กระบวนการสำคัญกว่าองค์ความรู้?


        ในการสัมมนาหลักสูตร การพัฒนาผู้บริหารสถาบันผลิตแพทย์แห่งประเทศไทย รุ่นที่ 8  เมื่อวานนี้เป็นหัวข้อเรื่อง การจัดการความรู้  ตอนเช้าเป็นการบรรยายสลับกับการชมวิดีทัศน์  ขับเคลื่อน KM ประเทศไทย  และเป็นการพูดคุยตอบข้อซักถาม  ช่วงบ่ายได้เปิดเวทีให้มีการทดลองปฏิบัติ สำหรับ หัวปลา ที่ใช้คือ เทคนิคการสอนที่ทำให้บัณฑิตแพทย์ เก่ง ดี และมีความสุข โดยได้แบ่งอาจารย์แพทย์ที่เข้าร่วมหลักสูตรเป็น 5 กลุ่ม  ให้แต่ละท่านเล่าเรื่องความภาคภูมิใจ เทคนิคที่ใช้ในการเรียนการสอนที่เห็นว่าได้ผลดีให้เพื่อนอาจารย์ในกลุ่มฟัง มีการจัดเตรียม   Facilitator และ Note Taker  ไว้อย่างพร้อมเพรียง 

        หลังการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.)ในกลุ่ม ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ละกลุ่มคัดเลือกเรื่องเล่า 1 เรื่องมาเล่าให้กลุ่มใหญ่ฟัง ในขณะที่ดำเนินการเล่าเรื่องในวงใหญ่อยู่นี้ ผู้ที่เป็น Facilitator และ Note Taker ก็ไปประชุมอีกห้องหนึ่ง เพื่อสังเคราะห์  Explicit Knowledge ที่ได้จากการ ลปรร. ในบ่ายวันนี้ เรียกได้ว่า Session นี้มีการดำเนินการ 2 อย่างขนานกันไป คือ กลุ่มใหญ่แชร์ Tacit Knowledge (เรื่องเล่า) กัน ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งสรุปเทคนิค คำแนะนำ ออกมาเป็น Explicit แล้วนำมาเสนอในกลุ่มใหญ่ 

        สิ่งที่ประทับใจผมมากก็คือ ในหนึ่งวันนี้มีคำถาม (ดีๆ) เกิดขึ้นมากมาย ไม่ใช่คำถามประเภท ลองภูมิ แต่ว่าเป็นคำถามของผู้ที่ต้องการทำจริง เป็นคำถามที่ Practical อย่างยิ่ง อาทิเช่น อาจารย์ท่านหนึ่งถามว่า   หลังจากได้ฟังสรุปประเด็น (Explicit) ที่ได้ ผมไม่เห็นว่าได้อะไรใหม่เลย  เช่น ข้อสรุปที่ว่า ต้องเน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียน หรือที่บอกว่าอาจารย์ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี (Role Model) แก่นักศึกษา หรือประเด็นที่ว่าการเรียนการสอนจะต้องสร้างบรรยากาศดีๆ อย่าให้เครียด เพราะถ้าเครียดจะไม่เกิดการเรียนรู้  ฯลฯ ...เรื่องพวกนี้ ไม่มีกระบวนการบ่ายวันนี้ พวกเรา (อาจารย์) ก็รู้กันดีอยู่แล้ว

        สิ่งที่ผมสะท้อนกลับไปว่า... การจัดการความรู้อย่างที่เราทำในบ่ายวันนี้ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวองค์ความรู้เท่านั้น เพราะอย่างที่ท่านผู้ถามพูดไว้ว่า ก่อนมาเราก็รู้เรื่องพวกนี้ดีอยู่แล้ว นี่คือบทพิสูจน์ให้เห็นว่า หลายครั้งที่ Explicit Knowledge ไม่สามารถทำให้เกิดการกระทำ (Action) ใดๆได้ พูดง่ายๆ ก็คือ เรารู้ แต่เราอาจไม่ได้ทำ (หรือทำไม่ได้) แต่การได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน กับบรรดาอาจารย์จากสถาบันต่างๆ ในระหว่างกระบวนการ ลปรร. นั้น อาจมีเรื่องเล่าบางเรื่องที่สามารถสั่นไหวหัวใจของเราได้ ตรงนั้นนั่นแหละครับที่สำคัญ กระบวนการมีผลอย่างยิ่ง ณ ขณะที่แชร์เรื่องเล่า (Tacit) กันอยู่นั้น อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในจิตใจของเราโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ หัวใจของ KM อยู่ที่การเปลี่ยนแปลง อยู่ที่การกระทำ  มากกว่าการให้ได้ความรู้ออกมาเท่านั้น

        อีกคำถามหนึ่งซึ่งมีผู้ถามตั้งแต่ตอนเริ่มทำกระบวนการ จริงๆ แล้วอาจจะเรียกว่าเป็นการตั้งข้อสังเกตมากกว่าถามก็ได้  ท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า.... การให้ความสำคัญกับ Tacit Knowledge นี้ น่าจะเหมาะกับงาน หรือวิชาชีพทางด้านสังคมมากกว่าด้านวิทยาศาสตร์ เช่น ด้านการแพทย์ ซึ่งต้องอาศัยการวิจัย ต้องใช้ Evident based….”  ผมได้สะท้อนเรื่องนี้ว่า.... ในที่สุดแล้ว ทุกวิชาชีพต้องใช้ทั้งวิทยาศาสตร์ และศิลปศาสตร์ (สังคม) การรักษาคนไข้อาจต้องใช้เทคนิคความรู้ทางการแพทย์ ใช้เทคโนโลยี ใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อใช้วิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ แต่ไม่สามารถช่วยอะไรได้ จำเป็นต้องบอก ข่าวร้าย กับคนไข้ หมอแต่ละคนมีความสามารถในการบอกข่าวร้ายที่แตกต่างกันออกไป ถือได้ว่าเป็นเทคนิคเฉพาะตัว (ที่เลียนแบบ หรือฝึกได้) นี่ไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์แต่เป็นศิลปะในการพูด ในการสื่อสาร  หากแพทย์หรือพยาบาลสื่อสารกับคนไข้ไม่ดี ตรงนี้นี่แหละที่ทำให้เกิดปัญหา ผมว่าที่โรงพยาบาลถูกฟ้องร้องส่วนใหญ่ก็มาจากการพูดจาของหมอหรือพยาบาลนี่เอง นี่คือตัวอย่างที่ผมอยากให้เห็นว่าในชีวิตจริง ไม่มีอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์ล้วนๆ หรือเป็นศาสตร์ทางด้านสังคมแต่เพียงอย่างเดียว ชีวิตนั้นมีทั้งมิติทางด้านวิทย์และศิลป์อยู่ด้วยกัน

        ผมสนุกมากกับการเป็นวิทยากรเมื่อวาน เพราะได้เรียนรู้ ได้แง่คิดต่างๆ มากมาย ถือว่าเป็นการ ชาร์ตไฟ ที่ดีมาก เพราะในหลายๆ Workshop ที่ได้เข้าไปสัมผัส ไม่ได้ดีเช่นนี้เสมอไป สำหรับปัจจัยแห่งความสำเร็จนั้นผมเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นเพราะบรรดาอาจารย์แพทย์ที่เข้าร่วมหลักสูตรนี้มีส่วนร่วม (Participation) ค่อนข้างมาก เป็นผู้ที่มีความตั้งใจสูง (ดูจากคำถามที่ถาม) ทำให้บรรยากาศออกมาค่อนข้างดี เช้าวันนี้ผมยังได้คุยกับท่านอาจารย์วิจารณ์ว่านานๆ ทีผมจึงจะพบ Workshop ดีๆ เช่นนี้  แล้วสิ่งที่เราสรุปเหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ ที่งานครั้งนี้ออกมาดี ก็เพราะมีผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่จริงจังกับการเตรียมการต่างๆ สคส. ขอแสดงความชื่นชมกับอาจารย์หมอวุฒิชัย ธนาพงศธร ที่ท่านได้ทุ่มเทพลัง เพื่อส่งเสริมให้กระบวนการ KM ได้เข้าไปอยู่ในหัวใจของบรรดาอาจารย์แพทย์ในสถาบันต่างๆ ขอตบมือดังๆ ให้กับความตั้งใจของอาจารย์ครับ
หมายเลขบันทึก: 93878เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2007 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)
  • เห็นด้วยครับอาจารย์ เป็นต้นว่าองค์กรที่ประสบความสำเร็จ มีผลประกอบการที่ดี ระบบการจัดการความรู้ มิได้มุ่งหวังจะนำผลประกอบการที่ดีมาใช้
  • แต่ระบบการจัดการความรู้หวังที่จะเอากระบวนการทำงานที่ประสบความสำเร็จไปขยายผลและแตกยอดพัฒนาต่อไป
  • เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ

แต่เรามักพบว่า ส่วนใหญ่จะคิดว่างานจะเกิดก็ในวันที่จัดกิจกรรม ไม่ได้ใส่ใจตั้งใจกับการเตรียมการ เตรียมคน สักเท่าไหร่

อ้อม สคส.

เรียน ท่านอ.ดร.ประพนธ์ค่ะ

  • ดิฉันเห็นด้วยกับแพทย์ ในเรื่องของการทำเป็นแบบอย่างให้แพทย์ลูกศิษย์ได้เห็น  และได้ทำตาม...ซึ่งหลายๆท่านทำอยู่แล้วในขณะปฏิบัติงานจริงๆ  เป็นผู้เสียสละอย่างจริงจังและทุ่มเท   กลุ่มเหล่านี้ไม่เคยเรียกร้องอะไรตอบแทนเลยจริงๆค่ะ...และการทำเป็นตัวอย่างก็มิใช่การทำให้ดูเพียงวัน-สองวัน...มันต้องสั่งสมกันเป็นเวลานานๆ
  • สาขาแพทย์และพยาบาลต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์จริงๆในการทำงาน...การฝึกฝนจึงต้องถูกบังคับด้วยจำนวนชั่วโมงของการปฏิบัติงานกับผู้มีประสบการณ์ค่ะ...
  • การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงเป็นวิถีปกติไปแล้วสำหรับกลุ่มวิชาชีพเหล่านี้..เพราะวิทยาการเปลี่ยนแปลงทุกวัน....ต้องตามให้ทัน...เราจัดประชุมวิชาการกันบ่อยมากๆ
  • .....จะยากก็คือจะถอดออกมา....ถ่ายทอดศิลป์ในเรื่องไหน...อย่างไรดี ... เพราะบอก  แสดงแต่ปากเล่านั้นยากยิ่งค่ะ..ต้องทำให้ดู.....
  • ...และที่กล่าวมาคือความยากที่จะประเมินผลลัพธ์การทำKMของเขาค่ะ.....สำคัญคือถ้าเขาทำกันอยู่  แล้วประเมินว่า เขาไม่ได้ทำ...เขาไม่มี....นี่แหละจะบั่นทอนกำลังใจกันยิ่งนัก
  • ขอบคุณอาจารย์ค่ะ

เรียน อาจารย์ประพนธ์

  • อาจารย์ทำให้แพทย์เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มได้
  • ถือว่าประสบผลสำเร็จแล้วค่ะ
  • อาจารย์ตอบแพทย์ ได้ให้ข้อคิดที่ดีจริงๆค่ะ
  • แถมหน่อยนะคะ
  • ได้อ่านหนังสืออาจารย์ เรื่องปัญญาญาณ ชอบมากค่ะ 
   ผมก็หนักใจมากครับอาจารย์ กับคำพูดที่ว่า "เรื่องนั้นก็รู้แล้ว  เรื่องนี้ก็รู้แล้ว" แต่ปัญหาขององค์กรก็คงมีอยู่เช่นเดิม  แก้ไขอะไรได้ไม่มาก เป็นความคิดความเชื่อที่ฝังรากลึกมากเลยนะครับว่า ความรู้ระดับ Cognitive นั้นคือสุดยอดแล้ว .. ถึง Practical หรือไม่ ไม่สำคัญ
   ผู้รู้หลายคนจึงเข้าลักษณะ .. ถามมาซิ ตอบได้ทั้งนั้น .. อย่าให้ทำก็แล้วกัน  อันนั้นผมไม่รู้

อาจารย์นำจุดที่ตรงใจมาก มาย้ำเตือนให้คิดกันค่ะ เพราะสิ่งที่เห็นจริงๆทั่วไปก็คือ พวกเรารู้กันแล้วทั้งนั้นแต่ยังไม่ได้ทำ และเมื่อไม่ได้ทำก็ไม่เข้าใจสักทีว่า มัน work ได้ยังไง ทุกครั้งที่มีประชุมอะไรแบบนี้ ตัวเองก็คาดหวังเหมือนกันค่ะ คงมีใครสักคนในคนเป็นร้อยๆนั้นที่เกิดแรงบันดาลใจขนาดที่ทำให้เกิดภาคปฏิบัติได้บ้าง และยิ่งคนลงมือเป็น"ระดับหัว"มากเท่าไหร่ การก้าวเดินก็จะง่ายเท่านั้น ยากนะคะ แต่ก็ได้เห็นแล้วว่า สคส.ทำได้ค่ะ และกลยุทธในการขยายพลังที่ทำมาก็ใช้ได้ดีทีเดียว

ชอบครับ "เรื่องเล่าบางเรื่องที่สามารถสั่นไหวหัวใจของเราได้"

แสดงใจแต่ไม่แสดงตน

อาจารย์คะ

       อ่านจากบันทึกของอาจารย์แล้วก็เห็นว่าในวงการผู้รู้ก็ยังมีอะไรที่ไม่รู้(ตัวตน)

อีกมาก ดิฉันว่าหนังเรื่อง Path Adams  น่าจะเป็นคำตอบให้ผู้ที่ตั้งคำถามกับอาจารย์ได้เป็นอย่างดี หรือว่าพอดูแล้วก็จะพูดอีกว่าไม่เห็นมีอะไรใหม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เหนื่อยใจกับพวกชาเต็มแก้ว  ขอฝากชื่นชม อ.หมอวุฒิชัย ด้วยคะ เพราะเคยอ่านงานของท่านแล้วได้แง่ดีเยอะแยะ  ขอบคุณคะ  (โอกาสหน้าจะมาแสดงตน)

 Psychologist ดีใจครับที่ KM มาเติมเต็มในหลักสูตร พัฒนาผู้บริหาร ครับ

เพิ่งค้นพบ blog ของอาจารย์ ให้ข้อคิดที่ดีมาก ขอบคุณค่ะ ขออนุญาตเป็นสมาชิกอ่านบันทึกของอาจารย์ด้วยคนนะคะ

เรารู้ แต่เราอาจไม่ได้ทำ (หรือทำไม่ได้) แต่การได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน กับบรรดาอาจารย์จากสถาบันต่างๆ ในระหว่างกระบวนการ ลปรร. นั้น อาจมีเรื่องเล่าบางเรื่องที่สามารถสั่นไหวหัวใจของเราได้ ตรงนั้นนั่นแหละครับที่สำคัญ กระบวนการมีผลอย่างยิ่ง ณ ขณะที่แชร์เรื่องเล่า (Tacit) กันอยู่นั้น อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในจิตใจของเราโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ หัวใจของ KM อยู่ที่การเปลี่ยนแปลง อยู่ที่การกระทำ  มากกว่าการให้ได้ความรู้ออกมาเท่านั้น

ตัวเองก็มีประสบการณ์เป็น Facilitator เวลาที่เราต้องการให้ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือมานั่งคุยระดมสมองกัน เขามักมองที่ result แล้วบอกว่าเสียเวลานานไป ข้อสรุปที่ออกมาให้ Facilitator หรือ วิทยากรบอกมาเลยเร็วดี คนมักไม่มองที่กระบวนการ ว่าการที่มาคุยกันได้แลกเปลี่ยนความคิด ความรู้สึก ได้กระตุกจิตใจคั้นกันออกมาเองน่าจะจดจำได้ และจูงใจให้ไปหาวิธีแก้ไข หรือนำไปปฏิบัติจริงต่อไปได้มากกว่ามีคนมาบอกสูตรสำเร็จ 

จากคำถามสองคำถามที่อาจารย์แพทย์ถาม  และอาจารย์ประพนธ์ยกมาเล่าในที่นี้นั้น  ทำให้ผมเป็นห่วงระบบสารณสุขบ้านเรามากขึ้นกว่าเก่าอีกครับ

คำถามแรกชี้ให้เห็นว่า...แพทย์ไม่เคยฟังเลย...ท่านตัดสินจากข้อมูลเก่าที่มีอยู่ในหัวท่านแล้ว...ท่านมองไม่เห็นความแตกต่างของสายน้ำที่ไหนผ่านหน้าท่านไป  ท่านไม่ฟัง...ท่านเลยพลาดโอกาสที่จะเรียนรู้...น่าเห็นใจแพทย์ที่ถามคำถามนี้นะครับ...เพราะท่านรอบรู้มาก..ท่านเลยพลาดโอกาสในการเรียนรู้

คำถามที่สองสื่อให้เห็นว่า..สำหรับแพทย์ที่ถามคำถามนี้ท่านคิดว่าคนเป็นเครื่องจักรครับ...ส่วนไหนเสียก็ซ่อมแล้วก็จบกัน...ก็น่าเห็นใจท่านอีกเช่นกัน...อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่รีบเร่ง...จนท่านพลาดความงามที่ของริ้วรอยแห่งเหี่ยวย่นบนใบหน้าของคนไข้ที่ท่านรักษา

แม้ผมจะเป็นห่วงระบบสารณสุขบ้านเรา...แต่ผมก็รักคุณหมอของเราทุกคนมาก ๆ เลย  ผมอยากให้ท่านทำงานอย่างมีความสุข...ผมเชื่อว่าหลายท่านมีความสุข...แต่คำถามสองคำถามทำให้ผมได้ทราบว่า...มีบางท่านน่าเป็นห่วงครับ...แม้จะเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อย...แต่ถ้าถึง tipping point ก็อันตรายครับ

ท่าน citus นี่แหละครับ  เป็นความท้าทายของ km ผมเคยฟังบันทึกการบรรยายธรรมของหลวงพ่อพุทธทาส  เวลาท่านจะสอนคนที่มีความรอบรู้มาก ๆ ท่านจะ "เทน้ำชาออกจากถ้วย" ผู้ที่เข้าฟังอยู่ตั้งนานสองนาน  กว่าจะเข้าเนื้อหา ผมฟังแล้วอึ้งเลย  ท่านอัจฉริยะ  และท่านกล้าที่จะทำ

แต่ในกระบวนการ km บ้านเรา  อาจจะยังไม่มีอิสระที่จะทำได้ขนาดนั้น  เราจังต้องโอดครวญกันอย่างนี้แหละครับ  คำถามตรง ๆ แรง ๆ อาจจะถูกตีความว่าไม่เหมาะ  "น้ำชาก็ยังเต็มถ้วย" รินเท่าไหร่ก็ไม่เข้า  เลยพลาดทั้ง "เนื้อหา" และ "กระบวนการ" ครับ

ในวง km นอกระบบที่ผมคลุกคลีอยู่  ผมจะเจอกับ "คำถามตรง" และ "คำถามแรง" อยู่เสมอ  ผมโชคดีมากครับที่มีโอกาสได้มาเรียนรู้ตรงนี้  ผมขออวยพรให้ km บ้านเรามีประสิทธิผลยิ่ง ๆ ขึ้นไปครับ

เคยเตือนตนเองและผู้คนรอบข้างเรื่อง "น้ำชาล้นถ้วย" อยู่บ่อยๆ พยายามจูงใจให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเริ่มด้วย "ถ้วยชาที่ว่างเปล่า" ครั้นเมื่อจบการสัมมนาได้พบว่าหลายคนถ้วยชาก็ยังว่างเปล่าครับ!!

ไม่แปลกใจเลยที่คุณต้องเจอความจริงของคนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นธรรมชาติที่สังคมไปตีกรอบทองกรอบเพชรยกย่องเกินความเป็นจริงจนทำให้เขาลอยตัวอยู่ในอากาศปราศจากฐานที่มั่นคงครั้นเกิดความพลาดพลั้งก็ช่วยกันจนทำให้สังคมผิดเพี้ยนไปหมด มนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคมที่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและทั้งตรงและทางอ้อม ความรู้ความสามารถที่เกิดจากการศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบที่ต้องปฎิบัติกันในการอยู่ในสังคมของมนุษย์ มนุษย์ชอบความเป็นคนมากเกินไปจนขาดความเข้าใธรรมชาติ

อาจารย์ครับ สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากบันทึกนอกจาก วิธีคิดต่อเรื่อง KM แล้ว การมองบวก มีผลลัพธ์อย่างดี เมื่อเราสามารถผ่านตรงนั้นมาแล้ว

ขอบคุณอาจารย์มากครับ

เรื่องการ "มองเชิงบวก" ผมเองยังต้องฝึกอีกมากครับ แต่ที่ยากกว่าก็คือการมองแบบ "เห็นก็ให้สักแต่ว่าเห็น" ครับ

ภูมิใจที่ครั้งหนึ่งเคยเรียนกับอาจารย์ที่ CIE ครับ

สิ่งที่อาจารย์สอนผมนำมาใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานได้เป็นอย่างดี

กราบขอบคุณอาจารย์มากครับ

 MTT7

เรียน อาจารย์ประพนธ์ที่เคารพ

ชื่นชมกับการสะท้อนความคิดของอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องกระบวนการสำคัญกว่าองค์ความรู้ และบางครั้งเราเรียนรู้จากการฟังผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว และชื่นชอบที่อาจารย์ยกตัวอย่าง เกี่ยวกับ การบอกข่าวร้ายค่ะ เป็นการสะท้อนได้เห็นภาพ และปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันค่ะ

เรื่องการที่อาจารย์จะได้รับคำถามข้างต้น เป็นเรื่องปกติที่จะสามารถพบได้ โดยเฉพาะในกลุ่มประชุมที่มีคุณวุฒิสูงเช่นนี้ค่ะ  แต่ก็ไม่อยากให้มองว่าคำถามนี้เป็นการบั่นทอนกำลังใจและการทำงานนะคะ เพราะสิ่งที่มองเห็นคือ แสดงว่า ท่านอาจารย์แพทย์ที่ถามอาจจะยังไม่เห็นถึงความแตกต่างของการมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ แต่ไม่ใช่ว่าท่านไม่ดีหรือ ไม่สามารถเรียนรู้ได้นะคะ  เพราะจริงๆแล้ว แต่ละคนจะมีสไตล์การเรียนรู้และการได้มาซึ่งความรู้แตกต่างกัน 

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนในส่วนทั่วๆไป เนื่องจากไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยนะคะ บางครั้งก็เจอว่า การสะท้อนแต่ละครั้ง บางคนมุ่งหวังถึงลักษณะของรายละเอียดหรือสิ่งที่จะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ถ้าผลการประชุมออกมาแล้วได้แค่แนวความคิดใหญ่ๆ ซึ่งอาจารย์บางท่านได้ปฏิบัติหรือมีความรู้อยู่แล้ว อาจจะไม่โดนใจผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละท่าน  นี่เป็นการแสดงถึงความเห็นที่แตกต่างค่ะ  ในมุมมองของดิฉันเป็นความเห็นต่างที่น่าคิด และนำส่วนนี้มาปรับปรุงต่อไป  อย่างน้อยดิฉันยังเห็นว่า การมีจุดเริ่มต้นในการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ดีและก้าวหน้ากว่าหลายๆส่วนค่ะ ต้องร่วมชื่นชมกับผู้ที่ริเริ่ม จัดการและผู้ที่มีส่วนร่วมทุกท่าน

ขอบพระคุณที่อาจารย์นำสิ่งดีๆ มาเล่าสู่กันฟังนะคะ

ศิริกุล

ขอบคุณ คุณศิริกุล สำหรับการสะท้อนต่อยอดการเรียนรู้ที่มีคุณค่ายิ่ง

ดีใจที่ได้พบ ชยาคมน์ ใน gotoknow ฝากความระลึกถึงไปยังเพื่อน MTT7 ทุกคนด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท