๕๘.กาลครั้งหนึ่ง....ของมิตรสามวัยแต่ใจเดียว


".....ส่วนผมก็บอกว่าจะส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อริเริ่มการเปลี่นแปลงของปัจเจก เริ่มตั้งแต่การปฏิรูปออกมาจากจิตใจและวิธีคิด กระทั่งออกไปสู่การรวมกลุ่มและสร้างสังคมในวิถีที่ต่างออกไปจากเดิม....."

ตอนที่ ๑ : เมื่อปี ๒๕๔๑ หลังวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ได้แผ่ขยายเป็นวิกฤติต้มยำกุ้งของทั่วโลก ผมได้ร่วมทำงานสนามกับเครือข่ายวิจัยและพัฒนาประชาคมจังหวัดกาญจนบุรี ระดมพลังทั้งกลุ่มนักวิชาการกับกลุ่มคนท้องถิ่นเรียนรู้เพื่อค้นหาอนาคตของการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการ ทำให้เป็นกระบวนการที่สร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่การวิจัยไปด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งก็ทำให้มีเครือข่ายแกนนำกลุ่มต้นน้ำแควซึ่งมีบทบาทในลำดับต่อมาในจังหวัดอีกหลายอย่าง ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่รูปแบบการมีส่วนร่วมในเรื่องสาธารณะอื่นๆมากขึ้นเป็นลำดับ

ในห้วงเวลาดังกล่าว นอกจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ต่อมาเมืองกาญจนบุรีก็เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งกรณีการวางท่อก๊าซจากประเทศเมียนมาร์เข้าสู่ประเทศไทยอีกด้วย ผู้คนและภาคส่วนต่างๆของสังคมเกิดความเห็นแตกต่างกันอย่างกว้างขวางทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ เมื่อเริ่มเข้าสู่พื้นที่จึงทำงานต่างๆอย่างที่วางแผนไว้ไม่ได้เลย ผู้คนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร การจัดเวทีและการประท้วงเกิดขึ้นจนทุกฝ่ายต่างหวาดระแวงกันไปหมด เมื่อเริ่มจัดประชุมผู้คนเพื่อหารือและพัฒนาเครือข่ายทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ด้วยกัน บางครั้งก็มีคนที่กำลังต่อสู้กันเรื่องท่อก๊าซหลงเข้ามาเรียกร้องและรณรงค์ในเวทีประชุม บางครั้งก็มีคนเมาสุราและกลุ่มคนซึ่งเหมือนมาคอยสังเกตการณ์และกดดันวนเวียนอยู่โดยรอบที่ประชุม ผมเลยประเมินสถานการณ์ว่าเราต้องการเตรียมพื้นที่และสร้างความเข้าใจกับคนในจังหวัดเสียใหม่ก่อน เพราะสภาพการณ์อย่างที่ปรากฏนี้คงไม่เอื้อให้ทำงานกันได้

ตอนที่ ๒ : จากนั้นผมก็วางข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับเมืองกาญจน์ที่ได้ค้นคว้าจากเอกสารก่อนหน้านั้นลงไปก่อน แล้วก็ขออาสาทีมวิจัยของมหิดลเพื่อลงไปหาข้อมูลและเชื่อมต่อคนในพื้นที่ด้วยตัวเราเองใหม่(๑) ลงไปอยู่และเริ่มต้นเดินประสานงานที่ไม่ได้ผ่านหนังสือและเอกสารอย่างเดียว(๒) แต่เดินไปด้วยตัวเราเองก่อน แล้วก็ประสานงาน เชื่อมต่อคนและกลุ่มปัจเจกที่เป็นทุนทางสังคมของคนเมืองกาญจน์ เดือน-สองเดือนกว่าก็สามารถเตรียมการประชุมกับคนเมืองกาญจน์ได้ประมาณ ๕๐ คน

พอเริ่มต้นได้ก็เหมือนเป็นจุดเปลี่ยนอันเล็กน้อยแล้ว เพราะต่อมาอีก ๑ ปีก็ทำให้หลายฝ่ายที่เพิ่งผ่านการขัดแย้งกันในกรณีท่อก๊าซได้กลับมานั่งขอโทษกัน แล้วก็ขอบคุณเครือข่ายนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลว่าเหมือนกับผู้ที่ได้ช่วยร้อยไข่มุกของคนเมืองกาญจน์ที่ขาดกระจายให้กลับเป็นสร้อยไข่มุกอันงดงามดังเดิมอีกครั้ง ก่อนที่ต่อมาจะร่วมกันจัดเวทีค้นหาและประกาศวิสัยทัศน์จังหวัดกาญจนบุรี ก่อเกิดบรรยากาศแห่งการร่วมสร้างสรรค์เมืองกาญจน์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ต่อมาก็เป็นเครือข่ายร่วมมือกันทำงานเชิงพื้นที่ได้อย่างหลากหลาย รวมทั้งการระดมพลังพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลกาญจนบุรีซึ่งหลายอย่างพัฒนาคืบหน้าขึ้นได้ก็พอจะพูดได้ว่าเพราะมีการทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ที่นักวิจัยกลุ่มหนึ่งในครั้งนั้นได้สร้างความรู้ชี้นำการปฏิบัติและวางพื้นฐานไว้

ตอนที่ ๓ : ในระหว่างการทำงานครั้งนั้น ผมเองกับนักวิชาการและแกนนำของคนในพื้นที่ทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม รวมไปจนถึงภาครัฐในท้องถิ่น ก็มักมีจุดยืนที่แตกต่างกันไปด้วยอยู่เสมอ แต่ด้วยการเดินประสานงานที่ใช้การเปิดรับและเคารพซึ่งกันและกัน ก็ทำให้เราสามารถแลกเปลี่ยนทรรศนะและปรึกษาหารือเพื่อสร้างสรรค์สังคมไปตามจุดยืนของตนเองได้ ในจำนวนนั้นก็มีสองท่านซึ่งขอคุยกับผมอย่างจริงจัง ท่านหนึ่งเป็นคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี คือผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิวกานท์ ปทุมสูติ และอีกท่านหนึ่งเป็นอาจารย์วิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี คืออาจารย์ณรงค์เดช นวลมีชื่อ ทั้งสองท่านเป็นนักวิชาการและเป็นผู้นำทางความคิดที่มีบทบาทหลายด้านในจังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านเรื่องท่อก๊าซ คณะกรรมการเลือกตั้ง และอีกหลายอย่าง  

เรามีเป้าหมายเพื่อร่วมสร้างสังคมที่มีความศานติสุขและไม่ใช้วิธีการที่รุนแรงแก้ปัญหาเหมือนกัน รวมทั้งในสภาวการณ์ขณะนั้นทั้งของสังคมไทยและสังคมโลก เราก็เห็นสอดคล้องกันว่าวิถีการพัฒนาในกระแสหลักซึ่งมุ่งลงทุนทั้งสังคมเพื่อได้ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเงินตรา แต่คน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้องถูกละทิ้งและล่มสลายไปหมดอย่างที่ดำเนินมาในอดีตนั้นคงไปไม่ไหว มุ่งสู่การสร้างคนและลงทุนทางสังคม รวมทั้งส่งเสริมปัจเจกที่มีจิตสาธารณะและภาคประชาชน ให้มีบทบาทต่อการร่วมสร้างสุขภาวะสาธารณะให้มากขึ้นกันดีกว่า ทว่า จุดยืนในเรื่องแนวคิดและวิธีการของเรามีความต่างกันบ้างพอสมควร

ตอนที่ ๔ : ท่านอาจารย์ศิวกานท์ ปทุมสูตินั้น นอกจากเป็นนักวิชาการและเป็นผู้นำทางความคิดซึ่งเป็นที่ยอมรับมากของคนเมืองกาญจน์แล้ว ท่านเป็นกวีและนักเขียนซึ่งมีผลงานแพร่หลาย เป็นคนดีศรีเมืองกาญจน์ ได้รับรางวัลระดับประเทศ และเคยเข้ารอบเป็นผู้ชิงรางวัลซีไรต์อยู่ก็หลายครั้ง เป็นปัจเจกที่มีพลังต่อสาธารณะในวิถีประชาสังคมผ่านสื่อและงานสร้างสรรค์ทางปัญญา ท่านมีความอาวุโสกว่าผมหลายปี ส่วนอาจารย์ณรงค์เดช นวลมีชื่อนั้น เป็นนักวิชาการที่ชำนาญในการทำงานสื่อด้วย มีแนวคิดและทรรศนะเชิงวิพากษ์ อาวุโสน้อยกว่าผมหลายปีเช่นกัน ส่วนผมก็เชื่อในวิถีชุมชนและกระบวนการเชิงสังคมที่ขับเคลื่อนผ่านงานความรู้และวิถีวิชาการที่เชื่อมโยงกับสังคม สิ่งแวดล้อม และถิ่นฐาน พอคุยกันในเวทีใหญ่เสร็จเราก็เลยต้องจับเข่าคุยกันต่ออีกทุกที บางวันเรานั่งถกกันจนเกือบสว่าง โดยมีเพียงบทกวี หนังสือ งาน และความเคารพที่จะนั่งคุยกันด้วยน้ำใจแห่งมิตรเท่านั้น ที่เป็นสื่อยึดโยงวงสนทนาของเราอย่างแน่นหนัก

 

                             

 

วันหนึ่ง กลุ่มมิตรทางวิชาการสามวัยใจเดียวของผมนี้ ก็ไปนั่งคุยกันอีกซึ่งไม่เพียงเพื่อขับเคลื่อนงานในเมืองกาญจน์เท่านั้น ทว่า คุยกันไปจนถึงขั้นอยากหาหนทางทำในสิ่งที่จะเป็นงานเชิงปฏิรูปและสร้างทางเลือกใหม่ๆในขอบเขตที่เราเองสามารถทำได้กับมือดีกว่า คุยกันไปด้วยบรรยากาศแห่งมิตรที่เปิดใจกว้างต่อกัน บ้างก็เห็นสนับสนุนกัน บ้างก็เห็นต่าง บางครั้งอาจารย์ศิวกานท์ก็จะเปิดบทกวีออกมาอ่าน ผมเองกับอาจารย์ณรงค์เดชก็ร่วมแบ่งปันหนังสือและการอ่าน ต่างเสริมให้เราเป็นชุมชนการเรียนรู้ที่หูตากว้าง นับว่าเป็นวงสนทนาเพื่อทำงานและมีความหมายต่อทรรศนะต่างๆของเราเองมากครั้งหนึ่ง

ตอนที่ ๕ : ท่านอาจารย์ศิวกานท์นั้นเชื่อมั่นว่าต้องเดินออกไปสร้างเด็ก สร้างครู และคนที่ทำมาหากินอยู่ในชุมชนชนบท ให้เป็นคนที่อยู่กับความเป็นธรรมชาติ ใส่ใจวิถีวัฒนธรรมรากเหง้าของท้องถิ่น และเป็นคนรุ่นใหม่ไปเลยดีกว่า ปัญหาสังคมมากมายไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือในวงกว้างเราคงจะไปแก้ไม่ไหวหรอก ลงไปเป็นภาคีวิชาการเสริมให้ชาวบ้านเข้มแข็งกันดีกว่า ส่วนอาจารย์ณรงค์เดชนั้น ก็บอกว่าต้องพัฒนาบทบาทของสื่อทั้งสื่อมวลชนและสื่อท้องถิ่น สังคมจึงจะมีกำลังเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองได้ ท่านจะศึกษาและทำงานในแนวทางใหม่ๆด้านสื่อ

ส่วนผมก็บอกว่าจะส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อริเริ่มการเปลี่นแปลงของปัจเจก เริ่มตั้งแต่การปฏิรูปออกมาจากจิตใจและวิธีคิด กระทั่งออกไปสู่การรวมกลุ่มและสร้างสังคมในวิถีที่ต่างออกไปจากเดิม  ถึงแม้จะเล็กน้อยและคงจะช้านานเหมือนการเติบโตของกล้วยไม้ แต่ก็เป็นวิถีที่เน้นงานพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของประชาชนและเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการพัฒนาจิตใจ ผมจะแปรวิกฤติสุขภาพชุมชนและปัญหาทุกเรื่องให้เป็นโอกาสเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ในแนวทางที่เราทำได้ แล้วก็บอกว่า สักวันหนึ่งเราจะเจอกันผ่านการทำงาน

กว่า ๑๐ ปีผ่านไป เราได้ติดต่อถามไถ่ข่าวคราวและสารทุกข์สุกดิบกันบ้างพอสมควร อาจารย์ศิวกานท์ถึงกับตัดสินใจลาออกจากราชการแล้วก็ดุ่มเดินไปในวิถีที่ตนเองเชื่อมั่น ทำสิ่งต่างๆได้มากมายทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ  รวมทั้งทุ่งสักอาศรมซึ่งสร้างเด็กเยาวชนและครูแนวใหม่จากทั่วประเทศอย่างแข็งขัน นอกเหนือจากการทำหนังสือและบทกวีออกมาอย่างต่อเนื่อง บางปีก็ทำค่ายวรรณกรรม แต่งเพลง และดนตรี กับนักการศึกษาแนวปฏิรูป คนทำเพลงและคนในวงการสื่อชั้นนำของประเทศ ส่วนผมก็ไปในหนทางที่ผมเชื่อในทุกเวทีทั้งภาคประชาชนและภาครัฐ พร้อมกับทำฐานชีวิตของตนเองให้เป็นที่ดำเนินชีวิตไปกับการทำงานทีละเล็กละน้อย ส่วนอาจารย์ณรงค์เดชก็มีงานหนังสือและสื่อมาแบ่งปันกับผม แม้นอย่างประปราย แต่ก็ทำให้รู้ว่ายังคงดำเนินแนวทางที่สนใจไปอย่างสืบเนือง

ตอนที่ ๖ : มีบางส่วนเกี่ยวข้องกับ GotoKnow อย่างไม่ได้ตั้งใจซึ่งต้องขอบคุณ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ คุณมะปรางเปรี้ยวและคณะทำงานของ GotoKnow เนื่องจากส่วนหนึ่งของการนั่งคุยกันเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนของเรานั้น ผมกับอาจารย์ศิวกานท์ตั้งใจว่าจะมีงานหนังสือด้วยกัน แต่ผมขอไว้ว่างานของผมจะขอเขียนออกมาจากประสบการณ์สนามและขอเป็นแนวร่วมขยายเสียงทางเลือกของปัจเจกและชุมชน ผมจะลงทำงานเพื่อเข้าถึงประสบการณ์ตรงของสังคมด้วยตนเองแล้วจะใช้เป็นวัตถุดิบมาเขียนหนังสือกับทำงานศิลปะ(๓) จะหาความลงตัวที่ดีในบริบทใหม่ๆของสังคมไทยที่การปฏิบัติของสังคมกับสิ่งที่เป็นงานความรู้ ไปด้วยกันอย่างเสริมพลังกัน

แต่เนื่องจากคงต้องทุ่มเทและใช้เวลาในชีวิตมาก ผมจึงจะทำอย่างสะสมโดยจะเขียนงานตีพิมพ์เผยแพร่ทางสื่อในรูปแบบต่างๆเหมือนกับเป็นการทำงานสร้างสรรค์ที่ออกมาจากงานวิจัยเชิงพื้นที่ แต่ให้เป็นบันทึกงานสนามที่สอดคล้องกับการมีความเป็นจริงเกิดขึ้นด้วย เมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็จะสามารถรวมเล่มและทำเผยแพร่กับอาจารย์ และอีกด้านหนึ่งก็ใช้เป็นข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์สร้างความรู้จากงานวิจัยไปด้วย เราจะเขียนสร้างความรู้จากสิ่งที่ทำได้จริงและจะรายงานจากความเป็นจริงให้มากที่สุดที่สังคมมี ทำนองว่าจะเป็นวิถีวิชาการที่เป็นเพื่อนตัวเล็กๆพาคนกลับบ้านได้

ผมทำอย่างที่ตั้งใจได้บ้างในระยะต้น แต่สำหรับการเขียนบทความและทำงานเผยแพร่ทางสื่อนั้น สภาพการณ์หลายอย่างไม่เอื้อให้ทำได้จากความตั้งใจของเราเองแต่เพียงลำพัง เลยต้องหาวิธีอื่นที่ไม่ให้ความตั้งใจดังกล่าวขาดความต่อเนื่องซึ่งทางหนึ่งก็คือเข้ามาใช้บริการของบล๊อก GotoKnow นี้นั่นเอง 

ตอนที่ ๗ : อันที่จริงผมเกือบไม่ได้เขียนและไม่ได้ถ่ายทอดอีกหลายอย่างดังที่ปรากฏในลำดับต่อมาในบล๊อกนี้และในอีกหลายที่ เพราะดันไปวางกรอบตนเองว่าจะมุ่งสร้างความรู้ที่มีองค์ประกอบครบทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวท หรือต้องพร้อมไปด้วยทั้งทฤษฎีและความรู้ การลงมือทำจริง และการเกิดผลดีต่อผู้คน จึงจะถือว่ามีการเรียนรู้เกิดขึ้นและมีของจริงของสังคมให้เขียนความรู้ แม้จะเล็กน้อยก็ตาม คนอื่นคงจะทนทำในแนวทางนี้ได้ยาก แต่ผมมาจากลูกหลานชาวนา เป็นคนบ้านนอก ชีวิตเติบโตมากับความลำบากและเหนื่อยยาก ทุกอย่างที่มีและเป็นอยู่ในทุกวันนี้ล้วนเกินกว่าที่จะคิดฝันไปแล้วทั้งนั้น ผมจึงเป็นคนหนึ่งที่คิดว่าจะอดทนทำงานแนวที่ยากๆนี้ให้สังคมได้ 

ผมมั่นใจในตอนนั้นว่าเราจะค้นหาแนวการทำงานที่เชื่อมงานวิจัยและวิถีคนชั้นกลางเข้ากับวิถีชาวบ้านเพื่อเป็นพลังความรู้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีและพอเหมาะกับสภาพความเป็นจริงของสังคม จะอาสาลองสะท้อนความรู้และแนวคิดที่จำเป็นลงไปหาคำตอบให้ดูทางการปฏิบัติในบริบทต่างๆของสังคมไทย พร้อมกับจะหาวิธีถอดบทเรียนแปรประสบการณ์ภาคปฏิบัติให้เป็นทุนทางปัญญาทีละเล็กละน้อย โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง 

ตอนที่ ๘ : ผมจะไม่เขียนความรู้ที่ไม่มีความเป็นจริงของสังคมเกิดขึ้นมารองรับก่อน จะไม่อ่านหนังสือมาเขียนและหากทำงานอย่างที่เราเชื่อได้แค่เหมือนกับไปอ่านหนังสือมา ก็ให้คนเขาไปอ่านหนังสือที่มีคนเขียนมากมายแล้วดีกว่า ในขณะที่ผมเป็นคนรักและส่งเสริมการอ่านการศึกษาค้นคว้ามากคนหนึ่ง ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่มิใช่การปฏิเสธวิถีความรู้ของกระแสหลัก แต่การวิจัยเชิงปฏิบัติการสังคมของเรามุ่งไปยังจุดหมายอย่างนั้น

วิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติสังคมแบบฟองสบู่แตกของสังคมไทยก่อนหน้านั้นทำให้กลุ่มทางวิชาการจำนวนหนึ่งอย่างเรา เลือกแนวทางที่จะผุดออกจากรากฐานของสังคมแล้วจึงค่อยเชื่อมต่อเข้ากับพรมแดนอันกว้างขวางของความรู้ให้วิถีท้องถิ่นและโลกาภิวัตน์ส่งเสริมเกื้อหนุนกันอย่างสมดุล ภายหลังที่เห็นความเป็นตัวของตัวเองแล้ว 

แนวทางดังกล่าวจะช้าและบังคับให้เป็นไม่ได้  อีกทั้งหลายอย่างก็ต้องปรับวิถีวิชาการให้ไปด้วยกันกับความเป็นจริงสังคม ซึ่งอาจจะไม่เป็นไปตามพิธีกรรมทางวิชาการกระแสหลัก ในระยะนี้จึงไม่เป็นผลดีต่อการทำเพื่อสร้างผลงานและได้ความก้าวหน้าทางวิชาการ 

แต่มาระยะ ๔-๕ ปีที่ผ่านมา หลายสิ่งที่เราทำมายาวนานก็กลับเริ่มปรากฏผลออกมาและเริ่มดีขึ้น ผมลืมไปว่าผมเคยพูดหลักการนี้ไว้กับอาจารย์ศิวกานท์และอาจารย์ณรงค์เดชว่าแนวทางของผมที่เน้นกระบวนการศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นคงจะช้าเหมือนกับการปลูกและดูแลกล้วยไม้  เมื่อมีบางสิ่งที่เป็นผลสืบเนื่องจากการทำงานของเราเกิดขึ้นเหมือนกล้วยไม้จะผลิช่อดอกงามบ้าง ก็ทำให้ผมต้องตาลีตาเหลือกมาตั้งหลักใหม่และเริ่มบันทึกสิ่งต่างๆพร้อมกับทำอีกหลายอย่างเพื่อรายงานและถ่ายทอดไว้แบบเบาๆ

บทเรียนบางประการ

ผมได้เรียนรู้และเห็นบทเรียนที่สำคัญบางอย่างว่า ในแหล่งที่งานเชิงพื้นที่มีความหลากหลาย และกลุ่มทางสังคมที่สำคัญก็มีความสนใจที่ต่างกันนั้น การเห็นประเด็นร่วมด้วยกัน ที่สามารถเชื่อมโยงพลังสร้างสรรค์จากปัจเจกและกลุ่มประชาคมที่หลากหลายให้เป็นพลังนำการเปลี่ยนแปลงในทางเลือกใหม่ๆที่ยกระดับความเป็นส่วนรวมให้ครอบคลุมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายได้ดีขึ้น ในขณะที่แต่ละเรื่องก็ยังคงมีความเป็นตัวของตัวเองและคงความหลากหลายได้นั้น จะสามารถเกิดขึ้นผ่านการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกันในแนวราบด้วยรูปแบบผสมผสานอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ สิ่งที่สื่อสะท้อนให้เห็นวิธีคิด บ่งบอกวิถีทรรศนะต่อสังคม และบอกให้รู้ถึงจุดยืนกันและกันอย่างไม่ต้องปะทะกันเชิงเหตุผลถูกผิด เช่น ศิลปะ งานวรรณกรรม บทกวี ดนตรี จะสามารถเป็นสื่อสร้างการคิดและเกิดการเห็นร่วมกันที่ลึกซึ้งแต่มีความเป็นธรรมชาติ ทำให้เกิดความเป็นกัลยาณมิตรทางการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้ทำสิ่งอื่นได้ต่อไปในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การมีสำนึกต่อสังคมด้วยกัน ลดความเป็นตัวตนของเรา เคารพผู้อื่น มีความเป็นมิตรให้กัน แล้วก็คุยและฟังกันด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ จะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ทุกอย่างได้.

 

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------

บันทึกหมายเหตุ :

(๑)  การลงไปฝังตัวและพัฒนาการเรียนรู้เพื่อสร้างข้อมูลและเตรียมชุมชนบนฐานข้อมูลสนามที่นักวิจัยลงไปอยู่ในชุมชนระยะหนึ่ง ก่อนที่จะวิเคราะห์และออกแบบขั้นตอนการทำงานในขั้นต่อไปเสียใหม่บนความเป็นจริงของชุมชนและด้วยจุดยืนที่มีความร่วมกันกับจุดยืนของชุมชนในลักษณะนี้ ในทางการวิจัยเชิงคุณภาพถือว่าเป็นการทำงานขั้นการเลือกฐานคติทางทฤษฎีหรือมุมมองความเป็นจริง (Point of view) จากจุดยืนร่วมกับชุมชน ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนกรอบความรู้และชุดความเป็นจริง จากการขึ้นต่อนักวิจัยภายนอกและการใช้ทฤษฎีที่ผู้อื่นสร้างขึ้นเป็นตัวตั้ง มาสู่การใช้ความเป็นจริงของชุมชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะมีความสำคัญต่อการวิจัยในแนวที่เน้นการแก้ปัญหามาก เพราะทำให้ความรู้ที่สร้างขึ้นมีความเป็นจริงของชุมชนรองรับและชุมชนมีบทบาทต่อการวิจัยมากขึ้น ทั้งเป็นผู้กำหนดวิถีความรู้ เป็นผู้สร้างความรู้ และเป็นผู้ใช้ความรู้นั้นด้วย (People and research user centered)

(๒) เทคนิคและวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการในสนามในลักษณะดังกล่าว ในทางการวิจัยเชิงคุณภาพถือว่าเป็นการได้กลุ่มตัวอย่างการวิจัยโดยอิงอยู่กับข้อมูลและความเป็นจริงของชุมชน เพราะจะใช้เทคนิคผมผสานกับการบอกต่อและการอ้างอิงจากประสบการณ์ของผู้ที่อยู่ในชุมชน (Snowball Technique) ซึ่งข้อมูลในการระบุกลุ่มตัวอย่างจากการอ้างอิงดังกล่าว สะท้อนถึงการวิเคราะห์และใช้ความรู้ของชุมชนเองด้วย ในแง่ของแนวการปฏิบัติ (Approach)นั้น ก็จะเป็นการลดความสำคัญของนักวิจัยลงไปให้เสมอกับความรู้ของชุมชน ถือเกณฑ์การตัดสินใจจากข้อมูลและความรู้ของชุมชน และในแง่คุณภาพทางวิชาการ ก็เป็นวิธีการขจัดอคติของนักวิจัย(Bias) และควบคุมให้เกิดความเชื่อถือได้มากขึ้น

(๓) การสนทนาครั้งนั้น ผมเองก็ได้อ่านบทกวีแลกกับทั้งสองท่านด้วย ทว่า บทกวีของผมมีลักษณะเป็นการบันทึกห้วงเวลาต่างๆของการทำงานกันสำหรับตีพิมพ์ทางสื่อ เดือนละ ๑ บท เพื่อให้เป็นการสรุปบทเรียนและบันทึกการเดินทางเดือนละ ๑ ก้าวให้ได้ ๓ วิธีการ คือ ทำสกู๊ปเชิงสารคดี ๑ เรื่อง บทกวี ๑ บท งานสนทนาทางศิลปะและวรรณกรรม ๑ ครั้ง ทั้งหมดในแต่ละเดือนจะเป็นประเด็นเดียวกัน จะเป็น ๕ ปี ๑๐ ปี เราจะรวมเล่ม สังเคราะห์ซ้ำ แล้วตีพิมพ์งานวิชาการกับงานสร้างสรรค์ที่ทำขึ้นจากการเชื่อมต่อกับภาคปฏิบัติของสังคม ระหว่างเส้นทางที่จะได้ทำงานด้วยกันอีกนั้น เราจะหาประสบการณ์และความจัดเจนในเรื่องที่ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ และถ้าหากไม่ได้ก็จะไม่ทำอะไรเลย ดังนั้น ทุกครั้งที่เรามีงานเผยแพร่จะหมายถึงการมีความคืบหน้าก้าวเล็กๆเกิดขึ้น ในบทกวีที่ผมเขียนขึ้นและอ่านนั้น ได้หยิบเอาเรื่องที่เป็นประเด็นเชิงแนวคิดและวิธีการทำงานมาปรารภแล้วบันทึกไว้ บทกวีได้กล่าวถึงความต่อเนื่องและการเปลี่ยนผ่าน เช่น กล่าวถึงภาวะจนกว่าน้ำค้างจะกลายเป็นแมลงปอ จนกว่าแมลงปอจะกลายเป็นนกฮูก จนกว่านกฮูกจะกลายเป็นแมว ซึ่งทุกอย่างนอกจากมุ่งสื่อถึงความเนิ่นนานจนสุดจะคาดหวังแล้ว ก็ทำให้เห็นถึงความเป็นไปไม่ได้ด้วย เพื่อแสดงแนวคิดต่อสังคมว่า เราควรเป็นบางคนที่ขอเลือกทำสิ่งที่ยาก ทำในสิ่งที่ขาดคนทำหรือไม่ค่อยมีคนอยากทำ ซึ่งในสถานการณ์ที่สังคมขัดแย้งกันก็คือ การใช้หนทางทางปัญญาแทนความรุนแรงและการพัฒนาที่เน้นจิดใจให้สมดุลกับวัตถุซึ่งเหมาะกับทุนทางสังคมของโลกตะวันออก แต่เป็นแนวที่อยู่นอกกระแส คนไม่อยากทำ อีกทั้งดูไม่มีความหวัง  กวีบทนั้นจบด้วยคำถามลอยๆ ประหนึ่งว่าแม้จบบทกวีแล้วก็จะขอฝากไว้ในใจคน ให้คิดอ่านและทำต่อไปอีกเหมือนไม่ต้องจบสิ้นไปตามกระแสสังคม เพื่อสื่อว่า(ในเรื่องที่กล่าวถึง)ต่อให้ยากกระทั่งคนรุ่นหนึ่งทำได้ไม่ถึงไหนเราก็จะส่งต่อให้ผู้คนอีกรุ่นสานต่อไปอีก เราจะทำงานเหมือนนายไปรษณีย์ ส่งความทรงจำของคนรุ่นหนึ่งให้ไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งความหมายคือเราจะเลือกหนทางที่เป็นการทำงานความรู้และทำวิจัยเชื่อมต่อกับวิถีสังคม เพราะเชื่อว่าแนวทางอย่างนี้ในระดับชุมชนฐานราก จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สังคมไทยมีทางออกดีๆในหลายเรื่อง อีกทั้งเป็นวิถีที่สวนทางกับบุคลิกของสังคมไทยที่มักขาดการสืบทอดและพัฒนาบางเรื่องให้งอกงามต่อเนื่อง แต่แนวทางอย่างนี้ก็เป็นงานที่ทำได้ยากเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ขาดโอกาสการพัฒนาตนเองมาก งานความรู้กับวิถีชีวิตชาวบ้านแยกส่วนกัน คนส่วนใหญ่มักสนใจเรื่องปากท้อง ไม่มุ่งยกระดับความหมายแห่งชีวิต และเผชิญการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างขาดความเชื่อมโยงว่าปูมเดิมมาจากไหน แล้วในอนาคตจะอยู่กันต่อไปอย่างไร

หมายเลขบันทึก: 299341เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2009 00:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

อ.วิรัตน์ครับ

แวะมาเยี่ยมครับ

ผมมีโอกาสลงพื้นที่เมืองกาญจน์ฯอยู่หลายครา

เห็นพัฒนาการ การทำงานของผู้คนที่ขับเคลื่อนงานการเมืองภาคพลเมือง

ผมมีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนที่ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวนอยู่หลายครา

ผมชื่นชม และหลงเสน่ห์เมืองกาญจน์ฯครับ ทั้งธรรมชาติ ผู้คน ศิลปวัฒนธรรม

และงานชุมชนเข้มแข็งครับ

ชอบภาพวาดของอาจารย์ครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • อาตมาเคยเขียนโครงการชื่อ โครงการวันเยี่ยมเพื่อนต่างวัยใจเดียวกัน
  • คิดในใจว่าอยากนำนักเรียนตัวน้อย ๆ ไปเยี่ยมเยือนผู้สูงวัยที่อยู่ในสถานสงเคราะห์คนชรา ที่อำเภอวังทอง ซึ่งก็อยู่ไม่ไกลวัดมากนัก
  • แต่ก็ยังเป็นโครงการอยู่ อาจารย์ที่มน.(มหาวิทยาลัยนเรศวร)เห็นชื่อแล้วชอบมากอยากให้ทำ
  • ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ชีวิตผู้สูงวัยที่ลูก ๆ ได้นำไปฝากไว้กับสถานที่ที่คิดว่าดี แต่พ่อแม่บอกว่าอยู่กับลูกนั่นแหละดีที่สุด ถึงแม้จะจนก็ไม่อยากจะจากลูกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น(โปรดกรุณามารับฉันกลับบ้านด่วนด้วย) ขอบอก
  • อยู่ด้วยกัน(บ้านคนชรา)เหมือนมีความสุขเพราะเป็นวัยเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วกลับเหงาหงอยทุกข์ใจ คิดถึงบ้าน คิดถึงลูกหลาน คิดถึงเพื่อนบ้านเป็นที่สุด
  • ที่อยู่ดีแต่ก็ไม่สบาย สู้ที่อยู่ลำบากแต่จิตใจสบายไม่ได้
  • อย่าทอดทิ้งพ่อแม่กันเลยนะลูกหลานเอ๋ย โปรดสงสารพ่อแม่ด้วยเถอะ
  • ขอยืมคำพูดของใครจำไม่ได้เสียแล้วมาใช้ในที่นี้ซะหน่อยว่า(คุณแม่ขอร้อง-พระก็ขอร้อง)

ขอเจริญพร

สวัสดีครับคุณสุเทพ ไชยขันธุ์ ดีใจจังที่มีเครือข่ายวิชาการที่ทำงานแนวนี้ยังทำงานอย่างต่อเนื่อง ที่ตำบลหนองสาหร่ายนั้นผมก็ได้เคยไป รวมทั้งพาคนไปดูงานด้วยครับ เป็นชุมชนที่กลุ่มคนที่รวมตัวกันได้เป็นกลุ่มก้อนสามารถยกระดับภาวะผู้นำของชุมชนให้เป็นภาวะผู้นำแบบเป็นหมู่คณะ ผสมผสานกันทั้งผู้นำโดยตำแหน่ง อาสาสมัคร แม่บ้านคนสูงวัย และชาวบ้าน แม่หญิงท่านหนึ่งเคยประชุมกับผม แกทำงานบนเวทีอย่างแข็งขันและนำเสนอสิ่งต่างๆอย่างใส่ใจ ผมคิดว่าเป็นนักวิชาการและคนทำงานในท้องถิ่นที่ไหน แต่ปรากฏว่าเป็นชาวบ้านครับ เป็นเมียของผู้ใหญ่บ้านและจบชั้นประถมเท่านั้น ที่บ้านหนองสาหร่ายยังมีความเป็นชนบทมากครับ แต่ทุนทางสังคมในแนวทางเพื่อการพัฒนาภาคประชาชนนั้นดีมากจริงๆครับ ทำให้ชุมชนทำงานได้หลายอย่าง ทั้งสุขภาพชุมชน การจัดระบบสวัสดิการคนยากไร้และคนสูงวัย รวมไปจนถึงการมีองค์กรท้องถิ่นที่เข้มแข็ง นำการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนได้

ยินดีและขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

  • เห็นด้วยอย่างที่สุดครับว่ารูปแบบที่นำผู้สูงอายุไปรวมกันและดูแลอย่างบ้านผู้สูงอายุให้จัดการง่ายนั้น นอกจากไม่สอดคล้องกับภาวะทางจิตใจของผู้สูงอายุที่ต้องการอยู่ใกล้ลูกหลานและบ้านแล้ว ในด้านวัฒนธรรมต่อผู้อาวุโสของสังคมไทย ก็ทำให้ผู้สูงอายุซึ่งอยู่ในฐานะได้รับเชิดชูจากสังคม กลายเป็นกลุ่มคนที่เป็นภาระต้องให้การสงเคราะห์ดูแล
  • เวลาเห็นภาพและข่าวจากสื่อที่นำเสนอเด็กๆ ดารา และคนทำงาน ไปทำบุญทำทานกับผู้สูงอายุที่บ้านพักคนชรา แล้วเห็นผู้สูงอายุต้องมากราบไหว้คนรุ่นลูกหลานประหลกๆ และคนที่ไปก็ทำเหมือนไปหยิบยื่นสิ่งต่างๆให้แล้ว ก็ให้รู้สึกว่าขัดกับสังคมและวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างยิ่งนะครับ
  • วัด กับการรวมกลุ่มที่ผสมผสานกันของคนหลายวัยในชุมชนหนึ่งๆ สามารถเป็นหน่วยพัฒนาสุขภาวะทางจิตใจ เป็นแหล่งพัฒนาการเรียนรู้และเป็นผู้นำในการสร้างสุขภาวะสำหรับกลุ่มพลเมืองสูงวัยได้ดีมากที่สุดแห่งหนึ่งครับ รวมทั้งสำหรับกลุ่มคนวัยทำงานที่อิ่มตัวกับทางวัตถุแล้วอีกด้วยครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

สวัสดีครับอาจารย์ขอขอบคุณนะครับ อุตสาห์เเวะไปเยี่ยม ผมหายดีแล้วครับเลยนำการ์ตูนที่เคยทำไว้ในงานพัฒนาชุมชนมาเเลกเปลี่ยนครับ สวัสดีครับ http://gotoknow.org/blog/yatsamer/299387

ขอบคุณครับอาจารย์กู้เกียรติ แวะเข้าไปดูมาแล้วครับ ได้บรรยากาศของความเป็นชุมชน คึกคักและตื่นตัว โปรแกรมที่มี Paint Brush นี่ช่วยการทำงานได้มากเลยนะครับ แล้วก็ดูดีมากด้วย ให้ Texture และอารมณ์ภาพได้อย่างใจเลยทีเดียว บางทีระบายสีให้เหมือนสีน้ำก็ดูนุ่มนวล เบาบาง ได้ความเป็นสีน้ำที่ดูสบายจริงๆ ขีดความสามารถของคอมพิวเตอร์เดี๋ยวนี้สามารถทำได้อย่างสุดจินตนาการ ก็ดูแค่เลือกสีเถอะ เลือกแบบไขว้ไปมาได้เป็นล้านๆสี หากใครฝึกทำงานคิดสร้างสรรค์บวกเข้าไป รวมทั้งเข้าใจการทำงานรศิลปะ คอมพิวเอตร์ก็จะสามารถรองรับและทำงานออกมาให้ได้อย่างใจนึกสารพัดอย่างที่อยากได้เลย

สวัสดีครับคุณเบดูอิน ผมจะต้องกล่าวตอบอย่างไรเนี่ย ลืมไปแล้วครับ เพื่อนๆ ที่เป็นมุสลิมเคยสอนให้เหมือนกัน ต้องกล่าวว่าขอคารวะและสวัสดียามค่ำที่ได้มาเยือนกันนะครับ

หากพูดแบบชาวบ้าน ก็คงต้องขอคารวะและขออนุโมทนาในสิ่งที่คุณเบดูอินและพี่น้องมุสลิมได้ปฏิบัติศีลอดมาจนถึงวันออกเดือนศีลอดในวันนี้นะครับ ขอความเป็นศริริมงคลทั้งหลายจงมีต่อคุณเบดูอินเช่นกันครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ตอนน้องสาวทำงานในพื้นที่กาญจนบุรี (เค้าทำงานให้สถาบันพัฒนาประชากรและชุมชน) ทราบเพียงเลาๆว่าเค้าเป็นฝ่ายสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชาวบ้าน นัยว่าเพื่อลดการต่อต้าน

ตอนนั้นไม่ค่อยทราบความคืบหน้าค่ะ ตอนนี้เค้าก็ย้ายไปอีกจังหวัดแล้ว

  • สวัสดีครับคุณณัฐรดา
  • สถาบันพัฒนาประชากรและชุมชน มีคนทำงานชุมชนเก่งๆ แล้วก็เป็นแหล่งให้ประสบการณ์การทำงานที่สร้างคนเก่งเยอะครับ
  • มีหลายฝ่าย หลายกลุ่ม และหลายองค์กร ที่ต่างก็ให้ความสนใจลงไปช่วยกันแก้ปัญหาในตอนนั้นครับ แล้วก็ด้วยวิธีคิดและแนวทางที่หลากหลายไปด้วยเช่นกัน
  • ห้วงเวลาอย่างนั้นเป็นสถานการณ์ที่ทำงานยากมากครับ ใครที่ลงไปทำงานที่มุ่งลดการใช้ความรุนแรงต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ต้องได้รับความนับถือครับ
  • เหมือนกับปีสองปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้เลย ที่คล้ายกับว่าใครก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องแก้ไขสถานการณ์ต่างๆอย่างไร แถมบางทีกลไกที่จะเข้าเป็นแก้ปัญหาก็กลายเป็นถูกจัดวางให้กลายเป็นผู้เล่นในเกมส์การต่อสู้กันเพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งผู้เล่น  
  • มีเพื่อนๆชาวเมืองกาญจน์ รวมทั้งท่านอาจารย์ณรงค์เดช ทำให้ดีใจโดยเขียนจดหมายส่งทางอีเมล์ บอกว่าได้อ่านบทความนี้ แล้วก็บอกเล่าถึงความเคลื่อนไหวของการทำงาน รวมไปจนถึงคุยให้ทราบถึงสารทุกข์สุกดิบ ดีใจและมีความสุขที่ได้ทราบข่าวคราวครับ อยากนำเอามาโพสต์ในนี้ด้วยซ้ำ แต่ดูมีความเป็นส่วนตัว เกรงผู้อ่านจะรู้สึกเป็นคนอื่น
  • อยากให้เขียนคุยในนี้ด้วยจังเลยนะครับ เป็นประโยชน์สำหรับให้ข้อมูลการทำงานแก่คนทำงานในพื้นที่ได้อย่างดีครับ ในอนาคตก็เป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับทำงานความรู้ที่ดีครับ 

สบายดีนะครับ อ.วิรัตน์

ภาพอดีตเริงรำในความหลังมีพลังจังเลย พลังจากวันคืนของฟืนไฟชีวิตแห่งมิตรภาพ พลังจากการเดินทางของบรรทัดอักษรที่ได้แรงแผ่นดิน...ผู้คน...ลมฝนของความรู้สึกดีๆ อันสั่งสมมาแต่ภพชาติไกลโพ้น

วิถีทุ่งดำรงมนต์เสน่ห์ไม่เสื่อมคลาย วิถีดวงใจที่มุ่งมั่นปลูกหว่านต้นกล้าลมหายใจ เหงื่องานสานรักถักรุ้งในรอยเท้า ให้ลูกกอบหลานเก็บ...เพียงเขาจะเข้าใจ

หอมเอย...เกสรดอกระแหง เผยอกลีบรับจุมพิตไหวสะท้านของหยาดฝนแรกฤดู ยินยอมพร้อมพลีพรหมจรรย์ เพื่อรุ่งอรุณอันข้าวหุงปลาหอมล้อมสำรับ อุ่นอิ่ม...

โอ แสนจะดีใจครับอาจารย์ นี่อาจารย์ณรงค์เดชก็ใช้จดหมายไฟฟ้าสื่อให้ผมได้ทราบแล้วครับว่าสุขสบายดีและยังมีไฟทำโน่นนี่มากมาย ส่วนความเคลื่อนไหวเป็นมาเป็นไปของอาจารย์นั้นมากมายจริงๆนะครับ ประเดี๋ยวก็เห็นที่โน่นที่นี่ พลังชีวิตเหลือเฟือจริงๆ

                           

มีรูปมาแบ่งปันเพื่อความรื่นรมย์ใจอีกครับ หลังฤดูเก็บเกี่ยวและนวดข้าว ได้นอนอุ่นในซุ้มฟาง ยามเช้าก็ผิงไฟ ในยามนั้น อะไรจะหอมเท่ากับไอหุงข้าวใหม่ที่อวลไปทั้งหมู่บ้าน 

ชมภาพ...พลางยิ้มอิ่มสุข มิอาจเก็บซ่อนความรู้สึกเอาไว้ได้ ขอถือวิสาสะหยิบมันเทศในกองขี้เถ้าขึ้นมาเป่าปอก...และถือโอกาสเปิดงานฤดูหนาวบ้านนา (หลังฤดูเก็บเกี่ยว) ด้วยบทกวีต่อไปนี้ครับ...

................................................

กรุ่นไฟหอมฟางกลางลาน

วันวานหวานหอมกลางอ้อมวิถี

ในเรื่องเล่าหนาวอุ่นอรุณวดี

คิดถึงเธอทุกนาทีที่ก่อไฟ

...

ศิวกานท์ ปทุมสูติ

 

  • รู้สึกคึกคัก ครึ้มอกครึ้มใจขึ้นมาเลยทีเดียวครับอาจารย์
  • ลักษณะอย่างนี้เป็นทั้งพื้นที่สร้างสังคมและเป้นพื้นที่สร้างพลังความเป็นชุมชน สะสมความรู้และภูมิปัญญา รวมทั้งมีกระบวนการเรียนรู้ที่กลมกลืนไปกับความเป็นชีวิต ได้ความงอกงาม ได้ความทรงจำ ทำให้ชีวิตมีความหอมหวาน
  • พออาจารย์พูดถึงหยิบมันเทศในกองขี้เถ้ามาปอกนี่ เป็นบรรยากาศที่สุดยอดเลยครับ 
  • ขอบพระคุณครับผม

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

ขณะนั่งเขียนงานอยู่ที่ห้องสมุด เสียบหูฟังเพลงเบาๆ การ "บรรเลงขลุ่ยกับธรรมชาติ" ของอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี .... เพลิดเพลินกับเสียงขลุ่ย เสียงน้ำ เสียงฟ้า เสียงนก เสียงจิ้งหรีด ........

"เข้าหน้าหนาวแล้วนะ ทำให้ป้าคิดถึงฟางอุ่นๆ" เป็นคำเปรยก่อนเริ่มบทสนทนาช่วงต่อไปของน้ามะลิ (นักการคนแรก ชาวอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ ของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล) ทำให้ดิฉันต้องเงยหน้าขึ้นมาทักทายน้ามะลิ ... แกอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใสเมื่อได้พูดคุยถึงเมื่อครั้นน้ามะลิแกยังเล็ก อยู่ที่บ้านตากฟ้ากับครอบครัว ... จึงเปิดภาพนี้ของอาจารย์ให้น้ามะลิแกดู และอ่านข้อความสั้นๆ ให้แกฟัง

                   

แกนั่งมองดูภาพ ฟังข้อความสั้นๆ แล้วรอยยิ้มก็เกิดอีกครั้ง  หลังจากนั้นคำบอกเล่าจากปากแกก็พร่างพรูอย่างมีความสุข เล่าไป ยิ้มไป ... เท่าที่พอจะรวบรวมทัน >>>

กะทิกข้าว สมัยก่อนหุงข้าวด้วยหม้อดินนะ เวลาหุง จะวางลงเพื่อหุง วางแรงก็ไม่ได้เดี๋ยวแตก อดกิน แถมโดนตีอีก ต้องวางเบาๆ เวลาป้าหุงข้าวป้าจะเลือกหม้อดินใบใหม่หน่อยจะได้ไม่แตกง่าย ข้าวหุงด้วยหม้อดินหอมนะ พอถึงเวลาแม่จะเรียก “เฮ๊ยยย กะทิกข้าวย๊าง ข้าวจะสุกแล้วเน้อ กะทิกอีกเถือเดียวก็ใช้ได้แล้วเน้อ” (พยายามออกเสียงให้ได้อารมณ์แบบคนนครสวรรค์นะค่ะ)

“ที่บ้านป้ามี เสียงดนตรีแบบธรรมชาติ คนแถวบ้านชื่อตาสี เดินพาวัวกลับบ้าน เป่าขลุ่ยไปด้วยเพราะมากเลยนะ แล้วยังมีเสียงกระดิ่งวัว ตัวเล็กกระดิ่งเล็ก ตัวใหญ่กระดิ่งใหญ่ จังหวะก็ขึ้นอยู่กับวัว ว่าวิ่งเหยาะๆ หรือเดินเนิบนาบ เนิบนาบ เสียงกระดิ่งก็เป็นทำนอง เป็นดนตรีตามธรรมชาติที่บ้านป้า ส่วนเด็กผู้หญิงอย่างป้าก็เอาไม้ไผ่มาเคาะ มาตีให้เข้าจังหวะ สนุกสนาน หรือเอาไหมาคลุมด้วยพลาสติก และหนังยาง แล้วก็ดีดไห เป็นที่มาของการดีดไหในทุกวันนี้แหละ”

ดอกหญ้าแพรก เมื่อเข้าหน้าหนาว ดอกหญ้าแพรกจะเริ่มออกดอก เด็กผู้หญิงจะออกเดินหาเพื่อนำมาเล่นกัน (มาตีกัน) ใครยอดหลุดก่อนก็จะเป็นฝ่ายแพ้ ... “เด็กบ้านนอกมีของเล่นกันแบบนี้แหละ ช่วงหน้าฝนก็จะเก็บดินเหนียวตามร่องเกวียน ฝนตก น้ำขัง เอาดินมาปั้นแข่งกัน ใครสวยกว่า ใครเสร็จแล้วอยู่ทนกว่า เพราะเมื่อมันแห้งมันจะหลุด ถ้าใครขยำดินไม่ได้ที่มันจะแตกง่ายกว่า ของป้าจะปั้นคน ส่วนน้องชายป้าจะปั้นรถ”

การไล่เพลี่ย ช่วงข้าวออกรวง ที่เค้าเรียกว่าตั้งท้อง เพลี่ยจะเริ่มลง น้ามะลิแกเล่าให้ฟังแบบขำๆ ว่า “ให้พวกผู้ชายนุ่งผ้าขาวม้า แล้วก็จับผ้าซ้าย-ขวา แล้วก็กระพือผ้าเพื่อเดินไล่เพลี่ยไปเรื่อยๆ” (อันนี้น่าจะเป็นการแก้เคล็ดซะมากกว่า ฮ่า ฮ่า)

งานวัดกับเด็กน้อย “หน้าลอยกระทง  จะไปลอกกล้วย ไม่ตัดกล้วยนะ จะเอามาซ้อนๆ กันแล้วก็แปะเป็นวงกลม ทำให้มันเบาๆ ทำเป็นรูปเรือ พากันไปลอยที่วัดตากฟ้า” (อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์) “ที่วัดไม่มีคลอง มีบ่อน้ำหรอก แต่ทางวัดจะทำบ่อเล็กๆ ไว้ เด็กๆ เที่ยวกันยันสว่าง ทางวัดจะเปิดเพลงของไวพจน์ เพชรสุรรณ จะเป็นที่รู้กันว่าได้เวลากลับบ้านแล้ว นั้นก็หมายถึงเวลาใกล้สว่างแล้ว (ตี ๕) .... เดินสโล่เหสร่ มองหาข้าวหลาม และส้ม กินกันจนถึงบ้าน งานมี ๗ วัน ๗ คืน กลางวันก็นอน บ่าย ๓ ตื่น รอเที่ยวงานวัด .... มีหนัง มีดนตรี มีรำวง นี่ขาดไม่ได้  มีทอยขวดใช้หนังยางโยนใส่ปากขวด (๑๐ เส้น ๕๐ สตางค์) มีเงินไป ๕ บาทคืนนั้นอยู่ได้ทั้งคืน ก๋วยเตี๋ยวชาม ๕๐ สตางค์ มีปลาหมึกย่างที่เสียบไม้ มีลูกโป่ง เด็กๆ จะชอบมาก เวลากลับบ้าน ขึ้นรถ ๒ แถวจะมีแต่ลูกโป่งอัดมาเต็มรถ แต่จากบ้านป้าไปวัด ประมาณ ๓ กิโล เดินเอา แต่ต้องเดินผ่านป่า จะมี เสือ ช้าง น่ากลัว สมัยนั้นเยอะนะ แต่ที่กลัวที่สุดกลายเป็นมด เพราะมันกัดเจ็บมาก”

ตอนปี ๒๕๑๐ เคยมีลูกอุกาบาด ลงมาทางทิศตะวันออกไปทางทิศเหนือ ป้าก็จะตะโกนเรียกแม่ “ฮ๊าววววว  ฮ๊าวววว  แหม๋ๆ มาดูดาวหาง ทำไมมันใหญ่ขนาดนั้น มันยังบ่ไปไหน มาดู ฮ๊าวววว” เสียงแม่แกก็จะตอบว่า “ฮ๊าววว มันบ่แม่นดาวหาง มันเป็นลูกอุกาบาดติ” ... แกฝากถามมายัง “น้องม่อย” ของแกด้วยว่าทันเห็นไหมในช่วงนั้นหน่ะค่ะ

......น้ามะลิแกบอกว่า "โอ๊ยยย ยังมีอีกเยอะ แล้วป้าจะมาเล่าให้ฟังอีกนะ" ........

 

ความเก่าบ่เล่ามันลืม :

"สุข" ของผู้สูงวัยอาจไม่ใช่เงินทอง ของแต่งกาย ขอเพียงผู้สนทนาที่รู้ใจ และเรื่องเล่าจากความทรงจำอันสุขใจ

  • เพลี่ย นี่ ในสำเนียงภาษาไทยก็คือเพลี้ยนั่นเองครับ คุณณัฐพัชรเธอคงลืมว่าป้ามะลินี่แกเป็นลาวครับ ตอนพูดว่า เพลี่ย นี่แกคงจะออกสำเนียงลาวน่ะครับ
  • เมื่อตอนเป็นเด็กผมจำได้ว่าผมและชาวบ้านเคยนั่งดูดาวหางกัน แล้วก็คิดว่ามันเป็นดาวหางที่ใหญ่และยาวมาก ขึ้นให้เห็นอยู่หลายวัน น่าจะประมาณในช่วงที่ป้ามะลิว่าน่ะแหละครับ แต่เมื่อตอนมีฝนดาวตกและมีดาวหางฮัลเลย์มา ผมก็ถือโอกาสศึกษาข้อมูลดู ก็ไม่เห็นมีข้อมูลที่จะพูดถึงว่ามีดาวหางหรืออุกาบาตขนาดใหญ่อย่างที่ผมจำได้ มาให้เห็นในช่วงเวลานั้นเลย ผมก็แปลกใจอยู่ ถามคนเก่าๆก็เคยเห็นกันทั้งนั้น นี่ป้ามะลิมาพูดถึงอีกก็ถือว่าเป็นประสบการณ์คล้ายๆกัน
  • ดูการถ่ายทอดการสนทนากับป้ามะลิแล้ว อย่างนี้ต้องเรียกว่าเป็นการฟังที่ดีครับ เป็นการฟังที่สร้างความเชื่อใจและสร้างความสามารถให้กับผู้อื่น ฟังแล้วสร้างคนน่ะครับ
  • ป้ามะลิแกเป็นนักการ มาจากบ้านนอกและจบ ป. ๔ จึงนอกจากไม่ค่อยกล้าพูดแล้วแกก็เป็นคนพูดปนลาว หากไม่วางใจใครแกก็คงไม่สามารถเล่าเป็นเรื่องเป็นราวได้อย่างนี้หรอกนะครับ
  • ขอเห็นด้วยกับคุณช้างน้อยมอมแมมนะครับ การได้สนทนากันแบบมนุษย์ธรรมดาๆในองค์กรต่างๆนั้น แม้ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อมององค์กรสมัยใหม่ในแง่ความเป็นชุมชนและเป็นแหล่งการใช้ชีวิตแล้ว คนเราไม่ได้ต้องการทำงานให้ได้เงินเดือนอย่างเดียว แต่ต้องการความงอกงามและความเติบโตด้วย

    การได้สนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนร่วมงาน และมีโอกาสใช้หัวใจคุยกันนั้น ทำให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรูัที่ทำให้คนมีความสุขและมีความเป็นซึ่งกันและกัน เป็นพื้นฐานของการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรอย่างหนึ่งให้มีค่านิยมมุ่งทั้งงานและความสุขที่ดีในชุมชนของคนทำงานนะครับ

    มีโอกาสเมื่อไหร่ จะขอไปเรียนรู้จากท่านอาจารย์นะครับ..

    ผมอ่านที่อาจารย์เขียนแล้วมีความสุขมากครับ

    เป็นแรงใจและแรงเชียร์นะครับ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท