ผู้ดู ผู้เป็น


การเป็นผู้ดู ของดิฉันจะเหมือนเวลาที่เราสังเกตคนอื่นที่เราพบหรือเดินผ่านไปมา แล้วเห็นอารมณ์ของเขาปรากฎทางคำพูดหรืออาการทางกาย...

ตามที่คุณฉัตรชัย ถามดิฉันในบันทึกเรื่องการส่งจิตออกนอก ว่า จิตที่รู้เท่าทันคือผู้ดูที่เห็นอาการที่จิตที่ทำให้เกิดความเศร้าหมอง นั้นดิฉันเห็นด้วยค่ะ   แต่การเป็นผู้ดูของดิฉันมีความหมายที่ง่ายๆ ตามความหมายของคำเลย  แรกๆ อาจารย์ศิริศักดิ์ สอนว่า อย่าเป็นผู้เป็น ให้เป็นผู้ดู เพราะแต่ก่อนอาจารย์ศิริศักดิ์เห็นดิฉันเป็นโกรธ ไม่พอใจค่อนข้างบ่อย ก็กรุณาให้ความเมตตาสอน ดิฉันรับฟังแรกๆ ก็เป็นงงค่ะ ; )  

อาจารย์ศิริศักดิ์อธิบายต่อว่า ถ้าไม่อยากเป็น ให้ทำเหมือนเวลาเราดูคนอื่นมีอาการอยู่ เหมือนต้องแยกตัวเองออกมายืนดูตัวเองโกรธ ประมาณนั้น เพราะฉะนั้นการเป็นผู้ดู ของดิฉันจะเหมือนเวลาที่เราสังเกตคนอื่นที่เราพบหรือเดินผ่านไปมา แล้วเห็นอารมณ์ของเขาปรากฎทางคำพูดหรืออาการทางกาย เช่นเห็นสีหน้าโกรธ สีหน้าร่าเริง เห็นคนร้องไห้ หรือหน้าตาแสดงความหวาดกลัว เป็นต้น แต่คราวนี้ คนอื่น ก็คือตัวเราเอง เพราะฉะนั้น ต้องเห็นให้ทันตอนเกิด ไม่งั้นจะเป็นไปแล้วทุกครั้ง คือดูไม่ทันนั่นเอง

 

สำหรับที่ถามว่า ผมทราบมาว่าจิตของผู้ปฏิบัติระดับสูงจะสามารถเห็นสมุทัยเหล่านั้นและเป็นเหตุให้เกิดและดับในน้อยกว่าช่วงเสี้ยววินาที นั้น  จากประสบการณ์ เมื่อปฏิบัติไประยะหนึ่งแล้ว ความโกรธชนิดรุนแรง ความเกลียดแบบมากๆ หรืออารมณ์สุขรุนแรงต่างๆ มันไม่เกิดแล้วค่ะ แต่ความไม่พอใจเกิดเป็นบางครั้ง ช่วงระยะเวลาสั้นๆ   ความสุขเล็กๆ เวลาหลานเข้ามาอ้อน หรือทำงานสำเร็จ ก็เกิดบางครั้งเป็นช่วงสั้นๆ เช่นกัน

ดิฉันเคยถามอาจารย์ศิริศักดิ์ว่าอาจารย์ยังเป็นโกรธอยู่ไหม (อาจารย์ศิริศักดิ์ปฏิบัติมานานกว่าเป็นผู้สอนดิฉัน) อาจารย์บอกว่าเรื่องโกรธนี้ ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นที่บอกว่า เกิดและดับในน้อยกว่าช่วงเสี้ยววินาที นั้น เป็นไปได้ คือสุดท้ายแล้วมันไม่เกิดเลยค่ะ  แต่ดิฉันยังเป็นอยู่บ้างค่ะ แต่อารมณ์ที่เกิด ไม่น่าจะใช่อารมณ์แบบหยาบที่รุนแรง แต่เป็นอารมณ์แบบละเอียดขึ้น และเป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้น คล้ายกับที่ดิฉันได้ยินนักศึกษาปี ๑ พูดคำหยาบ ซึ่งเกิดความรู้สึกสั้นๆ หลายประการ เช่น ไม่พอใจ เสียใจที่นักศึกษาไม่เคารพตัวเอง และสถานศึกษา สงสารประเทศไทย ฯลฯ แล้วก็เห็นทัน ทำให้ไม่ตอบโต้ต่อตอนนั้น เพราะไม่มีประโยชน์อะไร อารมณ์มันก็ดับตรงนั้น เดินออกมาก็ไม่รู้สึกอะไรแล้ว

สำหรับที่ถามว่า พระสอนบอกให้ปล่อยวางในจิตที่เป็นกุศล เช่น ความเมตตา ศรัทธา สมาธิ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถหมดไป มีการเกิดดับทำให้จิตใจไม่ว่าง และจิตที่ไม่ว่างก็ยังมีทุกข์อยู่ ไม่รู้ว่าคิดอย่างนี้ถูกต้องหรือเปล่า อันนี้ดิฉันคิดว่า สุดท้ายแล้ว ต้องปล่อยวางทั้งหมดค่ะ ไม่ว่าจะเป็นอกุศลจิตหรือกุศลจิต เราคงเคยเห็นว่าความเมตตาก็อาจนำไปสู่การกระทำที่เป็นอกุศลได้ เช่น หากเมตตาคนบางคนเป็นพิเศษ อาจไปช่วยเขาคดโกงหรือเบียดเบียนผู้อื่นก็ได้ หรือความศรัทธา เช่นความเชื่อในโชคลาง ไปนั่งรอขูดต้นไม้ เต่าสองหัว แล้วก็ไปเล่นหวยหรืออบายมุข หรือศรัทธาจตุคามจนต้องไปจองรุ่นนั้น รุ่นนี้ ระหว่างการไปจองอาจมีส่วนในการเบียดเบียนผู้อื่น (จนอาจถึงชีวิต ตามตัวอย่างในหน้าหนังสือพิมพ์)  

สำหรับเรื่องสมาธินั้น อาจารย์ศิริศักดิ์เปรียบให้ดิฉันฟังว่า สมาธิเป็นเหมือนที่พักเวลาเราเหนื่อยค่ะ เราสามารถหลบไปพักผ่อนโดยใช้สมาธิ แต่การทำสมาธินั้นไม่ก้าวหน้าค่ะ เพราะไม่เกิดปัญญาตามมา เปรียบเทียบเราเป็นนักวิ่งมาราธอนกำลังวิ่งไปจุดหมายปลายทางไกลอันหนึ่ง เมื่อวิ่งมานานก็ต้องพักเหนื่อย ดื่มน้ำ พักผ่อน แต่การพักนั้นๆ มันไม่ได้ระยะทางค่ะ ยังห่างจากเป้าหมายเท่าเดิม ประมาณนั้น  ดังนั้นที่พระท่านสอนว่าให้ละ ให้วางสิ่งเหล่านี้ด้วยนั้น น่าจะเป็นเช่นนั้นค่ะ แต่เราน่าจะต้องเลือก ละ วาง สิ่งที่เป็นอกุศลก่อนนะคะ เพราะมีโทษมากกว่า

หวังว่าคุณฉัตรชัยคงจะได้คำตอบนะคะ ดิฉันเองก็เรียนและปฏิบัติไปเรื่อยๆ ดีใจที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณฉัตรชัยและทุกท่านที่สนใจค่ะ

หมายเลขบันทึก: 90285เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2007 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
น่าสนใจใากคะ

เกิดและดับในน้อยกว่าช่วงเสี้ยววินาที

 เวลาที่เรา รู้สึก ไม่ดี แล้วเรา ปล่อยให้รู้สึก และมอง

และ ดับมัน ดูเป็น กลไก ...ไหลออก อย่างเป็นธรรมชาติมากนะคะ

   ดีกว่า ไปสกัดกั้น ไม่ให้รู้สึก....

ปล่อยให้รู้สึก แล้ว มอง แล้ว ดับ และถ้าดับได้เร็วขนาดนั้น..ก็ดีมากเลยคะ...

คงต้องไปฝึกอีกค่ะ....

   ขอบคุณค่ะที่ได้อ่านบันทึกนี้ ในเช้านี้

ขอบคุณคุณ P ดอกแก้ว ที่แวะมาอ่านและให้ข้อคิดเห็นแต่เช้าเหมือนกันนะคะ

ใช่อย่างที่คุณ ดอกแก้ว ว่าเลยค่ะ ว่ามันเป็นกลไกธรรมชาติที่เราห้ามไม่ได้ เพราะจิตมันซนค่ะ  คงเหมือนเณรเล็กๆ ; )  ที่คุณ ดอกแก้ว ดูแลอยู่  แต่เราดูการเกิดดับของจิต และตามทันได้ค่ะ ประมาณว่า สุดท้ายเณรก็จะโตขึ้น พฤติกรรมบางอย่างก็จะหายไป (ดับไป) แต่เร็ว ช้าต่างกันไปในแต่ละคน

ฝึกดูนะคะ ไม่ต้องทำอะไรมากค่ะ ใช้ชีวิตตามปรกติค่ะ ดูตามไปเรื่อยๆ ก่อนอย่างเดียว พอเห็นทันบ้างไม่ทันบ้างจะเริ่มรู้เองค่ะ ว่าเราทันแล้วหรือยัง

ขอบคุณที่เข้ามา ลปรร นะคะ

สติมา ทุกข์หนี

สติมี ทุกข์หมด

สติลด ทุกข์มา

(หลวงปู่วัดโพธิ์ ขอนแก่น ท่านกล่าวไว้ครับ)

ขอบคุณ ผศ. เพชรากร หาญพานิชย์ ที่ช่วยเสริมนะคะ จำได้ง่ายดีค่ะ หลวงปู่ท่านคิดได้เรียบง่ายและชัดเจนดีค่ะ

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

เคยฟังมาว่า มีคนยกมือถามท่านดาไล ลามะ ว่า "ท่านไม่โกรธใครเลยเหรอ ไม่มีความโกรธเกิดขึ้นเลยเหรอ"

ท่านตอบว่า:  "มี...

แต่มา แล้วก็จับได้ แล้วก็ไป" 

คงเป็นแบบ

เกิดและดับในน้อยกว่าช่วงเสี้ยววินาที” 

อย่างที่อ.กล่าวไว้ค่ะ  : )

 

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์ P มัทนา

ข้อความต่อไปนี้สรุปและคัดลอกมาจากหนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้" โดยพระครูนันทปัญญาภรณ์ พิมพ์ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๔ ค่ะ

พออ่านที่อาจารย์ยกตัวอย่างดาไล ลามะ เลยนึกถึงคำตอบของหลวงปู่ดูลย์ ที่เคยอ่านเจอต่อไปนี้ค่ะ ขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเสริมประสบการณ์นะคะ ; )

-----------------------------------------------------------

ปี ๒๕๒๒ หลวงปู่ดูลย์ อลุโต ไปพักผ่อนที่วัดเขาสุกิม ในขณะเดียวกับมีพระธรรมวราลังการ วัดบุปผาราม ซึ่งมีอายุอ่อนกว่าหลวงปู่เพียงปีเดียว แต่เป็นพระที่ศึกษาและบริหารงานคณะสงฆ์มาตลอดวัยชรา ทราบว่าหลวงปู่ดูลย์เป็นพระที่ปฏิบัติกัมมัฏฐาน และหลังจากสนทนาข้อกัมมัฏฐานกับหลวงปู่เป็นเวลานาน ได้ลงท้ายถามหลวงปู่ดูลย์ สั้นๆ ว่า ท่านยังมีโกรธอยู่ไหม

หลวงปู่ตอบเร็วว่า

"มี แต่ไม่เอา"

ถูกใจมากค่ะ "มี แต่ไม่เอา"

สวัสดีค่ะ อาจารย์ P มัทนา

ว่าจะเขียนเกร็ดจากบันทึกของหลวงปู่ดูลย์ ต่ออยู่เหมือนกันค่ะ ท่านตอบสั้นๆ แต่มันโดนใจดีค่ะ

ยินดีมากที่อาจารย์ชอบนะคะ ; )

สวัสดีครับอาจารย์

  • อ่านบันทึกนี้ตั้งแต่วานนี้แล้วครับ  แต่ไม่ได้ตอบนะครับ
  • ประเด็นนี้น่าสนใจมากครับ  เพราะเกี่ยวเนื่องกับการฝึกและการปฏิบัติอยู่มาก
  • เมื่อเกิดสิ่งที่มากระทบ(3กระบวนการ ผัสสะภายนอก--ภายใน ---วิญญาณ) ก็จะเกิดความรู้สึกชอบ  ไม่ชอบ  เฉยๆ(เวทนา) และการปรุงแต่ง(สังขาร) ...อีกหลายอย่างครับดูมันซับซ้อน 
  • ขอบอกว่าคนที่มาร่วมลปรร บันทึกนี้ล้วนเป็นแรงจูงใจให้ผมสนใจเรื่องธรรมะ เรื่องความดีงามมากขึ้นครับ  รู้สึกปีติขึ้นมา..ครับอาจารย์
  • เรื่องหนังสือ  หลวงปู่ฝากไว้  รู้สึกว่าเราแชร์หนังสือเล่มเดียวกันเลยครับ  ผมได้มา(แอบหยิบ) จากวัดที่หลวงปู่อยู่ที่สุรินร์ตั้งแต่อยู่ ม.4 แล้วครับ  ตอนนั้นทำกิจกรรมเป็นยุวพุทธที่นั่นครับ  เล่มนี้เวลาทุกข์ใจก็จะอ่านบ่อยๆ  ได้ประเด็นสั้นๆ  แต่ลึกซึ้งมากๆครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอP kmsabai

  • บางทีการได้รับคำถามก็ทำให้ดิฉันได้ฉุกคิดในเชิงละเอียดมากขึ้นน่ะคะ อย่างที่คุณฉัตรชัยได้ถามไว้ กว่าจะคิดคำตอบได้ต้องมาพิจารณาทบทวนเยอะเลยค่ะ เพราะมันซับซ้อนอย่างที่คุณหมอว่าไว้ค่ะ combinations ของสิ่งที่เกิดร่วมกันได้ เช่น จิต เจตสิก ก็เยอะแล้ว แถมยังเกิด ดับรวดเร็วจนถ้าไม่ละเอียดก็ตามไม่ทันเหมือนกัน
  • สำหรับเรื่องหนังสือ อาจารย์ศิริศักดิ์ยกให้ดิฉันเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ดิฉันปฏิบัติเมื่อ ๒-๓ ปีก่อน อาจารย์เขาได้มาเมื่อปี ๓๔ หนังสือเล่มนี้ก็เป็นเล่มโปรดของดิฉันเหมือนกันค่ะ
  • ดิฉันรู้สึกโชคดีมากที่ได้เจอกัลยาณมิตรดีๆ เอาธรรมดีๆ มาฝากดิฉันอยู่เสมอ รู้สึกว่าช่วงนี้จะปฏิบัติก้าวหน้าได้ดีพอสมควร คุณหมอคงรู้สึกเหมือนกัน ดีจังค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์มากที่ให้ความกระจ่างครับ ถ้าอาจารย์มีสภาวะธรรมแปลกๆขอลปรรด้วยครับ

ได้เลยค่ะ คุณ P ฉัตรชัย

  • ดิฉันตั้งใจไว้อยู่แล้วว่า ถ้าได้อะไรใหม่ๆ จะนำมา ลปรร กับทุกท่านที่สนใจค่ะ ขอบคุณคุณฉัตรชัยมากนะคะเข้ามา ลปรร เป็นประจำ
  • แล้วถ้าคุณฉัตรชัย ปฏิบัติแล้วได้อะไรใหม่ๆ อย่าลืมมา ลปรร กันด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

เราเป็นเพียงแต่ผู้เฝ้าดู เท่านั้น  ผมเองก็ใช้วิธีนี้ครับ เฝ้าดู การเกิดดับ อยู่เงียบๆ อาการของอารมณปัจจุบัน (ภาวะกายและใจปัจจุบัน ) มีอะไรเกิดขึ้น ( จิตคิดอะไร ดู  กายเปลี่ยนแปลงอะไร ดู  )  มีอะไรเปลี่ยนแปลง มีอะไรดับไป มองที่ กาย กับ ใจ  สุดท้ายจริงๆ ของปฏิบัติธรรมคือ ความบริสุทธิ์ ผ่องใส ( อย่าลืมครับ ความบริสุทธิ์ต้องดูที่ใจ )  การปล่อยวาง เป็นทางหนึ่งของการบรรลุธรรมแต่ยังไม่ได้หมายถึงความบริสุทธิ์

 เฝ้าดู  เรามีหน้าที่  เฝ้าดู 

สวัสดีค่ะ คุณ MR.BHUDIT EKATHAT

ขอบคุณที่ช่วยย้ำเตือนเรื่องการเป็นผู้ดู นะคะ พยายามเป็นผู้ดูอยู่เหมือนกันค่ะ ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ อยู่ในชีวิตประจำวันนี้แหละค่ะ

แล้วแวะมา ลปรร กันอีกนะคะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท