อาจารย์มหาวิทยาลัย ต้องรู้วิธีการสอนไหม?


อาจารย์มหาวิทยาลัยนั้น เดินถือปริญญาอะไรมาก็เข้าสอนวิชาในสาขานั้นได้แล้ว

เคยมีอาจารย์พิเศษมาขอสังเกตการณ์ในชั้นเรียนที่ผมสอนครับ แกบอกว่าเวลาแกสอน เด็กๆ ไม่ค่อยจะสนใจ เลยอยากรู้ว่าผมมีวิธีการสอนอย่างไร ผมว่าหลายๆ คนที่เข้ามาทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยประสบปัญหานี้นะครับ คือไม่รู้ว่าจะสอนอย่างไรให้น่าสนใจ จริงไหมครับ? ยอมรับไหมครับ? ผมคนหนึ่งล่ะ ที่สงสัยกับวิธีการคัดเลือกอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทุกที่ทั่วโลก

อาจารย์ไม่เหมือนครูตามโรงเรียนที่ต้องผ่านหลักสูตรการเรียนการสอน ต้องรู้ทฤษฎีการเรียนรู้ จิตวิทยา และฝึกทักษะในชั้นเรียน (จำครูฝึกสอนที่พวกเราเคยแกล้งจนร้องไห้ได้ไหมครับ?) อาจารย์มหาวิทยาลัยนั้น เดินถือปริญญาอะไรมาก็เข้าสอนวิชาในสาขานั้นได้แล้ว

ผมมาคิดดูว่าอาจารย์จะมีทุนอะไรบ้างในการไปสอน ผมคิดได้แค่สามอย่าง คือความรู้ในเนื้อหาวิชา (subject domain) ประสบการณ์จากชั้นเรียนของตัวเอง (past experiences) และลักษณะส่วนบุคคล (personality) พูดแบบนี้แล้วผมค่อนข้างมั่นใจว่าอาจารย์ส่วนใหญ่สอน แบบที่ตัวเองเคยถูกสอนมา จริงไหมครับ? ยอมรับไหมครับ?

Teaching the youngster to feed
อาจารย์ท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า บางครั้งการจะเลือกวิชาเรียนนั้น คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่าเรียนอะไร? แต่อยู่ที่ว่าเรียนกับใคร? คือให้ความสำคัญกับคนสอนมากกว่าเนื้อหา บางวิชาแม้จะดูไม่น่าสนใจ แต่คนสอนได้รับการยอมรับทั้งในหมู่อาจารย์และนักเรียน ในมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะมีบุคคลทรงคุณค่าแบบนี้สักกี่คนกันครับ

สองสามปีก่อนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเอกชนชื่อดังย่านหัวหมาก มีข่าวลือในหมู่อาจารย์ว่าทุกคนจะต้องเรียนประกาศนียบัตรการสอนจากคณะศึกษาศาสตร์ คือเรียนเกี่ยวกับการเรียนการสอนนั่นเอง เสียงตอบรับน่าสนใจมากครับ บางคนดีใจ บางคนกังวลเพราะต้องเดินทางจากวิทยาเขตบางนาเข้ามาที่หัวหมาก เรียนตอนเย็นแล้วถ้ามีสอนตอนเช้า จะเหนื่อยไปไหม ผมไม่แน่ใจว่าตอนนี้นโยบายเป็นอย่างไร บังคับว่าทุกคนต้องเรียนไหม แต่รู้ว่าทางผู้บริหารสนับสนุนให้อาจารย์เรียนหลักสูตรนี้แน่ๆ

เราต้องยอมรับไหมว่าคนเก่งนั้นมีน้อย และคนเก่งนั้นเก่งมาแต่กำเนิด ผมรู้ครับว่าความเชื่อของคนนั้นเปลี่ยนยาก ก็เหมือนกับอาจารย์ที่สอนเหมือนที่ตัวเคยถูกสอน เพราะเชื่อว่าเป็นวิธีที่ดี ผมอยากจะเปลี่ยนทั้งสองความเชื่อนี้ คือไม่เชื่อว่าคนเก่ง เก่งเพราะพรสวรรค์ คนสอนดี เพราะบุคลิกให้ และไม่อยากจะเชื่อว่าเราต้องสอนเหมือนที่เราเคยถูกสอน ผมพูดแบบนี้เหมือนอยากจะนอกกรอบ ผมคิดว่าเราจะดัดจริตทำตัวนอกกรอบไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้ว่ากรอบอยู่ตรงไหน ศิลปินที่สร้างสรรค์งานศิลป์แบบนอกกรอบ ล้วนเคยอยู่ในกรอบ พวกที่ไม่อยู่ในกรอบแล้วทำเป็นนอกกรอบเรียกว่ามั่วนะครับ เช่นเดียวกันกับการจะสอน ถ้าเราไม่รู้ว่านักทฤษฎีในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เถียงกันมาอย่างไรเกี่ยวกับการเรียนการสอน เราก็คงสอนไปแบบที่เราเรียนกันมา หรือไม่ก็สอนไปแบบที่เราคิดว่าดี และหวังว่าสักวันเด็กๆ คงจะเลือกเรียนวิชาที่เราสอนเพราะว่าเราสอน ไม่ใช่เพราะมันเป็นวิชาบังคับ

พูดมาทั้งหมดนี้ ผมค่อนข้างมั่นใจว่านโยบายของทางมหาวิทยาลัยแถวๆ หัวหมากนั้น น่าจะเป็นคำตอบที่จะเปลี่ยนความเชื่อของผมได้ แต่มันจะเกิดขึ้นได้หรือเปล่านั้น เราคงต้องเปลี่ยนความเชื่อของเราเองเสียก่อนนะครับ

คิดอย่างไรกับบ้างครับ? 

ภาพประกอบ
http://flickr.com/photo_zoom.gne?id=511910343&size=s โดย foxypar4

หมายเลขบันทึก: 132119เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2007 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

สวัสดีครับ คุณแว้บ

  • ความจริง เรื่องนี้ต้องพูดกันยาว คงคาดหวังความเห็นแจ่มๆจากบล็อกลำบาก เพราะบล็อกมีข้อจำกัดค่อนข้างมากในการนำไปอ้างอิง แต่ถ้าจะเป็นประตูไปสู่การคิดต่อ คุยต่อ อันนี้พอใช้ได้ แต่ถ้าจะให้ถึงเนื้อจริงๆต้องค้นคว้ามากๆ ทำวิจัยมากๆ ลงพื้นที่มากๆครับ
  • ผมจะเล่าเท่าที่ผมพอจะ (คิดว่า) ตัวเองรู้ละกัน (บางทีผมอาจจะไม่รู้อะไรเลยก็ได้)
  • ผมคิดว่า ปัญหาของอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ที่ไม่รู้วิธีสอน แต่หากเป็นการไม่รู้วิธีแสดงความรักในสิ่งทีตัวเองสอน ความรักต่อตัวนักศึกษา และความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆที่มากไปกว่าชั้นเรียน
  • บริบทภูมิหลังของอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นนักวิทยาศาสตร์ครับ คือไปติดอยู่กับ Science แม้สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ก็ยังต้องอิงกับ Science ซึ่ง Science ในที่นี้มันมีนัยยะของ Physical Science คือมีอคติต่อการใช้อารมณ์ความรู้สึกทุกชนิด
  • ผลิตผลของวิทยาการอย่างอาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ จึงไม่ไว้วางใจ และแปลกแยกต่อการแสดงอารมณ์ กลายเป็นหุ่นยนต์กลไก คิดอะไรต้องเป็นระบบ เป็นพวก Fordism อะไรประมาณนั้น
  • พอเจอโลกแห่ง "ความจริง" ในการเรียนการสอนที่มีนัยยะสังคมซึ่งต้องเกี่ยวพันกับคนมากมาย ก็เลยไม่รู้จะจัดการกับความรู้สึกอย่างไร แยกเอาไปไว้กันออกไปจากการสอน เด็กก็ไม่สนใจเพราะมันจืดชืด ไร้ชีวิตชีวา ครั้นพอจะดึงเอาความรัก ความสุนทรียเข้ามา ก็ไม่รู้จะจัดวางอย่างไรในวิชา เพราะตัวเองถูกล้างสมองไปแล้ว
  • การ "บังคับ" ผู้สอนไปเรียนศึกษาศาสตร์เพิ่มเติมไม่ช่วยอะไรเลยครับ หากศึกษาศาสตร์บ้านเรา ส่วนใหญ่ยังมีฐานคิดแบบแยกส่วนเช่นนี้

สวัสดีครับ...

การมีลูกบ้าทำนอกระบบบ้าง   ก็ช่วยให้เราเห็นอีกมิติหนึ่ง ...

การอิงระบบเป็นเรื่องน่าสนใจมาก ..

......

ระลึกถึงเสมอครับ

สวัสดีครับคุณพี่ยอดดอย

ขอตอบพี่ทีละประเด็นดังนี้นะครับ

ประเด็นสีชมพู เรื่องความรัก กับการเชื่อมโยง ที่พี่อ้างถึงการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ มากไปกว่าชั้นเรียนนั้น ก็เป็นหนึ่งในทฤษฎีการสอน เช่น contexual theory, และ situated cognition เรื่องเชื่อมโยงนี่ละครับ ที่ทำให้ผมเบื่อวิชาภาษาไทย ที่ต้องท่องกลอนไปเขียนสอบสุดๆ เพราะไม่รู้ว่าจะท่องไปทำไม จะได้ใช้อะไรอีกไหมในชีวิต ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วการเรียนเขียนอ่านกลอนนั้น ทำให้เป็นวิชาที่สนุกได้แน่ๆ ที่ผมสงสัยมากก็คือเรื่องความรัก เพราะผมไม่แน่ใจว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยรักในสิ่งที่ตัวเองสอนจริงหรือ ผมขอพูดกว้างๆ ว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมา แม้จะไม่นาน (เพิ่งจะพ้นวัยหนุ่มมาหมาดๆ ครับ) ผมพบคนมากมายที่ไม่ชอบในสิ่งที่ทำ เคยเห็นไหมครับ คนที่เป็นพ่อแม่ แล้วไม่อยากให้ลูกทำอาชีพที่ตัวเองทำ อาชีพที่ตัวเองหาเงินเพื่อเอามาเลี้ยงครอบครัว แต่ชิงชังกับมัน

ผมยังพบว่าทุนทางสัญลักษณ์ของอาจารย์นั้นยังมีให้เห็น หมายความว่า เป็นอาจารย์แล้วได้รับการนับหน้าถือตา เป็นที่ชื่นชม หลายคนเอาสัญลักษณ์ตรงนี้ไปต่อยอดทำอะไรหลายๆ อย่าง ที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษา เอาไปสอนพิเศษ เอาไปทำธุรกิจ แต่ไม่ได้ทุ่มเทให้กับวิชาชีพ

ประเด็นสีเหลือง เรื่อง Science นั้น ผมรู้สึกว่าเราให้ความสำคัญกับอะไรที่จับต้องได้จนเกินไป แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถือว่าเชยแล้ว ในโลกของการศึกษา และในโลกของการวิจัย ว่าไหมครับ หลายๆ อย่างที่จับต้องไม่ได้ วัดประเมินแบบจะๆ ไม่ได้ เราก็เอามาคุยกัน ยอมรับกัน ดูทฤษฎี string theory ของนักฟิสิกส์นั้นเป็นตัวอย่าง กะเกณฑ์กันไป ไม่มีอะไรให้เห็นกันเลย เรื่อง soft & hard science นี่ ผมว่าถ้ายังไม่ยอมรับก็คงจะคุยกันต่อลำบากครับ

ประเด็นสีน้ำเงินนั้น ต่อเนื่องมาจากสีเหลือง ซึ่งผมคิดว่า ตรงนี้แหละครับ ที่เราสามารถใช้ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีการเรียนการสอน ตั้งแต่ระดับองค์ความรู้ (epistemology) มาจนถึงทฤษฎี และภาคปฏิบัติ เข้ามาช่วย ผมไม่ได้หวังว่ามันจะทำให้เราทุกคนสอนเก่ง สอนดีขึ้นมาอย่างฉับพลัน แต่อย่างน้อย ถ้าเราสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในชั้นเรียน เข้าใจความแตกต่างของผู้เรียนแล้ว เราก็น่าจะสามารถปรับกลยุทธ์ ให้เข้ากับบุคลิกลักษณ์ของทั้งตัวเราและผู้เรียนด้วย

ขอกลับมาที่สีแห่งความรักอีกครั้งนะครับ ผมเชื่อว่าถ้าเรารักในสิ่งที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นการสอน การเป็นทนายความ การเป็นนักการเมือง หรืออาชีพอะไรก็ตาม คนรอบๆ  ตัวเราน่าจะรู้สึกได้นะครับ อาจจะไม่กี่คน แต่ต้องมีแน่ๆ ครับ

ขอบคุณพี่มากที่มา ลปรร ครับ 

เห็นด้วยนะคะ ถ้าอาจารย์มหาวิทยาลัยทุกคน จะต้องมีพื้นฐานด้านการสอนเพราะความรู้และประสบการณ์ในศาสตร์นั้นๆคงไม่พอ  ลำพังการถ่ายทอดความรู้  ก็ค่อนข้างยากแล้วหากไม่รู้หลักและวิธีการ  การปลูกฝังให้เด็กๆรู้จักคิดเป็น  แก้ปัญหาเป็น และที่สำคัญคือการสอนให้นิสิตมีความสำนึกดี ที่สามารถสอดแทรกไปในเนื้อหาในการสอน  และการเป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูกศิษย์ก้มีความสำคัญอย่างยิ่ง  เพราะสมัยนี้เด็กๆเค้ามีอิสระทางความคิด ถ้าเค้ามีต้นแบบที่ดีหรือที่เราจะเรียกกันให้ดูทันสมัย คือ ไอดอล  ที่ดี ไม่ต้องพรำสอนอะไรมาก เค้าสามารถรับรู้ได้จากสิ่งที่เค้าเห็น  

ดิฉันเชื่อค่ะว่า หากมี "ครู" ที่ดี 1 คนจะสามารถสร้างคนเก่งที่ดีให้สังคม อีกนับพันนับหมื่นคน  ในขณะเดียวกันหากมีครูที่เลวเพียงแค่สักคน   ก็จะไปเพิ่มคนเลวในสังคมอีกเป็นร้อยกี่พันคน เช่นกัน

 

สวัสดีครับ คุณแว้บ

 "อาจารย์จะมีทุนอะไรบ้างในการไปสอน ผมคิดได้แค่สามอย่าง คือความรู้ในเนื้อหาวิชา (subject domain) ประสบการณ์จากชั้นเรียนของตัวเอง (past experiences) และลักษณะส่วนบุคคล (personality)"

  • อาจารย์สะท้อนภาพได้ชัดเจน...ผมเห็นด้วยครับ
  • จะว่าลักษณะส่วนบุคคลนั้นเปลี่ยนยาก แต่บริษัทเอกชนหลายๆแห่ง เขายังสามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรของเขาได้ จากการกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
  • นั่นแสดงว่า ลักษณะส่วนบุคคลของผู้สอนย่อมเปลี่ยนแปลงได้ หากเลือกที่จะมอง และทำ
  • -----
  • ประเด็นเรื่องความรักที่คุณยอดดอยหยิบยกมา ผมคิดว่าสำคัญมากๆ
  • คนที่ทำงานด้วยใจรักมักจะทำได้ดี และมองหาวิธีทำให้ดียิ่งขึ้น
  • คนที่มีความรักแก่ผู้อื่น มักไม่ใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง ดังนั้น ก็ต้องมองหาหนทางเพื่อให้เกิดบรรยากาศการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
  • ผู้สอนควรเรียนรู้ LO & KM เพื่อรู้จักการสร้างบรรยากาศให้เกิดการเรียนรู้ครับ

อืม... เป็นประเด็นที่หน้าสนใจดีครับ เพราะผมเองก็ไม่เคยเรียนวิธีการสอนหนังสือมาเหมือนกัน พอมาเริ่มสอนจริง ๆ จัง ๆ ก็อาศัยเรียนรู้จากนักเรียนนั่นแหละครับ ว่าสอนแบบไหนแล้วดูมีการตอบสนองจากนักเรียนดีกว่ากัน พอกระตุ้นให้เด็กกล้าถาม กล้าตอบ ผมก็ได้เรียนรู้อะไรจากพวกเขาเยอะ ว่าควรจะ approach บทเรียนอย่างไร

ปล. ตามมาอ่านจาก bloggang ครับ เพิ่งรู้ว่าย้ายมาที่นี่

อาจารย์แผ่นดินครับ

P

การเป็นตัวอย่างที่อยู่ในกรอบบ้าง ออกไปนอกกรอบบ้าง บางครั้งก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นะครับ

ผมว่าลึกๆ แล้ว มันอยู่ที่เจตนานะครับ ว่าไหมครับ?

ขอบคุณครับ 

คุณปุ๊กครับ

P

ส่วนตัว ผมมองว่ามหาวิทยาลัยที่ไหนๆ ก็มุ่งผลิดแรงงานให้กับตลาด น้อยนักที่จะมุ่งเตรียมทรัพยากรที่มีสำนึกในการช่วยเหลือสังคม ถ้าจะต้องมีวิชาด้านจริยธรรม หลายๆ ครั้งมันออกมาแบบน่าเบื่อ แบบขอไปที

เรื่องเป็นต้นแบบนี้ผมทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยนะครับ คือผมมองว่านิสิตนักศึกษานั้นไม่ใช่เด็กไร้เหตุผล อายุก็ไม่น้อยแล้ว มีประสบการณ์มาจากวัยเด็ก พื้นฐานครอบครัว ถ้าบอกว่าครูอนุบาลหรือประถม ควรเป็นต้นแบบนั้น ผมเห็นด้วยเต็มที่ แต่เรื่องนี้ครอบครัวเป็นปัจจัยหลักครับ

พูดแบบนี้ไม่ใช่ผมบอกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยทำตัวเหลวแหลก ไปเที่ยวผับบาร์กับเด็กได้ เพราะผมก็เชื่อว่าอาจารย์เองก็ควรมีความเคารพในวิชาชีพตัวเอง และที่สำคัญความคาดหวังทางสังคม ยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก คืออาจารย์ต้องเป็นตัวอย่าง เป็นแม่แบบที่ดี ไปทวนกระแสมากนักก็คงไม่ดี

ขอบคุณครับ 

สวัสดีครับคุณกบ

P
เห็นด้วยว่าคนเราเปลี่ยนได้ครับ คนเราจริงๆ แล้วเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ช้าหรือเร็วเท่านั้น เรื่องบรรยากาศการเรียนนี่สำคัญมากๆ ๆ ๆ เลยครับ ว่าไหมครับ?
ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ แต่เป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยนึกถึง โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา และไม่ค่อยจะมีเทคนิคในการบริหารบรรยากาศให้มันน่าเรียนด้วย เรื่องนี้คุยกันได้ยาวเลยครับ
ขอบคุณครับ 

 

สวัสดีครับอาจารย์ tony almeida

อาจารย์สบายดีนะครับ

ขอบคุณที่ติดตามมาอ่านครับ ผมเองกว่าจะไปปิด bloggang อย่างเป็นทางการก็นาน ผมมองว่าจุดประสงค์ของ gotoknow ตรงกับความต้องการของผม ก็เลยตัดสินใจย้ายบ้านมาน่ะครับ

ถ้าอาจารย์มีเทคนิค ข้อคิดที่ได้จากประสบการณ์จริง เอามาแลกเปลี่ยนกันก็ดีนะครับ

ขอบคุณมากๆ ครับ 

สวัสดีค่ะอาจารย์วสะ

  •  ดิฉันแวะมาบันทึกนี้หลายรอบเลยค่ะ  อาจารย์ตอบดีจัง   ดิฉันชอบ 
  • นึกๆดูแล้ว  ดิฉันคิดว่า วิธีการสอน  กับ การออกแบบการสื่อสาร  เป็นเรื่องเดียวกันนะคะ 
  • การที่ผู้สอนรู้และเข้าใจเนื้อหาที่จะถ่ายทอดเป็นอย่างดี    เปรียบเหมือนแม่ครัวที่เห็นเครื่องปรุงและส่วนผสม  แล้วรู้เลยว่าจะทำออกมาเป็นกับข้าวอะไร
  • การที่ผู้สอนรู้จักวิธีการสอน  และเลือกวิธีการสอน(ออกแบบการสื่อสาร)ได้อย่างเหมาะสมกับเนื้อหา    เปรียบเหมือนแม่ครัวที่รู้เทคนิกวิธีทำกับข้าวประเภทนั้นๆให้อร่อยชวนรับประทาน
  • ผู้สอนแต่ละคน มีลีลาและเทคนิกการสอนเฉพาะตัว (ไม่ว่าจะผ่านการเรียนรู้เรื่องการสอนหรือไม่ก็ตาม   เพราะการสอน  คือการสื่อสารแบบหนึ่ง  คนแต่ละคน จะมีลีลาการสื่อสารเฉพาะตัว
  • แม่ครัวแต่ละคน  ก็มีฝีมือการทำกับข้าวเฉพาะตัวเช่นกัน   
  • ถ้าแม่ครัวขาดฝีมือ   คือแค่ทำได้ (ทำให้เกิดมีขึ้นมา)  แต่มิใช่ทำเป็น (ทำให้มีโดยวิธีการเป็นที่ชอบใจชื่นชมชวนติดตาม)แล้ว  
  • ก็ยากที่คนกินจะได้รับประทานอย่างเอร็ดอร่อย  รับรู้รสชาติของอาหารนั้นอย่างเต็มที่  
  •  และอาจไม่เต็มใจรับประทานจนหมดชั่วโมง  ทั้งที่อาหารนั้นมีคุณประโยชน์ต่อชีวิตเขา  : )
  • ดังนั้น  อาจารย์มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องรู้วิธีการสอนอย่างยิ่งยวด 
  • ขอบคุณอาจารย์มากนะคะสำหรับประเด็นดีๆ และความเห็นที่คมคาย    ท่านที่เข้ามาตอบก็ตอบได้น่าประทับใจจริงๆ   
  • ดิฉันคิดว่าต้องเข้ามาบันทึกดีๆบันทึกนี้ของอาจารย์ก่อนวันคริสต์มาสให้จงได้  : ) 
  • ตอนนี้หนาวมากรึยังคะ   โปรดรักษาสุขภาพและขอให้ทุกงานผ่านไปโดยราบรื่นนะคะ

สวัสดีครับ คุณแว้บ

สบายดีไหมครับ

  • ประเด็นนี้ดีมากๆ เลยครับ
  • เวลาว่างๆ ผมจะชอบถามเด็กๆ ให้เค้าลองบอกวิธีการสอนในแต่ละวิชาที่เค้าประทับใจให้เราฟัง หรือว่าถามเพื่อนๆ เราก็ได้ สนุกดีครับ ได้แนวทางอะไรมากๆ เลยครับ
  • ผมอาศัยเรียนเอาจากข้อแนะนำเหล่านี้ ประกอบกับการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันกับนักเรียน บางทีการสอนหรือการเริ่มต้นที่เราไปค้นหาสิ่งที่เด็กมี เอาใจเด็กมาใส่ใจเรา เอาสิ่งที่เราจะเพิ่มเติมเชื่อมโยงไปเสริมให้กับเด็กได้ น่าจะเป็นแนวทางหนึ่ง
  • ผมมีอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านเล่าให้ผมฟังว่า ท่านติดเอฟวิชาคณิตศาสตร์ตอนท่านเรียน แล้ววันนี้ ท่านก็เป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ ลองคิดดูนะครับ ว่าอาจารย์ท่านนี้จะสอนไดุ้สุดยอดขนาดไหน เพราะว่าท่านเข้าใจคนส่วนใหญ่ในห้องเรียน ท่านรู้ว่าส่วนไหนที่บอดที่น่าจะเบิกตา เบิกใจให้กับเด็กๆ ได้
  • ผมว่า อาจารย์ไม่ต้องเก่งหรอกนะครับ คือไม่จำเป็นว่าจะต้องเก่งในเรื่องสมองหรอกนะครับ แต่ให้ใจรัก และถ่ายทอดได้ดี พร้อมกับสร้างแรงจูงในชวนคิด คิดไปพร้อมๆ กันกับเด็ก แล้วเราจะลดช่องว่างได้ แล้วเราพร้อมที่จะรับจากเด็กเสมอ
  • หลายๆ ครั้งตอนเรียนหนังสือ ผมก็เรียนเอาจากเพื่อน เพื่อนจะหาโจทย์มาถามเรา ทำให้เราเข้าใจแล้วถ่ายทอดต่อให้กับเพื่อน บางครั้งก็ต้องบ่มกลับไปคิดแล้วมาคุยกันต่อ
  • ในคาบสอนก็เช่นกัน ผมตอบคำถามนักเรียนไม่ได้ทุกครั้งนะครับ แต่เราฝากกันไปชวนกลับมาคิดกัน เป็นการเปิดคลองใจที่จะให้น้ำแห่งการเรียนรู้ผสมร่วมกัน แต่ไม่ใช่น้ำกับน้ำมัน แต่เป็นน้ำที่ไม่ต่างกันระหว่างเราและนักเรียน
  • ผมไม่เคยได้เรียนในวิชาทางศึกษาศาสตร์ในเรื่องวิธีการสอน เราเลยต้องทำตัวแบบไร้ประสบการณ์ เอานักเรียนนี่หล่ะมาเป็นเพื่อนในการให้เค้าสอนเรา ให้เค้าสะท้อนให้กับเรา ให้เค้าบอกเราว่าเค้าอยากเรียนแบบไหน หากเค้าเป็นเรา เค้าจะสอนอย่างไร
  • มีวิธีล้านแปดผมว่า ที่อยู่นอกกรอบวิชาสาขาหรือหลักสูตรในการเข้าถึงแก่นของการถ่ายทอด เหมือนทำสูตรอาหาร สูตรใครก็สูตรคนนั้น ในวิชาหนึ่งอาจจะมีร้อยสูตรในการแนะนำเรียนรู้กับนักเรียนที่ต่างกลุ่มกัน
  • ผมว่าเราต้องรู้ใจกัน ระหว่างผู้รับและผู้ให้
  • อีกอย่างสื่อก็สำคัญมาก ว่าแบบไหนคิดได้ แบบใดคิดยาก แบบใดเข้าถึงเร็ว
  • ผมเองตอนนี้ก็ห่างหายการสอนน้องนักเรียนนักศึกษามานานครับ กลับไปก็ต้องให้เด็กสอนเราอีกเยอะครับ แล้วผมก็พบว่ามีโจทย์ที่น่าสนใจให้ทำอีกเพียบเลยครับ เช่น คุณจะสอนอย่างไรให้เด็กในระดับมหาวิทยาลัย ที่เค้ามีพื้นฐานในบางวิชาที่ยังไม่พร้อมจะต่อยอดในระดับอุดมศึกษา เราจะทิ้งลอยแพ หรือจะอุดรูรั่วให้เค้า
  • ขอบคุณมากครับ 

สวัสดีครับอาจารย์สุขุมาล

P 

เป็นการเปรียบเทียบที่น่าสนใจครับ พ่อครัวแม่ครัวดังๆ ที่สหรัฐฯ นี่แต่ละคนก็มีสไตล์แตกต่างกันไป ของที่อังกฤษก็น่าสนใจ แต่ผมว่าไม่มีชาติไหนฟรีสไตล์เท่าครับ เราทำอาหารกันไม่ช่างไม่ตวง กะๆ เอา ผมมองว่าเป็นเรื่องของวัฒนธรรมล้วนๆ คือบ้านเราไม่ค่อยจะสนใจตัวเลขกันนัก มีพี่ๆ หลายคนที่นี่ ทำอาหารกันเก่ง เขาก็พลิกแพลงกันน่าดู ส่วนผมคอยตามเก็บประสบการณ์ โดยการเป็นลูกมือไปก่อน

พ่อครัวแม่ครัวเองก็ต้องประเมินตัวเองอยู่เสมอ รับฟังเสียงวิจารณ์จากคนทาน และทำสำคัญต้องเปิดกว้าง ยอมรับคำติ เพื่อพัฒนาตัวเอง

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณเม้ง

P

ผมสบายดีครับ
ผมขอยกมือเห็นด้วยกับเรื่องคนเรียนไม่เก่งน่าจะสอนเก่ง (สมัยเรียนเคยสอบซ่อม และเรียน summer เลข ชีวะฯ แหะๆ)
ประสบการณ์ตรงของผมคือ (ประสบการณ์ส่วนตัวนะครับ) คนเก่งมักหวังกับเด็กสูง และให้ความสำคัญกับเด็กเก่ง คนไม่เก่งก็ยิ่งถูกทิ้งห่าง
เรื่องการแบ่งห้องเด็ก gifted หรือเด็กอัจฉริยะ ก็เป็นเรื่องที่เถียงกันไม่เลิกหรอกครับ
มันเป็นเรื่องของการแบ่งทรัพยากร การแบ่งเวลา และกำลังความรู้ของผู้สอน ว่าจะใส่ใจใคร บ้างก็บอกว่าสนใจคนเก่งไม่กี่คน สามารถสร้างสรรค์อะไรยิ่งใหญ่ให้กับโลก สนใจคนไม่เก่งให้เก่งขึ้นอีกหน่อยก็คงไม่ช่วยอะไร ดังนั้นเราทุ่มทุนให้เด็กเก่งดีไหม?
อาจารย์เม้งว่ายังไงดีครับ?
เรื่องการสอนตามกลุ่มเป็นเรื่องที่ผมทั้งอยากทำทั้งหวาดกลัว เพราะบ้านเรายังไม่ให้ความสำคัญกับอัตราส่วนผู้สอน / ผู้เรียน บทบาทของเราก็คงต้องเลือกสมดุลย์ระหว่างให้ความสำคัญกับน้องแต่ละคน และการตอบโจทย์ของเรื่องเวลา และหลักสูตร ซึ่งผมว่าเป็นประเด็นที่ท้าทายนะครับ
เรื่องสุดท้ายที่ผมชอบมากสำหรับข้อคิดของคุณเม้งคือคุณเม้งเรียกนักเรียนนักศึกษาว่าน้อง เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมติดใจ เพราะเคยทำค่าย YMCA แล้วพี่หัวหน้าค่าย พูดให้คิดว่า คำว่าน้อง มักตามว่า "เค้า" ส่วนคำว่าเด็ก มักตามด้วย"มัน"
เรื่องเล็กๆ ที่ควรใส่ใจจริงๆ นะครับ

สวัสดีครับคุณแว้บ

ขอบคุณมากครับผม  สำหรับคำตอบที่ดีครับ

เรื่องเด็กเก่งเด็กปานกลางหรืออ่อน ผมว่า การให้ความสำคัญนั้น ควรจะให้ความสำคัญให้เด็กเป็นคนดีได้เหมือนๆ กันครับ เพราะความเก่งนั้น สร้างกันได้ไม่ยาก ส่วนความดีนั้นสร้างกันให้เป็นพื้นฐานที่ควรมาก่อนคำว่าเก่ง

การให้ความสำคัญกับนักเรียนส่วนใหญ่และส่วนน้อยของห้องเป็นสิ่งที่ดี ที่ำทำให้เค้าไมู่้รู้สึกว่าโดนทอดทิ้ง

หากจะให้ผมเน้น ผมอยากมีลูกศิษย์ที่ดีและตั้งใจมากกว่าครับ ไม่ต้องเก่งครับ เน้นให้เค้าทำงานเป็นทีมได้ ก็สร้างเรื่องราวดีๆ ได้เช่นกัน เพราะหากเรายิ่งสอนให้เก่ง จะยิ่งเกิดความเห็นแก่ตัวสูงครับ เพราะบันไดแห่งความเก่งมักจะแข่งขันกันเสมอ แต่บันไดการทำงานเป็นทีมนั้น เห็นการเห็นใจกันในเพื่อร่วมเรียน

หากมีคนเก่งเราทำให้คนเก่งมีใจเอื้อเฟื้อได้ นักเรียนเค้าจะสอนและถ่ายเทกันเอง การทดสอบบ้างครั้งไม่ต้องทดสอบเอาเป็นเอาตายครับ แต่เน้นให้เกิดกระบวนการคิดครับ  และประเมินตัวเองที่จะนำไปสู่การพัฒนาต่อไป

หากเราลดช่องว่างระหว่างคนเรียนกับคนมาร่วมเรียนได้ก็จะดีมาก เพราะครูใช่ว่าจะให้ตลอดเพราะต้องรับด้วย นักเรียนก็เช่นกันครับ น่าจะเป็นการมาเจอเพื่อปรับสภาพการถ่ายเทความเข้าใจร่วมกันครับ

ขอบคุณมากครับ 

เคยไปสอบอาจารย์ที่คณะหนึ่ง ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้มีการสอบข้อเขียน สอบเขียนบทความ สอบสอน และสอบสัมภาษณ์ ดิฉันสอบผ่านหมด ยกเว้นสอบสอน ค่ะ สงสัยสอนไม่ดี

สวัสดีครับ

อาจารย์ที่รู้วิธีสอนคน ถามกลับว่าใครเป็นคนสอนอาจารย์คนนั้น

อาจารย์คนที่เป็นคนสอนอาจารย์ที่รู้วิธีสอน ใครเป็นสอนวิธีสอนให้ 

ถามย้อนกลับไปเรื่อยๆ 


จะเห็นว่า อาจารย์คนแรกไม่ได้เรียนรู้วิธีสอนมา ก็สามารถสอนได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท