นอกจากภาครัฐควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วยนั้น ดิฉันคิดว่าอุตสาหกรรมโดยรวมก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยเหมือนกัน เพราะต้องการบัณฑิตที่เก่ง ทำงานได้ แต่ไม่ค่อยให้เงินสนับสนุนงานวิจัย มักซื้อเทคโนโลยี เพื่อความรวดเร็ว ทำให้มหาวิทยาลัยไม่มีโอกาสฝึกพัฒนาคน จากงานจริง หรือจากความต้องการจริงของอุตสาหกรรม ทำให้ในแง่ของการประเมินของ สมศ. มหาวิทยาลัยก็อาจไม่ผ่านการรับรองเรื่องการวิจัยด้วย ฯลฯ

ขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นนะคะ

  • ตามมาขอบคุณอาจารย์ที่ไปให้กำลังใจพ่อครูบาครับผม
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ อ.ขจิต ฝอยทอง

ไม่เป็นไรค่ะ จริงๆ แล้วไม่ต้องขอบคุณหรอกค่ะ เพราะเป็นความรู้สึกจริงๆ ที่เขียนไป

อ.ขจิต ฝอยทอง ก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นความหวังนะคะ อาจารย์ยังสร้างคนดีๆ ต่อไปได้อีกมากค่ะ ต้องช่วยกันคนละไม้ คนละมือค่ะ ยิ้มสู้ค่ะ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ; )

มาตราฐาน ทั้ง 7 ด้าน

มันก็ดีครับ

แต่มิติ ในกระบวนการ ในวิสัย ในลักษณะ ของ 7 ด้าน

จากสถานศึกษาต่างๆ คงไม่เหมือนกับ สมศ.

ในมุมมองผม

การเอา มาตราฐาน 1 มาตราฐาน มาเทียบกัน แต่ตัวที่จะวัดยังมีความแตกต่างในรายละเอียด แล้วอะไรเป็นเกณฑ์หลัก เกณฑ์รอง

ผมก็ว่าหลักการดีครับ แต่รากฐาน และสิ่งประกอบของหลักการในแต่สถานศึกษา มีมิติกระบวนการ วิสัยและลักษณะที่แตกต่าง ตามธรรมชาติท้องถิ่น ภูมิประเทศ วัฒนธรรม ซึ่งมันอยู่ได้ในบางส่วน ที่ สมศ. กำหนด แต่ก็ไม่ได้จะทั้งหมด

เหมือน ยามที่ สมศ.มาตรวจโรงเรียนผม

โรงเรียนผมอยู่นอกกระทรวงศึกษาธิการ เป็นสถานศึกษาเฉพาะทาง

ของผมก็มีหลักของกระทรวงตัวเอง

มีหลักทางการศึกษาของกระทรวงตัวเองอีก

และต้องให้อ้างอิง มาตราฐาน สมศ.ได้อีก

เรียกว่าต้องทำตามทุกหลัก มันแย่ก็ตอนทำแหละครับ

แต่มันดีต่อโรงเรียนมากในระยะยาว และก็ทำเฉพาะที่เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน ต่อชาติจริงๆ

โรงเรียนผม ต้องการจุดอ้างอิง กลางที่ใครกำหนดก็ได้ ว่า โรงเรียนผม อยู่จุดไหนในมาตราฐาน ระดับประเทศเค้าอยู่จุดไหน โลกเค้าอยู่จุดไหน

จะได้มากรอบวิสัยทัศน์ ของหน่วยกันเลย

สวัสดีค่ะคุณ P ตาหยู

แย่หน่อยค่ะที่ต้องทำให้ได้ทุกเกณฑ์ อิงไปหมดแบบนี้ เหนื่อยหน่อยค่ะ

แต่เข้าใจว่าเกณฑ์ของโรงเรียน ที่อยู่ในความดูแลของ สพฐ. อาจมีเกณฑ์ย่อยที่แตกต่างกันไปกับของอุดมศึกษานะคะ ใน link ที่ให้ไว้ในบันทึกจะมีการสรุปดัชนีของโรงเรียนอยู่ด้วยนะคะ แล้วก็ web ที่ศูนย์ฯ ม.นเรศวร ก็น่าจะมีรายละเอียดดัชนีชี้วัดค่ะ ลองไปดูนะคะ เผื่อใช้เป็นเกณฑ์ได้ค่ะ

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ ยินดีต้อนรับค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท