ชีวิตที่พอเพียง 4108. อธิบายปรากฏการณ์ประชาธิปไตยจีนด้วย ๔ ทฤษฎี


 

นี่คือบทสะท้อนคิด (reflection) ชิ้นที่ ๑๑ และสรุปจากตอนสุดท้ายของหนังสือ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน โดยอ่านบันทึกก่อนหน้านี้ได้ที่ (๑),  (๒)  (๓)  (๔) (๕)  (๖)   (๗)   (๘)   (๙)   (๑๐)

ฝรั่งพยายามเอาทฤษฎีและตัวอย่างประชาธิปไตยของเขามาให้เราใช้    หลายประเทศว่าง่าย ใช้แล้วก็เฉไฉได้ผลที่สังคมไม่เจริญก้าวหน้า แต่ฝรั่งพอใจ    จีนเจ็บตัวมาเป็นศตวรรษจึงไม่เชื่อใครง่ายๆ     ค้นหาแนวทางของตนเอง    ซึ่งก็คลำผิดมานานราวๆ ๓๐ ปี    เพิ่งมาคำถูกเอาราวๆ ๓๐ ปีหลังนี้    โดยมีประจักษ์พยานว่า ประเทศเจริญก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด   

ทฤษฎีประชาธิปไตยจีนจึงเขียนขึ้นจากการตีความประสบการณ์จริงของตนเอง     ไม่ใช่ลอกทฤษฎีของคนอื่นมา    เป็นทฤษฎีที่พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลในบริบทจีน    แต่ที่จริงก็มีฐานคิดมาจากหลากหลายแหล่ง รวมทั้งแหล่งตะวันตก    ทฤษฎีทั้งสี่ได้แก่

  • ทฤษฎีว่าด้วยองค์ประกอบสามประการของประชาธิปไตย   เริ่มด้วยการให้ความหมายต่อประชาธิปไตย ต้องกล้าให้ความหมายตามวัตถุประสงค์ของตนเอง ไม่ใช่ลอกเลียนตามประเทศอื่น    องค์ประกอบทั้งสามของประชาธิปไตยได้แก่  (๑) การคุ้มครองสิทธิ  (๒) การแบ่งแยกอำนาจ และตรวจสอบถ่วงดุล  (๓) การตัดสินใจด้วยเสียงข้างมาก   
  • ทฤษฎีว่าด้วยนิยามทางประวัติศาสตร์ การเกิดขึ้นของประชาธิปไตยนั้นถูกกำหนดโดยประวัติศาสตร์  และประวัติศาสตร์เป็นผู้นิยาม   ประชาธิปไตยของแต่ละประเทศจะต้องสร้างขึ้นจากภายใน ไม่ใช่รับถ่ายทอดมาจากภายนอก   
  • ทฤษฎีว่าด้วยประเด็นหลักของประชาธิปไตย   ประเด็นหลักคือการพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาความทันสมัยของประเทศ ให้เป็นจริง   
  • ทฤษฎีว่าด้วยขั้นตอนประชาธิปไตย  ขั้นตอนของการพัฒนาประชาธิปไตย ต้องสอดคล้องกับขั้นตอนการพัฒนาประเทศในภาพรวม   

อ่านแล้วรู้สึกว่าผู้เขียนต้องการอธิบายว่า การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ต้องไม่หลงทำตามทฤษฎีของประเทศตะวันตก    เพราะแต่ละประเทศมีพัฒนาการในอดีตแตกต่างกัน และมีปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และอื่นๆ แตกต่างกัน   จึงต้องดำเนินการพัฒนาประชาธิปไตยตามแนวทางของตนเอง    โดยทำความเข้าใจหลักการให้ชัดและถูกต้อง   และการพัฒนานั้นต้องทำไปเรียนรู้และปรับตัวไป ที่เรียกว่าเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์   และสำหรับจีน ประสบการณ์อันเจ็บปวดจากการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่กินเวลา ๑๐ ปี    ให้การเรียนรู้สูงยิ่ง      

“ประชาธิปไตยของแต่ละประเทศจะต้องสร้างขึ้นจากภายใน ไม่ใช่รับถ่ายทอดมาจากภายนอก”    ช่างเหมือนกับเรื่องการเรียนรู้ของมนุษย์ ไม่ผิดเพี้ยน   ที่การเรียนรู้ของมนุษย์เป็นกระบวนการสร้างความรู้ภายในตน แล้วทดลองใช้ในสถานการณ์จริงหรือสถานการณ์จำลอง   เพื่อทดสอบว่าความรู้ที่สร้างขึ้นนั้นใช้ได้จริงไหม    หากใช้ได้จริงก็จดจำไว้ เอาไว้ใช้ในโอกาสต่อไป                 

หลักการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ จึงเป็นเรื่องของการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง   หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นจากการตีความสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีน    ต่อเนื่องยาวนานมาหลายร้อยปี   มาเข้มข้นขึ้นในช่วงหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา         

ขอขอบคุณ คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้ 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.ย. ๖๔  วันมหิดล 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 694011เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2021 18:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2021 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท