เมื่อผิดกลายเป็นถูก


คำผิดหรือสิ่งผิด(ถ้าหากเชื่อว่าผิด) ก็จะปรากฏซ้ำจนกลายเป็นความเคยชินและยอมรับได้ สิ่งที่ยอมรับได้ ก็อนุโลมให้เป็นสิ่งถูกโดยอัตโนมัติ และหาหลักยึดอะไรมิได้ ด้วยว่าปฏิเสธไม่รับรู้หลักเสียแล้วตั้งแต่ต้น

                                            เมื่อผิดกลายเป็นถูก 

ภาษาเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายที่เปลี่ยนแปลงได้ตามคนที่ใช้    คำใดที่คนใช้มากและยอมรับ      ทั้งที่อาจผิดไปจากหลักภาษา(ตามตำราภาษาไทยกระแสหลัก)  ก็อนุโลม(ยอม)ได้  เพราะพอจะอธิบายได้  ว่าด้วยเหตุใดจึงอนุโลมได้  

แต่บางคำ...   โดยเฉพาะคำว่า    มั้ย , นะ  และ  ว้าว..ว..ว    ทำให้ดิฉันลำบากใจมาก  เพราะสอนอย่าง  แต่เด็กเห็นอีกอย่าง     ทุกวัน   ตามป้าย  ตามหนังสือ  ตามสื่อ  ฯลฯ  สิ่งเหล่านั้นมีอิทธิพลมากกว่าเสียงบ่นของดิฉัน  ที่พยายามสอนที่มาและพร่ำบอกอย่างง่ายว่า  ตามหลักการเขียนแล้วเราไม่ใส่วรรณยุกต์ตรีบนพยัญชนะใด  นอกจากอักษรกลาง             เท่านั้น  เราไม่ใส่วรรณยุกต์ตรีบนอักษรสูง  และอักษรต่ำ  พึงเข้าใจหลักเสียก่อน  และทำให้ถูกหลักก่อน   จากนั้นจะบิดเบนอย่างไรก็จะได้ระลึกรู้     มิใช่ทำไปโดยไม่มีหลักการร่วมใดๆ  

        เพราะมองให้ลึกซึ้งแล้ว นั่นแปลว่ากำลังเอาแต่ใจและเห็นแก่หลักตูเป็นที่ตั้ง     สังคมอย่างนั้นอันตรายนัก

 

ที่ยิ่งไปกว่านั้น  คำที่ใส่วรรณยุกต์ตรีบนอักษรกลางหรืออักษรต่ำเป็นคำที่ถ่ายเสียงของคำออกมาให้เป็นเสียงสูงตรงกับใจผู้ใช้       (แปลว่าถ้าได้ตามความพอใจของตัวก็จะชอบใจเป็นอันมาก)    ประกอบกับด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างที่มาประจวบเหมาะกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ    ทำให้การสะกดคำเหล่านี้  เป็นคำที่ยอมรับได้  และใช้กันแพร่หลาย  เขียนกันได้อย่างเป็นอัตโนมัติ  

อาทิ      ปัจจัยเชิงโครงสร้างอย่างการสอบเอ็นทรานซ์  ที่ทำให้ครูสอนด้วยวิธีคิดแบบคำตอบที่ถูกมีคำตอบเดียว   ในถาดตัวเลือกแบบสำเร็จรูปที่พิมพ์มาให้เสร็จเรียบร้อยแล้ว   จึงทำให้การเขียนแบบคัดลายมือ(ฝึกซ้ำๆจนจำและไม่กล้าผิด)ไม่จำเป็นอีกต่อไป  โอกาสที่จะฝึกสะกดคำให้ถูกด้วยการเขียนย้ำซ้ำด้วยความเข้มงวดของครูจึงมีน้อยลง

ปัจจัยสำคัญอีกประการที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันก็คือการปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  อยู่ในช่วงเหวี่ยงสุดโต่งไปข้างที่ผู้เรียนต้องคิดเองมากกว่าที่ผู้สอนจะบอกอย่างเอาใจใส่เข้มงวดจริงจัง  ประกอบกับระบบประเมินครูที่บังคับให้ครูต้องดิ้นรนเอาตัวรอดทำผลงานของตัวก่อน    ทำให้ผู้เรียนแห่งยุคสมัย(นี้)จำนวนมาก  ต้องกลายเป็นเด็กที่อ่านไม่ออก  เขียนไม่ได้  มีภาษาใช้จำกัดนั่นแปลว่ามีวิธีคิดจำกัดไปด้วย   และจะไม่มีใครเสียเวลากับการย้ำซ้ำ(แปลว่าเอาใจใส่)   เรื่องตัวสะกดเล็กๆน้อยๆอีก

ปัจจัยการยอมรับว่ากฏทุกกฏยอมมีข้อยกเว้น  ดังเช่นที่ราชบัณฑิตยอมรับให้มีคำที่เขียนและอ่านออกเสียงได้ตามความนิยม  ทำให้มีวิธีสะกดหรือออกเสียงคำเพิ่มมากขึ้น   แปลว่าเมื่อมีคำใหม่เข้ามา  ก็ต้องรอพิจารณาก่อนว่าจะยอมให้เป็นคำตามความนิยมได้ไหม      ช่วงที่รอนั้น  ก็ใช้ๆกันไปก่อน    และใช้กันจนติด...แกะไม่ออกอีกต่อไป      ไม่ว่าคำที่พิจารณาว่าให้เขียนตามหลัก  จะสมเหตุสมผลหรือไม่  ก็ช่วยไม่ได้  เพราะใช้กันจนติด  ผิดกลายเป็นถูกไปเสียแล้ว 

 ทั้งนี้  อาจมองรวมไปถึงปัจจัยเชิงวิธีคิดแบบยุคหลังทันสมัย(ถ้าเชื่อว่ามีวิธีคิดชุดนี้อยู่จริง)  วิธีคิดชุดนี้มีแนวโน้มจะยอมรับความแตกต่างหลากหลาย   โดยมีนัยยะว่า  ถูก   หรือ   ผิด  เป็นเรื่องของมุมมอง และลึกๆแล้วคือการปฏิเสธอำนาจที่(คิดว่า)ครอบงำอยู่    อาจส่งผลทำให้เกิดการยอมรับได้ว่า การสะกดคำ  การถ่ายเสียงคำ เป็นธรรมชาติของความแตกต่างหลากหลาย   ไม่ควรใช้อำนาจครูภาษาไทย   หรือหลักการตามหนังสือหลักภาษาไทยเก่าๆเข้าไปครอบงำ

 อีกประการก็คือ  กฏการย้ำซ้ำอย่างง่ายที่ทรงพลังของสื่อทุกประเภท      ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ  ทำให้เด็กเห็นคำและการสะกดคำชุดนั้น  ทุกวัน  ทุกเวลาที่ลืมตา  ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม 

หากเป็นด้วยปัจจัยร่วมที่ประจวบเหมาะดังที่กล่าวมานี้แล้วไซร้   ก็ไม่แปลกอีกที่นักศึกษาจะสะกดคำว่า  มั้ย    ให้เป็น  มั๊ย  นะ   ให้เป็น  น๊ะ   และคำยืมอย่าง ว้าว   ให้เป็น   ว๊าว..ว..ว   โดยไม่ต้องรู้สึกอะไร 

คำผิดหรือสิ่งผิด(ถ้าหากเชื่อว่าผิด) ก็จะปรากฏซ้ำจนกลายเป็นความเคยชินและยอมรับได้   สิ่งที่ยอมรับได้  ก็อนุโลมให้เป็นสิ่งถูกโดยอัตโนมัติ  และหาหลักยึดอะไรมิได้     ด้วยว่าปฏิเสธไม่รับรู้หลักเสียแล้วตั้งแต่ต้น       และจะปฏิบัติแบบตามใจผู้ชมต่อๆกันไปตราบนานเท่านาน    หาหลักการอะไรมิได้อีกต่อไป  ....ดังนี้   

มิใช่เรื่องน่าห่วงใยดอกหรือ?....
คำสำคัญ (Tags): #บทความ
หมายเลขบันทึก: 80478เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2007 23:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

 

อ่านแล้วแอบถอนใจด้วยคนค่ะ

เด็กสมัยนี้ใช้ภาษาวิบัติกันเยอะค่ะ  แล้วยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องโก้อีกด้วย  บางคน..พอทักว่าน้องเขียนผิดนะ  คนทักยังโดนหาว่าเชย ไม่ทันสมัยเลย

บางคนเข้ามาแต่งนิยาย เรื่องสั้นโพสต์บนเวบ เขียน  เธอ เป็น เทอ      ทำไม เป็น ทามมาย    มาแล้ว ก็เขียนเป็น มาแว้ว   ผม เป็น ป๋ม  ฯลฯ

บางเวบบอร์ดต้องติดป้าย "เขตปลอดภาษาวิบัติ"

บางคนใช้จนเพลิน ใช้จนลืม ว่าจริงๆที่ถูกเขียนอย่างไร

น่าสงสารภาษาไทยจริงๆค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ k-jira

ดิฉันก็หนักใจน่าดูเลยค่ะ  แต่ก็พยายามหาทางไป  ดิฉันสอนการเขียนเด็กโต  และต้องตรวจงานเขียนเด็กๆในแต่ละภาคเรียนจนตาลาย  พอเห็นการสะกดคำก็คล้ายจะเป็นลม  เพราะมีคำพื้นฐานที่เด็กๆสะกดผิดโดยไม่รู้ว่าผิด เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจมีที่มาจากผลกระทบของระบบการศึกษา ที่คุณครูเองก็ตั้งตัวไม่ทัน 

เด็กมัธยมที่มาเรียนสาขาที่ดิฉันสอน จำเป็นต้องมีพื้นภาษาไทยอย่างดี (เป็นอย่างน้อย)  การณ์กลับปรากฏว่าเด็กๆจำนวนมากมีปัญหาเรื่องการสะกดคำผิด  การใช้คำผิด   และการเขียนที่ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัญหาเร้าใจเอกไทยตัวคนเดียวในดงพิราบขาวเป็นอย่างยิ่ง  แต่ก็จะพยายามหาวิธีการแก้ไขต่อไปค่ะ 

ขอบคุณที่แวะเข้ามานะคะ  ดิฉันจะตามไปอ่านนิยายด้วยคนค่ะ  (....เอ่อ...ขออภัยนิดนึง ดิฉันทำ link ที่ชื่อไม่เป็นน่ะค่ะ)  

 

สวัสดีครับ อาจารย์ดอกไม้ทะเล & คุณ k-jira

        ขอแจมด้วยคนครับ (เอ...ใช้คำว่า 'แจม' นี่จะโดนงอนหรือเปล่า?)

        รู้จักเด็กรุ่นน้องระดับมัธยมบางคน เห็นตอนที่เขาเขียน blog เพื่ออ่านกันเองในหมู่เพื่อนๆ ก็ใช้ภาษาอย่างที่อาจารย์และคุณ k-jira บอกนั่นแหละครับ คือ ทามมาย มาแว้ว ฯลฯ ก็รู้สึกแปลกๆ อยู่เหมือนกัน

        ยังกลัวๆ อยู่เหมือนกันว่า จะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง....

        แต่พอเขาเขียน e-mail ถึงเรา ก็ใช้ภาษาปกติครับ ยิ่งตอนเจอกันจริงๆ ก็คุยกันได้ ไม่มีปัญหาอะไร

        ทำให้ผมคิดได้ว่า เออ! ค่อยยังชั่วหน่อย คือ ถ้าเขาใช้ภาษา/สื่อสาร ให้ถูกกาละเทศะ (ถูกบริบท) ก็น่าจะพอรับไหวเหมือนกันเนอะ

         ช่ายหมายคับ อาจาน + คุณ k-jira (แซว + ป่วนเล็กๆ)....ล้อเล่นนะครับ

..................................................................

ปล. เรื่องการทำ link ชื่อ นี่ มีขั้นตอนดังนี้ครับ

           1. จดชื่อ link ที่ต้องการเอาไว้ หรือ

               เปิดหน้าที่ต้องการ แล้วไป copy URL เก็บไว้ (เช่น ผมไปเปิดหน้า Profile ของคุณ k-jira ไว้  http://gotoknow.org/profile/mydream )

           2. ระหว่างที่เขียนบันทึกของเรา ถ้าต้องการอ้างถึงเรื่องที่ต้องการ ก็อาจระบุชื่อ เช่น หน้าโพรไฟล์ของคุณ k-jira แล้วก็ทำไฮไลต์คำ/ข้อความนั้น

           3. คลิกที่ภาพโซ่ อยู่ด้านซ้ายของ HTML ในแถบเครื่องมือ นำ URL ไปใส่ใน link URL แล้วคลิก Insert

           เท่านี้ก็เรียบร้อยครับ

ขอบพระคุณมากๆค่ะอาจารย์ ดร.บัญชา

เช้านี้เด๋วเอ๊ยเดี๋ยวขออนุญาตไปทำข้อสอบส่งก่อน     แล้วจะกลับมาฝึกแบบฝึกหัดทำ link ค่ะ  

แว่บเข้ามาเรียนอาจารย์ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ ค่ะ เข้าใจว่าทำ link ได้แล้ว ขอบพระคุณอาจารย์อีกทีนะคะ

เย้! ใช้งานได้จริงๆ ยินดีด้วยครับ

เอ่อ...เรียกผมคุณบัญชา หรือจะอาจารย์บัญชา เฉยๆ ก็ได้ครับ :-)

สวัสดีค่ะ

          น่าเห็นใจค่ะ เคยเห็นเด็กที่ร้านแชท กัน ภาษาไทยจะวิบัติไหมน้อ(หนอ ฮ่า ๆๆๆๆ) จะเล่าประสบการณ์ให้ฟังค่ะ แบบเห็นกับตาจะจะ ราณีสอนวิชาภาษีอากรธุรกิจค่ะ วันนั้นสอนเสร็จบอกนักศึกษาว่าให้กลับไปอ่าน และดูวิธีการทำหรือตัวอย่างมาด้วยเพราะอาทิตย์หน้าจะมีแบบฝึกหัดให้ทำ  พอถึงอาทิตย์ต่อมาราณีก็มาอธิบายและมีแบบฝึกหัดให้ทำ  แต่การให้ทำนั้นราณีจะเดินเข้าหานักศึกษา แบบเกาะติด ชิดขอบสนามเลยเพราะก็เข้าใจว่าเป็นวิชาที่ยาก( เหนื่อยหรือยังค่ะที่อ่าน) ขณะนั้น ตาราณีก็เห็นในหนังสือ มีทั้งรูปภาพ ภาษาสุดยอด  มีอยู่คนนึงขณะกำลังอธิบายอยู่ตาก็ไปเห็นที่นักศึกษา ทำหมายเหตุคำสั่งที่เราสั่งว่า "จานให้อ่าน" ไม่อ่านมี ซ่อม(ขาดช้อนวะ)  เราเห็นแล้วอมยิ้ม สงสัยนักศึกษาหิวข้าวแน่เลย ฮ่าๆๆๆๆๆ

         ......ha..!.....     ขำขนาดอ่ะค่ะ  ....สีมือมาก.!...

ปล.  อาจารย์เกาะติด ชิดขอบสนาม  คุมเข้มออกอย่างนี้ยังมีซ่อมอีกเหรอคะ.....   เหมือนแถวโรงเรียนดิฉันเลย   เลยไม่ให้ช้อนเหมือนกัน ( คือให้ซ่อมแล้วซ่อมอีก .. อิอิ ) 

ชอบอ่านบันทึกอาจารย์ค่ะ

สวัสดีครับ

เีิื้รื่องกฎ/หลักทางภาษานี่น่าสนุกไม่น้อยเลย

กฎในทางภาษาโดยทั่วไปไม่ใช่กฎ แต่เป็นหลักที่ได้จากการสังเกตของสิ่งที่มีอยู่

จริงๆ ผมก็เคยหงุดหงิดบ่อยๆ กับการใช้ภาษาในยุคใหม่ๆ แต่คงต้องเป็นไปตามโลกนั่นแหละครับ "เท่" ก็นิยมเขียนว่า เท่ห์ (ท้วงไม่ไหวแล้ว) อักษรต่ำใส่ไม้ตรี จัตวา เต็มไปหมดเลย ฯลฯ

จะว่าไปก็ไม่ถึงกับรุนแรง ฉัน เขา, ยังออกเสียง "ชั้น", "เค้า" คอมพิวเตอร์ ยังออกเสียง คอมพิวเต้อ ยืม - ยื้ม, หนังสือ นั้งสือ ฯลฯ

สรุปว่า ยอมรับได้ครับที่เห็นการใช้ภาษาเปลี่ยนไป แต่ผมก็ยังคงใช้ภาษาแบบเดิมๆ อยู่ (เว้นแต่เขียนเป็นการส่วนตัว มีผิดบ้างเหมือนกัน)

สวัสดีค่ะคุณหมอเล็ก ภูสุภา

ขออภัยอย่างสูงที่ตอบช้านะคะ  ดิฉันดีใจจังเลยค่ะที่คุณหมอแวะมาบันทึกนี้ด้วย  เพราะเป็นบันทึกแรกๆที่หากว่าอยู่ใน pantip ก็คงโดนเก็บเข้าคลังกระทู้เก่า   แถมเรื่องที่เขียน  ก็ออกจะดูเป็นเรื่องของคนหัวเก่าเจ้าระเบียบ  ซึ่ง(ดิฉันคิดว่า)ไม่ค่อยตรงกับแคแร็คเตอร์ของดิฉันเท่าไหร่ค่ะ   : ) 

ขอบพระคุณที่คุณหมอเล็กแวะมาพร้อมถ้อยคำดีๆที่ทำให้เกิดกำลังใจได้ทุกครั้งที่อ่านนะคะ  : )

สวัสดีค่ะ

  • ครูอ้อยมาทักทายด้วยความคิดถึงค่ะ
  • เรามาช่วยกันใช้คำไทยที่เราภูมิใจให้ถูกต้องกันนะคะ

มีความสุขมากๆๆ และ นานๆๆนะคะ

สวัสดีค่ะ คุณธ.วั ช ชั ย

ยินดีและดีใจจังเลยที่คุณ     แวะมาเยี่ยมนะคะ   ดิฉันเห็นด้วยว่าเีิื้รื่องกฎ/หลักทางภาษานี่น่าสนุกไม่น้อยเลย  บทความนี้ดิฉันตั้งใจจะนำเสนอภาพการใช้ภาษาไปตามปรากฏการณ์ที่เห็น     ขณะเดียวกัน โดยบทบาท ดิฉันก็มีหน้าที่อธิบายปรากฏการณ์และความเปลี่ยนแปลงอย่างที่เป็นว่าถูกต้องตาม "หลัก" หรือไม่

ซึ่ง"หลัก"ที่ว่านี้สนุกนักอย่างที่คุณ ธ.วั ช ชั ย บอกเลยค่ะ   เพราะสามารถทำให้ครูภาษาไทยกับนักภาษาศาสตร์สามารถนั่ง"อภิปราย"กันได้เป็นวันๆ  บางครั้ง เกณฑ์ที่เราตั้งกรอบและพยายามจะยึดไว้นั้น  มันไม่เข้ากับธรรมชาติ  ความนิยมและสภาพการใช้งานจริง ซึ่งดิฉันคิดว่าครูควรจะกล้าอธิบายและชี้ให้เด็กเห็น  มิใช่เลือกอธิบายเฉพาะส่วนที่ตรงเป๊ะตามกฏโดยละเลยส่วนที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์  และปล่อยให้เป็นความสงสัยติดข้องของนักเรียน

อย่างไรก็ตาม   หากทิ้งเกณฑ์ทั้งสิ้นไว้เบื้องหลัง  และสร้างของใหม่ขึ้นตามใจตนอยู่เป็นนิจ  ก็อาจทำให้เกิดความต่าง และช่องว่างของความไม่เข้าใจขึ้นได้อีกมาก  เพราะกว่า"สัญลักษณ์แทน...."  จะกลายมาเป็นภาษา  และกว่าภาษาจะพัฒนา(ความหมาย)มาจนกลายเป็นภาษา(ความหมาย)ประจำกลุ่มชน  ที่พูดกันแบบเข้าใจได้โดยไม่ต้องไต่บันไดความหมายจากรูปธรรมไปหานามธรรมทีละขั้นนั้น  ใช้เวลายาวนาน  และมีที่มาที่ไปเบื้องหลังอย่างซับซ้อนลึกซึ้ง   และการถ่ายทอดภาษาของกลุ่มชนใดๆ ก็มีจุดมุ่งหมายที่ลึกซึ้งกว่าการเขียนสะกดคำและจำความหมาย  เพราะนั่นคือการถ่ายทอดวิธีคิด และการส่งผ่านวิถีชีวิตแบบซึมลึก

หากเราปล่อยเด็กๆให้ใช้ภาษาตามสบาย  โดยไม่เรียนรู้และทำความเข้าใจที่มาที่ไปของ"กลไกภาษา "(หรือกลไกการสร้างความหมาย)ชุดนั้นๆอย่างลึกซึ้ง  ถึงวันหนึ่ง ภาษา(และความหมาย)ชุดใหม่ก็สามารถเข้ามาแทนที่ได้อย่างรวดเร็ว   และความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว...ก็อาจมิได้เป็นคุณแก่ชีวิตเสมอไป  ดิฉันก็นึกสนุกเมื่อนึกถึงคำว่า "หลัก" นะคะ  เพราะความหมายหนึ่งของคำว่า"หลัก" คือที่มั่น  หากยึดที่มั่นทางภาษาไว้ไม่ได้  สักวันหนึ่ง...ความเป็นชาติก็อาจจะหลุดลอยไป      เพราะหลักฐานร่วม(หลักฐานหนึ่ง)ของความเป็นชาติ(ถ้าเชื่อว่าความเป็นชาติมีอยู่จริง)ก็คือการ(พยายาม)ที่จะใช้ภาษา(กลาง)เดียวกันนี่เอง 

ว่าแล้วดิฉันก็สนุกของดิฉันต่อไปตามบทบาทค่ะคุณ ธ.วั ช ชั ย 
ในบทบาทของครูที่สอนครูภาษาไทย  ดิฉันก็คงต้องพร่ำบ่นต่อไปด้วยความเข้าใจ (คืออย่างน้อยดิฉันก็เข้าข้างตัวเองว่าดิฉันเข้าใจ)  ว่าที่พร่ำสอนและบ่นไปนั้นเพื่ออะไร  และถึงแม้ไม่บอกตรงๆ  ดิฉันก็เชื่อเอาเองว่าเด็กๆเข้าใจ  : )   : )   ดิฉันจึงบอกเด็กๆด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์นั้นจริงอยู่  แต่เราต้องอยู่แบบ"รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง"ด้วย  เราจึงจะสืบทอดอะไรบางอย่างที่เรามั่นใจว่าดีแล้ว เหมาะแล้ว ต่อไปได้  

 ตอนที่พูดถึงประโยคสำคัญนี้  ดิฉันคาดว่าเด็กๆจะตั้งอกตั้งใจฟังด้วยความซาบซึ้ง

...  และได้ผลเช่นเคยค่ะคุณ ธ.วั ช ชั ย  ดิฉันขึ้นแท่นเทศนาทีไร เด็กหลับ(เนียนๆ)ไปกว่าครึ่งห้องทุกที  : )    : )   

ว่าแล้วดิฉันก็ต้องปลุกให้นักศึกษาตื่นขึ้นมาเขียนคำว่า ค่ะ กับ คะ  ใหม่ให้ถูกต้องอีกครั้ง  แม้ว่าจะโดนเธอบ่นเอาบ้างด้วยสายตา  เพราะทำใจได้แล้วว่าการฝึกให้เด็กๆเข้าใจคำว่า"ที่มั่น"นั้น  อาจต้องใช้เวลายาวนาน แม้แต่ดิฉันเอง  ...ถึงเวลาหนึ่งก็อาจจะต้องทำความเข้าใจเสียใหม่  เมื่อเวลาเปลี่ยนไป... 

ขอบพระคุณคุณ ธ.วั ช ชั ย  มากๆนะคะที่แวะมาและให้ข้อคิดที่อ่านแล้วสบายใจ  เพราะดิฉันเองก็ยอมรับได้กับภาษาที่เปลี่ยนไป  มีความสุขที่จะใช้ภาษาอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่เคร่งเครียดอะไร  แต่ก็มั่นใจที่จะสื่อสารกับเด็กๆเรื่อง "ที่มั่น"  เพราะนั่นเป็นหน้าที่โดยตรงของครูภาษาไทย   ดิฉันหวังเพียงว่าลูกศิษย์(ที่เป็นคนไทย) จะเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายที่ดิฉันพยายามสื่อสารไปทั้งหมดนี้....

...โดยไม่หลับไปเสียก่อนที่จะถึงประโยคสำคัญนะคะ  : )

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ดีใจนะคะที่ได้เจอกับอาจารย์อีกครั้ง
  • บันทึกก่อน ๆนี้ของอาจารย์ ดิฉันได้ส่งข่าวถึงอาจารย์ด้วยค่ะ
  • ขอขอบคุณค่ะที่ได้อ่านเรื่องที่มีสาระของอาจารย์อีก
  • ขอให้มีความสุขนะคะ

สวัสดีครับคุณดอกไม้ทะเล ชื่อเทห์จัง

บังเป็นนักดำน้ำหาเลี้ยงชีพอยูกับท้องทะเลมาพักหนึ่ง รู้ซึ้งถึงดอกไม้ทะเล สวยงามเวลาคลื่นเห่เหมือนเปลไกว โอ้ความงามทั่ไม่สามารถย้อนกลับมาอีกแล้ว......

แล้วจะแวะมาเยี่ยมใหมาน่ะครับ

สวัสดีด้วยความระลึกถึงมากเช่นกันค่ะพี่อ้อย

แอมแปร์เช็คเมลแล้วก็เลยได้เข้ามาตอบความเห็น  ดีใจที่ได้พบพี่อ้อยแบบออนไลน์นะคะ  : )   แอมแปร์เข้ามาอ่านเป็นระยะๆแต่ด้วยเวลาจำกัดเลยไม่ได้ฝากรอยทักทายไว้   ขอให้พี่อ้อยมีความสุขมากๆเช่นกันนะคะ  : )    : ) 

สวัสดีค่ะครูคิม : )

ดิฉันก็ดีใจที่ได้เจอครูคิม(ในบันทึก)เช่นกันค่ะ  หลังๆนี้ดิฉันไม่มีจังหวะเขียนบันทึกเลย  อ่านบันทึกครูคิมแล้วได้เห็นว่าเรื่องน่ารักๆของเด็กๆนั้น เราเล่าสู่กันฟังได้ไม่มีวันหมด  และเรื่องที่เล่าสู่กันฟังนี้ก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ไปทำอะไรๆในโรงเรียน(และในมหาวิทยาลัย)ได้อีกเยอะเลย

ขอบพระคุณสำหรับเรื่องราวที่ครูคิมตั้งใจถ่ายทอดนะคะ ลูกศิษย์ครูคิมน่ารักเหลือเกิน  หลายเรื่องที่ครูคิมเล่าทำให้ดิฉันยิ้มได้ทุกครั้งที่อ่านเลยค่ะ  : )

สวัสดีค่ะบังหีม

ขอบพระคุณที่ชมนามแฝงของแอมแปร์ค่ะ  ขออนุญาตข้ามขั้นตอนพิธีการเลยนะคะ  เพราะแอมแปร์อ่านความเห็นของบังหีมมาหลายหนจากหลายบันทึกจนรู้สึกคุ้นเคยมากแล้ว  : ) 

นามแฝง"ดอกไม้ทะเล"นี้  นึกแล้วก็ขำตัวเองค่ะบัง  เพราะเห็นจากทีวีก็คิดว่าเป็นดอกไม้ที่อยู่ในทะเลจริงๆ  แต่พอได้อ่านหนังสือถึงได้รู้ว่าเป็นสัตว์ทะเลประเภทหนึ่ง  แต่ดูแล้วก็สวยจริงๆอย่างบังว่า  แอมแปร์เคยไปตะรุเตา ที่นั่นยังพอมีปะการังและดอกไม้ทะเลสวยงามให้ดู  แต่พอเห็นขวดและถุงพลาสติกลอยมาข้างเรือ   แอมแปร์รู้สึกกลุ้มใจยังไงก็ไม่รู้  ...เพราะรู้สึกว่าเราเลือกมองแต่สิ่งสวยงาม  แต่เรารักษามันไว้ไม่ได้...  เลยได้แต่พยายามสื่อสารกับลูกศิษย์เท่าที่จะทำได้นะคะบัง  บ้านใคร...ใครก็รัก   บ้านเราเราก็รักษาให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้   

ดีใจและขอบพระคุณที่บังแวะมานะคะ  หลังจากข้ามขั้นตอนพิธีการไปแล้วนี้  หากมีโอกาสแวะมาอีกที  บังก็เรียกชื่อแอมแปร์ได้เลยนะคะ  : )   : )    

สวัสดีครับคุณแอมแปร์

ถ้างั้นขอทุบสนิทครับ(ตีสนิท) ฮาๆ

เคยไปเข้าค่ายที่เกาะบุโหลน ไปช่วยทาสีโรงเรียนร่วมกับเพื่อนครูลานกา ทีมครูติน ครูปอง ตอนนั้นที่บุโหลนประการัง 7สีสามารถโด้ด้วยตาเปล่า เพราะเป็นประการังน้ำตื้น มีความสมบูรณ์ของประการังค่อนข้างสูง แต่หลายปีผ่านไม่ได้แวะไป เพื่อนนักเขียน วีรศักดิ์ ขันแก้ว ไปมาหลังสุดบอกว่าหาดูยากแล้วครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

เด็กๆสมัยนี้เขียนหนังสือผิดกันมาก

 เคยได้รับคำตัดพ้อจากอาจารย์ที่สอนระดับอาชีวศึกษาอยู่บ่อยๆ

 เด็กๆที่มาจากมัธยมเขียนหนังสือผิดจังเลย

 พอคุญกับอาจารย์ที่สอนสามัญเดิม ก็พูดว่า ตอนเรียนประถมฯ เค้าสอนกันมาอย่างไร

 ครูประถมฯน้อยใจค่ะ สอนตั้งแต่นักเรียนอ่านไม่ออก จนอ่านออกเขียนได้

สอนหลักและการใช้ภาษาไทยอย่างละเอียด  ครบถ้วน

แต่ถูกถามถึงต้นตอ

คุณครูทุกๆท่าน ต้องช่วยกันวิเคราะห์ถึงสาเหตุ และช่วยกันแก้ไขนะคะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีอีกทีค่ะบังหีม

คือว่านั่งหัวเราะสำนวนบังอยู่พักนึงนะคะ  : )

ของแอมแปร์ไม่ค่อยได้ไปทะเลบ่อยนัก  แต่ไปทีไรก็ได้เห็นว่าระบบนิเวศน์หลายที่เปลี่ยนไปมากแล้ว ที่ขนอมนี่ก็น่าห่วงอยู่ไม่น้อยเหมือนกันค่ะ  แต่ก็เชื่อว่าคนนครฯที่รักธรรมชาติก็มีอยู่ไม่น้อย  คงค่อยๆเป็นหูเป็นตาช่วยดูแลกันไปนะคะ 

ขอบคุณเช่นกันค่ะ : )

 

สวัสดีค่ะคุณ NU 11

ดิฉันเข้าใจค่ะ  ในฐานะครูภาษาไทย ดิฉันเองก็ถูกตั้งคำถามเสมอมา ว่าทำไมเด็กๆจึงเขียนผิดกันมาก  ดิฉันคิดว่าเป็นเพราะด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ  และยังเชื่อว่าเรายังช่วยกันดูแลทัน  เอ่อ..อาจทันเป็นบางส่วน   แต่ก็เชื่อว่าดีกว่าละเลยไป  เอาใจช่วยคุณครูทุกระดับชั้นเลยนะคะ  หัวอกเดียวกัน โชคดีมากด้วยที่มีพื้นที่ให้เราแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างมิตรเช่นนี้    ดิฉันพบคุณที่บันทึกของน้องเอก จตุพร และรู้สึกว่าเรามีอุดมการณ์เดียวกันเลยค่ะ : )

ขอบพระคุณมากสำหรับดอกไม้ที่สวยจังเลยนะคะ  ขอให้คุณ NU 11   มีความสุขในการทำงานทุกวันค่ะ   

หนูขอขอบคุณที่ให้ความรู้เเก่หนูค่ะ

จากนู๋น้ำ โรงเรียนวัดนางสาว

ด้วยความยินดียิ่งค่ะคุณน้ำ ขออภัยอย่างสูงที่ตอบช้า และขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมบันทึกนะคะ : )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท