เจ้า world-class university นี่มันเป็นยังไงนะ?


ดิฉันว่ามหาวิทยาลัยไทย ควรเป็นมหาวิทยาลัยที่ตอบสนองความต้องการของประเทศไทย และความต้องการของชุมชนในประเทศก่อน ...

ดิฉันอ่านข่าวหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10628 เรื่อง หา"ตัวตน"มหา"ลัยไทย ในแผนอุดมศึกษา 15 ปี ฉบับที่ 2 เมื่อสักครู่นี้ อ่านแล้วก็รู้สึกแปลกๆ คำว่า World Class University ของ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ที่ให้คำสัมภาษณ์ไว้ว่า

สิ่งสำคัญต้องมีนโยบายให้สถาบันอุดมศึกษาแข่งขันกันในเชิงคุณภาพมากขึ้น เห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาควบคู่ไปกับการสอน นอกจากนี้ ต้องทำให้สถาบันอุดมศึกษาหลากหลาย โดยมีนโยบายชัดเจนให้แต่ละแห่งกำหนดบทบาท ศักยภาพ และทิศทางตามความเชี่ยวชาญของสถาบัน เพื่อนำไปสู่ World Class University พร้อมทั้งพัฒนาให้สถาบันอุดมศึกษาช่วยเหลือตนเองได้ โดยไม่หวังพึ่งงบประมาณแผ่นดินเพียงอย่างเดียว ควรมีแผนพัฒนากำลังคนระดับหัวกะทิของประเทศ เพื่อให้คนเหล่านี้สร้างองค์ความรู้ และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ"

ดิฉันเห็นด้วยเรื่องการทำงานวิจัยคู่การสอน เรื่องความหลากหลาย เรื่องการกำหนดบทบาทของแต่ละมหาวิทยาลัย ไม่ให้ทำงานซ้ำซ้อนกัน แต่การนำไปสู่ world-class นั้นจำเป็นต่ออุดมศึกษาไทยในขณะนี้หรือ?

ดิฉันว่ามหาวิทยาลัยไทย ควรเป็นมหาวิทยาลัยที่ตอบสนองความต้องการของประเทศไทย และความต้องการของชุมชนในประเทศก่อน โดยขณะนี้อาจไม่จำเป็นต้องไปตะเกียกตะกายเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก ซึ่งต้องมีการลงทุนมาก (ขอย้ำว่ามาก) จากภาครัฐ ถ้าจะสนับสนุนให้เป็น world-class ต้องไม่ตั้งเป้า world-class นี้ให้กับทุกมหาวิทยาลัย แต่ไปลงทุนกับบางมหาวิทยาลัยที่ดูแล้วมีแนวโน้มจะเป็นระดับโลกกับเขาได้

ปัจจุบันนี้ แค่การลงทุนการศึกษาพื้นฐานยังไม่พร้อมเลย ดิฉันยังเห็นเด็ก ม.1 จับฉลากเข้าเรียนล้นหลามในบางที่ เห็นคนแย่งกันสอบเข้าโรงเรียนดังบางโรงเรียน ขนาดต้องไปสอบที่ exhibition hall  ถ้าเป็นแบบนี้แล้วมหาวิทยาลัยจะต้องพยายามแค่ไหนในการเป็น world-class แล้วเจ้า world-class university นี้มันเป็นอย่างไร เพราะถ้าเป้าหมายไม่ชัด คนปฏิบัติก็จะหลงทางกันหมด

ท่านคิดว่า world-class university นี้ มีลักษณะอย่างไร


หมายเหตุ

คำสัมภาษณ์ข้างต้นนำมาจากหนังสือพิมพ์มติชนตามที่อยู่นี้ ซึ่งดิฉันนำมาไม่ครบตอนเขียนบันทึกในช่วงแรก เพราะเห็นคำว่า world-class university แล้วต้องการทราบความเห็นจากผู้สนใจว่าเป็นอย่างไร แต่เลขาฯ กกอ.ได้ให้คำสัมภาษณ์ไว้ด้วยว่า...

"ทั้งนี้ ในการวางแผนต้องคำนึงด้วยว่า ปรัชญาในการพัฒนาประเทศไทยคืออะไร รัฐบาลแต่ละยุคสมัยจะมีแนวคิดที่แตกต่างกัน จึงต้องพิจารณากรอบ รูปแบบ เนื้อหา และกระบวนการของอุดมศึกษาว่าจะเป็นอย่างไร มีตัวชี้วัดอะไรที่จะตอบสนอง และชี้นำสังคมโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า"

"ที่สำคัญคือทำอย่างไร อุดมศึกษาจึงจะช่วยให้คนไทยพ้นจากความยากจน และมีความยั่งยืนได้ จึงควรเอาชีวิต และสังคมเป็นตัวตั้ง ไม่ควรเอาสถาบันอุดมศึกษาเป็นตัวตั้งในการจัดทำกรอบแผนพัฒนาอุดมศึกษาระยะยาว ฉบับที่ 2"

จากคำสัมภาษณ์ที่ดิฉันตกหล่นดังกล่าว  จะเห็นได้ว่าท่านเลขาฯ กกอ. ได้คำนึงถึงดัชนีชี้วัด และมีมุมมองให้กำหนดความต้องการของสังคมเป็นตัวตั้ง และให้สถาบันอุดมศึกษาตอบสนองความต้องการ แทนที่จะเอาสถาบันเป็นตัวตั้ง ซึ่งคำสัมภาษณ์นี้อาจแสดงถึงแนวความคิดการเป็น world-class university ด้วยก็เป็นได้

ดิฉันต้องขออภัยต่อผู้อ่านทุกท่านที่ไม่รอบคอบ เพราะอาจนำประเด็นมาไม่ครบถ้วน และลืมคิดว่าการเขียนบันทึกจากสรุปข่าวจากหนังสือพิมพ์อาจมีข้อผิดพลาดและไม่ครบถ้วน เนื่องจากไม่สามารถลงรายละเอียดได้ทั้งหมด   แต่วัตถุประสงค์ของดิฉันยังคงเหมือนเดิมคือ ลปรร กับผู้ที่สนใจทุกท่านค่ะ

ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะ อ.หมอ P มาโนช ที่ช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้ดิฉันกลับไปทบทวนอ่านสรุปข่าวจากหนังสือพิมพ์อีกครั้ง....

แก้ไขเมื่อ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๐ เวลา ๐๖.๐๓ น.

หมายเลขบันทึก: 90563เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2007 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (38)

 world-class university นี้ มีลักษณะอย่างไร

น่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอาจารย์ดีๆเก่งๆประจำมากหน่อย มีหลักสูตรที่เป็นมาตรฐาน ไม่เอาใจนักเรียนให้ได้เกรดดีๆ  มีการสอนจากปริญญาตรี จนปริญญาเอก

มี นักวิจัยที่มีคุณภาพ มีสนับสนุนการวิจัยให้เป็นล่ำเป็นสัน มีการจัดระบบ ประเภท ระดับสถาบันการศึกษาให้ชัดเจน เหมือนกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก  ที่บางมหาวิทยาลัย ก็เก่งไปคนละแนวก็ได้ นักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้  และพอนักศึกษาจบออกไป ก็ยืดอกได้ บอกว่า จบจากที่.....คนร้องอ๋อ...รู้จัก ที่,มหาวิทยาลัยนี้เก่งนี่ ....เก่ง ๆ  ใช้ได้เลย      หางานก็ง่าย มีแต่คนมาappraoch  และลูกศิษย์เก่งๆก็เป็นหน้าเป็นตาให้มหาวิทยาลัยด้วย

   คุณหมอวิจิตร สามีดิฉันจบจาก Duke และCornell  เขาก็ภูมิใจมากค่ะ

ตอนนี้เท่าที่เห็นๆใกล้ชิดหน่อย  คือมหาวิทยาลัยยังมีอาจารย์ที่มีคุณภาพไม่พอ ยิ่งมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่ง อาจารย์เก่งๆดีๆ ไม่มาก ลูกศิษย์จึงไม่ค่อยเก่งนัก

อีกอย่างมหาวิทยาลัย ต้องใช้ทุนมาก จึงจะพัฒนาได้ดีอย่างหวังค่ะ  และอ้อ!ใครจะเป็นคนให้เกรด world classคะ?

ความคิดของผมนะครับ ถ้าจะทำ world class university หลักคือการมีอาจารย์นักวิจัยชั้นยอด และผลิตผลงานอย่างส่ำเสนอ โดยผลงานมีประโยชน์ local >= global  อาจารย์มีทีมเวอร์ชั้นดีซึ่งก็คือนักศึกษาปริญญาโทเอกที่ต้องการเรียนรู้กับอาจารย์ท่านนี้ การศึกษาระดับปริญญาตรีก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง  อยากได้อาจารย์ดีๆ ก็ใช้เงินจ้างครับ เงินเดือนสูง สวัสดิการดี อาจารยือยากทำวิจัยอะไรสนับสนุนให้หมด มีการประเมินผลงาน ซึ่งอาจารย์ที่เขามาแบบนี้เขาไม่กลัวอยู่แล้ว เงินเท่าไรที่จะให้อาจารย์เหล่านี้มาทำอย่างนี้ได้ หรือมีอาจารย์กลับจากต่างประเทศมาทำร่วมกับเราได้  1 แสน up ครับ แค่นี้ท่านก็บอกว่า อาจารย์ต้องเสียสละเพื่อเด็กไทย ของบวิจัยหรือเสนอโครงการกว่าจะอนุมัติเรื่องที่จะทำก็ล้าสมัยไปแล้ว  บางทีเงินมาคนทำหายไปหมดแล้ว T_T

ผมเห็นด้วยครับว่า คำ้พูดว่าทิศทางมหาวิทยาลัยไทยควรไปสู่ world class uni นั่นแหนะมันเพ้อผันมากๆ  เอาแค่ 1 มหาวิทยาลัยทำให้ได้ก่อนแล้วค่อยมาพูดกัน  คำพูดของท่านเลขา กกอ.เนี่ยผมว่ามันล่องลอยมากเลยนะครับ ทุกบรรทัดเลยก็ว่าได้  ท่านคงพูดตอนไปเปิดงานหรืออะไรสักที่มั๊งครับ ก็พูดให้ดูดีน่ะ  การมี vision ผมคิดว่าเป็นสิ่งดีนะครับ แต่ถ้าเป็น vision แบบ unrealistic เนี่ย อย่าเสียเวลาไปสานต่อครับ 

 

  • ตามมาอ่านครับอาจารย์
  • ผมพบว่าการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานเรายังไปไม่รอด
  • ทำไมเราไม่ทำพัฒนาฐานให้ดีก่อนนะ
  • การวิจัยในระดับมหาวิทยาลัยเรายังอ่อนแอมากครับอาจารย์
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะคุณ P sasinanda

เรื่องที่ใครจะเป็นผู้ให้เกรดว่าเป็น world-class นั้นยังไม่ชัดเจนค่ะ คงใช้ ranking ที่นิตยสารต่างประเทศจัดให้กระมังคะ ตอนนี้แค่ว่า world-class ที่ท่านเลขา กกอ. ว่าไว้ ดิฉันยังไม่ทราบชัดเจนว่าหน้าตาในความเห็นของท่านนั้น เป็นอย่างไรเลย

ดิฉันเองก็เห็นด้วยเหมือนที่คุณsasinanda ว่าเราต้องมีอาจารย์เก่งและดี แต่พวกเราคงทราบดีว่าทุกอย่างต้องลงทุนและใช้เวลาค่ะ ทุนมนุษย์นี้สร้างและ keep ยากค่ะ ไม่เหมือนเครื่องจักร  และการศึกษานี้จะเน้นทุนมนุษย์มากกว่าด้านอื่นค่ะ

ดิฉันว่าวัฒนธรรมและค่านิยมของคนไทยก็มีผลต่อการศึกษานะคะ เพราะปัจจุบันคนไทยนิยมเรียนเฉพาะสาขาที่เป็น white collar พ่อ แม่ก็สนับสนุนให้เป็น white collar เด็กๆ ก็อยากเป็นอะไรที่เท่ห์ แต่เหมาะกับเขาหรือเปล่านั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะสาขาที่น่าจะทำเงินได้เยอะ

ตอนนี้บ้านเราขาดคนทำงาน field work ที่เก่งๆ โดยเฉพาะในสาขาช่าง หรือวิศวกรรมค่ะ คือวิศวกรที่ทำอะไรไม่ค่อยเป็นล้นตลาด ใครๆ ก็เปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์กันเกร่อไปหมด แต่ช่างเก่งๆ ที่เป็นรุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยมีค่ะ ดิฉันกำลังรอดูอีกสัก 10-15 ปี เวลาที่ช่างเก่งๆ เกษียณหมดแล้ว อุตสาหกรรมไทยจะเป็นอย่างไร (ไม่อยากจะคิดเลยค่ะ...)

ขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนและให้ข้อคิดเห็นนะคะ

สวัสดีค่ะ อ.หมอ P มาโนช และ อ. P นาย ขจิต ฝอยทอง

เห็นด้วยกับคุณหมอเรื่ององค์ประกอบของการเป็น world-class university ค่ะ แต่ความเป็นไปได้ในการเป็นของมหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ต่ำมากๆ (ขอเน้นว่าต่ำจริงๆ เพราะแค่การศึกษาพื้นฐานยังไปไม่ค่อยถึงไหนเลยเหมือนที่ อ.ขจิตว่าไว้

เรื่องการขอทุนวิจัยดิฉันก็อยากจะ T_T เหมือนคุณหมอเลยค่ะ ตอนอยู่ต่างประเทศทำวิจัย เรามี support แต่พอกลับมาเมืองไทย มันต่างกันราวฟ้ากับดิน แต่ก็เข้าใจนะคะ ว่าบ่นมากไม่ได้ ตอนนี้ก็ได้แต่ทำงานชิ้นเล็กๆ กับนศ.ป.โท ตามมีตามเกิด เน้นการผลิตคนที่คิดเป็น ทำเป็น และเป็นคนที่มีจริยธรรมในการทำงานต่อไป แต่ชิ้นงานที่ทำได้ระหว่างเรียนนั้นไม่ได้คาดหวังมากค่ะ เพราะไม่มีทุน

พอดีเรื่องที่เอามา post นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ท่านเลขา กกอ. ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ "กรอบแผนพัฒนาอุดมศึกษาระยะยาว ฉบับที่ 2 ..2550-2564" ซึ่งเป็นแผน ๑๕ ปี ดิฉันเห็นแล้วก็หนาวค่ะ ถ้าขืนตั้งเป้าแบบทำไร่เลื่อนลอยให้เราแบบนี้.....

ขอบคุณทั้ง ๒ ท่านที่ร่วม ลปรร ค่ะ คนทำงานให้มหาวิทยาลัยก็ยังคงต้องทำหน้าที่ของเราต่อไป และแยกให้ออกว่าอะไร realistic และทำได้

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ สำหรับข้อคิดเห็นดีๆ

  • สวัสดีครับ ขอ ลปรร นะครับ
  • ผมเชื่อว่า สิ่งเร่งด่วนสุด คือการต้องนิยาม world class ว่าหมายถึงอะไรกันแน่
  • เพราะถ้าตรงนี้ไม่นิยามให้ชัด ก็จะเกิดการลมเพลมพัดทางนโยบายได้ เช่น จะนิยามว่าหมายถึงกรณีไหน...
  1. ความดัง ?
  2. มีศิษย์เก่าดัง ?
  3. มีงานวิจัยดัง ?
  4. มีงานวิจัยที่ครบทุก spectrum ของแขนงวิชาการ ?
  5. มีงานวิจัยที่ลึกมาก ๆ จนแทบเอาไปใช้โดยตรงไม่ได้ ?
  6. มีงานวิจัยตีพิมพ์มาก ?
  7. มีงานวิจัยที่ตอบสนอสังคมได้มาก ?
      ฯลฯ
  • ที่ว่ามาข้างต้น คงยังมีอีกมากมาย เป็นข้อไหนก็ไม่แปลก แต่หากไม่นิยามให้ชัดว่าฐานคิดระดับชาติคืออะไร วันหนึ่ง ใช้เกณฑ์วัดประเมินอย่างหนึ่ง รุ่งขึ้นเปลี่ยนที มะรืนเปลี่ยนอีกที คนก็จะเกิดความสับสน แล้วคงไปไม่ถึงไหน เหมือนลูกหมาเมาเหล้า วิ่งไล่งับหางตัวเองไปมา ต่อให้ไปได้ไกล แต่ก็คงไปถึงไหนยาก
  • ยกตัวอย่าง ถ้าเอาแบบ มีงานวิจัยที่ตอบสนองสังคมได้มาก แบบนี้ อาจไม่มีโอกาส world class อาจมีบางเรื่องที่ generalized หน่อย แต่ส่วนใหญ่ก็คงเป็นเรื่องเฉพาะที่ เพราะต้องเล่นแต่เรื่องในบ้านเป็นหลัก ซึ่งชาติอื่นคงไม่มาสนใจยกให้เป็น world class
  • หรือหากต้องการฟันธงว่า ทำในเรื่องยากมาก ๆ  โดยมีงานวิจัยที่ลึกมาก ๆ   แบบนี้ก็กำหนดได้ แต่ปัญหาคือ  สังคมไทยเองจะก่นประณามหรือเปล่า ว่าทำวิจัยไม่ตอบสนองชุมชน ?
  • ขอบคุณครับ...

สวัสดีค่ะ อาจารย์ P wwibul

ดิฉันว่าหลายๆ ท่านเห็นตรงกันหมดค่ะ เรื่องความไม่ชัดเจนของ world-class university

เท่าที่อ่านในสรุปข่าว ทาง กกอ.กำลังระดมสมองทำแผนระยะยาว ๑๕ ปีอยู่ค่ะ เขาต้องเสนอแผนพัฒนาฉบับนี้ภายในเดือน สิงหาคม-กันยายน ๒๕๕๐ นี้ ก็ได้แต่หวังว่าคงมีผู้รู้ ผู้ใหญ่ในวงการ ที่คิดถึงเรื่องเกณฑ์ และความเป็นไปได้ในการไปให้ถึงเกณฑ์นั้นๆ รวมถึงความสอดคล้องของสิ่งที่อุดมศึกษาควรทำ กับความต้องการของสังคมด้วย

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ ที่ให้ข้อคิดเห็นและ ลปรร ดิฉันตามอ่านเรื่องที่อาจารย์เขียนอยู่เรื่อยๆ นะคะ เพียงแต่ยังไม่ค่อยได้ให้ข้อคิดเห็นสักเท่าใดค่ะ

ถ้ามุ่งที่จะทำสิ่งดี สร้างสิ่งดีให้กับระบบการศึกษาไทย

อย่าคิดมากเลยว่าจะ world class uiniversity เดี่ยวนี้

พรุ่งนี้ ชาตินี้ หรือชาติหน้า ทำเลยครับ ทุก

มหาวิทยาลัย ลงมือทำเลยครับ ประเทศเรามีแต่คน

พูด มีแต่คนวิจารณ์สิ่งที่คนอื่นทำเยอะเกินไปแล้ว

ปราชญชาวบ้านท่านนึงเคยพูดไว้ "ต้นไม้ที่โตเร็วที่สุด

คือต้นไม้ที่ปลูกเดี๋ยวนี้ ทันทีที่ปลูก"

ปล. อาจารย์วิจารณ์ พานิช เขียนถึง "ปีศาจอยู่ในรายละเอียด" ไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/thaikm/80829 

สวัสดีค่ะ คุณ carbon14

  • ขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นและ Link นะคะ
  • ตอนนี้ดิฉันคิดว่าหลายคนพยายามทำเพื่อประเทศไทยอยู่ค่ะ ดิฉันเองก็พยายามทำอยู่
  • ต้องขออภัยที่การเขียนบันทึกนี้ดูเหมือนการวิจารณ์ ดิฉันเพียงแต่ต้องการความกระจ่างและเรียนรู้จากประสบการณ์และความเห็นของผู้ที่สนใจค่ะ เพราะไม่อยากให้มีการกำหนดนโยบายที่ปฏิบัติไม่ได้ หรือไม่ชัดเจน
  • Leadership และนโยบายการทำงานของผู้บริหารระดับสูงมีความสำคัญค่ะ ถ้านโยบายเปลี่ยนบ่อย หรือตัวบ่งชี้ไม่ชัดเจน คนทำงานทำงานตามนโยบายตามที่ตีความไปแล้ว สุดท้ายกลายเป็นตีความไม่ถูกต้อง ผลลัพธ์ออกมาใช้ไม่ได้ หรือไม่ดีเท่าที่ควร แล้วใครจะเป็นผู้เสียหายล่ะคะ ถ้าไม่ใช่ประชาชนคนไทยอีกเหมือนกัน
  • ดิฉันเห็นด้วยค่ะ ว่าบางครั้งปีศาจอยู่ในรายละเอียด ถ้าเราจุกจิกจนเกินไป
  • ขอบคุณที่เข้ามา ลปรร ร่วมกันค่ะ

อ.กมลวัลย์ครับ ผมอ่านเจอในที่  http://www.moe.go.th/news_center/news29122549_01.htm

ดูจะไม่ค่อยตรงกับที่พูดหลังสุดนี้นะครับ  

"พูดถึงแผนพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาระยะยาวว่า “ดร.กฤษณพงษ์” ให้ทรรศนะว่า

ผมอยากให้ทุกมหาวิทยาลัย หาเอกลักษณ์ของตัวเองว่า อยากเป็นแบบใด เพราะมหาวิทยาลัยไม่ควรมีหน้าตาเหมือนกันหมด และคิดว่าจะพัฒนาคน และระบบอย่างไร โดยจะต้องตอบโจทย์ทั้งฐานล่าง ท้องถิ่น และโลกาภิวัตน์ให้ได้ด้วย ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ก็จะต้องคิดด้วยว่าจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดร่วมกันได้อย่างไร

“ทั้งนี้ในประเด็นของการที่จะให้มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกนั้น ผมเห็นว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งไม่จำเป็นต้องโกอินเตอร์ทั้งหมด เพียงแต่บัณฑิตที่ออกมาควรมีโลกทัศน์ทันโลก รวมถึงมีบทบาทในระดับนานาชาติที่สูงขึ้น ก็ถือเป็นการโกอินเตอร์แล้ว” 

อีกประเด็นที่ทิ้งไม่ได้ และยังเป็นความห่วงของชาวอุดมศึกษา นั้นคือ เรื่องการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ซึ่ง “เลขาธิการ กกอ.คนใหม่” ย้ำว่า คงต้องคุยกันใหม่โดยถามผู้ใช้บริการของมหาวิทยาลัย ทั้งผู้ที่รับนักศึกษาไปทำงาน และผู้ที่ใช้บริการงานวิจัย ทั้งนี้ผมเห็นว่ามหาวิทยาลัยทั้ง 130 แห่ง น่าจะจับกลุ่มที่ต่างกัน ไม่ควรมาจัดอันดับรวมกัน เพราะมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็จะตอบโจทย์ฐานล่าง ท้องถิ่น โลกาภิวัตน์ ที่แตกต่างกัน และวุฒิภาวะของมหาวิทยาลัยก็ต่างกัน 

สวัสดีค่ะ อ.หมอ P มาโนช

ขอบคุณคุณหมอมากเลยค่ะ ที่ช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติม ดิฉันรีบกลับไปค้น link และกลับไปอ่านข้อความทั้งหมดใหม่ ทำให้รู้ว่าตัวเองไม่รอบคอบจริงๆ เพราะมัวแต่คิดถึงคำว่า world-class และอยากรู้ แล้วก็นำมาเขียนเลย อ่านไม่ครบจริงๆ ค่ะ ซึ่งทำให้ไม่ fair ต่อท่านเลขาฯ และผู้อ่านค่ะ ดิฉันจะระมัดระวังยิ่งขึ้นไปในการเขียนบันทึกต่อไปค่ะ ; )

ดิฉันแก้ไขบันทึก โดยเพิ่มข้อความแล้วนะคะ แล้วก็แปะ link ที่เกี่ยวข้องไว้ข้างต้นด้วยค่ะ ถ้าคุณหมอหรือท่านอื่นๆ มีข้อแนะนำเพิ่มเติม สามารถแจ้งได้เลยนะคะ ดิฉันยินดีรับฟังและแก้ไขค่ะ

ท่านคิดว่า world-class university นี้ มีลักษณะอย่างไร

จากที่อ่านทั้งหมดนะคะ   คิดว่า  ความมุ่งหมายก็คือ  ต้องการให้แต่ละมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีลักษณะเด่นของตนเอง   ...  มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้าน     ซึ่งในส่วนนี้  หากมีการกำหนดเป้าหมายไว้ดี  ก็จะเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป       

สิ่งที่ตามมาก็คือ    เกณฑ์ในการกำหนดกลยุทธ์ของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้น  จะเป็นอย่างไร ?  ใครเป็นผู้กำหนด?     ตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนหรือไม่?     ... ฯลฯ

 คิดว่า การจะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกหรือไม่นั้นไม่สำคัญ    นั่นคือ  เราคงจะไม่ต้องเปรียบเทียบกับต่างประเทศ    แต่ว่าให้มองดูตนเอง   พัฒนาตนเอง  ว่า มหาวิทยาลัยได้สร้างคน ให้เป็นคนที่มีคุณภาพได้มากน้อยเพียงใด    ซึ่งอันนี้  คงไม่ได้มองแค่  ปริมาณ  หรือ คุณภาพเพียงอย่างเดียว   แต่จำเป็นต้องมองในภาพรวมที่พอเหมาะพอดี      

ขอเป็นกำลังใจให้กับนักคิด นักพัฒนาทุกท่านค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณมนต์ ที่แวะเข้ามาให้ข้อคิดเห็นอยู่เสมอนะคะ

ตอนนี้คิดจะสรุปรวมรวมความเห็นจากบันทึกนี้อยู่ค่ะ แล้วจะรายงานให้ทราบทางบันทึกต่อไปค่ะ

  • ตามมาหาความรู้อีก
  • ตอนนี้ได้ความรุ้ชัดเจนขึ้น
  • แต่เจอแผน 15 ปีนี้หนาวเลยครับ
  • เท่าที่ทราบวางแผนดี
  • แต่การดำเนินการคนละเรื่องกันเลยครับ
  • เศร้ากับระบบของไทยเราจังเลยครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ อ. P นาย ขจิต ฝอยทอง

  • อาจารย์หลายๆ ท่านที่ให้เกียรติมาให้ข้อคิดเห็นก็คงรู้สึกไม่ต่างจากเรามากนักค่ะ
  • ลองอ่านข้อคิดเห็นของแต่ละท่านข้างต้นนะคะ ดีๆ ทั้งนั้นค่ะ ได้มุมมองหลากหลายค่ะ
  • แผน ๑๕ ปี มันยาวจริงๆ ยาวจนลืม เหมือนที่อาจารย์ว่าไว้ ว่าเวลาปฏิบัติคนละเรื่อง
  • ขอบคุณสำหรับความเห็นอีกครั้งค่ะ เราอยู่ในระบบนี้ก็คงต้องสู้เพื่อประเทศไทยกันต่อไปค่ะ  ; )
  • ชื่นชมอาจารย์
  • มหาวิทยาลัยที่อยู่ต่างจังหวัด ราชภัฏ ราชมงคล   วิทยาลัยต่างๆ   เป็นอุดมศึกษาชั้นสอง  แต่ทำหน้าที่รองรับ ดูแล เอื้อโอกาสให้คนชั้นล่างที่ถูก First Class Uni คัดทิ้ง 
  • แถมนักการเมืองยังบังคับให้รับเยอะ  และหลอกว่าจะให้งบ  ถึงเวลาก็ให้ไม่ครบ 
  • เด็กจบมาขาดคุณภาพ  เพราะไม่ให้คัด...แต่ให้เอาหมด 
  • เสร็จแล้วก็มาประเมินว่ามหาวิทยาลัย ขาดคุณภาพ 
  • เรียนถามอาจารย์  ว่าสามารถสร้างระบบประเมินคุณภาพผู้บริหารได้ไหม  ผ้บริหารเอาผิดผู้ปฏิบัติได้อย่างไร  ผู้ปฏิบัติก็ต้องมีสิทธิเอาผิดผู้บริหารได้เท่าเทียมกัน   โดยเอาคุณภาพ ประสิทธิภาพ  และผลกระทบจากการสั่งการครั้งนั้น หรืองานนั้น  เป็นหลัก  พอจะมีทางเป็นไปได้หรือไม่
  • มีข่าวว่า มหาวิทยาลัยนอกระบบ ถ้าร่างระเบียบไม่ดี  ผู้บริหารจะมีอำนาจล้นเกิน  สามารถใช้อำนาจบีบผู้ปฏิบัติได้มากกว่ามหาวิทยาลัยในระบบราชการ  ใช่หรือไม่

                                            ขอขอบคุณ

สวัสดีค่ะคุณ อนิลฑิตา

  • ดิฉันคิดว่าทางรัฐ คงเน้นเรื่องปริมาณในตอนนี้ ถึงได้มีการเปิดและยกระดับให้หน่วยการศึกษาที่เคยผลิตครูอย่างเดียว หรือผลิตช่างอย่างเดียว ให้กลายเป็นมหาวิทยาลัย (พร้อมหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) คงเคยมีการสรุปไว้กระมังคะว่าจำเป็นต้องให้ประชากรมีการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ก็เลยมาในทิศทางนี้
  • ดิฉันกลับคิดว่าการมีใบปริญญาบัตรที่ degree สูงขึ้น ไม่ได้บอกว่าคนๆ นั้นเป็นคนที่มีความสามารถมากกว่าคนที่มี degree ต่ำกว่า ดังนั้นการสนับสนุนของภาครัฐตอนนี้เลยดูเหมือนเน้นให้มีจำนวนมากขึ้น โดยไม่ได้ดูว่ามีคุณภาพสูงขึ้นด้วยหรือไม่ (อันนี้เป็นข้อสรุปของดิฉันเอง)
  • ตอนนี้มหาวิทยาลัย(เกือบ)เหมือนโรงงานผลิตสินค้าเกรดต่ำ ปั้มเอาจำนวนไว้ก่อน คุณภาพไม่ต้องเช็ค เพราะขายถูก เน้น volume ไว้ก่อน เพราะฉะนั้น Foreman หรือผู้จัดการ line ผลิตอย่างดิฉันก็กลุ้มใจเหมือนที่คุณอนิลฑิตารู้สึก เพราะเรื่องหลายเรื่องอยู่นอกเหนืออำนาจที่จะแก้ไข ไม่สามารถแก้ไขระบบผลิตของโรงงานในภาพรวมด้วยตัวเองคนเดียว  แล้วพอยอดขายตก หรือ defect เยอะก็จะถูกด่า จากทั้งเจ้าของโรงงานและลูกค้า ตอนนี้ความเชื่อถือใน brand สินค้าเกือบไม่เหลือแล้วเหมือนกัน
  • อ่านแล้วอย่าเพิ่งท้อนะคะ เพราะดิฉันก็ยังไม่ท้อ (เคยท้อไปแล้ว แต่ไม่รู้จะไปท้อทำไม ทำดีกว่า อย่างน้อยเรารับผิดชอบส่วนของเราดี แต่ถ้าผลออกมาไม่ดี เราต้องรู้ว่าเราทำดีที่สุดแล้ว)

 

  • มาถึงคำถามตอบยากมากเลยค่ะ คือเรื่องเราสามารถสร้างระบบประเมินคุณภาพผู้บริหารได้ไหม?
  • เท่าที่ทราบมีการนำนโยบาย หน่วยงานใสสะอาด มาใช้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบผู้บริหารได้ (หรือไม่) ลองอ่านความเป็นมาที่นี่ เท่าที่ทราบ ทุกหน่วยราชการจะต้องมีศูนย์ประสานงานหน่วยราชการใสสะอาด ที่มีหน้าที่เป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวัง และป้องปรามการประพฤติมิชอบภายในหน่วยงานนั้นๆ พูดง่ายๆ คือร้องเรียนไปยังศูนย์ฯ ได้
  • อีกระบบที่อาจนำมาใช้ประเมินการทำงานของผู้บริหารได้ก็คือ ศาลปกครองค่ะ ลองอ่านบันทึกของท่านคณบดีมาลีนีได้ที่นี่ ค่ะ
  • สำหรับระบบภายในที่ใช้ "คุณภาพ ประสิทธิภาพ  และผลกระทบจากการสั่งการครั้งนั้น หรืองานนั้น  เป็นหลัก" นั้น คิดว่ายากค่ะ ในระบบราชการแบบเดิม แต่ถ้าเป็น ม.ในกำกับแล้ว น่าจะสร้างระบบได้ แต่ไม่รับประกันผลว่าจะดีนะคะ เพราะขึ้นอยู่กับคนใช้ระบบค่ะ (เหมือนกฎหมายน่ะค่ะ มีเต็มเลย คนทำผิดก็เต็มไปหมด แต่ไม่เห็นมีการบังคับใช้กฎหมายกับคนทำผิดสักเท่าไหร่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคน - ผู้ใช้งานระบบ/กฎหมายค่ะ)
  • สำหรับเรื่อง ม.ในกำกับ นั้น อำนาจของผู้บริหารค่อนข้างมากจริง เพราะอะไรๆ ก็สิ้นสุดที่ผู้บริหารกับสภามหาวิทยาลัย ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศก็ออกกันเองตาม พรบ. เพราะฉะนั้น ถ้าสภาฯ กับผู้บริหาร ซูเอี๋ยหรือผลัดกันเกาหลัง ทุกอย่างก็ง่ายค่ะ จะเปิดกี่หลักสูตร จะรับใคร เอาใครออก จะรับนักศึกษา จะเปิดธุรกิจการค้าอะไร ก็ได้ทั้งนั้นค่ะ
  • จะสังเกตได้ว่า ที่ดิฉันสรุปเรื่อง ม.ในกำกับไว้นั้น ถ้าเราได้คนดี คนเก่ง (เน้นว่า ดี มาก่อน เก่ง) เป็นผู้บริหาร จะนำพามหาวิทยาลัยไปได้ดีมาก เพราะทุกอย่างเอื้อให้ทำอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นในทางกลับกัน ก็......  บรรยายไม่ถูกเหมือนกันค่ะ
  • ระบบ ม.ในกำกับ ถูกสร้างไว้ด้วยเจตนาที่ดีค่ะ แต่มันก็เหมือนมีดนะคะ ใช้ดีก็มีประโยชน์มาก เพราะสารพัดประโยชน์จริงๆ  ใช้ไม่ดี ก็เลือดออกกันบ้างค่ะ แต่ไม่รู้จะถึงตายหรือไม่เท่านั้นเอง
  • ขอบคุณสำหรับการ ลปรร และคำชมนะคะ ไม่รู้ว่าดิฉันตอบคำถามได้จบหมดหรือไม่ เรื่องพวกนี้ เขียนได้ไม่รู้จบค่ะ ....
  • สัวดีครับอาจารย์
  • ผมคิดแบบคนป่าคนดอยครับอาจารย์ว่า world class Univ เป็นอย่างไร
  • ก็ก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่สุด แต่ติดดินที่สุด
  • งานทางวิชาการเพื่อสังคมมวลมนุษยชาติ ปราศจากการเมือง แต่เพื่อทุกชีวิต
  • อยากเห็นอาจารย์มหาวิทยาลัยออกไปในชุมชนมากขึ้น และเอาเทคโนโลยี่ไปสร้างสรรค์ชุมชนด้วย ผสานกันระหว่างความรู้ทางวิชาการกับสังคมจริงๆของชุมชน

จากมุมของคนนอกวงการศึกษา ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับบทความนี้ในเรื่องของความหมายครับ

แต่เช่นเดียวกับคุณ carbon14 และคุณไพศาล (บางทราย) ก็อยากจะชี้ว่า ไม่ว่าจะเป็น world-class university หรือไม่ก็ตาม หน้าที่หลักของมหาวิทยาลัย น่าจะเป็นการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคมครับ

เรื่องนี้ไม่ควรเริ่มจากความต้องการที่จะเป็น world-class university แต่ควรจะเริ่มจากการมี world-class faculty ที่สามารถช่วยให้ world-class student เปล่งประกายได้ ตามศักยภาพของเขา ช่วยให้เขาได้เข้าใจคุณค่าของตนเอง ผมเชื่อว่าคุณภาพทางวิชาการจะตามมาเอง หากผู้เรียนเป็นผู้แสวงหาครับ

สวัสดีค่ะ คุณ P บางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

ตอนนี้ดิฉันไม่ค่อยหวังก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สุด เพราะทำไม่ได้ใน ๕-๑๐ ปีแน่ๆ ค่ะ (คิดแบบ realistic น่ะค่ะ) แต่ถ้าตั้งเป้าว่าสามารถสอนนักเรียนที่พอผลิตเทคโนโลยีได้  อันนี้ดิฉันว่าพอเป็นไปได้ค่ะ (แต่อาจได้เฉพาะบางคน คงได้หมดค่อนข้างยากค่ะ) 

เรื่องการเป็นมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมชุมชนนั้น ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างมากเลยค่ะ ปัจจุบันก็มีอาจารย์สจพ.ที่นำนักศึกษาไปชุมชนอยู่บ้าง ไปออกค่ายสร้างห้องน้ำ ห้องเรียนเล็กๆ อยู่ทุกปีค่ะ แต่ยอมรับเลยว่าไม่เคยเห็นนโยบายเรื่องการให้อาจารย์ออก field เข้าหาชุมชนมากขึ้น มีแต่นโยบายเรื่องงานวิจัย ไปเน้น excellence ทางด้านที่สู้ต่างชาติยากมากค่ะ

คุณบางทรายอาจสงสัยว่าทำไม มหาวิทยาลัยจึงไปเน้นทางด้านนี้ ก็เพราะว่า สกอ. (ทบวงมหาวิทยาลัยเดิม) ให้ทางมหาวิทยาลัยกำหนดว่าตัวเองเป็นมหาวิทยาลัยประเภทใด มีให้เลือกอยู่ไม่กี่อย่างหรอกค่ะ ดังนั้นเกือบทุกมหาวิทยาลัยก็บอกว่า ฉันนี่แหละเป็น"มหาวิทยาลัยวิจัย" เวลามีเรื่องการ ranking เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็มาวัดผลการวิจัยซึ่งนับกันที่ publications เป็นส่วนใหญ่ก็พบว่า ผลงานตีพิมพ์ไม่ได้ดีขนาดนั้น ดังนั้นมาตรการส่วนใหญ่ตอนนี้ก็ออกมากระตุ้นเรื่องงานวิจัย มีการให้ incentives ในการทำงานวิจัย มีเงินสมนาคุณ ฯลฯ คนที่ได้ประโยชน์จากมหาวิทยาลัยกลุ่ม science&tech แบบที่ดิฉันอยู่ก็เป็นอุตสาหกรรมค่ะ ไม่ใช่ชุมชน ฟังแล้วเหนื่อยไหมคะ

เล่าสู่กันฟังค่ะ...

สวัสดีค่ะคุณ PConductor

ดิฉันเห็นด้วยเลยค่ะ ว่ามหาวิทยาลัยจะต้องมีอาจารย์ที่ดี มีความรู้ความสามารถ และมีความเป็นครู ทั้งนี้เพื่อที่จะผลิตนักศึกษาที่มีความเป็น world-class มีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ และทำสิ่งเป็นประโยชน์กับประเทศไทย

แม้การผลิตนักศึกษาที่มีคุณสมบัติเหล่านี้จะเป็นเรื่องยาก เพราะปัจจัยหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้สอน infrastructure ที่ใช้ในการเรียน นโยบายของมหาวิทยาลัย และตัวผู้เรียน  แต่ก็ต้องเริ่มสักที่ เช่น เริ่มที่ตัวเองก่อน เป็นต้น ตอนนี้ก็ได้ข้อคิดอะไรหลายๆ อย่างจากการสนทนาแลกเปลี่ยนใน G2K นับเป็นจุดเริ่มเล็กๆ ที่ดีประการหนึ่งค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นเพิ่มเติมดีๆ นะคะ

น่าสงสาร...หมูอยากเป็นช้าง...หมูไม่อยากเป็นหมูอีกแล้ว...

หมูไม่ชอบตัวเอง...หมูมองไม่เห็นความงามของตัวเอง...หมูมองไม่เห็นความสมบูรณ์ของตัวเอง...

หมูจึงถกเถียงกันว่า...ช้างเป็นอย่างไร...ต้องมีอะไรบ้างถึงจะได้เป็นช้าง...

เพราะรู้ไม่เท่าทัน...จึงอยากเป็นช้าง...อาจารย์ในมหา'ลัยก็เอากะเขาด้วย...แล้วยังจะมาโอดคราญอีกว่า..."การอุดมศึกษาบ้านเราแย่"...

...สติมา....สติมา...เลิกอยากเป็นช้างเถิด...ภูมิใจในความเป็นหมูเถิด...รีบออกไปขุดดินเข้า...จะได้มีอาหารกิน...

อันนี้ก็คล้ายๆ กับข้อคิดเห็นที่แล้วนะคะ เข้าใจว่าคุณสวัสดิ์
กำลังอุปมาอะไรอยู่สักอย่าง แต่ละท่านที่อ่านลองตีความกันเองนะคะ

ขอบคุณค่ะ

  • สวัสดีครับอาจารย์
  • การศึกษาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นจริงและเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ
  • เราควรหาคำตอบให้ได้ว่าทำไมเราถึงจะต้องเป็น World Class University ครับ แล้ว World Class University  มีความจำเป็นแค่ไหนกับการที่จะทุ่มงบประมาณลงไป ในเมื่อปัญหาใหญ่ของเราไม่ได้อยู่ที่การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย แต่เป็นเรื่องของคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานมากกว่า
  • ตัวผมเองไม่ได้อยู่ในแวดวงการศึกษา แต่ก็พอรับทราบมาบ้างว่าการจัดระดับมหาวิทยาลัยของโลกนั้น การวิจัยของมหาวิทยาลัยก็มีส่วนอย่างยิ่งต่อการจัดระดับ แต่การวิจัยของไทยในปัจจุบันมีจำนวนมากที่เป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง ไม่ตอบสนองต่อความต้องการแก้ไขปัญหาของชุมชน
  • สิ่งที่ผมอยากให้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยคือการวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน แก้ไขปัญหาชุมชน โดยภาครัฐควรสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้เรื่องของการวิจัย รวมทั้งควรทำการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของงานวิจัยอย่างมีระบบแบบแผน โดยงานวิจัยที่เป็นงานวิจัยขึ้นหิ้งควรชะลอไว้ก่อน หากประเทศชาติรวยเมื่อไรแล้วค่อยว่ากัน
  • ขอบคุณอาจารย์ครับที่นำเรื่องดีๆมาให้อ่านกันครับ

สวัสดีค่ะคุณสุดทางบูรพา P

เห็นด้วยนะคะว่าเราผลิตงานวิจัยขึ้นหิ้งกันมาก แต่สาเหตุที่งานวิจัยขึ้นหิ้งกันเกือบหมดนั้นน่าจะมาจากหลายสาเหตุด้วยกันค่ะ  เช่น

  • คุณภาพงานวิจัยไม่ดี เป็นงานวิจัยที่ไม่ได้มาตรฐาน
  • เป็นเรื่องที่นำไปประยุกต์ใช้ไม่ได้จริง ไม่ realistic ในเมืองไทย หรือแพงเกินไป นำไปใช้แล้วไม่เกิดประโยชน์
  • เป็นหัวข้องานวิจัยที่กระทบกลุ่มคนจำนวนน้อย ไม่น่าสนใจสำหรับกลุ่มคนส่วนใหญ่
  • เป็นงานวิจัยพื้นฐาน ทฤษฎีหนักๆ นำไปใช้เลยทันทีไม่ได้ ต้องวิจัยประยุกต์ก่อนแล้วถึงนำผลวิจัยประยุกต์ไปใช้
  • คนทำวิจัยไม่มีเงินทำต่อยอด หรือหาเงินทุนสนับสนุนทำงานนั้นๆ ต่อไม่ได้
  • คนทำวิจัยไม่มีแหล่งสืบค้นผลงานวิจัยในอดีตที่สมบูรณ์ ทำให้ทำงานวิจัยซ้ำกันไปมา ไม่ต่อยอดกัน
  • ฯลฯ

บ้านเราลงทุนกับงานวิจัยน้อยมากค่ะ ในต่างประเทศ(ที่พัฒนาแล้ว) เขาจะกันงบวิจัยมากกว่าเราเป็นร้อยเท่าค่ะ แล้วก็อุตสาหกรรมจะวิ่งเข้าหามหาวิทยาลัยให้ทำงานวิจัย(สำหรับใช้จริง) มากกว่านี้

ดังนั้น ถ้าต้องการงานวิจัยชุมชนให้มากกว่านี้ ต้องมีการ approach กันระหว่างชุมชน กับผู้วิจัย ต้องมีการสนับสนุนเงินทุนให้กับนักวิจัย ไม่ว่าจะมาจากชุมชนเอง หรือมาจากภาครัฐ หรืออุตสาหกรรม  และต้องมีความเข้าใจในภาพรวมด้วยค่ะว่า ลงทุนงานวิจัย 100 บาท อาจไม่ได้คืนเลยสักบาท (ไม่ได้หมายความว่างานวิจัยล้มเหลว แต่ผลการศึกษาวิจัยพบว่าไม่ feasible ที่จะไปต่อยอดประยุกต์ใช้ต่ออย่างมีประสิทธิภาพ) แต่บางทีลงทุนวิจัย 100 บาท อาจได้ผลตอบแทนคืนเป็นหมื่นเป็นแสนก็ได้ค่ะ ถ้านำผลไปใช้ได้จริง

ขอบคุณที่จุดประกายให้ตอบเรื่องงานวิัจัยนะคะ ไว้มีเวลาว่างๆ อาจนำที่เขียนตอบในบันทึกนี้ไปขึ้นบันทึกเป็นประเด็นใหม่เรื่องวิจัยค่ะ ^ ^ 

เห็นด้วยกับท่านอาจารย์กมลวัลย์   ลำพังแค่หนึ่งอำเภอ  หนึ่งโรงเรียนในฝัน   ก็พาการศึกษาไทยลงห้วยลงเหวไปมากแล้ว 

  • การศึกษาเป็นเรื่องที่เอาชีวิตคนเป็นๆ  มาคิดมาทำ   การศึกษาต้องเป็นอะไรที่มีเลือดมีลม เหมาะสมกับผืนดิน  ถิ่นอยู่ และผู้คน 
  • อาจารย์มหาวิทยาลัยบางส่วน  ขาดสติ  คิดว่าตัวเองคือผู้ยิ่งใหญ่  คิดอะไรดีหมดถูกหมด 
  • การศึกษาไทย  ณ  วันนี้  ควรเลิกพูดมากกันเสียที  หันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ  หาบันไดให้บางคนลงจากหอคอยงาช้างได้ ก็ดี

...ขอแสดงความคิดเห็นด้วยคนคับ...จริงๆแล้วเวลา กกอ. คิด แนวความคิดชอบคิดโดยที่ไม่ได้ ไม่มองพื้นฐาน หรือภาพรวมเป็นอย่างไร...เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน...ที่เราพัฒนาและสอนอยู่ในขณะนี้  ว่ามันดีหรือยัง..ยกตัวอย่างง่ายๆ โรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนระดับ ปวส. ที่เกิดขึ้นเหมือนดอกเห็ด...เราเคยประเมินผลว่ามันดีหรือไม่ ควบคุมหรือป่าว...เด็กที่มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป หรือไม่ค่อยดี เริ่มมีมากขึ้น  เด็กไม่ค่อยเรียนหันไปเล่นเกมส์ และอย่างอื่นๆแทน...อ่านหนังสือไม่ออก คณิตศาสตร์ไม่ยอมเรียน ตกเยอะ  ภาษาอังกฤษไม่ได้ แม้ภาษาไทยของตัวเอง ยังผิดเพี้ยน เขียนก็ไม่ถูก...แล้วผ่านขึ้นมาถึงระดับอุดมศึกษา..แล้วจะให้อุดมศึกษาพัฒนาได้เด็กดีึขึ้น
มันก็ไม่ดีตามที่เราคาดคิดไว้....มี ก.พ.ร ข้อหนึ่ง...ผมก็ตั้งข้อสงสัยว่า  ทำไหม...ก.พ.ร  ถึงต้องตั้งหัวข้อนี้ขึ้นมา คือ  การพัฒนาสถาบันสู่ระดับสากล...โดยให้มหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยเข้าไป  ranking  แล้วอยากให้เป็น  word  class
    ในแนวความคิดผม  ผมก็เห็นด้วยกับหลายๆคน  ว่าทำไหมเราไม่พยายามตั้งโจทย์ให้ซักมหาวิทยาลัยหนึ่ง หรือ สองมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยพัฒนาให้ดีจนถึงระดับนั้นให้ได้..โดยที่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ทั้งหมด
ซึ่งบางมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ต้องถึง world class แต่ทำให้ดีและเด่นในประเทศไทย หรือติดระดับในประเทศไทย หรือตอบสนองความต้องการของ ชุมชน ประชาชนให้ได้เสียก่อนนะครับ...

ขอบคุณครับที่มีการเสวนาเรื่องนี้...ผมก็อยากให้ผู้ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงมองเห็นตรงส่วนนี้บ้าง...โดยให้คิดถึงมหาวิทยาลัยที่อยู่ประเทศเราเป็นอย่างไร
โดยไม่ได้คิดถึง...มหาวิทยาลัยที่ท่านจบมาจากนอก..หรือ มหาวิทยาลัยที่ท่านศึกษาดูงานมาครับ

สวัสดีค่ะคุณไม่แสดงตน เมื่อ จ. 22 ต.ค. 2550 @ 19:21

อยากให้การศึกษาเป็นเรื่องของผู้เรียนตั้งแต่วัยเยาว์ด้วยเหมือนกันค่ะ อยากให้มีการเน้นการศึกษาระดับปฐมวัยให้มากๆ ก่อน แล้วก็เน้นให้การศึกษากับผู้คนในชนบท เป็นการศึกษาที่ไม่จำเป็นต้องได้ปริญญาตรี แต่สามารถทำงานในชุมชน สร้างงานในชุมชนได้โดยไม่ถูกเอาเปรียบหรือถูกโกง  

สำหรับตัวเองแล้วคิดว่า รัฐบาลดูแลกำหนดนโยบายการศึกษาน้อยเกินไป และที่กำหนดไป บางอย่างก็เป็นหอคอยงาช้าง ไม่ตรงกับความเป็นจริงเสียมาก

ถ้าเราอยากได้ไ้ม้สักต้นโตๆ มาปลูกบ้าน เราต้องปลูกค่ะ ไม่ใช่สักแต่ไปตัดจากป่าที่มีแล้วไม่ปลูก แล้วไม้ดีๆ ต่างๆ นั้นโตช้า และต้องใช้เวลาค่ะ อย่างน้อยเป็น ๑๐ ปี ดิฉันเห็นระบบการศึกษาปัจจุบันเป็นระบบตัดไม้ทำลายป่า เป็นระบบตอนและตัดแต่งกิ่ง มีแต่ไม้ไม่โตเต็มวัย หรือมีไม้ที่ใช้ประโยชน์จริงๆ ไม่ได้เยอะ

ความเห็นส่วนตัวคิดว่าต้องลงทุนกับการศึกษาพื้นฐานมากๆ ลงทุนกับคุณครูมากๆ คัดครู เพิ่มเงินเดือน ให้ครูอยู่ได้ หาคนที่รักความเป็นครูมาเป็นครู(ให้มากขึ้น) สร้างครู สร้างโรงเรียนในพื้นที่ที่ยังขาดแคลนให้มากกว่านี้  ดีกว่าเอาเงินมาผลาญสร้างสาธารณูปโภคแบบสนามบินใหญ่โต มีหอคอยสูงที่สุดในโลก (สร้างภาพหลอกตัวเอง ตลกมาก แต่ขำไม่ออก) หลายหมื่นล้าน หรือเน้นความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ทั้งๆ ที่นักวิจัยไม่ค่อยมี เป็นการประชาสัมพันธ์สิ่งที่ไม่มีจริง หลอกตัวเองว่าเป็นผู้ที่เจริญ ทั้งๆ ที่อาจยังไม่เจริญจริงเพราะคนยังขาดการศึกษาเยอะมากค่ะ  

เขียนจนกลายเป็นบ่นให้ฟังแล้วค่ะ ^ ^  ขอโทษด้วยค่ะ เพลินไปหน่อย  แต่เห็นด้วยค่ะ ว่าเราต้องช่วยกันพัฒนา ใครมีอำนาจทำอะไรได้ตรงไหน ต้องทำเลยค่ะ 

ขอบคุณนะคะ ที่แวะเข้ามา ลปรร ค่ะ 

สวัสดีค่ะ อ. ไทพวน P

อาจารย์ให้ข้อมูลที่ชัดเจนมากเลยค่ะ เราเห็นปัญหาคล้ายๆ กันนะคะ คือเราเปลี่ยนทรายให้เป็นเพชรไม่ได้น่ะค่ะ แต่เราไปตั้งเป้าตัวเองให้เป็นเพชรมากเกินไป มองไม่เห็นคุณค่าของการเป็นทรายค่ะ  แน่นอนค่ะว่าเพชรบางส่วน หากไปผ่านกระบวนการผลิตอย่างดี สามารถเปลี่ยนเป็นเพชรเทียมได้ (เทียม.. เพราะไม่ได้เกิดตามธรรมชาติ เพราะใ้ช้เวลานานเกินไป แต่มีคุณสมบัติดีเหมือนเพชรในธรรมชาติ) 

แต่เราก็ไม่น่าที่จะต้องมุ่งสู่ความเป็นเพชร หรือความเป็นสากลที่เขาเรียกกันนั้น เหมือนกันในทุกมหาวิทยาลัย อันนี้ดิัฉันว่าอาจารย์หรือผู้เกี่ยวข้องที่แวะเข้ามาในบันทึกนี้เห็นตรงกันค่ะ คิดง่ายๆ เราก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้แล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ว่าทำไมถึงยังมุ่งหน้าไปกันทางนี้อยู่ (ดูจากหลักฐานเรื่องตัวชี้วัดของ กพร)  ไม่เข้าใจเหมือนกันค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ที่เข้ามาเป็นเสียงหนึ่งที่ให้ความเห็นในเรื่องนี้นะคะ ต้องช่วยกันต่อไปค่ะ ให้ความเห็น ให้ feedback และปฏิบัติหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด(เท่าที่จะเป็นไปได้ในอำนาจหน้าที่ของเรา)ค่ะ

ขอบคุณสำหรับการ ลปรร ค่ะ 

"ถ้าเราอยากได้ไ้ม้สักต้นโตๆ มาปลูกบ้าน เราต้องปลูกค่ะ ไม่ใช่สักแต่ไปตัดจากป่าที่มีแล้วไม่ปลูก แล้วไม้ดีๆ ต่างๆ นั้นโตช้า และต้องใช้เวลาค่ะ อย่างน้อยเป็น ๑๐ ปี ดิฉันเห็นระบบการศึกษาปัจจุบันเป็นระบบตัดไม้ทำลายป่า เป็นระบบตอนและตัดแต่งกิ่ง มีแต่ไม้ไม่โตเต็มวัย หรือมีไม้ที่ใช้ประโยชน์จริงๆ ไม่ได้เยอะ"...

  • อ่านแล้วซาบซึ้งมากครับ
  • มีน้องที่เขาทำวิจัยชุมชนในภาคอีสาน เคยเล่าให้ฟังเมื่อหลายเดือนก่อน ว่าเดี๋ยวนี้ เด็กประถม ทั้งต้นและปลาย อ่านหนังสือไม่ออกมากจนน่าตกใจ มากอย่างไม่น่าเชื่อว่า การศึกษาปัจจุบันจะตกต่ำถึงขนาดนั้น
  • คนเหล่านี้ จะเป็นกำลังหลักของประเทศในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า
  • จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศเมื่อถึงเวลานั้น ?
  • เรามีห้องเรียนสำหรับเด็กอัจฉริยะเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด
  • แล้วเราทำอะไรกับเด็กทั่วไปที่เหลือ ?
  • อีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า เราจะเห็นสังคมแบบที่ H.G. Wells เขียนถึงใน The Time Machine หรือเปล่า ?

มีข่าวมาฝากนิดหน่อยค่ะ.... 

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2550 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลการสำรวจภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2550  ในเรื่องที่เกี่ยวกับเด็กดังนี้ค่ะ

อัตราการเข้าเรียนของนักเรียนต่อประชากรในวัยเรียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกระดับ เป็นผลจากนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐาน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ สศช.เห็นว่าน่าเป็นห่วงที่สุด คือ แม้เด็กและเยาวชนมีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น

 แต่คุณภาพการศึกษาของเยาวชนกลับไม่ดีขึ้น เพราะจากผลการทดสอบการเรียนระดับชาติปี 2549 พบว่านักเรียนสอบได้คะแนนคะแนนอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า 50% และลดลงเกือบทุกวิชา

โดยนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีคะแนนเฉลี่ยวิชาภาษาไทย 42.74% ลดลงจาก 44.23% ในปี 2547

วิชาภาษาอังกฤษ 34.51% ลดลงจาก 37.36% ในปี 2547

 วิชาคณิตศาสตร์ 38.87% ลดลงจาก 43.77% ในปี 2547

 ขณะที่มัธยมศึกษาปีที่ 3 มีคะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ 31.15% ลดลงจาก 34.88% ในปี 2547 ภาษาอังกฤษ 30.85% ลดลงจาก 32.28% ในปี 2547

 ส่งผลให้แรงงานประเทศมีคุณภาพการทำงานอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ตลอดจนทำให้ระดับความสามารถแข่งขันประเทศลดลง

ไม่มีประเด็นอะไรค่ะ เพียงแต่เล่าสู่กันฟัง อย่าเครียดๆๆ ค่ะ

    อาจารย์บอกว่า.....ดิฉันว่ามหาวิทยาลัยไทย ควรเป็นมหาวิทยาลัยที่ตอบสนองความต้องการของประเทศไทย และความต้องการของชุมชนในประเทศก่อน ...

การปฏิรูปอุดมศึกษายังมีทางออกค่ะ พอดีอ่านพบค่ะ

  โดย ศ.ดร.เลียงชัย ลิ้มล้อมวงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการและเลขาธิการสภามหา วิทยาลัยมหิดล

เห็นว่า มหาวิทยาลัยควรมี 3 กลุ่ม คือ มหาวิทยาลัยชุมชนที่ให้โอกาสทางการศึกษา

 มหาวิทยาลัยภาคที่คอยช่วยเหลือมหาวิทยาลัยชุมชน

และมหาวิทยาลัยชั้นนำหรือมหาวิทยาลัยวิจัย ช่วยเหลือมหาวิทยาลัยภาคอีกที

ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้ทำบทบาทของตัวเองและเป็นการแข่งขันกันทำ ขณะเดียวกันประเทศก็จะมีมหาวิทยาลัยชั้นยอดไว้คอยแก้ไขปัญหาประเทศ

สวัสดีค่ะอ. wwibul

ตอนนี้ก็ได้แต่ตัดแต่งกิ่ง ปรับปรุงต้นไม้ที่มีอยู่ให้ดูดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ยังมีไม้ไม่โตเต็มวัยที่ยังพอบำรุงได้บ้าง แล้วก็มีไม้เต็มวัยอยู่บ้างแต่จำนวนไม่มากนัก

จากที่อาจารย์เล่าให้ฟังถึงปรากฎการณ์อ่านหนังสือไม่ออกของเด็กๆ สอดคล้องกับสถิติที่คุณพี่ศศินันท์ เล่าไว้ใน [432760]  แสดงให้เห็นในภาพรวมว่าพันธ์ไม้ที่มีตอนนี้โตไม่ได้ขนาดเป็นส่วนใหญ่ และมีแนวโน้มในทิศทางที่แย่ลง

ส่วนตัวคิดว่าเราไปเน้นจำนวนมากเกินไป คงเหมือนกับตอนเกิด industrial revolution ที่เพิ่งค้นเครื่องจักรไอน้ำได้ เร่งผลิตจำนวนกันใหญ่ แต่ของที่ผลิตนั้นมีแต่ quantity ไ่ม่มี quality แถมได้มลภาวะ มลพิษมาเป็นของแถมจนปัจจุบัน (เป็นมลภาวะที่ irreversable อีกต่างหาก) ที่น่าสนใจคือดิฉันว่าทุกวันนี้ (ที่ผ่าน industrial revolution มานานแล้ว 200 ปีได้ไหม) คนส่วนใหญ่ก็ยังแยกไม่ออกระหว่างปริมาณและคุณภาพ (เหมือนแยกไม่ออกระหว่างการมีเงินกับคุณภาพชีวิต)  คนบางส่วนยังมองไม่เห็นมลพิษรอบตัวที่เกิดขึ้นจากปริมาณและจาก waste ที่เิกิดจากการผลิตแบบไม่ใส่ใจคุณภาพ  ไม่สนใจภาวะโลกร้อน คล้ายๆ กับรับรู้ ปากพูดว่าจะใส่ใจ แต่ไม่เคยทำอะไรเพื่อแก้ไข หรือทำไม่เป็น

กำลังคิดว่าการศึกษาไทย ก็กำลังไปในลู่ทางนั้นอยู่ ถ้ายังเน้นปริมาณ(ไว้ก่อน)มากกว่าคุณภาพ ดังนั้น damage ก็เกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้ายังไปเส้นทางนี้เรื่อยๆ สภาวะโลกร้อนแบบ irreversable ก็คงเกิดกับการศึกษาขึ้นสักวัน  สังคมแยกชนชั้นแบบใน The Time Machine ก็คงจะเกิดขึ้นได้ไม่ยากนักค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ 

สวัสดีครับ .. อาจารย์กมลวัลย์

  • แหม ! นี่ถ้าผมไม่เข้ามาล่ะ เสียเชิงแฟนประจำของอาจารย์หมดเลย
  • มหาวิทยาลัยวิทยาลัยผมมีสโลแกนให้พวกเราชื่นชมว่า "เราจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสอน"
  • สอนจริง ๆ ครับ สอนมันทั้ง 7 วัน จันทร์ - ศุกร์ ก็มีภาคพิเศษตอน 18.00 - 21.30 น. อีก
  • หัวอาจารย์ไม่ได้โผล่ดูโลกภายนอกกันเลย แบบนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า มหาวิทยาลัยผมจะเป็น World Class กับเค้ามั้งได้หรือเปล่า
  • แค่ตื่นมาแล้วพบว่า ตัวเองยังมีลมหายใจอยู่ แบบนี้น่าจะพอหรือยังครับ

:) ยิ้มแทนคำขอบคุณ

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์ P

จริงๆ แล้วเป็นคนไม่ค่อยเครียดนะคะ ^ ^  เคยมีคนทักเหมือนกันว่าเวลาดิฉันพูดแล้วดูจริงจังไปหมด ไม่ได้เครียดแต่สีหน้าหรือตัวอักษรที่เขียนเล่าอาจจะเครียดไปหน่อยค่ะ เพราะเลือกปัญหาที่เห็นมาเขียนน่ะค่ะ ตอนหลังก็อยากจะเล่าสิ่งดีๆ เหมือนกัน เช่นเรื่อง Robot ที่เคยเอามาบันทึกน่ะค่ะ

การแยกแยะว่ามหาวิทยาลัยใดควรมีเป้าหมายบทบาทเป็นอย่างไรนั้นเหมาะสมและควรทำมากๆ ค่ะ แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดอยู่มากทำให้คนอยากเป็นผู้บริหาร หรืออยากเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำเท่านั้น คล้ายๆ กับ ช่างกับวิศวกรน่ะค่ะ ไม่มีใครอยากเป็นช่าง มีแต่คนอยากเป็นวิศวกร   ถ้าอยากให้ม.ชุมชนเกิดขึ้นจริง รัฐบาลและชุมชนต้องส่งเสริมกันมากกว่านี้ค่ะ

ขอบคุณคุณพี่สำหรับข้อมูลต่างๆ นะคะ ^ ^

สวัสดีค่ะ อ.Wasawat Deemarn

เปลี่ยนรูปบ่อยนะคะ ^ ^ 

สอนเยอะไปก็ไม่ค่อยดีค่ะอาจารย์ เคยสอนมากที่สุด ๓ ตอนค่ะ ตอนที่ ๓ เนี่ยตัวเองจะพูดเร็วสรุปเร็วมาก เพราะพูดมาแล้ว ๒ รอบ หลังๆ นี้จะพยายามไม่ให้เกิน ๒ ตอน/วิชาค่ะ   แล้วถ้าสอนเยอะแบบที่อาจารย์ว่าเนี่ย ไม่ดีต่อนักศึกษาแน่ๆ ค่ะ เพราะอาจารย์เหนื่อยเป็น เหนื่อยแล้วไม่ค่อยอยากสอนค่ะ ความกระตือรือล้นหายหมดค่ะ

แล้วก็แค่ตื่นมามีลมหายใจยังไม่พอค่ะ ต้องมีสติกำกับการมีลมหายใจด้วยค่ะ ^ ^

อาจารย์กมลวัลย์ครับ ...

  • รูปถ่ายใหม่ แต่หน้าเดิมนะครับ :)
  • ช่วงนี้ กำลังควานหา "สติ" อยู่เหมือนกันครับ เอ ! ไปอยู่ที่ไหนเนี่ย หายบ่อยจัง

:)

สวัสดีอีกรอบค่ะอ. Wasawat Deemarn

พอดีอาจารย์พูดถึงการมีลมหายใจ ทำให้นึกถึงบันทึกสิ่งใกล้ตัวที่ถูกละเลย ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท