บทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษา กับทัศนคติของนักศึกษาปี ๑


ตอนหลังจากเซ็นเอกสารหมดแล้ว ดิฉันได้ยินเด็กพูดคำหยาบเป็นสัตว์เลื้อยคลาน กับเพื่อนตามความคะนอง ก็ตักเตือนว่าอย่าพูดแบบนี้ในห้องเรียน พอหันหลังกลับ เดินมาอีกหน่อยก็ได้ยินเสียงลอยตามลมมาอีกว่า "กูยังไม่ทันพูด ห.. อะไรเลย..."

ดิฉันเพิ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าภาควิชาฯ เมื่อสัก ๑-๒ เดือนที่ผ่านมาว่าจะให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษาโควต้าของภาควิชาปีนี้   (ภาควิชาฯ แบ่งการรับนศ.ออกเป็น 2 ส่วนคือ โควต้า กับ เอนทรานซ์ โดยมีการรับนักศึกษาโควต้าเรียนดีจากโรงเรียนไกล้เคียงและจากหน่วยงานภายในที่สอนระดับ ปวช. จำนวนรวมประมาณ ๔๐ คน และรับจากระบบ O-Net A-Net อีกประมาณ ๘๐ คน)

ดิฉันไม่ได้ทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษาปริญญาตรีเสียนานแล้ว น่าจะประมาณ ๕ ปี ตั้งแต่ไปรับงานบริหารเป็นรองคณบดี อยู่ ๔ ปีเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว

เช้านี้เป็นวันแรกที่ดิฉันได้ทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษา และได้พบกับนักศึกษาปี ๑ ที่มาลงทะเบียน

ปัจจุบันการลงทะเบียนที่สถาบัน  นักศึกษาชำระเงินจะเรียบร้อยมาแล้ว โดยเฉพาะนักศึกษาโควต้า ซึ่งต้องยืนยันสิทธิ์ และวิชาปี ๑ เทอม ๑ ที่เรียนก็ค่อนข้างบังคับอยู่แล้วว่าให้เรียนอะไรบ้าง   ระบบการลงทะเบียนจึงกลายเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่นักศึกษาสามารถลงเองได้เลยโดยไม่ผ่านอาจารย์ที่ปรึกษา

ท่านอาจสงสัยว่า ถ้างั้นที่ปรึกษาทำอะไรบ้าง

วันนี้ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา ดิฉันได้แต่แจ้งชื่อตัวเอง ห้องทำงาน ชื่อเจ้าหน้าที่ภาควิชาฯ ที่นักศึกษาสามารถมาติดต่อเมื่อเกิดข้อสงสัย และกิจกรรมหลักที่ทำเช้าวันนี้ก็คือ

  • ลงลายมือชื่อเป็นพยานในใบรับรองความประพฤติ (แล้วเราจะรู้จักเด็กไหมเนี่ย? แต่ก็เป็นลงลายมือชื่อเป็นพยานไปแล้ว) กับ

  • ลงลายมือชื่อในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา ในบัตรแทนบัตรนักศึกษา

หลังจากนั้นก็ถือโอกาสอบรม บอกนักศึกษาถึงความสำคัญของการเรียนในเทอมแรกในระดับอุดมศึกษา บอกประสบการณ์ว่าเคยมีรุ่นพี่ที่ผิดพลาดในช่วงนี้มาก เป็นผลให้เรียนไม่จบ ถึงจบก็จบแบบใช้เวลา ๕-๖ ปี น่าเสียดายโอกาสของนักศึกษาเองและเสียดายทรัพยากรอื่นๆ ด้วย

แต่เด็ก ก็คือเด็กมังคะ ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง พูดซ้อนคุยกับเพื่อนใหม่ระหว่างที่ดิฉันกำลังพูดอยู่บ้าง  อารมณ์เฮฮายังมีอยู่เต็มเปี่ยม  แถมพูดจาหยาบคายกันเองในหมู่เพื่อน ลอยตามลมมาให้ได้ยินอีก

ตอนหลังจากเซ็นเอกสารหมดแล้ว ดิฉันได้ยินเด็กพูดคำหยาบเป็นสัตว์เลื้อยคลาน กับเพื่อนตามความคะนอง ก็ตักเตือนว่าอย่าพูดแบบนี้ในห้องเรียน พอหันหลังกลับ เดินมาอีกหน่อยก็ได้ยินเสียงลอยตามลมมาอีกว่า  "กูยังไม่ทันพูด ห.. อะไรเลย..."

ดิฉันฟังแล้วก็รู้สึกสะอึก เพราะเพิ่งลงนามเป็นพยานรับรองความประพฤติให้กับทุกคน  แต่รู้สึกว่าไร้ประโยชน์ที่จะต้องอบรมกันตอนนี้ เพราะคนฟังไม่อยากจะฟังที่เราพูด แล้วก็คงไม่ให้เกียรติกันซักเท่าไหร่ ก็เลยเดินออกมาก่อน แบบต้องตั้งสติพอควร แล้วก็มาเขียนบันทึกนี้

ดิฉันคงต้องมาคิดใหม่ว่า หน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษายุคปัจจุบัน จะทำอะไรให้เด็กสมัยใหม่แบบนี้ได้บ้าง ท่านว่าอย่างไรคะ

 

หมายเลขบันทึก: 89265เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2007 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เรียนท่านอาจารย์กมลวัลย์

  • ผมไม่ใช่สายวิชาการ (สายสอน) แต่ก็เคยอยู่ในฐานะนิสิตนักศึกษา ต้องบอกตรงกันว่าเข้าปีหนึ่ง ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการเรียนในระดับอุดมศึกษา (ยังคิดว่าเป็นเด็กมัธยมอยู่เลย)
  • ในครั้งแรกที่เข้ามาอาจารย์ที่ปรึกษาจะเข้ามาพบแนะนำตัว ชี้แจงวิธีการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งเลือกรายวิชาที่จะลงเรียนให้ (แบบบังคับ) จะเจออาจารย์ที่ปรึกษาภาคเรียนละครั้ง ตอนที่เอาใบลงทะเบียนไปให้เซ็นชื่อ หรือบางครั้งก็ไม่ได้เจอเลย ในกรณีที่หัวหน้าห้องเป็นตัวแทนรวบรวม
  • สำหรับผมแล้ว "อาจารย์ที่ปรึกษา" มีหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ ในกรณีที่นิสิตนักศึกษามีปัญหาที่แก้ไม่ได้ โดยมากเมื่อนิสิตนักศึกษาที่มีปัญหา ผมเชื่อว่าคนแรกที่เขาต้องการปรึกษา คือ "เพื่อน" อาจเป็นเพราะช่องว่างระหว่างวัยมีน้อย
  • สุดท้ายอาจารย์ที่ปรึกษาในยุคนี้ผมว่า ควรทำตัวเป็นทั้งอาจารย์ ทั้งเพื่อน ในขณะเวลาเดียวกัน ครับ

ด้วยความเคารพ

กัมปนาท

อาจารย์ครับ ตอนผมเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง สิ่งที่ผมพยายามจะเรียนรู้คือ ต้องทำอย่างไรกับชีวิตดี แต่ตอนนั้นผมได้จากอาจารย์น้อยมาก เนื่องจากผมยังไม่กล้าเข้าหาอาจารย์ เพราะคิดว่าคงต้องระวังตัวในการเข้าพบอาจารย์เหมือนตอนอยู่มัธยม ผมจึงได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่มากกว่า

แต่ตอนอยู่ปีสอง ผมเพิ่งรู้ว่า อาจารย์ที่ปรึกษาสำคัญมากสำหรับผม ถ้าในปีแรกผมได้คุยกับอาจารย์ที่ปรึกษามากกว่านี้ ผมคงมีอะไรดีๆ กว่านี้อีก

ไม่ใช่รุ่นพี่ไม่ดีนะครับ แต่รุ่นพี่ใช้ประสบการณ์ตนเองมาถ่ายทอดให้กับน้อง ในขณะที่ถ้าอาจารย์มีข้อมูลที่ถูกต้องมากกว่า แต่ไม่ยอมมาคุยกับนักศึกษา การปฏิบัติของนักศึกษาใหม่ก็คลาดเคลือนได้เยอะทีเดียวครับ

สำหรับผมในปีที่สองเป็นต้นมา ผมสนิทกับอาจารย์มากขึ้นครับ แล้วรู้ดีขึ้นว่า การจะได้ความรู้ให้มากขึ้นต้องคุยกับอาจารย์ให้มากขึ้นทั้งในห้องและนอกห้องครับ

ตอนผมเป็นอาจารย์ ผมจึงต้องสามารถพูดคุยเล่นกับนักศึกษาผมให้ได้ก่อน แล้วการให้คำปรึกษาจึงจะตามมา

 

สวัสดีค่ะคุณ P กัมปนาท อาชา (แจ๊ค)  และอาจารย์ P นาย จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง ที่ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนกับดิฉันนะคะ

แน่นอนว่าดิฉันก็เคยผ่านการเป็นนิสิตมาเหมือนกัน ; )   และดิฉันเป็นประเภทกลัวอาจารย์มากเหมือนกันค่ะ เพราะฉะนั้นจะไม่ค่อยได้รู้จักกับอาจารย์มากนัก เพราะอาจารย์ก็เป็นอาจารย์ชายเสียส่วนใหญ่ในสาขาที่ตัวเองเรียน (โยธา) และเนื่องจากตัวเองไม่ค่อยมีปัญหาในการเรียนมาก ก็เลยทำให้ไม่ค่อยได้คุยกับอาจารย์ที่ปรึกษามากเท่าใดขึ้นไปอีก

ที่ดิฉันว่าแปลกก็คือ นักศึกษาปัจจุบันไม่ค่อยให้เกียรติใครเลย แม้กระทั่งกับตัวเอง อาจเป็นเพราะอยู่ในวัยนี้ ดิฉันก็พยายามจะเข้าถึง และพยายามเข้าใจ กำลังหาวิธีการอยู่ว่าจะทำอย่างไร ถึงจะรู้จักเด็กๆ มากกว่านี้ ประกอบกับ นศ.ของที่ภาควิชา ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นผู้ชายอยู่เหมือนเดิม ทำให้เข้าถึงยาก เพราะเราก็คงดูเป็นอาจารย์ผู้หญิงดุๆ

อย่างที่คุณ P กัมปนาท อาชา (แจ๊ค) ว่าไว้ว่าต้องเป็นทั้งครูทั้งเพื่อน แต่ถ้าจะเป็นเพื่อนเขาต้องยอมรับระดับหนึ่ง ซึ่งต้องหาวิธีการต่อไป คงต้องมีการพบปะกันมากขึ้นเป็นอันดับแรกก่อนแหละค่ะ ถึงจะรู้จักกันได้อย่างที่อาจารย์ P นาย จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง ว่าไว้

ขอบคุณทั้งสองท่านอีกครั้งค่ะ ที่ให้คำแนะนำ

แวะมาให้กำลังใจอาจารย์ ดร.กมลวัลย์ครับ บางครั้งต้องมองว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ บางครั้งต้องมองเขาเป็นเด็กครับ และทำแบบเนียนๆ สอน หรืออบรม โดยที่เขาไม่ต่อต้าน มั่นใจว่าอาจารย์จัดการเขาได้ เพราะอาจารย์ปฏิบัติธรรม เพราะถ้าเราเข้าใจตนเอง ก็จะเข้าใจเขา

ขอบคุณ คุณ P ข้ามสีทันดร มากเลยนะคะ สำหรับกำลังใจ ตอนนี้เตรียมแผนไว้แล้วว่าจะต้องนัด (เชิงบังคับ) นักศึกษามาพบก่อน midterm เพื่อทำความรู้จักมากขึ้น และเตือนเขาก่อน ก็พยายามจะ put myself in their shoes ดูว่าเด็กๆ ต้องการอะไร

คิดไว้แล้วว่าต้องปรับทัศนคติตัวเองก่อน ก่อนไปปรับคนอื่นค่ะ ; )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท