“คุณเอื้อ คุณประสาน คุณอำนวย คุณกิจ” ของแท้ๆ ดีกว่าของเทียม


ทุกคน ต้องเป็นทุกอย่าง ไม่มีการแยกแยะ แต่คนละลำดับชั้นการทำงานกันเท่านั้น

 

จากการอ่านรายงานความก้าวหน้าของการทำงานด้านพัฒนาการจัดการความรู้ใน blog ต่างๆ

  

ผมค่อนข้างจะจับประเด็นไม่ค่อยได้ เวลาอ่านพบกิจกรรมพัฒนา “KM” ของแต่ละกลุ่มทำงาน และองค์กร ที่กล่าวว่า

  มีการฝึกนักจัดการความรู้ (โดยเฉพาะคุณอำนวย) ที่มีการทำงานต่างระดับ ที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก  

เพราะที่อาจเป็นไปได้ ในระดับการทำงาน ก็อาจมีตั้งแต่ขั้นต้นแบบกลัวๆ กล้าๆ ผู้ผ่านงาน จนถึงระดับจิตวิญญาณ ได้ดังนี้

  

1.     ระดับ สมมตินามตามความในท้องเรื่อง แบบพระเอกลิเก เป็นแค่หน้าฉาก เลิกงานก็เลิกเป็น เลิกทำ

 

2.     ระดับ นักเรียนกำลังหัดเขียนหนังสือ นอกจากคุยให้เพื่อนฟังเล่นๆแล้ว คงยังสอนใครไม่ได้มาก

 

3.     ระดับ นักศึกษาฝึกงาน กำลังเรียนรู้ อาจสอนเด็กประถมได้บ้าง

 

4.     ระดับ มือใหม่หัดขับ ที่อาจบอกคนที่ไม่เคยทำได้บ้าง

 

5.     ระดับ ผู้มีประสบการณ์ อาจเริ่มงานแบบเบื้องต้นได้

 

6.     ระดับ ผู้เชี่ยวชาญ สามารสนับสนุนให้ผู้อื่นเรียนรู้ได้ดี

 

7.     ระดับ อรหันต์ ที่ทีกระบวนท่าหลากหลาย จนถึงไร้กระบวนท่าในการทำงาน

  

ดังนั้น การพัฒนา คุณเอื้อ คุณประสาน คุณอำนวย และคุณกิจ ทั้งตัวอย่างที่แบ่งมาทั้ง ๗ ขั้นนั้น ยังจะมีในหลายรูปแบบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคน จะต้องผ่านทั้ง ๗ ขั้นทีละขั้น ทั้งนี้ก็แล้วแต่ความสามารถ เฉพาะตัว

  

บางคนอาจกำลังขาดี ก้าวข้ามขั้นบางขั้นไปเลยก็ได้

  

แต่พอพูดถึงการพัฒนาก็อาจมีระบบลักจำ ที่อาจเคยไปดูคนอื่นทำ แต่ตัวเองไม่ได้ฝึก ก็อาจยังนำมาสมมติว่าฝึกมาแล้ว ก็อาจเป็นได้

  

จากการสะท้อนตัวอย่างที่ดีจากวีดีโอ ครูสมพรสอนลิง นอกจากระดับการฝึกหัดพัฒนาตัวเองทั้ง ๗ ระดับแล้ว ยังทำให้ได้ประเด็นที่น่าจะนำมาพิจารณาว่า คุณ ของแท้ๆนั้น มีลักษณะที่สังเกตได้จากการทำงาน และจัดการความรู้อย่างไร

  

ลักษณะที่เด่นๆ ของ คุณๆ ต่างๆ ก็คือ

 

1.     ความสามารถในการแยกแยะ และเข้าใจข้อเด่นข้อด้อยของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม และนำความรู้ที่ได้มาปรับกระบวนการทำงานให้ราบรื่น และเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย อย่างสอดคล้องกัน

 

2.     ความสามารถในการจัดหรือสนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรู้ ทั้งของตนเอง และผู้อื่น อย่างเชื่อมโยงกัน

 

3.     ความสามารถในการกำหนดขั้นตอน และปรับเทคนิคเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

 

4.     ความสามารถในการทำงานแบบบูรณาการทั้งของตนเองและผู้อื่น ในทุกรูปแบบ

  

ประเด็นสุดท้ายนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้งานเดินไปได้อย่างราบรื่น ในทุกสถานการณ์ ที่สะท้อนการเป็นนักจัดการความรู้ตัวจริง ของแท้ ไม่ว่าจะเป็นคุณเอื้อ คุณประสาน คุณอำนวย และคุณกิจ ซึ่งอาจต่างกันในเชิงกิจกรรมบางเรื่องบางเวลาเท่านั้น

  

ดังนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว ทุกคน ต้องเป็นทุกอย่าง ไม่มีการแยกแยะ แต่คนละลำดับชั้นการทำงานกันเท่านั้น แบบเดียวกับการเล่นฟุตบอลในสนามแข่งขัน ทีมผู้เล่นทั้ง ๑๑ คนจะมาคอยเกี่ยงกันไม่ได้ คนที่เกี่ยงกันคือ นักฟุตบอลเทียม นอกจากจะถูกคนดูโห่แล้ว ยังจะไม่มีใครจ้างให้เล่นต่ออีกด้วยครับ

  นี่คือเกณฑ์แบ่งง่ายๆ ครับ ระหว่างของแท้ กับของเทียม ขอบคุณครับ
หมายเลขบันทึก: 78633เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2007 07:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

อาจารย์ดร. แสวงเสนอข้อคิดตรงใจผมจริงๆ ครับ

ผมเองก็คิด (แล้วก็กล้าๆ กลัวๆ) ที่จะแลกเปลี่ยนความคิดกับเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน

 ตัวผมเองไม่ค่อยมีความรู้ด้าน KM นัก แต่เท่าที่อ่านบล็อก โดยพยายามจะเข้าไปดู "บล็อกล่าสุด" เป็นหลัก เพื่อที่จะได้ไม่ลำเอียง ดูแต่คนที่คุ้นเคย 

แต่ก็พบว่าส่วนใหญ่จะไม่มีประเด็นโดนๆ เลยครับ ส่วนตัวผมแล้วถ้าหัวเรื่องไม่น่าสนใจ ผมไม่ดู ถ้าหัวเรื่องน่าสนใจก็จะอ่านแบบคร่าวๆ ก่อน ถ้าดูแล้วมีประเด็น ถึงจะอ่านจริงๆ อีกหน

ผมอยากจะลองเก็บสถิติดู ว่าโดยหลักการของ gotoknow ที่เน้น tacit knowledge กับบล็อกเกอร์ที่เขียนกันอยู่ในนี้ ไปในทางเดียวกันหรือไม่ เห็นหลักการของท่านอาจารย์ดร. แสวงทั้งสี่หัวข้อแล้ว น่าจะใช้เป็นเกณฑ์ได้ดีเลยทีเดียวครับ ขอเวลาผมสักปีหรือสองปี (เพราะตอนนี้เรียนในห้อง แล้วการบ้านก็เยอะเหลือเกินครับ) น่าจะได้ข้อมูลอะไรบ้างนะครับ

หรือใครเห็นว่าน่าสนใจอยากลองศึกษาดู ก็เชิญเลยครับ 

ดิฉันมีคำถามและข้อสังเกตุค่ะ

  • การศึกษาในระบบ เป็นตัวช่วยทำให้อาจารย์สามารถแจกแจง ปรากกฏการณ์ที่ประสบออกมาได้แบบที่อาจารย์ทำอยู่ใช่หรือไม่
  • แล้วเวลา เราเอาสิ่งที่อาจารย์แจกแจงแล้วนำกลับไปสู่การปฏิบัตินั้น มันช่วยทำให้เข้าใจงาน หรือสามารถพัฒนางานที่ทำอยู่ให้ไปได้ลื่นไหล มั้ย
  • ผู้ที่เรียนจบการศึกษาในระบบระดับของอาจารย์มี การมองเรื่องต่าง ๆ แล้วแจกแจงเหมือนที่อาจารย์มองหรือไม่
  • อย่างไรก็ตาม อ่านที่อาจารย์เขียนแล้วก็จะรู้สึกว่าใช่ ทุกครั้ง ทำไมถึงเป็นแบบนั้น และมันไม่ควรเป็นเช่นนั้น เพราะจะทำให้คุยกันไม่สนุก พอรู้สึกว่าใช่ มันก็ไม่รู้จะโต้ตอบอย่างไร มันสยบ อย่างไรพิกล
  • หรือว่าสิ่งที่อาจารย์สรุปไว้มันเป็นสัจจะ หรือ มีสัจจะ ด้วยหรือ ดิฉันเห็นแต่สิ่งที่มันเลื่อนไหลไปเรื่อย ปรับอยู่ตลอด

เพิ่มความเห็นต่อค่ะ

  • ดังนั้น ข้อสรุปที่ให้อาจารย์ในเรื่องต่าง ๆ นั้นจะมีการพัฒนา เนื้อหาเพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไร

อาจารย์แสวงครับ

การเล่นฟุตบอลเป็นทีมที่อาจารย์พูดถึง มันเป็นเทคนิคสมัยใหม่เลยนะครับ ที่ว่าทุกคนสามารถเล่นได้หลายตำแหน่ง ซึ่งตรงนี้ผู้จัดการทีมจะชอบมาก สำหรับการวางหมาก จัดทีมลงสนาม โดยเฉพาะในทัวร์นาเมนต์ที่ต้องเตะหลายๆนัดติดต่อกัน นอกจากนี้แล้วไม่เพียงนักเตะตัวจริงที่ลงสนามจะมีความสำคัญเท่านั้น ตัวสำรองที่นั่งอยู่ข้างสนามก็พร้อมที่จะเสียบไปเล่นเพื่อเปลี่ยนเกมส์ให้ดีขึ้นได้ ไม่ใช่ลงไปเพื่อถ่วงให้ทีมเล่นได้ไม่ไหลลื่น    ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ผมสรุปรวบความว่า แก่นหรือหัวใจของการทำงานเป็นทีมก็คือ "สปิริต" ความเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน ไม่มีใครเป็นซุปเปอร์สตาร์ (มีก็ได้แต่ตั้งคิดถึงทีมเป็นหลัก ไม่ใช่หยิ่งคิดว่าตัวเองเด่นเล่นได้คนเดียวเท่านั้น) ทุกตำแหน่งมีความสำคัญเท่ากัน ทั้งทีมต้องช่วยกัน รุ่นพี่ ช่วยประคองรุ่นน้อง ถ่ายทอดเทคนิควิธีการเล่น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของรุ่นพี่ ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ผู้เล่นที่ไต่เต้าก้าวขึ้นเทียบชั้นซุปเปอร์สตาร์ได้ จะมีดาวในดวงใจอยู่ สำหรับเป็นแนวทางของการเล่น แต่ไม่ใช่ลอกเลียนแบบการเล่นมาทั้งด้น ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีอีกครั้งจะพบว่าลึกๆจะมีแวว ลีลา ท่าทาง เทคนิค วิธีการคล้ายๆกันอยู่บ้าง ดั่งที่นักวิเคราะห์ถ้าเห็นผู้เล่นดาวรุ่ง รุ่นใหม่ๆได้มีโอกาส ลงเล่นสนามแล้วโชว์ฟอร์มเยี่ยมน่าประทับใจ ก็จะวิเคราะห์ว่าเล่นคล้ายๆกับซุปเปอร์สตาร์คนนั้นคนนี้  อนาคตคิดว่าจะรุ่งแน่นอน ถ้าได้รับการประคบประหงม ดูแลอย่างดี ไม่ให้เหลาะแหล่ะ ออกนอกลู่นอกทาง และที่สำคัญก็คือ "เรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์" ได้ลงเล่นบ่อยๆ  ลีลาก็จะแพรวพราวมากขึ้น 

ซุปเปอร์สตาร์ในดวงใจของผมเองก็มีหลายคนนะครับ ก็พยายามเรียนรู้หัดลองฝึก ลองใช้เทคนิควิธีการเล่นอยู่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีอาจารย์แสวงนี่แหล่ะที่เป็นดาวในดวงใจของผมเช่นกัน แม้ไม่เคยเห็นตัวจริง แต่ก็จะศึกษาจากวีซีดี จากบล็อก ที่เห็นอาจารย์ลงเล่นเป็นสนามให้ผมได้เรียนรู้  คิดว่าถ้ามีบุญพาวาสนาส่งคงได้พบอาจารย์แสวงตัวจริงสักครั้งนะครับ  

ผมไม่ได้เป็นอาจารย์ ไม่ได้จบดอกเตอร์ เป็นเจ้าหน้าที่ตำแหน่งเล็กๆคนหนึ่ง เพิ่งเรียนรู้การใช้ gotokhow เมื่อวานนี้เอง เขาให้บันทึกในสิ่งที่อยากจะเขียนลงไป โดยให้หัวข้อว่ามีความประทับใจอย่างไรกับที่ทำงาน แล้วจะทำอะไรต่อไปให้กับหน่วยงาน พอเขียนแล้ว Post ลงไปเราเองยังรู้สึกว่าตลกเลย เพราะตอนที่ทำยังไม่รู้ว่าเมื่อ Post ลงไปในแล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง พอคนอ่านของคนอื่นจึงได้รู้ว่า ของตัวเองไม่อ่านเลย แถมยังไม่รู้ว่าใช่ หรือตรงตามวัตถุประสงค์ของ web นี้หรือเปล่า แต่สำหรับผู้มี่ประสบการณ์ในการใช้ web นี้มากกว่าผมก็อาจจะเขียนหัวข้อ หรือเรื่องราวที่น่าอ่าน แต่ปัญหามีอยู่ว่า KM ที่กำลังทำใน web นี้ต่างกับห้อง Chat ที่เด็กๆ เขาคุยกันแล้วผู้ใหญ่อย่างเราๆ ไม่ค่อยจะเห็นด้วยกันเท่าไร ต่างกันแค่ไหน ใช่บางครั้งเขียนเป็นวิชาการหน้าอ่านดี แต่เนื่องจากถ้าเอาเวลามาคัด มาอ่าน จะเป็นเวลาไหนก็ตาม ต้องใช้เวลามาก เพราะเนื่องจากทุกอย่างเป็นห้องรวม คนเขียนก็พยายามจะเขียน ผู้อ่านก็เข้าไปอ่าน จะตอบก็ไม่กล้า เนื่องจากต้องรักษาความรู้สึกของผู้เขียนและผู้อ่านคนถัดไป ตามความเข้าใจของผม KM เป็นแหล่งรวมความรู้เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความรู้ แต่ไม่รู้จะแลกกันอย่างไร คือถ้าเป็นกระทู้แล้วช่วยๆ กันตอบช่วยกันถามไปเรื่อยๆ ก็พอจะเข้าใจ แต่ตอนนี้ไม่ค่อยเข้าใจ ผมต้องขอโทษอาจารย์ด้วย พอดีอ่านของอาจารย์แล้วก็ตรงใจดี แต่ผมความเข้าใจน้อย เลยอาจจะเขียนอะไรตามความคิดของตนเองมากไปหน่อย ขอโทษคนอ่านด้วยถ้าไม่เข้าใจที่ผมเขียน หรือมีความรู้สึกที่ไม่ดีที่ผมเขียนแบบนี้ ผมแค่เขียนตามความเข้าใจผมที่เพิ่งเรียนมาเมื่อวานนี้ครับ 

พูดถึงเรื่องฟุตบอลแล้ว ผมว่าผู้จัดการทีม หรือโค้ชก็มีส่วนสำคัญนะครับ การเล่นแบบทุกคนแทนกันได้หมดนั้นทำได้ยากมากครับ ต้องการทั้งคุณภาพผู้เล่น ความสามัคคี และระบบที่ดีครับ ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ดี ก็หมดท่าล่ะครับ

ถ้าจะเปรียบเทียบกับที่อาจารย์ ดร.แสวงกล่าวไว้ข้างต้นนั้น ผมขอมองว่าผู้จัดการทีมคือผู้กำหนดนโยบาย ไม่รู้จะสูงไปหรือไม่นะครับ ผมเชื่อว่าอย่างไรแล้วก็ต้องมีคนที่คอยดูภาพรวมของระบบครับ อันนี้พูดกว้างๆ เลยนะครับ ไม่ได้เน้นว่าระบบอะไร

ผมก็เห็นด้วยกับคุณพรหมลิขิตครับ ว่า ประสบการณ์ นั้นสำคัญมาก ผู้เล่นแต่ละคนก็ประสบการณ์ต่างกัน คนที่มีประสบการณ์มากกว่าก็ต้องคอยประคองเกมไปให้รุ่นน้อง

 ผมใจร้อนรออาจารย์ ดร.แสวงมาตอบไม่ไหว ขอตอบก่อนเลยนะครับ ที่คุณศิริลัคนา ถามไว้ว่า 

  • เรื่องการศึกษาในระบบนั้น ส่วนใหญ่แล้วตัวผู้สอนมีส่วนในการช่วยให้เราสามารถเข้าใจประสบการณ์และเนื้อหาการเรียนได้ จากนั้นถึงมีการแจกแจงครับ ถ้าผู้สอนดี ช่วยชี้แนะก็จะทำได้ง่าย มาคิดแจกแจงเอง ทำได้ แต่ใช้เวลาครับ
  • สิ่งที่เราแจกแจง (ผมเข้าใจว่าหมายถึงการสังเคราะห์ ใช่ไหมครับ) ก็สามารถนำกลับมาใช้ได้ นำมาบอกต่อได้
  • ผมเชื่อว่าคนเราเรียนนอกห้อง หรือในห้องได้เหมือนกันครับ ผลการเรียนก็แตกต่างกันไป ก็อยู่ที่จริตของแต่ละคน
  • เห็นด้วยหรือไม่ คิดว่าใช่หรือไม่อันนี้ต้องแล้วแต่พื้นฐาน และประสบการณ์ครับ
  • ผมว่าความจริงของสังคม เปลี่ยนไปตามคนในสังคม และสังคมก็เปลี่ยนไปตามคนครับ มันหมุนวนกันไปอย่างที่คุณศิริลัคนาว่าไว้เลย
  • ตามที่ผมเข้าใจความหมายของ อาจารย์ ดร.แสวง นั้น ท่านหมายถึงการที่เราแลกเปลี่ยนประสบการณ์จริง ไม่ได้เขียนตามหนังสือ หรือเขียนแบบไม่มีการนำข้อมูลที่ปฏิบัติจริงมาแลกเปลี่ยน ถ้าเอาข้อมูลที่ทำจริง เห็นผลจริง ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว ก็จะได้มาคุย แลกเปลี่ยนกันได้ครับ 

แต่ละพื้นที่ ก็มีความต่างของคน วัฒนธรรม และความเชื่อ ทั้งในระดับองค์กร และชุมชนครับ ถ้าเป็นอย่างที่ท่านอาจารย์ดร.แสวงหวังไว้ในระดับที่สี่ ก็คือสามารถนำความรู้มาปรับใช้ได้กับสถานการณ์ต่างๆ ด้วยประสบการณ์ที่รวมกัน และไหลเวียนกันอยู่ในชุมชนนี้

โปรดรอท่านอาจารย์ดร.แสวงมาชี้แจงอย่างกระจ่างอีกครั้งแล้วกันนะครับ ผมขอเสนอความเห็นไว้เท่านี้

ผมเปิดมาด้วยความตื่นเต้นที่มีนักวิชาการและนักพัฒนาระดับจิตวิญญาณ "กระบี่อยู่ที่ใจ" เข้ามาแสดงความเห็นต่อยอด ได้สูงกว่าผมเขียนไว้แต่เดิมมากเลยครับ และผมขอตอบรวมเลยนะครับ

ท่านจะกล่าวว่าอยู่ในระดับไหนนั้น ไม่สำคัญเท่ากับภูมิปัญญาที่ท่านแสดงออกมาอย่างคม ชัด ลึกจริงๆ จนผมไม่แน่ใจว่าจะตอบได้ถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ พลาดบ้างก็คงไม่ว่ากันนะครับ

  • คุณตุ๊ครับ ที่ผมเขียนมาแทบไม่มีมาจากการศึกษาในระบบ ส่วนใหญ่ เกิน ๙๐% มาจากประสบการณ์ตรงและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การศึกษาในระบบเพียงทำให้ผมรู้ว่าระบบเป็นอย่างไร ทำให้ผมกล้าแสดงออกมากขึ้นเท่านั้น
  • ผมฝึกการทำงานเชิงระบบ วิเคราะห์ระบบมาตลอดกว่า ๓๐ ปี ก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้ผมเข้าใจอะไรได้เร็วกว่าเดิม ที่คุณตุ๊มองว่า หาจุดโต้แย้งได้ยาก เพราะผมนำแนวคิดเชิงระบบมาเสนอครับ
  • การปรับเอาความรู้ที่ผมเสนอไปใช้ในงานนั้น น่าจะทำให้งานดีกว่าเดิม นี่คือเป้าหมายในการนำเสนอของผมอยู่แล้ว อะไรปรับใช้ไม่ได้ ขอให้แย้งเลยครับ ผมจะได้ไม่หลงทาง และผมยอมรับว่าที่ผมนำเสนอนี้เป็นแค่ ระดับนักเรียน ป๔ บอกนักเรียน ป ๑ เท่านั้น เพราะผมเอาประสบการณ์ตรงมาเล่าสู่กันฟัง มิได้คิดว่าตัวเองรู้มาก หรือเป็นครูแต่อย่างใด แต่ผมก็อยากจบ ป ๔ ไปเป็นครูเหมือนกัน ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะสำเร็จ
  • ที่ผมไม่กล้าเรียกตัวเองว่าครู เพราะผมก็ยังเรียนอยู่เลย และคำว่า "ครู" ฟังเหมือน ไม่ต้องเรียนอีกแล้ว นะครับ
  • ถ้าใครที่ทำงานเชิงระบบ ระดับ พูดจริง ทำจริง ผมว่าไม่น่าจะแตกต่างกัน อันนี้ไม่นับคน "พูดจริง ทำเล่น" นะครับ  คุณตุ๊คงเข้าใจความหมายคำพูดนี้นะครับ
  • พูดจริง ทำเล่นคือ ดีแต่พูด ไม่เคยทำ และมักทำไม่เป็น ความรู้จะเฉาตายอยู่แค่ที่เห็นมา ไม่งอกงาม เหมือนขอกล้าไม้มาวางไว้แต่ไม่ปลูกนั่นแหละครับ โตได้ก็เก่งละครับ
  • สาเหตุที่คุณตุ๊แย้งผมยากนั้น มาจากความคิดเราตรงกัน ประสบการณ์ใกล้เคียงกัน แต่ดูเหมือคุณตุ๊จะขาดในสิ่งที่ผมมีสักอย่างสองอย่างนะครับ โดยเฉพาะความคิดเชิงระบบที่คุณตุ๊อาจจะยังตามผมไม่ทัน ก็เลยหาจุดแย้งยังไม่ได้
  • ถ้าคุณตุ๊ฝึกความคิดเชิงระบบอีกนิดเดียว แซงผมแน่นอน เพราะคูณตุ๊มีอย่างอื่นพร้อมกว่าผม
  • ที่ผมสรุปยังไม่ถึงสัจจะ แต่เป็นระดับความจริงที่ปรากฏจากประสบการณ์การทำงานครับ
  • ถ้าคุณตุ๊ไปฝึกเรียนเชิงสัจจะธรรมเมื่อไหร่ คุณตุ๊จะเห็นช่องว่างผมเพียบเลย ผมก็พอมองออกบ้าง แต่ก็อยากปล่อยให้เป็การแลกเปลี่ยนเรียรู้ครับ
  • ทุกอย่างพัฒนาได้แน่นอนครับคุณตุ๊
  • ไม่เข้าใจจะถามเพิ่มได้นะครับ ด้วยความยินดีอย่างที่สุดครับ

 

คุณพรหมลิขิตครับ

  • ขอบคุณครับที่ขยายความเรื่องฟุตบอล
  • ผมก็พอดูเป็นนิดหน่อย ไม่แตกฉาน
  • เห็นเขาวิ่งกันเต็มสนาม ไม่มีใครยืนอยู่กับที่สักคน ผมก็เลยเลียนแบบมาอธิบายครับ
  •  เพราะ ผมรู้สึกว่า คุณเอื้อ คุณอำนวย คุณประสาน คุณกิจของเราส่วนใหญ่ยืนอยู่กับที่ (สำนักงาน หรือ ที่ทำงาน) ไม่วิ่งเต็มสนามจริงๆ  แม้จะวิ่ง ส่วนใหญ่จะวิ่งอยู่มุมเดียว ก็บอกว่าลงสนามแล้ว
  • ผมไปทำงานแบบจรยุทธ์กับชุมชน จนชุมชนแทบจะทั่วอีสานถามว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีกี่คน ข้าราชการหน่วยงานต่างๆ มีกี่คน แล้วกี่คน ทำอย่างที่ผมทำ
  • ผมไม่รู้จะตอบเขาว่าอย่างไร นี่คือแรงบันดาลใจหนึ่ง ที่ทำให้ผมเขียนเรื่องนี้
  • ผมยังคิดว่าตัวเองเป็นนักเรียนชั้น ป ๔ สอน ป ๑ จริงๆนะครับ มีอะไรอีกมากมายเลยที่ผมยังงกๆเงิ่นๆ งูงู ปลาปลา แต่ก็บังเอิญกล้าและยินดีแลกเปลี่ยนกับทุกคนครับ

ขอบคุณครับที่ยกย่อง ผมยังไม่กล้ารับครับ

เดี๋ยวงานจัดการความรู้ต่างๆก็คงเจอกันครับ

คุณวุฒินันท์ครับ

ยินดีต้อนรับสมาชิกใหม่ครับ

ตำแหน่งและยศฐาบรรดาศักดิ์ใดๆ ไม่ได้เป็นเครื่องชี้บ่งระดับภูมิปัญญาหรอกครับ

เราวัดกันที่ "กึ๋น" ครับ อันนี้ภาษาไทยกับฝรั่งตรงกันพอดี (ฝรั่งใช้ "gut" ครับ)

ใน gotoknow เราควรจะทำอย่างมีประโยชน์ ต่างจากวัยรุ่นครับ

บังเอิญคำว่าวัยรุ่นนั้น ดร. จันทวรรณ ใช้อายุ งาน และภาษานำเสนอ เป็นตัวแยก โดยไม่พิจารณาพฤติกรรมในระดับภูมิปัญญา ก็คงมีหลุดๆ ไปบ้างแหละครับ

บางคนก็เข้ามาเขียนแบบวัยรุ่น เจาะแจะศาสตร์ ไปวันๆ แต่ด้วยตำแหน่ง หน้าที่ วัย ทำให้ผู้ดูแลระบบอย่าง ดร. จันทวรรณ ไม่กล้าแตะ บางครั้ง ดร. จันทวรรณ ก็ยังร่วมสังฆกรรมเจาะแจะศาสตร์ กับเขาไปด้วย ก็เห็นอยู่บ่อยๆ

อย่างว่าแหละครับ คนมีอำนาจควบคุมจะทำอะไรก็ไม่รู้จะมีใครกล้าไปตอแย เลยกลายเป็นถูกไปหมด โดยปริยาย แหละครับ

ระดับความความเข้าใจคือสิ่งที่เรานำมาแลกกันครับ ถ้าเข้าใจเท่ากันไม่ต้องแลกก็ได้ครับ ไม่ค่อยได้ประโยชน์

คำว่าระดับนั้น จะไม่มีใครเท่ากับใครในทุกเรื่อง จึงกลายเป็นการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

อย่ากลัวว่าจะผิด ขอให้เพียงนำเสนอตรงไปตรงมาก็พอแล้วครับ

 

อาจารย์วสะครับ

ขอบพระคุณมากครับที่ตอบคุณตุ๊ แทนผม ดีกว่าผมตอบเองครับ

จึงขอตอบต่ออีกนิดเดียวครับ

การเล่นแทนกันนั้นจะให้เหมือนกัน ๑๐๐% คงเป็นไปไม่ได้ครับ

ผมเพียงหมายถึงทำหน้าที่ "แทน" กันในระดับที่ไม่ทำให้งานเสียหายนะครับ เช่น เวลาผู้รักษาประตูพลาด ก็น่าจะมีกองหลัง หรือใครก็ได้หนุนอุดประตูไว้ได้ทันท่วงที ประมาณนั้นครับ ก็น่าจะพอไหวใช่ไหมครับ

คุณตุ๊นะระดับจอมยุทธ์ "ลมปราณคุมกระบี่บิน" แล้วครับ ที่ถามผมมานั้นน่าจะเป็นการ "ทดสอบ" แนวคิดของผมมากกว่าครับ

ใช่ไหมครับคุณตุ๊

  • แอบมาอ่านครับ
  • เข้มข้นดีครับ

ดิฉันไม่ค่อยจะได้ทำ"ทดสอบ"คนอื่น ....นะคะอาจารย์ แต่ถามจากใจและความรู้สึกแรกที่ได้อ่านบทความของอาจารย์วันนี้

ดิฉันทำงานพึ่งใจตนเองมาก บางทีก็นั่งทางในเลย ไปนั่งอยู่ในที่ ที่ คิดว่าจะจัดเวทีบริวเณนี้ ก็จะไปนั่งแถวนั้น ฟังดูในใจตัวเองว่า มันควรจะเป็นจุดไหนดีหนอ...บางทีก็อธิษฐาน เจ้าป่าเจ้าเขา ช่วยดลจิตดลใจลูกด้วยเถิด

อ่านบทของอาจารย์เหมือนกันค่ะ

และที่ทำอีกอันคือ อ่านที่อาจารย์เขียนแล้วเทียบเคียงกับประสบการณ์ของตนเอง หรือเวลาได้ไปเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ สิ่งที่มันเกิดขึ้นคือมันจะตื่นเต้นถ้ามันเทียบเคียงกับประสบการณ์ที่เราเคยทำได้

มีคนบอกว่า ให้ฟังเสียงแรกจากใจของเรา บางทีก็เป็นจริงค่ะ

ดิฉันคิดว่า ปัญหาอยู่ที่ถ้าคนตัดตอน อ่านงานของอาจารย์โดยไร้ฐานของการทำงาน จะทำให้ติดอยู่ในตัวหนังสือ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นตรรกะอยู่ในตัว ครบพร้อม ซึ่งมันมันมีที่มายาวนาน จากการยกระดับของอาจารย์ที่ได้ผ่านอะไรต่าง ๆ มาตั้ง ๓๐ ปี

พอตอนที่คนอ่าน จะชะลอ ( คำศัพท์ของท่านอาจารย์นฤมล ปราชญโยธิน มธ. ) แนวทาง แนวคิดนี้ไปสู่การปฏิบัติจะเกิดอะไรขึ้นบ้างไหม ช่วงต่อตรงนี้ค่ะ

เพราะตอนนี้ ดิฉันคิดว่า อาการติดคำพูด ติดภาษามันมากเหลือเกินที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่น่า.... แหมชีวิตมันต้องมัน สุดๆ สดๆ เหมือนพวกชาวบ้านเขาเป่าแคน เล่นพิณ จ่ายผญาน่ะค่ะ และพอเราได้ฟังตรงนั้นเราก็ฟ้อนกับเขาไปเล้ย...

แหมตอบได้สะใจมากเลยครับ

สมกับเป็นนักเขียนระดับจิตวิญญาณจริงๆ ผมอ่านการเขียนของคุณตุ๊ทีไร เร้าใจ กระตุ้นวิญญาณได้ดีจริงๆ

วิญญาณ คือ หนึ่งใน ขันธ์ ๕ นะครับ อย่าคิดเป็นอย่างอื่น

ขอบคุณมากครับ

(ตามเข้ามาอ่านจากหัวข้ออื่นอีกทีนึง..)
อ่านข้อความของอาจารย์แล้ว ช่างเที่ยงตรง ซะจริง โดนใจมาก ๆ ค่ะ d(^_^)

จะการอ่านข้อความให้เข้าใจ ก็ต้องใช้ "กึ๋น" เช่นกัน

เข้าใจในที่นี้มิใช่ความหมายอื่นใด แต่คือการ เข้าถึงใจ คนเขียนให้ได้เท่านั้นเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท